Posted: 10 Jul 2017 10:02 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

อีสานเรคคอร์ด ได้ลงบทความเกี่ยวกับคุณเดี่ยว ผู้ป่วยไตเรื้อรังที่ใกล้จะเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 36 ปี เหมือนคนอีสานอีกมาก คุณเดี่ยวต้องออกไปหาเงินนอกบ้านเกิดหลายต่อหลายที่ รวมทั้งไปรับจ้างพ่นสารเคมีในไร่อ้อยที่สุพรรณบุรีด้วย ในที่สุดก็เกิดอาการไตล้มเหลว และต้องกลับบ้านเกิดที่อำนาจเจริญ เพื่อรับสิทธิการรักษาพยาบาลบัตรทองของตน แต่ไร่อ้อยก็ตามมาถึงอำนาจเจริญจนได้ ในทุกวันนี้อำนาจเจริญมีโรงงานน้ำตาลมากกว่า 10 แห่ง

ผมอ่านเรื่องของคุณเดี่ยวแล้ว ก็อดคิดถึง “แรงงาน” อีสานอีกจำนวนมากไม่ได้ เพราะแรงงานอีสานคือแรงงานกลุ่มแรกที่เข้าไปทดแทนกุลีจีน เมื่อประเทศไทยจำกัดจำนวนผู้อพยพเข้าชาวจีนลงหลังสงคราม และกุลีจีนเลื่อนสถานะตนเองไปตามบันไดทางเศรษฐกิจสู่ผู้ค้ารายย่อยไปจนถึงเจ้าสัว

หลายคนคงประสบชะตากรรมในทำนองเดียวกับคุณเดี่ยว… สูญเสียสุขภาพ, ติดยา, ติดเหล้า, มีหนี้สินล้นพ้นตัว, ถูกบีบเข้าสู่อาชญากรรม ฯลฯ

ต่างประสบชะตากรรมที่เลวร้ายต่างกัน แต่ที่เหมือนกันและเหมือนคุณเดี่ยวก็คือ ต่างเข้าไปเป็นแรงงานในสภาพหรือเงื่อนไขที่ไร้อำนาจต่อรองโดยสิ้นเชิง เช่น เป็นคนใช้ในบ้านเรือนคนชั้นกลาง, เป็นแรงงานก่อสร้างรายวัน, เป็นแรงงานภาคเกษตรที่มีงานทำเป็นฤดูกาล, เป็นแรงงานรายวันในร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ

คุณเดี่ยวรับจ้างพ่นสารเคมีในไร่อ้อย อย่างที่เรารู้อยู่แล้วว่าไร่อ้อยต้องการแรงงานมาก แต่เป็นแรงงานชั่วคราวเท่านั้น รับจ้างพ่นสารเคมีก็คือรับจ้างเสี่ยงอันตรายให้แก่เจ้าของไร่อ้อย ได้ค่าจ้างงานเหมาเป็นรายๆ ไป โดยนายจ้างไม่มีสวัสดิการใดๆ ให้ (และยังไม่ต้องดูแลด้านสวัสดิภาพด้วย) ไม่อาจสร้างสำนึกเป็นปึกแผ่น (solidarity) ร่วมกับใครได้ แม้แต่แรงงานตัดอ้อยซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนอีสานด้วยกัน เพราะแรงงานตัดอ้อยก็เป็นแรงงานชั่วคราวเหมือนกัน ตัดเสร็จ รับค่าแรงแล้วก็เคลื่อนย้ายไปยังไร่อ้อยอื่น นับว่าแตกต่างอย่างยิ่งจากแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม

แม้แต่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมหรือหัตถอุตสาหกรรมเอง งานศึกษาที่ผมได้อ่านก็บอกตรงกันว่า ในความคิดความฝันของพวกเขา ชีวิตไม่ได้ฝากไว้กับโรงงาน ต่างใฝ่ฝันที่จะกลับไป “ตั้งตัว” ในบ้านเกิดในวันหนึ่งข้างหน้า แม้แต่คนที่ทำงานโรงงานมาอย่างต่อเนื่องถึง 20 ปีแล้ว ก็ยังคิดฝันอย่างเดียวกัน

แรงงานอีสานจึงแตกต่างจากแรงงานอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 เพราะยังมี “บ้าน” ให้กลับ ในขณะที่ “บ้าน” ของแรงงานอังกฤษถูกเจ้าที่ดินยึดไปหมดแล้ว ไม่มีที่อื่นไปได้อีกเลย จะรอดหรือจะตายก็อยู่ที่ต้องต่อรองกับเจ้าของโรงงานให้ชนะจนได้

แม้กระนั้น แรงงานอีสานที่ไร้อำนาจต่อรองเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะประสบชะตากรรมอย่างเดียวกับคุณเดี่ยวไปทุกคน อีกหลายคนประสบความสำเร็จมากบ้างน้อยบ้าง นับตั้งแต่มีรายได้เป็นเงินสดส่งกลับมาพยุงครอบครัวในอีสาน ไปจนถึงกำลังไต่บันไดเศรษฐกิจไปสู่สถานะที่สูงขึ้น

อีสานเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วกว่าที่ภาพยนตร์, นวนิยาย, ละครทีวี หรือแม้แต่เพลงลูกทุ่งจะตามทัน จนผมสงสัยว่าหาก คุณลำไย ไหทองคำ ไม่ใช่คนอีสาน ก็อาจไม่มีใครมองการแต่งกายในการแสดงของเธอว่า “โป๊” หรืออุจาดก็ได้

มีงานศึกษาเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในอีสานอยู่พอสมควร สถิติทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวก็ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอันไพศาลที่เกิดขึ้นในอีสานแล้ว ยังไม่พูดถึงความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ซึ่งสามารถชี้ให้ดูได้หลากหลายด้าน รวมถึงความสัมพันธ์ทางสังคมบางด้านด้วย

แต่เรื่องของคุณเดี่ยว ทำให้ผมคิดถึงชะตาชีวิตของคนอีสานซึ่งอยู่ใน “ระบบแรงงานโลกาภิวัตน์” (ตามคำของศาสตราจารย์ชาลส์ คายส์) เกิดอะไรขึ้นในชีวิตของพวกเขา ทั้งลบและบวก และความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอีสาน

(ซึ่งผมสงสัยว่าอาจมีน้ำหนักเท่ากับหรือมากกว่าการกระทำของรัฐเสียด้วยซ้ำ)

ความคิดคำนึงของผมทำให้ต้องกลับไปอ่านทบทวนงานจำนวนมากของท่านอาจารย์คายส์ (Charles F. Keyes) ที่ต้องเป็นท่านอาจารย์คายส์ก็เพราะในบรรดานักวิชาการที่ศึกษาอีสาน (หรือแม้แต่เมืองไทย) ทั้งหมด ไม่มีใครที่เกาะติดกับพื้นที่หรือแม้แต่ “หมู่บ้านของตน” มากไปกว่าท่าน ในบางช่วงของชีวิต ท่านกลับไปบ้านหนองตื่นซึ่งท่านฝังตัวศึกษาตั้งแต่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกทุกปี แถมเก็บข้อมูลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งนี้อย่างละเอียด (แทบจะรู้ว่าครอบครัวใครเพิ่งซื้อทีวีใหม่บ้าง) ฉะนั้น คงจะหานักวิชาการที่ติดตามความเปลี่ยนแปลงของอีสานตลอดเวลาที่ผ่านมาเกือบครึ่งศตวรรษอย่างใกล้ชิดเท่ากับท่านอาจารย์คายส์ได้ยาก ไม่ว่าฝรั่งหรือไทย

อีกเหตุหนึ่งที่ต้องเป็นอาจารย์คายส์ก็เพราะท่านเป็นครูที่มีเมตตาอย่างกว้างขวางโดยไม่เลือกหน้า ท่านได้กรุณาเผยแพร่งานเขียนของท่าน (คงจะเกือบทั้งหมด) เป็นเอกสารดิจิตอลให้ผู้คนได้อ่านฟรีในอินเตอร์เน็ต ฉะนั้น การกลับไปทบทวนงานของท่านจึงเป็นเรื่องง่ายมาก โดยไม่ต้องเข้าห้องสมุดหรือรื้อหนังสือของตนเองสักเล่มเดียว

คงด้วยความรู้ของผมเองเกี่ยวกับอีสานและมานุษยวิทยาไม่เพียงพอ หลังจากอ่านทบทวนงานของท่านอาจารย์คายส์ไปมากแล้ว ก็ยังไม่ได้คำตอบแก่ความคิดคำนึงของผมอยู่นั่นเอง แต่ไปได้ความคิดบางอย่างที่ต่อยอดมาจากความคิดของท่านอีกทีหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นคำตอบโดยตรง แต่เป็นคำตอบโดยอ้อม (และคงอ้อมอยู่หลายชั้น)

ความเปลี่ยนแปลงในภาคอีสานทำให้คนในชนบทอีสานกลายเป็นชาวนาที่อาจารย์คายส์เรียกว่า cosmopolitan peasants หรือชาวนาที่ “รู้สึกในโลกกว้าง” (คำแปลบทความในนิตยสารฟ้าเดียวกัน ที่เข้าใจว่าท่านยอมรับรอง) ปรากฏการณ์ทำนองเดียวกันที่ แอนดรูวส์ วอล์กเกอร์ พบในภาคเหนือเหมือนกันคือ ผู้คนในชนบทภาคเหนือกลายเป็น “ชาวนาการเมือง” หรือ political peasants

ดูเหมือนอาจารย์คายส์จะเห็นว่า คนสองกลุ่มนี้เหมือนกัน เพราะในบทความหนึ่งท่านเติมอนุประโยคขยายความ cosmopolitan peasants ของท่านว่า หรือที่ แอนดรูวส์ วอล์กเกอร์ เรียกว่า political peasants ในภาคเหนือ

คนสองกลุ่มนี้คงเหมือนกันในหลายด้าน แต่ที่ไม่เหมือนกันในบางด้านนั้น ผมคิดว่าสำคัญ เพราะสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในชนบทที่แตกต่างกันระหว่างภาคอีสานและภาคเหนือ

ชาวนาในสองภาคนี้ต้องเผชิญสิ่งที่อาจารย์คายส์เรียกว่า “วิกฤตชนบท” เหมือนกัน ที่สำคัญคือการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว การลดลงของพื้นที่เพาะปลูกพืชเลี้ยงตนเอง ความเสื่อมโทรมของธรรมชาติแวดล้อมที่พยุงเศรษฐกิจเลี้ยงตนเอง การเข้ามาของรัฐทั้งในเชิงควบคุมและการให้บริการ การขยายตัวของตลาดและการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนเศรษฐกิจเงินตราในชีวิตของผู้คน

ชีวิตจะดำเนินต่อไปได้จำเป็นต้องมีรายได้เป็นเงินสดเพิ่มขึ้น จะอยู่ในเศรษฐกิจเลี้ยงตนเองเป็นสัดส่วนที่สูงอย่างเดิมไม่ได้แล้ว ต้องใช้เวลาไปในการทำเงิน ควบคู่กันไปกับการทำอะไรเพื่อเลี้ยงตนเองไปด้วย

จากการอ่านของอาจารย์คายส์และงานศึกษาชนบทภาคเหนือของหลายท่าน ทำให้ผมเข้าใจอย่างไม่รู้ว่าถูกหรือผิดว่า ชาวนาภาคเหนือและภาคอีสาน ตอบสนองต่อวิกฤตต่างกัน สรุปสั้นๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายก็คือ ชาวนาในภาคเหนือหาเงินสดจากในหมู่บ้านหรือในละแวกไม่ไกลจากหมู่บ้าน ในขณะที่ชาวนาอีสาน ออกจากหมู่บ้านไปหาเงินในแดนไกล ทั้งในเขตเมืองของไทยและข้ามไปสู่ดินแดนอื่นๆ ครึ่งโลก

(แน่นอนมีข้อยกเว้นเป็นกรณีไป แต่ภาพรวมของสองภาคแตกต่างกันอย่างนี้)

คนอีสานถือว่า การออกจากบ้าน (ทั้งในความหมายหมู่บ้านและครอบครัว) เป็นส่วนสำคัญของการศึกษาของผู้ชาย นับตั้งแต่ออกบวชสักหนึ่งสองพรรษา “ไปเที่ยว” ไกลๆ สักปีหรือสองปีหรือหลายปี รวมทั้งทำงานหาเงินไปด้วย การออกจากบ้านคือการสั่งสมประสบการณ์ชีวิต ทั้งยังได้ฝึกวินัย ฝึกให้รับผิดชอบต่อหน้าที่ ฝึกให้อดทน ภายใต้ระบบทุนนิยม ทั้งหมดเหล่านี้คือทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า enterprising spirit ในหมู่ชาวอีสาน ในที่แห่งหนึ่ง อาจารย์คายส์เปรียบเทียบการปฏิบัติศาสนาของคนอีสานกับนิกายโปรเตสแตนต์ ซึ่ง แมกซ์ เวเบอร์ เห็นว่าช่วยหนุนให้เกิดทุนนิยมในยุโรปด้วยซ้ำ

ดังนั้น คนอีสานจึงเผชิญกับวิกฤตชนบทด้วยการออกจากหมู่บ้านไปหารายได้ที่เป็นเงินสด แน่นอนส่วนใหญ่คือขายแรงงาน เพราะไม่มีทุนอื่นใด สั่งสมประสบการณ์ เช่น ขับรถเป็น จึงเช่าแท็กซี่เขาหากิน มีประสบการณ์เพิ่มขึ้นจากอาชีพ คือรู้ช่องเล็กรูน้อยของกรุงเทพฯ จนช่ำชอง สามารถเผชิญกับจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ ได้ จนมีกำไรกว่าแท็กซี่คันอื่น สั่งสมกำไรนั้นจนเป็นเจ้าของรถแท็กซี่ของตนเอง และกลายเป็นเจ้าของอู่แท็กซี่ในบั้นปลาย

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงอีกจำนวนมากที่ออกไปขายแรงงานในต่างประเทศ มากขนาดที่ในงานของอาจารย์คายส์พูดถึงบางหมู่บ้าน มีผู้ชายวัยทำงานเคยมีประสบการณ์ออกไปทำงานต่างประเทศเกิน 50%

ด้วยเหตุดังนั้น พวกเขาจึงเป็น “ชาวนาผู้รู้สึกในโลกกว้าง” หรือ cosmopolitan peasants

แต่ในภาคเหนือกลับเป็นตรงกันข้าม ชาวนาในภาคเหนือหารายได้จำนวนหนึ่งจากกิจกรรมในหมู่บ้านมาแต่โบราณ งานศึกษาของนักมานุษยวิทยาบางท่านที่ชี้ให้เห็นว่า การทอผ้า (ทั้งฝ้ายและไหม) ในภาคเหนือ มีฐานการผลิตที่การแลกเปลี่ยน จากวัตถุดิบถูกแปรรูปเป็นสินค้า จากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่งหลายทอด กว่าจะกลายเป็นผ้าที่ทอสำเร็จทั้งผืน

เมื่อเศรษฐกิจตลาดเริ่มขยายตัวทั้งก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวนาแทรกการปลูกพืชเศรษฐกิจลงไปในที่นาของตนหลังเก็บเกี่ยว นับตั้งแต่ยาสูบ, กระเทียม, หอม ฯลฯ และพร้อมจะรับพืชเศรษฐกิจใหม่ๆ เข้าไปแทนที่ได้เสมอ เช่น หญ้าหวานซึ่งนิยมอยู่พักหนึ่ง ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงการทำสวนลำไย, การเลี้ยงหมูเป็นเงินเก็บ ฯลฯ

กิจกรรมเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดการจ้างงานเฉพาะฤดูกาลขึ้นในหมู่บ้านหรือละแวกใกล้เคียง เช่น ปลูกหอม-กระเทียม ก็ต้องการแรงงานเพื่อถอนหอม-กระเทียม ลำไยต้องการแรงงานเพื่อเก็บและ “ไซ้” ลำไย (คัดเลือก), โรงบ่มใบยาต้องใช้แรงงานเพื่อซอยใบยา

ภาคเหนือได้รับอานิสงส์ของการท่องเที่ยวก่อนหัวเมืองภาคอื่น เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหมู่บ้านขึ้นได้หลายอย่าง นับตั้งแต่การเข้าเมืองเพื่อขายแรงงาน (จากงานก่อสร้างไปจนขายผ้าไหมหรือล้างชามในร้านก๋วยเตี๋ยว) แม้ต้องออกจากหมู่บ้าน แต่ก็สามารถกลับมาเยี่ยมบ้านได้แทบทุกสัปดาห์ (หรือกลับกันคืออุ๊ยเข้าเมืองจึงแวะหา) สินค้าพวกไม้แกะสลักทำให้ต้องมีการ “เคี่ยน” ไม้ (ตัด-ถาก) ในหมู่บ้าน ความนิยมใน “ล้านน้า-ล้านนา” ยังทำให้เกิดตลาดใหญ่สำหรับสินค้าและบริการอีกหลายอย่าง ซึ่งชาวบ้านสามารถเข้ามาร่วมหารายได้ (เช่น เป็นแรงงานในโรงงานทำแหนม, โรงงานทำกระเบื้องปูนที่ดูคล้ายแป้นเกล็ด, ทำตุงผ้าส่ง, เย็บเสื้อผ้าที่ “สมมติ” ว่าเป็นเครื่องแต่งกายล้านนา ฯลฯ)

โดยสรุปก็คือ ชาวนาภาคเหนือเผชิญกับวิกฤตชนบท โดยการทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจตลาดที่ตัวต้องทำอยู่บ้าง เข้มข้นขึ้นและขยายไปยังกิจกรรมใหม่ๆ อีกหลายอย่าง ดังนั้น เราจึงไม่อาจเรียกชาวนาภาคเหนือว่า cosmopolitan ได้แท้จริง เพราะเขายังอยู่ในหมู่บ้าน หรือไม่ไกลจากหมู่บ้านนัก (ผมไม่ปฏิเสธว่า เขาก็มีสำนึกต่อ “โลกกว้าง” เหมือนกัน ผ่านการสื่อสารคมนาคมสมัยใหม่และการศึกษา แต่ “โลกกว้าง” ไม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิตเหมือนชาวนาอีสาน)

งานศึกษาของ Andrew Walker จึงเรียกพวกเขาว่าเป็น “ชาวนาการเมือง” ในทัศนะของผมคือมีทัศนะทางการเมืองที่เปลี่ยนไป ไม่ได้เป็นชาวนาเลี้ยงตนเองตรงชายขอบของรัฐอีกแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทั้งชาวนาอีสานและชาวนาภาคเหนือ ต่างต้องการรัฐที่ตัวควบคุมได้ในระดับหนึ่งเหมือนกัน แต่ต้องการรัฐเพื่อมาทำอะไรต่างกัน

ในส่วนภาคเหนือ Walker ชี้ให้เห็นบทบาทของรัฐหลายอย่างในการทำให้หมู่บ้านสามารถเผชิญกับวิกฤตชนบทได้ดีขึ้น ทั้งทำโดยอ้อม เช่น สร้างถนนหนทางหรือโครงข่ายชลประทาน, ต่อไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน ฯลฯ และทั้งการกระทำโดยตรง คือการนำโครงการเข้าสู่หมู่บ้าน ซึ่งก่อให้เกิดรายได้หลายทาง นับตั้งแต่เข้าถึงเงินกู้ไปจนถึงจ้างงานในหมู่บ้าน ผมคิดว่ารัฐบาลไทยรักไทยเข้าไปปรากฏตัวในหมู่บ้านเข้มข้นกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา และนั่นเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ชาวนาภาคเหนือต้องการรัฐบาลอย่างนั้น
แต่จะอธิบายความนิยมทักษิณ หรือรัฐบาลแบบทักษิณในภาคอีสานอย่างไร?

ผมขอ “ฟันธง” (ซึ่งในทัศนะของผมแปลว่ามั่ว กล่าวคือ ไม่ได้ใช้เหตุผลบนฐานของข้อมูลที่ได้รวบรวมมาอย่างดี) ว่า ชาวนาอีสานต้องการรัฐบาลที่เปิดให้บรรยากาศของการต่อรองกับนายจ้างเป็นไปได้สะดวกขึ้น แกนนำของพรรค ทรท. เป็นนายทุนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องการแรงงานซึ่งมีทักษะ (โทรคมนาคม, หรือประกอบชิ้นส่วนรถยนต์, ผลิตอาหารสำเร็จรูปบางอย่าง ฯลฯ) ซึ่งถึงอย่างไรก็พอมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างระดับหนึ่ง รัฐบาล ทรท. จึงไม่ห่วงกับการต่อรองของแรงงานไร้ทักษะ เช่น โรงงานทอผ้า, โรงงานบะหมี่สำเร็จรูป ฯลฯ และไม่พร้อมจะเอาตำรวจไปตีแรงงานสไตรก์หน้าโรงงาน

ความคิดเรื่องเถ้าแก่น้อยและส่งเสริมเอสเอ็มอี เมื่อมองจากสายตาแรงงาน คือโอกาสเขยิบฐานะของตนเองทางหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เกิดการจ้างงานที่เปิดบรรยากาศของการต่อรองได้ง่ายขึ้น (อย่างน้อยนายจ้างก็ไม่ใช่ absentee industrial lords)

ผม “ฟันธง” ในแง่นี้แหละครับ คือรัฐของไทยรักไทยตอบสนองต่อแรงงานรับจ้างมากกว่ารัฐของประชาธิปัตย์หรือของทหาร แต่จะพิสูจน์ได้ ก็ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลในภาคสนามจริงจัง ซึ่งผมไม่ได้ทำและคงไม่ได้ทำไปตลอดชีวิต
โดยสรุปก็คือ COSMOPOLITAN PEASANTS ต้องการรัฐที่ตัวควบคุมได้ระดับหนึ่งเหมือนกัน (แต่ต้องการทำไมผมไม่แน่ใจ) POLITICAL PEASANTS ก็ต้องการ แต่ต้องการด้วยเหตุต่างกันแน่



เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม 2560

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.