Posted: 19 Jul 2017 02:26 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ถกประเด็นการศึกษากับการสร้างประชาธิปไตยและพลเมืองที่ดี นักวิจัยประวัติศาสตร์ชี้ ประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อมศึกษา พัฒนาความเป็นพลเมืองโลกยั่งยืน เสริมอำนาจพลเมือง ทุกวันนี้ ธรรมาธิปไตย ศีลธรรม ไม่เพียงพอเป็นพลเมืองประชาธิปไตย คำสอนกับสังคมไทยไปคนละทางทำการศึกษาสร้างพลเมืองติดหล่ม ห้องเรียนต้องสร้างพลเมืองคิดได้ ถามรัฐเป็น อาเซียนควรพัฒนาเศรษฐกิจและยอมรับพหุวัฒนธรรม

เมื่อ 24 มิ.ย. 2560 มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ICIRD มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลุ่ม Thai Civic Education จัดงานเสวนาสาธารณะหัวข้อ “ประชาธิปไตย การศึกษาและความเป็นพลเมือง” ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในช่วงเวลา 13.00-16.00 น. เป็นการนำเสนองานวิจัยการศึกษาพลเมืองในมุมมองประวัติศาสตร์ และแนวทางการศึกษาพลเมืองประชาธิปไตยผ่านบริบทไทยและอาเซียนโดยเชิญวิทยากรจากทั้งชาวไทยและต่างชาติมาร่วมพูดคุยในเรื่องการศึกษาด้านพลเมืองในหลายบริบท

งานช่วงบ่ายมีวิทยากร 4 ท่านได้แก่ อภัยชนม์ สัจจะพัฒนกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และปฤณ เทพนรินทร์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย และ ผศ.บุน ยี จาสมิน ซีม จากศูนย์การศึกษาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานหยาง ประเทศสิงคโปร์

(อ่านข่าวงานช่วงเช้า: เปิดแนวคิดให้เด็กรักชาติแบบคิดเป็น ต้องสร้างนักเรียนขี้สงสัยไม่ใช่พลเมืองเชื่องๆ :วงเสวนา)
นักวิจัยประวัติศาสตร์ชี้ ประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อมศึกษา พัฒนาความเป็นพลเมืองโลกยั่งยืน เสริมอำนาจพลเมือง


จากซ้ายไปขวา: ปฤณ เทพนรินทร์ พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อภัยชนม์ สัจจะพัฒนกุล (ที่มา: Thai Civic Education)


อภัยชนม์กล่าวถึงแนวคิดมากมายที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง และความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและพลโลก ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด SDGs Sustainable Development Knowledge Platform การพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN แนวคิดของ NCSS หรือแม้แต่แผนการศึกษาแห่งชาติ ปี 2560-2579 ก็มีคำรวมๆ ของแนวคิดเหล่านี้อยู่เช่นกัน แต่แนวคิดเริ่มของประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อม เริ่มต้นจากหนังสือ “Silent Spring” หรือ “ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน”

อภัยชนม์กล่าวอีกว่า มีประเด็นที่สนใจ 4 มิติ ได้แก่ มิติคุณค่าของทรัพยากรในการยกระดับชีวิต ผลกระทบจากการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ มิตินโยบายรัฐและผลพวงที่ตามมาที่เชื่อมกับเรื่องพลเมืองแบบต่างๆ* มิติวัฒนธรรมและภูมิปัญญา และมิติของความเป็นธรรมและความเท่าเทียม ซึ่งทั้ง 4 มิตินำไปสู่การตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์เชิงอำนาจนิยม ที่ไม่มีพื้นที่ให้ประวัติศาสตร์กระแสรองต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ของสิ่งของ ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าใจตัวเองและมีอำนาจในตัวเองมากขึ้น ตนคิดว่าจะทำให้วิชาประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลง ต้องเปลี่ยนขึ้นมาจากส่วนล่างจึงจะมีอำนาจมากขึ้น ซึ่งจะต้องทำสองส่วน ได้แก่
เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์การสอนประวัติศาสตร์ ได้แก่ การสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมจะต้องสลายพรมแดนของโลกและชีวิต ให้เห็นบริบทที่หลากหลาย เห็นลำดับเวลา ความเชื่อมโยงและความต่อเนื่องในการเปลี่ยนแปลง ศึกษาจากหลักฐานที่หลากหลายจากฝ่ายต่างๆ และเรียนด้วยบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย เพื่อสร้างพลเมืองที่มุ่งเน้นความเป็นธรรม
เปลี่ยนการเตรียมครูใหม่ มองว่าเจตจำนงของครูนั้นสำคัญ ที่จะทำให้ครูรู้สึกว่าตัวเองเป็นนักการศึกษามากกว่าแค่เป็นข้าราชการ แต่มองเห็นความเป็นอาชีพนักจัดการความรู้ที่ออกแบบ ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ได้ ไม่ใช่ต้องบรรยายตามชุดความรู้ที่ส่วนกลางเตรียมมาให้ มีความเชื่อมั่นในตัวเด็กและดึงศักยภาพที่หลากหลายของเด็กออกมา

อภัยชนม์กล่าวทิ้งท้ายว่า วิชาประวัติศาสตร์มีเพื่อเสริมอำนาจพลเมืองมากกว่าเป็นกลไกของรัฐ และควรทำให้นักเรียนเห็นปฏิสัมพันธ์ของชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เป็นหัวใจของการสร้างประชาธิปไตยที่มีชีวิต การไม่รู้ประวัติศาสตร์เหมือนใบไม้ที่ร่วงจากต้นโดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของต้นไม้ และ เราไม่สามารถเห็นอนาคตใหม่หากไม่พิจารณาห้วงเวลาในอดีตที่ผ่านมาแล้วได้
ธรรมาธิปไตย ศีลธรรม ไม่เพียงพอเป็นพลเมืองประชาธิปไตย คำสอนกับสังคมไทยไปคนละทางทำการศึกษาสร้างพลเมืองติดหล่ม

ปฤณกล่าวว่า ประเทศไทยเกิดกระแสความสนใจเรื่อง การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองขึ้นมา หลังการรัฐประหารตอนปี 2549 และมองว่าการสร้างพลเมืองประชาธิปไตยนั้นเป็นคำตอบของยุคสมัย ประชาธิปไตยล้มเหลว เพราะคนไม่รู้สิทธิ หน้าที่ ไม่เข้าใจประชาธิปไตยจึงวุ่นวาย ผู้วิจัยสนใจแนวคิดในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองที่เกิดขึ้นในกลุ่มต่างๆ หลังปี 2549 โดยสิ่งที่น่าสนใจที่สุดและเป็นหัวข้อของงานวิจัยชิ้นนี้ คือ กลุ่มของ ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์และคณะของมหาวิทยาลัยรังสิตที่มองว่าเป็นภาพตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์นิยม ที่เชื่อว่าหากสร้างการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองให้คนเข้าใจประชาธิปไตยได้สำเร็จ สังคมก็จะสงบ

แนวคิดของ อาทิตย์ มองว่าพลเมืองประชาธิปไตยนั้นไม่พอ ต้องมีธรรมาธิปไตยด้วย คือมี ธรรมเป็นใหญ่ จึงจะสร้างสังคมที่ดีงามได้ไปด้วย ต่างกับแนวคิดแบบโลกาธิปไตยที่ยึดเสียงของประชาชนเป็นใหญ่ หรืออัตตาธิปไตยที่เน้นตนเองเป็นใหญ่ ซึ่งปฤณได้ตั้งข้อสังเกตว่าจะเห็นวิธีคิดนี้ซ้ำๆ ในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองที่อื่น เช่น วิชา TU 100 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อว่าสังคมมีปัญหาแบบนี้จะแก้ได้ก็ต้องใช้วิธีของตัวเองแบบนี้เท่านั้น โดยรูปแบบของอาทิตย์ ในการจัดการศึกษาสร้างความเป็นพลเมืองเชื่อมโยงกับหลักธรรมทางพุทธศาสนา เช่น อริยสัจ 4 และแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ แม้รูปแบบการสอนจะมีการสอนแบบเรียนรู้ผ่านโครงงาน มีการดูหนังวิเคราะห์หนัง มีการลงพื้นที่ สุดท้ายเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายหลัก คือ การมุ่งเน้นดัดแปลงตัวตนของผู้เรียน คือ การสอนบอกกล่าวให้เป็นในสิ่งที่ดีที่อยากจะให้เป็น มากกว่าการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งจะเห็นผลลัพธ์ที่แนวคิดนี้ต้องการ 3 แบบ ได้แก่ การให้บริการสาธารณะ การดูแลสุขภาพ และดูแลผู้ด้อยโอกาส หรือการทำความดีอย่างที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมองว่าเป็นความดี

ปฤณ มองเห็นความขัดแย้งในตัวเองของการสร้างพลเมืองที่มุ่งเน้นการดัดแปลงตัวตนผู้เรียนมากเกินไป โดยมองว่าปกติการเรียนรู้ต้องประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่สั่งสอนหลักการ และส่วนที่ต้องมีประสบการณ์จริงที่รองรับค่านิยมหรือหลักการที่สอน แต่บริบทสังคมไทยดูจะยากที่จะบ่มเพาะคุณลักษณะอย่างหลัง เพราะสิ่งที่สั่งสอนไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เรียนไปเจอ หรือเห็นในสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ จะเห็นวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ปฏิเสธหลักการประชาธิปไตยอยู่รอบตัว จนเป็นเรื่องปกติ เช่น การรับน้อง ซึ่งเป็นข้อจำกัดของโครงสร้างสังคมในการสอนประชาธิปไตย และมองว่าคนที่ทำเรื่องการสร้างพลเมืองรู้เรื่องนี้ แต่ตระหนักเรื่องนี้น้อยเกินไป สุดท้ายรูปแบบการสอนจึงไปสู่การสอนหลักการมากกว่าพาคนไปเรียนรู้จากทั้ง 2 ด้าน ซึ่งไม่ใช่แค่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมฝ่ายเดียวที่มีปัญหา แม้แต่ตัวเอง หรือฝ่ายประชาธิปไตยเองก็ยังติดในทัศนคติที่ยังต้องสอนหลักการให้เห็นทางออกเพียงแบบเดียว เชื่อว่าเป็นวิธีที่ถูกและละเลยส่วนที่ 2 เช่นกัน

ปฤณกล่าวว่า สุดท้ายไปสู่คำถามท้าทายที่ว่า หนึ่ง เราจะส่งเสริมนามธรรมที่ดีงามได้อย่างไรในรัฐที่มีข้อจำกัดของโครงสร้างสังคมที่คอยขัดขวาง เช่น มีวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด ผู้มีอำนาจไม่เคยต้องรับผิดชอบความผิดที่ก่อขึ้น สอง จะสร้างสมดุลการสร้างพลเมืองให้มีดุลยภาพระหว่างวิธีการปลูกฝังกล่อมเกลา และสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้จริงขึ้นได้อย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่การคิดถึงแผนระยะยาวในการสอน ทรัพยากรที่ใช้ เช่น คน เวลา และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างพลเมือง เช่น อาจมีพ่อแม่ ครู ผู้บริหารสถานศึกษาที่ต้องมาเกี่ยวข้องด้วย ปฤณกล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ข้อท้าทายจะดูเป็นอุดมคติ แต่เชื่อว่ามีความหวังที่จะพัฒนาต่อไปได้
ห้องเรียนต้องสร้างพลเมืองคิดได้ ถามรัฐเป็น อาเซียนควรพัฒนาเศรษฐกิจและยอมรับพหุวัฒนธรรม


บุน ยี จาสมิน ซีม (ที่มา: Thai Civic Education)

จาสมินกล่าวว่า แนวโน้มของการศึกษาพลเมืองประชาธิปไตย เริ่มจากความเชื่อว่าทุกคนมีอำนาจในร่างกายของตนเองและมอบอำนาจให้ตัวแทนจากอำนาจอธิปไตยไปปกครอง ดังนั้น พลเมืองประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงการเชื่อฟังและภักดีกับรัฐ แต่ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์และมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลักดันประเทศไปข้างหน้าได้

การศึกษาพลเมืองประชาธิปไตยนอกเหนือจากความรู้โครงสร้างการเมือง ต้องพัฒนาความเข้าใจเชิงลึกเรื่องหลักการความเท่าเทียมและเสรีภาพว่านำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้างทั้งในระดับบุคคล สังคม และสาธารณะ โดยสามารถทำให้พลเมืองประชาธิปไตยมีการตัดสินใจที่เฉียบคมซึ่งเป็นที่มาของความรู้ต่างๆ มากมายและการคิดที่ซับซ้อนเพื่อให้เสรีภาพแก่ทุกคนเท่าที่เป็นไปได้

นักการศึกษาจากประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า ทักษะการตัดสินใจของพลเมือง รวมถึงความรู้และกระบวนการเชิงปัญญาที่นำไปสู่การตัดสินใจ เป็นศูนย์กลางในการเป็นพลเมืองประชาธิปไตย เทียบเท่าการศึกษาที่ได้รับรู้ว่าเป็นพลเมือง โดยการศึกษาวิชาสังคมศึกษาในหนังสือคู่มือวิจัยพบว่า การสอนพลเมืองได้รับความสนใจน้อยมาก แต่ในกระแสปัจจุบัน จำเป็นต้องมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างประจักษ์แจ้ง มีรัฐบาล และการเมืองที่มั่นคง พร้อมทั้งการสอนประวัติศาสตร์ พลเมืองประชาธิปไตย จัสมินกล่าวว่า ครูเหมือนเป็นคนที่กรองข้อมูลข่าวสารสู่นักเรียนโดยเน้นการเรียนการสอนแบบปฏิบัติ เช่น การเล่นบทบาทสมมติ การปฏิบัติ หรือ การอภิปรายในชั้นเรียนเกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตย แม้ว่าบริบทของกลุ่มประเทศอาเซียนจะแตกต่างกับตะวันตกในมุมมองของการมองพื้นฐานการเมืองที่เอเชียมองในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากกว่า แต่ก็สามารถปรับกับบริบทของกลุ่มประเทศเอเชียได้

จาสมินกล่าวทิ้งท้ายว่า อาเซียนควรพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตไปด้วยเพื่อให้ยกระดับคนยากจนภายในระยะสั้น พร้อมทั้งปลูกฝังความแตกต่างหลากหลายเพิ่มไปในวัฒนธรรม และมองโลกในแง่ลบ มากกว่ามองโลกในแง่บวกจนเกินไปว่าเศรษฐกิจโตแล้วจะดี ต้องเผื่อมองด้านลบ คิดถึงการฟองสบู่แตกของเศรษฐกิจด้วย


อรรถพล อนันตวรสกุล (ที่มา: Thai Civic Education)

อรรถพล ได้นำเสนอเกี่ยวกับความก้าวหน้าของศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย (Thai civic education) ว่า ขับเคลื่อนด้วยโครงการฝึกหัดครูโดยเน้นทักษะ 4 ด้าน ได้แก่ การรู้เท่าทันการเมืองและประชาธิปไตยศึกษา พหุวัฒนธรรมศึกษา และการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ สิทธิมนุษยชนศึกษา และสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พลเมืองอาเซียน พลเมืองโลกและการเรียนรู้ประวัติศาสตร์กับการสร้างความเป็นพลเมือง

การเรียนรู้ที่สำคัญ ประกอบไปด้วย 3 มิติ ได้แก่ การเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย การเรียนรู้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่มีความเป็นประชาธิปไตย และการเรียนรู้เพื่อมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคม โดยระดับขั้นของความเป็นพลเมืองเริ่มจาก พลเมืองรับผิดชอบแบบตั้งรับ พลเมืองที่รับผิดชอบแบบเฉพาะตัว พลเมืองที่มีส่วนร่วม พลเมืองที่มุ่งเน้นความเป็นธรรมในสังคม เพื่อนำไปสู่พลเมืองที่มุ่งเน้นความเป็นธรรมเชิงทางสังคมอย่างแข็งขัน

นักการศึกษาจากจุฬาฯ กล่าวอีกว่า ทางองค์กรได้ร่วมมือกับ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) เพื่อพัฒนาการเรียนรู้เท่าทันสื่อ โดยเอกสารประกอบการเสวนา ได้กล่าวถึงการเรียนรู้เท่าทันสื่อว่า หลักการ MIDL หรือ Media Information Digital Literacy คือการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิตอล โดยได้ระบุถึงลักษณะการเป็นพลเมืองประชาธิปไตยไว้ว่า “พลเมืองที่มีสมรรถนะในการเข้าถึงเข้าใจ วิเคราะห์ ตีความ ตรวจสอบและคิดอย่างมีวิจารณญาณ สามารถประเมินประโยชน์ และโทษการเลือกรับ ใช้ประโยชน์ และสร้างสรรค์สื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจรัฐ ทุน สื่อ ตลอดจนบริบททางสังคมและเศรษฐกิจ เป็นผู้ที่เคารพสิทธิและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมที่หลากหลายได้อย่างผิดรับผิดชอบ และสามารถใช้สื่อสารสนเทศ และดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการต่อรองอำนาจและสร้างเปลี่ยนแปลงในฐานะพลเมืองประชาธิปไตยยุคดิจิทัล ที่กระตือรือร้นในการมีส่วนร่วมและมุ่งเน้นความยุติธรรมทางสังคมเป็นส่วนสำคัญ” (ที่มา: Thai Civic Education)

*เพิ่มเติมในส่วนของ อภัยชนม์ จากรายงาน รูปแบบของพลเมือง ( kind of citizen ) ของ Joel Westheimer ซึ่งประกอบไปด้วยพลเมืองสามระดับ ได้แก่

1 พลเมืองที่มีความรับผิดชอบ (personally Responsible Citizen)

2 พลเมืองที่มีส่วนร่วม (Participatory Citizen)

3 พลเมืองที่มุ่งเน้นความเป็นธรรมต่อสังคม (Justice-Oriented Citizen)


ที่มาภาพ: http://www.mediafire.com/…/11755026_10153371791405873_54738…


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.