Posted: 15 Jul 2017 03:06 AM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เลขาธิการ กสทช. ระบุ 'เฟซบุ๊ก' และ 'ยูทูบ' ให้ความร่วมมือปิดเนื้อหาไม่เหมาะสมเป็นอย่างดีเพียงแต่ต้องมีหมายศาล ที่ผ่านมาปิดได้เกือบหมดเพราะส่งหมายศาลให้สมาคมไอเอสพีช่วยประสานให้ แต่ช่วงหลังพอกระทรวงดีอีทำเองทางเฟซบุ๊กกับยูทูบกลับบอกว่าไม่ได้คำสั่งศาล

15 ก.ค. 2560 เว็บไซต์ แนวหน้า รายงานว่า นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการตรวจสอบและระงับการเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางอินเตอร์เนต ที่ส่งผลกระทบอันอาจทำลายความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชนว่า ได้มีรายงานตรวจสอบผลการระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมตามคำสั่งศาลในช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม-9 กรกฎาคม 2560 พบว่ามีเว็บไซต์ที่ถูกปิดตามคำสั่งศาลมีจำนวนลดลงอย่างมาก โดยเพจในเฟซบุ๊กที่มีคำสั่งศาล 1,471 ยูอาร์แอล มีการดำเนินการปิด 156 ยูอาร์แอล, เพจในยูทูบทีมีคำสั่งศาล 622 ยูอาร์แอล มีการปิดไป 9 ยูอาร์แอล เท่านั้น

ทั้งนี้เมื่อทำการตรวจสอบจากสมาคมผู้ให้บริการอินเตอร์เนตประเทศไทย (ไอเอสพี) แล้วพบว่าคำสั่งศาลจำนวนดังกล่าวสมาคมฯ ไม่ได้เป็นผู้ส่ง แต่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ทำงานร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ดำเนินการส่งคำสั่งศาลไปยังเฟซบุ๊กและยูทูบ โดยตรง จึงทำให้ผู้ให้บริการทั้ง 2 ราย ไม่ได้รับคำสั่งศาล ไม่เหมือนกับที่ กสทช.ประสานให้สมาคมฯ ส่งให้ในกรณีที่ผ่านมาซึ่งสามารถปิดลงได้เกือบทั้งหมด

“อย่างที่บอกคือทั้งเฟซบุ๊กและยูทูบเขาให้ความร่วมมือดี เพียงแต่ต้องมีหมายศาล ที่ผ่านมาก็ปิดได้เกือบหมด เพราะเราส่งหมายศาลให้สมาคมไอเอสพี ไอไอจี ช่วยดำเนินการประสานให้ แต่คราวนี้ไม่รู้เป็นเพราะอะไร กระทรวงดีอีทำเอง แต่ทางเฟซบุ๊คกับยูทูบบอกว่าไม่ได้คำสั่งศาล”

นายฐากรกล่าวว่าดังนั้นสำนักงาน กสทช. จึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา หากกระทรวงดีอี และ ปอท. ส่งสำเนาคำสั่งศาลไปยังเฟซบุ๊กและยูทูบแล้วให้ส่งสำเนาคำสั่งศาลมายัง กสทช.เพื่อส่งต่อให้สมาคมฯ ดำเนินการประสานกับเฟซบุ๊กและยูทูบอีกทางหนึ่งด้วย พร้อมกันนี้ กสทช.จะเชิญจะสมาคมฯ และผู้ให้บริการอินเตอร์เนตเกตเวย์ระหว่างประเทศ (ไอไอจี) มาร่วมประชุมและรับคำสั่งศาลที่ กสทช.ในวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ด้วย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.