Posted: 08 Jul 2017 12:00 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

แรงงานชาวกัมพูชาก็อยู่อยู่ภายใต้ความหวาดกลัว หลังรัฐบาลมาเลเซียปราบปรามแรงงานผิดกฎหมายอย่างหนักหน่วง มีแรงงานถูกจับกว่า 2,000 คน ตั้งแต่พ้นกำหนดเส้นตายขึ้นทะเบียนแรงงานเมื่อ 15 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา


เว็บไซต์ phnompenhpost.com รายงานเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่า แรงงานชาวกัมพูชาในมาเลเซียยังคงอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว หลังรัฐบาลมาเลเซียมีการปราบปรามแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายอย่างหนักหน่วง ทั้งนี้มีแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายถูกจับกุมแล้วราว 2,000 คน ตั้งแต่พ้นกำหนดเส้นตายขึ้นทะเบียนแรงงานเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมาเลเซียได้เปิดโอกาสให้นายจ้างนำแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายไปขึ้นทะเบียนโดยเสียค่าธรรมเนียมล่วงหน้าหรือ ‘มัดจำ’ ไว้ก่อน 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนที่จะเพิ่มค่าธรรมเนียมอื่น ๆ อีกภายหลัง

ประธานคณะกรรมการผู้ย้ายถิ่น ผู้ลี้ภัย และการย้ายถิ่น สภาทนายความมาเลเซีย (Migrants Refugees and Immigration Committee of the Bar Council of Malaysia) เผยว่ามาเลเซียมีแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายมากกว่าล้านคน แต่นายจ้างพาไปขึ้นทะเบียนเพียง 161,000 รายเท่านั้น

"แรงงานต่างชาติจำนวนมากไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้เนื่องจากนายจ้างของพวกเขาไม่ได้พาไปลงทะเบียน … แรงงานต่างชาติไม่ควรเป็นเหยื่อเช่นนี้เพียงเพราะความล้มเหลวของนายจ้างในการทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย" ประธานคณะกรรมการผู้ย้ายถิ่นฯ กล่าว

ด้านฝ่ายการศึกษาของสหพันธ์สหภาพแรงงานมาเลเซีย (Malaysian Trades Union Congress) ระบุว่าแม้รัฐจะพยายามทำให้การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติง่ายขึ้น แต่ก็ยังติดขัดในข้อกฎหมายบางประการ แม้แรงงานที่หนีนายจ้างเพราะถูกรังแกก็จะไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานถูกกฎหมายได้


มาเลเซียก็ใช้กำลังพลจากกองทัพในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวด้วยเช่นกัน (ที่มาภาพ: phnompenhpost.com)

แรงงานแม่บ้านหญิงชาวกัมพูชาวัย 35 ปี เล่าว่าการทำงานในมาเลเซียเธอต้องทนทำงานแม้นายจ้างจะปฏิบัติแย่ ๆ ต่อเธอก็ตาม เพราะหากเปลี่ยนนายจ้างก็จะกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ทั้งที่ได้จ่ายเงินไปแล้ว 1,630 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นค่าใบอนุญาตทำงานและค่าวีซาอายุ 1 ปี แต่เธอกลับได้เงินเดือนการทำงานเพียงเดือนละ 230 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น

แรงงานกัมพูชาชายคนหนึ่งยอมรับว่าเขากลัวถูกจับเพราะไม่แน่ใจสถานภาพของตนเองว่าถูกกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้พิมพ์ลายนิ้วมือในหนังสือเดินทาง เขาและเพื่อนแรงงานกัมพูชาอีก 20 คนถูกนายจ้างโรงงานสิ่งทอในมาเลเซียยึดหนังสือเดินทางไว้ทั้งที่ผิดกฎหมายมาเลเซีย โดยนายจ้างสั่งให้พวกเขาอยู่แต่ในโรงงานและหอพักเท่านั้น

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.