Posted: 10 Jul 2017 03:07 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


เบนซ์- นิษฐกานต์ แก้วปิยสวัสดิ

มาตรา 44, ซิงเกิลเกตเวย์, ปรับทัศนคติ, เรือดำน้ำ ฯลฯ
คีย์เวิร์ดเหล่านี้เราอาจเห็นจนชินตาตามหน้าข่าวการเมือง แต่เมื่อมันถูกนำมาใส่ในเอ็มวีเพลง ‘เผด็จเกิร์ล’ ของวงชื่อดังอย่าง Tattoo Colour ซิงเกิ้ลแรกของอัลบั้ม ‘สัตว์จริง’ ที่แค่ปกอัลบั้มก็ไม่ธรรมดาแล้ว เมื่อสมาชิกวงต่างแต่งหน้าเป็นสัตว์ต่างๆ ยืนเรียงกันและชูสามนิ้ว เปิดโอกาสกว้างแก่การตีความ


ปกอัลบั้ม 'สัตว์จริง' ของ Tattoo Colour

หลังจากที่เอ็มวี ‘เผด็จเกิร์ล’ ถูกปล่อยออกมา ก็ได้รับกระแสตอบรับจากโลกโซเชียลอย่างกว้างขวาง ทั้งเพลงที่ฟังง่าย ติดหู และเนื้อหาของเอ็มวีที่ใช้อารมณ์ขันสะท้อนทั้งความสัมพันธ์ชายหญิงและสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันอย่างแยบคาย

ใครจะรู้ว่าผู้อยู่เบื้องหลังเอ็มวีเพลงฮิตนี้คือ ผู้กำกับสาววัยเพียง 23 ปี เบนซ์- นิษฐกานต์ แก้วปิยสวัสดิ ที่จบโดยตรงมาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ลาดกระบัง สาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิตอลมีเดีย แม้โดยตำแหน่งแล้วเธอทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้กำกับให้กับ Dylan Film (ดีแลนฟิล์ม) แต่ด้วยผลงานที่ผ่านมาของเธอแม้ยังมีไม่มากแต่มักเป็นงานแนววิชวลจัด ตรงกับความต้องการของวง Tattoo Colour ที่ต้องการเอ็มวีที่แปลกใหม่ และด้วยการเปิดโอกาสของ Dylan Film รวมถึงค่ายเพลงและสมาชิกวง เราจึงได้เห็นฝีมือคนรุ่นใหม่ที่น่าจับตา

ประชาไท ชวนผู้กำกับเอ็มวีสาวคุยถึงที่มาที่ไป เบื้องหลังกระบวนการทำเอ็มวี ไปจนถึงทัศนคติเรื่องศิลปะกับการเมือง

ความสนใจในด้านฟิล์ม?

เริ่มมาจากอยากเรียกอินทีเรีย แต่สอบไม่ติด เลยเข้ามาเรียนฟิล์ม ในระหว่างนั้นก็ไม่ชอบเลย เรารู้สึกว่าการทำหนังมันไม่จบในตัวเราคนเดียว แต่ต้องไประรานชาวบ้าน (หัวเราะ) แต่เราสนใจแฟชั่น จนได้ลองเข้าไปทำโปรเจคของ Elle Magazine ทำนิตยสารเล่มเล็กของ Elle เดือนนั้น ช่วงที่ทำมีอีเว้นท์ Elle Fashion Film Festival ก็มีโอกาสได้ไปดู แล้วก็ เออว่ะ จริงๆ แล้วมันมีหนังหลายแบบ มันมีหนังสไตล์ หนังที่เล่นกับวิชวล หนังอื่นๆ ที่ทำให้คิดว่าเราทำได้ คิดว่าตัวเองว่าจะเหมาะกับหนังแบบนี้แหละ ก็เลยอยากเป็นผู้กำกับมาตั้งแต่ตอนนั้น
ตัวเนื้อหาเอ็มวีเริ่มจากเราเลยมั้ย? เห็นมีทั้ง ม.44 ซิงเกิลเกตเวย์ เรือดำน้ำ กระทั่งวันที่ 20 พฤษภาคม (วันประกาศกฎอัยการศึก ก่อนหน้ารัฐประหารปี 57 สองวัน)

เริ่มมาจากคอนเซปต์หลักของเพลงก่อน คือจากเนื้อหาของเพลงที่พูดถึงเรื่องความรักที่ผู้ชายต้องยอมตลอดแล้วในความสัมพันธ์ผู้หญิงมักจะเป็นเผด็จการ มีอำนาจเหนือเหตุผลประมาณนึง เลยกลายเป็น ‘เผด็จเกิร์ล’ ซึ่งเรามองว่าเผด็จการในความสัมพันธ์ของคนสองคน กับเผด็จการที่เราเผชิญอยู่มีบางอย่างคล้ายคลึงกัน แต่เป็นการดึงเข้ามาขำๆ ล้อกับความเป็นคู่รัก เราก็มาคิดว่าเหตุการณ์อะไรบ้างที่ทำให้เรานึกถึงความเผด็จการ ที่เล่าไปแล้วคนดูจะเข้าใจและรู้สึกตรงกับชีวิตพวกเขา

แสดงว่าเป็นคนสนใจการเมืองประมาณหนึ่ง?

ก็ประมาณนึง แต่เราไม่ได้เป็นคนอ่านเยอะหรือรู้ลึกเรื่องประวัติศาสตร์ขนาดนั้น แต่ตอนนี้เราเห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างกับประเทศของเรา เราว่าที่เอ็มวีนี้มัน touch นอกจากมันจะตรงกับประสบการณ์คู่รักหลายๆ คู่ รวมถึงตัวเราเองด้วย มันยัง touch คนเพราะทุกคนรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่ทุกคนไม่รู้จะพูดออกไปยังไง เอ็มวีนี้เหมือนเป็นตัวช่วยแบบ เฮ้ย พูดแทนเราแล้ว

อย่างเราทำสื่อ เราจะเห็นสิ่งที่เขาพยายามจะทำ เช่นก่อนหน้านี้มี ซิงเกิลเกตเวย์ หรือมีกฎหมายคุมสื่อออนไลน์ เราว่ามันเป็นการบีบคนทำอย่าคิดอย่าทำอะไรไปมากกว่านี้ ควบคุมทุกอย่าง มันเลยทำให้เราอิน เพราะเรารู้สึกว่าจริงๆ มันใกล้ตัว

อย่างที่บ้าน เราชอบคุยเรื่องนี้กันนะ เราก็อยู่ฝ่ายหนึ่ง พ่อแม่ฝ่ายหนึ่ง น้องฝ่ายหนึ่ง คนละฝ่ายหมดเลย แต่มันดีตรงที่เราเอาเหตุผลมาสู้กัน เด็กรุ่นเราคิดแบบนี้ รุ่นพ่อแม่คิดแบบนี้ คิดไม่เหมือนกัน เขาก็มีเหตุผลของเขา เราก็มีเหตุผลของเรา ซึ่งในเหตุผลของแต่ละคนก็มีข้อดีข้อเสียหรือจุดอ่อนของแนวคิดทั้งคู่ สุดท้ายเราไม่รู้ว่าการเมืองแบบไหนจะดีเหมาะกับสังคมที่สุด อาจจะต้องลองหาตรงกลางมั้ง แต่เราเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นการเมืองในรูปแบบไหน สิทธิและเสรีภาพทางความคิดเป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับ
เอ็มวีเซ็นเซอร์ตัวเองมั้ย?

ส่วนใหญ่เราจะคิดไปขายพี่โต (ธนิษฐ์ พิณทอง เจ้าของ Dylan film) ก่อน ซึ่งพี่โตจะเป็นคนเซ็นเซอร์ทุกอย่างก่อน คือพล็อตแรกที่เราขายไปมันเครียดกว่านี้ แล้วเราต้องมาเตือนตัวเอง อ๋อ เล่าเรื่องความรักอยู่เนอะ ถ้าเล่าเรื่องแบบนั้นต้องดูก้าวร้าวแน่ๆ พี่โตก็จะคอยบอกว่าประมาณนี้กำลังดีแล้ว หรือ แบบนี้ดูไม่ก้าวร้าวเกินไป

พล็อตแรกเป็นไง?

เป็นแบบนี้แหละ แต่มันก็จะมีอย่างคูหาเลือกตั้งมาตั้งเลย มีใบเลือกตั้ง ที่เราอยากเอามันมาใส่ในเหตุการณ์ของคู่รัก มันก็จะล้อเลียนกับเหตุการณ์ที่ผู้ชายมักจะเผชิญ อย่างการถูกแฟนถามว่าวันนี้จะกินอะไร ให้เลือกอาหาร แล้วผู้ชายกากบาทไป สุดท้ายผู้หญิงก็ฉีกใบเลือกนั้นทิ้ง อารมณ์แบบ สุดท้ายก็ไม่ให้เลือกอยู่ดี ฉันอยากทำอะไรให้เธอกินก็ได้ จากซีนนี้ก็เปลี่ยนมาเป็นซีนเลือกแว่นแทน ตัดอะไรที่มันดูชัดๆ ออกไป แต่เราว่าก็ยังได้คอนเทนท์นั้นอยู่นะ

เห็นว่าคอนเซปต์หลักเอามาจากประเทศเกาหลีเหนือ?

เราเอามาเป็น reference (การอ้างอิง) ในด้านวิชวล ที่มันมีความแข็งๆ ความเป็นแพทเทิร์นซ้ำๆ ความเป็นผู้นำแบบนี้ ทุกอย่างดูเหมือนกันไปหมด เพราะบ้านเรามันไม่ได้มีอาร์ตไดเรคชั่นของความเป็นเผด็จการที่ชัดเจนขนาดนั้น 

ตั้งใจให้ดูย้อนยุค?

ก็ตั้งใจให้มันดูล้าหลังหน่อยๆ ให้ความรู้สึกแบบไม่พัฒนาไปไหนสักที อยู่กับสิ่งเดิมๆมา 20-30 ปีแล้วอะไรแบบนั้น

มีนัยซ่อนอยู่ในเครื่องแต่งกายและพร็อบไหม?

ก็มีบ้าง อย่างเสื้อผ้า พร็อพบางอย่าง แต่ที่มีคนโยงไป อย่างเช่น พระเอกตัดผมเกรียนนี้มีนัยหรือเปล่า จริงๆ คือตอนแคสนักแสดง พระเอกเขาส่งรูปมาเป็นตอนเขาสกินเฮด แล้วเราก็ชอบพระเอก Trainspotting (1996) มาก ก็รู้สึกเข้าดีกับเอ็มวี ไม่ได้จะโยงการเมืองทุกจุดขนาดนั้น เป็นเรื่องของสไตล์ ภาพรวมของทั้งเอ็มวีมากกว่า

หรืออย่างซีนที่ใช้คอมแมคอินทอช มีคนไปตีความว่า ที่เอ็มวีใช้คอมแมคอินทอชรุ่นนี้ เพราะมันเปิดตัวในปี 1984 แล้วก็เชื่อมโยงกับคำว่า “I’m watching you” ไปถึงเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออเวลด้วย

ทั้งที่จริงๆ เราแค่คิดว่ามันควรเป็นคอมเก่าที่เป็นจอตู้ ไม่ใช่แบบ LED ในปัจจุบัน แล้วเราก็คิดได้ว่ามันมีคอมแมคอินทอชแบบนี้อยู่ พี่ทีมงานก็หามาให้จนได้ 5 เครื่อง

ส่วนตัวประโยค “I’m watching you” เราไม่เคยดูหนังเรื่อง big brother 1984 มาก่อน แต่ด้วยสถานการณ์ในซีนนั้นเราคิดว่าผู้หญิงควรตอบข้อความกลับไป เราเลยคิดถึงประโยคนี้เพราะดูดุและกระชับและเล่าเรื่อง

เมื่อวานเราเลยไปหาหนังเรื่อง Big Brother 1984 ดูแล้วเราก็เข้าใจเลยว่าทำไมคนโยงไป เพราะมันมีความคล้ายกันมาก ซึ่งด้วยความที่มันเหมือนทำให้เรามาคิดว่าคนทำหนังในยุคนั้นกับเราตอนนี้อาจมองเห็นภาพของความเผด็จการคล้ายๆกันมั้ง

เราชอบมากที่คนดูโยงงานของเราไปสู่เรื่องต่างๆ จากงานเราที่คิดว่ามีแค่นี้ แต่พอคนมาดูแล้วมันได้อะไรมาอีกเยอะ เราว่าการที่คนดูดูแล้วตีความมันเติมเต็มทำให้งานเราดูมีมิติมากขึ้น ต้องขอบคุณคนดูจริงๆ


เบนซ์- นิษฐกานต์ แก้วปิยสวัสดิ

กระแสตอบรับด้านลบ?

ก็มีคนที่มาคอมเมนต์ว่าทำไมต้องโยงไปการเมือง แต่เราก็รู้สึกว่าแล้วแต่คนจะคิด อยู่ที่คุณจะมองว่ามันเป็นเรื่องความรักหรือการเมือง

ตอนคุยงาน พี่ๆ วง Tattoo Colour และค่ายเพลงโอเคกับบทของเรามั้ย?

จากดราฟต์แรกมันจะเป็นการเมืองกว่านี้ มี Symbolic เยอะ พี่ดิม (นักร้องนำ วง Tattoo Colour) ก็กลัวว่าเดี๋ยวมันจะเครียดไป และเขายังอยากให้มันเป็นเอมวีที่แฟนส่งให้กันฟังได้ มีความหยอกล้อกันน่ารักๆอยู่ ขอปรับมาเป็นแบบแมสกว่านี้ เราก็ปรับให้มันมีความเป็นคู่รักสูงมาก แต่สุดท้ายทุกคนลงความเห็นว่ามันครึ่งๆ กลางๆ

อาจจะเพราะเราไม่ถนัดการเล่าเรื่องแบบนั้นด้วย เขาก็เลยบอกว่ามันคงจะต้องสุดไปทางใดทางนึง เอาที่เบนซ์ถนัดเลย เพราะมันจะถ่ายแล้ว เหลืออีก 10 วัน พอปล่อยเรา เราก็ทำสิ่งที่อยากทำ ตรงไหนใส่อะไรได้เราก็ใส่ไป เพราะถ้าจะเล่าคอนเซปต์ความเป็นเผด็จเกิร์ลมันก็ต้องใส่ภาพของความเผด็จการเข้าไปที่คนเห็นแล้วแบบเข้าใจตรงกัน อย่างช็อตที่เป็นเลโก้ คือเราจะเล่าความ “อยากได้อะไรก็ต้องได้” ของผู้หญิง และก็ไม่รู้จะใช้ Situation แบบไหน แต่พอเป็นเรือดำน้ำมันคือเฟรมเดียวจบ เข้าใจรู้เรื่อง
พอออกมาเป็นเอ็มวีแล้วพอใจมั้ย?

ค่อนข้างพอใจนะ มันเป็นเหมือนที่เราคิดไว้ตอนแรก คล้ายๆ ดราฟต์แรกแต่ปรับให้ซอฟท์ลง แต่ก่อนออนแอร์เราเครียดมากคือดูอยู่หลายรอบก่อนออนแอร์แล้วคิดว่ามันดีหรือยังวะ แล้วก็กดดันตัวเองว่ามันน่าจะได้ดีกว่านี้หรือเปล่าตลอดเวลา แต่พอออนแอร์แล้วเห็นฟีดแบคจากคนดูมันก็โล่งใจว่าแบบเออมันก็ไม่ได้แย่แบบที่เราคิดนะ คลายความกดดันไปได้บ้าง แต่ก็ยังมีความกดดันต่อไปอีกว่างานต่อไปต้องทำให้ดีกว่านี้ อะไรแบบนั้น

ทีมงาน และพี่ๆ วง Tattoo Colour พอใจมั้ย?

เมื่อวานเราเพิ่งจะได้รับโทรศัพท์จากทางวง พี่ๆโทรมาขอบคุณ ทุกคนชอบ พี่รัฐ (ร้องนำ, กีตาร์ วง Tattoo Colour) โทรมาหาเรา ใครจะรู้ว่าเราจะได้รับสายพี่รัฐ โอ้มายก้อด ความติ่งสมัยเด็กอ่ะ (สีหน้าดีใจสุดๆ) เสียงสั่นอ่ะ พี่รัฐโทรมา เขาบอก ทุกคนชอบมาก แม่พี่รัฐก็ชอบแต่ถามว่า แล้วน้องเขาจะไม่เป็นไรใช่ไหม (หัวเราะ)

แล้ววงก็บอกว่าเราซื่อสัตย์กับ Reference มาก คือเราขายอะไรไป แล้วมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ พี่จั๊มป์ (กีตาร์เบส, ร้องประสาน วง Tattoo Colour) ก็บอกว่าตอนดูครั้งแรกเขาตกใจมาก เขาไม่เคยเห็นเอ็มวี Tattoo Colour แบบนี้มาก่อน เขาก็ไม่ชิน แต่พอดูไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกยิ่งดูชอบมันมากขึ้นๆ มันทลายความกดดันทั้งหมดที่เราเก็บมาตั้งแต่ต้นเลย

เราว่าดีนะ พอมีคนเปิดให้เราทำอะไรแบบนี้ หรือมีค่ายที่เปิดโอกาสให้วงได้พูดความคิดตัวเอง มันโคตรดีเลยที่จะมีอะไรแบบนี้ออกสู่สังคมบ้าง เหมือนตอนนี้ทุกคนไม่ค่อยกล้าขยับตัวทำอะไร แต่พอมันมีอะไรแบบนี้ออกมามันก็อาจจะทำให้คนอื่นกล้าออกมาลองอะไรสนุกๆ หรือปลดปล่อยความรู้สึกถูกกักขังของเขา เหมือนเราพยายามเบลอเส้นที่ดูเหมือนต้องห้าม ให้พื้นที่ในการสื่อสารของเรามันมีมากขึ้น แต่เราคงจะเป็นกระบวนการแบบซึมๆ ไป คงไม่ใช่แบบโจ่งแจ้ง ถ้ายังต้องอยู่ในระบบแบบที่เป็นอยู่นะ

ข้อดีของศิลปะคือมันทำให้เราอยากพูดเรื่องที่เราอยากพูด มันอยู่ที่คนเสพจะตีความ มันค่อนข้างกว้าง และปลอดภัย ไม่ก้าวร้าวแบบใช้กำลัง ยิ่งถ้าเมื่อไหร่ที่งานมันเข้าไปเปลี่ยนความคิดคนได้เราว่ามันเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพเหมือนกัน

งานเอ็มวีไปจนกระทั่งงานศิลปะมันเชื่อมโยงกับการเมืองได้ไหม ยังไง?

เราว่าศิลปะกับการเมืองมันเป็นเหมือนสงครามเย็นอ่ะ
ยังไงนะ?



คือมันแยบยล เหมือนค่อยๆ ซึม คือถ้าคนเสพไปเรื่อยๆ คอนเทนท์ในตัวมันทำให้คนเปลี่ยนความคิดได้เลยนะ ศิลปะและคอนเซปต์ในเนื้อหาเป็นสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคตได้ สำหรับเรานะ ยิ่งเป็นวิดีโอเป็นภาพ พอคนเห็นคนได้ยิน และด้วยความที่มันย่อยง่ายด้วย มันก็ซึมไปสู่ความคิดคนได้
ถ้างั้นอาจจะไม่ใช่ศิลปะอารมณ์แบบ Conceptual Art ที่คนทั่วไปเข้าใจยาก แต่เป็นศิลปะเพื่อความบันเทิง?

อืม แต่เราว่าเอาจริงถ้ามันจะเป็น Conceptual Art แล้วคนพยายามจะทำความเข้าใจ มันก็ยังเข้าถึงคนทั่วไปได้อยู่ดี

คิดว่าจะทำงานที่เกี่ยวกับการเมืองอีกมั้ย?

เราไม่ได้ตั้งเป้าไว้แบบนั้น เอ็มวีนี้ก็ไม่ได้ตั้งเป้ามาเล่นการเมืองขนาดนั้น เราอาจไม่ได้เล่นอีกก็ได้ เพราะสุดท้ายมันขึ้นอยู่กับงาน คือจะให้ทุกงานมาโยงเรื่องการเมืองก็ไม่ได้เพราะถ้ามันไม่เกี่ยวแล้วจะโยงไปทำไม เหมือนเป็นการคิดอะไรสุดโต่งเกินไปเหมือนยัดเยียดให้คนดู สุดท้ายแล้วอยู่ที่ว่าจุดประสงค์ของงานนั้นต้องการบอกอะไรคนดูมากกว่า

คำว่า 'Fake Woke' จากบทความของ The Matter คิดว่ากระแสความตื่นตัวทางการเมืองจะกลายมาเป็นแฟชั่นในอนาคตมั้ย?

เราว่ามันก็อาจจะเป็นแฟชั่น แต่เรารู้สึกว่ามันก็เป็นแฟชั่นที่ดี อย่างน้อยมันทำให้คนหันมาสนใจด้านนี้ ต่อให้มันเป็นแฟชั่นแป๊บเดียว แต่จากคนที่ไม่เคยคิดอะไรเลย แล้ว เฮ้ย เทรนด์นี้มันมาว่ะ แล้วเขาก็อ่านทำความเข้าใจ อย่างน้อยเขาก็ซึมซับเข้าไป เขาก็ได้รู้อะไรบางอย่าง แล้วก็อยู่ที่ตัวเขาจะคิดยังไงต่อกับมัน

จริงๆ เราว่าไม่ควรแบ่งว่าคนนี้แม่งสนใจจริงๆ หรือคนนี้แม่งแค่เกาะกระแส คือเราจะไปแบ่งแบบนั้นทำไมไม่รู้ เราว่าถ้าเขาจะสนใจแค่นี้เพราะมัน impact กับชีวิตเขาแค่นี้ เขารู้แค่นี้ก็ได้ มันก็เป็นสิทธิ์ของเขา

แต่สุดท้ายเราว่าถ้าอยากให้อะไรมันเปลี่ยนมันต้องเริ่มจากกลุ่มคนที่เขาสนใจมากๆ แล้วเราก็ไปทำความเข้าใจกับคนที่เขาอาจจะสนใจแค่นิดเดียว แลกเปลี่ยนกันว่าถ้าคุณรู้เพิ่ม มันเปลี่ยนอะไรได้อีกเยอะนะ ดีกว่าการไปแยกเขาว่า คุณแม่งทำตามกระแส ฉันสิรู้จริง ไม่มีประโยชน์ใดๆ ในการทำแบบนั้น

บทความที่เกี่ยวข้อง: ที่ตื่นตัว เพราะกลัวไม่ฮิป : Fake Woke และการตาสว่างทางสังคมแบบ ‘ปลอมๆ’

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.