Posted: 19 Jul 2017 04:17 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

‘ศิโรตม์’ ชี้ ไทยพีบีเอสยังไม่ตอบโจทย์ เหตุขาดประสบการณ์ทำสื่อในสังคมที่ขัดแย้งยาวนาน แนะต้องเป็นมากกว่าสถานีข่าว เพราะมีงบและเครื่องมือในการเข้าถึงคนมากกว่า ย้ำต้องทำเนื้อหาคุณภาพสร้างความน่าเชื่อถือให้ทุกคนรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ และไม่ควรมีระบบลิขสิทธิ์


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS)

วงเสวนาเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเชิงสร้างสรรค์ The Creative Forum “วงแชร์ : สังคมไทยประมาณนี้ สื่อสาธารณะประมาณไหน" ร่วมมองอนาคตใหม่สื่อสาธารณะ วันที่ 5 ก.ค. 2560 ณ ไทยพีบีเอส Convention Hall 2 อาคาร D ชั้น 2 ดำเนินรายการโดย หทัยรัตน์ พหลทัพ และ โกวิท โพธิสาร


ถ้าเริ่มต้นด้วยคำถามว่าไทยพีบีเอสทำงานโอเคหรือไม่ คำตอบคือไม่โอเค แต่เป็นไม่โอเคที่เข้าใจได้ เพราะเราทั้งหมดอยู่ในผลของความขัดแย้งโดยที่เราไม่มีภาพรวมว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการและสื่อมวลชน เริ่มต้นด้วยการอธิบายว่าไทยพีบีเอสยังไม่ตอบโจทย์สื่อสาธารณะ เพราะคนที่เข้ามาทำสื่อในรุ่นราวคราวเดียวกันไม่เคยมีประสบการณ์ในช่วงที่สังคมเกิดความขัดแย้งกันยาวนานขนาดนี้ ช่วงที่มีการสลายการชุมนุมปี 2553 ไทยพีบีเอสมีการจัดรายการซึ่งถูกคนจำนวนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ แม้แพลตฟอร์มของการจัดมีความหลากหลายแต่ด้วยวิธีจัดคนดูรู้สึกถึงการให้น้ำหนักกับบางความเห็นเป็นพิเศษ

“สังคมเป็นแบบนี้ ไทยพีบีเอสควรเป็นแบบไหน ผมไม่คิดว่าจะต้องเป็น open forum เพราะการทำทีวีรูปแบบทอล์กไม่เคยมีคนดูเยอะ เรตติ้งไม่เคยถึง 1 สมมติประเทศเรามีความคิดต่าง 20 ความคิด เราเอาคน 20 คนมาพูด ประเทศไม่เปลี่ยน เพราะจะมีแค่คนกลุ่มเดิมๆ ที่ชอบดูคนเถียงกันไปเถียงกันมาดู” ศิโรตม์กล่าว

เขาให้ความเห็นว่า สิ่งที่ไทยพีบีเอสต้องเป็น คือการทำให้เกิดสถานีข่าวที่คนรู้สึกน่าเชื่อถือ การเปิดพื้นที่ให้ทุกคนทุกกลุ่มก็เป็นทางหนึ่ง แต่สิ่งที่ไทยพีบีเอสมีและคนอื่นไม่มีคือการได้เงินทำงานฟรีมหาศาล (2,000 ล้านบาทต่อปี) ดังนั้นไทยพีบีเอสมีต้นทุนที่สามารถให้กับประเทศนี้ได้มาก และไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน จึงสามารถทำสิ่งที่สถานีอื่นทำไม่ได้ แต่กลับเป็นว่าเมื่อพูดถึงไทยพีบีเอสจะนึกถึงรายการทอล์ก ซึ่งเป็นรายการที่ต้นทุนต่ำที่สุด

ศิโรตม์กล่าวต่อว่า ภาพลักษณ์ของไทยพีบีเอสตอนนี้เป็นแค่สถานีโทรทัศน์ ทั้งที่ความจริงไทยพีบีเอสเป็นมากกว่านั้น เพราะมีแผนกสื่อพลเมืองซึ่งในสถานีอื่นไม่มี ในแง่องค์กรจึงมีทรัพยากร งบประมาณ และเครื่องมือที่จะเข้าถึงคนกลุ่มต่าง ๆ ได้ ไทยพีบีเอสไม่ได้เป็นแค่ทีวีแต่มีลักษณะเฉพาะบางอย่าง

“คนที่วิจารณ์ไทยพีบีเอสจำนวนหนึ่งจะชอบวิจารณ์ ซึ่งผมไม่ชอบเลย คือ บอกว่าไทยพีบีเอสไม่มีคนดู ผมรู้สึกเป็นคำวิจารณ์ที่ไม่แฟร์ เพราะคอนเทนต์แบบไทยพีบีเอสต้องไม่มีคนดูอยู่แล้ว ไทยพีบีเอสไม่ได้ทำ the mask singer ไม่ได้ทำแบบพุทธอภิวรรณ (พุทธอภิวรรณ องค์พระบารมี ผู้ดำเนินรายการช่องอมรินทร์ทีวี) ถ้าเอาคอนเทนต์มาวิจารณ์และบอกว่าต้องเปลี่ยน ไม่แฟร์ เนเจอร์ของไทยพีบีเอสไม่จำเป็นต้องมีคนดูมหาศาล แต่ไทยพีบีเอสจำเป็นต้องมีคนทุกกลุ่มดู ความท้าทายในแง่การทำสื่อคือการดึงทรัพยากรทางการเงิน เครื่องมือในการเข้าหาคน แปลงออกมาเป็นสถานีข่าวคุณภาพสูงที่คนเชื่อถือและให้คนรู้สึกว่าเป็นของเขา” ศิโรตม์กล่าว

ศิโรตม์กล่าวต่อว่า บางทีคำวิจารณ์แรงเกินจริง ปีละ 2,000 ล้านคุ้มไหม เปลี่ยนประเทศได้ไหม ไม่รู้จะวัดยังไง เพราะมหาวิทยาลัยเงินเป็นหมื่นล้านก็ไม่ได้ทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น จึงไม่ควรเอาคำถามว่ามีเงินเท่านี้แล้วประเทศดีขึ้นไหมเป็นตัวตั้ง แต่ควรกลับไปสู่กฎบัตรพื้นฐานของไทยพีบีเอสว่ามันคืออะไร

“ถ้าใช้โจทย์ 10 ปีไทยพีบีเอสประเทศไม่ได้ดีขึ้น ประเทศหนึ่งประเทศมันไม่ได้ดีขึ้นจากการมีองค์กรหนึ่งองค์กร เหมือนเอาโจทย์ประชาธิปไตยไม่ดีเลิกประชาธิปไตยเถอะ การเลือกตั้งไม่ดีเลิกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเถอะ สถานีข่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนประเทศ แต่มีหน้าที่เป็นสื่อ ค้นหาความจริงให้สังคม ทำให้บริการสื่อเป็นของสาธารณะ ผมไม่อยากถามคำถามแบบนี้ในสถานการณ์แบบนี้ สถานการณ์ที่มีอำนาจพิเศษที่อาจจะยุบไทยพีบีเอสได้ ” ศิโรตม์กล่าว

เขายกตัวอย่างเช่นการทำ archive เป็นสิ่งสำคัญแต่ไม่มีใครทำ archive ของสื่อสาธารณะต้องเป็นสมบัติของสาธารณะ ไทยพีบีเอสไม่ควรมีระบบลิขสิทธิ์ ใครอยากใช้ต้องใช้ได้ เงิน 2,000 ล้านมาจากสาธารณะแต่มีลิขสิทธิ์ ตรงนี้ต้องมีคำอธิบาย นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องบริหาร กรรมการนโยบายบริหารก็เป็นปัญหา กรรมการได้นำเสนอไทยพีบีเอสต่อสังคมแค่ไหน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.