Posted: 05 Aug 2017 11:06 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เสนอไอเดียจ่ายเงินให้กับผู้พ้นโทษเดือนละ 1,000 บาท เพื่อจูงใจให้มารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ทุกเดือน ช่วยป้องปรามและลดโอกาสกระทำผิดซ้ำ

เว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่าเมื่อ 4 ส.ค. 2560 ที่ รร.มิราเคิล แกรนด์ ย่านหลักสี่ กทม. พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) กล่าวในงานเสวนา “แนวทางการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดซ้ำในประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยกรมคุมประพฤติ ถึงปัญหาคดีอาชญากรรมในประเทศไทยว่า ถ้าไม่จำเป็นอย่าเน้นแต่การจับกุมส่งเข้าเรือนจำอย่างเดียว เพราะเข้าไปแล้วนอกจากจะไม่มีกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ยังเป็นแหล่งบ่มเพาะให้สามารถก่อคดีซับซ้อนและรุนแรงยิ่งขึ้น อาทิ เหตุทะเลาะวิวาทของกลุ่มวัยรุ่นนักเรียนนักเลง บางครั้งยังไม่ตีกันแต่ตรวจค้นเจอว่าพกพาอาวุธ ลักษณะนี้หากดำเนินคดีไปจะเสียอนาคตได้ กลุ่มนี้จะนำกระบวนการคุมประพฤติมาใช้ตั้งแต่ต้นได้หรือไม่ ตนเชื่อว่าการคุมประพฤติกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้จะเป็นการป้องปรามไม่ให้ออกไปก่อเหตุได้ รวมถึงกลุ่มที่กระทำผิดแต่มีอัตราโทษไม่สูงเช่นกัน เพราะทุกวันนี้นักโทษในเรือนจำมีปะปนกันทุกแบบ ตั้งแต่ความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงก่อคดีร้ายแรง รวมถึงกลุ่มที่ก่อเหตุเพราะมีอาการทางจิต

ผบช.ก. กล่าวต่อไปว่า ส่วนกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือกลุ่มผู้ต้องขังที่เพิ่งพ้นโทษจากเรือนจำ ที่ผ่านมายังไม่มีมาตรการติดตามและเฝ้าระวังหลังปล่อยตัวที่ครอบคลุม ส่งผลให้คนกลุ่มนี้กลับไปทำผิดซ้ำ ตนจึงเสนอว่า น่าจะมีงบประมาณสำหรับจ่ายให้กับผู้พ้นโทษเดือน 1,000 บาท เพื่อจูงใจให้มารายงานตัวทุกเดือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ทราบว่าไปอยู่ที่ไหน มีชีวิตเป็นอย่างไร เพราะจำนวนมากไม่สามารถติดตามได้ ย้ายที่อยู่ก็ไม่รู้ว่าไปอยู่ที่ใด เช่น สมมติเน้นเฉพาะผู้เคยมีคดีเกี่ยวกับเพศ 6,000 คน จะใช้งบประมาณเดือนละ 6 ล้านบาท ปีละ 72 ล้านบาทเท่านั้น เป็นการป้องปรามลดโอกาสกระทำผิดซ้ำเพราะเมื่อเกิดคดีขึ้น เจ้าหน้าที่สามารถตีวงค้นหาผู้ต้องสงสัยได้ทันทีเนื่องจากทราบว่าในละแวกนั้นมีใครที่เคยต้องโทษบ้าง ดังคดีหนึ่งในพื้นที่ จ.ราชบุรี มีเหยื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศไปแจ้งความ ตำรวจก็ตรวจสอบว่าในรัศมีรอบๆ ที่เกิดเหตุมีใครเคยต้องคดีความผิดเกี่ยวกับเพศมาพักอาศัยบ้าง แล้วนำภาพถ่ายไปให้เหยื่อดู จนนำไปสู่การจับกุมตัวผู้ก่อเหตุได้อย่างรวดเร็ว

พล.ต.ท.ฐิติราช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ก่อนจะปล่อยตัวผู้ต้องขัง ควรมีการประเมินสุขภาพจิตก่อนเพื่อคัดกรองกลุ่มเสี่ยงสูงว่าใครมีแนวโน้มที่จะกลับไปทำผิดซ้ำ เพื่อเตรียมมาตรการเฝ้าระวังต่อไป รวมถึงต้องมีกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่ยังทำผิดในระดับต้น ๆ เช่น ผู้ก่อคดีข่มขืนกระทำชำเรา หลายรายเริ่มต้นจากพฤติกรรมขโมยชุดชั้นในสตรีหรือลวนลามอนาจาร คนเหล่านี้ถือว่าป่วย หากนำไปติดคุกอย่างเดียวแต่ไม่มีการบำบัดแก้ไข เมื่อพ้นโทษก็ออกมาก่อเหตุเช่นเดิมหรือรุนแรงกว่าเดิม ซึ่งเรื่องนี้คงต้องขอความร่วมมือจากกรมสุขภาพจิตด้วย

ขณะที่ รศ.ดร.ประธาน วัฒนวาณิชย์ อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวเสริมว่า ที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีการตั้งงบประมาณไว้จ่ายให้กับกลุ่มเสี่ยงกระทำผิดซ้ำให้มารายงานตัวทุกเดือน ซึ่งมุมหนึ่งก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นการควบคุมคนเหล่านี้ให้อยู่ภายใต้การสอดส่องของพนักงานคุมประพฤติ รวมถึงต้องมีมาตรการดูแลครบถ้วนตั้งแต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาจนถึงหลังการปล่อยตัว เช่น เมื่อพ้นโทษไปแล้วต้องประสานกับหน่วยงานอื่นๆ อาทิ กรมแรงงาน สำนักงานตำรวจ

อนึ่ง ในเวทีดังกล่าวช่วงที่เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็น ก็มีเสียงสะท้อนจากพนักงานคุมประพฤติ ว่าควรมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของตนบ้างหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาผู้ถูกคุมประพฤติบางรายกระทำผิดเงื่อนไขคุมประพฤติ เช่น เสพยาเสพติดร้ายแรงแม้จะถูกห้ามในเงื่อนไข เคยพบแม้กระทั่งแอบฉีดเฮโรอีนในห้องน้ำของศาลก็มี แต่ขณะนี้พนักงานคุมประพฤติทำได้เพียงรายงานต่อศาลเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของผู้ถูกคุมประพฤติได้อย่างทันท่วงที

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.