Posted: 09 Aug 2017 03:41 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ที่ประชุม กกต.มติเห็นชอบขยายเวลาสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี 9 รัฐมนตรีถูกร้องเรียนว่าขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง กรณีถือครองหุ้น 'สมชัย' หนุนสนช.ยื่นศาลรธน.ตีความกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดิน


ภาพคณะรัฐมนตรีถ่ายภาพหมู่บริเวณด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล 4 ม.ค. 2560

9 ส.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วานนี้ (8 ส.ค.60) สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่า ที่ประชุม กกต. เมื่อวันที่ 8 ส.ค.60 มีมติเห็นชอบขยายเวลาให้คณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี 9 รัฐมนตรีถูกร้องเรียนว่าขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง กรณีถือครองหุ้น และมีการกระทำการที่เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่ 12 ส.ค. นี้ หลังครบกรอบเวลา 60 วันแรก ที่ กกต.มีคำสั่งแต่งตั้งให้ดำเนินการสอบสวน เนื่องจากอนุกรรมการฯ ได้เสนอข้อมูลว่าจากที่ได้ขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบคุณสมบัติ 9 รัฐมนตรีไปยัง 8 หน่วยงาน และ 51 บริษัท มีเพียง 6 หน่วนงาน และ 15 บริษัทเท่านั้นที่ส่งข้อมูลมาแล้ว จึงจำเป็นต้องรอข้อมูลในส่วนที่เหลือให้ครบถ้วน ก่อนที่จะพิจารณาและให้โอกาสรัฐมนตรีผู้ถูกกล่าวหาได้เข้าชี้แจง

“ส่วนตัวคิดว่ากรอบเวลา 30 วัน ที่ทางอนุกรรมการฯ ของขยายนั้น จะไม่เพียงพอ แต่ตามระเบียบแล้วการขอขยายจะทำได้เป็นครั้ง ๆ เท่านั้น และแต่ละครั้งก็จะขอขยายได้ไม่เกิน 30 วัน ดังนั้นเชื่อว่าการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ น่าจะแล้วเสร็จ และเสนอให้ กกต.พิจารณาได้” สมชัย กล่าว
หนุนสนช.ยื่นศาลรธน.ตีความ ก.ม.ผู้ตรวจการแผ่นดิน

ขณะที่วันนี้ (9 ส.ค.60) สมชัย กล่าวถึงกรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) 34 คนเข้าชื่อยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยร่างพ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ประเด็นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่ครบวาระเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า เรื่องนี้เป็นช่องทางที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้วว่าสนช.จำนวน 1 ใน 10 หรือนายกรัฐมนตรี หากเห็นว่าร่างกฎหมายมีเนื้อหาสาระขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ซึ่งเชื่อว่าศาลฯจะรับไว้พิจารณาเพราะถ้าไม่รับ ศาลน่าจะมีปัญหา ซึ่งต้องชี้แจงเหตุผลที่มีน้ำหนักให้สังคมรับทราบ ส่วนเนื้อหาจะขัดเจตนารมณ์หรือไม่เป็นดุลยพินิจของศาล ขอไม่ก้าวล่วง

“ประเด็นนี้สนช.อธิบายต่อสังคมให้ได้ว่าเหตุผลคืออะไร เพราะจะเป็นบรรทัดฐานให้กับสนช.ในการพิจารณาร่างกฎหมายว่าทำไมต้องแตกต่างกันทั้งที่เป็นกฎหมายองค์กรอิสระเหมือนกัน แต่ส่วนตัวก็เห็นด้วยที่สนช.ยื่นให้ศาลฯพิจารณา แม้จะมองว่าประเด็นที่ยื่นไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำรงตำแหน่งต่อไปได้ การออกกฎหมายต้องมีเหตุมีผลเท่าเทียมกันทุกองค์กร การอ้างว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมาจากรัฐธรรมนูญ 50 จึงให้อยู่ต่อ ประโยคนี้ใช้ไม่ได้ ฟังไม่ขึ้น เพราะกกต.ก็มาจากรัฐธรรมนูญ 50 เหมือนกัน การออกกฎหมายอย่างนี้จึงใช้ไม่ได้” สมชัยกล่าว

ส่วนจะเรียกร้องให้สนช.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพ.ร.ป.กกต.ประเด็นเซ็ตซีโร่หรือไม่ สมชัย กล่าวว่า เข้าใจว่าเลยกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องยื่นภายใน 10 วัน หลังจากร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาวาระ 3 ของที่ประชุม สนช. ส่วนในอนาคตเมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้ กกต.จะใช้สิทธิยื่นอีกครั้งหรือไม่ยังตอบไม่ได้ เพราะต้องหารือที่ประชุมก่อน แล้วจึงออกเป็นมติกกต. โดยสามารถยื่นตรงได้ทั้งในนามองค์กรกกต.หรือยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งใช้สิทธิในฐานะกกต.รายบุคคลก็ได้ หากเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวกระทบสิทธิ

“ประเด็นอำนาจกกต. ระงับยับยั้งการเลือกตั้งกรณีพบทุจริต และประเด็นกกต.มีอำนาจจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เองหรือไม่ เมื่อร่างพ.ร.ป.กกต.ประกาศใช้แล้ว ที่ประชุมกกต.ควรพิจารณาอีกครั้ง ว่าจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าถ้ากกต.รักองค์กร รักประเทศชาติ บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ กกต.ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้สุจริต ยุติธรรมได้เราก็ต้องยื่น อย่ามองว่าเป็นการตีรวน แต่ยื่นให้ตีความกฎหมายเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน” สมชัย กล่าว

สมชัย กล่าวว่า จากการคาดการณ์เห็นว่าเมื่อร่างพ.ร.ป.กกต.ประกาศบังคับใช้แล้วต้องสรรหากกต.ภายใน 90 วัน เมื่อคณะกรรมการสรรหาได้ตัวบุคคลแล้วจะเสนอต่อ สนช. เพื่อพิจารณา ซึ่งต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นตรวจประวัติคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 30 วันก่อนส่งให้ที่ประชุมสนช.พิจารณาเห็นชอบ จากนั้นผู้ที่สนช.มีมติเห็นชอบต้องเคลียร์ตัวเองลาออกจากตำแหน่งต่าง ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งภายใน 15 วัน และประธานสนช.จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนหรือประมาณต้นปี 61 น่าจะได้กกต.ชุดใหม่

ที่มา : สำนักข่าวไทย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.