Posted: 08 Aug 2017 10:10 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)



“De aquí a 10 o 20 años, ustedes van a ver: el petróleo nos ha de traer ruinas (...) el petróleo es el excremento del diablo”

“จากนี้ไปอีกสิบปียี่สิบปีคุณจะรู้ น้ำมันจะนำมาซึ่งความล่มสลาย (...) น้ำมันคืออาจมของปีศาจ”


วลีดังกล่าวลั่นออกมาจากปากของนายฆวน ปาโบล เปเรซ อัลฟองโซ (Juan Pedro Pérez-Alfonzo) อดีตผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของประเทศเวเนซุเอลาช่วงปี คศ 1959 – 1963 ผู้เป็นอีกแรงหนึ่งที่ผลักดันให้มีการก่อตั้งองค์กรที่รวมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน OPEC ขึ้นในช่วงยุคทศวรรษ 60 จนได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งโอเปก”

ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปี คำพูดของ “บิดาแห่งโอเปก” ก็ยังคงเป็นแสดงให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงของเวเนซุเอลาอย่างเหนือกาลเวลา เวเนซุเอลา ณ ปัจจุบันกำลังประสบกับวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจที่รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศและของภูมิภาคลาตินอเมริกา จนอาจทำให้หลายๆ คนคิดถึงวิกฤตการณ์ของเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างอาร์เจนตินาในช่วงปี 2001 – 2002

วิกฤตเวเนซุเอลาเกิดขึ้นได้อย่างไร? รัฐบาลดำเนินนโยบายอะไรถึงทำให้เศรษฐกิจและระบบการเมืองเสียหายและทำลายคุณภาพชีวิตของคนกว่าค่อนประเทศไปได้ทั้งๆ ที่เคยรวยมากในลาตินอเมริกา? คำตอบของคำถามข้อนี้อาจอธิบายได้อย่างไม่ยากนักหากพิจาณาชุดนโยบายของรัฐที่ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงปี 1998 เป็นต้นมา อย่างไรก็ดีหากหากพิจารณาบริบทของพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมืองตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 และ 21 ของเวเนซุเอลาแล้ว เราย่อมจะพบกับ “รูปแบบ” ของ “วัฏจักร” และใจกลางปัญหาที่เวเนซุเอลาไม่เคยแก้ได้อย่างยั่งยืนเลย

เจอขุมทรัพย์?

นับจากที่ชนชั้นนำของเวเนซุเอลา (และดินแดนใต้อาณัติจักรวรรดิสเปนอื่นๆ ในลาตินอเมริกา) สู้รบจนได้รับเอกราชช่วงทศวรรษ 1820 แล้ว เศรษฐกิจของประเทศก็เน้นการส่งออกวัตถุดิบขั้นต้นจำพวกพืชเศรษฐกิจเมืองร้อนและผลไม้ (Commodity) เช่น กาแฟ อ้อย โกโก้ ไปยังกลุ่มประเทศที่วงการอุตสาหกรรมกำลังเฟื่องฟูเป็นหลักมาโดยตลอด โดยเฉพาะสหราชอาณาจักรฯ และสหรัฐอเมริกา ทำให้เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาจำต้อง “สวิง” ตามเศรษฐกิจของประเทศที่ตนเองส่งออกสินค้าอยู่เป็นนิจ

จุดเปลี่ยนของเวเนซุเอลาเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1910 มีการขุดพบแหล่งน้ำมันดิบแถบภาคตะวันตกของประเทศ บริเวณทะเลสาบมาราไกโบ รัฐบาลของเวเนซุเอลา ณ ขณะนั้น ซึ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร (1908 – 1945) ได้ให้สัมปทานกับบริษัทขุดเจาะน้ำมันข้ามชาติเข้ามาเช่าที่ดินได้ อาทิ บริษัทรอยัล ดัช เชล, สแตนดาร์ดออลย์ ฯลฯ รัฐบาลทหาร ณ ขณะนั้นจึงเป็นดั่ง “เสือนอนกิน” มีหน้าที่แค่เพียงเซ็นกระดาษเปล่าๆ เพื่อให้ได้เงินใต้โต๊ะและค่าสัมปทานสำรวจและขุดเจาะในพื้นที่ที่ไม่ได้มีมูลค่าใดๆ ต่อการเกษตรเสียด้วยซ้ำ เมื่อเข้าทศวรรษ 1920 เวเนซุเอลาก็ได้กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเต็มตัว พร้อมๆ กับที่เสียงก่นด่าการทุจริตของรัฐบาลเผด็จการทหารเริ่มดังมากขึ้น

ในขณะที่เศรษฐกิจเวเนซุเอลาโตขึ้นเรื่อยๆ จากการส่งออกน้ำมันจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เคยเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจก็ค่อยๆ สูญความสำคัญลง นโยบายของรัฐนับแต่มีการค้นพบน้ำมันเพ่งความสนใจแต่กับการส่งเสริมให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนขุดเจาะสำรวจน้ำมันเพื่อส่งออกและเพื่อกินค่าสัมปทานและกำไรจากการค้าน้ำมัน เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่มีชื่อเรียกทางเศรษฐศาสตร์ว่า “Dutch Disease”

เพราะรัฐไม่ส่งเสริมอาชีพและอุตสาหกรรมส่งออกพืชผลการเกษตร ด้านกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำการเกษตรจำนวนมากจึงค่อยๆ เสื่อมความสำคัญลงเพราะรัฐสามารถใช้เงินซื้อสินค้านำเข้าได้ในราคาถูก ชาวบ้านและประชาชนจำนวนมากจึงอพยพจากไร่นาเพื่อเข้ามาทำงานในไซต์ขุดเจาะน้ำมันและในเมืองที่เกิดขึ้นโดยรอบ

นอกจากนี้ การส่งออกน้ำมันเป็นหลักของเวเนซุเอลายังทำให้ประเทศไม่ได้ประสบกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrialization) ในช่วงทศวรรษ 1930 – 1950 ดังเช่นประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกาอย่างอาร์เจนตินา บราซิล หรือเม็กซิโกในช่วงเดียวกันอีกด้วย

ดาวรุ่งแห่งลาตินอเมริกา

เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารถูกโค่นล้มลงช่วงปี 1958 กลุ่มพรรคการเมืองใหญ่ของเวเนซุเอลา 2 พรรค (Democratic Action และ COPEI) ก็ได้จับมือกันสร้างข้อตกลง “Punto Fijo Pact” ในลักษณะ “ผ่าแตงโม” โดยกำหนดไว้ว่าทั้งสองพรรคจะเคารพผลการเลือกตั้งและจะไม่ดึงกองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวหากพรรคของตนไม่ชนะ และเพื่อเป็นการเอาใจสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเป็นคู่ค้าน้ำมันรายสำคัญของเวเนซุเอลานับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน) ข้อตกลงนี้จึงกำหนดให้กีดกันพรรคคอมมิวนิสต์ออกไปจากเวทีการเมืองอีกด้วย

ในตอนแรก พรรค Democratic Action ที่ชนะการเลือกตั้งมีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่นอกเหนือการส่งออกน้ำมันเพื่อหลีกเลี่ยง “Dutch Disease” รวมทั้งยังมีนโยบายการปฏิรูปกระจายที่ดินทำกิน อย่างไรก็ดี เมื่อมีการจัดตั้งองค์กร OPEC ในช่วงทศวรรษ 1960 ประกอบกับราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทิศทางของรัฐก็กลับมาเน้นการส่งออกน้ำมันเช่นเดิม โดยเฉพาะในช่วงปี 1973 และ 1979 ที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลจากที่กลุ่มประเทศ OPEC ประกาศลดกำลังการผลิตเพื่อประท้วงวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลาง

ในช่วงรัฐบาลต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ข้อตกลง “Punto Fijo Pact” (1960s-1980s) เวเนซุเอลาถือเป็น “ดาวเด่น” ของลาตินอเมริกาทั้งในแง่การเมืองและเศรษฐกิจ ในขณะที่รัฐบาลพลเรือนของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่างอาร์เจนตินา ชิลี บราซิล เปรู โบลิเวีย ฯลฯ ถูกกองทัพโค่นล้มและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางและโหดร้าย เวเนซุเอลากลับยืนเด่นด้วยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมๆ กับ “Petrodollar” (เงินจากการค้าน้ำมัน) ในคลังที่เพิ่มพูนขึ้นมาอย่างมหาศาล เวเนซุเอลาเป็น “โมเดล” ของการพัฒนาประชาธิปไตยให้กับโคลอมเบีย อีกทั้งยังได้รับคำยกย่องจากเคเนดี้ ปธน สหรัฐฯ เป็นอย่างมาก นักวิชาการท่านหนึ่งยังได้กล่าวว่ารายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP Per Capita) ของเวเนซุเอลาในช่วงทศวรรษ 1970 สูงกว่าประเทศสเปน กรีซ หรือแม้แต่อิสราเอลด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี “Petrodollar” (เงินน้ำมัน) ที่ได้มาอย่างมหาศาลช่วง 1970 นั้นไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างชาญฉลาดนัก เงินจำนวนมากถูกใช้ไปกับการซื้อสินค้านำเข้าเพื่อการบริโภคทดแทนอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศที่ขาดกำลังและซบเซาอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อนำมาลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากอีกด้วย (หากแต่หลายๆ โครงการก็ไม่ได้ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ) ทั้งนี้เพราะดอกเบี้ยอยู่ในอัตราต่ำและรัฐเชื่อว่าจะใช้เงินกู้คืนได้ไหวจาก “เงินน้ำมัน”

Reality Check

หายนะมาเยือนเศรษฐกิจเวเนซุเอลาและลาตินอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1980 เนื่องจากธนาคารที่เคยให้กู้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของการไหลเวียนของเงินและเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ หนี้เงินกู้ของรัฐบาลในลาตินอเมริกาจึงพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลายๆ ประเทศเช่น บราซิล เม็กซิโก ต้องประกาศพักชำระหนี้และปรับนโยบายเศรษฐกิจให้มีความรัดกุมมากขึ้น ด้านรัฐบาลเวเนซุเอลาก็ไม่สามารถขายน้ำมันในราคาสูงได้แบบทศวรรษก่อนหน้าแล้ว รัฐบาลเวเนซุเอลาจึงต้องดำเนินการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและใช้นโยบาย “รัดเข็มขัด” เพื่อลดรายจ่ายรัฐบาลเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศในภูมิภาค ส่งผลให้ระบบสวัสดิการสังคมซึ่งไม่ค่อยได้รับการพัฒนาอยู่แล้วต้องหายไปในที่สุด

นอกจากนี้ เสียงก่นด่านักการเมืองทุจริตก็ยิ่งทวีคูณมากขึ้นอีกในช่วงปลายทศวรรษ 1980 นี้ เพราะประชาชน (โดยเฉพาะคนชนชั้นกลางและรากหญ้า ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น) ต่างหัวเสียว่าเหตุใดช่วงที่ราคาน้ำมันสูงๆ คุณภาพชีวิตของตนกลับไม่ได้สูงตามไปด้วยเลย และยิ่งในช่วงวิกฤตหนี้ (The Lost Decade 1980s) คุณภาพชีวิตของตนก็ยิ่งย่ำแย่ไปกว่าช่วงใดในอดีต

โรค “Dutch Disease” ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ที่บั่นทอนเศรษฐกิจเวเนซุเอลาได้แสดงอาการรุนแรงให้เห็นในช่วงปี 1989 โดยในปีดังกล่าวมีการประท้วงใหญ่ต่อต้านการปรับนโยบายเศรฐกิจของรัฐที่เป็นแบบเสรีนิยมมากขึ้น โดยรัฐขึ้นค่าโดยสารรถประจำทาง 100% และเลิกอุ้มราคาน้ำมัน เหตุการณ์ประท้วงใหญ่นี้ส่งผลให้มีคนเสียชีวิตกว่า 276 ราย และกลายเป็นฝันร้ายที่รู้จักกันในชื่อ “Caracazo”

ท่ามกลางคุณภาพชีวิตที่ดิ่งลงตามราคาน้ำมันโลกช่วงทศวรรษ 1980 - 1990 ประชาชนจำนวนมากต่างก็หัวเสียกับรัฐบาลและการทุจริต ประธานาธิบดีที่เคยเป็นที่รักมากช่วงทศวรรษ 1970 ได้ถูกเลือกกลับเข้ามาบริหารประทศช่วงต้นทศวรรษ 1990 แต่ก็ถูกถอดถอนและดำเนินคดีข้อหาทุจริตไปในปี 1993 ทางด้านข้อตกลง “Punto Fijo Pact” ที่เคยทำให้เวเนซุเอลาเป็นดาวเด่นแห่งประชาธิปไตยช่วงสงครามเย็น ก็ได้กลายเป็นวัตถุโบราณที่ถูกมองว่าเป็นช่องทางเอื้ออำนวยการคอร์รัปชั่นระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่ และไม่ได้ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นอย่างแท้จริง

Chávez’s Rise

ณ ช่วงนี้เอง ที่ “พันเอกอูโก ชาเวซ” และผู้ร่วมอุดมการณ์ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำและถูกจับตามอง พวกเขาพยายามทำรัฐประหารในปี 1992 โดยอ้างว่าเพื่อต่อต้านนักการเมืองทุจริตและระบบการเมืองที่ไม่สนใจชนชั้นรากหญ้า หากแต่พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จและต้องถูกจำคุกไปเป็นเวลากว่าสองปี และได้รับการอภัยโทษแบบไม่มีเงื่อนไขใดๆ ในปี 1994

หลังจากฟอร์มพรรคการเมืองเพื่อลงเลือกตั้งปี 1998 แล้ว ชาเวซก็ชนะคู่แข่งอย่างขาดลอย ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาเวซได้รับคะแนนเสียงอย่างท้วมท้นคือการที่เขาเสนอตัวเข้ามาเป็น “ทางเลือกใหม่” ที่จะเข้ามากำจัดการคอร์รัปชั่น (ครั้งนี้ผ่านวิธีการเลือกตั้ง ไม่ใช้การรัฐประหารแล้ว) พร้อมๆ กับชูนโยบายปฏิรูปการเมืองด้วยการยกเลิก “Punto Fijo Pact” และการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงการสร้างสวัสดิการสังคมต่างๆ ที่มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตคนชนชั้นรากหญ้า ซึ่งถือเป็นเสียงส่วนมากในสังคมเวเนซุเอลาและมักรู้สึกว่าตนไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาสมัยชาเวซก็มิได้ต่างไปจากสมัยรัฐบาลภายใต้ข้อตกลง “Punto Fijo Pact” มากนัก รายได้หลักของประเทศยังคงเป็นการส่งออกน้ำมัน โดยในสมัยชาเวซการค้าน้ำมันมีสัดส่วนกว่า 95% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ยังคงไม่ได้รับการพัฒนาเช่นเดิมและถูกทดแทนด้วยการนำเข้า ทั้งนี้เนื่องจากราคาน้ำมันโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นตลอดทศวรรษ 2000 ซึ่งเป็นสมัยรัฐบาลชาเวซพอดี จากบาร์เรลละไม่ถึง 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงปี ค.ศ. 1999 เป็นบาร์เรลละกว่า 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2008 สภาพการณ์นี้ย่อมชวนให้นึกถึงเวเนซุเอลาใน “ยุคทอง” ทศวรรษ 1960 – 1970 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในช่วงนี้ โครงการเพื่อสวัสดิการสังคมจำนวนมากผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดและได้ใจประชาชนจำนวนมาก อาทิ โครงการเรียนฟรีตั้งแต่ก่อนอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา โครงการการศึกษานอกโรงเรียนสำหรับผู้ใหญ่ โครงการหมอแลกน้ำมันกับคิวบา (เวเนซุเอลาขายน้ำมันราคาถูกให้คิวบาและคิวบาจะส่งแพทย์และพยาบาลมาประจำศูนย์อนามัยในเวเนซุเอลา) โครงการปรับปรุงและก่อสร้างโรงเรียนและสถานพยาบาลในชุมชนแออัด โครงการจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาย่อมเยาในร้านค้าของรัฐ ฯลฯ

แน่นอน เงินทุนเพื่อโครงการเหล่านี้แทบทั้งหมดมาจาก “Petrodollar” ที่งอกขึ้นมาจากราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้นและส่งตรงมาจากบริษัทรัฐวิสาหกิจที่ดูแลเรื่องการค้าน้ำมัน “PdVSA” โดยไม่ผ่านรัฐบาล นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ลาตินอเมริกาท่านหนึ่งจึงได้จัดรูปแบบเศรษฐกิจของรัฐบาลชาเวซว่าเป็น “นโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจ” (Macroeconomic populism) ซึ่งโดยหลักการแล้วประกอบไปด้วยการมุ่งเน้นการกระจายรายได้และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงข้อจำกัดทางการคลังและไม่ยั่งยืน อันจะส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและเงินเฟ้อขนานใหญ่

THE RETURN OF THE DEVIL’S EXCREMENT

เมื่อมี “จุดพีค” วงเวียนเศรษฐกิจเวเนซุเอลาก็วนกลับมายัง “จุดวิกฤต” หลังจากที่ชนะการเลือกตั้งมาทุกสมัยตั้งแต่ปี 1998 รวมทั้งได้แก้รัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีสามารถลงเลือกตั้งต่อได้โดยไม่จำกัดวาระ ชาเวซก็เสียชีวิตลงก่อนวัยอันควรด้วยโรคมะเร็งในปี 2013 ท่ามกลางเสียงฝ่ายค้านที่เริ่มหนาหูมากขึ้น “นิโคลัส มาดูโร่” อดีตหัวหน้าสหภาพแรงงานคนขับรถเมล์และคนสนิทชาเวซได้ลงเลือกตั้งประธานาธิบดีและชนะพรรคฝ่ายค้านด้วยคะแนนเฉียดฉิว ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายเสียงลงความเห็นว่าที่มาดูโร่ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้เพราะ “ควันหลง” จากบารมีชาเวซยังคงอบอวลอยู่ แม้ในปีท้ายๆ ก่อนชาเวซจะเสียชีวิต เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวแล้วก็ตาม

มาดูโร่ไม่มีโชคเหมือนชาเวซหลายๆ ประการ ข้อหนึ่งคือมาดูโร่ “ไม่ใช่ชาเวซ” ชาเวซเป็นผู้นำที่มีบารมี (Charisma) โดดเด่นเป็นอย่างมาก พูดจาเด็ดขาดและตรงไปตรงมา ชาวบ้านชนชั้นรากหญ้าชอบชาเวซเป็นที่สุด (ถึงขนาดที่เมื่อชาเวซถูกกลุ่มฝ่ายค้านทำรัฐประหารในปี 2002 ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ในสลัมในเมือง ได้ออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลรัฐประหารและเรียกร้องให้ชาเวซกลับมาดำรงตำแหน่งได้สำเร็จ) หากแต่ข้อที่สำคัญที่สุดคือ ราคาน้ำมันโลกตลอดสมัยมาดูโร่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลชาเวซก่อนหน้าก็มิได้เก็บสำรองเงินไว้มากนักสมัยน้ำมันยังแพง เพราะนำมาใช้กับโครงการและการนำเข้าสินค้าเป็นจำนวนมาก มาดูโร่จึงรับภาระสองประการนี้อย่างยากลำบาก

ผลของโรค “Dutch Disease” จึงกลับมาเยือนเวเนซุเอลาอีกครั้งและรุนแรงไม่น้อยกว่าครั้งใดในอดีต เงินเฟ้อ ณ ปัจจุบันของเวเนซุเอลาได้พุ่งสูงกว่า 720.5% ตามการคาดการณ์ของ IMF และในปีหน้าอาจทะลุ 2000% ได้ ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลมาดูโร่ปฏิเสธที่จะยกเลิก “นโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจ” แม้เงินในคลังจะร่อยหรอเพราะค้าน้ำมันได้ไม่มากเท่าเดิม สินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคประจำวัน เช่น กระดาษชำระ แป้งประกอบอาหาร ข้าว เนื้อสัตว์ ก็ขาดตลาดอย่างรุนแรงเพราะรัฐไม่มีเงินเพื่อการนำเข้าสินค้าให้มากพอเช่นในอดีต โรงพยาบาลและสถานอนามัยที่เคยผุดขึ้นเป็นจำนวนมากขาดแคลนอุปกรณ์ที่ถูกสุขลักษณะและต้องทยอยปิดตัวลง ด้านภาคอุตสาหกรรมก็ตายลงไปเป็นเวลานานแล้ว ซ้ำร้าย รัฐยังคงประกาศจำกัดเพดานราคาสินค้าจำเป็น ส่งผลให้เกิดตลาดมืดอย่างกว้างขวาง และเกิดปรากฏการณ์การไหลของประชาชนจำนวนมากไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะโคลอมเบีย

เมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยน ภาคสังคมและการเมืองย่อมเปลี่ยนตามไปด้วย ด้วยปัญหาปากท้องที่รุนแรงมากขึ้น จะได้เห็นได้ว่าจำนวนกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลมาดูโร่ที่ประท้วงบนท้องถนนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มผู้ที่เคยชื่นชมรัฐบาลชาเวซก็กลับข้างมาอยู่กับฝ่ายค้านในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

จุดแตกหักระหว่างกลุ่มฝ่ายค้านและรัฐบาลเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน โดยมาดูโร่ได้ประกาศให้รัฐสภา (ซึ่งพรรคฝ่ายค้านกุมเก้าอี้เกือทั้งหมด) หมดซึ่งอำนาจตามรัฐธรรมนูญและถ่ายโอนอำนาจบริหารไปยังศาลฎีกา (ซึ่งมาดูโร่แต่งตั้งคนของตนไว้) แทน อย่างไรก็ดีมาดูโร่ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเพราะถูกกดดันจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ

มาดูโร่จึงหาทางเลือกใหม่ในการจัดการกับฝ่ายค้านและหาทางออกให้กับประเทศ โดยประกาศให้มีการจัดการเลือกตั้งเฟ้นหาผู้แทนเข้าสู่ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” โดยสภาร่างฯ นี้จะมีอำนาจเหนือรัฐสภาปกติและจะทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ แต่ฝ่ายค้านและนานาชาติต่างมองว่าการกระทำนี้ไม่อาจพาประเทศไปยังระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ หากแต่จะเป็นการทำให้ “ระบอบเผด็จการ” เข้มแข็งยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี หลังจากมีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมท่ามกลางการประท้วง บริษัทที่ทำการตรวจนับคะแนนผลการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ออกแถลงการณ์ว่าตัวเลขที่รัฐบาลมาดูโร่แสดงนั้น (แปดล้านกว่าเสียง) ผิดไปจากตัวเลขจริงที่บริษัทนับได้อย่างน้อยหนึ่งล้านเสียง อัยการสูงสุดได้ออกมากล่าวว่าจะทำการตรวจสอบประเด็นนี้รวมทั้งประเด็นการฆ่าผู้ชุมนุม แต่สภาร่างรัฐธรรมนูญที่เริ่มทำงานแล้วกลับโหวตให้อัยการสูงสุดท่านนั้นพ้นจากตำแหน่งเสียอย่างนั้น

เหตุการณ์และทางตันของวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง ณ ปัจจุบันของเวเนซุเอลายังคงอยู่ในจุดครุกกรุ่น รัฐบาลไม่ยอมปล่อยวางอำนาจ และกลุ่มผู้ต่อต้านก็ไม่ลดละการชุมนุม ทุกช่องทางการเจรจาได้ถูกยกขึ้นมาใช้หมดทุกวิถีทางแล้ว อาทิ การเจรจาระหว่างรัฐและฝ่ายค้านโดยมีวาติกันและสเปนเป็นคนกลาง หรือการถกและอภิปรายในที่ประชุม Organization of the American States (OAS) ซึ่งต่างก็ไม่เป็นผล ความรุนแรงและการใช้กำลังจึงดูจะเป็นผลลัพธ์เดียวที่เห็นชัดและกำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน และทางออกแบบสันติวิธีก็ดูจะค่อยๆ เลือนหายไปทุกๆ วัน

CONCLUSION

เมื่อมองกลับไปยังพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมืองของเวเนซุเอลานับแต่ต้นศตวรรษที่ 20 แล้ว ย่อมจะเห็นถึงสองสิ่งสำคัญที่เวเนซุเอลายังไม่อาจก้าวข้ามได้แม้เวลาจะผ่านมานานเท่าใดและแม้ข้อผิดพลาดจะสร้างบทเรียนให้เห็นรุนแรงมากเท่าใดก็ตาม

ประการแรกคือการที่นโยบายสาธารณะของทุกรัฐบาลไม่เข้มแข็งพอที่จะให้ยาขมเพื่อแก้โรค “Dutch Disease” หลายๆ ครั้งแม้จะมีการวางนโยบายเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับเศรษฐกิจและภาคการส่งออกอื่นๆ ของประเทศ แต่เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น นโยบายเหล่านั้นต่างก็ต้องถูกพับเก็บไปเพื่อตักตวง “Petrodollar” ให้ได้มากที่สุด และในหลายๆ ครั้งเงินเหล่านี้กลับถูกนำมาใช้กับนโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจ อันขาดความยั่งยืนต่อการคลังระยะยาว

ประการที่สองคือนโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจและโครงการสวัสดิการสังคมที่ตั้งใจลดความเหลื่อมล้ำและสร้างคุณภาพชีวิตสำหรับชนชั้นรากหญ้าและชนชั้นกลางไม่มีประสิทธิภาพและไม่ยั่งยืน นโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจในเวเนซุเอลานั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสมัยชาเวซ หากแต่เกิดขึ้นมาตั้งแต่รัฐบาลในสมัยทศวรรษ 1980 แล้ว และทำให้เห็นถึงบทเรียนทางเศรษฐกิจที่เป็น “ฝันร้าย” ช่วงปี 1989 แต่ก็เหมือนกับว่ารัฐบาลยุคต่อๆ มามิได้ตระหนักถึงสักเท่าใด

ส่วนโครงการสวัสดิการต่างๆ ในสมัยชาเวซแม้จะมีผลดีและหลายๆ องค์กรให้การยอมรับและได้ใจประชาชนเป็นอย่างมากในตอนแรก ตอนนี้ก็กลายเป็นมีดที่กลับมาเสียบหลังรัฐบาลปัจจุบัน อาทิ การกำหนดเพดานราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต่ำกว่าตลาด ซึ่งเป็นการทำลายกลไกลและระบบตลาดเป็นอย่างมาก และการใช้จ่ายเพื่อโครงการสวัสดิการสังคมต่างๆ อย่างมหาศาล แต่ไม่ปรับโครงสร้างภาษีเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างรายได้และค่าใช้จ่ายของรัฐ เป็นต้น

ประเทศไทยอาจเรียนรู้อะไรได้ไม่มากนักจากกรณีวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองของเวเนซุเอลาครั้งนี้ ทั้งนี้เพราะปัจจัยและลักษณะสังคมเศรษฐกิจต่างกันอยู่หลายประการ อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ไทยควรเรียนรู้เป็นอย่างมาก คือการที่เวเนซุเอลาและลาตินอเมริกาแทบทุกประเทศละทิ้งการหาทางออกของความขัดแย้งผ่านการ “รัฐประหาร” โดยกองทัพไปตั้งนานเสียแล้ว แม้จะมีการประท้วงที่ยืดเยื้อมาเป็นปีและรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตเหยียบร้อย ณ ปัจจุบันก็ตาม แม้แต่กลุ่มทหารในเวเนซุเอลากลุ่มหนึ่งที่เพิ่งออกประกาศทางวิดีโอคลิปในทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ยังกล่าวว่าตนขอไม่ทำรัฐประหารล้มล้างอะไรแต่อย่างใด แต่จะขอ “ปกป้องรัฐธรรมนูญ” ฉบับปัจจุบัน ที่กำลังจะถูกแทนที่ใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ!


อ่านเพิ่มเติม

Dornbusch, R., & Edwards, S. (Eds.). (1991). The Macroeconomics of Populism. Chicago: University of Chicago Press.

Edwards, S. (2012). Left Behind: Latin America and the False Promise of Populism. Chicago: University Of Chicago Press.

Hausmann, R. & Rodríguez F. R. (Eds). (2014). Venezuela before Chávez: Anatomy of an Economic Collapse. Pennsylvania: Pennsylvania State University Press.

Skidmore, T. E., Smith, P. H., & Green, J. N. (2014). Modern Latin America (8th ed.). New York: Oxford University Press.

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.