Posted: 05 Aug 2017 09:13 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

นอกเหนือจากปัญหากิจกรรมการรับน้อง พิธีกรรม และประเพณีดิษฐ์ทั้งหลายแล้ว ยังพบว่ามีปัญหาว่า นักศึกษาในยุคสมัยนี้ต่างตกอยู่ใต้พันธนาการของระบอบกิจกรรมนักศึกษาภาคบังคับของอำนาจมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันช่องทางของกิจกรรมที่อยู่นอกการบังคับก็นำไปสู่กิจกรรมอย่างเช่นการออกค่ายอาสา ก็มีความสภาพที่หนีไม่พ้นกับความเป็นการเมืองและความสัมพันธ์เชิงอำนาจชุดอื่นๆ ที่แฝงอยู่ด้วย เนื่องในฤดูกาลแห่งการเปิดภาคเรียนระดับอุดมศึกษา จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่บทความนี้จะเสนอคำอธิบายเกี่ยวกับทวิลักษณ์ดังกล่าว


1. ทรานสคริปต์กิจกรรม

กิจกรรมภาคบังคับของสถาบันเพื่อตอบโจทย์ประกันของมหาวิทยาลัย


กิจกรรมในสถานศึกษาโดยอุดมคติแล้วเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนในการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ มีประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม อีกทั้งเป็นการเรียนรู้การปฏิบัติงานด้านต่างๆ เข้ากับองค์กรต้นสังกัด/ภายนอก ในเบื้องแรกด้วยความหวังดีของมหาวิทยาลัยที่เห็นว่า กิจกรรมนักศึกษาจะเป็นการพัฒนาตัวนักศึกษาเอง แต่กิจกรรมดังกล่าวกลับเป็นกิจกรรมภาคบังคับที่ทำให้ นักศึกษามีพันธะลักษณะคล้ายดังแรงงานเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย ความเป็นเหตุเป็นผลของมหาวิทยาลัยที่สร้างระบบแรงงานเกณฑ์ดังกล่าว แยกไม่ขาดจากการตอบประกันคุณภาพการศึกษา นั่นคือ การตอบองค์ประกอบที่ 3 ด้านกิจกรรมพัฒนานักศึกษา สภาพบังคับดังกล่าวทำให้มหาวิทยาลัยวางโครงสร้างที่เอารัดเอาเปรียบนักศึกษาแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนนั่นคือ นโยบาย “ทรานสคริปกิจกรรม” ในเบื้องต้นไม่แน่ชัดว่าต้นเรื่องมาจากที่ใด มีการพูดถึงประเด็นนี้ที่ตั้งต้นจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ช่วงปี 2550 ที่เป็นการปรับปรุงจากสมุดบันทึกกิจกรรมมาเป็น transcript กิจกรรมนักศึกษา มีจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 17 กิจกรรม จำนวนหน่วยชั่วโมงที่เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 100 หน่วยชั่วโมง โดยมีจุดประสงค์ส่วนหนึ่งคือ การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของมหาวิทยาลัยที่กระจายไปตามวิทยาเขตจังหวัดต่างๆในภาคใต้[2]

แต่ที่อยู่ในกระแสข่าวก็คือในปี 2554 โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิตสมัยที่ยังสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏอยู่ได้เสนอว่าให้มีทรานสคริปกิจกรรมคู่กับทรานสคริปเกรดเฉลี่ย โดยอ้างว่าเพิ่มช่องทางในการหางานทำในฐานะแต้มต่อ


“ปัจจุบันมีนักศึกษาจบปริญญาตรีเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว ก่อให้เกิดการแข่งขันทางสังคมที่สูงขึ้น มสด.จึงหาช่องทางใหม่ สร้างแนวคิดออกทรานสคริปกิจกรรมควบคู่ไปกับ ทรานสคริปเกรดเฉลี่ย กล่าวคือ เมื่อสำเร็จการศึกษา นศ.จะได้ทรานสคริปถึง 2 ใบ สาระสำคัญของทรานสคริปกิจกรรม จะเป็นตัวบ่งชี้ว่านศ.ได้ร่วมกิจกรรมอะไรบ้างกับทางมหาวิทยาลัยฯ ตลอดระยะเวลาที่ศึกษา นอกจากจะบันทึกกิจกรรมที่มีส่วนร่วมในมหาวิทยาลัยฯแล้ว มสด.ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาไปทำกิจกรรมข้างนอกด้วย อาทิ กิจกรรมช่วยเหลือสังคม , กิจกรรมจิตอาสาทั่วไป หากมีหนังสือรับรองว่าไปปฏิบัติจริง ทางมหาวิทยาลัยฯยินดีที่นำกิจกรรมต่างๆเหล่านั้นบันทึกเป็นข้อมูลส่วนตัวให้ ดังนั้นจึงส่งผลดีต่อตัวนักศึกษาเอง เมื่อนำทรานสคริปกิจกรรมไปสมัครงาน เกิดเป็นแต้มต่อทางสังคมและเพิ่มโอกาสให้กับนักศึกษาจบใหม่ หางานทำได้ง่ายขึ้น” [3]

ทรานสคริปกิจกรรมได้กลายเป็นกลไกสำคัญของมหาวิทยาลัยในการขูดรีดแรงงานและเวลาว่างของนักศึกษา การสำรวจเบื้องต้นพบว่า แนวคิดดังกล่าวแพร่หลายไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[4], มหาวิทยาลัยนเรศวร[5], มหาวิทยาลัยขอนแก่น[6], มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร[7] , มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม[8] ฯลฯ

กลไกระดับย่อยลงมาก็คือ คะแนนกิจกรรมหรือชั่วโมงกิจกรรมที่เป็นตัวเก็บคะแนนอาจมาในรูปของบาร์โค้ดกิจกรรม หรือรหัสกิจกรรมที่ใช้ในการบันทึกข้อมูล หรือรูปแบบอื่นๆ นักศึกษาที่ทำกิจกรรมตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดจะได้รับคะแนนกิจกรรมนี้ไปสะสมแต้ม ตัวอย่างการเก็บคะแนนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีดังนี้[9] การเทียบจำนวนหน่วยชั่วโมง ให้นับขั้นต่ำ 1 หน่วยชั่วโมง ปฏิบัติงานเต็มวันนับไม่เกิน 6 หน่วยชั่วโมง/วัน เช่น กรณีที่นักศึกษาเข้าร่วมโครงการค่ายร่วมศรีตรัง 7 วัน มี 3 กิจกรรมนั่นคือ กิจกรรมก่อสร้างอาคารเพื่อชุมชน 30 หน่วยชั่วโมง (ได้แต้มประสบการณ์เสริมสร้างจิตสำนึกสาธารณะ คุณธรรม จริยธรรม ความมีวินัย) กิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านการเกษตร 6 หหน่วยชั่วโมง (ได้แต้มประสบการณ์ส่งเสริมทักษะทางสังคม วิชาการ วิชาชีพ และเสริมสร้างสมรรถนะสากลบนพื้นฐานความเป็นไทย) และกิจกรรมนันทนาการ 6 หน่วยชั่วโมง (ได้แต้มประสบการณ์สร้างเสริมและพัฒนาสุขภาพ) [10] จากการสอบถามมิตรสหายต่างสถาบันหลายท่าน พบว่า มีมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยที่มีระบบคะแนนกิจกรรมที่สัมพันธ์กับทรานสคริปกิจกรรมที่ในเวลาต่อมามีการกล่าวอ้างกันว่ามีผลต่อการอนุมัติการจบการศึกษาของบัณฑิตอีกด้วย

ฉะนั้นพวกเขาเหล่านั้นพึงต้องมีแต้มสะสมให้ได้ตามกำหนด ลำพังด้วยรูปแบบของกิจกรรมเองอาจไม่สอดคล้องต่อวิถีชีวิตของนักศึกษา เช่น ระยะเวลาไม่ตรงกัน ข้อจำกัดด้านภาระงาน ข้อจำกัดด้านสุขภาพ ฯลฯ หรือกระทั่งนักศึกษาส่วนใหญ่อาจละเลยที่จะเข้าร่วมโดยตรง จึงทำให้องค์กรใช้ระบบกิจกรรมเป็นตัวหลักในการดึงผู้เข้าร่วมมาให้ได้ครบตามจำนวนที่วางไว้ ให้มาเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อแลกกับคะแนนกิจกรรมที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้ไป นักศึกษาในฐานะมวลชนจึงเป็นที่ต้องการในฐานะ “แรงงาน” หรือ “ผู้เข้าร่วมงาน” เพื่อทำให้งานดูไม่โหรงเหรง ดังนั้นนักศึกษาโดยส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาวะ “ผู้ตาม” แทบจะไม่มีสิทธิเรียกร้องหรือเลือกปฏิบัติได้เลย

สภาวะความเหลื่อมล้ำของกิจกรรมนักศึกษา เห็นได้จากการที่กิจกรรมถูกกำหนดขึ้นจากคนอย่างน้อยสามกลุ่ม คือ กลุ่มแรก องค์กรภายในสถาบันที่มีอำนาจโดยตรงในการจัดกิจกรรม กลุ่มที่สอง นักศึกษาส่วนน้อยที่อยู่ในองค์กรนักศึกษา กลุ่มที่สาม แกนนำนักศึกษาในภาคกิจกรรมต่างๆ (ชมรม/กิจกรรมประจำวิชา) จะเห็นได้ว่านักศึกษาส่วนใหญ่มิได้มีส่วนแสดงความเห็นว่า ควรจัดกิจกรรมเช่นไร เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกิจกรรม แต่นักศึกษาในฐานะมวลชนกลับเป็นที่ต้องการในฐานะ “แรงงาน” เพื่อดำเนินการ และ “ผู้เข้าร่วมงาน” เพื่อทำให้งานเชิงพิธีกรรมดูไม่โหรงเหรงจนเสียหน้าผู้จัดงาน ดังนั้นในความเป็นจริงแล้ว จะมีผู้เข้าร่วมสักกี่คนกัน? ที่เข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่แสวงผลอันเกี่ยวกับฐานระบบคะแนนกิจกรรม อุดมการณ์คนดี มีจิตสาธารณะ จึงอยู่ในสภาวะ “ล้มเหลว”

ภาพหนึ่งที่ผู้เขียนในฐานะนักศึกษา มักพบเห็นอยู่บ่อยครั้งในการร่วมกิจกรรมเพื่อแลกกับบาร์โค้ด มันดูราวกับ “ฝูงชนจำนวนมหาศาลกรูเข้ามาหาน้ำเพียงแก้วเดียวที่วางอยู่กลางลานกว้างด้วยความคิดที่ว่าอาจจะจำเป็นต้องใช้มันทำอะไรสักอย่างแต่ยังไม่รู้ว่าจะใช้มันไปทำอะไร” เฉกเช่นเดียวกันกับความต้องการของนักศึกษาส่วนใหญ่ที่ต่างต้องหาทางสะสมแต้มให้ได้ตามจำนวน แม้พวกเขาจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจเข้าร่วมกิจกรรมก็ตาม พวกเขาเหล่านี้ไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธหรือปัดสิทธิเหล่านี้ออกไป

นอกจากนั้นนักศึกษาบางกลุ่มมีอภิสิทธิ์ที่จะได้แต้มมากกว่านักศึกษาทั่วไปด้วย ในระเบียบของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ระบุถึงแต้มต่อของนักศึกษาผู้มีตำแหน่งบริหารและได้รับรางวัลเป็นลำดับชั้น นั่นคือ ชั้นแรกจะได้ยกเว้น 60 หน่วยชั่วโมงได้แก่ นายกองค์การบริหาร, ประธานสภานักศึกษา, หัวหน้าพรรคนักศึกษา, นายกสโมสรคณะฯ ชั้นที่สอง 30 ชั่วโมง ได้แก่ คณะกรรมการองค์การบริหาร, คณะกรรมการพรรคนักศึกษา, คณะกรรมการชมรมในสังกัดองค์การบริหาร ฯลฯ และชั้นที่สาม 12 ชั่วโมง ได้แก่ นักศึกษาดีเด่นด้านต่างๆ[11]

คำถามที่ผุดขึ้นมาก็คือ คะแนนเหล่านี้มันวัดความมีจิตสาธารณะได้มากน้อยแค่ไหน? เกณฑ์ที่ถูกกำหนดอย่างเบ็ดเสร็จวัดความเป็นพลเมืองดีของนักศึกษาได้จริงหรือเปล่า? ระบบคะแนนกิจกรรมควรจะใช้เป็นข้อพิจารณาในภาคการศึกษาของบัณฑิตอยู่หรือเปล่า ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นกิจกรรมอิสระที่นักศึกษาพึงเลือกปฏิบัติเท่าที่ควร

ดังนั้นกิจกรรมแทบทั้งหมดล้วนเป็นกิจกรรมที่ทำให้นักศึกษากลายเป็นแรงงานภาคบังคับที่ต้องเสียสละแรงกายและ/หรืออุทิศเวลาที่พึงจะได้พึงจะมีให้กับกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยต้องการให้ทำ ทั้งที่นักศึกษาจำนวนมากต้องการเวลาว่างสำหรับการทบทวนการเรียน กิจกรรมส่วนตัว จำนวนไม่น้อยที่ต้องทำงานพิเศษเพื่อส่งตัวเองเรียน โดยที่มหาวิทยาลัยก็มิได้รับผิดชอบแบกภาระดังกล่าวแทนนักศึกษา มิหนำซ้ำภาระของนักศึกษาดังกล่าวยังเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาราวทศวรรษเท่านั้น กิจกรรมสำหรับนักศึกษารุ่นก่อนหน้า ไม่ได้มีลักษณะเป็นแรงงานบังคับอย่างเข้มข้นเช่นนี้

หากย้อนกลับไปอ่านบทความของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ในปี 2553 ช่วงก่อนที่นโยบายทรานสคริปกิจกรรมจะเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย พวกผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั่นเองที่เป็น “ประธานโซตัสตัวจริง” การยินยอมให้มีการรับน้องที่ขัดกับหลับสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้น สามารถสร้างหลักประกันในการเกณฑ์นักศึกษามาใช้ในพิธีกรรมต่างๆของมหาวิทยาลัยได้ เนื่องจากระบบโซตัสนั้นจะช่วยเกณฑ์ให้นักศึกษามาเข้าร่วมพิธีกรรมได้ผ่านการใช้รุ่นพี่[12] เป็นไปได้ว่าการเสื่อมลงของการรับน้องที่ป่าเถื่อนแบบเดิม อาจถูกแทนที่ด้วยกลไกอย่างทรานสคริปกิจกรรมที่ทำให้มหาวิทยาลัยยังใช้แรงเกณฑ์จากนักศึกษาเพื่อร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยอยู่ได้ แม้จะไม่มีระบบรับน้องเช่นนั้นอยู่แล้ว

บทความนี้มิได้ต่อต้านกิจกรรมเท่ากับการตั้งคำถามถึงสภาพบังคับของมัน การเข้าร่วมของนักศึกษาควรอยู่บนพื้นฐานความสมัครใจ สิ่งที่มหาวิทยาลัยควรทำงานให้หนักขึ้นคือ การสร้างสรรค์กิจกรรมที่ดึงดูดนักศึกษามากพอที่จะทำให้พวกเขาจะเต็มใจเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของมหาวิทยาลัย

2. กิจกรรมค่ายอาสา คำตอบอยู่ที่หมู่บ้านของฉัน

กิจกรรม “จิตอาสา” แม้จะเป็นกิจกรรมสะท้อนการเพรียกหาอุดมการณ์ที่เรียกร้องความเสียสละส่วนตัวเพื่อส่วนรวมที่อาจนับว่าเป็นจิตวิญญาณที่สืบเนื่องมาจากการอุทิศตนของนักศึกษามาตั้งแต่ทศวรรษ 2510 เป็นอย่างช้า เพียงแต่ว่ามิติความเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกลบความเคลื่อนไหวทางการเมืองออกไป เหลือเพียงอุดมการณ์และรูปแบบที่เน้นความเอื้ออาทรและเสียสละเชิงปัจเจก ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมอันเนื่องมาจากโครงสร้างอันอยุติธรรมอีกต่อไป ทั้งมองพื้นที่ชุมชนว่าเป็นพื้นที่ชนบทกันดารห่างไกลและควรที่จะได้รับการเหลียวแลช่วยเหลือสงเคราะห์


1) ว่าด้วยการเมืองของทุนและการบริจาค

ภายใต้อุดมการณ์ของกิจกรรม “จิตอาสา” เลี่ยงไม่พ้นจากปัจจัยทางวัตถุอย่างการบริหารทุน กล่าวคือ การประกอบกิจกรรมดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น การออกค่ายอาสา กิจกรรมอาสาเพื่อชุมชน กิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างอุดมการณ์ ฯลฯ ต่างต้องใช้ “ทุน” เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินงาน ซึ่งบางครั้งอาจได้รับงบประมาณจากองค์กรต้นสังกัด และหลายครั้งก็เป็นความพยายามหาทุนจากกลุ่มนักศึกษาเองด้วยการเดินกล่องตามที่สาธารณะ การจัดผ้าป่าสมทบทุน ฯลฯ แต่บางโครงการที่มีขนาดใหญ่จำต้องอิงอาศัยแหล่งทุนจากองค์กรภายนอกเข้ามาสนับสนุน

การช่วงชิงและพยายามเผยภาพลักษณ์การรับผิดชอบต่อสังคม เป็นเงื่อนไขต่อรองในเชิงดุลอำนาจและการเชื่อมพันธะความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับสังคมให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ปรากฏการณ์แนวคิดกิจการเพื่อสังคมบนฐานความเป็น “ทุนนิยม” จึงค่อยๆ เริ่มมีบทบาทมากขึ้น กล่าวคือ องค์กรเหล่านี้พยายามสร้างจุดมุ่งหมายสูงสุดไปที่ผลประโยชน์สูงสุดอันจะเกิดขึ้นในภาคประชาชน ชุมชน สังคม ในคราบภาพลักษณ์องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร[13] แนวคิดการหาผลประโยชน์ต่อสังคมนี่เอง เป็นคำถามว่าทำอย่างไร ภาคประชาชน ชุมชนถึงจะได้ผลประโยชน์สูงสุด นั่นคือการผนวกจุดแข็งระหว่างภาคประชาสังคมกับความมีประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ/องค์กรที่จะสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่สังคม ซึ่งองค์กรต้องอยู่รอดได้ด้วยการพึ่งพาการดำเนินงานด้วยตนเอง แทนการสนับสนุนจากภายนอกหรือรับการอุดหนุนจากภาษีประชาชน หรือเรียกว่า “องค์กรที่ให้กำไรแก่สังคม”[14] ความรับผิดชอบต่อสังคมต่อวิสาหกิจ เป็นแนวคิดการจัดการที่มุ่งให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของส่วนภาคธุรกิจ ตระหนักถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รูปแบบกิจกรรมหลักๆ มุ่งเน้นด้านการส่งเสริมและพัฒนาสังคม ดังเห็นได้จาก การบริจาคทุนเพื่อการกุศล และการอาสาช่วยเหลือชุมชน ผ่านการปลูกฝังจิตสำนึกความเป็น “จิตอาสา” ผ่านเจ้าหน้าที่ของรัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน รวมทั้งปัจจเจกชนผู้ร่วมอุดมการณ์[15]

เมื่อยึดโยงโครงข่ายดังกล่าวเข้ากับภาคกิจกรรมและอุดมการณ์ของบรรดานักศึกษา/นักกิจกรรม ช่องว่างระหว่างองค์กรและภาคประชาชนยังถือว่าเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ การจะเชื่อมความสัมพันธ์อย่างมีพลวัตและได้ประสิทธิภาพจำต้องอาศัยกลไกการแสวงหา “ตัวกลาง” ผู้ที่สามารถเชื่อมรอยต่อเหล่านี้ได้ผ่านการบริจาคทุน โดยการตรึงอุดมการณ์อาสาเข้าไปด้วย แนวคิดดังกล่าวอาจแทรกซึมเข้ากับภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และมูลนิธิทางศาสนา ตัวอย่างเช่น กลุ่มนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับมอบทุนประกอบกิจกรรมค่ายอาสาจาก บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2559[16] โครงการค่ายครูอาสาสู่ชนบท ครั้งที่ 15 ชมรมครูอาสา สโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ค่ายต้นกล้าครูพันธุ์ดี ครั้งที่ 5 สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโครงการค่ายแสงเทียน ครั้งที่ 24 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[17] ได้รับมอบทุนจากพระมหานัธนิติ สุมโน วัดภูเขาทอง พระนครศรีอยุธยา [18]

เงื่อนไขดังกล่าวสอดรับกับความต้องการขององค์กรภายนอกไม่ว่าจะเป็นเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจที่ต้องการสร้างอำนาจต่อรองระหว่างองค์กรและชนบท/ชุมชน อุดมการณ์พัฒนาชนบทของกลุ่มจิตอาสาจึงเป็นหนึ่งเป้าหมายขององค์กรดังกล่าวด้วยการจัดสรรทุนที่ถือว่าไม่มากนักสำหรับองค์กร แต่ถือว่ามากพอสำหรับนักศึกษา เพื่อสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้กับองค์กรนั้นๆ กลยุทธ์ดังกล่าวจึงเป็นการวางหมากให้ผู้ถืออุดมการณ์เป็นตัวเดินเกม



2) ว่าด้วยประโยชน์ที่หมู่บ้านได้รับ

กิจกรรมที่เป็นรูปธรรมอย่างการสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างศาลาหนังสือพิมพ์ การสร้างฝาย ปลูกป่า ฯลฯ ปมปัญหาที่พบใหญ่ๆ ในมุมมองของผู้เขียน มีอยู่สี่ประเด็นดังนี้

ประเด็นแรก กลุ่มนักศึกษา/นักกิจกรรม ส่วนใหญ่มิได้มีพื้นฐานความรู้ทางด้านวิศวกรรมและการก่อสร้าง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวอาจไม่ได้มาตรฐานทั้งความคงทนแข็งแรง และโครงสร้างที่ไม่เอื้อต่อการใช้งาน มิพ้นจะเป็นปัญหาต่อเจ้าของพื้นที่ในการบำรุงซ่อมแซม

ประเด็นที่สอง บนฐานความคิดสร้างสรรค์ (ซึ่งถือเป็นการคิดเชิงบวก) อาจมิได้ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน/เจ้าของพื้นที่เท่าที่ควร

ประเด็นที่สาม องค์กรกลางบางองค์กรสร้างภาพลักษณ์โดยการตรึงอุดมการณ์เป็นทุนเดิม มีแหล่งทุน มีโครงข่าย เพียงแต่ขาด “แรงงาน” ฉะนั้นด้วยความหวังในอุดมการณ์ของบรรดานักกิจกรรมจึงหลวมก้าวเข้าไปสู่ฐานแรงงานขององค์กรอย่างง่ายดาย

ประเด็นที่สี่ เม็ดเงินที่ถูกจัดสรรให้มา เป็นตัวการันตีภาพลักษณ์ “พ่อพระผู้ใจดี” ที่เสนอการยอมรับสู่สาธารณะโดยนัยอย่างไรก็ตาม

แม้ภาคกิจกรรมจะเป็นกระบวนการส่งเสริมอย่างสร้างสรรค์ของเยาวชนหากแต่สิ่งที่ต้องทบทวนคือ กระบวนการดังกล่าวตอบโจทย์วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายมากพอแล้วหรือเปล่า ทว่ากระบวนการนี้อาจเป็นเพียงกลยุทธ์และการต่อรองดุลอำนาจบนฐานเศรษฐกิจและผลประโยชน์ของนายทุน และองค์กรต่างๆหรือไม่?


จริงอยู่ “ค่ายอาสา” อาจสร้างมาเพื่อให้นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยได้เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในรูปแบบที่ต่างจากชีวิตเมือง แต่ในฐานะที่เป็นนิสิตนักศึกษา ควรตอบแทนกลับสู่สังคมด้วย จึงแฝงเอา “การอาสา” เป็นอุบายหนึ่งของการเรียนรู้ อย่างการไปสร้างไปสอนไปช่วยพัฒนาชุมชน ก็เป็นการทำให้รู้จักทบทวนความรู้ของตนเอง และปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แต่สิ่งหนึ่งที่คนทำค่ายอาสาควรตระหนักอยู่เสมอคือ พยายามเป็นประโยชน์ให้แก่เขาและไม่เป็นภาระ หากจะรบกวนก็ต้องรบกวนให้น้อยที่สุด?

ส่วนคำถามที่ว่า การอาสาไปช่วยของเราเป็นการช่วยเหลือและพัฒนาชนบทที่ตรงจุดและยั่งยืนจริงหรือไม่? ก็ยังคงไม่ได้รับคำตอบ แต่สิ่งที่ชาวค่ายทำได้ คือไม่ต้องพยายามตอบคำถาม แต่ให้ลงมือทำ ด้วยการสำรวจสภาพปัญหาและอุปสรรคที่เขาเผชิญอย่างจริงจัง รวมถึงพยายามหาวิธีการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เพียงแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ บ่อยครั้งที่ชาวค่ายเองไม่กล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่าการทำค่ายเป็นการช่วยเหลือพัฒนาชุมชนโดยแท้จริง เพราะหลายครั้งที่คนอาสากลับรู้สึกว่า “ได้รับ” มากกว่า “ได้ให้” ตั้งแต่การขอรบกวนเพราะความจำเป็น สิ่งเหล่านี้ทำให้ชาวค่ายหลายคนก็เกิดความสงสัยขึ้นมาบ่อยครั้งว่า ชุมชนต้องการความช่วยเหลือจากเราจริงไหม? แล้วสิ่งที่เราไปช่วย เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดอย่างยั่งยืนหรือเปล่า และสุดท้ายแล้ว ค่ายอาสายังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่หรือไม่?

การพยายามหาคำตอบภายใต้ทัศนาคำว่า “อาสา” ดังกรณีการออกค่ายสู่ชนบท หรือดินแดนทุรกันดารอันห่างไกลความเจริญ นักกิจกรรมเริ่มต้นจากกรอบปัญหาผ่านมุมมองความแร้นแค้น ยากไร้ ลำบาก ด้อยโอกาส ทว่าเมื่อไปสัมผัสกับความเป็นจริงแล้วแทบเรียกได้ว่าเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ดังนั้น หากขึ้นไปด้วยใจอาสาอยากทำอะไรให้เขาก็ไม่แปลกที่จะผิดหวังกลับมา เพราะชาวเขาไม่ได้ขาดแคลนอะไรที่นิสิตอย่างเราๆ จะไปเติมให้ได้ และเขาก็ทำหลายอย่างได้เก่งกว่าเราเสียอีก เขาก็มีความสุขตามที่เขามี ไม่ต้องรอให้เราไปทำอะไรให้เลย[19]

ปฏิเสธมิได้เช่นกันว่า กิจกรรมนักศึกษาที่อุทิศตนเพื่ออุดมการณ์และมีมิติทางการเมืองที่แหลมคมก็มีอยู่เช่นกันแม้จะเป็นส่วนน้อย ในปัจจุบันความเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองเพื่อความเป็นธรรมถูกปิดช่องทางอย่างแข็งขันจากภาครัฐ กิจกรรมดังกล่าวเป็นเพียงส่วนน้อย ต่างจากภาพใหญ่ของกิจกรรมนักศึกษาที่ส่งผลต่อชีวิตนักศึกษาในรูปแบบที่กล่าวมา ดังนั้นกิจกรรมนักศึกษาจึงมีความเป็นการเมืองอยู่ในตัว ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมภาคบังคับที่ออกมาจากมหาวิทยาลัยที่นับวันจะหนักข้อขึ้นด้วยการเข้าไปยุ่มย่ามกับชีวิตและเวลาส่วนตัวที่พวกเขาจะพึงมี กลายเป็นลักษณะการเกณฑ์แรงงานดุจระบบไพร่ในยุคปัจจุบัน ขณะเดียวกันช่องทางที่ระบายออกของนักศึกษาในฐานะกิจกรรมอาสาต่างตกอยู่ภายใต้ปัญหาทั้งในเชิงอุดมการณ์ การเป็นเบี้ยหมากให้กับองค์กรธุรกิจ ไม่เพียงเท่านั้น การกระโจนลงสู่สนามในรูปแบบหมู่บ้านของฉัน ชนบทที่ยากไร้ที่รอคอยนักศึกษาไปพัฒนา หลายครั้งกิจกรรมดังกล่าวเป็นงานที่ตนเองไม่มีความถนัด และชุมชนเองก็ไม่ได้ต้องการ.



เชิงอรรถ


[1] นามแฝงของนักศึกษาที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ เนื่องจากอาจเกิดผลกระทบต่อการเรียนและการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมมหาวิทยาลัย


[2] อัมพร อรุณศรี. "Transcript กิจกรรมนักศึกษา:โครงสร้างกิจกรรมเสริมหลักสูตรเพื่อพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์”. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2560 จาก https://www.gotoknow.org/posts/80858


[3] ผู้จัดการ Online. "มสด.ผุดแนวคิดสุดเจ๋ง“ทรานสคริปกิจกรรม ตัวช่วยใหม่สำหรับนศ.”. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2560 จาก http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9540000071042 (10 มิถุนายน 2554)


[4] มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. "รายงาน Transcript กิจกรรมนิสิต เป็นรายบุคคล (กดที่เลขประจำตัวนิสิต รายงานผล)". สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2560 จาก http://nisit.kasetsart.org/WebFormTranscript.aspx


[5] มหาวิทยาลัยนเรศวร. "ระบบใบรับรองเข้าร่วมกิจกรรม". สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2560 จาก https://acttrans.nu.ac.th/


[6] มหาวิทยาลัยขอนแก่น. "มข.โชว์ระบบทรานสคริปกิจกรรมสุดคูล! พัฒนาบัณฑิตพร้อมทำงาน”. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2560 จาก https://www.kku.ac.th/news/v.php?q=0013984&l=th (21 เมษายน 2560)


[7] มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร. "เชิญเข้าร่วมใช้ระบบทรานสคริปกิจกรรม มทร.พระนคร". สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2560 จาก http://activity.rmutp.ac.th/ViewNews.aspx?NewsID=1


[8] คมชัดลึก. "ทรานสคริปกิจกรรม การันตีศักยภาพ"บัณฑิตราชภัฏจันทรเกษม"”. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2560 จาก http://www.komchadluek.net/news/edu-health/245272 (7 ตุลาคม 2559)


[9] คู่มือปฏิบัติงานกิจกรรมเสริมหลักสูตร เพื่อพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.ป.ท. ม.ป.ป.), หน้า 12


[10] คู่มือปฏิบัติงานกิจกรรมเสริมหลักสูตร เพื่อพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, หน้า 14


[11] คู่มือปฏิบัติงานกิจกรรมเสริมหลักสูตร เพื่อพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, หน้า 15


[12] ประชาไทออนไลน์. "พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์: ว่าด้วยโครงสร้างส่วนบน (ที่มองไม่เห็น) ของระบบโซตัส". สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2560 จาก https://prachatai.com/journal/2011/06/35374 (10 มิถุนายน 2554) อ้างว่า เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์คมชัดลึก 7 กันยายน 2553


[13] จตุพร จุ้ยใจงาม, พรชัย เทพปัญญา. (2557) "กิจกรรมเพื่อสังคม แนวโน้มทุนนิยมสมัยใหม่กรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ". วารสารวิชาการ ฉบับมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ. 7(1 : 2557) : 125


[14] จตุพร จุ้ยใจงาม, พรชัย เทพปัญญา, เรื่องเดียวกัน : 126


[15] จตุพร จุ้ยใจงาม, พรชัย เทพปัญญา, เรื่องเดียวกัน : 128


[16] ผู้จัดการออนไลน์. "มอบทุนแด่นักศึกษา 3 สถาบัน เพื่อกิจกรรมค่ายอาสา". สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2560 จากhttp://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9590000121668


[17] ดู "หนังสือขอความอนุเคราะห์ โครงการค่ายแสงเทียน ครั้งที่ 24 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย". สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2560 จาก https://www.slideshare.net/mahaoath/24-75974291 และ"รายละเอียด โครงการค่ายแสงเทียน ครั้งที่ 24 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย". สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2560 จาก https://www.slideshare.net/mahaoath/24-75974316


[18] สายลมแห่งอาสา. "ประกาศผลทุนค่ายอาสา พฤษภาคม 2560". สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2560 จาก http://fund4volunteer.blogspot.com/


[19] เปรมกมล มานะภักดี. "ค่ายอาสา: ใครเป็นผู้ให้ ใครเป็นผู้รับ?". สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2560 จาก http://chu.in.th/p/730/

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.