Posted: 08 Aug 2017 12:59 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

นักสิทธิฯ คนข้ามเพศแนะไทยต้องมีกฎหมายรับรอง ชี้เป็นปัญหาเมื่อฟ้องร้องว่าถูกข่มขืน ติดต่อราชการ เดินทางต่างประเทศ ระบุคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มถูกลดทอนคุณค่า ถูกเลือกปฏิบัติ เผยคนข้ามเพศขายบริการถูกข่มขืนไปแจ้งความกลับโดนหัวเราะใส่


ฐิติญานันท์ หนักป้อ (ซ้ายสุด)

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ จัดงานเสวนา "เซ็กส์แฟร์ๆ เพราะเราแคร์" ถึงเวลาสังคมไทยต้องเข้าใจ Sexual Consent ณ ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยหนึ่งในวิทยากร คือ ฐิติญานันท์ หนักป้อ ผู้อำนวยการมูลนิธิซิสเตอร์

กล่าวถึง Sexual consent ในมิติของกลุ่มคนข้ามเพศ ว่า ถูกทำให้ไม่สำคัญสำหรับคนกลุ่มนี้ เช่น การกอด การหอม การสัมผัสกับคนกลุ่มนี้ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคม จากรายการต่างๆ ตัวอย่าง มีน้องคนหนึ่งไปออกรายการร้องเพลง ร้องเสร็จพิธีกรก็มากอดทีละคน แล้วก็บอก เฮ้ย ความรู้สึกก็เหมือนผู้หญิงนะ ผู้ชมก็หัวเราะ น้องก็ปฏิเสธไม่ได้ มันทำให้เห็นเหมือนมีสิ่งของวางอยู่แล้วคุณไม่คุ้นชิน คุณก็เลยลองแล้วมันก็คล้าย เพราะภายใต้คำนำหน้า นาย นั้นเป็นผู้ชาย เขาจึงรู้สึกทำได้ แต่กับผู้หญิงเขาจะไม่ทำแบบนี้

ฐิติญานันท์ กล่าวถึงการขายบริการของคนข้ามเพศว่า บางคนยินยอม บางคนเลือกไม่ได้และเป็นกลุ่มประชากรใหญ่ ด้วยการตีตราจากสังคมก่อนหน้านี้ กลุ่มคนข้ามเพศไม่สามารถเข้าสู่การทำงานได้ เมื่อคุณแต่งหญิง ไม่ตรงกับสิ่งที่เป็น คุณจะมีทางเลือกน้อยมาก เกย์หรือหญิงรักหญิงก็ยังอยู่ในโลกชายหญิงได้ แต่กระเทยเห็นก็รู้ว่าเป็นกระเทย การทำงานจึงถูกเลือกปฏิบัติ sex worker จึงเป็นทางเลือก

งานขายบริการเป็นวิชาชีพ ต้องใช้ทักษะในการทำงาน และมีความเสี่ยง เช่น ตกลงกับลูกค้าขึ้นห้องไปโดยไม่รู้เลยว่าในห้องมีผู้ชายอีกกี่คน มีการใช้ยามั้ย และยิ่งเมื่อเป็นกระเทยขายบริการที่เป็นคนต่างด้าวอีก คนเหล่านี้จะยิ่งเป็นคนชายขอบและได้รับความรุนแรงมาก เมื่อถูกละเมิดไม่เพียงข่มขืน แต่มีการตบตีด้วย การไปแจ้งความช้าไม่ใช่ยอมจำนน แต่เป็นการยากที่จะทำใจ

เพราะเมื่อกระเทยขายบริการไปแจ้งความว่าโดนข่มขืน ตำรวจทั้งโรงพักก็จะหัวเราะและบอกว่าก็เธอยินยอมไง ความคิดที่ว่าจะถูกละเมิดได้ไงเพราะขายบริการ ก็เป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยน

เราต้องมีกลไกการร้องเรียน ช่วยเหลือและเยียวยา ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานของการรักษาความลับ เพราะไม่มีใครอยากบอกทางบ้านว่าตนขายบริการ ซึ่งนี่เป็นส่วนของน้องๆ ข้ามเพศในพัทยา คนไทยควรตระหนักเรื่อง sexual consent กับผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ผู้อำนวยการมูลนิธิซิสเตอร์อธิบายถึงคำว่า transgender ที่มีทั้ง transman และ transwoman ที่มีคำเรียกหลากหลาย เช่น สาวประเภทสอง หรือหญิงชายข้ามเพศ มีอัตลักษณ์หลากหลาย บางคนภูมิใจในความเป็นกระเทย บางคนก็ภูมิใจที่จะเรียกว่าตนเป็นหญิง

ฐิติญานันท์กล่าวถึงคำเรียกของกลุ่มคนข้ามเพศ คำว่า ‘คนข้ามเพศ’ นั้นโอเค หรือ ‘กระเทย’ สามารถใช้ได้เพราะตรงกับสิ่งที่ตัวเองเป็นและทุกคนรับรู้ตรงกันได้ ทั้งนี้ขึ้นกับบริบทว่าเป็นการใช้เรียกทั่วไปหรือเป็นคำดูถูก ส่วนคำว่าเพศที่สาม สำหรับตนแล้วไม่ค่อยโอเคเพราะคำถามคือ แล้วเพศที่หนึ่งและสองคืออะไร และทำไมคนข้ามเพศถึงต้องกลายเป็น ‘ที่สาม’ เช่นเดียวกับคำว่า ‘สาวประเภทสอง’

ผู้อำนวยการมูลนิธิซิสเตอร์กล่าวถึงปัญหาทางกฎหมายของไทยที่เกี่ยวกับคนข้ามเพศว่า กฎหมายไทยต้องมี gender recognition law (กฎหมายรับรองกลุ่มคนข้ามเพศ) เพื่อคุ้มครองกลุ่มคนเหล่านี้ ทุกที่มีคนข้ามเพศ แต่ตัวกฎหมายไม่รับรองและทำให้เราไม่มีตัวตน ไม่มีการยอมรับทางเอกสารทางกฎหมาย มีปัญหาในการเดินทางไปต่างประเทศ การติดต่อราชการ เวลามีการฟ้องร้องกระบวนการทางกฎหมาย โดนละเมิดหรือข่มขืน ก็ไม่รู้ว่าควรกรอกช่องนายหรือนางสาว คำว่านายครอบคลุมความเป็นชาย แต่สำหรับสาวประเภทสองคำว่านายเป็นปัญหา ตัวตนของเราเป็นหญิง ตรงข้ามกับสิ่งที่เป็นจึงมักถูกตีตรา และเหมารวม

อย่างการเปรียบเทียบคุณค่า ผู้หญิงก็มีคุณค่าแบบหนึ่ง สาวประเภทสองก็มีคุณค่าลดลงมา คำว่า ‘ของปลอม’ ‘ผู้ชายสวย’ ‘ดอกไม้พลาสติก’ ‘สวยศัลยกรรม’ ที่เราเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อ คำเหล่านี้ลดทอนคุณค่าของคนข้ามเพศลง ทั้งจากคนภายนอกและตัวคนข้ามเพศลง หรือมองว่าสาวประเภทสองมุ่งแต่เรื่องกามารมณ์ นำไปสู่การข่มขืนไม่ผิด หรือไม่รุนแรงเท่ากับการข่มขืนผู้หญิง

เธอกล่าวว่า ประเทศไทยไม่เคยทำสำรวจว่ามีประชากรที่เป็นคนข้ามเพศกี่คน แต่คณะทำงานมูลนิธิซิสเตอร์ร่วมกับเครือข่ายกระเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อมูลว่า ทุกปีมีคนข้ามเพศเกณฑ์ทหาร 5,00 คนต่อปี เอามาคำนวณแล้ว ประเทศไทยมี 4-5 แสนคนที่เป็นหญิงข้ามเพศ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.