Posted: 07 Aug 2017 12:35 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ระบุทหารเข้ามาในชุมชนก้าวใหม่ เพื่อทำถนนใหม่ตามแนวทางคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่งผลให้ผลอาสินของประชาชนในชุมชนถูกทำลาย หวั่นบ้านเรือนถูกรื้อ หากรัฐยังทำตามผังถนนที่วางไว้



เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2560 เวลา 09.44 น. เจ้าหน้าที่จากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับมอบหมายจากคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เข้าไปที่ชุมชนก้าวใหม่ หมู่ที่ 5 ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เข้ามาวางแนวเขตถนนในชุมชน ก่อนนำรถแทรกเตอร์เข้ามาไถ ทำให้เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในชุมชนมีความกังวลว่า การเข้ามาวางแนวเขตดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการทำลายผลอาสินของเกษตรกรที่อยู่ตามแนวถนนตามตามา แม้ก่อนหน้านี้ประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากที่ดินของ ส.ป.ก. ไปพลางก่อน โดยได้มีการเจรจาแก้ไขปัญหากับหลายรัฐบาลก่อนหน้า จะได้เสนอแผนผังในการทำถนนซึ่งเป็นผังเดิมที่ชุมชนได้มีข้อตกลงร่วมกันให้กับภาครัฐไปแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ได้ปฏิเสธข้อเสนอของกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดิน โดยอ้างว่า การจัดรูปแบบที่ดินต้องเป็นไปตามผังของ ส.ป.ก.เท่านั้น จึงจะสามารถจัดสรรที่ดินให้กับกลุ่มเกษตรกรได้ หากใครขัดขวางการพัฒนาอาจถูกดำเนินคดีอาญา

กรณีดังกล่าวสืบเนืองจากเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2560 ธราดล วัชราวิวัฒน์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเจ้าหน้าที่กรมชลประทานได้เข้าไปในพื้นที่แปลง 1,700 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนต่างๆ (อดีตที่ตั้งของบริษัทรวมชัยบุรีปาล์มทอง) เพื่อชี้แจงนโยบายโครงการสำรวจพื้นที่เพื่อจัดหาหรือพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรโดยวิธีการขุดสระน้ำขนาดใหญ่ จำนวนประมาณ 300ไร่ และกำหนดแผนผัง รวมทั้งกำหนดขนาดแปลงที่ดินในโครงการจัดสรรที่ดินใหม่ สำหรับเป็นที่ดินทำการเกษตร ครอบครัวละ 5ไร่ และที่อยู่อาศัย ครอบครัวละ 1 ไร่ (5+1)โดยผู้ได้รับการจัดสรรต้องผ่านคุณสมบัติตามระเบียบของ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)

จากแนวทางการจัดระเบียบที่ดิน ดังกล่าวของ ส.ป.ก.ส่งผลทำให้ต้องบุกเบิกพื้นที่สร้างถนนซอยสายใหม่ทั้งหมด 14 ซอย แต่ละซอย กว้าง 6 เมตร จึงไปทับซ้อนทำลายแปลงเกษตรที่เกษตรกรได้ปลูกสร้างพืชผลต่างๆไว้ และได้รับผลผลิตแล้วทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ทางการเกษตรเพราะการรื้อแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบันทิ้ง และจัดทำแผนผังใหม่

โดยการวางแผนผังถนนซอยใหม่ การตัดซอยใหม่ ทำให้เกษตรกรรายย่อยที่มีฐานะยากจนอยู่แล้ว จะต้องถูกทำลายพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะพืชยืนต้นที่ปลูกสร้างมานาน และเพิ่งเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียง 3 ปี ซึ่งจะส่งผลกระทบให้สูญเสียรายได้ทั้งหมดที่เคยได้รับจากการขายผลผลิตทางการเกษตร



ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เห็นว่าการกระทำในครั้งนี้ของหน่วยงานภาครัฐนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อเสนอของประชาชนเลย แม้ว่าในชุมชนจะมีถนนหลักและซอยย่อยต่างๆ อยู่แล้ว รัฐสามารถที่จะปรับปรุงตามเส้นทางเดิมที่มีอยู่ได้ แต่กลับเลือกที่จะทำตามผังใหม่ทั้งหมด และนอกจากที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ซึ่งถูกทำลายผลอาสิน และหลายรายอาจจะถูกรื้อถอนบ้านเรือนตามแนวถนนใหม่ ยังเป็นการใช้งบประมาณภาครัฐที่เกิดความจำเป็น อย่างไรก็ตามการเข้ามาจัดการที่ดินในชุมชนครั้งนี้อาจจะทำให้สมาชิกในชุมชนประมาณครึ่งหนึ่งไม่มีที่อยู่อาศัย และรัฐยังไม่มีมาตรการรองรับ
ความเป็นมาของชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว

เนื่องจากการแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ป่าไสท้อนและป่าคลองโซง เขตพื้นที่หมู่ที่ 5 ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อยาวนานหลายรัฐบาล ปัญหาดังกล่าวก็คงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันโดยในส่วนของ “ชุมชนก้าวใหม่” ที่ได้อยู่อาศัยในพื้นที่นี้ เป็นระยะเวลา 9 ปี มาแล้วนั้น ได้ถือครองและทำประโยชน์ในที่ดินโดยการปลูกพืชยืนต้นต่างๆ รวมถึงพืชเศรษฐกิจ อาทิเช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และ ไม้ผล เต็มพื้นที่และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตขายสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้แล้ว ทั้งนี้ ตามขนาดการถือครองที่ดินที่ได้มีการเดินนำสำรวจการถือครอง และรังวัดแนวเขตแต่ละแปลงโดยช่างรังวัดจาก ส.ป.ก. ในปี 2556

การเข้าถึงที่ดิน และเริ่มต้นทำมาหากินในพื้นที่ ส.ป.ก. ดังกล่าวข้างต้น สืบเนื่องมาจากเคยได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำกินในเขตที่ดินของรัฐ ตามวิถีชีวิตปกติของเกษตรกร จนกว่าการดำเนินคดีฟ้องขับไล่นายทุนและบริษัทฯ จะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2552 วันที่ 11 มีนาคม 2552 โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธาน

อนึ่ง ชุมชนก้าวใหม่ ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน ให้เป็นพื้นที่นำร่องในการบริหารจัดการที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2553

หมายเหตุ: มีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาเมื่อเวลา 19.35 น.

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.