Posted: 11 Aug 2017 12:39 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซต์ประชาไท)

ไม่เพียงแค่กรณีอื้อฉาวของกูเกิลเท่านั้น-ประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในที่ทำงานยังเป็นที่ถกเถียงกันในสหรัฐฯ หนึ่งในนั้นคืออคติทางเพศที่ทำให้ผู้หญิงได้รับค่าจ้างไม่เท่าเทียมกับผู้ชายแม้กระทั่งในเมืองที่ดูก้าวหน้าอย่างซีแอตเทิล ที่ผู้หญิงยังคงได้รับเงินค่าจ้างน้อยกว่าชาย โดยที่เฉลี่ยแล้วหากผู้ชายได้รับเงิน 1 ดอลลาร์ ผู้หญิงจะได้รับเพียง 78.6 เซ็นต์ Yes! แม็กกาซีนกับ LiveStories พยายามสำรวจว่าเป็นเพราะเหตุใด 


ภาพถ่ายในปี ค.ศ. 1942 เมื่อผู้หญิงสหรัฐอเมริกาออกมาทำงานมากขึ้นในช่วงสงครามโลก ในภาพเป็นผู้หญิงที่ทำงานอยู่ที่ Vega Aircraft Corporation อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านมากว่า 70 ปีสหรัฐอเมริกายังคงประสบปัญหาช่องว่างของรายได้ระหว่างเพศ (ที่มาของภาพประกอบ: Bransby, David/Library of Congress/Wikipedia/Public Domain)

ข้อมูลดังกล่าวนี้มาจากแบบสำรวจชุมชนอเมริกันโดยสำนักงานสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ โดยที่บริษัท LiveStories ที่ซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน นำข้อมูลเหล่านี้มาศึกษาวิเคราะห์ต่อเพื่อหาแบบแผนจากสถิตินี้ ทำให้พวกเขาพบข้อมูลที่น่าสนใจว่าสำหรับในซีแอตเทิลแล้ว ช่องว่างรายได้ระหว่างหญิงกับชายยิ่งห่างจากกันมากขึ้นยิ่งถ้าผู้หญิงมีการศึกษาในระดับสูงขึ้น เมื่อเทียบกับชายที่มีการศึกษาในระดับเดียวกัน

เริ่มจากข้อมูลที่ระบุว่าในระดับวุฒิการศึกษาไฮสคูลหรือเทียบเท่ามัธยมผู้หญิงจะได้เงินค่าจ้าง 84 เซ็นต์ ต่อทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่ชายได้รับจากระดับการศึกษาเดียวกัน คนที่จบระดับอุดมศึกษาจะได้ค่าจ้าง 72 เซ็นต์ต่อทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่ผู้ชายได้ ส่วนหญิงที่จบในระดับบัณฑิตศึกษาหรือวิชาชีพที่ต้องการใบอนุญาตจะได้รับเพียง 68 เซ็นต์ต่อทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่ผู้ชายได้รับ

เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมากเท่าในเมืองอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่เท่ากันอย่างบอลติมอร์, บอสตัน, เดนเวอร์ และแนชวิลล์ Yes! แม็กกาซีนระบุว่าปัจจัยหนึ่งที่น่าจะทำให้ซีแอ็ตเทิลมีความไม่เท่าเทียมด้านค่าแรงระหว่างเพศน่าจะเป็นเพราะอุตสาหกรรมไอทีของซีแอ็ตเทิลอยู่ในมือผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ แต่ในเรื่องนี้ก็มีข้อมูลที่ขัดกันคือในบอสตันก็มีอุตสาหกรรมไอทีเจริญเช่นกันแต่ระดับความต่างด้านค่าแรงระหว่างเพศมีไม่มากเท่า

ศูนย์วิจัยพิวประเมินจากข้อมูลปี 2558 ว่าผู้หญิงโดยเฉลี่ยได้รับค่าแรงน้อยกว่าชายร้อยละ 83 แม้ว่าความต่างระหว่างค่าแรงในสหรัฐฯ จะดีขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อราวเกือบ 30 ปีที่แล้วที่ผู้หญิงได้ค่าแรงเพียงร้อยละ 64 ของผู้ชาย อย่างไรก็ตาม Yes! ระบุว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นเพราะมีการหาข้ออ้างทำให้เกิดช่องว่างค่าจ้างระหว่างหญิงกับชายมากมายอยู่แต่เดิมแล้ว

สองข้ออ้างหลักๆ คือเรื่องภาระการเลี้ยงดูและความรับผิดชอบต่อหน้าที่อื่นๆ ในครอบครัวซึ่งทางวัฒนธรรมมักจะกำหนดให้เป็นภาระของผู้หญิง ข้ออ้างปัจจัยที่สองคือเรื่องการศึกษาและทางเลือกของงาน

ในข้ออ้างแรกวิธีการ "ลงโทษผู้หญิงที่ลาทำหน้าที่แม่" กลายเป็นสิ่งที่ทำลายหน้าที่การงาน ถูกลดชั่วโมงงาน และทำให้รายได้ในอนาคตหายไปด้วย นอกจากนี้ทางเลือกของงานผู้หญิงก็ถูกจำกัดให้อยู่แต่กับงานแบบที่ถูกมองว่าเป็น "งานของผู้หญิง" อย่างครูหรือสังคมสงเคราะห์ ขณะที่ผู้ชายมีโอกาสกับงานจำพวกวิศวกรรมมากกว่า กระนั้นก็ตามแม้แต่ในงานที่ถูกมองว่าเป็นงานของผู้หญิงเองเช่นงานบริการผู้หญิงก็ยังได้รับค่าแรงโดยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 77.8 ของที่ผู้ชายได้รับในสหรัฐฯ

มีการศึกษาของสมาคมสตรีมหาวิทยาลัยอเมริกัน (AAUW) พบว่าแม้จะมีการแยกแยะตัวแปรต่างๆ ทั้งระดับการศึกษา สถานะการแต่งงาน อายุ เวลาทำงาน ภูมิภาค ภาคส่วนทางเศรษฐกิจ และปัจจัยอื่นๆ แล้วยังพบว่าผู้หญิงยังได้รับค่าจ้างน้อยกว่าชายโดยเฉลี่ยรวมร้อยละ 7 ทำให้ Yes! ประเมินว่าเรื่องนี้น่าจะมาจากอคติและการเหมารวมกีดกันทางเพศ

อีกข้อมูลหนึ่งคือการพิจารณาร่วมกับเชื้อชาติพบว่าผู้หญิงอเมริกันไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใดก็ตามก็จะได้ค่าจ้างน้อยกว่าชาย แต่จากการเปรียบเทียบแล้วผู้หญิงท่เป็นคนขาวกับผู้ชายคนขาวมีช่องว่างค่าจ้างมากที่สุดคือ จะได้รับร้อยละ 79.6 ของผู้ชายคนขาว รองลงมาคือผู้หญิงเอเชีย 81.5 เซนต์ต่อหนึ่งดอลลาร์ ผู้หญิงคนดำและฮิสแปนิค/ละติน จะมีช่องว่างตรงนี้น้อยกว่าคือ 90 เซนต์ต่อหนึ่งดอลลาร์และ 92.2 เซนต์ต่อหนึ่งดอลลาร์ตามลำดับ อย่างไรก็ตามเชื้อชาติสีผิวโดยรวมๆ เองก็มีช่องว่างค่าจ้างในตัวมัน เมื่อเทียบแล้วชายคนดำได้รับค่าจ้างเฉลี่ยร้อยละ 74.4 ที่ชายคนขาวได้รับ

นอกจากนี้ AAUW ยังชี้ให้เห็นว่าปัจจัยความไม่เท่าเทียมนี้อาจจะมีความแตกต่างกันในแต่ละรัฐ หนึ่งในปัจจัยนี้คือการที่ใน 14 รัฐรวมถึงวอชิงตันมีกฎหมายการคุ้มครองค่าแรงที่เท่าเทียมระหว่างเพศที่ไม่เข้มแข็ง มีอยู่ 28 รัฐที่คุ้มครองเรื่องนี้ "ในระดับปานกลาง" และมี 6 รัฐที่คุ้มครองเรื่องนี้อย่างเข้มแข็ง มีสองรัฐคืออลาบามาและมิสซิสซิปปีที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองเรื่องนี้เลย

Yes! ระบุว่าปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้กฎหมายดังกล่าวนี้เข้มแข็งได้แก่การออกกฎห้ามนายจ้างถามถึงประวัติเงินเดือน (แมสซาชูเซตต์) จำกัดข้ออ้างที่จะไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้ชายและหญิงเท่ากัน (แคลิฟอร์เนีย) ห้ามไม่ให้มีการอ้างเรื่องที่ผู้หญิงเป็นแม่ในการลดเงินเดือนหรือจำกัดเส้นทางอาชีพ (แมรีแลนด์) รวมถึงการสั่งปรับหรือชดใช้ค่าเสียหายสูงๆ สำหรับผู้ที่ละเมิดกฎการจ่ายค่าจ้างเท่าเทียม (เทนเนสซี) ในรัฐที่มีกฎหมายเรื่องนี้อ่อนแอกว่าดูจากการที่พวกเขาบังคับใช้กฎหมายค่าจ้างเท่าเทียมกับในภาครัฐเท่านั้นอย่างในหลุยส์เซียนา หรือรัฐแอริโซนาที่ไม่ได้ห้ามไม่ให้ลูกจ้างปฏิบัติการเรียกร้อง

อย่างไรก็ตาม แอดนัน มาห์มุด ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของ LiveStories ก็ระบุว่าพวกเขายังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนอยู่ดีว่าอะไรที่ทำให้ซีแอ็ตเทิลต่างจากที่อื่นตรงที่ยิ่งผู้หญิงมีการศึกษาสูงอัตราค่าแรงก็ยิ่งน้อยกว่าชายเทียบกับระดับการศึกษาเดียวกัน



เรียบเรียงจาก

The More Education, the Wider the Gender Pay Gap—Wait, What?, Yes! Magazine, 07-08-2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.