Posted: 08 Aug 2017 03:38 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

คุยกับรังสิมันต์ โรม วาระครบรอบ 1 ปีการลงประชามติปี 2559 เขายังเชื่อเสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ แม้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านไปแล้ว แต่นั้นไม่ได้มีผลผูกพันไปตลอด หากวันหนึ่งประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลงก็ไม่มีอะไรมาหยุดรั้ง พร้อมย้ำชัดๆ ประชามติที่ผ่านมามีอายุสั้น และรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้เป็นคนละฉบับกับตอนทำประชามติ


รังสิมันต์ โรม ขณะถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2560 ตามหมายจับคดีฝ่าฝื่นคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมเกินกว่า 5 คน จากการแจกใบปลิวรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ เคหะบางพลี วันที่ 23 มิ.ย. 2559 (แฟ้มภาพ Banrasdr Photo)

หากย้อนกลับไปเมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมา เหตุการณ์หนึ่งที่ถือว่าสำคัญก็คือ การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่นำทีมร่างโดย มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ซึ่งถูกแต่งตั้งขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และก็เป็นที่ทราบกันดีว่าผลของการออกเสียงในครั้งนั้น ร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนมาก แต่ที่สุดแล้วงานของกลุ่มรณรงค์ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในเวลานั้นยังไม่จบ และพวกเขาเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ กับฉบับที่ประกาศใช้ไม่ใช่ฉบับเดียวกัน

พูดได้ยากพอสมควรหากจะบอกว่าการลงประชามติที่ผ่านมาอยู่ในในบรรยกาศที่ ‘ฟรีและแฟร์’ เพราะข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือการจับกุมดำเนินคดีกลุ่มคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะว่า “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่ามีจำนวนประชาชนถูกดำเนินคดีในช่วงการลงประชามติที่ผ่านมามากถึง 212 คน หนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมในเวลานั้นคือ รังสิมันต์ โรม นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในเวลานั้นได้ออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในนามของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังทั้งการจัดเวทีเสวนาทางวิชาการ การผลิตสิ่งพิมพ์ความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ และ 7 เหตุไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพยายามสื่อสารแจกข้อมูลต่างๆ ให้ประชาชนมีทางเลือกในการลงคะแนนเสียง ภายใต้ภาวะที่อึดอัดและอึมครึม

ประชาไทพูดคุยกับรังสิมันต์ อีกครั้งเมื่อเวลาผ่านพ้นไปแล้วหนึ่งปีนับจากวันที่ 7 ส.ค. 2559 เขาเห็นว่าชีวิตของเขา และชีวิตของหลายๆ คนยังคงเป็นเหมือนเดิม เขาใช้คำว่าเหมือนเดิมในความหมายที่ไม่มีอะไรที่ก้าวไปข้างหน้า ก่อนหน้านี้เป็นช่วงเวลาซึ่งอยู่ในการควบคุมโดยรัฐบาลทหารอย่างไร ทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นอย่างนั้น เขาพูดประโยคหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดถึงความคิด และสิ่งที่จะได้พูดคุยกันต่อไปคือ “การมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นเลย”

รังสิมันต์ อธิบายต่อไปว่า หลังจากที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 ประเทศไทยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแต่อย่างใด เขาเห็นว่าสภาวะที่เป็นอยู่คือการทำลายความศักดิ์สิทธิของรัฐธรรมนูญ เพราะหลายๆ เหตุการณ์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ไม่มีความหมายอะไรเลย เช่น บทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้จะมีการเขียนรับรองสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆ ไว้ แต่กลับไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง

“สิทธิเสรีภาพ ไม่ได้มีอยู่จริง ทุกสิ่งทุกอย่างยังอยู่ภายใต้การอำนาจของ คสช. ตลอดเวลา ดังนั้นผมคิดว่า 1 ปีที่ผ่านมา สำหรับผมเอง ผมเห็นการเดินย่ำอยู่กับที่ของประเทศนี้ ซึ่งจริงๆ ย่ำอยู่กับที่มาตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 มาจนถึงทุกวันนี้ เราอยู่เหมือนเดิม เราแย่เหมือนเดิม” รังสิมันต์ กล่าว

จะอย่างไรก็ตามในฐานะของกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองโรมเห็นว่า แม้ว่าสภาพการเมืองไทยจะแย่อยู่เหมือนเดิม หรือจะแย่ไปมากว่าเดิมเท่าไหร่ สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือการยืนยันในสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้ว่าช่วงก่อนหน้าการลงประชามติเมื่อปีที่ผ่านมาธงนำในการเคลื่อนไหวรณรงค์ทางการเมืองของเขา และกลุ่มสังกัดเดิมคือ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จะเป็น การรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จนถึงที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญได้ผ่านความเห็นชอบ แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะจบ หรือหยุดลงแต่เพียงเท่านั้น

“คือผมเชื่อว่าเสียงของประชาชนคือเสียงสวรรค์ ดังนั้นเมื่อพวกเราตัดสินใจอะไร มันก็ต้องยอมรับในผลของการตัดสิน บ้างครั้งมันอาจจะผิดพลาดและมันนำไปสู่การตกนรกร่วมกัน บางครั้งมันจะดีมากๆ และก็อาจจะนำไปสู่ความสำเร็จอะไรบางอย่าง ถ้าถามว่าหลังจากนี้อะไรคือสิ่งที่พวกเราจะทำต่อไป ผมเชื่อว่าเราสามารถที่จะแก้ไขสิ่งที่เราเคยตัดสินใจได้ ประชาชนสามารถตัดสินใจใหม่ได้ มันไม่ได้ผูกผันว่าเราจะตัดสินใจใหม่ไม่ได้ และยิ่งไปกว่านั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ได้มีจุดใดที่ยึดโยงกับประชาชนเลย แม้จะบอกว่ามีการทำประชามติแล้ว แต่ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติมันได้ถูกทำลายสิ้นแล้วหลังจากที่มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ก็อย่างที่ทราบกันว่ารัฐธรรมนูญที่มีการประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลังจากลงประชามติ” รังสิมันต์ กล่าว

รังสิมันต์เผยว่า สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการสร้างความรู้สึกร่วมของประชาชนอีกครั้ง ให้ประชาชนรู้สึกว่าเราต้องการความเปลี่ยนแปลงในอนาคต เขาเห็นว่าการมีรัฐธรรมนูญที่ดีคือ การที่มีองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีสำนึกของการรับใช้ประชาชน ฉะนั้นสิ่งที่เขายืนยันจะทำต่อไปคือการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อที่ประชาชนจะได้โอกาสในการตัดสินใจอีกครั้ง ประชาชนจะได้ตัดสินใจต่ออนาคตของตัวเองที่ ตัวเองสามารถเลือกได้จริงๆ

“แน่นอนผมรู้ดีว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันแก้ไขยากมาก แต่ว่าการแก้ไขมันไม่จำเป็นที่ต้องจำกัดอยู่ที่วิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนด ผมคิดว่าถึงที่สุดเราก็ต้องกลับไปหาสิ่งที่เป็นต้นกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศนี้ซึ่งคือ ประชาชน ผมคิดว่าถ้าประชาชนเลือกหรือตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงมันก็ไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งได้” รังสิมันต์กล่าว

รังสิมันต์ ย้ำอีกครั้งว่า ในช่วงของการทำประชามติเมื่อปีที่ผ่านมามีหลายสิ่งที่เป็นตราบาปสำคัญ เช่น การจับกุมดำเนินคดีความกับผู้ที่ออกมารณรงค์ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีการให้ข้อมูลที่รอบด้านอย่างเพียงพอ และมีความพยายามสกัดกั้นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแทบทุกวิถีทาง นั่นทำให้เขาเห็นว่านี่คือ ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ดีนัก เพราะร่างขึ้นมาภายใต้บริบทของการจับกุมผู้คน ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงคิดเห็นได้อย่างอิสระโดยปราศจากความกลัว

รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ถึงที่สุดแล้วเมื่อดูจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาหลังจากการลงประชามติ สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็นคือ ผู้ปกครองไม่ได้ให้ความหมายอะไรกับเสียงของประชาชนเลย แม้จะมีการใช้งบประมาณมากมายเพื่อทำการออกเสียงประชามติ รวมไปจนถึงการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ปกครองก็ล้มความพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญของตัวเองลงด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญคนละฉบับ

“เมื่อคุณพูดว่าประชาชนเขาให้ความเห็นเขากับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค. แต่เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติ่มหลังจากนั้นโดยที่ยังไม่ได้ประกาศใช้ คุณก็ต้องพูดว่านั่นคือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะได้เราลงประชามติรับ หรือไม่รับ เราให้ความเห็นกับมันทั้งฉบับ ไม่ได้แยกเป็นหมวดๆ หรือเป็นมาตรา” รังสิมันต์ กล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.