Posted: 06 Aug 2017 12:35 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ชุมชนร้อยปีริมน้ำเจ้าพระยาจัดงานเทศกาลริมน้ำบางกอก ชี้โครงการถนนบนแม่น้ำเจ้าพระยาจะทำลายชุมชน ปิดกั้นทางสัญจรและปัญหาตามมามากมาย ตัวแทนชาวบ้านระบุไม่ปฏิเสธการพัฒนาแต่ต้องอยู่บนความยั่งยืน คงอัตลักษณ์ของชุมชนไว้ เรียกร้องยุติโครงการและจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อฟังเสียงชุมชน



เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2560 ที่อาคารพิพิธบางลำพู เครือข่ายประชาคมบางลำพูและภาคีเครือข่ายหลากหลายองค์กรได้ร่วมกันจัดงาน "เทศกาลริมน้ำบางกอกขึ้น” เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา และอัตลักษณ์ของชุมชนริมน้ำเจ้าพระยาที่มีมาอย่างนานร่วม 200 ปี ที่กำลังจะเลือนหายไปจากการเตรียมก่อสร้างโครงการถนนบนแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานครด้วย

ซึ่งประเด็นนี้ได้ถูกนำมาขยายและต่อยอดในการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “พัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างไรให้เป็นธรรมและยั่งยืน” โดยมีตัวแทนชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างถนนบนแม่น้ำเจ้าพระยาร่วมขึ้นเวทีเสวนาเพื่อสะท้อนให้ทุกคนได้รับรู้ว่าโครงการก่อสร้างถนนบนแม่น้ำขนาดใหญ่ในแม่น้ำเจ้าพระยานั้นจะส่งผลกระทบต่อพวกเขาและประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ รวมถึงตัวแทนชาวบ้านยังได้นำเสนอแนวทางในการพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนอีกด้วย

นายประมาณ มุขตารี ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนบางอ้อซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนที่ได้รับผลกระทบกล่าวว่า ประวัติชุมชนเรามีมานับร้อยปี เราเป็นชุมชนมุสลิมดั้งเดิม หรือที่เรียกว่า “แขกแพ” ที่อพยพมาจากพระนครศรีอยุธยาโดยทางเรือ หลังสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 จากนั้นปักหลักค้าขาย จนพัฒนาเป็นตลาดซุงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยนำไม้ล่องแพจากภาคเหนือแล้วมาขึ้นฝั่งที่นี่ เพื่อลำเลียงนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ที่บางโพต่อไป พร้อมกันนี้ยังก่อเกิดเป็นชุมชน ร้านค้า ที่มีสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะอาคารทรงโคโลเนียล เราใช้แม่น้ำเจ้าพระยาในการสัญจร จนเรียกแม่น้ำเจ้าพระยาว่าเป็นหน้าบ้านของเรา อย่างไรก็ตามในแต่ละยุคแต่ละสมัยหน้าบ้านของเราก็ผ่านการพัฒนามาหลากหลายโครงการโดยโครงการล่าสุดคือการก่อสร้างผนังกั้นน้ำที่ชุมชนของเรา

ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนบางอ้อกล่าวว่าในตอนที่จะเริ่มการก่อสร้างนั้นเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าจะป้องกันน้ำท่วมแต่หลังจากการก่อสร้างแล้วชุมชนของเราได้รับผลกระทบมากมายไม่ว่าจะเป็นผนังกันน้ำที่สูงจนปิดช่องทางลมทำให้อากาศในชุมชนไม่ถ่ายเท และผนังกั้นน้ำเองก็มีความสูงมากและปิดกั้นทางสัญจรที่ชาวบ้านเคยใช้อยู่แต่เดิม ถึงแม้จะมีการสร้างบันไดให้ชาวบ้านได้ใช้ปีนขึ้นปีนลงแต่ก็ยากลำบากต่อการสัญจรของผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ซ้ำร้ายผนังกั้นน้ำดังกล่าวนอกจากจะป้องกันน้ำเข้าไม่ได้แล้วแต่ยังทำให้น้ำที่อยู่เดิมนั้นระบายออกไปไม่ได้ทำให้เกิดน้ำขังน้ำเน่าส่งกลิ่นเหม็นและทำให้ชาวบ้านจำนวนหลายครัวเรือนเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังอีกด้วย

“แค่โครงการพัฒนาย่อย ๆ ที่ไม่รับฟังเสียงของพวกเรายังทำให้พวกเราได้รับผลกระทบมากมายขนาดนี้ ไม่ต้องพูดถึงโครงการขนาดใหญ่อย่างถนนบนแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังจะเกิดขึ้นว่าพวกเราจะได้รับผลกระทบมากมายกันขนาดไหน เพราะเท่าที่ทราบว่าถนนที่จะสร้างนั้นจะมีขนาดที่กว้างและสูงมาก ผมเชื่อว่ามันจะสร้างผลกระทบให้กับทางชาวบ้านมากมายอย่างแน่นอนจึงอยากขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ช่วยฟังเสียงของพวกเราบ้างและมาศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนของเราโดยที่กระบวนการในการศึกษานั้นชาวบ้านทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง” นายประมาณกล่าว

ด้านนางปิ่นทอง วงษ์สกุล ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนริมน้ำกุฎีจีน กล่าวถึงประวัติศาสตร์และความเป็นมาของชุมชนว่า เราเป็นชุมชนเก่าแก่ต้นสายของโปรตุเกสเพราะที่นี่จะมีชาวโปรตุเกสมาพักอาศัยอยู่ราว 17 นามสกุลด้วยกัน จึงทำให้ชุมชนของเรามีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันถึงสามศาสนา คือ พุทธ คริสต์ และอิสลาม ก่อเกิดเป็นชุมชนด้านวัฒนธรรมสามศาสนา โดยชุมชนของเราจะมีโบสถ์เก่าแก่ชื่อโบสถ์ซางตาครู้สที่เราได้ช่วยกันบูรณะมากว่าสามครั้งแล้วและโบสถ์แห่งนี้มีอายุยาวนานกว่า 248 ปี นอกจากนี้ที่ชุมชนของเรายังมีขนมฝรั่งที่นักท่องเที่ยวได้ชิมแล้วจะต้องประทับใจอีกด้วย และที่ย่านกุฎีจีนของเรามีสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นริมแม่น้ำ 5 อย่างด้วยกันคือ 1.มีห้างสรรพสินค้าห้างแรกของประเทศไทยคือห้างหันแตรซึ่งเจ้าของก็คือนายฮันเตอร์ 2.เรามีร้ายถ่ายรูปร้านแรกของประเทศไทยที่เกิดขึ้นริมน้ำเจ้าพระยาคือร้านถ่ายรูปของฟรานซิสจิต จิตราคนี 3.เรามีการผ่าตัดครั้งแรกของหมอบรัดเลย์เพราะตอนนั้นจะมีการสู้รบกันและมีพระภิกษุแขนขาดคุณหมอบรัดเลย์จึงมีการผ่าตัดครั้งแรกเกิดขึ้นที่ชุมชนของเราแห่งนี้ 4.เรามีโรงพิมพ์แห่งแรกที่คุณพ่อชาวฝรั่งเศสนำแป้นพิมพ์มาจากเขมร 5.มีการแปลพจนานุกรมไทยโปรตุเกสเล่มแรกเพราะชาวโปรตุเกสที่เข้ามาอยู่ที่นี่จะมีอาชีพแปลหนังสือกับทหารรับจ้าง และที่สำคัญคือบ้านเรือนแถบนี้เมื่อเข้าไปในชุมชนก็จะยังคงความเป็นบ้านเรือนไทยแบบเก่าของรัชกาลที่ 5

ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนริมน้ำกุฎีจีนกล่าวว่าในส่วนของเรื่องการก่อสร้างโครงการถนนบนแม่น้ำเจ้าพระยา ยอมรับว่าคนในชุมชนของเรามีความเป็นกังวลมากและเกรงว่าจะทำให้ทัศนียภาพความเป็นกุฎีจีนเปลี่ยนแปลงไปเพราะที่ผ่านมา กทม.เคยมาสร้างเขื่อนเพื่อทำเป็นผนังกั้นน้ำให้ชุมชนของเรา ทำให้เราได้รับผลกระทบมาก แค่โครงการขนาดเล็กพวกเรายังได้รับผลกระทบมากมายขนาดนี้ ไม่ต้องนึกถึงโครงการขนาดใหญ่เลย จึงอยากขอให้กรุงเทพมหานครยุติการเตรียมก่อสร้างโครงการนี้และให้ลงมาสร้างกระบวนการในการฟังเสียงของชาวบ้านที่ชาวบ้านที่ได้รับกระทบอย่างจริงจังก่อนจะเริ่มโครงการขนาดใหญ่ใด ๆ ด้วย

“เราใช้แม่น้ำเป็นหน้าบ้านมาตั้งแต่โบราณดังนั้นโครงการที่จะสร้างทางในแม่น้ำเจ้าพระยาจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากพวกเราให้รอบด้าน และการพัฒนาทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นพวกเราไม่เคยปฏิเสธหากเป็นการพัฒนาที่ยืนอยู่บนวิถีและอัตลักษณ์ของชุมชนเรา และประชาชนในชุมชนของเราได้มีส่วนร่วมและใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ซึ่งในชุมชนเราก็มีตัวอย่างของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและทำให้เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของชาวบ้านพัฒนาขึ้นไปด้วยคือการปรับปรุงทางจักรยานขนาดเล็กที่เชื่อมหลายชุมชนเข้าไว้ด้วยกันทำให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของชุมชนดีขึ้น ประชาชนในชุมชนก็มีรายได้ พึ่งพิงตนเองได้ซึ่ง กทม.น่าจะนำการพัฒนาในรูปแบบนี้ไปเป็นแบบอย่าง”นางปิ่นทองกล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ น.ส.ระวีวรรณ สมิตะมาน ชาวบ้านจากชุมชนบ้านปูน กล่าวว่าชุมชนบ้านปูนของเราก็มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานไม่แพ้ชุมชนอื่น ๆ ที่อยู่ติดกับริมน้ำเจ้าพระยา ชุมชนของเรานั้นมีประวัติศาสตร์อย่างยาวนานมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เราได้มาตั้งถิ่นฐานที่นี่ ซึ่งคำว่า "บ้านปูน" มาจากการที่ชุมชนทำปูนแดงที่ใช้ไว้กินกับหมาก ซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของชุมชน และนำปูนที่ได้ส่งไปยังวังบางขุนพรหม วังเทเวศร์ และพอสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 การกินปูนกับหมากก็ได้ยุติไป นอกจากนี้ชุมชนยังมีประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างคือศาลาโรงธรรม ที่จะใช้ทำบุญทุกวันโกณฑ์และวันพระ ซึ่งตอนนี้ศาลาโรงธรรมแห่งนั้นก็ยังใช้ประโยชน์ในการทำบุญ เดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งศาลาโรงธรรม นับเป็นโรงธรรมแห่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ เพราะเมื่อครั้งที่ชุมชนบ้านปูนอพยพมานั้น ชุมชนกรุงเทพมหานครยังไม่มีการสร้างวัดใด ๆ เลย นอกจากนี้ในสมัยก่อนตอนที่ตนยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ คุณตาเคยเล่าให้ฟังว่า ชุมชนบ้านปูนไม่มีน้ำประปาใช้ ต้องไปหาบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาใช้ เอามาใส่โอ่งใส่ตามแล้วแกว่งสารส้มเพื่อรอให้น้ำใสก็จะนำมาใช้อุปโภคบริโภค และในตอนเด็ก ๆ ตนยังจำภาพที่เด็ก ๆ ในวัยเดียวกันเดินตามใต้ถุน หาเศษสตางค์ และวิ่งซ่อนแอบกันบ้าง แต่ปัจจุบันไม่มีวิถีชีวิตแบบนี้แล้ว

ชาวบ้านจากชุมชนบ้านปูนกล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านที่ชุมชนบ้านปูนไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาหากแต่การพัฒนานั้นต้องยืนอยู่บนความเป็นธรรมและถูกต้องและฟังเสียงชองประชาชนอย่างรอบด้าน ยกตัวอย่างเช่นการก่อสร้างเขื่อนหลังจาก ปี 2538 เขื่อนที่สร้างขึ้นมาก็เป็นการปิดกั้น ทำให้น้ำเข้ามาขังบริเวณในบ้านที่อยู่ริมน้ำ ก็ทำให้น้ำในนั้น เป็นน้ำเน่าเสีย วิถีชีวิตก็หายไป จากแต่เดิมใช้การเดินทางโดยน้ำ ก็หันมาใช้ถนน ปลาบางพันธุ์ก็สูญพันธุ์ไป นอกจากนี้ไม่พอในปี พ.ศ. 2554 ที่มีน้ำท่วมใหญ่ กทม.ก็มาดำเนินการสร้างทางเลียบแม่น้ำที่ปิดสูงขึ้นไปอีก ก็ยิ่งทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ลมที่จะพัดเข้าไปในบ้านก็ไม่มี จึงเป็นการผลักให้ชาวบ้านตายจากวิถีชีวิตริมน้ำอย่างแท้จริง

“การพัฒนาที่เกิดขึ้นของ กทม.แต่ละครั้ง ทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบมากกว่าเดิม เพราะไม่เคยสอบถามหรือออกแบบการพัฒนาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตหรืออัตลักษณ์ของชาวบ้านเลยแม้แต่น้อย ชุมชนของพวกเราทุกชุมชนที่มาในวันนี้มีผูกพันกับสายน้ำทุกชุมชน และทุกชุมชน ไม่เคยกลัวน้ำ ชาวบ้านทุกคนที่อยู่ริมน้ำ เป็นคนที่เข้าใจแม่น้ำ เข้าใจน้ำขึ้นน้ำลง เข้าใจที่ต้องอยู่กับน้ำท่วมและเมื่อมีน้ำขึ้นน้ำหลากคนในชุมชนก็จะดีใจ เนื่องจากสามารถจับปลาได้มากขึ้น มีอาชีพเสริม เพราะเจ้าพระยาท่วมไม่นาน ท่วมแล้วก็ไป การสร้างเขื่อนทำให้อาชีพจับปลาหายไป และปิดกั้นน้ำกับชาวบ้านไปตลอดชีวิต ตอนนี้สิ่งที่เราเป็นกังวลจากบทเรียนที่ผ่านมาคือกรณีการเตรียมการก่อสร้างถนนบนแม่น้ำเจ้าพระยา จะเป็นการตอกย้ำความเสื่อมโทรม และนำไปสู่อาชญากรรม เพราะเมื่อมีถนนบนแม่น้ำที่กว้างรถอะไรจะวิ่งเข้ามาผ่านชุมชนของเราเมื่อไหร่ก็ได้ บุคคลภายนอกจะเดินเข้ามาชะโงกดูบ้านของเราก็ได้ ถ้าถามกลับว่าหากเป็นบ้านของเราที่ต้องอยู่บนความเสี่ยงตลอดเวลาแบบนี้เราจะยอมกันหรือไม่ ดังนั้นก่อนที่จะมีการสร้างทางหรือถนนบนแม่น้ำเจ้าพระยาและจะมีการทำประชาพิจารณ์ตนอยากให้การเปิดการทำประชาพิจารณ์ที่ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้มีส่วนร่วมในการส่งเสียงอย่างแท้จริงไม่ใช่การปิดกั้นการแสดงความเห็นของชาวบ้านที่ไม่ต้องการทางเลียบเหมือนที่ กทม.พยายามทำอยู่ตลอดเวลาแบบนี้ ซึ่งสิ่งที่พวกเราต้องการอย่างแท้จริงคืออยากให้กทม.หันมาอนุรักษ์แม่น้ำ และคืนวิถีชุมชนให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมเหมือนที่เคยเป็น” น.ส.ระวีวรรณกล่าว

ด้านพิมพ์ศิริ สุวรรณนาคร ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนพานถมกล่าวว่า ชุมชนของเราผูกพันกับวิถีริมน้ำเจ้าพระยามานับร้อยปีและเราได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำลำคลองตลอดเวลาของดีชุมชนบ้านพานถมในสมัยก่อน บริเวณโดยรอบวัดปรินายก จะมีช่างฝีมือทำเครื่องถมมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยชาวชุมชนเป็นผู้ริเริ่มสร้างเตาเพื่อทำขันเงิน หรือที่เรียกว่า “ขันน้ำพานรอง” ขึ้น และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในสมัยนั้น ความรุ่มรวยวัฒนธรรมของชุมชนเรา อยากให้คงอยู่แบบนี้ตลอดไป เพราะถือเป็นอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ของชุมชน การที่ภาครัฐ เตรียมที่จะดำเนินโครงการ สร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา อยากให้ทางภาครัฐให้ความสำคัญกับประชาชน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในส่วนของการแสดงความคิดเห็น เพราะที่ผ่านมา มีเพียงการพูดคุยประชุมแบบกว้าง ๆ เท่านั้น รวมทั้งเหมารวมว่า ชาวบ้านเห็นด้วย ตรงนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง

“ข้อเรียกร้องของเรา คือ ไม่เอาถนนบนแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะที่ผ่านมาไม่มีการถามความเห็นจากคนในชุมชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ หรือเมื่อสร้างแล้ว ชาวบ้าน จะได้ใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ทางกทม.มักใช้เหตุผลว่าต้องการสร้างทางเลียบแม่น้ำเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแม่น้ำ ถ้าหากกทม.ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงแม่น้ำจริงก็ต้องฟื้นฟูวิถีของชาวบ้านริมแม่น้ำให้กลับคืนมาเพื่อให้ประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำเขาได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำอย่างแท้จริง และเมื่อชาวบ้านเข้มแข็งก็สนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวในรูปแบบชุมชนประชาชนทุกคนก็สามารถที่จะเข้าถึงแม่น้ำได้ ชาวบ้านทุกคนก็สามารถอยู่ได้จากการท่องเที่ยวนี่คือรูปแบบที่กทม.ควรพัฒนาให้เกิดมากกว่าการไร่รื้อชุมชนและนำถนนอะไรก็ไม่รู้ว่าตั้งผ่านบ้านของเขาแบบนี้”ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนพานถมกล่าว

ขณะที่นางอรศรี ศิลปี ประธานชุมชนบางลำพูกล่าวว่า ในสมัยโบราณบริเวณนี้จะเป็นบ้านคนมอญอยู่กันมาก โดยมีการสร้างวัดชนะสงคราม เพื่ออยู่คู่ชุมชน เหตุที่เรียกว่าชุมชนบางลำพูเพราะว่าชุมชนของเรามีต้นลำพูจำนวนมาก ชุมชนของเรามีของดีอยู่หลายอย่าง นอกจากจะเป็นศูนย์กลางการค้าหลายชนิด ทั้งเสื่อผ้าและอาหาร แล้ว ยังมีชุมชนดนตรีไทยชาวบ้านที่เก่ากว่าร้อยปี เป็นแหล่งเรียนบรรเลงดนตรี ขับร้อง การแสดง การละเล่น และการประดิษฐ์เครื่องดนตรีไทย ตนเป็นคนที่เติบโตมากับชุมชนบางลำพู และเห็นภาพเก่า ๆ และวิถีชีวิตผู้คนที่อยู่บริเวณโดยรอบบางลำพูและเห็นเสน่ห์ชุมชนที่เติบโตผ่านยุคสมัยต่าง ๆ มาอย่างช้านาน และเนื่องจากเป็นชุมชนที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาชุมชนที่อยู่ริมน้ำทุกชุมชนรวมถึงชุมชนบางบลำพูเองก็จะมีวิถีชีวิตของเขา และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่เราสามารถบอกเล่าได้ ดังนั้นตนขอเข้าประเด็นเลยว่าการที่กทม.กำลังจะมีโครงการสร้างถนนบนแม่น้ำเจ้าพระยาตนขอยืนยันเลยว่ามันทำไม่ได้ เพราะการก่อสร้างขนาดใหญ่แบบนั้นจะทำให้แม่น้ำแคบลง รวมถึงวิถีชุมชนริมน้ำก็จะหายไป

ประธานชุมชนบางลำพูกล่าวเพิ่มเติมว่า มันไม่ใช่ไม่มีตัวอย่างให้เห็นว่าการพัฒนาของ กทม.ที่ผ่านมานั้นมีผลกระทบกับชาวบ้านอย่างไร ซึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในชุมชนเราเลยก็คือการสร้างถนนเลียบแม่น้ำบริเวณสวนสันติชัยปราการก็ยังพบข้อบกพร่องในหลาย ๆ ด้าน ไม่มีการดูแล ไม่มีการจัดสรรให้ใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม อุปกรณ์บนสะพานก็ชำรุดผุพัง การทำความสะอาดก็ไม่มีขยะเต็มไปหมด และทำให้เกิดการมั่วสุมในเวลากลางคืน ทำให้ปัจจุบันนี้ ไม่มีใครไปเดินถนนบริเวณริมน้ำ และสะพานตรงนั้นมีปัญหาอาชญากรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนต้องขอกำลังทหารมาดูแลรักษาความปลอดภัย นี่แค่การสร้างสะพานขนาดย่อมยังเกิดปัญหากับชุมชนมากขนาดนี้ แล้วถ้าจะมีการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาขนาดใหญ่ปัญหาจะเกิดกับชุมชนมากมายขนาดไหน กทม.จะบริหารจัดการในการดูแลอย่างไร ความปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนจะเป็นรูปแบบใด ใครจะเป็นคนดูแลรักษาความสะอาด นี่คือคำถามที่เราเห็นจากสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว

“ดิฉันคิดว่าสิ่งที่กทม.ควรทำจริง ๆ ตอนนี้คือการดูแลและพัฒนาชุมชนริมน้ำที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ มีคำพูดที่ว่า แม่น้ำเจ้าพระยา หล่อเลี้ยงชีวา มากว่า 700 ปี ชุมชนริมน้ำเจ้าพระยาไม่ใช่วาเขาเพิ่งเกิดขึ้นมา แต่เขาเกิดกันมาแล้วกว่าร้อย ๆ ปี และสิ่งที่ดิฉันเข้าใจมาตั้งแต่เกิดคือการทำถนนนั้นต้องทำบนบก และในแม่น้ำต้องเป็นทางสัญจรของเรือ ไม่ใช่การนำถนนบนบกมาลงในแม่น้ำ ซึ่งผิดหลักการ โครงการถนนบนแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไม่มีความชัดเจนนี้ มองแล้วก็ไม่ได้เกิดประโยชน์กับชาวบ้านชุมชนไหนเลยแบบนี้ กทม.เองไม่ควรทำสิ่งที่กทม.ควรทำคือกาพัฒนาชุมชนริมน้ำให้เขาคงอัตลักษณ์ของเขาไว้จะดีกว่า ดังนั้นกทม.ควรยุติโครงการ และให้สอบถามคนในชุมชนว่าเขาต้องการอะไร และออกแบบความต้องการของชุมชนให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์อย่างแม่น้ำอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนนั่นถึงจะเป็นการพัฒนาที่ถูกต้องที่สุด”นางอรศรีกล่าว

สำหรับการจัดงานเทศกาลริมน้ำบางกอกในครั้งนี้นอกจากจะมีเวทีเสวนาหัวข้อ “พัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างไรให้เป็นธรรมและยั่งยืน” แล้วยังมีการจัดออกร้านของดีของเด่นจาก 8 ชุมชนรอบริมน้ำเจ้าพระยา ซึ่งประชาชนทุกคนที่เข้าร่วมงานจะได้เรียนรู้วิถีของชุมชนริมน้ำผ่านการจำหน่ายของดีของเด่นของชุมชนต่าง ๆ เหล่านี้ แล้วยังมีกิจกรรม แสดงเจตนารมณ์ในการพัฒนาและปกป้องแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างยั่งยืนร่วมกันของชาวชุมชนริมน้ำและคนไทยทุกคนผ่าน กิจกรรม #mychaophraya “วาดเจ้าพระยาในแบบที่ฉันฝัน” บนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ และการ การแสดงดนตรี Acoustic และการบอกเล่าความรู้สึกของศิลปินที่มีต่อแม่นำเจ้าพระยา โดยศิลปินหลากหลายท่านอาทิ คุณมาโนช พุฒตาล , คุณเป็ก บลูสกาย, คุณเล็ก สุรชัย , คุณน้อย กฤษฎา สุโกศล แคลปป์ & คุณสุกี้ พร้อมครอบครัว ศุโกศล พร้อมศิลปินรับเชิญพิเศษ คุณบอย โกสิยพงษ์ โป้ โยคีเพลย์บอย Mariam B5 โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมเปิดการแสดง

อดีตนายกอานันท์ ปันยารชุน ระบุการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่บนแม่น้ำเจ้าพระยาต้องฟังเสียงชุมชนและยึดผลประโยชน์ของชุมชนเป็นที่ตั้ง เน้นพัฒนาให้ตรงจุดไม่ทำลายวิถีชีวิตชาวบ้าน เปรียบเจ้าพระยาเป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนไทยที่ต้องรักษาไว้

“ผมรักเจ้าพระยา การที่เป็นเมืองที่ทันสมัย ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องมีตึกรามบ้านช่องไปเปรียบเทียบกับนิวยอร์ก ชิคาโก หรือ เซี่ยงไฮ เมื่อไหร่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเห็นถึงคุณค่าของการเป็นเมือง ที่ไม่ใช่เมืองใหม่ เมืองที่ทันสมัย แต่เป็นเมืองที่น่าอยู่ เป็นเมืองที่ร่มเย็น ไม่ใช่หากต้นไม้ไปกีดขวางเสาไฟฟ้าจะต้องตัดต้นไม้ก่อน จะสร้างถนนก็ตัดต้นไม้ ขยายถนนก็ต้องถมคลองก่อน” นายอานันท์ กล่าว

นายอานันท์ กล่าวด้วยว่า แม่น้ำเจ้าพระยามีความหมายมาก หากเปรียบบางกระเจ้าเป็นปอดของกรุงเทพฯ แม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนกรุงเทพฯ และคนไทยโดยทั่วไป ทำไมในความเป็นสมัยใหม่จะต้องทำลายของเก่า ทำลายชีวิต ชุมชน ทำลายความสงบ ซึ่งส่วนตัวอยากเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ไม่มีสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ออกไปในแม่น้ำ อยากเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ใสสะอาด เราจึงต้องเรียกร้องความสงบกลับมา

“สิ่งที่เขาสร้างขึ้นใหม่ ขอร้องเถอะ เห็นแก่จิตใจประชาชนบ้าง เห็นกับวิถีชีวิต ประชาชน เห็นกับสิ่งที่เขาหวงแหนมาตลอดชีวิต เขาเกิดที่นี่ใช้ชีวิตที่นี่ ทำไมต้องสร้างนู้นสร้างนี่ขึ้นมา โดยไม่เห็นความยั่งยืน หรือความบริสุทธิ์ผุดผ่องของโบราณหรือไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่เป็นประเพณีนิยมหรือ สิ่งที่ก่อให้เกิดวิญญาณของคนกรุงเทพ และคนไทย ทำไมถึงต้องไปเบียดเบียนสิ่งแวดล้อม เบียดเบียนคนหาเช้ากินค่ำ สังคมอยู่ไม่ได้ถ้าทุกคนถูกลืม ถูกตัดหางปล่อยวัด คนพวกนี้เขามีจิตใจนะ และที่เราทุกคนต้องมีต่อไปคือความหวัง ๆ ว่าการพัฒนาเมืองนั้น คนอยู่ร่วมได้กับธรรมชาติ วิถีชีวิตเก่าต้องผสมผสานกับใหม่ การเดินไปสู่ในอนาคตถ้าทำลายสิ่งเก่ามันจะเป็นอนาคตที่ไม่สดใส” อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.