Posted: 09 Aug 2017 11:17 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ ออกแถลงการณ์ชี้โครงสร้างองค์กร ตร. มีระบบการบังคับบัญชาแบบทหาร เป็นเหตุสำคัญให้พนักงานสอบสวนไม่มีอิสระ แนะคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจแยกงานสอบสวนออกจาก สตช. ให้อัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญ

9 ส.ค. 2560 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร. หรือ Police Watch) ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 4/2560 เรื่อง ขอให้คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจดำเนินการตามความต้องการของประชาชน ในการแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจ และให้อัยการมีอำนาจตรวจสอบ ควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียน

แถลงการณ์ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญ ได้ออกคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 5 ด้าน พิจารณาแนวทางปฏิรูป โดยด้านสำคัญที่สุดคือ การบังคับใช้กฎหมายและการสอบสวน ซึ่ง ดร.สมคิด เลิศไพทูรย์ โฆษกคณะกรรมการฯ ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า คณะกรรมการมีแนวทางพิจารณาให้ระบบงานสอบสวนมีความเป็นอิสระในลักษณะเดียวกับศาล แต่จะยังคงให้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นั้น

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ เห็นว่า ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดโครงสร้างองค์กร สายงานและระบบการบังคับบัญชาแบบมีชั้นยศและวินัยแบบทหาร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พนักงานสอบสวนไม่มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามพยานหลักฐานและกฎหมาย เนื่องจากต้องปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด ผู้ไม่เชื่อฟัง ก็เกิดความหวาดหวั่นว่าอาจถูกกลั่นแกล้งทั้งจากการแต่งตั้งโยกย้ายรวมทั้งการลงโทษทางวินัยได้โดยง่าย

ฉะนั้น การยังให้งานสอบสวนอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีระบบการปกครองมีชั้นยศแบบทหาร ไม่ว่าจะออกแบบอย่างไร ผู้ปฏิบัติก็จะไม่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรมอย่างแท้จริง อีกทั้งเป็นการหน่วงรั้งการปฏิรูประบบงานสอบสวนที่ล้าหลังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนไปอีกนาน

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ เรียกร้องกับคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปฯ ด้วยว่า การคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดตามความต้องการของประชาชน โดยแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้อยู่ในระบบข้าราชการพลเรือน รวมทั้งให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนในคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียนตั้งแต่เริ่มคดี ตามที่สำนักวิจัยนิด้าโพลได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนรายงานเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า 1. ร้อยละ 69.75 ต้องการให้แยกงานสอบสวนออกจากตำรวจเพื่อให้มีหลักประกันความยุติธรรม 2. ร้อยละ 79.8 ต้องการให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนในคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียน และ 3. ร้อยละ 90.31 ต้องการให้มีการบันทึกภาพและเสียงการสอบปากคำบุคคล

อนึ่ง ประเด็นการทำให้งานสอบสวนมีความเป็นอิสระนั้น เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มพนักงานสอบสวนที่รวมตัวกันจัดตั้งสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติออกแถลงการณ์เรียกร้องให้แยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยเหตุผลว่าจะทำให้พ้นจากระบบการปกครองบังคับบัญชาแบบมีชั้นยศ เป็นช่องทางให้ตำรวจผู้ใหญ่ใช้เป็นเครื่องมือในการทุจริตรับส่วยสินบนรวมทั้งการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

"คป.ตร.จึงขอให้คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจตระหนักถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนอันเนื่องมาจากปัญหางานสอบสวนที่ยังคงอยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรับฟังความคิดเห็นเสียงเรียกร้องทั้งของประชาชนและพนักงานสอบสวนผู้ปฏิบัติงาน ดำเนินการปฏิรูปโดยแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญตามกับหลักสากลเช่นนานาอารยะประเทศด้วย" แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ ระบุตอนท้าย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.