ชัยภูมิ ป่าแส

Posted: 16 Mar 2018 08:59 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา รายงาน

ชวนดูบทเรียนของสังคมไทยจากระบบสอบสวนที่ญาติเข้าไม่ถึงหลักฐาน เจ้าหน้าที่ปกป้องกันเอง ความกลัวเจ้าหน้าที่สะท้อนรอยร้าวในชุมชน และแผลใจที่ยังไม่ตกสะเก็ด ชัยภูมิตายกระทบครอบครัวและชุมชน เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี ที่ทหารยิงนักกิจกรรมลาหู่เสียชีวิต

วันที่ 17 มี.ค. ของปีที่แล้วเป็นวันเสียชีวิตของชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาวลาหู่ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิตที่ด่านบ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยอ้างว่าชัยภูมิขัดขืนการตรวจค้นรถของเจ้าหน้าที่ หลังตรวจสอบรถ พบห่อยาเสพติดจำนวน 2,800 เม็ดซุกซ่อนอยู่ในกรองอากาศ

การเสียชีวิต และกระบวนการทางกฎหมายที่ดำเนินต่อหลังจากนั้นมาจนถึงวันนี้ ทำให้หนึ่งปีที่ผ่านมาเป็นปีที่สังคมมองเห็นความคลุมเครือและปริศนาบนความตายของเด็กหนุ่มลาหู่จนเป็นหนึ่งปีที่กระบวนการพิสูจน์หลักฐาน กระบวนการสอบสวน วัฒนธรรมการปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐและบรรทัดฐานการใช้อาวุธจากภาษีประชาชนฆ่าประชาชน ต่างถูกท้าทายจากข้อวิจารณ์ของสังคมอย่างต่อเนื่อง

แม้ดินกลบหน้าชัยภูมิแล้ว แต่ข้อสงสัยและความคิดถึงก็ตลบขึ้น ประชาไทคุยกับสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความของครอบครัวชัยภูมิในคดีไต่สวนการตาย และไมตรี จำเริญสุขสกุล พี่ชายบุญธรรมของชัยภูมิ ถึงบทเรียนที่สังคมไทยได้รับ ความคืบหน้าการไต่สวนการตายที่สะท้อนเงื่อนงำและบริบทความสัมพันธ์ของชาวลาหู่และเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงความคิดถึงที่ีมีต่อผู้ตาย ในวันที่ไมตรีบอกว่า กรณีการตายของชัยภูมิยังเป็น “คลื่นที่ซัดไปไม่ถึงความยุติธรรม” ไม่ใช่แค่เพื่อรำลึกถึงการจากไปของชัยภูมิผู้จากไปก่อนวัยที่ควรจะเป็น แต่เพื่อรำลึกด้วยว่า คนที่ยังอยู่ก็ยังต้องใช้ชีวิตกับกระบวนการยุติธรรมที่เป็นปริศนาและวัฒนธรรมปกป้องพวกเดียวกันต่อไป



บทเรียนของสังคมไทยจากระบบสอบสวนญาติเข้าไม่ถึงหลักฐาน เจ้าหน้าที่ปกป้องกันเอง

สุมิตรชัยกล่าวว่า สังคมไทยได้บทเรียนจากการตายของชัยภูมิเยอะ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือระบบการสอบสวนที่ไม่เปิดให้เหยื่อ หรือญาติผู้เสียหายเข้าถึงหลักฐาน จะเห็น จะดูได้ต่อเมื่ออยู่ในชั้นศาลเท่านั้น นอกจากนั้น จากหลักฐานที่มีทำให้ตนมีคำถามถึงความจำเป็นเรื่องการวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ นอกจากนั้น การที่ผู้หลักผู้ใหญ่ออกมาปกป้องเจ้าหน้าที่ด้วยการออกมาให้สัมภาษณ์ของ พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพแม่ทัพภาคที่สาม เจ้าของวลี “ถ้าเป็นผมอาจกดออโต้ไปแล้ว” ที่ออกมาปกป้องทหารที่วิสามัญฯ ชัยภูมิ ทำให้ประชาชนทั่วไปกลัวที่จะค้นหาความจริง

“สังคมไทยได้บทเรียนเยอะจากเรื่องนี้ แต่ระบบไม่เปลี่ยน คือกระบวนการหาพยานหลักฐานยังเป็นแบบเดิมอยู่ ทำให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหา พยานหลักฐานเป็นความลับของพนักงานสอบสวนไปเสียหมด ในหลักสากลต้องเปิดหลักฐานให้กับผู้เสียหายหรือญาติผู้ตายที่ถูกวิสามัญ แต่อันนี้ภาพจากกล้องวงจรปิดยังขอดูไม่ได้เลย ในระบบบ้านเรา การรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนกลายเป็นความลับ คู่ความหรือผู้เสียหายเข้าไม่ถึง จะเข้าถึงได้ก็ต่อเมื่อถึงศาลแล้ว”

“รัฐไม่ควรใช้วิธีวิสามัญฯ คือใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นวันนั้น ต่อให้เขา (ชัยภูมิ) ต่อสู้และวิ่งหนีไปก็มีหลายวิธีที่จะจับตัวเขา คุณตามจับเขาวันหลัง หรือออกหมายจับก็ได้ เราพยายามบอกว่าการวิสามัญฯ มันเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชน ตามหลักสากล การจะวิสามัญฯ จะทำได้ต่อเมื่อไม่มีทางเลือกแล้วที่จะดำเนินคดี เช่น เขาต่อสู้ ใช้กำลัง แล้วเราไม่มีทางเลี่ยงก็ต้องป้องกันตัว ก็อย่างที่เจ้าหน้าที่ทหารบอกว่าเขาพยายามป้องกันตัวเพราะเห็นว่าชัยภูมิมีระเบิด แต่จากข้อเท็จจริงที่เราได้มา ระเบิดยังไม่ถอดสลักด้วยซ้ำ หลายอย่างยังคงเป็นปริศนาว่าชัยภูมิมีระเบิดหรือไม่ เพราะพยานก็บอกว่าตอนชัยภูมิวิ่งไปไม่เห็นถืออะไรไว้ แล้วระเบิดมาจากไหน ภาพจากกล้องวงจรปิดก็ไม่เปิดเผย หลักฐานก็เลยคลุมเครือ ทั้งๆ ที่คดีแบบนี้ต้องเอาหลักฐานทั้งหลายมาเปิด โดยเฉพาะให้ญาติผู้ตายมีสิทธิที่จะเข้าถึงพยานหลักฐานเหล่านี้ แต่ตอนนี้ทุกอย่างยังคลุมเครือ และก็เหมือนมีการปกป้องเจ้าหน้าที่ด้วยตามที่เห็นว่าหลังเกิดเหตุ 2-3 วันก็มีการออกมาให้สัมภาษณ์ ประชาชนที่อยากค้นหาความจริงก็ไม่กล้าให้ความจริงได้ง่ายๆ เพราะกลัว พอมีผู้หลักผู้ใหญ่ของประเทศมาบอกว่าทหารถูก แล้วใครจะกล้าออกมาหาความจริง”

“ประเทศไทยก็เป็นภาคีเรื่องการไต่สวนการตาย ชันสูตรพลิกศพ มีหลักสากลของ UN (องค์การสหประชาชาติ) โดยเฉพาะการกระทำของเจ้าหน้าที่ คือเอกชนฆ่ากันก็ว่ากันไปตามกฎหมาย เพราะมันไม่เหมือนกับรัฐที่ใช้อำนาจตามกฎหมายมาฆ่าคน มาตรฐานการสอบสวนจึงต้องสูงกว่าระหว่างเอกชนด้วยซ้ำ เพื่อไม่ให้รัฐใช้อำนาจมากจนเกินไป” สุมิตรชัยกล่าว

รอยร้าวในชุมชนสะท้อนความกลัวเจ้าหน้าที่และแผลใจที่ยังไม่ตกสะเก็ด

“ในพื้นที่ก็มีความกลัวระดับหนึ่ง เพราะเป็นพื้นที่ชายแดน ไม่มั่นใจว่าพยานในเหตุการณ์ที่เราขอให้มีหมายเรียกจะมาหรือเปล่า เพราะพวกเขากลัว อาจจะกลัวการมาให้การที่เป็นปฏิปักษ์กับภาครัฐ”

เป็นคำพูดของสุมิตรชัยเกี่ยวกับอุปสรรคในการทำคดีไต่สวนการตายที่สะท้อนความหวาดกลัวของคนในพื้นที่ที่อาจเป็นผลมาจากบาดแผลที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำมาตลอด

ไมตรีขยายความเรื่องความหวาดกลัวต่อเจ้าหน้าที่ในชุมชนว่า ความตายของชัยภูมิทำให้ชาวบ้านตกอยู่ในความวุ่นวาย แบ่งแยก และไม่สงบสุข

“พวกหนึ่งก็จะบอกว่าเป็นกลุ่มที่บอกว่าไม่ควรต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐ อีกพวกหนึ่งก็จะมองว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินไป ชาวบ้านก็ไม่สงบสุขแล้ว มีแบ่งพรรคแบ่งพวก อีกส่วนหนึ่ง ชุมชนก็วุ่นวาย คนในชุมชนบางคนก็บอกว่าเพราะชัยภูมิเลยทำให้วุ่นวาย มีเจ้าหน้าที่ มีทหารมาลงบ่อย บางคนที่ไม่มีบัตรประชาชนพอเจ้าหน้าที่มาก็กลัวกัน เจ้าหน้าที่พยายามหาผ้าห่ม เสื้อผ้ามาแจก ชาวบ้านก็ไม่ไป ไปยัดเยียดแม่ชัยภูมิไปรับผ้าห่มบ้าง พอแม่ชัยภูมิไม่ไปเจ้าหน้าที่ก็ไปหาถึงบ้านเลยทำให้ชาวบ้านกลัว”

ชุมชนบ้านกองผักปิ้งที่เป็นที่อยู่อาศัยของชัยภูมิ เคยมีความบาดหมางกับทางเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีทหารบุกรุกพื้นที่ทำกินของชาวบ้านเพื่อปลูกป่า ทั้งยังใช้กำลังเข้าทำร้ายชาวบ้านที่จะใช้พื้นที่ดังกล่าวทำการเกษตรเมื่อ พ.ศ. 2548 (อ่านที่นี่) ไมตรีเองก็เคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทหาร จากกรณีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กมีเนื้อหาว่าได้มีเจ้าหน้าที่ทหารไปตบหน้าชาวบ้านหลายคน ซึ่งมีทั้งเด็กและคนแก่ ขณะนั่งผิงไฟอยู่ที่บ้านกองผักปิ้ง อำเภอเชียงดาว ในช่วงคืนวันที่ 31 ธ.ค.57 และยังได้นำคลิปวีดีโอเป็นภาพเหตุการณ์ทหารโต้เถียงกับประชาชนเมื่อวันที่ 1 ม.ค.58 มาเผยแพร่ (อ่านรายละเอียดคดี และประมวลสรุปการสืบพยานในศาล)

ปัจจุบัน ไมตรีต้องซ่อนตัวอยู่ที่อื่น ไม่ได้กลับไปอยู่ที่บ้านเนื่องจากกลัวว่าจะมีเหตุร้าย ช่วงที่ชัยภูมิเสียชีวิตใหม่ๆ ไมตรีถูกข่มขู่จากมือนิรนามด้วยการวางกระสุนปืนไว้ที่หน้าบ้าน รวมทั้งยังมีคนขี่มอเตอร์ไซค์มาถ่ายภาพบ้านไว้ด้วย

“ตอนนี้ไม่มีคนมาข่มขู่แล้ว แต่ถ้ากลับไปอาจจะมีก็ได้ เพราะตอนนี้หลบตัวอยู่ในเมือง กลัว ไม่กล้ากลับ” ไมตรีกล่าว

สีละ จะแฮ ประธานสมาคมลาหู่ ให้ข้อมูลว่ามีเหตุขัดแย้งระหว่างชาวลาหู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารเป็นระยะ ในหน้าเพาะปลูกจะมีชาวลาหู่ถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมากเนื่องจากไปทำการเกษตรในพื้นที่ปัจจุบันกลายเป็นป่าสงวนหรืออุทยาน บางทีทหารก็ทำร้ายชาวบ้าน โดยระบุว่า เมื่อไม่นานมานี้ มีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ใช้กำลังทำร้ายชาวบ้านจนต้องเข้าโรงพยาบาล

ประธานสมาคมชาวลาหู่กล่าวเพิ่มเติมว่าตนไม่ไว้ใจทหาร ตำรวจ บางทีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหารและตำรวจก็เข้ามาสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา รู้สึกว่าทหารตำรวจไม่สามารถพึ่งพาได้ ในขณะที่ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์รู้สึกว่าได้พึ่งพระเมตตาของในหลวงพระองค์ก่อน

ชาติพันธุ์ลาหู่เป็นเพียงหนึ่งในหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานตามชายแดนไทย - พม่า ที่ได้รับผลกระทบในชีวิตและทรัพย์สินจากนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลกรุงเทพฯ ในช่วงที่มีการปราบปรามยาเสพติดด้วยนโยบาย “สงครามต่อต้านยาเสพติด” ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อช่วงปี 2546 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของชาวลาหู่ที่มีถิ่นฐานในบริเวณที่มีการขนยาเสพติดข้ามแดนชุกชุม รายงานพิเศษ “ขยี้เกลือบนปากแผล: ชาวลาหู่กับ 10 ปี แห่งบาดแผลของอาชญากรรมโดยรัฐ” เผยแพร่ในประชาไท ชี้ให้เห็นว่าในช่วงการปราบปรามยาเสพติด เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจใช้ความรุนแรงคุกคามชาวลาหู่ด้วยการบุกรุกเคหสถาน ยึดทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย อุ้มหาย จับกุมคุมขังโดยพลการ รวมไปถึงการสังหาร ในอดีต สีละเองก็เคยถูกเจ้าหน้าที่คุมขังตัวเอาไว้ในหลุมที่ค่ายของทหารพราน

ชัยภูมิตายกระทบครอบครัวหนัก ความคิดถึงที่ไปไม่ถึงความยุติธรรม
ไมตรีเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า เหตุที่ชัยภูมิเรียกไมตรีว่าพี่ เป็นเพราะสมัยก่อนชัยภูมิและครอบครัวมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่สู้ดีและไม่มีที่อยู่ ชัยภูมิจึงมาพักพิงที่บ้านไมตรีอยู่นาน และเรียกไมตรีว่าพี่มาเสมอ พี่บุญธรรมของชัยภูมิเล่าให้ฟังว่าการตายของชัยภูมิทำให้ครอบครัวแย่ลง

“ครอบครัวก็แย่ ผมก็ไม่ได้กลับบ้านเลย แม่ชัยภูมิก็ลำบากเพราะมีน้องชายของชัยภูมิอีกคน พอเสียชีวิตก็ไม่มีใครเลี้ยงดูต่อ น้าสาวชัยภูมิ (ฉันทนา ป่าแส) ก็อยู่ในเรือนจำ ต้องสู้คดียาเสพติด”


ความคืบหน้า? คดีชัยภูมิ ป่าแส จนท.บุกค้นหมู่บ้าน รวบตัวญาติ อ้างเป็นผู้นำยาบ้าไปส่ง

“ทุกวันนี้ก็ยังคิดถึงเขานะ พอเขาตายไปหลายๆ อย่างก็เปลี่ยนไปทั้งชุมชน ครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัว น้องชายเขาก็ไม่ได้เรียนต่ออีกเลย”

ไมตรียังคงคิดถึงช่วงชีวิตที่เคยมีชัยภูมิอยู่ และยังได้สะท้อนถึงบทเรียนที่สังคมไทยควรได้รับรู้จากการตายของนักกิจกรรมลาหู่คนนี้

“ความทรงจำต่อชัยภูมิก็เป็นเรื่องที่ดี ชัยภูมิเป็นเด็กขยัน รับผิดชอบ จะเป็นคนหนึ่งที่มีน้ำใจ เสียสละเพื่อเพื่อน พี่น้องและทุกคนได้ เวลาทำงานก็คิดถึงเขา มีกิจกรรมก็จะเห็นเขาขึ้นเวทีพูด ร้องเพลงตลอด จากนี้ไปก็จะไม่ได้ยินเสียงร้อง เสียงกีตาร์ ไม่ได้ยินเขาพูดเรื่องสิทธิ จะได้ยินก็แต่เพลงที่เขาเคยร้องเอาไว้ว่า คนไม่มีสัญชาติไม่ใช่คนที่ไร้ตัวตน”

“เขาเป็นคนขยัน ชอบช่วยคนอื่น อยู่นิ่งไม่เป็น เดี๋ยวก็ต้องไปทำโน่นนี่ ช่วยคนนั้นคนนี้ เดี๋ยวก็ไปตั้งโซลาร์เซลล์ให้บ้านนี้ เดี๋ยวก็ไปรับจ้างบ้านนั้น”

“จะถูกจะผิดก็ให้กฎหมายตัดสิน ไม่ใช่เอาตัวเองเป็นกฎหมายแล้วจะฆ่าใครก็ได้ ผมคิดว่าผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเมืองถึงเวลาแสดงจุดยืนว่าเป็นที่พึ่งพาของชาวบ้านได้ ตอนชัยภูมิถูกฆ่าตาย ผมคิดว่าตำรวจจะช่วยเรา แต่ก็ไม่ใช่ กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนพยายามปกป้องกันเอง ทั้งๆ ที่ความจริงก็เคลียร์กันได้ง่ายนิดเดียวด้วยการเปิดภาพกล้องวงจรปิด แล้วเขาก็มาอ้างว่าภาพกล้องวงจรปิดไม่มีซึ่งมันฟังไม่ได้”

“ผมเห็นหลายข่าวที่ทหารถูกซ้อม ถูกฆ่า เป็นเรื่องเป็นราวพักหนึ่งแล้วก็จบด้วยการชดเชย แต่กรณีชัยภูมิก็มีเป็นการช่วยเหลือ พูดคุยในหมู่ผู้น้อย ส่วนน้อยของสังคม จัดกิจกรรมกัน เป็นคลื่นที่ซัดไปไม่ถึงความยุติธรรม”

“ทุกวันนี้ผมกลัวก็จริง แต่วันนี้ผมไม่ถอยแล้ว” ไมตรีทิ้งท้าย

ใครคือชัยภูมิ ป่าแส และเส้นทาง (ทางกฎหมาย) หลังความตาย

ชัยภูมิ ป่าแส หรือ "จะอุ๊" เป็นชาวลาหู่วัย 17 ย่าง 18 ปี ถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (บัตรเลข 0) ที่ระบุว่าอายุ 21 ปี เนื่องจากความผิดพลาดของข้อมูลตั้งแต่การสำรวจ กำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม

​ตั้งแต่เด็ก ชัยภูมิเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มรักษ์ลาหู่ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการรวมกลุ่มเยาวชนในกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ และกิจกรรมวัฒนธรรมอื่นๆ เพื่อให้ห่างไกลยาเสพติด ผลงานเพลงของชัยภูมิ ได้แก่เพลงเพื่อคนไร้สัญชาติ ชื่อ “จงภูมิใจ” ผลงานภาพยนตร์สั้นได้แก่การเป็นทีมงานภาพยนตร์เรื่อง “เข็มขัดกับหวี” (รางวัลช้างเผือกพิเศษดีเด่น เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 16 จัดโดยมูลนิธิหนังไทย) และ "ทางเลือกของจะดอ" (รางวัลชมเชยรัตน์ เปสตันยี จากเทศกาลเดียวกัน) รวมถึงร่วมเป็นทีมงานในสารคดีที่ผลิตโดยกลุ่มรักษ์ลาหู่ เช่นรายการบ้านเธอก็บ้านฉัน ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส นอกจากนี้ ชัยภูมิยังได้เป็นผู้นำในการฟื้นฟูการเต้นแจโก่ของชาวลาหู่จนได้รับการยอมรับในหมู่บ้าน เป็นผู้นำคณะเด็กและเยาวชนกลุ่มรักษ์ลาหู่จากบ้านกองผักปิ้งออกแสดงในหลายพื้นที่ ล่าสุด ได้ร่วมกับศิลปินญี่ปุ่นจากเมืองโอซากาทำนิทานเพลงเรื่องขนมออฟุและตำนานภาษาลาหู่ มาจัดแสดงในงาน ดี ต่อ ใจ ณ แพร่งภูธร เมื่อวันที่ 11-12 มีนาคม 2560

ชัยภูมิเป็นหนึ่งในกำลังเยาวชนที่ร่วมรณรงค์เรียกร้องการแก้ปัญหาภาวะไร้สัญชาติของคนชาติพันธุ์ เป็นแกนนำในการจัดค่ายเยาวชนชนเผ่าและได้รับเลือกเป็นประธานเครือข่ายต้นกล้าเยาวชนพื้นเมือง และเป็นตัวแทนเครือข่ายฯ เข้าร่วมในการประชุมสัมมนาในระดับประเทศมาหลายครั้ง ชัยภูมิเคยให้สัมภาษณ์หลายต่อหลายครั้งว่า ตนเติบโตมาในหมู่บ้านที่แวดล้อมด้วยปัญหายาเสพติดและเคยเป็นเด็กเกเรมาก่อน การร่วมกิจกรรมกับรักษ์ลาหู่ได้ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป ห่างไกลจากสิ่งชั่วร้าย ได้มีโอกาสเอาใจใส่เลี้ยงดูน้องชายและแม่มากขึ้น เขามีความฝันอยากให้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านมีชีวิตที่ดี และตนเองอยากเรียนจบปริญญาตรีและกลับมาเป็นครูสอนหนังสือเด็กในหมู่บ้าน

ปัจจุบัน คดีไต่สวนการตายของชัยภูมิยังคงดำเนินต่อไป สุมิตรชัยให้ข้อมูลจากการไต่สวนการตายเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า รายงานที่พนักงานสอบสวนส่งให้อัยการนำมาส่งศาลมีใจความว่า ทหารส่งตัวเครื่องบันทึกภาพและฮาร์ดดิสก์ให้ตำรวจเมื่อ 25 เม.ย. 2560 ตำรวจก็ส่งให้กองพิสูจน์หลักฐานตั้งแต่วันนั้น แล้วก็รายงานผลกลับมา ให้ความเห็นว่า “ไม่พบภาพในวันเกิดเหตุคือวันที่ 17 มี.ค. 2560 ในตัวฮาร์ดดิสก์”

สุมิตรชัยเคยขอให้ศาลออกหมายเรียกขอภาพจากกล้องวงจรปิดไปยังหน่วยที่ตั้งอยู่ที่ด่านรินหลวงอันเป็นที่เกิดเหตุ และทำสำเนาให้กับ พล.ท. วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาพที่ 3 ที่เคยระบุว่าได้เห็นภาพจากกล้องวงจรปิดแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ศาลไม่อนุญาตให้เรียกมา โดยอ้างว่าข้อเท็จจริงที่นำสืบมีเพียงพอที่จะออกคำสั่งได้แล้ว หมายถึงพยานหลักฐานที่นำสืบนั้นเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ภาพจากกล้องวงจรปิด เนื่องจากหน้าที่การนำสืบของศาลไม่ใช่การตัดสินว่าใครผิดหรือถูก เพราะเป็นการไต่สวนคดีการตาย โดยหลังจากไต่สวนเสร็จ ศาลจะมีคำสั่งศาลว่าผู้ตายเป็นใคร อะไรเป็นเหตุแก่การตาย แล้วจึงจะส่งสำนวนให้พนักงานสอบสวนกับอัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อไป

การพิสูจน์อัตลักษณ์บนอาวุธในที่เกิดเหตุที่ทหารอ้างว่าชัยภูมิใช้ในการต่อสู้ ได้แก่มีดและระเบิด สุมิตรชัยให้ข้อมูลว่า ไม่พบลายนิ้วมือที่มีด ส่วนที่ระเบิดพบว่ามีดีเอ็นเอบางส่วนที่พบบนตัวระเบิดเป็นชนิดเดียวกับดีเอ็นเอของชัยภูมิ ตรงด้ามจับไม่พบ แต่ก็มีดีเอ็นเอของหลายคนปรากฏอยู่บนระเบิด

การไต่สวนคดีการตายครั้งก่อนหน้านี้ก็ไม่ปรากฏภาพจากกล้องวงจรปิดจากบัญชีพยานฝ่ายอัยการ แม้ที่ผ่านมามีกระแสเรียกร้องให้กองทัพเปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิดที่ด่านตรวจบ้านรินหลวงในวันที่ชัยภูมิเสียชีวิต โดยเชื่อว่าจะเป็นกุญแจสำคัญต่อรูปคดีการตายของชัยภูมิ

ปัจจุบันมีผู้ที่ระบุว่าเห็นภาพจากกล้องวงจรปิดแล้วสองคน ได้แก่ พล.ท.วิจักขฐ์ แม่ทัพภาคที่สาม เจ้าของวลี “ถ้าเป็นผมอาจกดออโต้ไปแล้ว” และ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกที่กล่าวว่า ได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้วแต่ไม่สามารถตอบโจทย์ทั้งหมดได้ ต้องปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไปเพราะถือว่าเป็นพยานหลักฐานชิ้นหนึ่ง

ทนายความของครอบครัวชัยภูมิยังให้ความรู้ว่า ขั้นตอนไต่สวนการตายคือการที่ศาลไต่สวนสรุปการตาย ว่าผู้ตายเป็นใคร ตายอย่างไร เจ้าพนักงานเป็นคนทำให้ตายหรือไม่ แต่ยังไม่ระบุว่าผิดหรือไม่ผิด หลังจากไต่สวนการตายเสร็จสิ้น ศาลก็จะมีคำสั่ง อัยการก็จะส่งคำสั่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องตามคดีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาเรื่องการฆ่าคนตายของเจ้าหน้าที่ที่ยิงชัยภูมิหรือไม่ หมายถึงว่าจะสั่งฟ้องคดีฆ่าหรือไม่ โดยการตั้งสำนวนคดีวิสามัญฯ จะตั้งคดีไว้สองสำนวน คือสำนวนฆ่า กับสำนวนไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ แต่สำนวนการฆ่าจะยังไม่สั่งฟ้องจนกว่าการไต่สวนชันสูตรพลิกศพจะจบ แล้วจึงค่อยรวบรวมหลักฐานให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ทหารหรือไม่ ส่วนคดียาเสพติดนั้นจบลงพร้อมชีวิตชัยภูมิแล้ว แต่ก็ยังมีการจับกุมญาติของชัยภูมิไปพิจารณาคดีอยู่

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.