จากซ้าย-สุรพศ ทวีศักดิ์, พิพัฒน์ พสุธารชาติ และวิจักขณ์ พานิช

Posted: 13 Mar 2018 09:29 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

พุทธไทย 1 ใน 3 สถาบันหลัก เครื่องมือรัฐในการสร้างอำนาจนำทางวัฒนธรรมให้แก่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย กับแนวคิดการแยกศาสนาออกจากรัฐ เพื่อนำพุทธศาสนาออกจากกรงขัง เพิ่มพื้นที่เสรีภาพการตีความ ยืนข้างคนเล็กคนน้อย และเพื่อความเป็นธรรมระหว่างศรัทธาต่างๆ สุรพศเชื่อจะช่วยลดความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมได้

มีประวัติศาสตร์ยืดยาวเกี่ยวกับการยกพุทธศาสนาขึ้นเป็นสถาบันหลักของชาติ พุทธศาสนาอาศัยรัฐเพื่อปกป้องตนเองจากการปนเปื้อน การธำรงความบริสุทธิ์ หรืออีกนัยหนึ่งคือความพยายามรักษาสถานะอำนาจในการตีความคำสอนเอาไว้ อีกด้าน รัฐหรือพูดให้เจาะจงก็คือฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ฉวยใช้ประโยชน์จากพุทธศาสนาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจนำของตน เป็นจุดยืนที่ตรงข้ามกับแนวทางประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน

แนวคิดการแยกรัฐออกจากศาสนาจึงเป็นแกนหลักของการพูดคุยในหัวข้อ ‘จากพุทธศาสนาแห่งรัฐ สู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ’ ชื่อเดียวกันกับหนังสือที่เขียนโดยสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา ที่จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ร้านหนังสือบุ๊คโมบี้ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

สุรพศ อธิบายเนื้อหาของหนังสือโดยสรุปว่า หนังสือเล่มนี้คือการเปลี่ยนกรอบคำถามในประเด็นความสัมพันธ์เดิมๆ ระหว่างรัฐกับศาสนาพุทธที่ว่าจะสนับสนุนกันและกันได้อย่างไร ไปสู่กรอบคิดเรื่อง Secular หรือการแยกศาสนาออกจากรัฐ โดยเริ่มจากการอธิบายความเปลี่ยนแปลงของพุทธศาสนาในยุคต้นและยุคกลางว่าพุทธศาสนามีสถานะอย่างไรในโครงสร้างรัฐ

พุทธศาสนาในฐานะเครื่องมือของรัฐและฝ่ายอนุรักษ์นิยม

“จากยุคพระเจ้าอโศกจนถึงยุคต้นรัตนโกสินทร์ ศาสนากับรัฐผูกพันกันมากขึ้น มีการอ้างว่าศาสนาต้องปรับตัวตามรัฐที่เปลี่ยนไป ผมก็มีคำถามว่าแล้วพอรัฐเป็นประชาธิปไตย ทำไมพุทธศาสนาไม่อยากปรับตัวแยกจากรัฐ”

นั่นเป็นเพราะการปฏิรูปศาสนาครั้งรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 6 ได้มีการสร้างองค์กรศาสนาของรัฐขึ้นและผนวกรวมศาสนาเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของชาติ จนเกิดภาวะติดล็อกที่แม้แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็ไม่เกิดคำถามเรื่องการแยกศาสนาออกจากรัฐ และด้วยความไม่ต่อเนื่องของการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทย การต่อสู้ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายก้าวหน้า ซึ่งลงเอยด้วยการที่ฝ่ายแรกสามารถเพิ่มพูนอำนาจของตนในรัฐธรรมนูญ ควบคุมกลไกอื่นๆ ของรัฐ และสามารถดึงศาสนาพุทธให้สนับสนุนอำนาจนำทางวัฒนธรรมหรืออุดมการณ์ราชาชาตินิยม อันสะท้อนที่ทางของศาสนาพุทธที่ไม่สอดคล้อง ไม่ลงตัวกับโลกสมัยใหม่

“การตีความพุทธศาสนาเกี่ยวกับประชาธิปไตยมี 2 แบบ ช่วงแรกตีความหลักคำสอนศาสนาพุทธสนับสนุนเสรีภาพ ความเท่าเทียม เป็นการตีความของปรีดีและยุคแรกของท่านพุทธทาส แต่พอช่วงบริบท 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ท่านพุทธทาสตีความพุทธศาสนาเป็นปฏิกิริยากับเสรีประชาธิปไตย และพูดถึงเรื่องเผด็จการโดยธรรม ผู้ปกครองต้องมีคุณธรรม เป็นคนดี แต่การตีความศาสนาพุทธสนับสนุนประชาธิปไตยไม่เป็นที่นิยม ไม่มีการสืบเนื่อง”

เมื่อนำแนวคิดการแยกศาสนาออกจากรัฐมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาในปัจจุบัน สุรพศจึงเห็นว่า คำตอบคือต้องแยกศาสนาออกจากรัฐบนหลักการแนวคิดโลกวิสัยหรือ Secular

“งานเล่มนี้ตอบโจทย์เรื่องประชาธิปไตยในความหมายของเสรีภาพและความเป็นธรรมระหว่างความเชื่อต่างๆ ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย ผมต้องการตอบคำถามเรื่องความเปลี่ยนแปลงไปสู่รัฐที่มีความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นในประเด็นความสัมพันธ์ทางศาสนา ถ้าแยกศาสนาออกจากรัฐแล้ว อะไรคือสิ่งที่ผมอยากเห็น ผมคิดว่าเป็นเรื่องความหลากหลายในการศึกษาตีความ ความมีอิสระ เสรีภาพ ศาสนาจะสามารถเข้มแข็งด้วยตัวมันเอง ศาสนาพุทธจะได้ปลดปล่อยตัวเอง ชาวพุทธจะเป็นอิสระ ผมอยากให้เปิดกว้าง อยากให้มีความหลากหลาย มีเสรีภาพมากขึ้น แต่ผมจะไม่มีความหวังที่เป็นคำตอบสำเร็จรูปว่าศาสนาพุทธจะดีขึ้นอย่างไร เพราะก็ขึ้นกับชาวพุทธจะตอบตัวเองด้วย”


รัฐมีหน้าที่ทำให้ประชาชนนิพพานหรือไม่?


ด้านพิพัฒน์ พสุธารชาติ ผู้เขียนหนังสือ รัฐกับศาสนา: บทความว่าด้วยอาณาจักร ศาสนจักร และเสรีภาพ หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนา ตั้งคำถามว่ารัฐมีสิทธิบอกให้ประชาชนต้องนับถือศาสนาหนึ่งศาสนาใดหรือไม่ รัฐมีหน้าที่ทำให้ประชาชนนิพพานหรือไม่ และยกตัวอย่างประวัติศาสตร์อังกฤษว่า

“ในอังกฤษหลังการปฏิรูปศาสนาของมาติน ลูเธอร์ กษัตริย์เป็นคาทอลิก ประชาชนเป็นโปรเตสแตนท์ แต่กษัตริย์ต้องการเปลี่ยนประชาชนเป็นคาทอลิกจึงเกิดการรบราฆ่าฟัน จอห์น ล็อก นักปรัชญาชาวอังกฤษจึงพยายามแก้ปัญหานี้ว่า ถ้ารัฐบอกว่าประชาชนต้องเปลี่ยน ประชาชนบอกว่ายอมเปลี่ยน แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าประชาชนคนนั้นเปลี่ยนจริง รัฐไม่มีทางรู้ได้ ดังนั้น รัฐต้องปล่อยให้ประชาชนเลือกเอง ทุกคนมีความเชื่อของตัวเอง รัฐบาลไม่มีหน้าที่เลือกศาสนาให้ประชาชน”


“แต่ถ้าจะตีความศาสนาให้ยืนข้างคนเล็กคนน้อย ก็ต้องตีความศาสนาใหม่ ตีความให้เข้ากับหลักการสากล ใน Secular ไม่ปฏิเสธสิ่งนี้ แต่ในไทยมันกลับหัวกลับหาง พอพระมาสอนก็จะออกทำนองว่า ประชาธิปไตยต้องมีธรรมะกำกับ มันไปเบลอและลดทอนความหมายของประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ จิตวิญญาณของการแยกศาสนาออกจากรัฐคือเรื่องเสรีภาพ ความเป็นธรรม ระหว่างความเชื่อ รัฐไม่ส่งเสริมความเชื่อใด แต่ถือว่าทุกความเชื่อมีศักดิ์ศรีเท่ากัน แปลว่าการเป็น Secular State กับการเป็นประชาธิปไตยมันสนับสนุนกัน”

จากจุดตั้งต้นที่ว่ารัฐไม่มีสิทธิเข้าไปก้าวก่ายความเชื่อของประชาชน แล้วเหตุใดจึงต้องมีกฎหมายสำหรับพระสงฆ์เป็นการเฉพาะ สิ่งนี้ก่อให้เกิดสภาพที่พระสงฆ์ถูกควบคุมโดยรัฐผ่าน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งครอบงำให้พระสงฆ์ไม่มีอิสระที่จะคิดต่างจากรัฐ แต่ต้องเชื่อฟังรัฐ

“พระพุทธเจ้าที่บรรลุได้เพราะโดนบังคับหรือไม่ แล้วคนที่ต้องอยู่ในกรอบจะบรรลุได้เหรอ พระไตรปิฎกตีความได้แบบเดียวหรือเปล่า แนวทางปฏิบัติมีแบบเดียวเหรอ ทุกคนตีความเหมือนกันหมดเลยเหรอ แต่การตีความทำไม่ได้เพราะกฎหมายบังคับอยู่ คุณต้องเชื่อฟัง ถ้าเราจะทำให้องค์กรของสงฆ์เข้มแข็ง จะต้องไม่ถูกผูกมัด ครอบงำนานจนเกินไป"

“ในอเมริกาเป็นรัฐที่ไม่มีศาสนา แต่ศาสนาเข้มแข็งมาก ปล่อยให้ทุกคนเลือกเอง แข่งขันกัน มีคนนับถือศาสนามากมาย ทำให้คนอเมริการนำศาสนามาใช้ต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างกรณีมาร์ติน ลูเธอร์ คิง แต่ของเรารัฐดีที่สุดตลอด ศัตรูของรัฐต้องจัดการ ถ้าพระสงฆ์ยังอยู่ภายใต้โครงสร้างของรัฐ เราจะมีนักปราชญ์เกิดขึ้นหรือ”

พุทธศาสนาในโลกปิด

วิจักขณ์ พานิช นักวิชาการอิสระด้านปรัชญาศาสนาคนหนึ่งที่กล่าวถึงการแยกศาสนาออกจากรัฐ เขาอ้างอิงคำพูดของอาจารย์ของอาจารย์ขที่ชื่อเชอเกียม ตรุงปะ ว่า ‘โลกที่ปั่นป่วนนี้จะอยู่รอดได้ไม่ใช่เพราะศาสนาแต่เพียงอย่างเดียว ศาสนาอาจไม่ช่วยให้โลกอยู่รอดได้ แต่สิ่งที่จะทำให้โลกอยู่รอดได้คือสิ่งที่เรียกว่าคุณค่าทางจิตวิญญาณ Secular Spirituality สิ่งที่ผมจะสื่อสารกับพวกคุณอาจไม่ใช่เรื่องศาสนา แต่เป็น Secular Enlightenment ถ้าเป็นศาสนาพุทธก็จะเรียกว่า Secular Buddhism’ ซึ่งตัวเขามีความเห็นว่า มีนัยบางที่อาจารย์ชาวทิเบตคนนี้ต้องการบอก นั่นก็คือ มันมีประโยชน์ที่ศาสนาพุทธที่เคยอิงกับกรอบทางศาสนามากๆ จะเปลี่ยนที่ยืน ซึ่งจะทำให้คำสอนทางศาสนธรรมสามารถเข้าไปในชีวิตของคนธรรมดาได้ดีขึ้น โดยการรื้อกรอบคิดของศาสนาออก อันจะทำให้ศาสนธรรมมีพลังในโลกสมัยใหม่มากขึ้น ทว่า...

“การสื่อสารเรื่องศาสนาในเมืองไทยมีบางอย่างที่ผิดปกติ วิธีการสื่อสารคำสอนของศาสนาพุทธบ้านเรามีความเฉพาะกลุ่มมากๆ มีภาษาที่เฉพาะเจาะจง มีโลกของเขาที่เราไม่สามารถเข้าถึงได้ พอเราจะเถียงกับเขา เขาก็จะบอกให้ไปเรียนมาใหม่ ไปอ่านพระไตรปิฎกมาให้ดีๆ ก่อน เราไม่มีสิทธิเถียงเขา ศาสนาพุทธเมืองไทยจึงอยู่ในสภาพที่ไม่มีความท้าทาย เหมือนกับว่ามีความรู้ชุดหนึ่งที่ดีอยู่แล้วและเราต้องการรักษามันไว้ คนที่ไม่รู้ว่าศาสนาพุทธสอนอะไรจึงเป็นปัญหาของคนนั้น

“แต่การเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อสื่อสารให้ดีขึ้นก็จะไม่เกิดขึ้น ผมอธิบายสภาวะนี้ว่าเป็นโลกปิด เป็นบริบททางสังคมที่เกิดจากความเป็นสถาบันของศาสนาพุทธ เวลาคุยเรื่องศาสนาในตะวันตกมันคือการคุยในแบบที่ไม่ใช่สถาบัน เป็นการเคลื่อนไหวของคนธรรมดา การเรียนรู้ของสายครูบาอาจารย์ที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างครูและศิษย์ เป็นแบบที่ยังไม่เป็นสถาบัน แต่การเป็นรัฐสมัยใหม่มันยิ่งทำให้ความเป็นสถาบันของศาสนาพุทธยิ่งใหญ่โตมากขึ้น”

วิจักขณ์ขยายความคำว่าโลกปิดดังนี้ ศาสนาพุทธที่เป็นสถาบันแบบศาสนาผูกโยงกับสถาบันอื่นๆ ได้แก่ สถาบันชาติซึ่งก็คือทหารและสถาบันกษัตริย์ สถาบันหลักเหล่านี้ปลูกฝังให้ประชาชนต้องจงรักภักดีและไม่สามารถโต้เถียงวิพากษ์วิจารณ์ได้ ทำให้เกิดภาวะโลกปิด คือสภาวะที่ต้องการรักษาสถานะของตัวเองให้คงอยู่ ไม่เกิดการเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงใดๆ โลกปิดจึงไม่ต่างจากยุคกลางที่มีความจริงสูงสุดเพียงหนึ่งเดียว ทำให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่เกิดขึ้นและอยู่ภายใต้กรอบคิดของสถาบันเหล่านี้

พุทธไทยกำลังทำลายตัวเอง

จุดนี้ทำให้วิจักขณ์มองพุทธศาสนาในไทยด้วยความเป็นห่วง เป็นยุคเสื่อมของศาสนาพุทธในไทย เนื่องจากไม่สามารถสื่อสาร สนทนากับคนรุ่นใหม่ๆ ได้ นับว่าศาสนายิ่งเป็นเรื่องห่างไกลตัวมากยิ่งขึ้น พระสงฆ์ทำตัวสูงส่งขึ้นทุกวัน ซึ่งจะนำพาให้ศาสนาพุทธเสื่อมลงเรื่อยๆ และทำลายตัวเองในที่สุด

“เวลาเรามองศาสนธรรมหรือชีวิตของพระพุทธเจ้ามีอุดมการณ์ทางการเมืองหรือไม่” วิจักขณ์ชวนตั้งคำถาม “มันมีวาทกรรมว่าศาสนาพุทธไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ผมยังอยากให้ดูว่าตัวคำสอนหรือวิถีชีวิตสะท้อนอุดมการณ์ทางการเมืองหรือไม่ ส่วนตัวผมคิดว่ามันอยู่ที่เราจะมองอย่างไร เช่น เราอาจจะตีความพุทธศาสนาว่าเป็นคำสอนที่พูดถึงเรื่องความทุกข์และการดับทุกข์เท่านั้น เราอาจตีความว่าวิถีชีวิตของพระพุทธเจ้าเป็นคำสอนที่อยู่เคียงข้างผู้ที่มีความทุกข์ คนที่ยากลำบาก ถ้าตีความไปไกลกว่านั้นอีก พระพุทธเจ้าอยู่ข้างคนชายขอบ ถ้าเรามองแบบนี้ ซ้ายทันที ในมุมมองแบบคนที่สนใจศาสนาพุทธแบบไม่เป็นสถาบัน คนในโลกตะวันตกสนใจในแนวทางนี้ มองว่าพระพุทธเจ้าสร้างทางเลือก

“แต่พอมองกลับมาในไทยก็มีคำถามเกิดขึ้นว่า สุดท้ายแล้ว จุดยืนของศาสนาพุทธในไทยมีประโยชน์ต่อใคร หรือกำลังสร้างทางเลือกให้สังคมก้าวหน้า เปลี่ยนแปลงหรือไม่ ศาสนาพุทธอยู่ข้างกลุ่มคนเล็กๆ น้อยๆ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งแนวคิดของพุทธที่เดินเข้าหาคนที่มีความทุกข์ อยู่ข้างคนที่มีความทุกข์ และปลดล็อกให้คนเหล่านั้นลุกขึ้นมายืนด้วยตัวเอง ค่อนข้างสอดคล้องกับแนวทางของโลกสมัยใหม่ที่เรียกว่าจิตวิญญาณมากกว่า”

พุทธศาสานาที่ยืนข้างคนเล็กคนน้อย

สุรพศเสริมว่า ด้วยเหตุที่ศาสนาให้ความชอบธรรมกับอำนาจนำทางวัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันทางการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม และแบ่งปันอำนาจรัฐในการควบคุมต่างๆ เช่น การสอนพุทธศาสนาในโรงเรียน หรือการทำให้เชื่อว่าพระมีบทบาทต้องสอนศีลธรรมนักการเมือง เป็นการกระทำที่ผิดฝาผิดตัว

“ในรัฐ Secular จะตั้งคำถามว่า ชุดศีลธรรมทางการเมืองในรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ไม่ใช่เรื่องศาสนา แนวคิดของริชาร์ด โรบินสัน บอกว่าความดีแบ่งเป็น 2 อย่างคือความดีส่วนบุคคลและความดีสาธารณะ คุณธรรมของนักการเมืองในโลกสมัยใหม่คือคุณธรรมแบบ Secular คือการเคารพหลักอุดมการณ์ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่นำศาสนามาสอนนักการเมืองให้มีคุณธรรมแบบนี้แล้วจะซื่อสัตย์ขึ้น แต่สังคมไทยยังไม่มีการแยกระหว่าง Secular Morality กับ Individual Morality ทั้งที่ศาสนาควรเป็นเรื่องความดีส่วนบุคคล

“แต่ถ้าจะตีความศาสนาให้ยืนข้างคนเล็กคนน้อย ก็ต้องตีความศาสนาใหม่ ตีความให้เข้ากับหลักการสากล ใน Secular ไม่ปฏิเสธสิ่งนี้ แต่ในไทยมันกลับหัวกลับหาง พอพระมาสอนก็จะออกทำนองว่า ประชาธิปไตยต้องมีธรรมะกำกับ มันไปเบลอและลดทอนความหมายของประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ จิตวิญญาณของการแยกศาสนาออกจากรัฐคือเรื่องเสรีภาพ ความเป็นธรรม ระหว่างความเชื่อ รัฐไม่ส่งเสริมความเชื่อใด แต่ถือว่าทุกความเชื่อมีศักดิ์ศรีเท่ากัน แปลว่าการเป็น Secular State กับการเป็นประชาธิปไตยมันสนับสนุนกัน”

การแยกรัฐออกจากศาสนาและ Islamophobia

เมื่อถามว่าความหวาดกลัวอิสลามหรือ Islamophobia ที่กำลังแพร่ระบาดในหมู่ชาวพุทธ การแยกรัฐออกจากศาสนาจะส่งผลในเชิงบวกหรือไม่ สุรพศ ตอบว่า ความหวาดกลัวอิสลาม รากฐานของปัญหาอยู่ที่โครงสร้างสังคมไทยที่ไม่เป็น Secular

“สมมติคนพุทธกับมุสลิมขัดแย้งกัน ถ้าเป็น Secular รัฐก็เข้าไปจัดการแค่ว่าทะเลาะกันเรื่องอะไร ตีหัวกันหรือเปล่า แค่นี้จบ แต่สภาวะที่ไม่เป็น Secular ความขัดแย้งจะซับซ้อนกว่านี้มาก เพราะตัวรัฐเป็นเวทีของความขัดแย้ง คือพุทธเข้าไปในภาคใต้ ไปสอนพุทธศาสนาในโรงเรียน พุทธไปในนามของรัฐ คนที่นั่นก็มีความรู้สึกว่าถูกรุก ขณะเดียวกันทั้งสองกลุ่มก็อาศัยเวทีของรัฐในการถกเถียงว่าใครได้มากได้น้อยกว่ากัน สภาวะแบบนี้ รัฐจึงเป็นเวที เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง

“ธรรมชาติของศาสนามีการกระทบกระทั่งกันอยู่แล้ว แต่ในรัฐที่เป็น Secular ถ้าทะเลาะกัน รัฐแก้ปัญหาแค่ทะเลาะเรื่องอะไรจบ และโอกาสที่จะทะเลาะกันจะมีน้อยกว่า เพราะไม่มีใครอิงอำนาจรัฐ อย่างพุทธที่รังเกียจโรฮิงญาก็ไม่สามารถทำให้กองทัพหรือให้รัฐออกกฎหมายเพื่อกดอีกฝ่ายได้ แต่ปัจจุบันเราเป็นอย่างนี้กันหมด เงื่อนไขการไม่แยกศาสนาออกจากรัฐจะยิ่งทำให้ปัญหานี้หนักและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น”

แก้รัฐธรรมนูญระบุให้ไทยเป็นรัฐโลกวิสัย

ถามอีกว่า หากการแยกรัฐกับศาสนามีความเหมาะสมกับสภาวะสมัยใหม่ หนทางที่จะไปสู่เป้าหมายนี้ควรทำอย่างไร สุรพศอธิบายว่า ศาสนาเข้าไปมีสถานะสำคัญในรัฐธรรมนูญมากขึ้นและมีแนวโน้มที่เสรีภาพทางศาสนาจะลดลงเรื่อยๆ กระทั่งในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ชื่นชมว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมาก แต่ในทางศาสนากลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะบัญญัติให้รัฐมีหน้าที่คุ้มครองศาสนาพุทธและศาสนาอื่น ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เจาะจงไปที่พุทธเถรวาทและเพิ่มเติมการสร้างกลไกป้องกันการบ่อนทำลายพุทธศาสนา

สุรพศมองว่าปัญหาการแยกรัฐออกจากศาสนาเป็นปัญหาเดียวกันกับการสร้างประชาธิปไตย ที่ยิ่งเขียนรัฐธรรมนูญมากเท่าไหร่ ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งลดลง

“ในรูปธรรมจริงๆ ต้องระบุในรัฐธรรมนูญเลยว่า รัฐไทยเป็นรัฐโลกวิสัยเหมือนอินเดีย แล้วก็ยกเลิกมาตรา 7 ที่ระบุว่าพระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะ กฎหมายรับรองเสรีภาพต้องเขียนให้ชัดเจน พ.ร.บ.สงฆ์ องค์กรสงฆ์ ต้องยกเลิกเป็นเอกชน ทุกศาสนาแยกเป็นเอกชน แต่ไม่ได้บอกว่าต้องทำอะไรหนึ่ง สอง สาม เพื่อเปิดกว้างให้คนมาถกเถียงกัน”

ขณะที่วิจักขณ์ให้ความเห็นว่า ประเด็นรัฐธรรมนูญยังเป็นเรื่องยาก แต่ทุกคนสามารถลงมือทำให้พุทธมีความเป็น Secular ได้ทันที

“ผมมองในเชิงกลยุทธ์ที่ไม่ได้สนใจฝั่งอนุรักษ์นิยมมากว่าคนรุ่นใหม่จะทำอะไรได้บ้างที่เป็นความหวัง ผมคิดว่าแนวคิด Secular คนรุ่นใหม่สามารถปฏิบัติได้เลยตอนนี้ คุณค่าหลายอย่างในเชิงหลักการมีประเด็นทางจิตวิญญาณอยู่ เราจะศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนศาสนาพุทธอย่างไรให้เป็น Secular เราจะสัมพันธ์กับคนอื่นในพื้นที่สาธารณะอย่างไรในสังคมพุทธให้เป็น Secular โดยเคารพแนวคิดอื่นๆ และไม่นำแนวคิดทางศาสนาไปกดเขาไว้ ผมคิดว่า Secular มันเป็นจิตวิญญาณที่เราสามารถฝึกปฏิบัติได้ ถ้าตีโจทย์แตก ผมคิดว่ามันสามารถปฏิบัติได้ตั้งแต่ตอนนี้”

วิจักขณ์ยังเชื่อด้วยว่า หากสามารถแยกรัฐกับศาสนาออกจากกันได้จะไม่ทำให้ศาสนาหายไป ตรงกันข้ามศาสนาจะสามารถปรับตัวให้อยู่รอดในโลกสมัยใหม่ มีความอ่อนน้อมถ่อมตนขึ้น อีกทั้งการที่ศาสนาเข้าไปอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวจะก่อประโยชน์หลายอย่าง ประการแรกคือทำให้คนสนใจการปฏิบัติทางศาสนาอย่างจริงจังและเกิดเป็นประสบการณ์ทางศาสนาอย่างลึกซึ้ง ประการที่ 2 คือคนที่อยู่ในองค์กรหรือมีศรัทธาในศาสนาจะมีโอกาสฝึกแปลภาษาทางศาสนาให้เป็นภาษาปกติที่ทุกคนฟังได้ ซึ่งเป็นทักษะที่พระไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยมี


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.