Posted: 14 Mar 2018 08:05 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ทีมข่าวการเมือง รายงาน

ประวัติย่นย่อของพรรคการเมืองไทยชื่อลงท้ายว่า "ใหม่" ที่มีทั้งล้มลุกคุกคลานและรุ่งโรจน์ เช่นเดียวกับชะตากรรมของระบอบประชาธิปไตยไทย บางพรรคเคยเป็นที่รวมดาวรุ่งและคนรุ่นใหม่ ที่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาหลายคนกลายเป็นคนแก่หัวเก่า หรือพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่มีวาระทำงานช่วงสั้นๆ ก่อนแยกวง หากไม่รวมตัวกำเนิดใหม่กลายเป็นพรรคระดับชาติก็ถึงกับหายไปจากสารบบการเมืองไทย ฯลฯ

หลังมีข่าวธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และคณะเตรียมยื่นจดทะเบียนชื่อพรรคการเมือง "พรรคอนาคตใหม่" ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันพรุ่งนี้ (15 มี.ค.) ทีมข่าวการเมืองชวนอ่านประวัติศาสตร์ย่นย่อของพรรคการเมืองในประเทศไทยที่ชื่อลงท้ายว่า "ใหม่" ตลอด 86 ปีการเมืองไทยสมัยใหม่ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

โดยพรรคการเมืองเหล่านี้มีตั้งแต่พรรคขนาดเล็ก อาศัยการออกแบบของรัฐธรรมนูญที่เอื้อให้กับการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยพรรคนำมาปรับกลยุทธ์หาเสียงแบบ "น้อยแต่มาก" จนประสบความสำเร็จคว้า 1 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ อย่าง "พรรคประชาธิปไตยใหม่"

มีพรรคการเมืองทั้งประเภทที่สิ้นสุดการดำเนินงานทางการเมืองไปในช่วงเวลาสั้นๆ อย่าง "พรรคสยามใหม่" หรือยืนระยะทางการเมืองกินเวลานับทศวรรษ อย่าง "พรรคความหวังใหม่" ที่มีบทบาทสำคัญในช่วงพฤษภาคม 2535 เคยได้รับความนิยมจนเฉือนชนะพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2539 จนหัวหน้าพรรคคือสามารถตั้งรัฐบาลผสมได้เป็นเวลาสั้นๆ ก่อนจะต้องถอยฉากหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540

หรือ "พรรคพลังใหม่" ที่เมื่อแรกตั้งถูกจับตามองว่าเป็นศูนย์รวมของคนรุ่นใหม่ และมีนโยบายค่อนไปทางซ้าย เคยตกเป็นเป้าหมายลอบวางระเบิดในช่วงหาเสียง รวมทั้งวางระเบิดที่ทำการพรรคโดยกลุ่มพลังอนุรักษ์นิยมในช่วงก่อน 6 ตุลาคม 2519 และเมื่อเกิดรัฐประหารจนพรรคพลังใหม่ต้องปิดฉากลง แต่บุคลากรทางการเมืองจากพรรคพลังใหม่ ยังคงมีบทบาททางการเมืองในสังกัดอื่นๆ มาจนถึงทศวรรษ 2540

รวมทั้งในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ ที่มี "พรรคการเมืองใหม่" ซึ่งเคยถูกจับตาว่าจะเป็นพรรคการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่แล้วก็ไปไม่ถึงเป้าหมายหลังแกนนำพรรค กับแกนนำพันธมิตรฯ แตกคอกันเรื่องจะโหวตโนหรือจะลงเลือกตั้งในปี 2554 และพรรคได้กลายสภาพไปเป็นพรรคการเมืองสาขาของแกนนำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจในเวลาต่อมา

ขณะที่ร้านอาหารตามสั่งในเมืองไทย แม้ว่าจะเพิ่งเปิดร้าน แต่ก็มักลงท้ายว่า "เจ้าเก่า" นัยว่าเพื่อสร้างความมั่นใจในรสมือ แต่สำหรับพรรคการเมืองไม่ว่าจะตั้งขึ้นใหม่ หรือเกิดจากการรวมตัว สลับขั้ว ก็ปรากฏมากมายหลายพรรคเลือกลงท้ายชื่อว่า "ใหม่" และเส้นทางการเมืองของพวกเขาในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยเท่าที่รวบรวมได้โดยสังเขป มีดังนี้


พรรคสยามใหม่ (1)

ในการเลือกตั้งทั่วไป 10 กุมภาพันธ์ 2512 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งแบบเขตจังหวัด เรียงเบอร์ เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารเมื่อ 20 ตุลาคม 2501 โดยในครั้งนั้นพรรคการเมืองหนึ่งใช้ชื่อว่า "พรรคสยามใหม่" นำโดย พล.ต. กระแส เสนาพลสิทธิ์ ลงเลือกตั้งด้วย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และสิ้นสุดการดำเนินงานในปี 2514
พรรคสยามใหม่ (2)

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ต่อมามีการใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง 2517 ต่อมามีผู้ใช้ชื่อ "พรรคสยามใหม่" ไปแจ้งจดทะเบียนต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่นายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อปี 2518 โดยมีหัวหน้าพรรคคือ เปรม มาลากุล ณ อยุธยา โดยพรรคสยามใหม่ คณะนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพรคสยามใหม่เมื่อปี 2512

โดยในการเลือกตั้ง 26 มกราคม 2518 พรรคสยามใหม่ได้ ส.ส. เข้าสภาทั้งสิ้น 3 คน รวมทั้งเปรม มาลากุล ที่ชนะเลือกตั้งที่ จ.อุตรดิตถ์ ต่อมาในการเลือกตั้ง 4 เมษายน 2519 พรรคสยามใหม่ได้ ส.ส. เข้าสภาเพียง 1 คน โดยเปรม ยังคงรักษาที่นั่งที่ จ.อุตรดิตถ์ เอาไว้ได้

อย่างไรก็ตามหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พรรคสยามใหม่และอีกหลายพรรคการเมืองถูกยุบโดยประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน


พรรคพลังใหม่


ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จดทะเบียนพรรคการเมืองตั้งแต่ 21 พฤศจิกายน 2517 มี นพ.กระแส ชนะวงศ์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค เลขาธิการคือ ปราโมทย์ นาครทรรพ

พรรคพลังใหม่เคยถูกมองว่าเป็นแหล่งรวมของนักการเมืองรุ่นใหม่ และถูกจัดว่าเป็นพรรคแนวสังคมนิยมในรัฐสภาหลัง 14 ตุลาคม 2516 โดยในการเลือกตั้งทั่วไป 26 มกราคม 2518 ผู้สมัครจากพรรคพลังใหม่ชนะเลือกตั้ง ส.ส. 12 ที่นั่ง ในจำนวนนี้มีเลิศ ชินวัตร บิดาของทักษิณ ชินวัตร และปรีดา พัฒนถาบุตร ซึ่งได้ตำแหน่งรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัย สมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รวมทั้งชัชวาลย์ ชมภูแดง ที่ชนะเลือกตั้งที่ จ.ร้อยเอ็ด

ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งแรก เมื่อ 10 สิงหาคม 2518 พรรคพลังใหม่ก็ได้กระแสตอบรับใน กทม. อย่างมาก โดยในเวลานั้นพรรคพลังใหม่ส่ง อาทิตย์ อุไรรัตน์ ซึ่งเพิ่งจบดุษฎีบัณฑิตสาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ สหรัฐอเมริกา และเป็นหัวหน้ากองวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ลงชิงตำแหน่งกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งส่งธรรมนูญ เทียนเงิน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

อย่างไรก็ตามผลการเลือกตั้งที่มีผู้มาใช้สิทธิเพียง 13.86% นั้น ธรรมนูญ เทียนเงินชนะเลือกตั้งได้คะแนน 99,247 คะแนน ส่วนอาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้คะแนน 91,678 คะแนน แพ้ไป 9 พันคะแนนเท่านั้น


เหตุลอบปาระเบิดที่ทำการพรรคพลังใหม่เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2519 แต่ผู้ก่อเหตุพลาดจนเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย (ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย)


เหตุลอบปาระเบิดที่ทำการพรรคพลังใหม่เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2519 (ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติ)


ข่าวปาระเบิดใส่ที่ปราศรัยของรองหัวหน้าพรรคพลังใหม่ที่ จ.ชัยนาท เมื่อ 24 มีนาคม 2519 จนมีผู้เสียชีวิต 9 ราย (ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติ)

ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไป 4 เมษายน 2519 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่มีกระแส "ขวาพิฆาตซ้าย" เกิดการลอบสังหารนักการเมือง และนักศึกษา ชาวนา กรรมกรฝ่ายซ้ายนั้น พรรคพลังใหม่เองก็ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีด้วย โดยในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2519 มีสมาชิกกลุ่มกระทิงแดงลอบปาระเบิดที่ทำการพรรคพลังใหม่ในกรุงเทพฯ ย่านถนนอโศก-เพชรบุรี แต่การปาระเบิดผิดพลาด ทำให้พิพัฒน์ กางกั้น เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และประจักษ์ เทพทอง บาดเจ็บสาหัส อย่างไรก็ตามในเวลานั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ได้ดำเนินการอย่างไรต่อกลุ่มกระทิงแดง ในทางตรงข้าม พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคชาติไทย ได้แถลงว่าพรรคพลังใหม่จงใจสร้างสถานการณ์เพื่อหาเสียง

และในเดือนถัดมาในคืนวันที่ 24 มีนาคม 2519 มีการลอบปาระเบิดในระหว่างที่สมหวัง ศรีชัย รองหัวหน้าพรรคพลังใหม่ ปราศรัยหาเสียงที่ศาลาการเปรียญหน้าวัดหนองจิก อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท โดยมีผู้เสียชีวิต 9 ราย และบาดเจ็บนับสิบ

อย่างไรก็ตามพรรคพลังใหม่ ได้ที่นั่ง ส.ส. เพียง 3 ที่นั่ง ในการเลือกตั้ง 4 เมษายน 2519 และถูกยุบพรรคหลังการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519


จดชื่อ "พลังใหม่" รอบสองก่อนเปลี่ยนชื่อ
เป็น "พลังสังคมประชาธิปไตย" และ "รวมพลังใหม่"


ในปี 2525 มีการจดทะเบียนพรรคพลังใหม่ขึ้นมาอีกครั้งโดยใช้ตราสัญลักษณ์เดิม และในวันที่ 26 มีนาคม 2531 พรรคพลังใหม่ได้ทำการประชุมใหญ่สามัญของพรรคและเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็น พรรคพลังสังคมประชาธิปไตย และเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ มีชัชวาลย์ ชมภูแดง เป็นหัวหน้าพรรค

ทั้งนี้ในการเลือกตั้ง 24 กรกฎาคม 2531 หลังยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ พรรคพลังสังคมประชาธิปไตยได้ที่นั่ง ส.ส. มาเพียง 1 ที่นั่งคือเขตที่ชัชวาลย์ลงสมัคร อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งปี 2535 ชัชวาลย์ย้ายไปสังกัดพรรคสามัคคีธรรมที่ต่อมาจะหนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร รองหัวหน้า รสช. มาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยเขามีตำแหน่งเป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.สุจินดาด้วย

หลังจากนั้นเขาย้ายไปสังกัดพรรคชาติไทย และเคยเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และในการเลือกตั้งปี 2554 เขาลงสมัคร ส.ส. ที่ จ.ร้อยเอ็ด ในนามพรรคภูมิใจไทย แต่แพ้ให้กับเอมอร สินธุไพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ภรรยาของนิสิต สินธุไพร แกนนำ นปช.

ส่วนพรรคพลังสังคมประชาธิปไตย ในปี 2535 มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "พรรครวมพลังใหม่" มีหัวหน้าพรรคคือปราโมทย์ นาครทรรพ ก่อนที่พรรคจะหมดบทบาททางการเมืองในเวลาต่อมา


อาทิตย์ อุไรรัตน์: ดาวรุ่งจาก "พลังใหม่"
ร่วมมาทุกขั้ว ก่อนมาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต



อาทิตย์ อุไรรัตน์ (ที่มา: ThaiPublica)

สำหรับดาวรุ่งจากพรรคพลังใหม่อย่าง อาทิตย์ อุไรรัตน์ ต่อมาหลังพรรคพลังใหม่ยุติบทบาท เขาได้ไปเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของพอ.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และเมื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ตั้งพรรคชาติประชาธิปไตย อาทิตย์ก็รับตำแหน่งเลขาธิการพรรค นอกจากนี้ในทศวรรษ 2520-2530 เขายังย้ายไปร่วมงานกับอีกหลายพรรค ได้แก่ พรรคกิจประชาคม พรรคเอกภาพ รวมทั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม

อย่างไรก็ตามหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 อาทิตย์ซึ่งทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรักษาการประธานรัฐสภา ได้เป็นผู้เสนอชื่ออานันท์ ปันยารชุน ให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย แทนชื่อของ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ จากพรรคชาติไทย

หลังจากนั้นอาทิตย์ยังมีบทบาทในฐานะแกนนำพรรคเสรีธรรม เคยดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ในรัฐบาลชวน หลีกภัย 1 ก่อนที่เขาเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ และในปี 2546 เคยเป็นหนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แต่ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 3 รองจากบัญญัติ บรรทัดฐาน และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ต่อมาเขาวางมือทางการเมือง โดยปัจจุบันมีบทบาทในฐานะของผู้ก่อตั้ง และอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต


พรรคความหวังใหม่



พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และแกนนำพรรคความหวังใหม่ (ที่มา: แฟ้มภาพ/ไทยรัฐ)

พรรคความหวังใหม่ ก่อตั้งเมื่อ 11 ตุลาคม 2533 เปิดตัวที่โรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สัญลักษณ์พรรคคือ ดอกทานตะวัน และมีคำขวัญพรรคว่า ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง

แกนนำพรรคได้แก่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคในปี 2534 ร่วมด้วยนักการเมืองคนสำคัญได้แก่ เสนาะ เทียนทอง, จาตุรนต์ ฉายแสง นอกจากนี้ยังมีแกนนำสำคัญคือ วันมูหะมัดนอร์ มะทา แกนนำกลุ่มวาดะห์ หรือ "เอกภาพ" ที่พานักการเมืองชายแดนใต้รวมทั้ง "เด่น โต๊ะมีนา" ออกจากพรรคประชาธิปัตย์มาเข้าร่วมกับพรรคความหวังใหม่

หลังการรัฐประหารของ รสช. ปี 2534 ต่อมามีการเลือกตั้งทั่วไป 22 มีนาคม 2535 พรรคความหวังใหม่ลงเลือกตั้งครั้งแรกได้ ส.ส. มาเป็นอันดับ 3 คือ 72 คน ในเวลานั้นพรรคความหวังใหม่ เป็น 1 ใน 4 พรรคการเมืองที่คัดค้านการสืบทอดอำนาจของ รสช. หลังจาก 5 พรรครัฐบาลนำโดยพรรคสามัคคีธรรมไปเชิญ พล.อ.สุจินดา คราประยูร รองหัวหน้า รสช. มาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยหลังจากนั้นไม่นานเกิดเหตุการณ์ประท้วงขับไล่ พล.อ.สุจินดา ในเดือนพฤษภาคม 2535

พรรคความหวังใหม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งปี 2539 ได้ที่นั่ง ส.ส. จำนวน 125 ที่นั่ง เฉือนชนะพรรคประชาธิปัตย์ไป 2 ที่นั่ง ส่งผลให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม พล.อ.ชวลิต ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล

ต่อมาในการเลือกตั้งทั่วไป 6 มกราคม ปี 2544 พรรคความหวังใหม่ได้ ส.ส. เป็นอันดับ 4 คือ 35 คน ต่อมาเดือนมีนาคมปี 2545 จึงยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย โดยอดีตแกนนำพรรคความหวังใหม่ที่ยังมีบทบาททางการเมืองกับพรรคไทยรักไทย และต่อมาคือพรรคเพื่อไทยคือ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ส.ส.หลายสมัยของ จ.ฉะเชิงเทรา

อนึ่งหลังจากพรรคความหวังใหม่ยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย ต่อมา 7 พฤษภาคม 2545 ชิงชัย มงคลธรรมได้จดทะเบียนพรรคความหวังใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง และในการเลือกตั้งทั่วไป 3 กรกฎาคม 2554 พล.อ.ชวลิต เข้ามาทำหน้าที่ประธานที่ปรึกษาพรรคความหวังใหม่ด้วย อย่างไรก็ตามพรรคความหวังใหม่ไม่ได้ที่นั่ง ส.ส. เลยในการเลือกตั้งปี 2554


พรรคการเมืองใหม่:
เริ่มต้นเป็นพรรคพันธมิตรฯ สุดท้ายแพแตก


เริ่มแรก "พรรคการเมืองใหม่" ถูกคาดหมายว่าจะเป็นพรรคการเมืองตามแนวทางพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยก่อตั้งในเดือนมิถุนายน 2552 หลังมติของมวลชนพันธมิตรฯ ที่สนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อ 25 พฤษภาคม 2552 ในโอกาสรำลึก 1 ปี การชุมนุม 193 วันของพันธมิตรฯ ที่นำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชนและเปลี่ยนขั้วรัฐบาล


นายสมศักดิ์ โกศัยสุข (แถวนั่งที่ 4 จากซ้าย) ถ่ายรูปคู่กับว่าที่ ร.ต.อิทธิพล มนะเกษตรธาร ประธานศูนย์ประสานงานพรรคการเมืองใหม่ จ.เชียงใหม่ (แถวนั่งที่ 5 จากซ้าย) พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ กรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ (แถวนั่งที่ 6 จากซ้าย) และสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ ระหว่างเปิดศูนย์ประสานงานพรรคการเมืองใหม่ ประจำ จ.เชียงใหม่ เมื่อ 19 มิถุนายน 2554 (ที่มาของภาพ: ASTVผู้จัดการออนไลน์)

อย่างไรก็ตามในเดือนเมษายน 2554 เกิดความเห็นไม่ลงรอยระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับพรรคการเมืองใหม่เรื่องการเลือกตั้งทั่วไป 3 กรกฎาคม 2554 โดยแกนนำพันธมิตรฯ มีมติให้โหวตโน ขณะที่สมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองไม่เห็นด้วย และประกาศถอนตัวจากพันธมิตรฯ ขณะที่แกนนำพันธมิตรฯ นำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล ก็โจมตีแนวทางของพรรคการเมืองใหม่อย่างรุนแรง

ต่อมาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 มีการประชุมใหญ่สามัญพรรค และมีมติเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น "พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย" รวมทั้งแก้ไขข้อบังคับพรรคใหม่ โดยพรรคสังคมประชาธิปไตย ใช้สัญลักษณ์รูปดอกกุหลาบสีส้มตัดเส้นสีขาวบนพื้นสีน้ำเงิน เป็นสัญลักษณ์ ปัจจุบันสมศักดิ์ โกศัยสุข เป็นหัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย แกนนำที่เหลือในพรรคส่วนมากมีพื้นฐานมาจากแกนนำในสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ


พรรคประชาธิปไตยใหม่: น้อยแต่มาก

พรรคประชาธิปไตยใหม่ (ตัวย่อ ปธม.) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2554 มีสุรทิน พิจารณ์ เป็นหัวหน้าพรรค โดยในการเลือกตั้งทั่วไป 3 กรกฎาคม 2554 พรรคประชาธิปไตยใหม่ซึ่งส่งผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ 5 คน ชูนโยบายกินได้ ทำเป็นด้วย “รัฐสวัสดิการ” พร้อม 6 ข้อเสนอคือ 1. กองทุนบำนาญประชาชน 2. ส่งแรงงานฟรีไม่มีค่าหัว 3. รักษาฟรีทุกโรคทุกที่ ลดหนี้เกษตรกร 4.เรียนฟรีถึงปริญญาตรีโดยสมัครใจ 5.กองทุนเพื่อการประกอบวิชาชีพ 6.จบปริญญาตรี/อาชีวะมีงานทำแน่นอน

ในการเลือกตั้ง 2554 ซึ่งการเลือกตั้งยังเป็นระบบการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบคือแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ ซึ่งเอื้อต่อพรรคขนาดเล็ก ทำให้ผลการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปไตยใหม่ได้คะแนนเสียง 125,784 คะแนน โดยได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่งคือพัชรินทร์ มั่นปาน


พรรคพลังธรรมใหม่



แถลงข่าวเปิดตัว "พรรคพลังธรรมใหม่" โดย นพ.ระวี มาศฉมาดล เมื่อ 1 มีนาคม 2561

หลังประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พรรคพลังธรรมใหม่ (New Palangdhamma Party) หรือ กลุ่มพลังธรรมใหม่ ได้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองเมื่อ 2 มีนาคม 2561 โดยมี นพ.ระวี มาศฉมาดล อดีตเลขาธิการพรรคพลังธรรม เป็นว่าที่หัวหน้าพรรคและว่าที่ ร.ต.นคร ดิวรางกูร เป็นโฆษกพรรค โดยในการแถลงข่าวเมื่อ 1 มีนาคม ที่โรงแรมเอเชีย นพ.ระวีระบุว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพรรคพลังธรรมเดิมจะไม่เข้าร่วมพรรคแล้วเนื่องจากอายุมากแล้ว โดยมอบหมายให้แกนนำของพรรครุ่น 2 ดำเนินการต่อไป
สำหรับ นพ.ระวี ยังเป็นแกนนำกองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (กคป.) ในช่วงการชุมนุมของ กปปส. โดยเขาถูกดำเนินคดีฐานชุมนุมปิดกระทรวงพลังงานและสำนักงาน ปตท. เมื่อเดือนมกราคม 2557 โดยศาลแพ่งสั่งจ่ายค่าเสียหาย 95.9 ล้านบาท ส่วนคดีอาญาข้อหามั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเพื่อก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง เมื่อ 31 ตุลาคม 2560 ศาลพิพากษาจำคุก 8 เดือน ปรับ 6,000 บาท แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี โดยเจ้าตัวพอใจกับคำพิพากษาและไม่อุทธรณ์ต่อ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)


3 ยุคพรรคพลังธรรม: จำลอง-ทักษิณ-ไชยวัฒน์


โดยก่อนหน้าการยื่นจดทะเบียน "พรรคพลังธรรมใหม่" ในอดีตเคยมี "พรรคพลังธรรม" ซึ่งตั้งเมื่อ 9 มิถุนายน ปี 2531 โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมณะโพธิรักษ์ จากกลุ่มสันติอโศก พรรคพลังธรรมได้ ส.ส. 15 ที่นั่ง ในการเลือกตั้ง 24 กรกฎาคม 2531 และในการเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 ได้ ส.ส. 41 ที่นั่ง เป็นพรรคอันดับ 5 ในรัฐสภา โดยในเวลานั้นเกิดกระแสจำลองฟีเวอร์ โดยใน กทม. พรรคพลังธรรมได้ ส.ส. 32 ที่นั่ง จากจำนวน ส.ส. กรุงเทพมหานครทั้งหมด 35 ที่นั่ง

หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ลาออกจากหัวหน้าพรรคพลังธรรม ตามที่ได้ให้คำมั่นในช่วงการชุมนุม ทั้งนี้แม้ว่าในการเลือกตั้ง 13 กันยายน 2535 พรรคพลังธรรมจะได้ ส.ส. 46 ที่นั่ง และยังคงเป็นพรรคอันดับ 5 แต่ที่นั่ง ส.ส. ในกรุงเทพมหานครลดลงเหลือ 23 ที่นั่ง


อดีตแกนนำสำคัญพรรคพลังธรรม (จากซ้ายไปขวา) สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ทักษิณ ชินวัตร และ จำลอง ศรีเมือง


ทั้งนี้หลังยุค พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ภายในพรรคพลังธรรมมีการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคอีก 2 คน จนกระทั่งในปี 2538 พล.ต.จำลอง ได้เชิญทักษิณ ชินวัตร นักธุรกิจด้านการสื่อสาร เข้ามาดำรงตำแหน่งภายในพรรคพลังธรรม ส่งผลให้ทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรมคนที่ 4

โดยในการเลือกตั้งทั่วไป 2 กรกฎาคม 2538 พรรคพลังธรรมซึ่งนำโดยทักษิณ ได้ ส.ส. ทั่วประเทศ 23 ที่นั่ง และที่นั่งในกรุงเทพมหานครลดลงเหลือ 16 คน โดยครั้งนี้พรรคพลังธรรมเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคชาติไทยที่นำโดยบรรหาร ศิลปอาชา โดยพรรคพลังธรรมได้โควตารัฐมนตรี 5 ที่นั่งได้แก่ 1. ทักษิณ ชินวัตร รองนายกรัฐมนตรี 2. จรัส พั้วช่วย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 3. สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 4. พีระพงศ์ ถนอมพงษ์พันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ 5. ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ความเสื่อมถอยของพรรคพลังธรรมปรากฏชัดยิ่งขึ้นในการเลือกตั้ง 17 พฤษภาคม 2539 ที่พรรคพลังธรรมได้ ส.ส. เพียง 1 ที่นั่งคือ สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ส่วนหัวหน้าพรรคซึ่งไม่ได้รับเลือกคือทักษิณ ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค อย่างไรก็ตามทักษิณ ยังคงเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

ต่อมามีการประชุมใหญ่พรรคพลังธรรม มีการเสนอชื่อหัวหน้าพรรคคนใหม่ คือ สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ และไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แต่สุดารัตน์ของถอนตัว ทำให้ไชยวัฒน์ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม

ทั้งนี้ทักษิณได้ออกไปตั้งพรรคใหม่คือ พรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2541 และมีสมาชิกพรรคพลังธรรมหลายคนได้แก่ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง, สุรนันท์ เวชชาชีวะ, นพ.ประจวบ อึ๊งภากรณ์, ศันสนีย์ นาคพงษ์ เป็นต้น ลาออกไปร่วมงานพรรคไทยรักไทย ซึ่งต่อมาพรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้งทั่วไป 6 มกราคม 2544 ได้ ส.ส. 248 ที่นั่ง โดยในจำนวนนี้เป็นอดีต ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2539 เพียง 93 ราย และอีก 155 รายเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งในปี 2539 และกลุ่มที่สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย เรียกว่า "นกแล" หรือผู้สมัครรุ่นใหม่ของพรรค

สำหรับพรรคพลังธรรม ได้ถูกยุบพรรคเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2550 เนื่องจากไม่ส่งรายงานการดำเนินกิจการพรรคการเมืองตามข้อบังคับของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ก่อนที่จะมีการยื่นจดทะเบียน "พรรคพลังธรรมใหม่" ดังกล่าว



แหล่งอ้างอิง



การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518, วิกิพีเดีย

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มีนาคม พ.ศ. 2535, วิกิพีเดีย

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กันยายน พ.ศ. 2535, วิกิพีเดีย

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538, วิกิพีเดีย

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539, วิกิพีเดีย

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544, วิกิพีเดีย

จำลอง ศรีเมือง, ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

บันทึก 6 ตุลา: 3.4 ความรุนแรงและการลอบสังหาร, บันทึก 6 ตุลา

พลังธรรม (พ.ศ. 2531), ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

พรรคพลังธรรม, วิกิพีเดีย

รายชื่อพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิกิพีเดีย

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518, วิกิพีเดีย

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มีนาคม พ.ศ. 2535, วิกิพีเดีย

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กันยายน พ.ศ. 2535, วิกิพีเดีย

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538, วิกิพีเดีย

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539, วิกิพีเดีย

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544, วิกิพีเดีย[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.