Posted: 12 Mar 2018 11:25 PM PDT

นิธิ เอียวศรีวงศ์

การเมืองในความหมายถึงกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อนโยบายสาธารณะนั้น ผมคิดว่ามีอยู่สองเวที ผมขอเรียกตามภาษาของผมว่าเวทีที่เป็นทางการ กับเวทีที่ไม่เป็นทางการ


เวทีที่เป็นทางการคือการเมืองอย่างที่เรารู้จักคุ้นเคย กิจกรรมทางการเมืองก็อยู่ในสภา, ครม., ในสื่อ โดยเฉพาะสื่อตามประเพณี, ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ, ในบางสังคมจะอยู่ในสหภาพแรงงานซึ่งเป็นคะแนนเสียงบล็อกใหญ่, หรืออยู่ในกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจใหญ่ที่ทุนมาก กำไรมาก และจ้างงานมาก

เวทีที่ไม่เป็นทางการ คือเวทีทางสังคมนั่นเอง กิจกรรมทางการเมืองมักจัดโดยกลุ่มประชาสังคม, กลุ่มผลประโยชน์ทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น องค์กรเอกชนที่ต่อต้านการใช้สารพิษฆ่าหญ้า, ถุงพลาสติก ฯลฯ เวทีที่สำคัญมากอีกหนึ่งคือเวทีทางวิชาการ เพราะเนื้อหาที่แสดงออกผ่านเวทีเหล่านี้มักมีนัยต่อนโยบายสาธารณะมาก อีกทั้งผ่านการศึกษาและถกเถียงกันมาละเอียดลออกว่าข้อเสนออื่นๆ

เรามักนึกถึงพื้นที่ซึ่งเวทีที่ไม่เป็นทางการใช้เพียงสองอย่าง หนึ่งคือพื้นที่ซึ่งค่อนข้างจำกัดเช่นหนังสือ, วารสาร, อนุสาร, การอภิปราย หรือสองก็เป็นพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยสีสันเลยคือการออกมาสู่ท้องถนน แต่ในโลกปัจจุบัน พื้นที่ของเวทีที่ไม่เป็นทางการสอดแทรกเข้าไปในวิถีชีวิตคนมากขึ้น เช่น เพลง, ละคร, ภาพยนตร์, หนังสั้น, นิทรรศการ, งานแฟร์, เกมคอมพิวเตอร์, สื่อออนไลน์, หรือแม้แต่สติ๊กเกอร์หลังรถ, และข้อความที่หน้าอกเสื้อยืด ฯลฯ ใช้จินตนาการไปเถิด มีพื้นที่สำหรับเวทีการเมืองที่ไม่เป็นทางการในโลกที่คนส่วนใหญ่กลายเป็นชาวเมือง (urbanites) ไปเกินครึ่งแล้วมากมาย

ทั่วทั้งโลก เวทีที่ไม่เป็นทางการมีสัดส่วนใน “การเมือง” ของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในประเทศประชาธิปไตยตะวันตก คิดง่ายๆ อย่างนี้ก็ได้ครับ ในปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ผู้หญิงในประเทศเหล่านั้นใช้เวลาสองชั่วอายุคน กว่าจะทำให้เวทีการเมืองที่เป็นทางการยินยอมออกกฎหมายให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งเท่าผู้ชาย แต่ในปลายศตวรรษที่ 20 ต่อต้นศตวรรษที่ 21 คนรักเพศเดียวกันใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วอายุคน ก็สามารถผลักดันกฎหมายรองรับการ “สมรส” ของคนเพศเดียวกันได้แล้ว

ในเมืองไทย ไม่นานมานี้เอง เวทีที่ไม่เป็นทางการแทบไม่มีเสียงให้คนบนเวทีที่เป็นทางการหันมาฟังอะไรเลย ไม่เคยมี ส.ส.ไปเยี่ยมสมัชชาคนจนซึ่งยึดหัวเขื่อนปากมูลอยู่เป็นปีสักคน ไม่มี ส.ส.สักคนไปเยี่ยมพวกเขาเมื่อมาประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลอยู่เกือบ 100 วัน นี่ขนาด ส.ส.อีสานเขียวได้จัดตั้งรัฐบาลนะครับ แต่มาในระยะหลัง การเคลื่อนไหวผลักดันประเด็นสาธารณะของคนบนเวทีการเมืองที่ไม่เป็นทางการ พอมีพื้นที่ในสื่อมากขึ้น และพอจะชิงเอาหูของนักการเมืองไปได้บ้าง (ทั้งนี้ไม่พูดถึง นปช., พันธมิตร, และ กปปส.นะครับ)

ส่อให้เห็นว่า ในอนาคตเวทีที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ แม้ในเมืองไทย ก็มีทางจะเชื่อมต่อกันและกันมากขึ้น เพราะโดยหลักการประชาธิปไตยแล้ว สองเวทีนี้ไม่แยกจากกัน ต้องเชื่อมโยงถึงกันเสมอ ประชาธิปไตยของสังคมใดที่มีแต่เวทีการเมืองที่เป็นทางการ ไม่มีหรือไม่ฟังเวทีการเมืองที่ไม่เป็นทางการเลย การเมืองก็จะเป็นอย่างที่ผ่านมา คือถูกชนชั้นนำร่วมมือกันล้มทำลายประชาธิปไตยอยู่เสมอ ก้าวเดินยังไม่ทันกี่ก้าว ทหารก็ยึดอำนาจ นับหนึ่งกันใหม่
จนแม้แต่คนในวงการประชาสังคม ยังพร้อมโจนหนีจากเวทีที่ไม่เป็นทางการ เพื่อเกาะแข้งทหารไปขึ้นเวทีที่เป็นทางการ

แม้ในประเทศไทยเอง เราก็ได้เห็นการเชื่อมต่อระหว่างเวทีการเมืองที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการอยู่เสมอ เอกชนฟ้องรัฐหรือฟ้องผู้บริหารรัฐผ่านองค์กรตุลาการประเภทต่างๆ เสมอ คุณศรีสุวรรณ จรรยา คนเดียวก็เป็นโจทก์ฟ้องเข้าไปไม่รู้กี่เรื่องแล้ว ยังไม่พูดถึงคุณรสนา โตสิตระกูล, คุณสารี อ๋องสมหวัง, คุณวีระ สมความคิด ฯลฯ ซึ่งมีวิธีฟ้องสังคมให้บังเกิดผลอยู่เสมอ

ในบางประเทศมีกระบวนการถอดถอนนักการเมือง เวทีการเมืองที่ไม่เป็นทางการใช้กระบวนการนี้เป็นช่องในการกำกับควบคุมเวทีการเมืองที่เป็นทางการได้โดยตรง

ข้อต่อที่เชื่อมเวทีการเมืองทั้งสองย่อมมีเป็นปกติ และจะมีมากกว่าที่เราเห็นในปัจจุบันขึ้นไปอีกอย่างแน่นอน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเคลื่อนไหวทั้งของ นปช.และ กปปส.เป็นการเคลื่อนไหวของคนบนเวทีที่ไม่เป็นทางการ มุ่งจะให้เกิดผลบนเวทีที่เป็นทางการ แต่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองเฉพาะกิจ เช่น เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่ หรือเรียกร้องให้ยุติกระบวนการประชาธิปไตยชั่วคราว สำเร็จกิจแล้วทั้งสองฝ่ายก็หมดบทบาททางการเมือง

ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันด้วยว่า ทั้ง นปช.และ กปปส.ต่างมีพรรคการเมืองหนุนหลัง ซึ่งก็ไม่ผิดประหลาดอย่างไร เป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมต่อการเมืองบนเวทีที่เป็นทางการกับไม่เป็นทางการอีกอย่างหนึ่ง แต่ข้อที่น่าเสียดายอยู่ที่ว่า หลังจากบรรลุภารกิจแล้ว พรรคการเมืองก็ถอยออกไป เพียงแต่หวังว่ามวลชนจำนวนมหึมาที่ระดมมาได้จะเป็นคะแนนเสียงของพรรคในการเลือกตั้ง แต่ที่จริงแล้วมวลชนเหล่านี้มีประโยชน์ทางการเมืองมากกว่านั้นมากนัก เช่นในการเสาะหานโยบายที่เกี่ยวกับยางพาราใหม่ของพรรค นโยบายการท่องเที่ยวที่มี “เหยื่อ” น้อยลง ฯลฯ หรือหนทางปรับปรุงโครงการ 30 บาท, โครงการรับจำนำข้าว, โครงการกองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ

น่าเสียดายก็เพราะ แม้ว่าเมืองไทยได้ก้าวเข้าสู่การเมืองมวลชนแล้ว แต่พรรคการเมืองก็ยังปรับตัวเองให้เป็นพรรคมวลชนได้ไม่สำเร็จสักพรรคเดียว นอกจากใช้มวลชนเพื่อเป้าหมายทางการเมืองระยะสั้นๆ เช่นชนะเลือกตั้ง หรือล้มรัฐบาลเลือกตั้ง

ด้วยความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองไทยดังที่ได้กล่าวข้างต้น ผมจึงเห็นว่าพรรคการเมืองที่เสนอแนวทางของการเมืองใหม่อย่างแท้จริงคือพรรคเกรียน ทำไมจึงเป็นแนวทางของการเมืองใหม่ ผมจะพูดข้างหน้า ซึ่งอาจผิดหมดเลย เพราะผมได้แต่เดาความหมายเอาจากคำแถลงของผู้ดำเนินการจัดตั้งพรรคเท่านั้น

ผมเข้าใจว่า เป้าหมายหลักทางการเมืองของพรรคเกรียน (อย่างน้อยในช่วงนี้) ก็คือ การจัดองค์กรที่อาจเคลื่อนไหวทางการเมืองได้สะดวกแก่กลุ่มต่างๆ ในภาคประชาสังคมซึ่งมีอยู่หลากหลาย ได้ร่วมกันในการเสนอนโยบายสาธารณะ “ร่วมกัน” สำคัญอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้นโยบายเกิดจากการครอบงำหรือข้อมูลด้านเดียวของบุคคล เช่น ปัญหาพลังงาน, ค่าแรงขั้นต่ำ, การศึกษา, การจัดการมลภาวะ, เมืองและบริการของเมือง ฯลฯ ล้วนมีข้อมูลจากหลายแหล่ง และมองได้จากหลายมุม

นอกจากการตรวจสอบและร่วมไตร่ตรองนโยบายสาธารณะจากคนหลากหลายกลุ่มแล้ว ผมเข้าใจว่าพรรคมีแนวโน้มที่ค่อนข้างชัดว่าต้องการข้อเสนอประเภท “แหกคอก” หรือ “คิดนอกกรอบ” ค่อนข้างมาก ดูเหมือนกลุ่มผู้จัดตั้งพรรคออกจะเชื่อว่า ทางแก้ปัญหาที่เราเคยชินมานานแล้ว ส่วนใหญ่ไม่อาจแก้ปัญหาของปัจจุบันได้ เพราะที่จริงทางแก้ปัญหาเหล่านั้นมักเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาของสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมในศตวรรษที่แล้ว หรือก่อนหน้านั้น ไม่ใช่ทุนนิยมที่ครอบงำโลกอยู่ในปัจจุบัน

ขอให้สังเกตว่า พรรคเกรียนคิดถึงนโยบายสาธารณะที่เกิดและพัฒนาขึ้นจากมวลชนข้างล่าง (เวทีที่ไม่เป็นทางการ) ผลักขึ้นมาอย่างมีพลังจนกระทั่งผู้บริหาร (เวทีที่เป็นทางการ) ต้องทำตาม หรืออย่างน้อยพยายามทำตาม พลิกกลับกระบวนการทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผู้บริหารวางนโยบายสาธารณะ และมวลชนได้แต่รับหรือไม่รับนโยบายนั้น ซึ่งโอกาสจะปฏิเสธนั้นเป็นไปได้ยาก อย่าลืมว่าขึ้นชื่อว่ารัฐย่อมมีพลังในการโน้มน้าวไปจนถึงบังคับที่ “เนียน” มากๆ ทั้งนั้น
ถ้าคิดแค่นี้ เหตุใดจึงต้องไปจดทะเบียนเป็นพรรคการเมือง? คำตอบที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือเพื่อผนวกเวทีที่ไม่เป็นทางการเข้าไปในเวทีที่เป็นทางการ

ทำแค่นี้แหละที่จะทำให้ข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะมีน้ำหนักผิดกันไกล โดยเฉพาะบนพื้นที่สื่อกระแสหลัก เพราะกลายเป็นข้อเสนอทางการเมืองของเวทีที่เป็นทางการ (กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะเคลื่อนไหวอย่างไร ก็ไม่ “ดัง” เท่า หัวหน้าพรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่พรรคของคุณไพบูลย์ นิติตะวัน ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคจะสนับสนุนสิทธิเสมอภาคของคนกลุ่มนี้ กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในสังคมไปทันที)

ฉะนั้น การเชื่อมเวทีทางการเมืองทั้งสองเข้าหากันแบบนี้ จึงช่วยเพิ่มพลังของเวทีที่ไม่เป็นทางการอย่างยิ่ง

หากพรรคเกรียนสามารถทำให้แนวคิดด้านนโยบายสาธารณะ ไม่ว่าจะมาจากพรรคหรือมาจากคนอื่น ถูกนำมาถกเถียงอภิปรายกันก่อนที่จะประกาศเป็นนโยบาย ก็จะเป็นความสำเร็จทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ เพราะในเมืองไทย นโยบายสาธารณะไม่เคยถูกสังคมนำมาพิจารณาถกเถียงกันก่อนประกาศใช้เลย ส่วนใหญ่เมื่อประกาศแล้วจึงฮือฮากันเข้ามาพิจารณาในภายหลัง ฝ่ายหนึ่งก็ต่อต้านคัดค้าน เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจของตน อีกฝ่ายหนึ่งก็สนับสนุนเพื่อเหตุอย่างเดียวกัน ยังแถมทิฐิมานะเข้าไปอีก



การโต้เถียงอภิปรายนโยบายสาธารณะจากคนหลากหลายกลุ่มในสังคมนั่นแหละคือความสำเร็จของพรรคเกรียน ยิ่งโต้แย้งอภิปรายกันก่อนตัดสินใจใช้นโยบายนั้นๆ ก็ยิ่งเป็นความสำเร็จมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว

เพราะนั่นคืออำนาจของประชาชนในการควบคุมนโยบายสาธารณะ (ไม่ใช่คุมแต่ไม่ให้โกงอย่างเดียว) การเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็มีเป้าหมายตรงนี้ไม่ใช่หรือ ทั้งนี้ โดยพรรคเกรียนไม่จำเป็นต้องเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ไม่ต้องร่วมรัฐบาล ไม่ต้องแม้แต่เป็น ส.ส.ฝ่ายค้านด้วยซ้ำ (ในความคิดส่วนตัว ถึงได้เป็นก็ไม่ขัดขวางการดำเนินงาน แต่ก็ช่วยการดำเนินงานได้ไม่มากนัก จนบางทีอาจไม่คุ้มกับที่ขึ้นไปอยู่บนเวทีที่เป็นทางการด้วยซ้ำ เพราะถึงอย่างไรเวทีการเมืองที่เป็นทางการก็มีกฎ กติกา ประเพณี และยุทธวิธีทางการเมืองบังคับอยู่มากทีเดียว…ดูพรรคกรีนในยุโรปเป็นตัวอย่าง)

และนี่คือเหตุผลที่พรรคเกรียนโฆษณาว่า พรรคไม่มุ่งหาเสียง แต่มุ่งหาเรื่อง คือหาเรื่องที่มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน (ไม่จำเป็นต้องเป็นเศรษฐกิจอย่างเดียว) เพื่อชูขึ้นมาให้เกิดการโต้เถียงอภิปรายกัน จนในที่สุดก็อาจลงตัวเป็นนโยบายสาธารณะที่ไม่ติดกรอบ และให้ผลดีแก่ประชาชนในเงื่อนไขเฉพาะของไทยด้วย (หาความเป็นไทยจากเรื่องจริง ไม่ใช่นึกเอาเอง)

นี่คือเหตุผลที่ทำให้ผมเห็นพรรคเกรียนกำลังเล่น “การเมืองใหม่” คือไม่จำเป็นต้องกระโดดขึ้นไปบนเวทีที่เป็นทางการ แต่ใช้ประโยชน์จากเวทีที่ไม่เป็นทางการ และช่องทางการเชื่อมโยงกับเวทีที่เป็นทางการ เพื่อสร้าง “การเมือง” ของพลเมือง

ประชาธิปไตยทางตรงที่เรียกร้องกันมาไม่ได้มีรูปแบบเดียว คือหย่อนเปลือกหอยต่างสีลงในภาชนะของที่ประชุม (แบบนครรัฐกรีก) เท่านั้น แต่รู้จักคิดอะไรแบบเกรียนๆ บ้าง ก็จะเห็นหนทางที่จะปรับใช้ได้อีกมาก โดยไม่จำเป็นต้องล้มเลิกประชาธิปไตยตัวแทนลงด้วย

เกรียนเป็นสำนวนสมัยใหม่ที่ใช้กันแพร่หลายจนรู้จักกันดี ความหมายได้คลี่คลายจากเด็กมัธยมหัวเกรียนมาสู่บุคลิกที่มักขัดขวาง, ล้อเลียน, ยั่วยุ, หยอกล้อ กับอะไรที่ลงตัวอยู่แล้ว (the Establisment) หากพรรคมีแนวนโยบายทางการเมืองดังที่กล่าวข้างต้น ก็ไม่มีชื่ออื่นในภาษาไทยจะใช้ได้ดีไปกว่าคำว่า “เกรียน”

พรรคเกรียนจึงไม่ได้เป็นชื่อที่พูดเล่นหรือพูดให้ฮา โดยไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริงในเมืองไทยที่พรรคมองเห็น ผมคิดว่าชื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเสียอีก ที่ฟังดูแล้วเหมือนจะเล่นสนุกหรือเรียกเสียงฮาได้มากกว่า เพราะคนที่ก่อความไม่สงบกลับลอยนวล หรือบางคนได้ดิบได้ดีไปกับคณะรักษาความสงบ ซ้ำร้ายหัวหน้าคณะรักษาความสงบยังมีวิธีพูดที่ทำให้ความสงบอันตรธานไปอย่างฉับพลันด้วย ถ้าให้คนไทยส่วนใหญ่นิยามคำว่า “ความสงบ” การยึดอำนาจของกองทัพนั่นแหละทำให้ “ความสงบ” ลดน้อยลง
มีอะไรให้เลือกได้ไม่รู้กี่พันชื่อ ไปเลือกชื่อ “ความสงบ” มาทำไม น่าฮาออกจะตาย


เผยแพร่ครั้งแรกใน: www.matichon.co.th

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.