พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แฟ้มภาพข่าวรัฐสภา

Posted: 16 Mar 2018 09:23 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ประธาน สนช. เผยเตรียมส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ให้ ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ชี้เพื่อให้เกิดความรอบด้านป้องกันปัญหาการตีความในอนาคต คาดศาลใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 เดือน เชื่อไม่ส่งผลต่อโรดแมปการเลือกตั้ง

16 มี.ค. 2561 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงข่าวสรุปมติของ สนช. ภายหลังจากได้รับความเห็นจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีข้อกังวลว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒสภา (ส.ว.) อาจมีบางมาตราขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ว่า ภายหลังที่ สนช. ได้รับความเห็นจาก กรธ.แล้ว สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่ยืนยันว่า เนื้อหาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ไม่ได้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการเลือกตั้งหากมีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในอนาคต และเพื่อให้เกิดความชัดเจนรอบด้านตามเจตนารมณ์ของ กรธ. สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า ควรมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ว.เท่านั้น โดยยื่นให้ศาลวินิจฉัยเนื้อหาในบทเฉพาะกาล ที่มีการแบ่งประเภทผู้สมัคร ส.ว.ที่มีทั้งแบบอิสระและแบบองค์กรคัดเลือก ซึ่งอาจขัดแย้งต่อระบบการได้มาซึ่ง ส.ว.

ซึ่งขณะนี้ ได้รวบรวมรายชื่อสมาชิก สนช. จำนวน 30 คน ที่ขอเข้าชื่อเรียบร้อยแล้ว โดยมีกิตติ วะสีนนท์ เป็นตัวแทนผู้เข้าชื่อยื่นเรื่องผ่านประธาน สนช. และจะดำเนินการส่งหนังสือไปยังศาลรัฐธรรมนูญในวันจันทร์ที่ 19 มี.ค.นี้ คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาวินิจฉัยประมาณ 1 เดือน

ส่วนเหตุผลที่ สนช. ไม่ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส.นั้น พรเพชร กล่าวว่า สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่มั่นใจว่า ประเด็นที่ กรธ. ทักท้วง ทั้งเรื่องการตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองของผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และการอนุญาตบุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้ความช่วยเหลือผู้พิการลงคะแนนในกรณีที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่อาจขัดต่อเจตนารมณ์ของ กรธ. ซึ่งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องการให้ความช่วยเหลือผู้พิการลงคะแนน ที่ สนช.ระบุเพิ่มเติมว่า ให้ถือว่าเป็นการลงคะแนนโดยตรงและลับนั้น เนื่องจากไม่ได้เปิดเผยผลการลงคะแนนดังกล่าวต่อคนทั่วไป จึงยืนยันว่ายังเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ นอกจากนี้ หากกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลใช้บังคับหลังจากประกาศไปแล้ว 90 วัน หากมีผู้ติดใจว่าจะกระทบต่อสิทธิการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง อาทิ พรรคการเมือง หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็สามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ และไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยทั้ง 2 ประเด็นออกมาอย่างไร ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้ง เพราะจะมีผลเฉพาะบางมาตราเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกฎหมายทั้งฉบับ โดย สนช.จะส่งรางกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส. ไปยังนายกรัฐมนตรีภายในสัปดาห์หน้า

ต่อข้อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแบ่งประเภทผู้สมัคร ส.ว. ขัดต่อหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญจะมีผลให้ร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ว.ต้องตกไปทั้งฉบับหรือไม่ พรเพชร กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ เพราะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้ง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.