Posted: 13 Mar 2018 10:44 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

'กกต. สมชัย' ข้องใจคำวินิจฉัย ปมให้ 9 ป.ป.ช.อยู่ทำหน้าที่ต่อไปได้ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ชี้ ป.ป.ช. ในปัจจุบัน ควรสิ้นสุดไปเช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆ ชี้คำวินิจฉัยดังกล่าวอาจนำมาซึ่งการทำลายระบบการตรวจสอบถ่วงดุล
13 มี.ค.2561 จากเมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมาที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยคำร้องของประธาน สนช. ที่ส่งความเห็นของสมาชิก สนช.จำนวน 32 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 267 วรรคห้า มาตรา 81 มาตรา 145 และมาตรา 263 ว่าร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 285 ที่บัญญัติว่าให้ประธานและกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 19 เว้นแต่กรณีตามมาตรา 19 (3) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 9 และลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 (1) และ (18) มิให้นำมาใช้บังคับ มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 185 ในส่วนที่เกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 (1) และ (18) มิให้นำมาใช้บังคับไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ประธานและกรรมการทั้งหมด 9 คนอยู่ทำหน้าที่ต่อไปได้ นั้น
'กกต. สมชัย' ข้องใจคำวินิจฉัย

วานนี้ โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.ป. ดังกล่าว ไม่ได้มีการลงรายละเอียดว่าตุลาการท่านใดลงคะแนนอย่างไร ประเด็นการให้ ป.ป.ช. ในครั้งนี้มีความแตกต่างไปจากกรณีของ กกต.และผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะกรณีของ ป.ป.ช.นั้นมีคนเคยดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและเคยเป็นกรรมการองค์กรอิสระมาก่อน ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ ทำให้ส่วนตัวมีความเป็นห่วงเรื่องความเป็นอิสระขององค์กรอิสระในอนาคต
ครป. ชี้ ป.ป.ช.ในปัจจุบัน ควรสิ้นสุดไปเช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆ

วันนี้ (13 มี.ค.61) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์ต่อคำวินิจฉัยดังกล่าวด้วยว่า วาระของกรรมการ ป.ป.ช.. ในปัจจุบัน ควรสิ้นสุดไปเช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆ

ครป. ชี้ 3 ประเด็น คำวินิจฉัยดังกล่าวอาจนำมาซึ่งการทำลายระบบการตรวจสอบถ่วงดุลทั้งระบบที่กำหนดไว้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ทั้งหมด และหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม รวมทั้งอาจสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับสังคม และบั่นทอนความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้

รายละเอียด :
แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
กรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการเว้นลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ป.ป.ช.

ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยประเด็นที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งได้ขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการเว้นลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ว่าส่วนของการดำรงตำแหน่งข้าราชการซึ่งไม่พ้น 10 ปี สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไปจนครบวาระนั้น โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติเป็นมติเอกฉันท์ว่า การต่ออายุ ป.ป.ช. นั้นไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ อันส่งผลให้กรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน 7 คนที่มีคุณสมบัติต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ยังสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้จนครบวาระ 9 ปี ตามกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับเดิมนั้น

กรณีดังกล่าว คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) มีความเห็นและข้อเรียกร้อง ดังนี้

1. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาเช่นนี้นั้น อาจนำมาซึ่งการทำลายระบบการตรวจสอบถ่วงดุลทั้งระบบที่กำหนดไว้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ทั้งหมด และหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม ที่กำหนดว่า “กฎหมายลูกหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จะไปขัดหรือแย้งกับกฎหมายแม่หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญมิได้”

2. คำวินิจฉัยกรณีดังกล่าวนี้ อาจสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับสังคมว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำลังสร้าง “ระบบคณาธิปไตย” ขึ้นมาแทนที่หรือทำลายหลักนิติธรรมของประเทศหรือไม่ เพราะคำวินิจฉัยดังกล่าวเท่ากับเป็นการอนุญาตให้คณะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้สถาปนาอำนาจพิเศษขึ้นมาเหนือระบบการเมืองการปกครองของไทย กรณีของการละเว้นลักษณะต้องห้ามเพื่อให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้ถือว่าเป็นการเปิดช่องให้กฎหมายมีช่องโหว่ มีการเลือกปฏิบัติ และเป็นการสร้างแบบอย่างที่น่าละอายในการออกกฎหมายที่อาจใช้เทคนิคดังกล่าวเพื่อเขียนกฎหมายที่ขัดกับหลักนิติธรรมในอนาคต

3. คำวินิจฉัยดังกล่าวได้บั่นทอนความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” ทั้งนี้แนวคำวินิจฉัยของตุลการศาลรัฐธรรมนูญกรณีดังกล่าวนี้ ได้ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นหรือความไม่มั่นใจของประชาชนต่อการใช้อำนาจต่างๆ ของกลไกตามรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นไปโดยความบริสุทธิ์ โปร่งใส หรืออาจนำมาซึ่งการเล่นพรรคเล่นพวกหรือไม่ นี่เป็นปัญหาที่หมักหมมมายาวนานในสังคมการเมืองไทย และเป็นเรื่องทุกฝ่ายในสังคมไทยพยายามแก้ไขและหาทางยุติปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ดี เราเห็นว่า วาระของกรรมการ ป.ป.ช.. ในปัจจุบัน ควรสิ้นสุดไปเช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆ เมื่อมีการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งหากกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งมีคุณสมบัติไม่ถูกต้อง และยังดึงดันที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมขาดความน่าเชื่อถือ มีตำหนิ และขาดความสง่างามในการดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ท้ายที่สุด ครป. ขอเรียกร้องต่อวงการนิติบัญญัติ นักกฎหมาย นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา และภาคประชาชน ได้ร่วมกันตรวจสอบและดำเนินการเรื่องนี้ให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อปลดล็อคปัญหาที่เกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้ และกอบกู้เกียรติยศ ศักดิ์ศรีขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญให้กลับคืนมาใหม่โดยเร็วที่สุด
ด้วยจิตสมานฉันท์และเชื่อมั่นในพลังประชาชน

แถลงโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) 13 มีนาคม 2561

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.