Posted: 15 Mar 2018 05:52 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

หากกล่าวถึงงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP&P) ตลอดจนการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) แก่ประชาชน คงไม่ใช่ภาระรับผิดชอบของบุคลากรสาธารณสุขเพียงฝ่ายเดียว หากแต่เป็นเรื่องที่ต้องระดมความร่วมมือจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชนที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบดูแลสุขภาพของตัวเองด้วย

สถาบันสงฆ์เอง ก็เป็นหนึ่งในสถาบันที่มีความผูกพันกับชุมชนมาแต่อดีต มีบทบาทอย่างมากในการกล่อมเกลาชี้นำสิ่งที่ดีแก่ประชาชน ซึ่งหากเข้ามาร่วมขับเคลื่อนงาน PP&P ก็จะเป็นพลังสำคัญในการสร้างเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นบทบาทพระสงฆ์กับการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพไม่มากเท่ากับภาคีกลุ่มอื่นๆ แต่เมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา มหาเถรสมาคมประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ถือเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าสถาบันสงฆ์เป็นอีกหนึ่งภาคีที่พร้อมเชื่อมร้อยกับภาคส่วนอื่นๆเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพ และในอนาคตก็จะได้เห็นภาพของวัดในการเข้ามามีบทบาทเรื่องสุขภาพในชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมโครงการขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชนแห่งชาติขึ้นที่วัดปางมะโอ ต.แม่พุง อ.วังชิ้น จ.แพร่ โดยมีเจ้าอาวาสทั่ว อ.วังชิ้นกว่า 50 วัดและอีก 11 สำนักสงฆ์เข้าร่วมประชุม เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับแผนงานในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพในระดับพื้นที่ โดยงานนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพของสถาบันสงฆ์ที่ขณะนี้กำลังดำเนินการไปพร้อมๆกันในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ


พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ 

พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ กรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ และอาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินงานด้านสุขภาพของพระสงฆ์ว่า ที่ผ่านมาฆราวาสอยากขับเคลื่อนงานกับพระมาก แต่ฝั่งพระสงฆ์ยังไม่เปิดเพราะอาจมีข้อกังวลว่าทำแล้วจะถูกหลักพระธรรมวินัยหรือไม่ ชาวบ้านจะมองว่ายุ่งกับเรื่องทางโลกหรือไม่ ขณะเดียวกันก็มองเห็นว่าฆราวาสมีการขับเคลื่อน มีธรรมนูญสุขภาพเป็นของตัวเอง ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ดังนั้นเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาจึงได้เสนอมติสมัชชาสุขภาพเรื่องพระสงฆ์กับการดูแลสุขภาวะ โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติก็มีมติรับทราบในวันที่ 25 ม.ค. 2556

จากนั้นในปี 2560 ทางมหาเถรสมาคมได้พิจารณารับทราบมติเรื่องนี้ พร้อมทั้งมอบหมายให้พระพรหมวชิรญาณ ดำเนินการ จนกระทั่งวันที่ 11 ส.ค. 2560 ก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ตลอดจนมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในแต่ละภูมิภาค เริ่มจากภาคกลาง อีสาน เหนือ ใต้ และธรรมยุต รวม 5 เวที เมื่อรับฟังความคิดเห็นเสร็จ คณะกรรมการก็ได้สรุปนำเสนอมหาเถรสมาคม และมหาเถรสมาคมก็ได้ประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติวันที่ 20 ธ.ค. 2560 โดยมีสาระสำคัญแบ่งเป็น 3 หมวด คือ 1.พระสงฆ์ดูแลกันเองตามหลักพระธรรมวินัย 2.ฆราวาสอุปถัมภ์ดูแลพระสงฆ์ตามหลักพระธรรมวินัย และ 3.พระสงฆ์กลับมาเป็นผู้นำทางสุขภาวะ

พระวิสิทธิ์ ขยายความในแต่ละหมวดว่า ในหมวดที่ 1 นั้นเนื่องจากพระสงฆ์ออกจากเรือนแล้วไม่มีใครดูแล จึงจำเป็นที่พระสงฆ์ต้องดูแลกันเอง ซึ่งในอดีตตามหลักพระธรรมวินัยจะมีพระคิลานุปัฏฐาก หรือคล้ายๆ กับพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) ในปัจจุบัน และเมื่อพระสงฆ์เกิดการดูแลกันเองแล้ว ยังมีเรื่องกุฏิสงฆ์อาพาธเพราะบางทีไปโรงพยาบาลก็อาจจะมีพยาบาลผู้หญิงมาจับต้องตัว ทำให้พระบางรูปรู้สึกไม่อยากไปโรงพยาบาล ดังนั้นถ้าแต่ละวัดถ้ามีกุฏิที่รับรองพระสงฆ์เองเวลาเจ็บป่วยก็น่าจะเป็นแนวทางที่ดี

นอกจากนี้ การที่พระสงฆ์ดูแลกันเองยังหมายรวมไปถึงการส่งเสริมความรู้การดูแลสุขภาพแก่พระสงฆ์ ว่าควรทำอย่างไร จะออกกำลังกายอย่างไรโดยไม่ผิดพระธรรมวินัยอีกด้วย

สำหรับหมวดที่ 2 เป็นเรื่องเกี่ยวกับฆราวาสหรือชุมชนจะดูแลพระสงฆ์อย่างไร เช่น การตรวจสุขภาพพระสงฆ์ การสร้างโรงพยาบาลสงฆ์ การใช้สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพต่างๆของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็เป็นเรื่องที่ฆราวาสควรเข้ามาส่งเสริม เพราะตอนนี้พระบางรูปยังไม่เข้าใจในการใช้สิทธิเลย นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการส่งเสริมความรู้ภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ การนำศาสตร์ของหมอพื้นเมือง สมุนไพร ฯลฯ ออกมาใช้ ที่สำคัญคือการให้ความรู้แก่ญาติโยมในการดูแลพระ เพราะบางคน บางพื้นที่ยังถวายบุหรี่ ถวายเครื่องดื่มชูกำลังให้พระอยู่เลย

“เห็นไหม พระสงฆ์ก็ต้องดูแลตัวเองตามหลักพระธรรมวินัย ฆราวาสก็ต้องดูแลพระสงฆ์ตามหลักพระธรรมวินัย บุหรี่ผิดพระธรรมวินัยก็ถวายไม่ได้ แบบนี้ต้องทำความเข้าใจ เรียนรู้ที่จะถวายของให้พระ” พระวิสิทธิ์ กล่าว

ส่วนหมวดที่ 3 พระสงฆ์กลับมาเป็นผู้นำในการดูแลสุขภาพ พระวิสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อมีการจัดสภาพแวดล้อมที่ดี วัดเป็นวัดส่งเสริมสุขภาพ ไม่มีอบายมุขในพื้นที่ ก็เอื้อต่อการเป็นผู้นำทางสุขภาวะ เป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านโดยเฉพาะเรื่องการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาช่วยญาติโยม ถ้าชาวบ้านเจ็บป่วยมาก็มีสมุนไพรดีๆก็เอามาใช้ เป็นต้น

“เพราะฉะนั้น เรามองว่าธรรมนูญสุขภาพไม่ใช่เป็นแค่เครื่องมือในการทำงาน แต่ยังเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปกิจการในพระพุทธศาสนาอีกด้วย เป็นหนทางทำให้พระพุทธศาสนาอยู่รอด ตอนนี้เรามีธรรมนูญสุขภาพเป็นเครื่องมือในการทำงานแล้ว เป็นข้อตกลงว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของพระธรรมวินัย ซึ่งขณะนี้พระตื่นตัวมาทำเรื่องสุขภาพและพร้อมเป็นอีกหนึ่งภาคีที่จะเชื่อมกับภาคีอื่นๆที่มีในตอนนี้ในการขับเคลื่อนสุขภาพของประชาชน” พระวิสิทธิ์ กล่าว

พระวิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อทำเรื่อง “ขาขึ้น” จนเกิดเป็นธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติแล้ว ต่อไปก็คือ “ขาเคลื่อน” โดยเบื้องต้นคณะกรรมการฯได้มีจดหมายแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าคณะจังหวัดทั่วประเทศ ให้รับทราบการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ ขณะเดียวกันก็มีการทำพื้นที่ต้นแบบ 20 พื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งต้นแบบระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล ซึ่งในส่วนของภาคเหนือมี จ.สุโขทัย เป็นโมเดลระดับจังหวัด ส่วนที่ อ.สูงเม่น จ.แพร่ เป็นอำเภอต้นแบบ และมี วัดโป่งคำ จ.น่าน เป็นโมเดลในระดับตำบล เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นๆก็จะมีโมเดลลักษณะนี้เหมือนกัน และในหลายๆพื้นที่ก็จะเกิดเวทีประชุมความเข้าใจเหมือนงานในวันนี้เพื่อเป็นเวทีชี้แจงว่าทำไมถึงมีธรรมนูญ และหลังจากมีแล้วจะขับเคลื่อนกันอย่างไร

อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพของพระไม่จำเป็นต้องรอให้พื้นที่ต้นแบบทำสำเร็จเสียก่อน หากที่ไหนมีความพร้อมก็สามารถขับเคลื่อนได้เลย ตัวอย่างเช่นวัดปางมะโอซึ่งจัดงานในวันนี้ แม้ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ถูกคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ แต่เป็นพื้นที่ที่มีความตั้งใจอยากทำก็ทำกันก่อน ทางคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติก็สนับสนุนและช่วยชี้แจงทำแผนงานกันว่า อ.วังชิ้น จะมีแผนขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพอย่างไร เพราะแต่ละพื้นที่ก็จะขับเคลื่อนงานไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาและบริบทในพื้นที่

“เรามีประเด็นการขับเคลื่อน 37 ประเด็น แล้วแต่ว่าจะไปขับเคลื่อนกันประเด็นไหน อย่าง จ.สุโขทัยชัดเจนว่าจะทำเรื่องพระคิลานุปัฏฐากทั้งจังหวัด เขาก็ไปเคลื่อนเรื่องนี้ หรือ อ.สูงเม่น มีโรงพยาบาลสงฆ์ ก็ทำเรื่องโรงพยาบาลสงฆ์ไป หรือที่วัดโป่งคำ จ.น่าน ทำเรื่องต้นไม้ การดูแลทรัพยากร ก็ทำเรื่องนี้ไป ส่วน อ.วังชิ้น ก็จะทำเรื่องเกษตรอินทรีย์” พระวิสิทธิ์ กล่าว


พระครูวิจิตรธรรมสาธก 

ด้านพระครูวิจิตรธรรมสาธก เจ้าคณะอำเภอวังชิ้น กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ หมายความว่าต้องทำทั้งบ้าน วัด โรงเรียน มาช่วยกันขับเคลื่อนให้ญาติโยมมีสุขภาพที่ดี ซึ่งปัจจุบัน อ.วังชิ้น มีปัญหาสุขภาพคือประชาชนเราได้รับสารพิษจากการใช้สารเคมีในการทำเกษตร คณะสงฆ์จึงมองว่าถ้าอาหารปลอดภัย ญาติโยมก็จะมีสุขภาพที่ดี จึงอยากให้คณะสงฆ์ อ.วังชิ้น มาช่วยมีบทบาทในเรื่องการขับเคลื่อนเรื่องเกษตรอินทรีย์ผ่านธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ เบื้องต้นพระสงฆ์ต้องเป็นตัวอย่างและใช้หลักธรรมมะในการอบรมให้ญาติโยมได้เข้าใจโดยเฉพาะเรื่องการรักษาสุขภาพ การทำพืชผักให้ปลอดสารพิษเพื่อสุขภาพที่ดี

“ปัจจุบันเราซ่อมสุขภาพมากกว่าสร้าง พวกที่ใช้สารเคมีในการเกษตร ขายได้ราคาดีก็จริง แต่เงินที่ได้มาก็เอามารักษาสุขภาพ มันไม่คุ้ม แต่ถ้าช่วยขับเคลื่อนเรื่องอาหารการกินให้ปลอดสารพิษก็จะดีมาก ซึ่งวัดปางมะโอมีจุดเด่นเรื่องการขับเคลื่อนการทำเกษตรอินทรีย์ แต่ยังมีปัญหาอยู่บ้างคือพวกพืชผลที่ผลิตแบบไร้สารเคมียังจำหน่ายขายไม่ได้เท่าที่ควร ก็อยากฝากให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้”พระครูวิจิตรธรรมสาธก กล่าว


พระฐาปนพงศ์ ฐานิสสฺโร

ด้าน พระฐาปนพงศ์ ฐานิสสฺโร รักษาการณ์เจ้าอาวาสวัดปางมะโอ กล่าวว่า บทบาทพระสงฆ์ที่แท้จริงคือด้านจิตใจและด้านความสุขของชาวบ้าน และดังที่หลวงพ่อเจ้าคณะอำเภอกล่าวว่าต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาสุขภาพใน อ.วังชิ้น คือเรื่องสารเคมีลงแม่น้ำ ดังนั้นทางวัดจึงลองคิดนอกกรอบว่าจะหันมาช่วยชาวบ้านขับเคลื่อนในเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ ขับเคลื่อนในเรื่องผักและผลไม้ปลอดสารพิษ เพราะต้นทุนเดิมของพี่น้องวังชิ้น มีสวนเงาะ ทุเรียน ลองกอง ลางสาด และสวนผักมากมาย หากทำเกษตรอินทรีย์ก็จะได้อาหารที่สะอาด โดยขณะนี้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ก็กำลังเข้ามาคุยเรื่องการทำเอกสารเพื่อรองรับการตลาดให้ชาวบ้าน ขอแต่ให้เป็นเกษตรอินทรีย์ที่แท้จริง

ขณะที่ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของ “ขาเคลื่อน” หมายถึงผู้มีหน้าที่รับผิดชอบก็จะระดมทรัพยากร เครื่องมือที่มีทั้งหมด มาขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพให้กลุ่มพระสงฆ์ ซึ่งในส่วนของ สปสช.เอง คนอาจเข้าใจว่าดูแลเฉพาะเรื่องการรักษา แต่งานอีกด้านคือการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคซึ่งมีเครื่องมือในรูปแบบของกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือกองทุนสุขภาพตำบลกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศที่พร้อมใช้เงินนี้ไปสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชนโดยเอาปัญหาของชุมชนเป็นที่ตั้ง ว่าจะทำโครงการอะไรที่เป็นการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

ทพ.อรรภพร กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติมี 2 ประเด็นสำคัญคือ 1.จะขับเคลื่อนเพื่อถวายความรู้ด้านสุขภาพให้กับวัดได้อย่างไร เพราะในสังคมไทยวัดเป็นแหล่งเรียนรู้คู่กับชุมชนมานานแล้ว ถ้าพระได้มีความเข้าใจด้านสุขภาพอย่างถูกต้องก็จะสามารถเผยแพร่ความรู้นี้เพื่อนำไปสู่การที่ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง

ในทางกลับกัน ปัจจุบันพบว่าพระมีปัญหาสุขภาพจำนวนไม่น้อย เพราะเวลาใส่บาตร ญาติโยมก็มักจะใส่ของที่อยากทาน หรือชาติหน้าอยากทานอะไรก็ใส่บาตรเข้าไป ซึ่งบางอย่างก็ไม่เหมาะสมกับสุขภาพ ดังนั้นก็จะอาศัยธรรมนูญนี้สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนด้วย

2. ในส่วนของการส่งเสริมและป้องกันโรค ก็เป็นงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ขณะที่พระสงฆ์มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ถ้านำทรัพยากรทั้งหมดมาขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมก็จะทำให้สุขภาพของประชาชนดีขึ้นในที่สุด

“วันนี้เรามาดูการขับเคลื่อนของวัดปางมะโอ ท่านเจ้าคณะอำเภอและเจ้าอาวาสมีความคิดว่าสุขภาพที่ดีเริ่มจากอาหารที่ทาน จะรณรงค์เรื่องเกษตรอินทรีย์ วิธีการอย่างนี้เป็นอุบายในการสอนประชาชนว่าถ้าเราจะมีสุขภาพที่ดีต้องเริ่มจากการรับประทาน” ทพ.อรรถพร กล่าว


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.