Posted: 16 Mar 2018 10:03 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ในการประท้วงความรุนแรงจากอาวุธปืนครั้งใหญ่ทั่วสหรัฐฯ มีเสียงสะท้อนว่ามีการคำนึงถึงคนดำหรือคนเชื้อชาติสีผิวอื่นๆ น้อยเกินไป ถูกเหมารวมซ้ำเติมว่าเป็นกลุ่มคนอันตราย รวมถึงเมื่อเกิดความรุนแรงต่อคนผิวสีก็มักจะได้รับการสนใจและผลักดันน้อยกว่าเวลาเกิดขึ้นกับคนขาว

ในวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมามีการประท้วงใหญ่ทั่วสหรัฐฯ ของกลุ่มนักเรียนไฮสคูลที่แม้ว่าจะยังไม่ถึงวัยเลือกตั้งได้ตามกฎหมาย แต่ก็ออกมาแสดงพลังต่อต้านความอยุติธรรมหลายรูปแบบ ตั้งแต่เรื่องกฎหมายอาวุธปืนที่เอื้อต่อการก่อเหตุกราดยิงในโรงเรียนไปจนถึงเรื่องความอยุติธรรมทางเชื้อชาติ สีผิว เช่นในแอตแลนตา มีบางส่วนที่พูดถึงประเด็นความยากจนและปัญหาบริการสุขภาพจิต เช่นในบอลติมอร์ และชิคาโก ส่วนในเมืองบรูกลินของนิวยอร์ก กลุ่มนักเรียนได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบตำรวจ

ในการประท้วงวอล์กเอาท์หมู่ของกลุ่มนักเรียนในครั้งนี้มีนักเรียนที่เป็นคนผิวสีเข้าร่วมเป็นจำนวนมากเพื่อส่งสัญญาณแบบเดียวกับคนอื่นๆ คือเรียกร้องให้มีการลดความรุนแรงจากอาวุธปืนและยับยั้งไม่ให้เกิดการกราดยิงในโรงเรียน แต่สิ่งที่พวกเขาเสริมเข้ามาคือประเด็นที่ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงกระทบกับชุมชนคนผิวสีอย่างไรด้วย

เจลาห์ แจ็คสัน อายุ 15 ปี หนึ่งในผู้เข้าร่วมการประท้วงวอล์กเอาท์เปิดเผยว่าถ้าหากนักเรียนที่เป็นคนดำถูกยิงก็มักจะไม่ได้รับความสนใจในสื่อมากเท่าที่ควร พวกเขารู้สึกว่ากลุ่มคนดำถูกลดทอนความสำคัญ และไม่ได้รับการการนำเสนอมากเท่าคนขาว

เมื่อไม่นานนี้กลุ่มนักเรียนชี้ให้เห็นว่าปัจจัยเรื่องเชื้อชาติมีอิทธิพลต่อการที่สื่อและนักการเมืองจะให้ความสนใจต่อการทำกิจกรรมต่อต้านความรุนแรงจากอาวุธปืนหรือไม่ เมื่อเทียบกันแล้วเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงจากอาวุธปืนในพื้นที่ของคนดำมักจะไม่ได้รับความสนใจมากเท่ากรณีอย่างกรณีนักกิจกรรมกรณีกราดยิงในเมืองพาร์คแลนด์ รัฐฟลอริดา ซึ่งได้รับความสนใจและการผลักดันเร็วกว่ามากเมื่อเทียบกับการที่กลุ่มคนดำหรือคนเชื้อชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนขาวเรียกร้องความเป็นธรรมด้านเชื้อชาติสีผิว เช่น กลุ่มดรีมดีเฟนเดอร์ส หรือกลุ่มมูฟเมนต์ฟอร์แบล็กไลฟ์ส (MBL)

ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดคำถามที่ใหญ่กว่าอย่าง ใครที่จะได้รับความเห็นใจในสหรัฐฯ ประเด็นไหนที่ถูกให้ความสำคัญมากกว่ากัน และกลุ่มคนทั่วไปเข้าหากิจกรรมแนวไหนมากกว่ากัน กลุ่มนักเรียนทั่วสหรัฐฯ จึงหันมามองความเกี่ยวข้องกันระหว่างความรุนแรงจากอาวุธปืนกับปัจจัยเรื่องความอยุติธรรมทางเชื้อชาติ สีผิว

มีกลุ่มนักเรียนในโรงเรียนบุ๊กเกอร์ทีวอชิงตันในแอตแลนตาที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงเรียนไปประท้วง ทำการประท้วงด้วยการคุกเข่าข้างหนึ่งแบบเดียวกับที่โคลิน แคร์เปอร์นิค นักอเมริกันฟุตบอลเคยทำท่านี้ประท้วงความอยุติธรรมทางสีผิวและการใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อคนดำมาก่อน ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนเดียวกับที่นักสิทธิพลเมืองคนดำมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เคยเรียนมาก่อน

นักเรียนในชิคาโกเข้าร่วมการประท้วงด้วยการวอล์กเอาท์เพื่อแสดงการเคารพต่อเพื่อนของพวกเขาที่เสียชีวิตและเรียกร้องให้มีการลงทุนกับกลุ่มชุมชนคนผิวสีมากกว่านี้ ดามายันตี วอลลาซ นักเรียนศิลปะจากชิคาโกบอกว่าความรุนแรงจากอาวุธปืนกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ ในระดับที่คุณอาจจะได้ยินเสียงร้องไห้ของคนที่โถงทางเดินโรงเรียนเพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นเมื่อคืนก่อนหน้านี้

มีนักเรียนอีกส่วนหนึ่งจากชิคาโกและบอลติมอร์ร่วมกันประท้วงในชื่อว่า "เด็กดี เมืองวิกลจริต" (Good Kids Mad City) โดยที่พูดถึงสาเหตุของความรุนแรงนอกเหนือไปจากเรื่องตัวบุคคลแต่พูดถึงปัญหาที่แวดล้อมอยู่อย่างเรียกร้องให้มีโครงการแก้ปัญหาคนหนุ่มสาวไม่มีงานทำ โครงการเกี่ยวกับสุขภาพจิต และทรัพยากรในโรงเรียนที่ดีขึ้น หนึ่งในนักเรียนที่เข้าร่วมประท้วงคือแนนซี รามิเรซ ที่กล่าวว่าพวกเขาร่วมส่งกำลังให้กับนักเรียนที่พาร์คแลนด์และเข้าใจว่ามันเป็นปัญหาที่ใช้วิธีการแก้ไขแบบคำตอบเดียวไม่ได้

ที่ผ่านมาเวลาพูดถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหมู่คนดำก็มักจะมีคนอ้างว่าเป็นเรื่อง "การควบคุมตัวเอง" ของคนดำหรือไม่ก็กล่าวหาว่านักกิจกรรมคนดำที่ออกมาประท้วงเป็น "อาชญากร" แต่ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อชาติ สีผิวและระเบียบโรงเรียนก็เตือนว่าการพยายามแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มระบบความปลอดภัยและการติดอาวุธให้ครูนั้นเป็นการละเลยผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับนักเรียนที่เป็นคนผิวสี

สเตซี แพตตัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยมอร์แกนระบุว่าการถกเถียงเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนของสหรัฐฯ ช่วงนี้เป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมผิดๆ ที่ว่าโรงเรียนของคนขาวปลอดภัยกว่าข้างนอก และวาทกรรมกดทับที่ว่าคนดำและชาวละตินเป็นคนอันตราย โดยที่นักเรียนผู้ออกมาประท้วงในครั้งนี้ก็ต้องการเปลี่ยนแปลงวาทกรรมนี้และขยายการพูดคุยในเรื่องนี้ออกไปให้กว้างขึ้น

เรียบเรียงจาก

The gun reform debate has largely ignored race. Black students made sure the school walkouts didn’t, Vox, Mar. 14, 2018

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.