Posted: 14 Mar 2018 10:45 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ชัยพงษ์ สำเนียง
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วพบสิ่งที่น่าสนใจ 4-5 ประเด็นทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่ค่อยได้คิดอย่างจริงจังทั้งที่เป็นหนึ่งในคนที่เขียนคำนำ


ประการแรก หนังสือเล่มนี้ของ อ.อานันท์ หรือตั้งแต่วิทยานิพนธ์ [The Partial Commercialization of Rice Production in Northern Thailand (1900-1981)(1984)] รวมถึงการศึกษาหลัง ๆ อ.อานันท์ ได้สร้างเวลาของการอธิบายประวัติศาสตร์ใหม่ ทั้งที่เป็นเวลาที่หลุดออกไปจากกรอบโครงสร้างที่เป็นทางการ มาสู่ "เวลาของพื้นที่" ภายใต้เงื่อนไขบริบทของพื้นที่เอง ซึ่งเราจะเห็นว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้นใช้เวลาความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นฐานอ้างอิง แต่งานของอานันท์ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ (เช่น การเข้ามาของข้าวนาปรัง การเข้ามาของพืชไร่ การเข้ามาของพืชพาณิชย์ ฯลฯ) ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมในรูปแบบต่าง ๆ

การอธิบายเวลาแบบที่อานันท์ใช้ได้ถูกสืบทอดในวิทยานิพนธ์ และการศึกษาของสำนักเชียงใหม่ภายใต้การควบคุมของอานันท์ และคนอื่น ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยเห็นการสร้างหรือใช้เวลาทำนองนี้

แต่อย่างไรก็ตาม การสร้าง/ใช้เวลาข้างต้น มีในการศึกษามานุษยวิทยาทั่วไปที่ต้องกำหนดเงื่อนไข บริบทภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ ซึ่งการนำมาประสานระหว่างมานุษยวิทยากับประวัติศาสตร์ถือเป็นจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้

ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงเวลาของการอธิบายไม่ได้หมายถึงแค่การเปลี่ยนความสัมพันธ์ แต่การที่อานันท์ ณ ขณะเขียนงานหลายชิ้นนี้ในเล่มนี้ยังสังกัดความคิดมาร์กซิสต์ ส่งผลให้การอธิบายเวลาแบบใหม่เพื่อหลุดพ้นจากกรอบโครงสร้างที่ครอบงำ ซึ่งในขณะนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างอิงแอบกับประวัติศาสตร์ชาติอย่างสำคัญ (ดู การอธิบายเวลาของมาร์กซิสต์ในงานของ อ.เก่งกิจ) การเปลี่ยนเวลาจึงหมายถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอำนาจใหม่ด้วย

ประการที่สาม หนังสือเล่มนี้ให้ความสนใจความขัดแย้งที่เกิดในสังคม เพื่ออธิบายเงื่อนไขที่นำมาสู่ปรากฏการณ์นั้น ๆ มากกว่ามุ่งหาภราดรภาพ ความกลมกลืน ซึ่งการศึกษาแบบหลังเป็นกระแสหลักของการศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้น

อ.อานันท์ เคยเล่าว่า การเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านทำให้เห็นความขัดแย้ง ไม่เท่าเทียม หรือพูดง่าย ๆ ว่าไม่ได้สงบสุขอย่างที่เคยคิด เพราะขณะที่อาจารย์เข้าไปอยู่ในหมู่บ้าน "ระบบทุนนิยม" ได้ลงหลักปักฐานในพื้นที่แล้ว งานของอาจารย์จึงต้องการอธิบายว่าภายใต้ความขัดแย้งนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในแง่ใดบ้าง อานันท์ได้อธิบายผ่านเรื่องผีกะ การจ้างแรงงาน การทำนาปลัง การจ้างร้อยถอน การเกิดชลประทาน ที่ทำให้เกิดการผลิตแบบเข้มข้นขึ้น นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ในชุมชนในหลายระดับ (อ่านรายละเอียดในหนังสือ)

ประการที่สี่ หนังสือเล่มนี้ปรับประยุกต์วิธีการอธิบายแนวมาร์กซิสต์กับเลวี-เสตราส์ อธิบายการเปลี่ยนแปลงสังคมชาวนาผ่านพิธีกรรมความเชื่อ(ผีกะ) ที่นำมาสู่การจัดโครงสร้างทางสังคมใหม่

ประการที่ห้า เราอ่านหนังสือเล่มนี้ทั้งในฐานะประวัติศาสตร์สังคมที่ผู้เขียนต้องการให้เป็น หรืออ่านในฐานะประวัติศาสตร์ของวิธีคิด เพราะแม้หนังสือเล่มนี้จะต้องการอธิบาย "ปรากฏการณ์" ของสังคมภาคเหนือ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างมโนทัศน์ (concept) เพื่อเป็นรากฐานในการอธิบายเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น ความคิดเรื่องเจื๋อง เวลาและวิธีคิดในตำนาน พ่อเลี้ยง ฯลฯ เป็นต้น

ท้ายสุด บางคนอาจบอกว่าหนังสือเล่มนี้ไม่มีความเป็นเอกภาพ แต่ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการร่วมในเล่มนี้เดาว่า อ.อานันท์ ในฐานะที่เคยเขียนวิธีคิดของฟูโกต์ ก็ไม่เน้นเรื่องเอกภาพเช่นกัน



[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.