Posted: 15 Mar 2018 06:50 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

แถลงการณ์คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลต่อสหประชาชาติ: เรียกร้องให้ประเทศไทยยุติการใช้กฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

15 มี.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วานนี้ (14 มี.ค.61) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ได้แถลงการณ์ด้วยวาจาเรียกร้องให้ประเทศไทยยุติการใช้กฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ณ การประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) สมัยที่ 37 ณ นครเจนีวา ในช่วง General Debate ของ Item 4 ว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ต้องการให้คณะมนตรีให้ความสนใจ (Human rights situations that require the Council’s attention) โดยมีข้อความดังต่อไปนี้

"เรียน ท่านประธาน

ICJ ยังคงกังวลต่อการใช้กฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่มีมาอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย

ระบบกฎหมายถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องเพื่อคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ ทนายความ สื่อมวลชน ผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และครอบครัวของพวกเขา โดยผ่านคำสั่งทางทหาร กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา การดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

ยกตัวอย่าง แค่ในช่วงปีนี้และแค่ในกรณีที่ทหารเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ ตำรวจได้ดำเนินคดีกับบุคคลมากกว่า 50 คนแล้วในฐานละเมิดคำสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปซึ่งเป็นฐานความผิดที่ถูกกำหนดขึ้นหลังการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 เพียงเพราะใช้สิทธิที่ตนพึงมีตามหลักสิทธิมนุษยชน ประชาชนกลับตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกจำคุก ในกรณีหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ตำรวจดำเนินคดีกับนักวิชาการและนักศึกษา 5 คนหลังจากป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ถูกนำมาติดแสดงในบริเวณมหาวิทยาลัย

ในเดือนกุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ความมั่นคงก็ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ฐานหมิ่นประมาทกับ อิสมาแอ เต๊ะ ผู้ที่กล่าวอ้างว่าเป็นผู้เสียหายจากการทรมาน เพียงเพราะว่าเขาได้อธิบายในรายการโทรทัศน์ว่าตนเคยถูกกระทำการทรมานและการได้รับการประติบัติที่ทารุณ (ill-treatment) ในค่ายทหาร

ICJ ขอเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกและแก้ไขกฎหมาย คำสั่ง และประกาศทั้งหลายที่ขัดต่อหลักนิติธรรม (rule of law) และการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และป้องกันมิให้ระบบยุติธรรมถูกนำไปใช้เพื่อคุกคามบุคคลใดๆที่ใช้สิทธิที่ตนพึงมีตามหลักสิทธิมนุษยชน

ขอขอบคุณ ท่านประธาน"


ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ใช้สิทธิในการตอบและได้แถลงว่าในประเด็นของการเคารพเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมนั้น "เราต้องเคารพความสมดุลระหว่างการใช้เสรีภาพดังกล่าวกับความสงบและเรียบร้อยของสังคมโดยรวม" ผู้แทนของประเทศไทยยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "รัฐบาลไม่สนับสนุนข้อความเนื้อหาใดๆที่จะนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมและกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น" และ "เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเคารพกฎหมายและกฎภายในประเทศซึ่งถูกร่างขึ้นเพื่อรับประกันสิทธิและเสรีภาพของบุคคลทุกคนรวมถึงความสงบเรียบร้อยของสังคม" นอกจากนี้ผู้แทนประเทศไทยยังได้อธิบายถึงก้าวขั้นที่ประเทศไทยดำเนินการเพื่อให้เกิดการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ได้แก่ การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้กฎหมายในทางที่ผิด การให้ความสำคัญกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนในการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศ และการเสนอกฎหมายเพื่อป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (SLAPP) โดยศาลยุติธรรม

สำหรับข้อความต้นฉบับภาษาอังกฤษและวีดีโอคำตอบของผู้แทนประเทศไทยฉบับเต็ม (ภาษาอังกฤษ) สามารถดูได้ที่ https://www.icj.org/hrc37thailand/


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.