Posted: 19 Apr 2018 03:12 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เดือน มี.ค. 2561 ผู้ประกันตนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 144,790 คน เพิ่มขึ้น 14,371 คน จากเดือน ก.พ. เช่นเดียวกับกับผู้ถูกเลิกจ้าง 24,238 คน เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. 1,124 คน

19 เม.ย. 2561 จากข้อมูล เศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน มี.ค. 2561 โดยกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่าภาวะการจ้างงานในตลาดแรงงาน เดือน มี.ค. 2561 การจ้างแรงงานในระบบประกันสังคมมีผู้ประกันตน (มาตรา 33) จำนวน 10,913,304 คน มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.52 เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. 2560 ซึ่งมีผู้ประกันตน จำนวน 10,542,660 คน แสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การทำงานเพิ่มขึ้นถึง 370,644 คน


สถานการณ์การว่างงาน (ผู้ว่างงาน หมายถึง ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม : SSO) จากข้อมูล ณ เดือน มี.ค. 2561 มีผู้ว่างงานจำนวน 144,790 คน มีอัตราการชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.25เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือน มี.ค. 2560) ซึ่งมีจำนวน 145,151 คน และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (เดือน ก.พ. 2561) ซึ่งมีจำนวน 130,419 คน โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 11.02 และหากคิดเป็นอัตราการว่างงานจากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเดือน มี.ค. 2561อยู่ที่ร้อยละ 1.33 มีอัตราเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานของเดือน ก.พ. 2561 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.20 ทั้งนี้จากข้อมูลอัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเดือน มี.ค. 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 มีอัตราการว่างงานลดลงเมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. 2561 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.3


สถานการณ์การเลิกจ้าง อัตราการเลิกจ้างลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 คิดจากจำนวนผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง ต่อจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 เดือน มี.ค. 2561 ผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างมีจำนวนทั้งสิ้น 24,238 คน คิดเป็นร้อยละ 0.22 มีอัตราเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. 2561 ที่มีอัตราการเลิกจ้างลูกจ้างที่ร้อยละ 0.21 รวมทั้งมีอัตราลดลงเมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว ที่มีอัตราการเลิกจ้างลูกจ้างที่ร้อยละ 0.25

แรงงานฝ่ายผลิตยังคงเป็นที่ต้องการมากที่สุด

ด้านข้อมูลจาก กองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ระบุว่าสถานการณ์ตลาดแรงงานเดือน ก.พ. 2561 ปรากฏว่าความต้องการแรงงานในประเทศโดยรวมลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 28.86 โดยลดลงในอุตสาหกรรมการผลิตมากที่สุด และความต้องการแรงงานของนายจ้างที่ประกาศผ่านหนังสือพิมพ์เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาพบว่าลดลงร้อยละ 0.24 และสำหรับการเดินทางไปทำงานต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.16 จากเดือนก่อน ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางไปทำงานในภูมิภาคเอเชีย โดยมีไต้หวันเป็นตลาดแรงงานหลักซึ่งแรงงานไทยนิยมเดินทางไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ภาพรวมการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.3

กรมการจัดหางานได้รับแจ้งความต้องการแรงงาน (ตำแหน่งงานว่าง) จากนายจ้าง/สถานประกอบการเดือน ก.พ. 2561 จำนวน 31,193 อัตรา มีผู้สมัครงาน 11,279 คน และบรรจุงานได้ 24,700 คน อุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต 11,736 อัตรารองลงมาคือ การขายส่ง การขายปลีก ซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 7,743 อัตรา ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3,013 อัตรา กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 2,077 อัตรา การก่อสร้าง 1,035 อัตรา อาชีพที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุดคือ อาชีพงานพื้นฐาน (แรงงานทั่วไป แรงงานด้านการผลิต) 10,038 อัตรา รองลงมาคือ พนักงานบริการ พนักงานขาย 6,427 อัตรา เสมียน เจ้าหน้าที่ 4,878 อัตรา ช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 3,850 อัตรา ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักรและผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ 1,971 อัตรา

ความต้องการแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ร้อยละ 60.14 รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 14.31 ภาคเหนือ ร้อยละ 13.22 และภาคใต้ร้อยละ 12.33 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีความต้องการแรงงาน 33,889 อัตรา และเดือนก่อนหน้าที่มีความต้องการแรงงาน 43,849 อัตรา พบว่าความต้องการแรงงานลดลง 2,696 อัตรา และ 12,656 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 7.96 และ 28.86 ตามลำดับ

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.