Posted: 16 Apr 2018 08:05 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ศรายุทธ ฤทธิพิณ สำนักข่าวปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน เขียนรำลึก ครบรอบ 2 ปี การจากไปของ 'เด่น คำแหล้' นักต่อสู้สิทธิที่ดินจากทุ่งลุยลาย และผลกระทบจากนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า”

17 เม.ย.2561 เนื่องในวาระครบรอบ 2 ปี การหายตัวไปของ เด่น คำแหล้ นักต่อสู้สิทธิที่ดินจากทุ่งลุยลาย ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นแกนนำเรียกร้องการปฏิรูปที่ดินของชุมชน ซึ่งหายตัวไปเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2559


วันนี้ (17 เม.ย.61) ศรายุทธ ฤทธิพิณ นักข่าวพลเมืองจาก สำนักข่าวปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน เขียนบทความรำลึก ในหัวข้อ 'ครบรอบ 2 ปี การจากไปของ”เด่น คำแหล้ “ อยู่อย่างยิ่งใหญ่ ตายอย่างมีเกียรติ' โดยมีรายละเอียดดังนี้

ไม่เคยมีหลักประกันใดจากอำนาจรัฐที่จะมารองรับให้ชาวบ้านดำเนินวิถีชีวิตอยู่กับป่า ได้ด้วยความปกติสุข หรือผู้ปกครองมองเพียงมุมเดียวมาตลอดว่า พวกเขาเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาที่ไร้เกียรติฐานะทางสังคม ไม่มียศตำแหน่งใดๆ ทั้งๆที่พวกเขาก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีภูมิปัญญา มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านสูงกว่าบางบุคคลที่มองตัวเองว่าเป็นชนชั้นที่มีเกียรติทางสังคม

ภายใต้บรรยากาศที่สุ่มเสี่ยงของชาวบ้านชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ที่ถูกเจ้าหน้าที่พยายามผลักดันให้ออกจากที่ดินทำกินด้วยสารพัดวิธี มีมาตลอดระยะเวลา โดยเฉพาะหลังจากมีนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ชาวบ้านจะถูกอำนาจที่หน่วยงานรัฐได้กระทำการข่มขู่ คุกคาม มาหลายครั้ง เช่น วันที่ 25 ส.ค.57 เจ้าหน้าที่เข้ามาปิดประกาศคำสั่ง คสช.64/57 ให้อพยพ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ และในวันที่ 6 ก.พ.58 เจ้าหน้าสนธิกำลังเข้ามาอีกรอบ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือต้องออกจากพื้นที่บริเวณนี้ให้ได้ แต่ชาวบ้านยืนยันไม่ยอมออกจากที่ทำกินดั้งเดิมที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ


ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาปมพิพาท ที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์การทวงคืนผืนป่าฯ อย่างเข้มข้น พ่อเด่นจะเป็นแกนนำในการเรียกร้องสิทธิ และเข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงในระดับนโยบายกับหน่วยงานรัฐ จนมีมติให้ชะลอการไล่รื้อออกจนกว่าจะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง

กระทั่งเช้าวันที่ 16 เม.ย.59 หลังจากพ่อเด่น เข้าไปหาเก็บหน่อไม้ ในบริเวณสวนป่าโคกยาว รอยต่อระหว่างป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เพื่อเก็บไปขายที่ตลาดทุ่งลุยลายในตอนเย็นตามปกติ และวันนั้นพ่อเด่น ยังไม่ได้กลับบ้าน นับจากนั้นแม้การระดมค้นหามาอย่างต่อเนื่อง ติดต่อกันหลายวัน แต่ไม่มีผู้ใดพบเห็น แม้แต่เงาก็ไม่ปรากฏ

จนวาระสุดท้ายของการติดตามค้นหาเมื่อวันที่ 24 มี.ค.60 ได้พบกางเกง รองเท้า และสิ่งของใช้ที่แม่สุภาพ(ภรรยา)ยืนยันว่าเป็นของพ่อเด่น และวันที่ 25 มี.ค.60 พิสูจน์หลักฐานตำรวจลงตรวจสอบพื้นที่ ได้พบหัวกะโหลกมนุษย์เพิ่มเติม ซึ่งผลตรวจสอบหัวกะโหลกจากเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน แจ้งว่า มีสารพันธุกรรม(ดีเอ็นเอ)เดียวกันกับน้องสาวของพ่อเด่น

และในวันที่ (16 เม.ย.61) ครบรอบ 2 ปี การจากไปของ ”เด่น คำแหล้ “ ที่ควรรำลึกถึงความทรงจำที่พ่อเด่น ต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ดิน และได้สร้างคุณค่าประโยชน์ที่ดีงามทั้งต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งที่อยู่อาศัยเพื่อให้ลูกหลานมีที่ทำกิน จากรุ่นสู่รุ่นสืบไป

ไม่เคยมีหลักประกันใดจากอำนาจรัฐที่จะมารองรับให้ชาวบ้านมีชีวิตอยู่กับป่าได้อย่างมีความสุข นอกจากการยืนหยัดต่อสู้ด้วยสมองและสองมือเปล่าของชาวบ้าน...เด่น คำแหล้ "อยู่อย่างยิ่งใหญ่ ตายอย่างมีเกียรติ"
ปมพิพาทในพื้นที่สวนป่าโคกยาว

ปี 2516 ถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ต่อมาในปี พ.ศ.2528 รัฐได้เข้ามาอพยพขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ทำกิน โดยอ้างว่าเพื่อปลูกป่าตามโครงการ “หมู่บ้านรักษ์ป่า ประชารักษ์สัตว์” และจะจัดสรรที่ดินรองรับ แต่เจ้าหน้าที่กลับนำต้นยูคาลิปตัส มาปลูกทับที่ทำกินชาวบ้านแทน ส่วนพื้นที่รองรับเป็นที่ดินที่มีเจ้าของอยู่แล้ว ทำให้ไม่สามารถเข้าทำกินได้ และเข้าที่เดิมก็ไม่ได้

หลังจากชาวบ้านได้เรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง แต่การแก้ไขปัญหาไม่มีข้อยุติ ทำให้ไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ได้

ต่อมาในปี 2549 ชาวบ้านชุมชนโคกยาว ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)

และในปี พ.ศ.2552 ได้ชุมนุมเคลื่อนไหวกับชาวบ้านผู้เดือดร้อนทั่วประเทศ ในนามเครือข่ายปฎิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย(คปท.)โดยได้ผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการที่ดินโดยชุมชนในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” กระทั่งรัฐบาลสมัยนั้นได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ในวันที่ 7 มิ.ย.53

ต่อมาในปี พ.ศ.2554 เครือข่ายประชาชนได้รวมตัวกัน ในนาม “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” (พีมูฟ) ได้ชุมนุมติดตามปัญหา กระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนฯ ให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่มีการคุกคาม ข่มขู่ หรือดำเนินคดีความใดๆ และเป็นที่มาของการเข้าพื้นที่โคกยาวในเวลาต่อมา

แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่กลับนำกำลังกว่า 200 นาย บุกเข้าควบคุมตัวชาวบ้านในช่วงเช้ามืดของวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 และแจ้งความดำเนินคดีชาวบ้านจำนวน 10 คน ข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.