ที่มาของเพจ?

Posted: 19 Apr 2018 06:14 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ และ อิศเรศ เทวาหุดี

คุยกับ ‘นิรนาม’ หนึ่งในแอดมินเพจและผู้ร่วมจัดงานดนตรีพังก์ “จะ4ปีแล้วนะไอ้สัตว์” ซึ่งจะจัดวันที่ 12 พ.ค. นี้ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในวาระที่รัฐประหาร คสช. กำลังจะครบรอบ 4 ปี พร้อมอธิบายความเป็นพังก์ที่สะท้อนตัวตนผ่านการรื้อสิ่งเก่าสร้างสิ่งใหม่ เมื่อทุกคนล้วนเป็นผลิตผลของการเมืองและสังคม ดังนั้นเราจึงต้องพูดเรื่องการเมือง

จริงๆ มันเป็นชื่องานที่พวกเรากลุ่มนักดนตรีร่วมกันจัด อย่างของเราเป็นดนตรีพังก์ ซึ่งพังก์มีหลายแนวมาก แต่ของเราเป็นดนตรีพังก์ในสายการเมือง สังคมเด็กพังก์เด็กเมทัลเราเล่นเพลงแบบนี้กันอยู่แล้ว เรามีกลุ่มแฟนเพลงแฟนคลับของเราอยู่แล้ว เพลงที่แต่งมาก็ปล่อยลงในยูทูบเป็นปกติ หลายๆ วงเล่นกันมาหลายปีก่อนหน้ารัฐประหารครั้งล่าสุด บางวงก็เล่นเพลงที่มีเนื้อหาอย่าง 6 ตุลา

ช่วยอธิบายวัฒนธรรมพังก์ในความคิดของคุณหน่อย?

เรื่องพังก์เราอาจจะมองกันแค่รูปแบบ ไว้ผมโมฮอค ย้อมผม เจาะนู้น สักนี่ มองเผินๆ อย่างแนวของเราคือคลัชพังก์ ก็จะเป็นสกินเฮด แต่งโทนสีดำ และพูดเรื่องการเมือง อาจเป็นแค่รูปแบบ แต่ถ้าดูในสาระของเด็กพังก์ มันมีการวิพากษ์วิจารณ์หมด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างในอินโดนีเซีย มันแทบเป็นกระแสหลักของบ้านเขาในการใช้ดนตรีพังก์เป็นเครื่องมือพูดกับรัฐ หรือกระทั่งพม่า ที่เราเห็นในสารคดี My Buddha is Punk (2015) มันเป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่เราจะใช้ในการพูดกับรัฐได้ พังก์จึงไม่ใช่เรื่องผิวเผินแค่สไตล์การแต่งตัว แต่เป็นรูปแบบของวัฒนธรรมหนึ่ง และในเนื้อหาก็มักจะพูดเรื่องการเมือง หัวใจของพังก์มันคือการรื้อสิ่งเก่าแล้วสร้างสิ่งใหม่ คือความขบถต่อวิถีเดิม

ทำไมชื่อเพจต้องเป็น ‘จะ4ปีแล้วนะไอ้สัตว์’ ?

เรากำลังหาชื่อที่จัดงาน เราคิดกันหลายชื่อ เรามองว่าดนตรีพังก์หรือเมทัลมันมีความขบถ ความหยาบคาย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของพังก์อยู่แล้ว เราพูดกันตรงไปตรงมาเป็นเรื่องปกติ เราเลยหาชื่อที่มันน่าจะสื่อสารกับคนได้ “จะ4ปีแล้วนะไอ้สัตว์” เราอยากสื่อสารไปถึงคนทั่วๆ ไปว่าเราอยู่กับระบอบของ คสช. แล้วเราต้องการการเลือกตั้งมาสี่ปีแล้ว

ทำไมถึงเพิ่งมาจัดในปีที่ 4 ?

จริงๆ มันมีจัดกันมาตลอดอยู่แล้ว งานนี้ก็เป็นงานที่ปกติมากๆ ของสังคมเด็กพังก์ใต้ดิน แนวพังก์การเมือง หรือคลัชพังก์ (Crash Punk) เป็นเพลงเกี่ยวกับการเมืองวิพากษ์วิจารณ์อำนาจ ถ้าไม่ใช่เพลงตัวเองก็จะไปโคฟเวอร์เพลงที่เกี่ยวกับการเมืองของวงอื่นมาอย่าง sex pistols, Green Day เราก็จะตระเวนไปเล่นตามที่ต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นในผับ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการจัดงานแบบนี้อยู่แล้ว งานนี้ก็เป็นแค่อีกงาน แต่เราก็อยากจัดให้เป็นพิเศษหน่อย เราเลยจัดที่อนุสรณ์สถาน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดนอกสถานที่
เพจได้รับการตอบรับดี มีความกังวลว่าจะถูกห้ามไม่ให้จัดงานไหม?

มีความกังวล แต่เราขออนุญาตสถานที่ไว้แล้ว ทำหนังสือเรียบร้อย ซึ่งก็หวังว่าเราจะจัดงานกันได้ เพราะงานครั้งนี้เรามองว่างานนี้เป็นงานปาร์ตี้งานหนึ่งที่เล่นดนตรี มาสนุกกัน แล้วจบกันไปในงาน และเราจะไม่ให้นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าในงาน งานดนตรีมันก็ควรสนุกได้โดยไม่ต้องมีเหล้าเบียร์ เราไม่อยากให้เกิดการทะเลาะวิวาทหรือความรุนแรงในงาน เราอยากให้เป็นงานดนตรีที่สนุกทั้งคนเล่นคนดู แล้วแฮปปี้กลับบ้านกันไป แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเรามองว่าที่เราจัดงานนี้เป็นการแสดงออกทางจุดยืนด้านการเมืองซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำได้ อยากให้เขาฟังเสียงจากคนตัวเล็กๆ ซึ่งไม่ได้มีพิษมีภัยอะไร

กลัวโดนข้อหาห้ามชุมนุมเกิน 5 คน หรือมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นไหม?

ถ้าเป็นเรื่องข้อหาห้ามชุมนุมเกิน 5 คน แบบที่กลุ่มการเมืองบางกลุ่มโดน ผมก็คิดว่างานของเรามันคืองานดนตรี มันเป็นงานรื่นเริง หรือมาตรา 116 ผมไม่ได้คิดถึงจุดนั้นเลย ผมรู้สึกว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด มันคือการแสดงออกของคนปกติ เป็นเรื่องธรรมดามากๆ

คาดหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรไหม?

ไม่ได้หวังว่าจะเป็นงานที่คนมาเยอะเรือนหมื่นเรือนแสน ไม่เคยหวังว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอะไร เพียงแต่ผมเป็นนักดนตรี เป็นเด็กพังก์ ผมอยากทำงานแบบนี้ อยากให้มีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นเป็นสีสันวงการดนตรีพังก์ ผมรู้สึกว่าแม้กระทั่งในหมู่ดนตรีพังก์หรือดนตรีแนวอื่นๆ เขาก็ไม่ค่อยพูดเรื่องการเมืองกันเอาเสียเลย ทั้งๆ ที่ตัวนักดนตรีหรือศิลปินเหล่านี้เป็นผลิตผลของการเมืองแท้ๆ แต่เขาเลือกที่จะพูดเรื่องอื่น เราเป็นแค่เสี้ยวเล็กๆ เสี้ยวหนึ่งที่อยากทำอะไรแบบนี้ขึ้นมา แต่เราไม่ได้ต้องการจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงหรืออะไรทั้งสิ้น

นักดนตรีหรือศิลปินเป็นผลิตผลของการเมือง ช่วยขยายความหน่อย?

คุณด้วย ไม่ใช่แค่ผม ทุกคนเป็นผลผลิตของระบบการเมืองและสังคม สิ่งที่ศิลปินเป็นคือเขาต้องแสดงตัวตนของเขาออกมา ตัวตนก็เกิดจากสังคม สภาพแวดล้อมนี่แหละ คุณก็ต้องสะท้อนมันออกมาในสิ่งที่คุณเป็นและอยากเล่า มันคือหน้าที่ของศิลปิน เรามองว่าดนตรีทุกแนวสามารถพูดถึงสังคมได้ คุณจะเป็นป็อบ อาร์แอนด์บี แร็พ สามช่า หมอลำ ฯลฯ คุณพูดถึงการเมืองได้หมดถ้าคุณจะพูด คุณคิดว่าเพลงใจเพชร เพลงคืนความสุข มันเป็นการเมืองไหมล่ะ มันก็การเมืองทั้งนั้น แต่อย่างแร็พหรือพังก์มันเกิดจากสังคมใต้ดิน ความ radical (สุดโต่ง) ความปากจัดของมันก็อาจจะเยอะหน่อย

แล้วความเป็นพังก์มีอะไรที่คุณชอบ?

เวลาเราฟังดนตรีเราฟังจากความเป็นตัวตนของเรา มันสะท้อนตัวตนของเขา พังก์สะท้อนความแตกหัก ความโหลยโท่ยของสังคม ในดนตรีพังก์ ซาวด์ที่มันแตกๆ กลองที่มันสับเหมือนเครื่องจักรกล มันคือการสะท้อนความเจ็บปวดของคนชั้นล่าง คนที่อยู่ในโรงงาน คนที่มีสิทธิมีเสียงน้อย เราก็เลยชอบพังก์ในมิติแบบนี้ มันเป็นดนตรีที่แอนตี้ทฤษฎี คือเราเล่นแบบที่เราเป็น เราอาจจะไม่ต้องรู้โน้ตรู้อะไรกันมาก จับคอร์ดไม่กี่คอร์ด ก็เล่นออกมาได้ มันมีความจริงใจในการสื่อสาร

เพลงพังก์ที่คุณชอบ?

ผมชอบวง students ugly มาก ถ้ามีโอกาสก็อยากเชิญพี่รอย (ผู้ก่อตั้งวง) มาเล่นด้วยกัน
วางแผนจะจัดงานแบบนี้อีกไหม?

ตอนนี้ยังไม่ได้คิดว่าจะมีอะไรต่อไป เพียงแต่เราอยากจะเล่นอะไรแบบนี้ต่อไป และถ้างานนี้มันสร้างการเคลื่อนไหวในวงการพังก์ให้มีความตื่นตัวบ้าง คิดว่ามันก็คงจะดี


“จะ4ปีแล้วนะ(ไอ้สัตว์)”


จัดขึ้นวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 เวลา 18.00 น เป็นต้นไป
ณ อนุสรณ์สถาน14ตุลา แยกคอกวัว ดูฟรีไม่เก็บค่าเข้า

วงดนตรี


  • DrunkAllDay
  • KILLING FIELDS
  • Uppercut
  • Radical Rat
  • Pistols99
  • สันดาน
  • อนาธิปไตย


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.