Posted: 16 Apr 2018 11:33 PM PDTที่มาภาพประกอบ: pixabay.com/akira535 (CC0)

จำนวนประชากรในญี่ปุ่นยังคงลดลงเป็นปีที่ 7 เหลือ 126.7 ล้านคน สัดส่วนประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก รัฐบาลเตรียมจัดระบบวีซ่าแรงงานต่างชาติใหม่ จะให้ชาวต่างชาติบางกลุ่มเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นได้ เพิ่มจากปัจจุบันที่ให้เพียงผู้มีความชำนาญกับผู้ฝึกงานด้านเทคนิคเท่านั้น

เว็บไซต์ THE JAPAN TIMES รายงานว่ากระทรวงกิจการภายในของญี่ปุ่นแถลงเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2561 ว่าจำนวนประชากรทั้งหมดของญี่ปุ่น (รวมถึงผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติ) ณ วันที่ 1 ต.ค. 2560 อยู่ที่ 126.7 ล้านคน ตัวเลขนี้ลดลงจากปี 2559 ถึง 227,000 คน (คิดเป็นร้อยละ 0.8) ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 แล้ว

นอกจากนี้พบว่าประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 27.7 ซึ่งถือว่าเป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ขณะที่สัดส่วนประชากรวัยเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 12.3

ประชากรใน 40 จังหวัดจากทั้งหมด 47 จังหวัดของญี่ปุ่นมีจำนวนลดลง ข้อมูลดังกล่าวรวมถึงแรงงานชาวต่างชาติและนักศึกษาที่พำนักอยู่นานกว่าสามเดือน

ประชากรของญี่ปุ่นลดลงอย่างรวดเร็วและเป็นผลมาจากอัตราการเกิดต่ำมาก ในเดือน เม.ย. 2560 รัฐบาลญี่ปุ่นได้คาดการณ์ว่าประชากรจะลดลงต่ำกว่า 100 ล้านคน ในปี 2596 และจะลดลงเหลือ 88.08 ล้านคน ภายในปี 2608

เตรียมจัดระบบวีซ่าแรงงานต่างชาติใหม่

ด้านเว็บไซต์ NHK World ระบุว่าญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงานรุนแรงเนื่องจากจำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลง รัฐบาลญี่ปุ่นจัดทำแผนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยจะให้ชาวต่างชาติบางกลุ่มสามารถเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นได้

ขณะนี้ชาวต่างชาติที่ทำงานในญี่ปุ่นมีสถานะหลัก 2 กลุ่ม กลุ่มแรกก็คือผู้ที่ได้รับการว่าจ้างจากความชำนาญ 18 ประเภท เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย แพทย์ และทนายความ อีกกลุ่มคือ ชาวต่างชาติที่เข้าร่วมโครงการฝึกงานด้านเทคนิค

แผนที่ได้รับการนำเสนอใหม่นี้จะอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่มีทักษะบางลักษณะทำงานในญี่ปุ่นได้สูงสุด 5 ปี สำหรับชาวต่างชาติที่เสร็จสิ้นการฝึกงานก็จะมีโอกาสได้รับสถานะนี้เช่นกัน โดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่นำครอบครัวมายังญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นเสริมว่ากำลังพิจารณาอีกด้วยว่าจะให้ผู้มีสถานะเหล่านี้สามารถพำนักอยู่ในญี่ปุ่นได้ไปตลอดหากพวกเขาผ่านการทดสอบที่กำหนดไว้ในระหว่างช่วง 5 ปีที่อยู่ในญี่ปุ่น

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.