ภาพเด็กที่อาศัยในป่าแก่งกระจาน (ที่มา:แฟ้มภาพ)

Posted: 19 Apr 2018 02:48 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เครือข่ายกะเหรี่ยงพื้นที่ป่าแก่งกระจานออกรายงานปัญหาการใช้ที่ดินของกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เผย กว่าครึ่งเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรรมเป็นรับจ้างทั่วไปเพราะโดนรัฐผลักออกจากป่า ได้รับผลกระทบจากเขตป่าอนุรักษ์ทับที่ดินทำกิน ไม่รู้เรื่องทวงคืนผืนป่า แต่รู้ว่า 'บิลลี่' หายตัว
สืบเนื่องจากการจัดเวทีสุนทรียเสวนาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าไม้ ของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) เมือวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรีเปิดรายงานสรุปสถานการณ์ปัญหาการใช้ที่ดินป่าไม้ของชุมชนกะเหรี่ยงกลุ่มป่าแก่งกระจาน

รายงานแสดงภาพแผนที่ตำแหน่งและข้อมูลสถิติประชากรของหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงกลุ่มป่าแก่งกระจานที่สำรวจครั้งล่าสุดในช่วงเดือน ส.ค. 2560 - ก.พ. 2561



รายงานระบุต่อไปว่า หัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่ร้อยละ 48.3 มีอายุอยู่ในช่วงวัยแรงงานคืออายุ 30-49 ปี และร้อยละ 51.7 ไม่ได้เรียนหนังสือในระบบการศึกษา จึงไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ การดำรงวิถีชีวิตด้วยระบบการเกษตรจึงเป็นอาชีพหลักของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานในอดีต แต่ปัจจุบันอาชีพรับจ้างทั่วไปได้กลายมาเป็นอาชีพหลักของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน (จากการสำรวจมีครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนประกอบอาชีพเกษตรกรรม 187 ครัวเรือน และรับจ้างทั่วไป 247 ครัวเรือน) โดยสาเหตุหลักการเปลี่ยนอาชีพคือปัจจัยเรื่องที่ดิน เดิมชาวกระเหรี่ยงใช้ประโยชน์ที่ดินในระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน อันเป็นระบบเกษตรผสมผสานที่สร้างความสมดุลและยั่งยืนให้กับนิเวศป่าไม้

แต่การทำไร่หมุนเวียนชาวกะเหรี่ยงได้ปรับเปลี่ยนไปสู่การทำไร่ถาวรภายใต้ข้อจำกัดด้านที่ดินเนื่องจากอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ อีกทั้งแรงกดดันจากนโยบายรัฐด้านการจัดการที่ดินป่าไม้อย่างเข้มข้นโดยการผลักดันชุมชนออกจากป่า ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มป่าแก่งกระจานจึงเป็นผู้ได้รับผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ร้อยละ 68 ของครัวเรือนชาวกะเหรี่ยงมีที่ดินทำกิน ขณะที่อีกร้อยละ 32 ไม่มีที่ดินทำกิน เป็นปรากฎการณ์ชาวกะเหรี่ยงกว่า 247 ครัวเรือน หรือราวร้อยละ 52.1 ต้องหันไปประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป

รายงานยังได้ทำการสำรวจความเห็นต่อประเด็นความมั่นคงในการดำรงชีวิตอันเป็นผลจากความไม่มั่นคงในที่ดิน ได้ข้อมูลดังต่อไปนี้


ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มป่าแก่งกระจานร้อยละ 53.4 รู้สึกว่าตนเองได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ซ้อนทับที่ดินทำกินของตนเอง


ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มป่าแก่งกระจานร้อยละ 37.3 รู้สึกว่าตนเองได้รับผลกระทบจากการดำเนินการสำรวจปักหลักเขตที่ดินของเจ้าหน้าที่อุทยานที่ด าเนินการตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541


ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มป่าแก่งกระจานร้อยละ 17.1 รู้สึกว่าตนเองได้รับผลกระทบจากการถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติจับกุมดำเนินคดีบุกรุกแผ้วถางป่า


ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มป่าแก่งกระจานร้อยละ 14.9 และ 10.6 รู้สึกว่าตนเองได้รับผลกระทบจากการถูกเจ้าหน้าที่อุทยานห้ามไม่ให้เข้าพื้นที่ทำกินและถูกรื้อถอนพืชไร่ที่ปลูกไว้


ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มป่าแก่งกระจานร้อยละ 7.1 รู้สึกว่าตนเองได้รับผลกระทบจากการถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติยกเลิกเอกสารสิทธิ์ที่ดินประเภท สทก. (สทก. คือสิทธิทำกิน เป็นที่ดินในเขตป่าสงวนและเป็นป่าไม้เสื่อมโทรม ต้องเป็นพื้นที่ที่ได้ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยอยู่แล้ว จึงประกาศเป็นเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ ฉะนั้น สทก.ยังเป็นที่ป่าสงวนอยู่ โดยกรมป่าไม้เป็นผู้อนุญาตและทำการรังวัด ไม่สามารถซื้อขายได้ แต่ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทได้ ที่มา: TCIJ)

นโยบายด้านการจัดการที่ดินและป่าไม้ของรัฐที่ไม่สามารถสร้างความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนากลุ่มคนต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ได้นับตั้งแต่อดีตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันดังที่ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มป่าแก่งกระจานเผชิญอยู่อย่างต่อเนื่อง ชาวกะเหรี่ยง 55 ครัวเรือนถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติจับกุมข้อหาบุกรุกแผ้วถางป่า ต่อคำถามที่ว่า การใช้อำนาจตามหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามกฎหมายหรือเป็นด้วยเหตุปัจจัยอื่น ผู้ให้คำตอบได้คือชาวกะเหรี่ยงกลุ่มป่าแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเท่านั้น แต่การจับกุมชาวกะเหรี่ยงที่ทำกินในพื้นที่ยังคงมีอยู่และที่สำคัญมีความถี่ของการจับกุมผู้หญิงที่เป็นหัวหน้าครัวเรือนมากถึง 28 ราย ในขณะที่เป็นผู้ชายมี 27 ราย จึงยังไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาที่เป็นข้อยุติความขัดแย้ง


การจัดการพื้นที่อนุรักษ์โดยการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของกลุ่มป่าแก่งกระจานในอีก 1 ปีข้างหน้าจึงยังคงต้องรอต่อไปเมื่อชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่กว่าร้อยละ 51.3 ไม่เคยรับรู้หรือไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับความสำคัญของการเป็นมรดกโลกของกลุ่มป่าแก่งกระจาน กว่าร้อยละ 62 ไม่เคยรับรู้หรือรู้เรื่องเกี่ยวกับนโยบายทวงคืนผืนป่าและการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 30 มิ.ย. 2541 ของเจ้าหน้าที่รัฐแต่ชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้รับรู้และทราบข่าวของการหายตัวไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ร้อยละ 78.9 รับรู้และรับทราบปัญหาของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงบ่งชี้ได้ว่าการดำเนินนโยบายด้านการจัดการที่ดินและป่าไม้โดยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติระดับพื้นที่ในกลุ่มป่าแก่งกระจานยังเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อความมั่นใจในความมั่นคงของการดำรงชีวิตจากการใช้ที่ดินของชาวกะเหรี่ยงกลุ่มป่าแก่งกระจานอยู่ เพราะไม่รู้ว่าวันใดจะถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเข้ามาจับกุมดำเนินคดีในขณะที่กำลังแผ้วถางพื้นที่ทำกินของตนเอง

เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “กฎหมาย” เข้ามาดำเนินการต่อกลุ่มคนที่อยู่กับป่าอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองแนวนโยบายแห่งรัฐว่าด้วยการอนุรักษ์ป่าเพื่อสิ่งแวดล้อมเชิงเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ อนาคตของการใช้ประโยชน์จากที่ดินป่าไม้เพื่อทำเกษตรกรรมของคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงกลุ่มป่าแก่งกระจานจึงไม่สามารถคาดเดาได้ เมื่อความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการรักษาผืนป่าอนุรักษ์ได้เป็นมาตรการที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้ แต่ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องเข้าใจและเข้าถึงชุมชนเพื่อร่วมกับชุมชนหาทางเลือกที่เหมาะสมการเริ่มต้นค้นหาทางเลือกเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง

ณ ปัจจุบันสิทธิอำนาจการตัดสินใจโดยตัวตนของชาวกะเหรี่ยงกลุ่มป่าแก่งกระจานยังอยู่ในอำนาจควบคุมของตัวแทนภาครัฐ แม้ว่าทุกคนจะมีบัตรประชาชนคนไทยที่แสดงว่าเขาเหล่านั้นเป็นเสียงหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงเขาทั้งหลายยังขาดสิทธิด้านที่ดินทำกิน การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากระบบไร่หมุนเวียนมาเป็นการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวเป็นการปรับตัวภายใต้ข้อจำกัดด้านที่ดินและแรงกดดันจากภาครัฐ ตลอดจนการแข่งขันระดับพื้นที่และการปรับตัวเข้าสู่ระบบตลาด การต่อสู้เพื่อให้ได้ที่ดินทำกินในเขตป่าอนุรักษ์จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดี สิ่งที่คาดหวังและมีความน่าจะเป็นคือการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนผ่านกระบวนการเรียนรู้และแก้ไขอย่างเป็นระบบ บนพื้นฐานของการมีวิถีวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกับป่าที่ต่างกัน

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.