Voice TV

เครือข่ายนักกฎหมายและคณาจารย์นิติศาสตร์ จำนวน 70 คน ร่วมออกแถลงการณ์วิจารณ์คำวินิจฉัยศาล รธน. ชี้โอกาสในการต่อสู้คดีไม่เป็นธรรม ทำลายเสรีภาพในการแสดงออก ย้ำคำวินิจฉัยกรณีล้มล้างการปกครอง คือการขยายความขัดแย้งให้รุนแรงมากขึ้นในอนาคตอันใกล้
ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล กฤษณ์พชร โสมณวัตร และสมชาย ปรีชาศิลปกุล ร่วมกันแถลงการณ์เรื่อง “การล้มล้างสถาบันฯ หรือการล้มล้างสิทธิเสรีภาพของประชาชน” ในฐานะตัวแทนของเครือข่ายนักกฎหมายและคณาจารย์นิติศาสตร์ จำนวน 70 คน โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ต่อกรณีการเคลื่อนไหวของเยาวชนและประชาชน (ในการชุมนุม เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตยหรือ “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต) ศาลรัฐธรรมนูญได้มีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ความดังกล่าวได้เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในทางสาธารณะแล้วนั้น
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้นำมาซึ่งคำถามอันเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะกระทบต่อหลักการพื้นฐานของระบบกฎหมายและสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ทั้งจะส่งผลสืบเนื่องต่อไปถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ปมประเด็นปัญหาดังกล่าวปรากฏขึ้นอย่างน้อยใน 3 ประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้
ประการแรก สิทธิในเข้าถึงการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (right to fair trial)
สิทธิในการเข้าถึงการพิจารณาอย่างเป็นธรรมถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่ได้รับการรับรองไว้อย่างกว้างขวาง ดังปรากฏในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 10, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 และสิทธิดังกล่าวก็ถือเป็นหลักการพื้นฐานของกระบวนพิจารณาคดีในระบบกฎหมายสมัยใหม่อันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป อันมีสาระสำคัญว่าบุคคลจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม ทั้งจะต้องสามารถนำเสนอพยานหลักฐานในการโต้แย้งหักล้างกับบุคคลที่กล่าวหาได้อย่างเต็มที่
ในการวินิจฉัยคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสได้ต่อสู้ต่อข้อกล่าวหา ด้วยการปฏิเสธไม่ให้มีการนำพยานเข้าชี้แจง แม้จะได้มีการชี้แจงว่าศาลได้มีการสืบหาข้อมูลข้อเท็จจริงมาจนสามารถชี้ขาดคดีได้ อย่างไรก็ตาม การรวบรัดในกระบวนการพิจารณาโดยไม่เปิดโอกาสให้กับฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจงและนำเสนอพยานหลักฐาน ย่อมถือเสมือนเป็นการปฏิเสธสิทธิในการเข้าถึงการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมอย่างชัดเจน ซึ่งก็อาจนำไปสู่การตั้งคำถามต่อคำตัดสินว่าเป็นไปโดยปราศจากข้อมูลที่รอบด้านว่าเป็นผลมาจากมุมมองและจุดยืนของผู้วินิจฉัยเป็นที่ตั้ง
ประการที่สอง เสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression)
เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นสิทธิเสรีภาพสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ให้การรับรองไว้ในข้อ 19 และข้อ 20, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 18 และข้อ 21 ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก็ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็นไว้ในมาตรา 34, เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธในมาตรา 44 การรับรองไว้อย่างสอดคล้องกันทั้งในกฎหมายระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเสรีภาพดังกล่าวอย่างชัดเจน แม้การรับรองเสรีภาพดังกล่าวจะบัญญัติให้มีการจำกัดขอบเขตเสรีภาพลงได้แต่ก็ต้องเป็นไปด้วยเหตุผลอันชัดเจนว่าการใช้เสรีภาพดังกล่าวจะนำไปสู่ผลกระทบอันรุนแรงต่อส่วนรวม
จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้ให้ความเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มผู้ถูกร้องมิใช่เป็นการใช้เสรีภาพโดยสุจริตหากเป็นไปโดยมีเจตนาซ่อนเร้น ทั้งยังเป็นการกระทำที่เป็นการใช้ความรุนแรงข่มขู่บังคับต่อบุคคลอื่น ในความเห็นของศาลจึงเห็นว่าการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มีเจตนาที่จะต้องการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่จะสามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนถึงการกระทำของฝ่ายผู้ถูกร้อง คำวินิจฉัยมีลักษณะเป็นการให้เหตุผลอย่างคลุมเครือ อันนำมาสู่คำถามได้ว่าคำพูดหรือการกระทำในลักษณะเช่นใด ณ เวลาใด ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นำมาเป็นหลักฐานในการชี้ขาด ยิ่งหากพิจารณาถึงข้อเรียกร้องที่ปรากฏต่อสาธารณะก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการแสดงความเห็นทั้งหมดเป็นเพียงการเสนอปรับแก้กฎหมายและรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่ไม่มีการเสนอถึงการยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนสู่ระบอบการปกครองในแบบอื่นแต่อย่างใด
ทั้งการวินิจฉัยถึงเจตนาของบุคคลก็ต้องพิจารณาจากการกระทำที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน การกล่าวอ้างถึงเจตนาที่ซ่อนเร้นของบุคคลนับเป็นสิ่งที่มีอันตรายในทางกฎหมายเป็นอย่างมาก เพราะอาจเป็นเพียงการยกเอาความเห็นของผู้ตัดสินโดยปราศจากข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานสนับสนุนอย่างพอเพียง การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ไม่อาจจะปล่อยให้เกิดขึ้นได้เพียงคำกล่าวอ้างโดยปราศจากหลักฐานที่ชัดเจน มิฉะนั้น ต่อไปในภายภาคหน้าสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็พร้อมจะถูกสั่นคลอนหรือทำลายลงได้อย่างง่ายดาย
ประการที่สาม สถานะของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ให้คำอธิบายว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่เป็นเนื้อเดียวกันกับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน อีกทั้งได้รับการรับรองไว้ให้อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะซึ่งผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ อันปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้ให้คำอธิบายซึ่งจำแนกให้เห็นอย่างชัดเจนระหว่างสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด ทั้งที่ชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในระบอบการปกครอง แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยถือเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรตามรัฐธรรมนูญโดยดำรงสถานะเป็นประมุขของรัฐ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็หมายถึงพระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้าฯ แต่ไม่ปกครอง (reign but not rule) การดำรงอยู่ สถานะ และบทบาทของพระมหากษัตริย์ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยก็จึงสามารถมีการปรับเปลี่ยนได้ในมิติต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเงื่อนไขของสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงในสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสภาวะปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป หากพิจารณาถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของสังคมไทยก็จะพบว่าได้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เมื่อระบอบประชาธิปไตยได้เริ่มต้นขึ้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงเช่นนี้นับแต่จะเป็นการสร้างความยุ่งยากต่อการจัดวางสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยให้ทวีความยุ่งยากเพิ่มมากขึ้น
ศาลรัฐธรรมนูญในนานาอารยะประเทศเป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นด้วยเป้าหมายสำคัญก็เพื่อทำหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งสร้างดุลยภาพอันเหมาะสมระหว่างประโยชน์ของส่วนรวมและสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในกรณีนี้จึงเป็นคำวินิจฉัยที่สร้างความสงสัยให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง พวกเราจึงเห็นว่าคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักการพื้นฐานทางกฎหมายอย่างรุนแรง ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งจะเป็นการสร้างความขัดแย้งในสังคมไทยให้แผ่ขยายและรุนแรงมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับหลักการทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมถึงการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญก็นับเป็นสิ่งที่ยังห่างไกลจากบทบาทที่ควรจะเป็นอย่างมาก
13 พ.ย. 2564
เครือข่ายนักกฎหมาย และคณาจารย์นิติศาสตร์
อ่านบนเว็บไซต์ : https://www.voicetv.co.th/read/iviaKtzPq


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.