โจรแสบงัดตู้เอทีเอ็มกวาดเงินล้านหนีลอยนวล

คนร้ายบุกงัดตู้เอทีเอ็มเมืองระยองกวาดเงินล้านหนีลอยนวล ตำรวจเก็บรอยนิ้วมือ ไล่วงจรปิด สั่งชุดสืบลงพื้นที่ล่า

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ร.ต.อ.นิติธร เทือกลาด ร้อยเวร สอบสวน สภ.ปลวกแดง จ.ระยอง ได้รับแจ้งจากพนักงานร้านสยามแอร์ บริเวณตลาดสดซีเค มินิมาร์ท ม.1 ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ว่ามีตู้เอทีเอ็มของธนาคารกสิกรไทย ตั้งอยู่หน้าร้าน พบมีร่องรอยการงัดแงและใช้การไม่ได้ จึงเดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุพร้อมด้วย พ.ต.อ.สมฤกษ์ ค้ำชู ผกก.สภ.ปลวกแดง และกำลังสายตรวจฯ

ที่เกิดเหตุพบตู้เอทีเอ็มตั้งเรียงกัน3ตู้ ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ กรุงศรีอยุธยา และกสิกรไทย แต่มีเพียงตู้ของธนาคารกสิกรไทย มีร่องรอยถูกงัดแงะ จึงประสานไปยังตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ตำรวจภูธรจังหวัดระยอง เพื่อให้มาเก็บหลักฐานลายนิ้วมือแฝง และหลักฐาน

พ.ต.อ.สมฤกษ์ ค้ำชู เปิดเผยว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบแน่ชัดว่าคนร้ายมีจำนวนกี่คน คาดว่าจะมาช่วงดึกที่ร้านต่าง ๆ ปิด โดยพฤติกรรมของคนร้ายได้ตัดสายสัญญาณกันขโมย และหมุนกล้องวงจรปิดให้หันเข้ากำแพง ก่อนจะใช้อุปกรณ์ชุดถังแก๊สเชื่อมตัดทำลายลูกบิดประตูตู้ด้านหลัง และเข้าไปงัดตู้เก็บเงินเอาเงินทั้งหมดไป

ทั้งนี้มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา พนักงานของธนาคารนำเงินมาเติมไว้จำนวน7,750,000บาท แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเงินที่คนร้ายได้ไปนั้นจำนวนเท่าไหร่ เบื้องต้นจะติดต่อธนาคารเพื่อขอข้อมูลจำนวนเงินที่คนร้ายได้ไป และสั่งการให้ตำรวจชุดสืบสวนลงพื้นที่หาข่าว พร้อมกับจะได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดเพื่อติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีต่อไป



ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement - NDM

เมื่อราคาข้าวตกต่ำ แทนที่จะมีเป้าหมายการแก้ปัญหาโดยการส่งเสริมการเกษตรผสมผสานที่เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ หรือส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ หรือจัดทำโครงการในการลดการใช้ปัจจจัยการผลิตลงอย่างเอาจริงเอาจัง หน่วยงานของรัฐกลับทำเอ็มโอยูกับกลุ่มบรรษัทเพื่อลดพื้นที่ปลูกข้าว และส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอ้อยเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มทุนในคณะกรรมการประชารัฐแทน

ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพื่อทำการเกษตรในอัตราตั้งแต่ 7% ขึ้นไป แต่ผู้ที่เข้าร่วมเมนูที่เอื้ออำนวยต่อกลุ่มทุนจะได้รับการสนับสนุนดอกเบี้ยเงินกู้ โดยจ่ายดอกเบี้ยเพียง 0.01%-4% แล้วแต่โครงการ

ปัญหาความล้มเหลวของเกษตรกรรายย่อยที่ปรากฎขึ้นมิได้มีเงื่อนไขจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำเท่านั้น แต่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐที่ตอบสนองต่อกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่การเกษตรเป็นสาเหตุสำคัญด้วย

BIOTHAI

ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวโพด มันสำปะหลัง และรวมถึงข้าว(ในกรณีปลายข้าว) เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐที่เอื้ออำนวยต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่เป็นสำคัญ

ในกรณีข้าวและสินค้าเกษตรอื่นๆ ทิศทางใหญ่ในการแก้ปัญหาของรัฐไปในทิศทางการเอื้ออำนวยต่อกลุ่มอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และเมล็ดพันธุ์ เช่น แทนที่จะดำเนินโครงการลดการใช้ปัจจัยการผลิตดังกล่าวดังกรณี "โครงการ 3 ลด 3 เพิ่ม" ของเวียดนาม กระทรวงเกษตรฯกลับเปิดตัวประชารัฐเกษตรโดยการลงนามเอ็มโอยูกับบรรษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ "ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยและสารเคมีและเมล็ดพันธุ์อย่างมีคุณภาพ"แทน

ข้าวโพด มันสำปะหลัง ซึ่งมีเกษตรกรที่เกี่ยวข้องรวมกันมากกว่า 1 ล้านครอบครัว ราคาดิ่งเหวเพราะรัฐอนุญาตให้อุตสาหกรรมอาหารนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่จำกัดจำนวนและระยะเวลาการนำเข้า และนำเข้าข้าวสาลีหลายล้านตันเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์โดยไม่ต้องเสียภาษี ทั้งๆที่ควรจะเสียภาษีในอัตรา 27% การนำเข้าข้าววัตถุดิบอาหารสัตว์ดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อข้าวโพดและมันสำปะหลังเท่านั้น แต่มีผลกระทบต่อราคาปลายข้าว(ซึ่งใช้เป็นอาหารสัตว์)และส่งผลกระทบให้ราคาข้าวเปลือกลดลงตามไปด้วยส่วนหนึ่ง

เมื่อราคาข้าวตกต่ำ แทนที่จะมีเป้าหมายการแก้ปัญหาโดยการส่งเสริมการเกษตรผสมผสานที่เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ หรือส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ หรือจัดทำโครงการในการลดการใช้ปัจจจัยการผลิตลงอย่างเอาจริงเอาจัง หน่วยงานของรัฐกลับทำเอ็มโอยูกับกลุ่มบรรษัทเพื่อลดพื้นที่ปลูกข้าว และส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอ้อยเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มทุนในคณะกรรมการประชารัฐแทน

ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพื่อทำการเกษตรในอัตราตั้งแต่ 7% ขึ้นไป แต่ผู้ที่เข้าร่วมเมนูที่เอื้ออำนวยต่อกลุ่มทุนจะได้รับการสนับสนุนดอกเบี้ยเงินกู้ โดยจ่ายดอกเบี้ยเพียง 0.01%-4% แล้วแต่โครงการ

ปัญหาความล้มเหลวของเกษตรกรรายย่อยที่ปรากฎขึ้นมิได้มีเงื่อนไขจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำเท่านั้น แต่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐที่ตอบสนองต่อกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่การเกษตรเป็นสาเหตุสำคัญด้วย


Atukkit Sawangsuk

ซวยแระ ประยุดเอาไปอ้างแหงเลย เขียนว่า "อีปู" นี่มีอะไรดีนะ ปปช.หาว่าทำน้ำท่วมใหญ่ปี 54 ฝนก็ตกหนักทันที น้ำเกือบท่วมกรุงเทพฯ ไป พอคิดค่าเสียหายจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้าน ราคาข้าวก็ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี

มันบังเอิญพอดี ที่ไหนได้ ประยุดกลับหาว่าทักกี้ อีปู จับมือโรงสีทำราคาข้าาวตก เป็นงั้นไป มี ม.44 ปกครองมา 3 ปี ยังสู้ทักกี้ไม่ได้?

3 ปีนะครับ แก้ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรไม่ตก เก่งแต่บอกชาวบ้านไปปลูกหมามุ่ย ไปขายยางดาวอังคาร กับติดป้ายประชารัฐ (บวกกระแสคนชั้นกลางมีอันจะกินไปทำการเกษตรเอาเท่ แล้วหาว่าชาวบ้านโง่) ที่พยายามจัดระเบียบให้เลิกปลูกข้าว ปลูกอย่างอื่นแทน ก็ล้มเหลว ปลูกข้าวโพดก็ราคาตก พื้นที่เหมาะปลูกข้าวอยู่ดีๆ จะไปปลูกอย่างอื่นทำไม ฉะนั้นอย่าปฏิเสธเลยเรืองการอุดหนุนเกษตรกร มันจำเป็น เพียงแต่ไม่ต้องไปไกลขนาดจำนำ 15,000 (แล้วจำนำยุ้ฉางต่างตรงไหน) ยังไงประเทศไทยก็ต้องอุดหนุนเกษตรกรอีกสักหลายปี จนภาคอุตสาหกรรม บริการ เติบโตกว่านี้ ลูกหลานก็เปลี่ยนอาชีพแล้ว แต่นี่พอดี เศรษฐกิจหยุดเติบโต การลงทุนหยุดชะงัก พอพืชผลราคาตกต่ำ มันเลยซ้ำเติมกันหมด

แถมระวังจะซ้ำเติมเศรษฐกิจไตรมาส 4 ด้วยนะเออ ปูนใหญ่ยังบอกเลยว่า "ประชาชนยังอยู่ในช่วงโศกเศร้าทำให้การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว" คือเศรษฐกิจปลายปี ปกติเงินสะพัดจากความบันเทิงท่องเที่ยวเฮฮาปาร์ตี้ แต่ปีนี้ทั้งมาตรการรัฐทั้งความรู้สึกคนน่าคิดเหมือนกันว่าการจับจ่ายจะเป็นอย่างไร


00000


ยิ่งลักษณ์นี่มีดีอะไรนะ พอป.ป.ช.จะเอาผิดว่าทำให้เกิดมหาอุทกภัยปี 54 ฝนก็ตกหนักทันทีน้ำท่วมหลายพื้นที่ในภาคกลางใจหายใจคว่ำจะท่วมกรุงเทพฯแต่โชคดี น้ำไม่มากเหมือนปี 54

ครั้นกระทรวงการคลังออกคำสั่งเรียกค่าเสียหายจำนำข้าว 35,000 ล้านราคาข้าวก็ตกต่ำสุดในรอบ 10 ปีมีใครแกล้งลุงตู่หรือเปล่า? นักการเมืองสื่อ ชาวนา แกล้งดรามาอย่างไก่อูว่าหรือ? เปล่าเลยเพราะกระทรวงพาณิชย์ก็ยอมรับเตรียมเสนอมาตรการ “จำนำยุ้งฉาง” แทนจำนำข้าวทำเอาเพื่อไทยขำกลิ้ง

พูดอย่างนี้ไม่ใช่เห็นด้วยกับจำนำข้าวผมก็เห็นเหมือนบรรยง พงษ์พานิชนโยบายจำนำข้าวฝืนกลไกตลาดทำให้ชาวนาปลูกข้าวมากขึ้นโดยไม่เพิ่มคุณภาพทั้งยังมีปัญหาประสิทธิภาพมีช่องให้ทุจริต

เพียงแต่มันเป็นความรับผิดทางการเมืองทางนโยบาย ไม่ใช่ทางแพ่งทางอาญาเว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าใครทุจริต (ซ้ำยังกล่าวหาว่าทำให้ชาวนานับล้านไม่ได้เงินจำนำทั้งที่เหตุเกิดตอนยุบสภารัฐบาลถูกขัดขวางไม่ให้กู้เงิน)

กระนั้น 3 ปีผ่านไปเมื่อไม่จำนำ เมื่อไม่ประกัน (ซึ่งรั่วไหลเหมือนกันพ่อค้ากดราคาให้ชาวนาเบิกส่วนต่างจากรัฐบาล) ก็ไม่เห็นใครแก้ปัญหาราคาข้าวได้นอกจากเรียกร้องให้ชาวนาเลิกทำนาลด หรือเว้นการทำนาซึ่งยิ่งยุ่งไปใหญ่เพราะผู้มีอำนาจไม่เข้าใจว่าการทำนาต่อเนื่องประหยัดต้นทุนกว่า

จะให้ลดพื้นที่ทำนา? ก็พูดง่ายแต่จะให้ปลูกอะไร ข้าวโพดก็ราคาตกยางพาราราคาดีแต่เพราะภัยแล้งน้ำท่วมผลิตหดหายพืชผลเกษตรมีอะไรไม่เสี่ยงพื้นที่ปลูกข้าวอยู่ดีๆจะไปเสี่ยงปลูกอย่างอื่นทำไม

ความเปลี่ยนแปลงใน 3 ปีจึงเห็นมีแต่พร่ำสอนเกษตรกรป้ายประชารัฐกับคนชั้นกลางชาวกรุงเห่อวิถีเกษตรจบปริญญาไปปลูกข้าวแล้วโทษชาวนาว่าทำนาไม่เป็น

ยอมรับเถอะครับว่ารัฐต้องอุปถัมภ์ค้ำจุนพืชผลการเกษตรแล้วยังไงก็ต้องขาดทุน เกิด “ความเสียหาย” เพียงถึงมือเกษตรกรให้มากที่สุดและอย่าบิดเบือนกลไกตลาดเกินไปยังไงๆก็ดีกว่าไปเที่ยวจัดระเบียบให้เขาปลูกนั่นปลูกนี่ตามต้องการ

ว่าที่จริงด้วยวิถีพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรม “ศูนย์กลางอาเซียน” การอุดหนุนสินค้าเกษตรไม่ใช่จะต้องทำตลอด 10-20 ปีเพราะยุคสมัยต่อไปลูกหลานเกษตรกรก็จะเปลี่ยนอาชีพทุกวันนี้ก็เปลี่ยนแล้วเพียงแต่เมื่อเศรษฐกิจการลงทุนหยุดชะงักค่าแรงพักไว้ที่ 300 บาทมาหลายปีเพิ่งจะขึ้นอีกที 5-10 บาทสินค้าโภคภัณฑ์ล้นตลาดราคาพืชผลตกต่ำก็จะย้อนกลับมาทำให้กำลังซื้อย่ำแย่

ลำพังราคาข้าวข้าวโพด คงไม่เท่าไหร่แต่ไตรมาส 4 มีปัจจัยหลายอย่างอาจทำให้กำลังซื้อลดลงเช่น ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เผยว่าผู้ประกอบการชะลอเปิดโครงการคอนโดมิเนียมกว่า4,000 ยูนิตเนื่องจากปัจจัยภายในประเทศส่งผลให้บรรยากาศไม่เอื้ออำนวยปูนซิเมนต์ไทยก็ชี้ว่าตลาดปูนซีเมนต์ทั้งปีจะติดลบ2-3% ความต้องการในประเทศลดลงโครงการลงทุนภาครัฐล่าช้าและประชาชนยังอยู่ในช่วงโศกเศร้าจึงทำให้การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวตาม

อย่าให้ปัญหาราคาพืชผลพ่วงเป็นลูกโซ่กับการงดจับจ่ายของคนชั้นกลางในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งปกติเป็นช่วงจับจ่ายใช้สอยเพื่อความบันเทิงเริงรมย์ดื่มกิน และท่องเที่ยว ฉะนั้นมีเงินรับจำนำข้าว เอ๊ยจำนำยุ้งฉางเท่าไหร่ต้องทุ่มไม่อั้นอย่ากลัวใครว่าประเทศเสียหายมี ม.44 ไม่กลัวถูกเอาผิดย้อนหลังอยู่แล้ว

source :- FT Atukkit Sawangsuk & http://www.kaohoon.com/online/content/view/50016

โฆษกยุติธรรม โพสต์แจง ชาวนาขายข้าวผ่านเน็ต ไม่ผิดกฎหมาย ไม่เป็นการขายตรง

Posted: 29 Oct 2016 07:20 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

หลังกระแสแชร์เพจ ทนายคู่ใจ โพสต์เตือนขายข้าวทางออนไลน์มีความผิดทางกฎหมาย ด้านโฆษกกระทรวงยุติธรรม โพสต์แจงชาวนาโพสต์ขายข้าวไม่ผิด พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 พร้อมอธิบายเจตนารมณ์ดังกล่าว ขณะที่ เพจ สคบ. ตอบ ขายปลาทองผ่านเฟซบุ๊กไม่ต้องจดทะเบียนตลาดแบบตรง


ที่มา เพจ 'ทนายคู่ใจ'

30 ต.ค. 2559 จากภาวะราคาข้าวเปลือกตกต่ำอย่างหนัก ส่งผลให้ชาวนาและผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาหาทางออกโดยจำนวนนั้นได้ใช้การโพสต์ขายข้าวผ่านทางออนไลน์และเฟซบุ๊ก อย่างไรก็ตามวานนี้ (29 ต.ค.59) เพจ 'ทนายคู่ใจ' ซึ่งมีผู้ติดตามเกือบ 2 แสนราย โดยเนื้อหาของโพสต์ที่มีการแชร์กว่า 3,000 รวมทั้งเดลินิวส์และมติชนออนไลน์นำโพสต์ดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อ ซึ่งเพจนี้โพสต์ เกี่ยวข้องกับการขายข้าวทางออนไลน์ ซึ่งแอดมินเพจดังกล่าวระบุว่าจะมีความผิดทางกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน สร้างกระแสทั้งความกังวลต่อผู้ต้องการขายข้าวรวมทั้งกระแสวิพากษ์ความถูกต้องของการเสนอข้อมูลดังกล่าวเช่นกัน

ธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรม ได้โพสต์ข้อความแย้งเพจทนายคู่ใจดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'ธวัชชัย ไทยเขียว' ในลักษณะสาธารณะ ว่า เกษตรกรสีข้าวและขายเองไม่ผิดพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545

โฆษกกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องมาจากการทำตลาดขายตรงและตลาดแบบตรงในปัจจุบันได้มีการใช้วิธีการชักชวนและจัดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในธุรกิจดังกล่าว โดยตกลงจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อพิจารณาดูคำนิยามตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ซึ่งให้คำนิยามต่างๆ แล้วการขายข้าวของเกษตรกรที่สีข้าวและขายเอง จึงไม่เข้าข่ายตามกฏหมายขายตรง
“ขายตรง” หมายความว่า การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการนำเสนอขายต่อผู้บริโภคโดยตรง ณ ที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงานของผู้บริโภคหรือของผู้อื่น หรือสถานที่อื่นที่มิใช่สถานที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระ โดยผ่านตัวแทนขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระชั้นเดียวหรือหลายชั้นแต่ไม่รวมถึงนิติกรรมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

“ตลาดแบบตรง” หมายความว่า การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้น

"ผู้จำหน่ายอิสระ” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและนำสินค้าหรือบริการดังกล่าวไปเสนอขายตรงต่อผู้บริโภค

“ตัวแทนขายตรง” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงให้นำสินค้าหรือบริการไปเสนอขายตรงต่อผู้บริโภค

"เกษตรกรสีข้าวและขายข้าวเอง จึงไม่เข้าข่ายเป็นผู้จำหน่ายอิสระ เนื่องจากไม่เป็นตัวแทนขายตรง เพราะไม่มีการผ่านตัวแทนขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระชั้นเดียวหรือหลายชั้น ไม่ใช่การตลาดแบบตรง และไม่เป็นการขายตรงตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 แน่นอนครับ อนึ่ง ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกรรัฐบาลก็จะมีมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป" ธวัชชัย กล่าวสรุป


ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วานนี้ เฟซบุ๊กเพจ สคบ. กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ได้ตอบข้อสงสัยผู้ใช้เฟซบุ๊กถึงการทำเพจขายปลาทอง เป็นธุรกิจในครัวเรือน นั้นต้อง จดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง หรือไม่ ซึ่งเพจดังกล่าวตอบว่า "สามารถประกอบธุรกิจได้เลยครับ เพราะว่าการขายผ่าน ทาง Facebook นั้นไม่ต้องจดทะเบียนตลาดแบบตรงกับทาง สคบ ครับ"

รวมทั้งมีผู้นำกรณีที่เพจทนายคู่ใจไปสอบถาม ซึ่งเพจ สคบ.ฯ ตอบกลับวว่า ขอบคุณสำหรับข้อมูล ทาง สคบ เองจะรีบดำเนินการ

ที่มา สคบ. กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง

สำหรับรายละเอียดที่เพจ ทนายคู่ใจ โพสต์กรณีการขายข้าวทางออนไลน์ จะมีความผิดทางกฎหมาย นั้น มีรายละเอียดดังนี้

ขายข้าวสารผ่านเฟสบุ๊ค ระวังโดนจับนะ
กระแสข้าวเปลือกต่อกิโลราคาตกต่ำยิ่งกว่าอาหารหมาหรือมาม่าซักห่อนี่มันเจ็บปวดจริงๆ แต่จะเจ็บยิ่งกว่าถ้าเอามาขายแล้วถูกดำเนินคดีโดยไม่รู้ตัว

บ้านเราจะมีกฎหมายอยู่ฉบับหนึ่งเรียกว่า พรบ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดี การโพสขายสินค้าออนไลน์นั้นต้องยื่นเรื่องขอจดทะเบียนต่อสคบ.ก่อน มิเช่นนั้นจะมีความผิดตามกฎหมายซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ระวังเงินที่อุสาขายข้าวได้จะโดนเอามาจ่ายค่าปรับซะล่ะ
(อ้างอิง พรบ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง
มาตรา 20 ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบธุรกิจขายตรง เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบธุรกิจการตลาดแบบตรง.. ยกเว้นได้รับอนุญาต
มาตรา 47 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 20และมาตรา 27 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน )
วิธีแก้ไขคือให้ชาวนาไปเสียเงินจดทะเบียนการขายตรงกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของแต่ละจังหวัดครับ จะได้ถูกต้องตามกฎหมาย
กดไลค์กดแชร์กดติดตามแฟนเพจ #ทนายคู่ใจ ไว้ไม่เสียเปรียบใคร #แชร์วนไป#ขายข้าวสาร



สปสช.แจงแนวทางคนพิการประกันสังคมใช้สิทธิบัตรทองตาม ม.44

Posted: 29 Oct 2016 09:49 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

สปสช.แจงแนวทางจัดการ หลังมีคำสั่ง ม.44 ให้คนพิการสิทธิประกันสังคมใช้สิทธิบัตรทองได้ คนพิการได้สิทธิประโยชน์ตามบัตรทอง ส่วน รพ.ส่งข้อมูลเบิกมาที่ สปสช.ตามเดิม แต่ สปส.จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ส่วนคนพิการที่ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิบัตรทอง ขณะนี้รอตกลงชัดเจนกับ สปส.อีกครั้ง แต่มีแนวโน้มให้เลือกว่าจะใช้สิทธิใด เหตุบางรายอาจเคยชินกับการใช้สิทธิเดิม

30 ต.ค. 2559 นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการภายหลังมีคำสั่งตามมาตรา 44 ให้คนพิการในระบบประกันสังคมมีสิทธิรับบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้ว่า จากการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สปสช. และกระทรวงการคลัง มีหลักการว่าคนพิการสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขได้ตามปกติภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่ชาติที่ รพ.ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นพ.ประจักษวิช กล่าวต่อว่า ส่วนค่าใช้จ่ายนั้น รพ.จะส่งข้อมูลเพื่อเบิกจ่ายมายัง สปสช.ตามปกติ โดย สปส.จะรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลในส่วนนี้ การดำเนินงานช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา กรณีคนพิการที่ใช้สิทธิรักษาใน รพ.ที่ขึ้นทะเบียนทั้งในระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มนี้ไม่เป็นปัญหาเพราะเป็นเพียงการเปลี่ยนเฉพาะสิทธิมาเป็นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น จึงยังคงรักษาที่ รพ.เดิม

ส่วนคนพิการที่เคยใช้สิทธิบัตรทอง เมื่อมีงานทำและต้องเปลี่ยนเป็นสิทธิประกันสังคม และ รพ.ตามสิทธิประกันสังคมเป็น รพ.เอกชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีนี้จะกลับไปรับบริการยัง รพ.เดิมที่เคยใช้สิทธิบัตรทองก่อนที่จะมีงานทำ ซึ่งคนพิการจะมีความคุ้นเคยการรับบริการยัง รพ.นั้นอยู่แล้ว

ส่วนกรณีคนพิการที่ใช้ประกันสังคมและก่อนหน้านี้ไม่เคยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาก่อน กลุ่มนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบจำนวน คาดว่ามีจำนวนประมาณ 12,000 คน แนวโน้มจะให้คนพิการกลุ่มนี้เลือกว่าจะใช้สิทธิใด เนื่องจากอาจมีบางรายที่มีความคุ้นเคยกับการได้รับบริการเดิมอยู่แล้ว แต่ความชัดเจนทั้งหมด สปสช.อยู่ระหว่างหารือกับ สปส.เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการ เบื้องต้นคาดว่าจะให้เลือกว่าจะใช้สิทธิใด หากเลือกใช้สิทธิประกันสังคมก็ได้รับบริการตามเดิม แต่หากต้องการมาใช้บัตรทอง ก็จะให้เลือก รพ.เพื่อลงทะเบียน ซึ่งกรณีที่เลือกใช้สิทธิบัตรทองยังสามารถไปรับบริการที่ รพ.ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใดก็ได้ ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการที่อาจมีข้อจำกัดในการเดินทาง

“หลังการประกาศ ม.44 ให้คนพิการในระบบประกันสังคมโอนย้ายสิทธิรักษาพยาบาลมายังหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คำถามส่วนใหญ่ที่เข้ามาคือเมื่อโอนย้ายสิทธิแล้วจะเข้ารับบริการรักษาพยาบาลที่ไหน คำตอบคือเคยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ใด ให้กลับไปรับบริการที่เดิม ส่วนคนที่ไม่ประสงค์ย้าย จะมีการหารือกับสำนักงานประกันสังคมให้ชัดเจนอีกครั้ง แต่แนวโน้มคือขึ้นอยู่กับความประสงค์ของคนพิการว่าจะเลือกใช้สิทธิใด สามารถสอบถามผ่านสายด่วน สปสช.1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว


แม่บ้านต่างชาติในฮ่องกงได้ค่าแรงมากที่สุดในเอเชีย แต่เทียบไม่ได้กับประเทศตะวันตก

Posted: 29 Oct 2016 11:42 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ผลการสำรวจค่าแรงแม่บ้านต่างชาติในเอเชียและตะวันออกกลาง พบแม่บ้านในฮ่องกงได้ค่าแรงมากที่สุดเฉลี่ย 567 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน แต่ยังเทียบไม่ได้กับประเทศตะวันตกที่ได้หลักพันดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้น ส่วนแม่บ้านต่างชาติในไทยได้เฉลี่ยแค่ 123-143 ดอลลาร์สหรัฐฯ

30 ต.ค. 2559 ข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่าปัจจุบันคนทำงานแม่บ้านมีประมาณ 52 ล้านคนทั่วโลก โดยเกือบครึ่งหนึ่งทำงานในเอเชียและตะวันออกกลาง ลักษณะงานมีทั้งการทำอาหาร ทำความสะอาด เลี้ยงเด็กและดูแลคนชรา เฉพาะฮ่องกงในมีแม่บ้านต่างชาติกว่า 300,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านชาวต่างชาติจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย

The Economic Times รายงานเมื่อต้นเดือน ต.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่า HelperChoice ธุรกิจจัดหาแม่บ้านชื่อดังได้เผยผลสำรวจค่าแรงแม่บ้านชาวต่างชาติในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง โดยผลสำรวจระบุว่าแม่บ้านต่างชาติในฮ่องกงได้ค่าแรงสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลางคือเฉลี่ยเดือนละ 567 ดอลลาร์สหรัฐฯ (อ้างอิงจากการทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง) แต่เมื่อหากคิดเป็นชั่วโมงแม่บ้านต่างชาติในฮ่องกงจะได้ค่าแรงชั่วโมงละ 1-1.40 ดอลลาร์สหรัฐฯ (อ้างอิงจากการทำงานวันละ 12-16 ชั่วโมง) ซึ่งเป็นเพียง 1 ใน 3 ของค่าแรงขั้นต่ำของฮ่องกงเท่านั้น

นอกจากนี้จากการสำรวจพบว่าแม่บ้านต่างชาติในสิงคโปร์ได้ค่าแรงเฉลี่ยเดือนละ 439 ดอลลาร์สหรัฐฯ กาตาร์และซาอุดีอาระเบีย 431 ดอลลาร์สหรัฐฯ คูเวต 388 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนไทยเป็นการอ้างอิงตัวเลขจากการสำรวจของมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP) ที่มีฐานอยู่ใน จ.เชียงใหม่ โดย MAP ระบุว่าแม่บ้านชาวต่างชาติในไทยมีรายได้ประมาณ 123-143 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน

ทั้งนี้ประเมินว่าแม่บ้านชาวต่างชาติในพื้นที่อื่น ๆ ของเอเชียและตะวันออกกลางน่าจะมีค่าแรงน้อยลงไปอีก รวมทั้งสภาพการทำงานที่เลวร้ายตามไปด้วย เพราะในการจ้างงานแม่บ้านชาวต่างชาตินายจ้างส่วนใหญ่ให้แม่บ้านอาศัยอยู่ด้วย ไม่มีการกำหนดชั่วโมงทำงานที่แน่นอน ซึ่งเป็นเปิดช่องให้แม่บ้านถูกละเมิดสิทธิและถูกเอาเปรียบตลอดเวลา

การสำรวจครั้งนี้ทำให้ได้ตัวเลขค่าจ้างแม่บ้านต่างชาติในเอเชียไปเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งแม่บ้านต่างชาติในเอเชียนั้นได้ค่าแรงต่ำมากเมื่อเทียบกับแม่บ้านต่างชาติในโลกตะวันตก อย่างแม่บ้านในออสเตรเลียได้ค่าแรงต่อเดือนที่ประมาณ 2,230 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในฝรั่งเศสได้ 1,866 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ส่วนที่สหรัฐฯ จากการสำรวจของ payscale.com พบว่าแม่บ้านในสหรัฐฯ มีค่าแรงเฉลี่ยสูงสุดถึง 20.26 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง หรือเดือนละ 3,241.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนเลยทีเดียว (อ้างอิงจากการทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง)

องค์การอนามัยโลกเร่งเครื่องประเทศสมาชิกออก กม. คุมสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีภายในปี 2563

Posted: 30 Oct 2016 12:32 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ทุกสัปดาห์ปลายเดือนตุลาคมถือเป็น 'สัปดาห์แห่งการรณรงค์เพื่อป้องกันภัยจากพิษตะกั่ว' หวังทุกชาติร่วมกันขับเคลื่อนและรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้สารตะกั่วในการผลิตสีทาอาคารและสีตกแต่งภายในปี พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นการป้องกันเด็กไม่ให้รับอันตรายจากสารตะกั่วในสี รวมทั้งลดความเสี่ยงของคนงานในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการตกแต่งด้วย เพื่อให้สังคมโดยรวมมีความปลอดภัยจากพิษสารตะกั่ว



30 ต.ค. 2559 องค์การอนามัยโลกและโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้ระดมความร่วมมือจากรัฐบาลหลายประเทศ ภาคประชาสังคมและภาคเอกชนเนื่องในวาระ "สัปดาห์แห่งการรณรงค์เพื่อป้องกันภัยจากพิษตะกั่ว” ในปลายเดือนตุลาคมนี้ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกออกกฎหมายควบคุมการใช้สารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีทาอาคารภายในปี 2563 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า เพื่อจำกัดความสูญเสียของสังคมและงบประมาณประเทศจากการแบกรับปัญหาความเจ็บป่วยและความพิการทางสมองของเด็กจากพิษตะกั่ว สำหรับประเทศไทย กฎหมายควบคุมสารตะกั่วในสีทาอาคารจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2560

นับจากที่หลายประเทศทั่วโลกได้มีกฎหมายห้ามเติมสารตะกั่วในน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ ระดับสารตะกั่วในเลือดเด็กได้มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลก ยังคงพบปัญหาเด็กในประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ระดับต่ำถึงปานกลางมีสารตะกั่วในเลือดสูง รวมทั้งพบว่าเด็กจำนวนมากในประเทศเหล่านี้มีพัฒนาการทางสมองและเชาว์ปัญญาบกพร่องหรือผิดปกติ ซึ่งสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้เด็กได้รับสารตะกั่วเข้าไปสะสมในร่างกายมาจากสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีตกแต่งและสีทาบ้านที่หลุดลอกหรือกลายเป็นฝุ่นสีฟุ้งกระจายตามพื้นต่างๆ โดยเด็กอาจรับประทานหรือหายใจเอาฝุ่นเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกาย

ดร. มาเรีย ไนร่า ผู้อำนวยการฝ่ายสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาพ ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า

“การได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจะเกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของคนได้ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ทั้งที่ทุกวันนี้การผลิตสีทาอาคารไม่จำเป็นต้องใช้สารตะกั่วอีกต่อไป เพราะเรามีทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่ามาก ดังนั้นหนทางที่ดีที่สุดที่จะเป็นหลักประกันได้ว่า สีทาอาคารที่ใช้กันอยู่ทั่วไปจะไม่มีสารตะกั่วเจือปน ก็คือการมีกฎหมายควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ว่าเป็นสีไร้สารตะกั่ว กฎหมายนี้จะต้องห้ามทั้งในเรื่องการผลิต การนำเข้า การส่งออก การจำหน่าย หรือการใช้สีทาอาคารที่มีสารตะกั่วด้วย”

องค์การอนามัยโลกเคยมีการประเมินว่า สารตะกั่วเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของมนุษย์ถึงปีละ 143,000 ราย อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของความบกพร่องทางสติปัญญาของเด็กรายใหม่ราวปีละ 600,000 คน โดยร้อยละ 99 ของเด็กที่มีสารตะกั่วสะสมในร่างกายสูงจนเป็นอันตรายคือเด็กในประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ระดับต่ำถึงปานกลาง

ในปี พ.ศ. 2556 องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่ผลการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทำการศึกษาเรื่องต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากปัญหาการได้รับสารตะกั่วของประชากรวัยเด็กที่มีอายุไม่เกิน 5 ขวบในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับต่ำถึงปานกลาง

นักวิจัยที่ทำการศึกษาเรื่องนี้คือ เทเรซ่า เอ็ม แอตทินา จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และลีโอนาร์โด ทราซันเด ซึ่งทำงานประจำอยู่หลายภาควิชา อาทิเช่น ภาควิชาเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม, ภาควิชาสุขภาพประชากร คณะแพทย์ศาสตร์ และภาควิชาอาหารและโภชนาการศึกษา และภาควิชาอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผลการศึกษานี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Environmental Health Perspectives ฉบับที่ 121 เลขที่ 9 กันยายน 2556

การศึกษานี้ยืนยันว่า การได้รับสารตะกั่วในวัยเด็กของเด็กในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ส่งผลต่อความสูญเสียผลิตภาพการผลิตทางเศรษฐศาสตร์ตลอดช่วงชีวิตของคนนั้น (lifetime economic productivity) ความสูญเสียนี้คำนวณออกมามีมูลค่ารวมสูงถึงปีละ 977 พันล้านดอลล่าร์สากล โดยแบ่งเป็นมูลค่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศแอฟริกาเฉลี่ย 134.7 พันล้านดอลล่าร์สากล (หรือเทียบเท่า 4.03% ของจีดีพีโลก) ขณะที่ในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาและแคริบเบียนมีมูลค่าความสูญเสียเฉลี่ย 142.3 พันล้านดอลล่าร์สากล (2.04% ของจีดีพีโลก) สำหรับภูมิภาคเอเชียมูลค่าของความสูญเสียเฉลี่ยอยู่ที่ 699.9 พันล้านดอลล่าร์สากล (1.88% ของจีดีพีโลก)

ทั้งนี้ เฉพาะกลุ่มประเทศเอเชียที่รวมอยู่ในการศึกษาวิจัยดังกล่าวประกอบด้วย กลุ่มเอเชียตะวันออก ได้แก่ ประเทศจีน และมองโกเลีย, กลุ่มเอเชียใต้ ได้แก่ อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย อิหร่าน เนปาล ปากีสถาน และบังคลาเทศ, กลุ่มเอเชียกลาง ได้แก่ คาซัคสถาน คีร์กิสสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสสถาน อุซเบกิสถาน, กลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ติมอร์เลสเต และไทย

สำหรับประเทศไทย ได้มีการประเมินความสูญเสียด้านผลิตภาพการผลิตทางเศรษฐศาสตร์ที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการสัมผัสสารตะกั่วในวัยเด็ก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายปีละประมาณ 154,910 ล้านบาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นสี่พันเก้าร้อยสิบล้านบาท) หรือเทียบเท่า 2.07% ของจีดีพี

ผู้วิจัยทั้งสองคนคือแอตทินาและทราซันเด มีความเห็นว่า ความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ที่มีมูลค่ามหาศาลในลักษณะนี้ เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ หากประเทศเหล่านี้มีการดำเนินนโยบายเชิงป้องกัน และการป้องกันที่ดีเพื่อลดความสูญเสียทั้งทางสุขภาพและเศรษฐกิจนี้จำเป็นจะต้องมีการควบคุมพิษภัยจากสารตะกั่วอย่างจริงจัง ซึ่งหน่วยงานทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนควรจะต้องร่วมกันแสวงหามาตรการเชิงป้องกันให้ดีพอ เพราะการเพิกเฉยต่อปัญหานี้รังแต่จะทำให้แต่ละประเทศต้องแบกรับปัญหาความเสียหายทั้งเชิงเศรษฐศาสตร์และสุขภาพสูงมาก ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมของการสร้างรายได้ประชาชาติอีกด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว องค์การอนามัยโลกจึงได้ร่วมมือกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติก่อตั้ง "พันธมิตรระดับโลกเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสี" (Global Alliance to Eliminate Lead Paint: GAELP) ขึ้นใน พ.ศ. 2553 นอกจากนี้เครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (IPEN) ก็ได้ร่วมกันขับเคลื่อนและรณรงค์ให้ทุกประเทศมีนโยบายและกฎหมายยกเลิกการใช้สารตะกั่วในการผลิตสีทาอาคารและสีตกแต่งภายในปี พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นการป้องกันเด็กไม่ให้รับอันตรายจากสารตะกั่วในสี รวมทั้งลดความเสี่ยงของคนงานในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการตกแต่งด้วย เพื่อให้สังคมโดยรวมมีความปลอดภัยจากพิษสารตะกั่ว โดยเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เลิกผลิตและจำหน่ายสีทาอาคารที่ส่วนผสมของสารตะกั่ว และกำหนดให้สัปดาห์ปลายเดือนตุลาคมของทุกปีเป็น "สัปดาห์แห่งการรณรงค์เพื่อป้องกันภัยจากพิษตะกั่ว” ซึ่งปีที่แล้ว (2558) ได้มี 39 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย เข้าร่วมโครงการ โดยมีกิจกรรมรณรงค์เกิดขึ้นรวม 87 เมือง/จังหวัด สำหรับปี 2559 นี้สัปดาห์รณรงค์คือ ระหว่างวันที่ 23-29 ตุลาคม 2559

ทั้งนี้ ประเทศพัฒนาแล้วหรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ได้มีกฎหมายหรือข้อบังคับควบคุมปริมาณการใช้สารตะกั่วในการผลิตสีตกแต่งและสีทาอาคารต่างๆ ทั้งสีที่ใช้ทาภายในและภายนอกอาคาร เช่น บ้าน โรงเรียน อุปกรณ์ เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นต่างๆ โดยเริ่มมีกฎหมายควบคุมตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ซึ่งมาตรฐานเข้มงวดที่สุดที่หลายประเทศได้กำหนดไว้คือ ห้ามไม่มีสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีทาอาคารหรือสีตกแต่งเกิน 90 พีพีเอ็ม (1 ส่วนใน 1 ล้านส่วน) ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาบางแห่ง เช่น สิงคโปร์ และศรีลังกา มีมาตรฐานควบคุมไม่ให้มีสารตะกั่วเกิน 600 พีพีเอ็ม

ในส่วนของประเทศไทย ได้มีการรณรงค์เพื่อให้มีการเพิกถอนสารตะกั่วจากสีทาอาคารโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ในปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา และต่อมาสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งกำกับดูแลเรื่องนี้ได้ยอมรับข้อเรียกร้องของภาคประชาชนและนักวิชาการที่ต้องการให้มีกฎหมายบังคับในเรื่องดังกล่าว และในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2557 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4622 (พ.ศ. 2557) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีเคลือบแอลคีด: เฉพาะด้านความปลอดภัย (มอก. 2625-2557) โดยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ สีเคลือบแอลคีด ซึ่งหมายถึงสีตกแต่งและสีอาคาร ที่มีส่วนผสมของผงสี สารยึดแอลคีดเรซิน และสารเร่งแห้งให้ฟิล์มสีที่มีความเงา กึ่งเงา และชนิดด้าน จะต้องมีการควบคุมปริมาณโลหะหนักอันตราย 4 ชนิด ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และโครเมียมเฮกซะวาเลนด์ ให้มีปริมาณสูงไม่เกิน 100 พีพีเอ็ม ซึ่งต่อมา รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีเคลือบแอลคีดต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2557 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนที่ 10 ก หน้า 11 วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559 ซึ่งจะมีผลบังคับในปลายเดือนมกราคม 2560

ดังนั้น อีกไม่นานนับจากนี้ ประเทศไทยจะห้ามผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สีทาอาคารและสีตกแต่งต่างๆ ที่มีสารตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และโครเมียมเฮกซะวาเลนด์ที่มีปริมาณสูงเกินค่าที่กำหนด

ในส่วนขององค์กรที่ร่วมรณรงค์และผลักดัน เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ได้กล่าวให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า การที่ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีต่างๆ นับเป็นความสำเร็จของการรณรงค์ที่เกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่ายด้วยกัน โดยเฉพาะหน่วยงานด้านสาธาณสุข เช่น กรมควบคุมโรค เป็นต้น ที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะเกิดกับเด็กไทย ซึ่งเยาวชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคตของประเทศ

“...อย่างไรก็ดี แม้เมื่อกฎหมายควบคุมสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีมีผลบังคับใช้แล้ว ประชาชนทุกฝ่ายซึ่งรวมถึงผู้บริโภคเอง ก็ยังคงจะต้องช่วยกันติดตามตรวจสอบต่อไป โดยเฉพาะในส่วนของการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย จนกระทั่งเราทุกคนสามารถมั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์สีที่จำหน่ายในท้องตลาดทั้งหมดเป็นสีไร้สารตะกั่วและโลหะหนักอันตรายตามกฎหมาย

เราต่างก็หวังว่า สักวันหนึ่ง ในระยะยาว สีที่มีส่วนผสมของโลหะหนักเหล่านี้ทั้งในรูปผลิตภัณฑ์ สีที่ทาตามอาคารและสิ่งของต่างๆ จะทยอยหมดไปจากประเทศไทยได้จริง ซึ่งหมายความว่าคนที่ต้องทำงานหรือสัมผัสกับสีเหล่านี้ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่พิษตะกั่วส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองอย่างน่าเป็นห่วง จะปลอดภัยจากพิษของตะกั่วมากขึ้น รวมถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องสูญเสียเป็นเงินมหาศาลไปกับการรักษาพยาบาลทั้งที่สามารถป้องกันได้ ก็จะลดน้อยลง...” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าว

นายอำเภอแจงกรณีคลิป 'ชาวบ้านนัดกันใส่เสื้อแดงแห่กฐิน เจอทหารถามหาสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ'

Posted: 30 Oct 2016 01:04 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

นายอำเภอรัตนบุรี จ.สุรินทร์ แจงกรณีคลิป 'ชาวบ้านนัดกันใส่เสื้อแดงแห่กฐิน เจอทหารถามหาสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ' ระบุชาวบ้านสั่งทำล่วงหน้าก่อนพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์ทรมหาภูมิพลอดุลย์เดชฯ สวรรคต และได้ใส่มาร่วมงานแห่องค์กฐินด้วยเจตนาบริสุทธิ์-ติดริบบิ้นสีดำไว้อาลัยทุกคน ต่อมาฝ่ายปกครองขอความร่วมมือและกำชับให้แต่งกายให้เหมาะสม และในวันทอดกฐินก็ไม่มีผู้ใดแต่งกายเช่นนี้อีก








30 ต.ค. 2559 นักข่าวพลเมืองรายงานว่าจากกรณีผู้ใช้นามเฟซบุ๊กว่า Suphisara Wongaran ได้มีการโพสต์ภาพชาวบ้าน อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ ใส่เสื้อแดงแห่งานกฐิน และมีการแชร์เรื่องราวผ่านสื่อโซเซียลมีเดียอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นข่าวดังเรื่องสุดดราม่าเพียงข้ามคืนนั้น

นักข่าวพลเมืองได้โทรศัพท์สอบถามข้อเท็จจริงกับ นายกฤษณุ เหลืองพิบูลกิจ นายอำเภอรัตนบุรี เปิดเผยว่า ตามที่มีการแชรในเฟสบุ้คเรื่องการแต่งกายไม่เหมาะสมในงานทอดกฐินในพื้นที่อำเภอรัตนบุรี ขอเรียนชี้แจงรายละเอียดดังนี้ ตามที่มีผู้แต่งกายไม่เหมาะสมมาร่วมงานทอดกฐิน ที่ บ.หนองกระทุง ม.1 ต.เบิด อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ นั้นเหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที้ 22 ต.ค. 2559 เวลา 21.00 ตนเอง พร้อมด้วยปลัดอาวุโส เจ้าหน้าฝ่ายปกครอง จนท.ตำรวจ สภ.รัตนบุรี กำนันตำบลเบิด นายก อบต.เบิด ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 และ จนท.ทหารจาก มทบ.25 ได้ลงพื้นที่ บ้านนางคำจันทร์ จำปาหอม บ้านเลขที่ 40/1 ม.1 ซึ่งเป็นบ้านเจ้าภาพทอดกฐิน เพื่อสอบถามสาเหตุที่แต่งกายในลักษณะดังกล่าว ทราบว่าลูกหลานที่อยู่กรุงเทพ สั่งทำโดยด้านหน้ามีข้อความว่า 'บุญกฐิน 2559' ด้านหลังข้อความ 'ที่ระลึกคุณตาเภา แก้วกัน อยู่ในใจเสมอ' ซี่งถึงแก่กรรมไปแล้ว โดยสั่งทำล่วงหน้าก่อนพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์ทรมหาภูมิพลอดุลย์เดชฯ สวรรคต และได้ใส่มาร่วมงานแห่องค์กฐินด้วยเจตนาบริสุทธิ์และได้ติดริบบิ้นสีดำไว้อาลัยทุกคน ทั้งนี้ นายอำเภอรัตนบุรี และคณะได้ไปขอความร่วมมือได้กำชับให้ทราบว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงไว้ทุกข์จึงขอให้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่เหมาะสมคือชุดสีดำหากไม่มีให้แต่งกายด้วยสีพื้น เรียบ ๆ ซึ่งเจ้าภาพได้เข้าใจ และยืนยันว่าจะไม่แต่งกายไม่เหมาะสมอีก และในวันทอดกฐิน เมื่อ 23 ต.ค. 2559 ก็ไม่มีผู้ใดแต่งกายเช่นนี้อีก



TCIJ: บ.จีนแห่ลงทุนโรงงานแผงโซลาร์เซลล์ ในไทยหวังเป็นฐานผลิตส่งออก

Posted: 30 Oct 2016 03:06 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

รายงานพิเศษจาก TCIJ เมื่อ ‘ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์’ มาแรง จีนรุกตั้งโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในไทย หวังใช้เป็นฐานส่งออก หลังโดนสหรัฐ-ยุโรปออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ผู้ประกอบการไทยปรับตัวหลังแข่งไม่ไหว เน้นร่วมทุนแทน คาด 1-2 ปีนี้ แผงโซลาร์เซลล์ผลิตในไทยจะมีกำลังผลิตรวม 1,000-2,000 เมกะวัตต์

‘พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์’ (Solar power) ที่ใช้แผง ‘โซลาร์เซลล์’ (Solar cell) ในการผลิตกระแสไฟฟ้านั้น ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตแบบติดตั้งบนพื้นดินที่ใช้พื้นที่จำนวนมาก บางประเทศเริ่มมีการพัฒนาบนพื้นน้ำและในทะเลแล้ว ที่เรียกว่า ‘โซลาร์ฟาร์ม’ (Solar farm) หรือการติดตั้งบนหลังคาอาคารสถานที่ต่าง ๆ ที่เรียกว่า ‘โซลาร์รูฟท็อป’ (Solar rooftop) ซึ่งพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นี้ได้รับการคาดหวังว่าจะเป็น ‘พลังงานแห่งอนาคต’ หลายประเทศได้ส่งเสริมให้มีการใช้ ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม โดยประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นี้ด้วยเช่นกัน แต่กลับพบว่า อุตสาหกรรมต้นน้ำอย่างการผลิตและการประกอบแผงโซลาร์เซลล์ของไทยยังต้องพึ่งพิงประเทศอื่นอยู่มาก โดยเฉพาะประเทศจีนอันเป็นมหาอำนาจของโลกในอุตสาหกรรมนี้
ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ของไทย

สำหรับประเทศไทยมีศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างสูง มีค่าเฉลี่ยความเข้มรังสีของแสงอาทิตย์ทั่วประเทศทุกพื้นที่ เป็นค่ารายวันเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 18.0 เมกะจูลต่อตารางเมตร/วัน ( MJ / m2 – day ) จัดอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ


ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ (ที่มา: คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา, 2555)

แม้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยยังมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับพลังงานรูปแบบอื่น แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากในปี 2554 ที่มีการใช้เพียง 100.34 เมกะวัตต์ มาในปี 2558 ข้อมูลจากกรมพลังงานทดแทนระบุว่าไทยใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นเป็น 1,419.58 เมกะวัตต์ (อ่านเพิ่มเติม: สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้าปี 2555-2558) แต่ทั้งนี้ยังถือว่าการผลิตและจ่ายเข้าระบบยังมีปริมาณน้อยอยู่ เพราะจากที่ผ่านมาต้นทุนของไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีราคาสูง โดยเฉพาะการลงทุนโซลาร์ฟาร์ม ผู้ลงทุนจะต้องมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน เช่น การมีที่ดินมากพอในการสร้างโรงไฟฟ้า เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 1 เมกะวัตต์นั้น ต้องใช้พื้นที่ในการตั้งแผงโซลาร์เซลล์ถึง 15 ไร่ รวมทั้งยังต้องศึกษาสภาพพื้นที่ในการสร้างโรงไฟฟ้าว่ามีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน ส่วนการติดตั้งบนหลังคาแบบโซลาร์รูฟท็อปนั้นก็ยังใช้ต้นทุนที่สูง ประชาชนส่วนใหญ่ทั่วไปไม่มีกำลังทรัพย์ในการติดตั้ง นอกจากนี้เทคโนโลยีที่ใช้ในการก่อสร้างก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะในปัจจุบันแผงโซลาร์เซลล์มีอายุประมาณ 25 ปี ทำให้ค่าดูแลและบำรุงรักษาในแต่ละปีค่อนข้างสูง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีมูลค่าที่สูง (ก่อนปี 2556 มีต้นทุนประมาณ 20 บาทต่อหน่วย) แม้ว่าไทยจะมีนโยบายการส่งเสริมในช่วงหลังโดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป แต่ก็พบว่ายังคงมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา (อ่านเพิ่มเติม: หักเหลี่ยมธุรกิจโซลาร์เซลล์ ยุค คสช. เมื่อ'โซลาร์รูฟท็อป'แค่ใช้เอง-ห้ามขาย และ ‘โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ’ ส่อแววสะดุด กองทัพ-อปท.ติดข้อกม.-อ้างรบ.ที่แล้ว)

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของไทยยังสูงอยู่ แม้ศักยภาพของแสงอาทิตย์ในไทยจะมีเหลือล้นก็ตาม คืออุตสาหกรรมต้นน้ำอย่างการผลิตโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ในไทยยังมีไม่แพร่หลาย และผู้ประกอบการไทยยังมีศักยภาพทั้งด้านทุนและเทคโนโลยีสู้ต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทจากจีนไม่ได้

‘จีน’ มหาอำนาจผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของโลก


ในปี 2558 พบว่าบริษัทจากจีนติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของบริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ด้วยปริมาณการติดตั้งเป็นจำนวนวัตต์ (watt) มากที่สุดในโลกถึง 6 อันดับ การประมาณการปริมาณกำลังผลิตแผงโซลาร์เซลล์ที่ส่งมอบให้ลูกค้า 10 อันดับในปี 2558 ของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกมีดังนี้ อันดับ 1 Trina Solar ปริมาณกำลังผลิตที่ส่งมอบให้ลูกค้ารวม 5.74 กิกะวัตต์ อันดับ 2 Canadian Solar กำลังผลิตรวม 4.7 กิกะวัตต์ อันดับ 3 Jinko Solar กำลังผลิตรวม 4.51 กิกะวัตต์ อันดับ 4 JA Solar กำลังผลิตรวม 3.93 กิกะวัตต์ อันดับ 5 Hanwha Q CELLS กำลังผลิตรวม 3.3 กิกะวัตต์ อันดับ 6 First Solar กำลังผลิตรวม 2.8 กิกะวัตต์ อันดับ 7 Yingli Green กำลังผลิตรวม 2.35-2.40 กิกะวัตต์ อันดับ 8 SFCE กำลังผลิตรวม 2.28 กิกะวัตต์ อันดับ 9 กำลังผลิตรวม ReneSola 2.69 กิกะวัตต์ และอันดับ 10 SunPower Corp. กำลังผลิตรวม 1.18-1.25 กิกะวัตต์ ทั้งนี้เป็นบริษัทจากจีนได้แก่อันดับ 1, 3, 4, 7, 8 และ 9 บริษัทจากสหรัฐอเมริกาได้แก่อันดับ 6 และ 10 ส่วนอีก 2 อันดับ (2 และ 5) เป็นบริษัทจากแคนาดาและเกาหลีใต้ตามลำดับ (อ่านเพิ่ม: ‘จับตา : บริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่ 10 อันดับแรกของโลก’) ส่วนข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าจีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกเซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยสามารถส่งออกแผงโซลาร์เซลล์สู่ตลาดโลกได้ประมาณ 16.7 กิกะวัตต์ต่อปี คิดเป็นมูลค่าการส่งออกโดยรวมมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ผู้ประกอบการจีนก็ยังได้ทำการขยายฐานการผลิตเพื่อส่งออกเซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ไปยังประเทศต่าง ๆ มากขึ้นอีกด้วย

อุตสาหกรรมผลิตแผงโซลาร์ของไทย


ต้นทุนการผลิตที่แพงกว่า เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของไทยสู้จีนไม่ได้ แนวโน้ม 'การลงทุนร่วม' ระหว่างไทยกับจีนจึงมีมากขึ้นในปัจจุบัน (ที่มาภาพ: pv-tech.org)

ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา (ปี 2556) ระบุว่าการผลิตโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย เริ่มขึ้นในช่วงปี 2546 โดยเป็นการผลิตเซลล์และแผงชนิด Amorphous Silicon และการประกอบแผงเซลล์ชนิด Crystalline Silicon โดยการนำเข้าแผ่นเซลล์สำเร็จรูป และต่อมาพัฒนาการผลิตแผ่นเซลล์ด้วยการนำเข้าแผ่น Wafer จากต่างประเทศ โดยช่วงก่อนปี 2556 ประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อขึ้นรูปโซลาร์เซลล์และประกอบแผงโซลาร์เซลล์ จำนวน 5 ราย ได้แก่ บริษัท บางกอกโซลาร์ จำกัด, บริษัท เอกรัฐโซลาร์ จำกัด, บริษัทโซลาร์ตรอน (มหาชน) จำกัด, บริษัทโซลาร์เพาเวอร์เทคโนโลยี (SPOT) จำกัด และบริษัทชาร์ปเทพนคร จำกัด ทั้ง 5 รายนี้มีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้นเพียง 110 เมกะวัตต์ต่อปี โดยที่ผ่านมากับพบปัญหาไม่มียอดสั่งซื้อในประเทศมากพอ ได้ทำให้บางรายต้องประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง

เสียงจากผู้ประกอบการแผงโซลาร์เซลล์ไทยในอดีต “ทำไมถึงไปไม่รอด?”

ความไม่แน่นอนของนโยบาย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศต้องล้มลุกคุกคลานมาตลอด อาทิเช่น ตัวอย่างของบริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) ที่เปิดเผยกับสื่อมวลชนเมื่อเดือน ส.ค. 2556 ที่ผ่านมาว่า การที่ไม่มียอดคำสั่งซื้อแผงเซลล์เข้ามาทำให้ต้องลดกำลังการผลิตลงเหลือน้อยมาก หรือไม่ถึงร้อยละ 10 ของกำลังการผลิตเต็มกำลังที่ 25 เมกะวัตต์ต่อปี เพราะหลังจากที่กระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ตั้งแต่ปี 2553 ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่มียอดคำสั่งซื้อเข้ามาเลย เพราะนำเข้าจากประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ มีต้นทุนผลิตแผงเซลล์ต่ำกว่าร้อยละ 15-20 และยังเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินทุนให้

“บริษัทต้องประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ก่อตั้งโรงงานเมื่อปี 2550 เพราะไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา ซึ่งในปี 2551-2552 บริษัทได้ส่งออกแผงเซลล์ไปเยอรมัน แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้คำสั่งซื้อหยุดลง ดังนั้นหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป บริษัทก็ต้องปิดโรงงาน ซึ่งใช้เงินลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท เพราะไม่สามารถแบกรับภาระขาดทุนต่อได้ " ผู้บริหารท่านหนึ่งของบริษัทฯ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (ฐานเศรษฐกิจ, 21 ส.ค. 56)


ส่วนในปัจจุบัน ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า การส่งออกโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ของไทยที่ผ่านมา มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เฉลี่ยแล้วเติบโตประมาณร้อยละ 55 ต่อปี (ตั้งแต่ปี 2554-2558) โดยมีตลาดสำคัญคือประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้แผงโซลาร์เซลล์มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ในปี 2558 ไทยมีการส่งออกโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 1,452.4 จากปี 2557 โดยส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกามากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 73.2 จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยกว่าร้อยละ 160 ต่อปี ตั้งแต่ปี 2554-2558 โดยเฉพาะในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนผลิตโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ในไทยเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยมีมูลค่าการลงทุนราว 45,186 ล้านบาท เติบโตมากกว่าร้อยละ 850 จากปี 2557 ซึ่งหากบริษัทผู้ผลิตมีการลงทุนตามแผนที่วางไว้ อุตสาหกรรมผลิตเซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ของไทยโดยรวมน่าจะมีกำลังการผลิตพุ่งสูงกว่า 1,000 เมกะวัตต์ต่อปีในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า และในกรณีที่มีการผลิตเต็มกำลังในอนาคต ก็น่าจะส่งผลให้การผลิตโดยภาพรวมสูงกว่า 2,000 เมกะวัตต์ต่อปี ซึ่งย่อมจะส่งผลดีต่อการส่งออกเซลล์และแผงโซลาร์เซลล์โดยภาพรวมของไทย ให้ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด และจากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่าการส่งออกที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในปี 2558 นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ประกอบการในประเทศแสวงหาโอกาสไปสู่การส่งออกมากขึ้น เพื่อทดแทนความต้องการในประเทศที่หดตัวลง อันเนื่องมาจากปริมาณความต้องการใช้แผงโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยเข้าสู่ภาวะชะลอตัวตามการลงทุนของธุรกิจโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบกับการผลักดันโครงการเปิดเสรีในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่อยู่อาศัยหรืออาคารภาคธุรกิจ (โซลาร์รูฟท็อป) และโครงการโซลาร์ฟาร์มในส่วนราชการของรัฐบาลที่ยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้งยังมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเข้ามาลงทุนผลิตโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ของนักลงทุนต่างชาติในไทยเพื่อการส่งออก
เมื่อจีนรุกไทย ลงทุนตั้งโรงงานหลายพื้นที่

ถึงแม้ว่าการส่งออกโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ของไทยโดยภาพรวมจะเติบโตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า การส่งออกดังกล่าวจะถูกขับเคลื่อนจากผู้ประกอบการรายใหม่ที่เป็นนักลงทุนต่างชาติซึ่งใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตและส่งออก มากกว่าจะเป็นผู้ประกอบการไทยรายเดิมในตลาด ทั้งนี้ในกรณีผู้ประกอบการไทยจะมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่ม (Value-added) จากกระบวนการผลิตเซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ที่เกิดขึ้นในประเทศเกือบร้อยละ 40 แต่สำหรับโครงการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติแต่ละโครงการ อาจมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยแตกต่างกันไป ซึ่งผู้ประกอบการไทยยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งความต้องการในประเทศที่หดตัวในปัจจุบัน และภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากการที่มีผู้ประกอบการรายใหม่ ที่อาจจะมีข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันในเรื่องราคาและเทคโนโลยีในการผลิตเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น กลุ่มผู้ประกอบการไทยในตลาดจึงควรต้องปรับตัวเน้นไปสู่การส่งออกมากขึ้น

ทั้งนี้ ทุนจากจีนก็ได้ส่งสัญญาณการขยายฐานการผลิตในไทยด้วยเช่นกัน จากข้อมูลการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2558 ที่ผ่านมาพบว่ามีโครงการเกี่ยวกับการผลิตโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์ขนาดโหญ่ (มูลค่าการลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท) ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มูลค่าสูงถึง 45,186 ล้านบาท เติบโตมากกว่าร้อยละ 850 จากปี 2557 ที่มีมูลค่าการลงทุนอยู่เพียง 4,714 ล้านบาท และโดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนชาวจีน โดยได้รับแรงหนุนจากนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานทดแทนของรัฐบาลไทย ประกอบกับความต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออก

ข้อมูลจาก BOI ที่เปิดเผยกับสื่อมวลชนในช่วงเดือน ต.ค. ปี 2558 ที่ผ่านมา ระบุว่าผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมากจากจีนได้ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์ของประเทศจีนได้ถูกสหรัฐอเมริกาและยุโรปออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping : AD) ทำให้ผู้ผลิตหลายรายย้ายฐานเข้ามาลงทุนในไทยเองโดยตรงหรือผ่านทางสิงคโปร์เพื่อเลี่ยงการถูกมาตรการ AD ดังกล่าว ส่วนการประเมินของผู้บริหารบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) เมื่อเดือน มิ.ย. 2559 ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการของไทยที่ผลิตแผงเซลล์ 5-6 ราย กำลังการผลิตรวม 400 เมกะวัตต์ และผู้ประกอบการจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยและอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานในช่วง 1-2 ปีนี้อีก 5 ราย คาดว่าจะมีกำลังการผลิตรวม 1,000-2,000 เมกะวัตต์

สำหรับการลงทุนโดยตรงและการลงทุนร่วมของทุนจากจีนในอุตสาหกรรมผลิตแผงโซลาร์เซลล์ที่น่าสนใจช่วงที่ผ่านมามีดังนี้


ภายในโรงงานของบริษัท โจงลี่ เทลซัน โซล่าร์ (ไทยแลนด์) โรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์เต็มรูปแบบแห่งแรกในไทยที่ลงทุนโดยบริษัทจีน (ที่มาภาพ: สภาธุรกิจไทย-จีน)

ก.ย. 2559 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ลงนามสนับสนุนทางการเงินเพื่อต่อยอดธุรกิจร่วมกับบริษัท โจงลี่ เทลซัน โซล่าร์ (ไทยแลนด์) บริษัทลูกของ Zhongli Talesun Solar ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่จากจีน ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน พ.ย. 2558 บริษัท โจงลี่ฯ เพิ่งเปิดตัวโรงงานผลิตโซลาร์เซลล์แบบเต็มรูปแบบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน จ.ระยอง บนพื้นที่ 64 ไร่ โรงงานงานแห่งนี้เป็นโรงงานผลิตอุปกรณ์และระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบเต็มรูปแบบในไทยแห่งแรกที่ลงทุนโดยบริษัทจีน ด้วยเม็ดเงินลงทุนประมาณ 5,600 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2554 มีกำลังการผลิตแผงโซล่าร์เซลล์ 1.8 กิกะวัตต์ นำเข้าวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตมาจากจีนและเยอรมนี โดยใช้ระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตทั้งหมด


บริษัทในเครือของ Yingli Green Energy Holding Company Limited หรือ Yingli Solar หนึ่งในมหาอำนาจของอุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลล์สัญชาติจีน ก็กำลังจะมาลงทุนในประเทศไทยแล้ว

ก.ย. 2559 บริษัท ดีมีเตอร์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท ดีมีเตอร์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DCORP เข้าร่วมลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์กับ HAINAN YINGLI NEW ENERGY RESOURCES CO.,LTD บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานจากประเทศจีนซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Yingli Green Energy Holding Company Limited (NYSE: YGE) บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์สัญชาติจีนยักษ์ใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NYSE ประเทศสหรัฐฯ มีออฟฟิศใน 30 ประเทศทั่วโลก ผลิตและจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ไปแล้วมากกว่า 60 ล้านแผง กำลังการผลิตรวมกว่า 1,400 เมกะวัตต์ กระจายอยู่ 90 ประเทศทั่วโลก กำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ต่อปี

ก.ย. 2559 บริษัท เทเช่นเทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้ Techen ประเทศจีน เปิดเผยว่าบริษัทฯ ลงทุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.5 พันล้านบาทสร้างโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 300 เมกะวัตต์ ใน จ.ชลบุรี โดยการก่อสร้างจะเสร็จในเดือน ต.ค. 2559 นี้และคาดว่าจะ เดินเครื่องเต็มกำลังปี 2561 โรงงานแห่งนี้ถือเป็นโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์แห่งที่ 4 ของ Techen ต่อจากโรงงานในประเทศเปรู บราซิล และจีน โดยถ้าโรงงานใน จ. ชลบุรี เดินเครื่องก็จะทำให้กำลังการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของ Techen เพิ่มเป็น 1 กิกะวัตต์ทั่วโลก


นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ คาดทั้งปี 2559 ยอดขายที่ดินในนิคมจะสูงถึง 500 ไร่ โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้ประกอบการจากประเทศจีนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตแผงโซลาร์เซลล์ (ที่มาภาพ: thaimediapr.com)

ต.ค. 2559 บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่าปัจจุบันบริษัทมียอด ขายที่ดินรอการโอน (Backlog) อยู่ประมาณ 300-400 ไร่ โดยทั้งปี 2559 บริษัทตั้งเป้ายอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม 500 ไร่ และมั่นใจจะทำได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากปัจจุบันบริษัทสามารถทำยอดขายที่ดินได้เกินครึ่งหนึ่งของเป้าหมายแล้ว เนื่องจากมีกลุ่มผู้ประกอบการจากประเทศจีนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตแผงโซลาร์เซลล์

อ่าน 'จับตา': “บริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่ 10 อันดับแรกของโลก"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6513



เริ่มพิจารณากรณีลูกจ้างแรงงานข้ามชาติพม่า 14 คน ยื่นฟ้องบริษัทเบทาโกร


Posted: 30 Oct 2016 03:21 AM PDT

ศาลแรงงานเริ่มพิจารณากรณีลูกจ้างแรงงานข้ามชาติพม่า 14 คน ยื่นฟ้องบริษัทเบทาโกรฯ ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมไก่ส่งออกไทยกับพวก อ้างมีการบังคับใช้แรงงานเรียกค่าเสียหาย 44 ล้านบาท ในวันที่ 31 ต.ค. 2559 นี้ ส่วนเจ้าของฟาร์มไก่ฟ้องคดีอาญาต่อแรงงานข้ามชาติ 14 คนเพิ่มเป็นคดีที่สอง

ในวันที่ 31 ต.ค. 2559 เวลา 9.00 น. ศาลแรงงานภาค 1 จังหวัดสระบุรีจะพิจารณาคดีแรงงานที่สำคัญ กรณีแรงงานลูกจ้างชาวพม่า 14 คน กล่าวหาว่ามีการบังคับใช้แรงงานและละเมิดสิทธิลูกจ้างในฟาร์มไก่ที่มีสัญญาส่งสัตว์ปีกให้บริษัทเบทาโกรฯ บริษัทผู้ส่งออกยักษ์ใหญ่ โดยแรงงานข้ามชาติยื่นฟ้องบริษัทรายนี้ร่วมกับเจ้าของฟาร์มไก่ธรรมเกษตร 2 ในจังหวัดลพบุรี และเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานเพื่อให้เพิกถอนคำสั่ง เรียกค่าชดเชยจากความเสียหายตามกฎหมายแรงงาน และค่าสินไหมทดแทนที่แรงงานข้ามชาติอ้างว่าถูกละเมิดมาเป็นเวลาหลายปี รวม 44 ล้านบาท จากการทำงานในฟาร์มไก่แห่งนี้

คดีนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการรณรงค์ Walk Free ที่ทำการรวบรวมรายชื่อทางออนไลน์จากนักกิจกรรมนานาชาติกว่า 113,000 คน ให้ร่วมลงชื่อในหนังสือและทำการยื่นรายชื่อดังกล่าวต่อสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 แต่ไม่มีการตอบสนองใดๆ จากสมาคม โครงการรณรงค์ของ Walk Free ได้เรียกร้องให้บริษัท เบทาโกรฯ ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ให้รับประกันว่าแรงงานข้ามชาติทั้ง 14 คน จะได้รับค่าชดเชยที่ค้างจ่าย และเรียกร้องให้บริษัทเบทาโกรฯ ดำเนินการตรวจสอบสภาพการทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน และมีกลไกการรับเรื่องร้องเรียนเพื่อให้มีการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ และมิให้ละเว้นความผิดจากการใช้แรงงานทาสสมัยใหม่

การฟ้องคดีของแรงงานข้ามชาติต่อศาล เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลพบุรี ออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายชดเชยค่าจ้างรวม 1.7 ล้านบาท สำหรับค่าจ้างที่ค้างจ่ายในอดีตซึ่งคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้ฟาร์มธรรมเกษตร 2 จ่ายค่าชดเชยแก่แรงงานทั้ง 14 คนแต่แรงงานเห็นว่าค่าชดเชยนี้ไม่เพียงพอเนื่องจากไม่ได้เป็นการชดเชยการทำงานในสภาพที่มีการละเมิดสิทธิเป็นระยะเวลาสูงสุดถึง 5 ปีอย่างเพียงพอ

แรงงานลูกจ้าง 14 คนอ้างว่าต้องทำงานอย่างหนักเป็นเวลานานสูงสุดถึง 20 ชั่วโมงต่อวัน เเละถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลา ต้องนอนในเล้าไก่ข้ามคืน เเละแรงงานทั้ง 14 คน อ้างด้วยว่าถูกหักเงินค่าจ้างโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ถูกขู่ว่าจะหักค่าจ้าง มีการยึดเอกสารประจำตัว แรงงานอ้างว่าแม้จะสามารถเดินทางไปตลาดได้แต่จะมีผู้ควบคุมไปด้วยและเดินทางได้อย่ามากไม่เกินสองชั่วโมงต่อสัปดาห์

ที่ผ่านมาบริษัท เบทาโกรฯ ไม่สามารถตอบสนองในเชิงบวกต่อการร้องขอให้รับประกันว่าจะให้มีการจัดที่พักฉุกเฉินและค่ายังชีพให้แรงงานหลังจากลาออกจากฟาร์มไก่และถูกร้องขอให้ดำเนินการจนมั่นใจได้ว่าแรงงานจะได้รับค่าชดเชยเพียงพอ โดยขอให้บริษัทใช้อำนาจที่มีอยู่เพื่อประกันว่าจะมีการชดเชยเยียวยาเมื่อมีการละเมิดสิทธิของแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทอย่างเหมาะสม แต่แม้นบริษัทเบทาโกรฯ จะทราบว่ามีการซื้อสินค้าจากจากฟาร์มธรรมเกษตร 2 ก็ตาม บริษัทเบทาโกรฯ กลับไม่ปฏิบัติตามที่ถูกร้องขอโดยควรปฏิบัติตามหลักการและการชี้แนะขององค์การสหประชาชาติเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชนครบถ้วน

ในเบื้องต้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 บริษัท เบทาโกรฯ ได้โอนเงินให้เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติโดยไม่แจ้งล่วงหน้าสำหรับแรงงานข้ามชาติทั้ง 14 คนเป็นเงินจำนวน 50,000 บาทซึ่งเป็นการให้การสนับสนุนด้านมนุษยธรรม เพิ่มเติมจากที่สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยมอบเงินสนับสนุนแรงงานทั้ง 14 คนรายละ 3,000 บาทผ่านเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติในเวลาเดียวกัน โดยแม้บริษัทและสมาคมฯจะไม่ยอมตอบสนองตามข้อเรียกร้องในระยะแรกแต่สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยกลับตอบสนองทันทีในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การขึ้นทะเบียนแรงงาน และการจ้างงานแรงงานเข้าทำงาน ส่วนบริษัทเบทาโกรฯ ทำการออกแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชน ผู้ซื้อและนักลงทุนต่างชาติปฏิเสธว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงดังที่แรงงานทั้ง 14 คนกล่าวอ้าง

ก่อนหน้านั้น แรงงานพม่า 2 คนจาก 14 คนถูกนายจ้าง ฟาร์มไก่ธรรมเกษตร 2 กล่าวหาว่า ทำการลักทรัพย์หลายกรรม ซึ่งแต่ละกรรมอาจถูกตัดสินลงโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี หากพบว่ามีความผิดจริง โดยนายจ้างได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าบัตรลงเวลาปฏิบัติงานได้ถูกเอาไปจากการครอบครองของนายจ้าง ซึ่งบัตรลงเวลาปฏิบัติงานนั้นได้ถูกนำมาส่งมอบให้เจ้า หน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานลพบุรีเพื่อใช้เป็นหลักฐานว่ามีการละเมิดสิทธิของคนงาน ซึ่งหลังจากที่มีการแจ้งความลูกจ้างแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอออกหมายจับและเข้าทำการจับกุมแรงงานพม่าคนแรกในสถานที่ทำการของนาย จ้างและควบคุมตัวไว้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน หลังจากที่แรงงานได้รับทราบข้อกล่าวหาและให้การปฏิเสธต่อพนักงานสอบสวนแล้ว บริษัท เบทาโกรฯได้จ่ายเงิน 75,000 บาทให้ เพื่อเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัวแรงงานที่ถูกตั้งข้อกล่าว หา ต่อมาในเดือนสิงหาคมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อหาแรงงานพม่าเพิ่มอีกหนึ่งคนว่าร่วมกันลักทรัพย์ของนายจ้าง แรงงานดังกล่าวจึงเข้ามอบตัวและไม่มีการควบคุมตัวไว้ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้หลักประกัน ปัจจุบันพนักงานสอบสวน จังหวัดลพบุรียังไม่มีคำสั่งว่าจะสั่งฟ้องคดีนี้และส่งให้อัยการเพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินคดี หรือไม่ แต่อย่างใด

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559 ทนายความของแรงงานทั้ง 14 คนไปที่ศาลแรงงานภาค 1 เพื่อขอเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีที่นายจ้างฟาร์มไก่ธรรมเกษตร 2 ฟ้องเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้นายจ้างจ่ายเงินแก่ลูกจ้าง 14 คนและในวันดังกล่าวเป็นวันนัดไกล่เกลี่ยของคู่กรณีในคดีนั้นจึงทำให้ทราบว่านายจ้างได้ยื่นฟ้องคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทต่อแรง งานทั้ง 14 คน เป็นคดีที่สอง อันสืบเนื่องมาจากการที่แรงงานพม่าทั้ง 14 คน ได้ไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขอให้มีการตรวจสอบตามกฎหมาย คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องและการส่งคำฟ้องให้จำเลยทำให้แรงงานข้ามชาติ 14 คนและคณะทำงานด้านกฎหมายยังไม่ทราบเรื่องการฟ้องคดีนี้เพราะยังไม่ได้รับหมายจากศาล เร่องคดีมีปรากฏในจดหมายของฟาร์มธรรมเกษตรที่ส่งไปยังสื่อมวลชน องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศและการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเมื่อไม่นานมานี้ โดยระบุว่าฟาร์มธรรมเกษตรจะฟ้องคดีต่อแรงงานและองค์กรต่าง ๆ ที่กล่าวอ้างความเท็จ จนเกิดความเสียหายต่อฟาร์มฯ ในกรณีสภาพการทำงานของแรงงานในฟาร์มฯ

สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ตอบสนองในทางบวกต่อแรงกดดันที่เกิดจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชนในกรณีนี้และผู้ซื้อสัตว์ปีกในต่างประเทศมีความกังวลลึก ๆ เรื่องสภาพจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยจึงได้มีการเปิดตัววิธีปฎิบัติที่ดีด้านแรงงาน (Good Labor Practice) สำหรับอุตสาหกรรมสัตว์ปีกไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2559

ในช่วงเวลาเดียวกันอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนกรณีปัญหาของแรงงานชาวพม่าทั้ง 14 คนว่า มิได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง แต่เป็นกรณีของข้อพิพาททางแรงงานระหว่างคนงานกับนาย จ้าง มิใช่เป็นกรณีของการบังคับใช้แรงงาน การค้ามนุษย์ การทำงานเกินช่วงเวลาทำงานหรือลูกจ้างถูกยึดเอกสารไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แรงงานทั้ง 14 คนเเละเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติได้ร้องขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่ง ชาติทบทวนรายงานเรื่องดังกล่าวเพราะเป็นต้นเรื่องที่ทำให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานนำมากล่าวอ้างว่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติส่งรายงานผลการตรวจสอบให้บริษัทเบทาโกรฯเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2559 หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่แรงงาน/ผู้ร้องจะได้รับแจ้งผลการตรวจสอบ ซึ่งจากการพิจารณารายงานฉบับนี้แรงงานข้ามชาติทั้ง14 คนด้วยความช่วยเหลือของเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติได้โต้แย้งการทำรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับนี้ทั้งเรื่องความถูกต้องของข้อเท็จจริงจากการสอบสวนและทัศนะในการตีความความหมายของการแสวงประโยชน์แรงงานตามมาตรฐานของกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศที่ควรใช้ในกรณีนี้

กรณีนี้นับว่าเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่งเพราะได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง นักธุรกิจและนักลงทุนระหว่างประเทศ วงการการทูตประชาคมนานาชาติและคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เนื่องจากการละเมิดสิทธิของแรงงานกลุ่มนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประชาคมโลกกำลังตรวจสอบการจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยนโยบายการคุ้มครองแรงงานเช่นเดียวกับประวัติการค้ามนุษย์ของไทย อุตสาหกรรมส่งออกสัตว์ปีกไทยอยู่ภายใต้การตรวจ สอบอย่างเข้มข้นด้านเงื่อนไขการจ้างงานที่ไม่ดีนัก ตั้งแต่ พ.ศ.2558 รายงานการวิจัยที่ตีพิมพ์โดยกลุ่มตรวจสอบความรับผิด ชอบต่อสังคม คือ ฟินน์วอทช์และสเวดวอทช์ กลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและยังคงมีความกังวลที่รัฐบาลไทยและอุตสาหกรรมสัตว์ปีกไทยขาดความสนใจเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในฟาร์มการผลิตอาหารสัตว์และโรงงาน

บริษัทเบทาโกรฯ เป็นหนึ่งในสมาชิกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยเช่นเดียวกับสมาชิกชั้นนำ เช่น CP, GFPT, Cargill, BRF แหลมทองสัตว์ปีก พนัสสัตว์ปีก เซนทราโก และบางกอกแร้นช์ ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสัตว์ปีกรายใหญ่ของโลกที่ส่งออกไก่เพื่อใช้ในอาหารแปรรูปหรืออาหารสำเร็จรูปโดยส่วนใหญ่จะส่งออกไปสหภาพยุโรปและตลาดญี่ปุ่น


ชาวบ้านแม่สอดเตรียมฟ้องหน่วยงานรัฐ ออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ

Posted: 30 Oct 2016 03:43 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ชาวบ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก เตรียมยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หลังได้รับผลกระทบจากนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษตามคำสั่ง คสช. ที่ 17/2558

30 ต.ค. 2559 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเปิดเผยว่าสืบเนื่องเนื่องจากการประกาศคำสั่งที่ 17/2558 เรื่องการจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ปี 2557 เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2558 ได้กำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก มุกดาหาร สระแก้ว หนองคาย ตราด หนองคาย เพื่อกระตุ้นและดึงดูดให้เกิดการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก เป็นพื้นที่ดำเนินการในระยะที่ 1 จากทั้งหมด 10 พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จำนวนเนื้อที่ 2,183 ไร่ ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ที่เริ่มก่อตั้งชุมชนมาตั้งแต่ปี 2400 และอยู่อาศัยกันมาจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เป็นเหตุทำให้เกิดความเดือดร้อนจำนวนทั้งหมด 97 ราย

ระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมจากการสูญเสียที่ดินของตนเองตลอดมา จนกระทั่งกระทรวงการคลังดำเนินการโดยสำนักงานธนารักษ์ พื้นที่ตาก ได้ยื่นคำขอออกโฉนดโดยอ้างถึงคำสั่งที่ 17 /2558 จำนวนเนื้อที่ 2,183 ไร่ เพื่อนำพื้นที่ไปพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรม ชาวบ้านผู้เดือดร้อนและกลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่นได้ยื่นคำคัดค้านกับสำนักงานที่ดินตาก สาขาแม่สอด ในระหว่างนั้น ได้มีความพยายามเจรจาต่อรองให้ชาวบ้านยอมถอนคำคัดค้านด้วยวิธีการต่าง ๆ จนในที่สุดชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไปถอนคำคัดค้าน แต่ยังคงเหลือชาวบ้านที่ยังยืนยันไม่ถอนคำคัดค้านเพียง 6 ราย ในที่สุดเจ้าพนักงานที่ดิน จ.ตาก สาขาแม่สอด มีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 โดยวินิจฉัยว่ากระทรวงการคลัง โดยสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ตากมีสิทธิดีกว่าชาวบ้าน หากไม่พอใจให้ชาวบ้านไปยื่นขอความเป็นธรรมด้วยตนเอง

ดังนั้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 เวลา 13.00 น. ชาวบ้านทั้ง 6 ราย จะไปยื่นฟ้อง กระทรวงการคลัง (โดยสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ตาก) และเจ้าพนักงานที่ดิน จ.ตาก สาขาแม่สอด ต่อศาลปกครองพิษณุโลก (ศาลที่มีเขตอำนาจ) เพื่อให้ศาลปกครองพิษณุโลก พิจารณาว่าการออกโฉนดที่ดินของกระทรวงการคลัง (โดยสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ตาก) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพื่อสร้างบรรทัดฐานเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐที่ดำเนินนโยบายอันเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิที่ดิน สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองของชาวบ้าน และสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการกำหนดนโยบายของรัฐที่ไม่เป็นธรรม ให้เป็นบรรทัดฐานการวางนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะเกิดขึ้นต่อไป


หมายเหตุประเพทไทย #129 ศัพท์คำไหนใครบัญญัติ

Posted: 30 Oct 2016 07:05 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

หมายเหตุประเพทไทย สัปดาห์นี้ คำ ผกา และชานันท์ ยอดหงษ์ ชวนอ่านบทความของ สายชล สัตยานุรักษ์ หัวข้อ "ประวัติศาสตร์การบัญญัติศัพท์: มิติหนึ่งของการเมืองวัฒนธรรมก่อนและหลังการปฏิวัติ 2475" เล่าเรื่องการเมืองของการบัญญัติศัพท์สมัยใหม่ ในยุคที่วิทยาการความรู้จากตะวันตกเข้าสู่สยามประเทศ และสิ่งที่มาพร้อมกันก็คือแนวคิดทางการเมืองจากตะวันตก ที่ชนชั้นนำซึ่งเกรงการ "ตื่นศัพท์" "ตื่นลัทธิ" จะส่งผลต่ออำนาจสถานะของพวกเขา

ทั้งนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน อดีตประธานสมัชชาองค์การสหประชาชาติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลหลายสมัย เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการ "บัญญัติศัพท์" แปลคำศัพท์ต่างประเทศมาเป็นภาษาไทย โดยกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เข้าใจธรรมชาติของภาษาดีว่า "คำมีชีวิตของตนเอง รู้จักเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน ความหมายย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเทศะ" โดยที่คำศัพท์จำนวนมากที่กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์แปลเป็นภาษาไทยยังคงใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่มีอยู่คำหนึ่งคือ "ประชาชาติ" ที่แปลมาจากคำว่า "Nation" กลับไม่เป็นที่นิยมใช้

ขณะเดียวกันกลุ่มการเมืองฝ่ายต่างๆ ก็เข้ามาช่วงชิงการ "บัญญัติศัพท์" อย่างเช่น "นายผี" อัศนี พลจันทร เสนอการแปลคำว่า "bourgeois" ว่า "แพศยะ" ฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่าง พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เสนอแปลคำว่า "Liberty" เป็น "เอาแต่ใจตนไม่ยอมใคร" และ "เสเพล"

แม้แต่คำว่า "Revolution" ก็มีผู้เสนอคำแปลหลายแบบ ผู้นำคณะราษฎร ปรีดี พนมยงค์ เสนอคำว่า "อภิวัฒน์" ขณะที่หลวงวิจิตรวาทการ เสนอคำว่า "พลิกแผ่นดิน" ขณะที่ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์เสนอคำว่า "ปฏิวัติ" ฯลฯ

การแข่งขัน/ช่วงชิงของกลุ่มการเมืองต่างๆ ในการแปลคำศัพท์จากต่างประเทศเป็นภาษาไทย การ "บัญญัติศัพท์" แสดงอำนาจของภาษา และส่งผลต่อการก่อรูปทางความคิดของคนในสังคมไทยอย่างไร ติดตามได้ในรายการหมายเหตุประเพทไทย



ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai หรือ

https://www.youtube.com/playlist?list=PLyjd9jzMpO2Xby4FyxWMwY8auIFY01eVQ


จับตาประชุม กสท.จ่อถอนใบอนุญาต CTH ขึ้นแบล็คลิสต์ - ถกละครเจ้าพายุ ช่อง 7 เหตุฉากรุนแรง

Posted: 30 Oct 2016 08:31 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

จับตาประชุม กสท. จ่อเพิกถอนใบอนุญาต CTH จันทร์นี้ ขึ้นเป็นแบล็คลิสต์, ถกละครเจ้าพายุ ช่อง 7 กรณีมีฉากรุนแรง ส่อขัดมาตรา 37, พิจารณาแนวปฏิบัติการออกอากาศ กรณีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต หลังจาก 30 วัน

30 ต.ค. 2559 สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 37/2559 วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคมนี้ มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ กรณีการขอยกเลิกการให้บริการโครงข่ายของบริษัทซีทีเอชฯ ซึ่ง กสท.มีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตครบ 30 วันแล้ว แต่บริษัทซีทีเอชฯ ยังคงเพิกเฉยที่จะปฏิบัติตามประกาศ เงื่อนไขที่กำหนด โดยต้องส่งแผนเยียวยาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ กสท.ก่อนยุติการให้บริการ และหลังจากการเพิกถอนใบอนุญาตแล้วสำนักงาน กสทช. จะบันทึกการกระทำดังกล่าวไว้เป็นประวัติด้วย เพื่อเป็นข้อมูลในการกำกับดูแลในอนาคต

“กรณีบริษัทซีทีเอชฯ แม้ว่าจะยุติการให้บริการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา แต่การได้รับคำสั่งทางปกครองถูกเพิกถอนใบอนุญาตการให้บริการบริการโครงข่ายในลักษณะนี้ ส่งผลให้ต้องถูกบันทึกในประวัติการกระทำความผิดในการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และนับเป็นครั้งแรกที่ กสท. จะพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบการที่ให้บริการโครงข่าย ซึ่งทำงานกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 อย่างไรก็ตามหลังจากที่บริษัทซีทีเอชฯ ยุติการให้บริการไปแล้วเกือบ 2 เดือน ยังมีผู้ใช้บริการได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ ดิฉันกำลังจี้ให้ทางบริษัทซีทีเอชฯ แก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนที่คั่งค้างอยู่ 55 กรณี และจะประสานกับทาง สคบ.ช่วยผู้บริโภคที่ต้องการฟ้องร้องต่อศาลด้วย เพราะผู้รับผิดชอบของบริษัทซีทีเอชฯ โดยตรงต่างทยอยลาออกกันไปเกือบหมดแล้ว” สุภิญญากล่าว

นอกจากนี้ยังมีวาระที่บอร์ดต้องถกกันเกี่ยวกับเนื้อหาของละครเรื่องเจ้าพายุ ของช่อง 7 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2559 ได้รับการร้องเรียนว่ามีฉากความรุนแรง อนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการเห็นว่าละครดังกล่าวมีภาพการกระทำที่ซาดิสม์ แสดงวิธีการฆ่า และการกระทำที่รุนแรง ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน และมีผลต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจอย่างร้ายแรง ซึ่งอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 37 ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และจัดระดับความเหมาะสมที่ “ท” ทุกวัย (รายการที่เหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัย) ซึ่งไม่สอดคล้องตามประกาศสำนักงาน กสทช. ที่เกี่ยวข้อง จึงเสนอลงโทษปรับทางปกครอง

ส่วนวาระอื่นๆ ที่น่าจับตาคือ การพิจารณาแนวปฏิบัติการออกอากาศ กรณีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต หลังจาก 30 วัน ว่าควรมีแนวทางที่เหมาะสมอย่างไร การพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่องแผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบ F.M. และร่างประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบ F.M. การพิจารณาการลดหย่อนค่าธรรมเนียม การพิจารณาการกระทำความผิดของช่องรายการ Box Film และสถานีวิทยุกระจายเสียง สัมพันธ์ทุ่งครุ F.M. 96.25 MHz. ที่ออกอากาศโฆษณาอาหารและยาผิดกฎหมาย และจะได้รับคำสั่งทางปกครองและปรับตามแนวทางที่บอร์ด กสท.ได้วางไว้แล้ว วาระการโต้แย้งมติ กสท. กรณีไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องและแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดตั้งสถานี การออกอากาศและมาตรฐานทางเทคนิคของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่เกี่ยวข้องกับศาสนา การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนกรณี ที่บริษัท GMMb แจ้งเปลี่ยนแปลงระบบการให้บริการแพ็กเกจ Z pay TV ทางกล่อง GMMZ ผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีการออกอากาศการ์ตูนแอนนิเมชั่น ไฮสกูลดีเอ็กซ์ดี ของช่องแก๊งค์การ์ตูนแชนแนลเผยแพร่เนื้อหาไม่เหมาะสม



ยุติการก่อความไม่สงบด้วยโอกาสทางการศึกษา

Posted: 30 Oct 2016 08:46 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ในเดือนสิงหาคม 2559 มีการวางระเบิดที่หัวหินและในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ อีกหลายแห่ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตห้าคน และมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ทางการเชื่อว่าผู้ก่อเหตุน่าจะเป็นการก่อวินาศกรรมที่มาจากเหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้

ในเดือนกันยายน 2559 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก มอบรางวัลเนื่องในวันรู้หนังสือโลกให้แก่ ศ.เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ จากผลงานการวิจัยเรื่องการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษาไทย-มลายู

สองเรื่องนี้อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องที่มีความแตกต่างกันมากและไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกันต่อกันเลย แต่ความจริงแล้วสองเรื่องนี้เชื่อมถึงกันผ่านปัญหาที่สำคัญที่สุดปัญหาหนึ่งของสังคมไทยในปัจจุบัน นั่นคือสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมานานหลายทศวรรษ เหตุการณ์แรกเป็นผลลบที่สังคมต้องเผชิญ เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศจากการที่ปัญหาความไม่สงบยังไม่สามารถถูกจัดการได้ ในขณะที่เหตุการณ์ที่สองเป็นความหวัง เป็นหนึ่งในหนทางที่เป็นไปได้ว่าจะสร้างทางออกให้กับปัญหานี้

สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นส่งผลกระทบต่อชุมชนในวงกว้างจนทำให้ผู้คนในพื้นที่ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว ครูและข้าราชการจำนวนมากถูกฆ่า โรงเรียนกลายเป็นเหมือนค่ายทหาร เสียงระเบิดกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ความไม่สงบส่งผลรุนแรงและยืดเยื้อมาได้นานขนาดนี้ก็เพราะผู้ก่อความไม่สงบยังคงสามารถหาคนรุ่นใหม่ๆ มาสนับสนุนความรุนแรงได้อยู่เรื่อยๆ

ทำไมจึงยังมีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมกับผู้ก่อความไม่สงบ? และการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษาจะเป็นทางออกให้กับปัญหานี้ได้อย่างไร? ศ.เกียรติคุณ ดร.สุวิไลเคยให้ความเห็นไว้ดังนี้ “ชุมชนเหล่านี้เป็นชุมชนมุสลิมในประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ พวกเขาใช้ภาษามลายูในท้องถิ่น การที่คนส่วนใหญ่ในชุมชนไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ก็หมายความว่าพวกเขาไม่สามารถเรียนได้ดีในระบบการศึกษาที่ใช้ภาษาไทยเพียงภาษาเดียว และก็ไม่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงมีปัญหาในการหางาน และนั่นทำให้เยาวชนถูกดึงเข้าไปในความขัดแย้งและความรุนแรงได้ง่ายขึ้น”

ความรุนแรงในชุมชนนั้นมีผลมากขนาดที่ทำให้เด็กเล็กๆ กลายเป็นผู้ก่อการร้ายได้ และความล้มเหลวในการศึกษาก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ผลักดันให้กลุ่มชนซึ่งถูกกีดกันและไม่ได้รับโอกาสเลือกที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มหัวรุนแรง เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่น่าประหลาดใจ แต่เป็นข้อสรุปที่นักวิจัยเกี่ยวกับความขัดแย้งทั่วโลกล้วนเห็นตรงกัน ด้วยเหตุนี้การปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาจากแบบภาษาเดียวไปสู่แบบทวิภาษาที่ให้ความสำคัญกับภาษาแม่ของผู้เรียนก่อนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะการเริ่มต้นด้วยภาษาแม่จะทำให้ผู้เรียนเริ่มกระบวนการศึกษาได้ง่าย ไม่รู้สึกแปลกแยก และมีโอกาสในการค่อยๆ ใช้เวลาในการปรับตัวไปใช้ภาษาหลักของประเทศ ตลอดไปจนถึงภาษาอื่นๆ นี่เป็นแนวทางที่ตรงกับผลจากงานวิจัยระดับนานาชาติจำนวนมากที่ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการศึกษาในช่วงต้นนั้นต้องให้ความสำคัญกับภาษาแม่ของผู้เรียนมากกว่าที่จะให้ผู้เรียนเริ่มเรียนในภาษาที่ไม่คุ้นเคย

ตลอดช่วงเวลาเก้าปีที่ผ่านมา โครงการทวิภาษาไทย-มลายูของมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งริเริ่มโดย ศ.เกียรติคุณ ดร.สุวิไลได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแนวทางแบบทวิภาษานี้ส่งผลดีต่อผู้เรียนเป็นอย่างมาก ความสำเร็จของนักเรียนในโครงการนี้สูงกว่านักเรียนในชุมชนลักษณะเดียวกันที่ไม่ได้อยู่ในโครงการ อัตราการออกจากการศึกษาลดต่ำลง นักเรียนมีความมั่นใจมากขึ้นและมีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ทักษะภาษาไทยของนักเรียนดีขึ้น มีโอกาสเข้าสู่การศึกษาขั้นสูงมากยิ่งขึ้น มีทักษะต่างๆ ดีขึ้น และสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้

กลุ่มชนที่พูดภาษามลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และในอีกสี่อำเภอในจังหวัดสงขลานั้นแม้จะเป็นชนกลุ่มน้อยในภาพรวมของประเทศไทย แต่ก็เป็นชนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่และยังมีจำนวนรวมกันมากถึงหนึ่งล้านห้าแสนคน การจะทำให้ชนกลุ่มนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยอย่างแท้จริงไม่สามารถทำได้ด้วยการบีบบังคับให้พวกเขาต้องรับกับระบบการศึกษาและวัฒนธรรมที่พวกเขาไม่คุ้นเคย แต่อยู่ที่การให้ความยอมรับและความเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้โอกาสในการประสบความสำเร็จในชีวิต และให้ความช่วยเหลือเพื่อให้พวกเขาสามารถปรับตัวเข้าสู่สังคมส่วนใหญ่ได้

แก่นของการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในระยะยาวนั้นไม่ได้อยู่ที่การแบ่งแยกและกีดกัน แต่อยู่ที่การให้ความเคารพ การให้ความยอมรับ การสร้างความมั่นใจ และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ทว่าแม้ว่าแนวทางการศึกษาแบบทวิภาษาของมหาวิทยาลัยมหิดลจะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าประสบผลสำเร็จและสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้จริงจนถูกขยายไปสู่โรงเรียนทั้งหมดสิบห้าแห่ง แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายเพราะจวบจนถึงปัจจุบันแนวทางนี้ก็ยังไม่ได้ถูกรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาของรัฐในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

การนำแนวทางการศึกษานี้ไปใช้อย่างจริงจังในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสร้างประโยชน์ให้ยิ่งยวดกับสังคม และไม่เพียงแค่นั้น แนวทางนี้ยังมีประโยชน์ในวงกว้างระดับทั่วประเทศ เพราะแม้ปัญหาการขาดโอกาสทางการศึกษาของชนกลุ่มน้อยจะเด่นชัดที่สุดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปัญหานี้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในพื้นที่เดียว ยังมีชนกลุ่มน้อยอีกจำนวนมากในประเทศไทยที่ประสบปัญหาเดียวกัน นั่นย่อมหมายความว่าชนกลุ่มน้อยๆ อื่นๆ ก็จะได้รับประโยชน์จากแนวทางการศึกษาแบบทวิภาษาด้วย แนวทางนี้จึงควรถูกนำไปปรับใช้อย่างทั่วถึงในทุกๆ พื้นที่

ความล่าช้าในการนำแนวทางนี้ไปใช้นั้นไม่เพียงแต่ทำให้ชุมชนชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นขาดโอกาส แต่ยังทำให้เกิดความสูญเสียกับสังคมโดยรวมอีกด้วย เพราะโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มชนจะทำให้สังคมไม่เป็นปึกแผ่น และการขาดโอกาสในการศึกษาก็จะทำให้ประชากรในประเทศไม่มีผลิตภาพ มิหนำซ้ำยังสร้างความเสี่ยงที่ผู้คนจะถูกชักนำไปสู่ความรุนแรง แนวทางนี้จึงเป็นทางออกที่สำคัญซึ่งประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เอ็นจีโอ และรัฐบาลไทยควรนำไปใช้อย่างเร่งด่วน


เบอร์นี แซนเดอร์ส เรียกร้องโอบามา คุ้มครองผู้ชุมนมต้านท่อส่งน้ำมันในนอร์ทคาโคตาหลังถูกปราบหนัก

Posted: 30 Oct 2016 09:14 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

30 ต.ค. 2559 ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ทางการรัฐนอร์ทดาโคตา สหรัฐฯ ใช้กำลังตำรวจติดอาวุธหนักปราบปรามและจับกุมผู้ชุมนุมต่อต้านท่อส่งน้ำมันดาโคตาแอคเซสไปป์ไลน์โดยมีคนถูกจับกุม 141 ราย เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตส่งจม.เปิดผนึกถึงประธานาธิบดีโอบามาเรียกร้องให้มีมาตรการคุ้มครองผู้ชุมนุมอย่างเหมาะสม

การประท้วงท่อส่งน้ำมันดาโคตาแอคเซสไปป์ไลน์ในรัฐนอร์ทดาโคตาถูกปราบปรามอย่างหนักเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสื่อ Democracy Now! รายงานว่ากลุ่มตำรวจที่ติดอาวุธหนักแบบทหารบุกเข้าสลายค่ายผู้ชุมนุมที่ก่อตั้งโดยกลุ่มชนพื้นเมืองที่ต้องการปกป้องแหล่งน้ำของพวกเขาจากโครงการท่อส่งน้ำมันที่อาจจะทำให้แหล่งน้ำของพวกเขาปนเปื้อน

เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 27 ต.ค. มีกำลังเจ้าหน้าที่ปราบจลาจลมากกว่า 100 นาย ติดอาวุธปืนไรเฟิลอัตโนมัติยืนเรียงแถวไปตามถนนทางหลวงหมายเลข 1806 ของรัฐนอร์ทดาโคตา นอกจากนี้ยังมาพร้อมรถหุ้มเกราะขนกำลังพล เครื่องโจมตีด้วยคลื่นเสียง รถฮัมวีของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ รถบรรทุกหุ้มเกราะของตำรวจและรถแทรกเตอร์เกลี่ยดิน

ผู้ประท้วงเล่าว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย และเครื่องมืออื่นๆ สลายการชุมนุมทำให้มีผู้ถูกจับกุม 141 ราย แกรนฟอร์ค เฮอรัลด์ สื่อท้องถิ่นของนอร์ทดาโคตารายงานว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนยังเล่าเรื่องที่เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธอย่างกระสุนยางและระเบิดสร้างแรงสะเทือน (Concussion Grenade) โจมตีใส่ผู้ชุมนุมด้วย โดยเบลค ฟินเลย์ ผู้อยู่ในเหตุการณ์บอกว่าสภาพการสลายการชุมนุม "เหมือนกับอยู่ในเขตแดนสงคราม" ขณะที่เครือข่ายสิ่งแวดล้อมของกลุ่มชนพื้นเมืองเล่าว่าเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมโดยนอกจากระเบิดแรงสะเทือนและกระสุนยางแล้วยังใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าโจมตีผู้ชุมนุมด้วยซึ่งมีผู้ชุมนุมรายหนึ่งถูกช็อตเข้าที่ใต้ดวงตา

เดอะการ์เดียนรายงานว่าการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่จากเทศมณฑลมอร์ตันกับผู้ชุมนุมมีความรุนแรงขึ้นหลังจากที่เผชิญหน้าอย่างตึงเครียดกันมาตลอดทั้งวันจากการที่ตำรวจผลักให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ก่อสร้างท่อส่งน้ำมันบีบให้นักกิจกรรมต้องล่าถอยไปที่ค่ายชุมนุม โดยที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่อ้างความชอบธรรมในการปราบปรามผู้ชุมนุมว่าพวกเขาจุดไฟเผาเครื่องมือก่อสร้างท่อส่งน้ำมันและปิดถนนอย่างผิดกฎหมาย แกรนฟอร์ค เฮอรัลด์ รายงานว่า ฝ่ายเจ้าหน้าที่ยังบอกอีกว่าคนที่ถูกช็อตด้วยไฟฟ้านั้นเป็นคนที่ขว้างพริกไทยใส่หน้าเจ้าหน้าที่และพวกเขา "ใช้กำลังที่จำเป็นในการคลี่คลายสถานการณ์"

แต่ฝ่ายผู้ประท้วงอย่าง โรส สติฟฟาร์ม นักทำภาพยนตร์และหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มชนพื้นเมืองหกชาติของอเมริกันให้สัมภาษณ์ต่อเดอะการ์เดียนว่าการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่มีความรุนแรงเกินความจำเป็นรวมถึงยังพยายามใช้กำลังโจมตีโดยมีเป้าหมายเป็นสื่อด้วย

Democracy Now! รายงานว่าผู้ประท้วงนำรถที่ใช้แล้วมาปิดถนน มีการเผายางรถยนต์และกองฟาง ตำรวจจับกุมผู้ชุมนุมสองคนที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อาวุธปืน มีบางคนปิดขังตัวเองอยู่ในรถบรรทุกกลางถนนเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ตำรวจรุกคืบได้ ในขณะที่มีการปราบปรามผู้ชุมนุมอยู่นั้นเครื่องมือของโครงการดาโคตาแอคเซสไปป์ไลน์อย่างปั้นจั่นและรถเกลี่ยหน้าดินก็ยังคงทำงานต่อไปเบื้องหลังแนวกั้นของตำรวจที่วางไว้บนพื้นที่เดียวกับที่กลุ่มชนพื้นเมืองใช้ทำพิธีฝังศพและเป็นพื้นที่เดียวกับที่เจ้าหน้าที่เคยปล่อยสุนัขเข้ากัดชนพื้นเมืองผู้ประท้วง

นักกิจกรรมต้านท่อส่งน้ำมันยังประกาศว่าจะต่อสู้ต่อไปถึงแม้ว่าจะมีผู้ประท้วงถูกจับกุม ดีน เด็ดแมน จูเนียร์ สมาชิกชนพื้นเมืองสแตนดิงร็อคฮังปาปาจากเซาท์ดาโคตาผู้ที่ใช้โดรนถ่ายทำการประท้วงและร่วมประท้วงมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้วกล่าวว่า "ทุกคนยังยืนหยัดเข้มแข็ง พวกเรายังคงกุมพื้นที่ไว้อยู่" และบอกอีกว่าต่อให้เผชิญหน้ากับตำรวจจำนวนมากก็จะไม่ล่าถอย

ก่อนหน้าการจับกุมครั้งล่าสุดนี้เมื่อวันที่ 25 ต.ค. สำนักงานนายอำเภอของมอร์ตันก็เคยทำการกวาดต้อนจับกุมผู้คนในพื้นที่ชุมนุมจำนวนมากรวม 127 ราย รวมถึงนักข่าวและคนทำภาพยนตร์ด้วย มีการตั้งข้อหาพวกเขาหลายข้อหาตั้งแต่ข้อหาบุกรุก ร่วมก่อการจลาจล และขัดขืนการจับกุม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดยังทำให้เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตที่เคยลงแข่งชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีบารัก โอบามา เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมาเรียกร้องให้มีการแทรกแซงเพื่อคุ้มครองผู้ประท้วงที่ชุมนุมอย่างสันติ

"ผมขอเรียกร้องให้คุณใช้มาตรการที่เหมาะสมในการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ประท้วงชนพื้นเมืองอเมริกันและผู้สนับสนุนพวกเขาที่ชุมนุมกันอย่างสันติในการต่อต้านการสร้างท่อส่งน้ำมัน" แซนเดอร์สระบุในจดหมายที่เขียนถึงโอบามา

ในจดหมายของแซนเดอร์สยังระบุอีกว่าโอบามาเคยแสดงออกอย่าง "อาจหาญ" และ "เป็นไปตามหลักการ" ในเรื่องการต่อต้านท่อส่งน้ำมันคีย์สโตน แต่เหตุการณ์ที่มีตำรวจติดอาวุธแบบทหารเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมที่ปักหลักชุมนุมมาตั้งแต่เดือน เม.ย. ถือเป็นเรื่องที่ทำให้เขาเจ็บปวดเพราะมันแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกลางสหรัฐฯ เอาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมน้ำมันมาก่อนข้อสนธิสัญญาและสิทธิในเขตแดนของชุมชนพื้นเมืองอเมริกัน



เรียบเรียงจาก

Sanders Calls on President to Intervene in Dakota Access Pipeline Dispute, Bernie Sanders, 28-10-2016
http://www.sanders.senate.gov/newsroom/press-releases/sanders-calls-on-president-to-intervene-in-dakota-access-pipeline-dispute

North Dakota pipeline: 141 arrests as protesters pushed back from site, The Guardian, 28-10-2016
https://www.theguardian.com/us-news/2016/oct/27/north-dakota-access-pipeline-protest-arrests-pepper-spray

North Dakota: Militarized Police Raid Anti-Pipeline Camp, Arrest 141, Democracy Now!, 28-10-2016
http://www.democracynow.org/2016/10/28/headlines/north_dakota_militarized_police_raid_anti_pipeline_camp_arrest_141

Officials report 9 vehicles torched, 2 officers injured in pipeline protest as tribal leaders, observers question officers' tactics, Grand Forks Herald, 28-10-2016
http://www.grandforksherald.com/news/north-dakota/4146976-clash-near-cannon-ball-subsides-protesters-law-enforcement-report


ว่าด้วยชาวนากับราคาข้าว: จะเอายังไงดี (2) เกาะกระแส สีข้าวขายเอง

Posted: 30 Oct 2016 09:37 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

เริ่มต้นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปี กระแสข่าวราคาข้าวเปลือกถูก แต่ข้าวสารยังแพง กำลังอยู่ในความสนใจของคนในสังคม ซึ่งมันก็ตกจริงๆ ตกจนน่าใจหาย ตกจนโมโหให้บรรพบุรุษ ว่าทำไมพากันมาจากที่ราบสูงข้ามเทือกเขาดงพญาไฟ มาตั้งไกลทำไม น่าจะพากันแวะเข้ากรุงเทพ ไปหาที่ทางแถวๆ กรุงเทพสักไร่สองไร่ทำมาหากินกันนะ ถ้าตกกว่านี้ก็คงรู้สึกว่ามันน่าจะถึงเวลาขนไปขายดาวอังคารได้แล้วล่ะ แต่ท่ามกลางกระแสข้าวราคาตกนี้ ก็ได้เกิดปรากฏการณ์ ในโลกโซเชียล ชาวนา/ลูกชาวนา/อาจารย์มหาลัย ชวนกันมา สีข้าว/ขายข้าว เป็นผู้ประกอบการชาวนากันอย่างคึกคัก อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

น่าดีใจว่าสังคมไทยเรานี้เป็นสังคมที่ให้ความรักฮักหอมกับชาวนามากจริงๆ และนั่นเป็นความฝันอันเหลือเชื่อของชาวนาเลยทีเดียวถ้าสามารถฝันฝ่าอุปสรรคต่างๆ จนสามารถเป็นผู้ประกอบการชาวนาได้อย่างเต็มภาคภูมิ แม้ว่ามองในภาพใหญ่ก็ยังไม่แน่ใจว่ากระแสความตื่นตัวนี้จะดึงเอาข้าวออกไปจากตลาดได้มากน้อยเพียงใด เพราะน่าจะทำได้ในระดับสเกลที่ไม่ใหญ่มาก เนื่องจากมีรายละเอียดที่ต้องจัดการเยอะเหมือนกัน แต่ก็มีผลในทางจิตวิทยาอย่างแน่นอน และเชื่อว่าสามารถสร้างผู้ประกอบการชาวนาหน้าใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาอีกไม่มากก็น้อย

ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องดูว่าทั่นผู้นำที่เราไว้ใจและศรัทธา จะมีมาตรการอย่างไรออกมาหลังจากนี้ เพราะ ช่วงวันที่ 20 พ.ย. ไปจนถึงปลายเดือน พ.ย.จะเป็นช่วงที่ข้าวหอมมะลิ 105 มีการเก็บเกี่ยว ในขณะที่ข้าวนาปรังเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวกันแล้วตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม และก็เห็นแล้วว่าราคาตกลงกว่าปีก่อน ปัจจัยหนึ่งที่ช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีและนาปรังออกมาไล่เลี่ยกันมาก เพราะปัญหาภัยแล้งที่ผ่านมา การปล่อยน้ำชลประทานมาล่าช้ากว่าทุกปี เมื่อชาวนาหว่านข้าวนาปรังไปแล้ว อายุการเก็บเกี่ยวที่ 100-120 วัน ก็จะใกล้เคียงกันกับช่วงข้าวนาปีออกพอดี

สำหรับการทำข้าวถุง ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย ฮักแพงกับพี่น้องชาวนา แม้ประสบการณ์ในด้านนี้จะยังไม่มาก แต่ก็อยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชาวนาท่านอื่นๆ ที่สนใจในเรื่องนี้ เพื่อจะได้ช่วยกันดูว่ามีจุดตรงไหนบ้างที่เราต้องให้ความสนใจ และใส่ใจกันเป็นพิเศษ เพื่อลดความเสี่ยงของการขายข้าวให้ได้มากที่สุด

เรื่องแรกที่คิดออกคือ เมื่อเราพูดถึงการทำข้าวถุง เพื่อไว้บริโภค เราต้องนึกถึงพันธุ์ข้าวว่า ข้าวอะไรที่มันกินอร่อย กินดีซึ่งเรื่องนี้สำหรับชาวนาที่ทำนาปี (พูดในกรณีข้าวเจ้า) ปกติจะรู้จักกันทั่วไปคือข้าวหอมมะลิ 105 แต่โอกาสของชาวนาปีนั้นมีมาก เพราะยังมีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านอีกมากมายหลายชนิดที่ กินดี กินอร่อย และตลาดอาจจะสนใจ (ประเทศไทยเรามีฐานข้อมูลเชื้อพันธุ์ข้าวเป็นร้อยๆ สายพันธุ์เก็บไว้ที่ธนาคารพันธุกรรมข้าว) ข้าวเหล่านี้อาจจะเคยเป็นข้าวขึ้นชื่อในอดีต หรือมีคุณสมบัติพิเศษ เช่น กินแล้วเตะปี๊บดังสามวันเจ็ดวัน อะไรอย่างนี้ (อันนี้ก็เขียนเล่นๆ) แต่ที่เคยทราบก็จะมีข้าวพื้นบ้านบางพันธุ์ที่เขานิยมเอามาเลี้ยงไก่ชน เพราะไก่กินแล้วเขาว่ามันคึก มันตีเก่ง หรือข้าวมะลิแดง เหมาะสำหรับป้องกันเบาหวาน อะไรทำนองนั้น ยังมีเรื่องเล่าของชาวบ้านที่บอกว่า มีข้าวพื้นบ้านพันธุ์นึง จำไม่ได้ว่าพันธุ์อะไร พอนึ่งทีไร กลิ่นข้าวหอมฟุ้ง ไปทั่วบ้าน หอมจนหมายังมาตะกายเสาเรือน ฟังแล้วยังอยากกิน 555

ข้อมูลแบบนี้ ถ้าสนใจก็ต้องมีการสืบค้นข้อมูลแล้วไปเสาะหาพันธุ์มาปลูก พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ที่เป็นที่รู้จักกันแล้ว เช่น ข้าวมะลิแดง ข้าวเจ้าดำ ข้าวสังข์หยด ข้าวลืมผัว เป็นต้น แต่การปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ๆ มาลงตลาด ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก กว่าที่คนกินจะรู้สึกคุ้นเคย เช่น จะหุงยังไงถึงจะไม่ดิบไม่แฉะ เพราะคนเคยชินกับการหุงข้าวหอมมะลิ มากกว่า รวมทั้งข้าวบางพันธุ์ที่ชื่อ ติดต่างประเทศมา ทั้งๆ ที่เป็นข้าวพันธุ์พื้นบ้าน เช่น หอมพม่า หอมอินเดีย ฟังชื่อแล้ว อาจจะรู้สึกว่า ทำไมถึงเอาข้าวแขกข้าวพม่ามาให้กินล่ะเนี่ย อะไรทำนองนี้ คือ ต้องหาจุดขายให้ได้ด้วย

คำแนะนำหนึ่งก็คือ ชาวนาอาจจะรวมกลุ่มกันแล้วไปขอเมล็ดพันธ์ข้าวที่ตนเองสนใจจากหน่วยงานธนาคารพันธุ์ข้าวของราชการ ซึ่งก็ไม่ค่อยง่ายนัก แต่ก็มีคนไปขอมาได้ หรือไปตามเครือข่ายปราชญ์ชาวนาทั้งหลาย (อันนี้ถือว่าเป็นข้อดีของปราชญ์ชาวนาทั้งหลาย ชมเขาหน่อย) แต่ก็ไม่ทราบว่าจะมีอยู่มากน้อยอย่างไร แต่ปกติก็จะได้มาอย่างละนิดหน่อย ต้องเอามาปลูกเอามาขยายเอง อาจจะใช้เวลานาน แต่ก็น่าลองทำดู เสนอไว้เผื่อมีท่านใดสนใจทางเลือกในการทำตลาดข้าวพันธุ์อื่นๆ นอกจากข้าวหอมมะลิ

สำหรับชาวนาปรัง ที่ตามปกติจะปลูกข้าวไม่ไวแสง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวแข็ง เหมาะสำหรับทำแป้ง แปรรูป กลุ่มนี้จะมีตัวเลือกหลักๆ ไม่มากนัก คือมี ข้าวหอมปทุม ข้าวหอมนิล และข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวทั้งสามพันธุ์นี้เป็นข้าวที่ปรับปรุงพันธุ์ให้ออกฤดูนาปรังได้ และมีคุณภาพการหุงต้มดี กินอร่อย

ข้าวหอมปทุมนั้นเป็นข้าวนาปรังที่ให้ผลผลิตสูง 80-100 ถังต่อไร่ ได้สบายๆ เรื่องราคา เท่าที่รู้โรงสีบางแห่งจะซื้อในราคาเดียวกันกับข้าวพันธุ์อื่น บางแห่งก็ให้ราคาสูงกว่าข้าวนาปรังทั่วไป แต่ข้าวหอมปทุมเป็นข้าวที่มีอายุเก็บเกี่ยว 120 วัน และต้นค่อนข้างสูง ล้มง่าย ถ้าปลูกแล้วมาออกรวงใส่น้ำนมในช่วงลมโยกก็จะล้มได้ง่าย

ข้าวหอมนิลและข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวทั้งสองพันธุ์นี้ถูกนำเสนอในลักษณะของข้าวเพื่อสุขภาพ ข้าวที่มีธาตุอาหารสูง อะไรทำนองนี้ จากประสบการณ์ที่เคยปลูก ข้าวทั้งสองพันธุ์มีความต่างกันในลักษณะพันธุ์ชัดเจน แม้ว่าข้าวสารจะมีเมล็ดสีม่วงเข้มเหมือนกัน และอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 120-130 วัน ข้าวหอมนิลนั้นต้นจะสีเขียว และค่อนข้างสูงคล้ายๆ กับมะลิ ผลผลิตถ้าปลูกและดูแลดีๆ อาจจะได้ 70-80 ถังต่อไร่ได้ (อันนี้หมายถึงชาวนาทั่วไปปลูก ไม่ใช่ชาวนาขั้นเทพ อะไรทำนองนั้น) ข้าวไรซ์เบอรี่นั้นผลผลิตจะต่ำกว่ากันอยู่บ้าง อาจจะเนื่องมาจากลำต้นมีสีม่วงแซมด้วย ทำให้การสังเคราะห์แสงนั้นประสิทธิภาพน้อยกว่าข้าวหอมนิลต้นเขียว แต่ข้าวไรซ์เบอรี่จะชอบอากาศเย็น ตอบสนองต่อช่วงแสงในหน้าหนาวได้ดี

คำแนะนำอีกอย่าง ถ้าหากทำได้ ข้าวถุงจะมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น คือ ถ้าปรับปรุงบำรุงดินด้วยเทคนิคการทำนาอินทรีย์ ข้าวที่ได้จะมีความนุ่ม ความหอม กว่าข้าวที่ปลูกแบบนาเคมี (อันนี้ต้องให้เครดิตนาอินทรีย์เขาหน่อย เดี๋ยวเขาจะว่าเราคอยแต่ติติงเขาอยู่เรื่อย)

หลังจากปลูกและดูแลจนได้เก็บเกี่ยวกันแล้ว ขั้นตอนสำคัญก็คือการตากและสีข้าวใส่ถุงขาย จากประสบการณ์ขั้นตอนนี้ใช้แรงงานและมีรายละเอียดที่ต้องจัดการกันพอสมควรทีเดียว เริ่มจากการตากข้าว งานตากข้าวเป็นงานหนักพอสมควร (ในกรณีที่ใช้แรงงานคนตาก) ถ้าต้องการเก็บข้าวไว้สีแค่ตันสองตันอาจจะไม่หนักมาก แต่ถ้าคิดว่าจะสต็อกข้าวสัก 10 ตัน อะไรแบบนี้ ต้องคิดแล้วว่าจะตากกันยังไง ถ้าตามปกติข้าวเยอะขนาดนี้ก็จะไปจ้างลานตากแล้วเสียค่าตากให้เขา แต่มานึกถึงกรณีข้าวแบบสองสามตัน แล้วจะตากเอง สิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่งและมักจะบอกทุกคนที่รู้จักและทำข้าวใส่ถุงขายก็คือ ต้องระมัดระวังเรื่องกรวดหินให้มากที่สุด เพราะ คงไม่มีใครอยากอุดหนุนชาวนาแต่กินข้าวแล้วฟันกร่อนหมดแน่ๆ จึงต้องใส่ใจให้มาก

ควรจะหาลานตากที่ไม่มีกรวดหิน หรือใช้ผ้ามุ้งตาข่ายมาตัดทำลานตากของตัวเอง และระมัดระวังทุกขั้นตอนในการตากการบรรจุลงกระสอบ เคยมีบางคนที่สีข้าวสารมาแล้วต้องมาจ้างคนเลือกกรวดหินออกอีกกิโลละหลายบาท ไม่งั้นก็ขายไม่ได้ สำหรับโรงสีขนาดใหญ่จะมีระบบคัดสิ่งเจือปนออก เคยเห็นโรงสีส่งออกข้าวอินทรีย์บางแห่งจะจ้างคนคัดสิ่งเจือปนออกอีกทีนึง เพราะต้องผ่านการตรวจมาตรฐานที่สูงกว่ามาตรฐานทั่วไป

การตากต้องให้เหลือความชื้นที่ประมาณ 14-15% เพราะข้าวที่ตากไม่แห้งถ้าเก็บไว้แล้วมาสีจะมีกลิ่นสาบ กินไม่อร่อย สิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญของการตากข้าวคือ ฝน นั่นเอง ถ้าต้องเกี่ยวข้าวและต้องตากในช่วงฤดูฝน จะเป็นงานที่หนักเพิ่มอีกเท่าตัวเลยก็ว่าได้ ลุ้นแล้วลุ้นอีกทีเดียว ดังนั้นโรงสีขนาดใหญ่จึงต้องมีเครื่องอบข้าวเปลือกด้วย

หลังจากตากแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการสี สำหรับข้าวที่คิดว่าจะสีเป็นข้าวถุงขาย ควรจะสีเครื่องสีที่มาตรฐาน เพื่อที่จะได้เมล็ดข้าวสารสวยเสมอกัน (ยกเว้นเรามีกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่แคร์ว่าข้าวจะเม็ดสวยไม่สวยอะไรแบบไหน แต่จริงๆ ก็อดเปรียบเทียบกับข้าวถุงไม่ได้อยู่ดีน่ะแหละ) ปกติเครื่องสีขนาดเล็กที่เราใช้กันทั่วไปจะให้ข้าวต้นที่เป็นข้าวสาร ประมาณ 50-55% โรงสีทั่วไปขนาดกลางแบบชาวบ้านอาจจะข้าวต้นประมาณ 60-65% ถ้าเป็นโรงสีขนาดใหญ่อาจจะได้ ถึง 65-70% เรื่องของเครื่องสีนี้เป็นเหมือนเคล็ดลับของโรงสีเลยก็ว่าได้ โรงสีที่สามารถได้ข้าวต้นถึง 70% นั่นคือกำไรที่เพิ่มขึ้นของเขา ชาวนาคนไหนที่สามารถติดต่อโรงสีใหญ่ให้รับสีข้าวได้ถือว่าช่วยลดปัญหาต่างๆ ไปได้เยอะเลยทีเดียว

หัวใจสำคัญของเครื่องสีคือลูกหินขัด ถ้าใช้บริการโรงสีทั่วไปของชาวบ้านมักจะเจอปัญหาเศษหินขัดร่วงปนมากับข้าวประจำ ต้องมานั่งเลือกออกอีกทีเวลาจะหุงข้าว ซึ่งสำหรับคนเมืองคงไม่มีเวลาขนาดนั้น ถ้าเจ้าของเครื่องสีคนไหนดูแลลูกหินประจำ คุณภาพข้าวที่สีก็จะดีกว่า เครื่องสีที่ดีก็ควรให้ข้าวต้นสูงๆ ให้ข้าวปลายน้อยๆ คนเขียนบ้านอยู่ใกล้โรงสีขนาดใหญ่ จะได้ยินเสียงเขากลึงลูกหินโรงสีประจำ ก็จะรู้ว่าเขามีการสีข้าวอีกแล้ว นอกจากข้าวต้นที่ได้ ข้าวปลาย รำ และ แกลบ ก็สามารถขายได้อีกด้วย หรืออาจจะนำรำไปบีบน้ำมันรำข้าว ขายได้อีกต่อหนึ่ง

ที่เล่ามาข้างต้น คือในกรณีสีข้าวขาว แต่ถ้าสีเป็นข้าวกล้อง ก็จะสีเครื่องสีข้าวกล้อง ซึ่งตามปกติมักจะได้ข้าวต้นประมาณ 70% เพราะไม่ได้มีการขัดสี เหมือนข้าวขาว ข้าวหอมนิล และข้าวไรซ์เบอรี่ มักจะนิยมกินแบบข้าวกล้อง เพราะถ้าขัดสีม่วงของข้าวกล้องจะถูกขัดออกไปเกือบหมด

ทั้งหมดนี้เป็นประสบการณ์ที่เคยทำมาบ้าง อะไรที่พอจะคิดออก ก็เอามาเขียน จริงๆ ถ้ามีใครที่ทำงานในแวดวงโรงสีมาช่วยกันให้ข้อมูลหรือให้คำแนะนำว่าที่ผู้ประกอบการชาวนาทั้งหลายก็จะดีมาก

แต่ยังไงก็ตาม เหมือนที่บอกไว้ข้างต้นว่า ถึงเราจะช่วยกันซื้อ ช่วยกันกินข้าวจากชาวนาทุกวัน กินกันจนอ้วนยังไง ปริมาณข้าวที่เรามีก็อาจจะไม่ได้ลดลงมากนัก เรามีสัดส่วนข้าวที่ใช้ในประเทศทั้งบริโภคและใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ คร่าวๆ ประมาณ 10 ล้านตัน ที่เหลืออีก 10 กว่าล้านตันเราต้องหาที่ระบายให้ได้เพราะเกินความต้องการในประเทศ (ชาวนาไทย ขยันและปลูกข้าวเก่งจริงๆ) ดังนั้นปัญหาราคาข้าวก็จะยังคงเป็นปัญหาอยู่อย่างนี้ ยิ่งเราอยู่ในยุคที่เสียงจากชาวนาแทบไม่มีความหมาย ปัญหาเหล่านี้เหมือนแผลที่ค่อยๆ ปริออกๆ ก็ได้แต่รอดูว่าสุดท้ายแล้วเราจะไปถึงจุดไหนกัน

ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย ฮักแพงพี่น้องชาวนาจากใจจริง
ชาวนาไก่ กา



นโยบายจำนำยุ้งฉางของรัฐบาลยังแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำไม่ตรงจุด

Facebooklive กับ อ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ที่มาวิเคราะห์นโยบายจำนำยุ้งฉาง มาดูกันว่าทำไม ? นโยบายจำนำยุ้งฉางของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเป็นนโยบายที่แก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่ชาวนากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ได้ไม่ตรงจุด


source :- Voicetv  https://www.facebook.com/VoiceTVonline/?hc_ref=NEWSFEED


ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุ ประเทศไทยปีนี้อากาศหนาวเย็นกว่า 2-3 ปีที่แล้ว เริ่มเข้าฤดูหนาวเดือนพฤศจิกายนนี้

วันที่ 28 ตุลาคม 2559 ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันท์ชัย ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ประเทศไทยปีนี้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวต้นเดือนพฤศจิกายน จากการตรวจสอบสภาพอากาศปลายปี 2559 และต่อเนื่องยาวไปถึงต้นปี 2560 ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2560 จะเกิดอากาศที่หนาวเย็นมากกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย

จากการตรวจสอบพบกลุ่มก้อนมวลอากาศเย็นขนาดใหญ่ที่แผ่ปกคลุมลงมาจากจีน ผ่านลงมาจากประเทศเวียดนามมีอยู่ 2 ลูกใหญ่ ๆ จะเกิดการปะทะลงมาสู่ทางภาคเหนือและภาคอีสาน จึงทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2559 อากาศจะเริ่มหนาวเย็นทันที จึงขอแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมรับมือกับมวลอากาศหนาวเย็นที่จะมาถึงในเร็ววันนี้



ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement - NDM

ความเคลื่อนไหวในความเงียบ: คสช. ทำอะไรในสองสัปดาห์ที่ผ่าน

ในช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าของประชาชนตลอดกว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดการดำเนินการจากภาครัฐภายใต้อำนาจของ คสช. มากมายหลายประการ หลายอย่างเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน สมควรจะได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างยิ่ง

ทว่ากลับไม่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากสื่อไม่ได้มีการนำเสนอเท่าที่ควร และรัฐก็ไม่เปิดเผยเรื่องราวความเคลื่อนไหวให้ประชาชนได้รับทราบมากนัก

จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นว่า คสช. กำลังอาศัยโอกาสในช่วงเวลานี้ดำเนินการต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงแรงเสียดทานจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาปรกติหรือไม่

13 - 18 ตุลาคม กวาดจับนักศึกษารามฯ แถมอ้างกฎอัยการศึก บังคับใช้ข้ามจังหวัด

ส่งตัว 5 คนถูกจับย่านรามฯ ลงปัตตานี หลังใช้กฎอัยการศึกควบคุมต่อ

http://www.prachatai.org/journal/2016/10/68419

ใช้กฎอัยการศึกคุมตัว 5 คนที่จับย่านรามฯ ต่ออีก หลังครบ7วัน-เอ็นจีโอซัดผิดหลักกฎหมาย

http://www.prachatai.org/journal/2016/10/68402

กวาดจับนักศึกษารามฯ กว่า 40 คนจาก 3 จังหวัดใต้ หลังมีข่าวจับตาระเบิด กทม. ปล่อยแล้วบางส่วน

http://www.prachatai.org/journal/2016/10/68339

19 ตุลาคม ขึ้นค่าแรงไม่เท่ากันทั่วประเทศ

มติการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 ของคณะกรรมการค่าจ้าง 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ไม่ปรับค่าจ้างเลย 8 จังหวัด กลุ่มที่ 2 ปรับขึ้น 5 บาท เป็น 305 บาทต่อวัน 49 จังหวัด กลุ่มที่ 3 ปรับขึ้น 8 บาท เป็น 308 บาทต่อวัน 13 จังหวัด กลุ่มที่ 4 ปรับขึ้น 10 บาท เป็น 310 บาท 7 จังหวัด

http://voicelabour.org/?p=25065

http://www.mol.go.th/content/54024/1476874923

21 ตุลาคม แนะเกษตรกรปลูกข้าวโพดให้มอนซานโต้ และซีพี แทนปลูกข้าว

กระทรวงเกษตรฯ ทำเอ็มโอยูกับซีพี เบทาโกร และสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (ที่มีมอนซานโต้และซีพีเป็นแกนสำคัญ) ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนข้าวในพื้นที่หลายล้านไร่

https://www.facebook.com/biothai.net/photos/a.467826533255873.100128.183063271732202/1217092938329225/?type=3&theater

http://www.thaigov.go.th/…/2012-08-15-09…/item/108303-108303

24 ตุลาคม จัดทีมส่องโซเชียล สแกนโพสต์หมิ่น ตลอด 24 ชั่วโมง

ก.ดิจิทัลฯ เฝ้าระวังเว็บหมิ่นฯ 24 ชม. ขออย่าไลค์-แชร์-คอมเมนต์ตอบโต้โพสต์ที่สุ่มเสี่ยง

http://www.prachatai.org/journal/2016/10/68501

25 ตุลาคม ครม. เห็นชอบซื้อหุ้นถ่านหินอินโดฯ พร้อมลุยเปิดเหมือง 3 จังหวัดชายแดนใต้

ครม.เห็นชอบ กฟผ. ควักกระเป๋า 1.17 หมื่นล้าน ซื้อหุ้นกิจการถ่านหินยักษ์ใหญ่ในอินโดนีเซีย ขณะที่ กพร.ลุยเปิดเหมืองใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ กับ 4 อำเภอ จ.สงขลา

http://www.greennewstv.com/ครม-ไฟเขียวซื้อหุ้นถ่าน/

25 ตุลาคม ทหาร สั่งห้ามสื่อมวลชนตรวจสอบโกดังข้าวที่ชัยนาท ปมบรรจุข้าวผิดชนิด

อลหม่านประมูลข้าวรัฐ หลัง "ทหาร"อ้างผู้ใหญ่สั่งห้ามนักข่าวตรวจสอบคลังสุดใจ จ.ชัยนาท บรรจุข้าวผิดชนิด

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1477396479

พล.อ.ประวิตร บอก "ไม่รู้" กรณีทหารห้ามสื่อตรวจสอบโกดังข้าวที่ชัยนาท

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1477462673

25 ตุลาคม ครม.เห็นชอบเงินกู้หมู่บ้านละ 2.5 แสน จากเดิมเคยได้หมู่บ้านละล้าน

ตามแนวประชารัฐ ครม.ไฟเขียวทุ่มงบ 1.8 หมื่นล้านให้หมู่บ้านละ 2.5 แสน

http://www.prachatai.org/journal/2016/10/68525

25 ตุลาคม เร่งจัดการคดีหมิ่น หลังยอดสูงถึง 20 คดี ใน 2 สัปดาห์

ตร.เร่งจัดการคดีหมิ่นฯ หลัง 13 ต.ค. ยอดพุ่งถึง 20 คดี

http://www.prachatai.org/journal/2016/10/68532

26 ตุลาคม ติดเครื่องพร้อมเดินหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษ ท่ามกลางเสียงค้านของชุมชน

ชาวบ้านสุดงง จังหวัดเชียงรายฉวยสถานการณ์โศกเศร้าเดินหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษ หวั่นขยายความขัดแย้ง-ตั้งท่าเอาป่าชุมชนบ้านบุญเรืองอีก สภาลุ่มน้ำอิงทำหนังสือค้าน

http://transbordernews.in.th/home/?p=14918

http://www.greennewstv.com/เล่นทีเผลอ-รัฐลุยยึดป่า/

28 ตุลาคม ตัดไม้ขยายถนน : ตัดไม้สัก 500 ต้น ขยายทางหลวงหมายเลข 11

กรมทางหลวง ตัดเหี้ยน “สักทองยักษ์” แหล่งไม้ทำชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์ ประชาชนมองตาปริบๆ

http://www.matichon.co.th/news/337898
ขับเคลื่อนโดย Blogger.