ไม่มีรัฐใดที่ประชาธิปไตยเข้มแข็งโดยปราศจากการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง
Posted: 29 Mar 2017 10:00 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

หนึ่งในบรรดาข้อถกเถียงในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมืองของไทยในช่วงที่ผ่านมาก็คือข้อถกเถียงเกี่ยวกับแนวความคิด “จังหวัดจัดการตนเอง”ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่นบนพื้นฐานของ “self determination rights” หรือสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเองตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งบางฝ่ายได้โต้แย้งว่าต้องพัฒนาการเมืองการปกครองหรือประชาธิปไตยในระดับชาติเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาพัฒนาการปกครองท้องถิ่นทีหลัง กอรปกับนายกรัฐมนตรีได้ออกมาย้ำเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มี.ค 60 ที่ผ่านมาอีกว่า ยังไม่พร้อมกระจายอำนาจปกครองตนเองเพราะยังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านอีกด้วย

แต่ผมกลับเห็นตรงกันข้ามเพราะผมเชื่อว่าไม่มีรัฐใดที่ประชาธิปไตยเข้มแข็งโดยปราศจากการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ดังคำกล่าวของ Konrad Adenauer อดีตนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีที่ว่า “No state without city” ซึ่งหากแปลตรงตัวก็คือ “ไม่มีรัฐใดที่ไม่มีเมือง” ซึ่งความหมายที่แท้จริงคือ “ไม่มีทางที่การเมืองการปกครองในระดับชาติ(state)จะเข้มแข็งได้ หากปราศจากการปกครองท้องถิ่น(ในที่นี้หมายถึงเมืองหรือcityซึงรวม town,township,municipality ฯลฯ)ที่เข้มแข็ง” นั่นเอง


การปกครองท้องถิ่นคืออะไร

ได้มีปรมาจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์ได้ให้คำจำกัดความไว้มากมายไม่ว่าจะเป็น Daniel Wit, William A. Robson, William V. Hollowway ฯลฯ ซึ่งสามารถสรุปความได้ว่า “การปกครองท้องถิ่นหมายถึงการปกครองของชุมชนหนึ่งๆ ซึ่งมีอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ด้านต่างๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนที่อยู่ภายในชุมชนตามขอบเขตอำนาจที่ได้รับ(กรณีรัฐเดี่ยว)หรือความเป็นอิสระ(กรณีรัฐรวม)จากรัฐบาลกลางหรือส่วนกลาง โดยจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคล, มีสิทธิตามกฎหมายในการตรากฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับต่างๆ, ตลอดจนมีงบประมาณที่มาจากการจัดเก็บภาษีและรายได้ในรูปแบบต่างๆภายในท้องถิ่นของตนเอง, สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมีเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรในการปฏิบัติงานเป็นของตนเอง”


การปกครองท้องถิ่นมีความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างไร


1) เป็นการให้การศึกษาและฝึกฝนทางการเมือง(Providing Political Education and Training)

การปกครองท้องถิ่นเป็นหนึ่งในรูปแบบของการศึกษาเรียนรู้ทางการเมือง เนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นในแต่ละครั้งย่อมเป็นช่วงเวลาและบรรยากาศของการเรียนรู้ทางการเมืองเป็นอย่างดียิ่ง เช่น การรณรงค์หาเสียง, การประกาศและตรวจสอบนโยบาย ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้สิทธิในการเลือกตั้งโดยตรงแล้วยังสามารถพัฒนาไปสู่การลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยตนเองและพัฒนายกระดับสูงขึ้นจนถึงระดับชาติต่อไป


2) เป็นการส่งเสริมความเป็นพลเมืองและการมีส่วนร่วม (Promoting Citizenship and Participation)

การปกครองท้องถิ่นเป็นการส่งเสริมการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนได้อย่างใกล้ชิด เพราะการเมืองระดับชาติประชาชนมีความรู้สึกว่าไกลตัว แต่การปกครองท้องถิ่นมีความสัมพันธ์กับประชาชนอย่างแนบแน่นมากกว่า โอกาสที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองย่อมมีความเป็นไปได้สูง เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นพลเมืองที่มีความเข้มแข็งในทางการเมืองและตระหนักถึงสิทธิประโยชน์และความสำคัญของตนในทางการเมือง ฉะนั้น การปกครองท้องถิ่นจึงช่วยยกระดับและขยายไปสู่ความเข้มแข็งในทางการเมืองระดับชาติต่อไป


3) เป็นความเท่าเทียมทางการเมือง (Political Equality)

เมื่อเปรียบเทียบกับการเมืองในระดับชาติแล้ว การปกครองท้องถิ่นสร้างความเท่าเทียมทางการเมืองมากกว่า เพราะประชาชนทุกคนในท้องถิ่นมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างทั่วถึงและกว้างขวางกว่าการเมืองระดับชาติ


4) มีผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง (political Stability)

การปกครองท้องถิ่นเปรียบเสมือนการให้การศึกษาทางการเมืองด้วยการให้ประชาชนมีประสบการณ์ในการเลือกผู้นำที่ตนไว้วางใจ ซึ่งความไว้วางใจที่มีต่อรัฐบาลนับเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ


5) ก่อให้เกิดความรับผิดชอบ (Accountability)

การปกครองท้องถิ่นก่อให้เกิดความรับผิดชอบ สร้างการตรวจสอบและถ่วงดุลของประชาชนที่มีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะอยู่ใกล้ชิดกับตนเอง จึงได้รู้เห็นความไม่ชอบมาพากลต่างๆได้ดี เช่น มีบ้านหลังใหญ่ขึ้น มีรถยนต์ราคาแพงขึ้น ฯลฯ


6) สามารถสนองตอบต่อความต้องการ (Responsiveness)

เนื่องจากสภาพของท้องถิ่นแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาจึงต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น การสนองตอบของระบบการเมืองต่อข้อเรียกร้องหรือ ความต้องการของท้องถิ่นจึงสอดคล้องกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่ระบบการเมืองคำนึงถึงปัจจัยนำเข้า(Input) หรือข้อมูลนำเข้าที่ป้อนเข้าสู่ระบบการเมืองแล้วแปรรูปเป็นปัจจัยนำออก(Output) ที่ตรงกับข้อเรียกร้องและความต้องการของท้องถิ่น ดังคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีใครรู้ปัญหาท้องถิ่นดีกว่าคนท้องถิ่น” นั่นเอง

น่าเสียดายที่ไทยเรามีการขับเคลื่อนในเรื่องของการกระจายอำนาจได้มีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ จวบจนปัจจุบันนับได้ถึง 48 จังหวัดที่ได้มีการรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องจังหวัดจัดการตนเองนี้ อาทิ ปัตตานีมหานคร ระยองมหานคร ภูเก็ตมหานคร ขอนแก่นมหานคร ฯลฯ และในที่สุด อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้มีการแนวความคิดที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.จังหวัดปกครองตนเองฯเพื่อที่จะใช้เป็นกฎหมายกลางสำหรับทุกๆจังหวัดที่จะได้ไม่ต้องไประดมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายแบบที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการมาจนมีการยื่นร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารเชียงใหม่มหานครฯ ต่อสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อ 26 ตุลาคม 2556 โดยมีรองประธานสภาฯ ไปรับร่าง พ.ร.บ.ฯ และรายชื่อถึงกว่า12,000 คนด้วยตนเองถึงที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฯต้องมาสะดุดหยุดอยู่เมื่อเกิดการยุบและยึดสภามาตามลำดับ

มิหนำซ้ำยังมีการพยายามที่จะลดทอนอำนาจและความเป็นอิสระขององค์กรปกครองท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆสารพัดวิธี โดยลืมไปว่าการกระจายอำนาจนั้นคือคำตอบของการปรองดองและสมานฉันท์ เพราะการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ประกอบไปด้วยผู้คนจากทุกกลุ่มทุกฝ่ายและทุกสีที่เห็นความจำเป็นของการกระจายอำนาจ ที่สำคัญที่สุดก็คือ “การไม่กระจายอำนาจ ย่อมไม่ใช่การปฏิรูป” และย่อมไม่ใช่การปรองดองสมานฉันท์อย่างแน่นอน

โลกเขาไปถึงไหนๆแล้ว การพยายามที่จะฝืนกระแสโลก โดยพยายามรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเช่นในปัจจุบันที่กำลังทำกันอยู่ย่อมที่จะฉุดรั้งประเทศไทยให้ล้าหลังจนเกินกว่าที่จะแก้ไขเยียวยาได้โดยง่าย

อย่าลืมนะครับว่า ระบอบเผด็จการจะอยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากผู้นำที่เข้มแข็ง ฉันใด ระบอบประชาธิปไตยก็จะอยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากพลเมืองที่เข้มแข็ง ฉันนั้น



-------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 29 มีนาคม 2560


จุฬาฯ กับขบวนการนักศึกษา

Posted: 29 Mar 2017 10:20 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

เมื่อมีเกิดการยึดอำนาจโดยคณะทหารที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 อันเป็นการรัฐประหารที่นำประเทศไทยไปสู่ยุคมืดแห่งเผด็จการ มีการจับกุมคุมขังปัญญาชน และนักการเมืองฝ่ายค้านจำนวนมาก ควบคู่กับการใช้นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริการลงทุน และประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่เร่งขยายการลงทุนเพื่อพัฒนาภาคการผลิตทุนนิยมเสรี เผด็จการได้เข้าควบคุมมหาวิทยาลัย โดยจอมพลสฤษดิ์รับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยด้วยตนเอง และต่อมาเมื่อจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่กรรม จอมพลถนอม กิตติขจร ก็รับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย ส่วน พล.อ.ประภาส จารุเสถียร รับตำแหน่งอธิการบดี

จุฬาลงกรณ์ภายใต้ยุคเผด็จการ จะเต็มไปด้วยกิจกรรมแบบไร้สาระ ประเภทงานรับน้องรับพี่อันยืดเยื้อ ที่น่าสังเกตคือ ระบบโซตัสได้พัฒนาอย่างเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้น โดยเน้นที่การรับน้องใหม่แบบอำนาจนิยม คือ การกำหนดงานรับน้องที่รุ่นพี่ สามารถกระทำการทรมานหรือสั่งการอย่างอื่นต่อรุ่นน้องอย่างไม่มีเหตุผล บังคับน้องใหม่ให้เข้าห้องซ้อมเชียร์ ขาดไม่ได้เด็ดขาด การบังคับการแต่งกายของนิสิตปี 1 วิธีการที่สำคัญของรุ่นพี่ ก็คือ การว๊ากŽ โดยใช้เสียงดัง กระโชกโฮกฮาก ตระโกนใส่เพื่อข่มน้องใหม่

การที่งานแข่งกีฬาและการซ้อมเชียร์เป็นงานใจกลาง นำมาสู่การปลูกฝังความยึดมั่นในคณะนิยมอย่างไร้เหตุผล จนขยายเป็นการวิวาทกันระหว่างนิสิตต่างคณะภายในมหาวิทยาลัยอยู่เสมอ ที่เกิดเหตุการณ์ระดับรุนแรง เช่น การปะทะกันระหว่างนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์กับนิสิตคณะรัฐศาสตร์ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2504 นำมาสู่ความตึงเครียดภายในมหาวิทยาลัย และครั้งใหญ่อีกครั้งวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2509 นิสิตคณะวิศวกรรมกับยกพวกตีกับนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ ทำให้ตำรวจต้องนำกำลังไปตรึงมหาวิทยาลัย และต้องปิดมหาวิทยาลัย 3 วัน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้บรรยากาศยุคมืด กิจกรรมนิสิตมีมีเนื้อหาสาระบางลักษณะก็พัฒนาขึ้น เช่น การก่อตั้งชุมนุมพุทธศาสนาและประเพณี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2503 เป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมด้านศาสนาในมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการโดยนิสิตเอง นอกจากนี้ก็คือกิจการด้านงานค่ายอาสาพัฒนาชนบท โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรก ที่บุกเบิกงานค่ายอาสาสมัครในฐานะที่เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรของสโมสรนิสิต ตั้งแต่ พ.ศ.2502 กิจกรรมค่ายลักษณะเช่นนี้ กลายเป็นแบบที่ทำให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ดำเนินต่อมา

จนถึงวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2513 ก็เกิดการเคลื่อนไหวใหญ่ของนิสิตจุฬาฯ โดย ประสาร มฤคพิทักษ์ นายกสโมสร ได้นำนิสิตหลายพันคนเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้สอบสวนผู้บริหารมหาวิทยาลัยในกรณีทุจริตในเรื่องที่ดินและสิ่งปลูกสร้างศูนย์การค้าและโรงแรมของมหาวิทยาลัย ที่บริเวณสยามสแควร์และปทุมวัน ในที่สุด จอมพลถนอม กิตติขจร นายกสภามหาวิทยาลัย ต้องยอมตั้งคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งนำมาสู่การลงโทษทางวินัยแก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย 3 คนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ซึ่งเป็นการนำชัยชนะขั้นต้นมาสู่ขบวนการนักศึกษาที่กำลังก่อรูปขึ้น

ใน พ.ศ.2514 กลุ่มนิสิตฝ่ายก้าวหน้าในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ก่อตั้ง “กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่” เพื่อต่อต้านระบบรับน้องแบบไร้เหตุผลที่ดำเนินอยู่ และกลับไปสู่ความหมายที่เป็นจริงของโซตัส ซึ่งเป็นคำย่อภาษาอังกฤษของ น้ำใจ ระเบียบ ประเพณี สามัคคี อาวุโส การเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้สร้างผลสะเทือนอย่างมาก กลุ่มนิสิตรุ่นพี่และอาจารย์ที่ต้องการรักษาระบบรับน้องแบบเดิมได้รวมกำลังกันต่อต้าน กลายเป็นกระแสอภิปรายกันในสังคม

วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ก่อการรัฐประหารฟื้นฟูเผด็จการ ก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากในหมู่นักศึกษาปัญญาชน กระแสที่จะเริ่มนำมาสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม คือ การที่ ธีรยุทธ บุญมี นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเลือกให้ตำแหน่งเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2515 และกรรมการศูนย์นิสิตชุดนี้ ได้เปิดการรณรงค์ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ โดยการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2515 กระแสนี้ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างมาก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ขบวนการนักศึกษาเริ่มที่จะกลายเป็นแกนกลางของขบวนการมวลชน

กระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายนิสิตนักศึกษา นำมาสู่เหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญ คือ กรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ซึ่งเริ่มจาก ธีรยุทธ บุญมี ผลักดันให้มีการตั้ง "กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" แต่ถูกรัฐบาลทหารจับกุม 13 คน แล้วนำมาสู่การประท้วงใหญ่ของประชาชนขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย นิสิตจุฬาฯหลายคน ได้เข้าไปมีส่วนนำการเคลื่อนไหว เช่น ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ธเนศร์ เจริญเมือง วิรัติ ศักดิ์จิระภาพงษ์ และ จีระนันท์ พิตรปรีชา เป็นต้น ในที่สุด ฝ่ายเผด็จการทหารก็ถูกโค่นล้มลง และประเทศกลับฟื้นคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย ในกรณีนี้ มีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ สมเด็จ วิรุฬพล นิสิตปี 1 คณะเศรษฐศาสตร์ เสียชีวิตโดยการยิงของฝ่ายทหาร ซึ่งกลายเป็นประจักษ์พยานหนึ่งในความเหี้ยมโหดของฝ่ายเผด็จการ

ยุคหลัง 14 ตุลาคม เป็นสมัยที่ขบวนการนักศึกษาได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างมาก และยังเป็นสมัยที่เกิดกระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองของมวลชนระดับล่าง อันได้แก่ กรรมกรและชาวนาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นักศึกษากลายเป็นพลังสำคัญในการวิพากษ์สังคม และนำเสนอการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบก้าวหน้า กระแสทางการเมืองในฝ่ายนักศึกษาได้มีแนวโน้มในทางสังคมนิยมมากยิ่งขึ้น และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เช่น การเกิดประชาธิปไตยและการบริหารตนเองในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ก็คือกระแสโจมตีและกวาดล้างการรับน้องแบบป่าเถื่อนจนล่มสลาย โดยเฉพาะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบบโซตัสเปิดฉากลงทุกคณะ กรณีนี้นำมาสู่กิจกรรมนักศึกษาแบบใหม่ที่ก้าวหน้าที่ยืนอยู่บนหลักเหตุผล และไปสู่ประชาชนระดับล่าง กิจกรรมทางการเมืองและสังคม ได้เข้ามาเป็นกิจกรรมหลักของนิสิตแทนเรื่องการเชียร์ และการแข่งกีฬา และนำมาสู่การยุติคณะนิยมและการวิวาทระหว่างคณะในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กระแสประชาธิปไตยได้ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนกระบวนการภายในของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือการปรับระบบการปกครองนิสิตมาเป็นองค์การบริหารสโมสรนิสิต และมีการตั้งสภานิสิตทำหน้าที่ตรวจสอบและพิจารณางบประมาณ ซึ่งเป็นการจำลองแบบตามระบบรัฐสภา สภานิสิตที่มีการเลือกตั้งโดยตรงของนิสิตเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2517 มีการตั้งพรรคการเมืองของนิสิต ขึ้นมาแข่งขันเช่นเดียวกับพรรคการเมืองภายนอก คือ โดยเฉพาะกลุ่มนิสิตที่ก้าวหน้าได้ตั้งพรรคชื่อ พรรคจุฬาประชาชน ลงสมัครรับเลือกตั้ง และมีบทบาทอย่างมากในสภานิสิต ต่อมา พรรคจุฬาประชาชนก็ชนะการเลือกตั้งเข้าบริหารจุฬาฯในเดือนมกราคม พ.ศ.2519 โดยมี อเนก เหล่าธรรมทัศน์ นิสิตคณะแพทยศาสตร์รับตำแหน่งนายกสโมสร

ใน พ.ศ.2519 กระแสความขัดแย้งทางการเมืองภายนอกเริ่มรุนแรงมากขึ้น เพราะพลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือกลุ่มฝ่ายขวา ได้จัดตั้งกันขึ้นเพื่อต่อต้านขบวนการนักศึกษาและนำมาสู่การเผชิญหน้า และในที่สุด ก็นำมาสู่ความรุนแรงและการกวาดล้างขบวนการนักศึกษาในเวลาเช้วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 พร้อมทั้งการก่อรัฐประหารฟื้นอำนาจเผด็จการในเวลาเย็นวันนั้น ในการปราบปรามครั้งนี้ วิชิตชัย อมรกุล นิสิตปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสียชีวิตในการปราบปรามด้วย

สรุปว่า แม้ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะถูกพิจารณาว่าเป็นมหาวิทยาลัยศักดินา แต่ในยุคสมัยแห่งขบวนการนักศึกษา นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวอย่างแข็งขันด้วย ซึ่งบทบาทในด้านนี้ของนิสิตจุฬาฯ ไม่ได้เป็นที่กล่าวถึงกันมากนัก ในที่นี้จึงเก็บมาเล่าให้ฟังเพื่อให้เห็นภาพอีกด้านหนึ่งด้วย




เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 609 วันที่ 25 มีนาคม 2560

อัยการแจงคดีทายาทกระทิงแดงชนตำรวจเสียชีวิตปี 55 ยันพยายามตามตัวมาส่งฟ้องตลอด

Posted: 30 Mar 2017 12:59 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แจงข้อเท็จจริงคดีทายาทกระทิงแดงชนตำรวจเสียชีวิตปี 55 ระบุเจ้าตัวใช้ทุกช่องทางเลี่ยงมาพบเพื่อส่งฟ้องต่อศาล ขีดเส้น 27 เม.ย.นี้ต้องมา



30 มี.ค. 2560 กรณีความคืบหน้าการดำเนินคดีกับ วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาทเจ้าของกระทิงแดง หลังสำนักข่าวเอพีในนิวยอร์ก สหรัฐฯ นำเสนอชีวิต วรยุทธ ผู้ต้องหาคดีขับรถชน ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อเสียชีวิต เมื่อปี 2555 ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศด้วยความสบายใจโดยยังไม่ถูกดำเนินคดีใด ๆ ทั้งที่คดีใกล้จะหมดอายุความภายในปีนี้ และถูกพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกแล้วไม่เข้ารายงานตัวหลายครั้ง ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้น

ล่าสุดวันนี้ (30 มี.ค.60) ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงความคืบหน้าคดีนี้ว่า หลังช่วงปลายเดือนมี.ค. ปีก่อน(2559) ทาง วรยุทธ ได้ร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งในประเด็นซ้ำซ้อน โดยเฉพาะเรื่องความเร็วของรถ อัยการพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นดังกล่าวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการในข้อหา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและหลบหนีไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควรและแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จึงได้สั่งยุติการสอบสวนเพิ่มเติม พร้อมออกหนังสือให้มาพบอัยการเพื่อนำตัวฟ้องต่อศาลในวันที่ 25 เม.ย. 2559 ต่อมา วรยุทธ ขอเลื่อนเข้าพบอัยการ ด้วยเหตุทั้งติดภารกิจในต่างประเทศ และมีการร้องขอความเป็นธรรมที่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติเรื่อยมา ระหว่างนั้นอัยการได้มีหนังสือถึงตำรวจ สน.ทองหล่อ ให้ติดตาม วรยุทธ มาพบเพื่อส่งฟ้องตลอด จนล่าสุด ได้มีการนัดให้ วรยุทธ มาพบในวันนี้ (30มี.ค.60) แต่ผู้ต้องหาก็ยังมีหนังสือขอเลื่อนเนื่องจากติดภารกิจที่ประเทศอังกฤษ จึงเลื่อนนัดไปวันที่ 27 เม.ย. นี้ หากยังขอเลื่อนนัดด้วยเหตุเลื่อนลอยอาจเป็นเหตุให้อัยการพิจารณาออกหมายจับเพื่อติดตามตัวมาดำเนินคดีได้

กรณีที่ผ่านมา วรยุทธ มีหนังสือร้องเรียนขอสอบสวนเพิ่มเติมไปยังคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำให้เป็นเหตุไม่สามารถออกหมายจับได้ ซึ่งในทางข้อเท็จจริงแล้วกรรมาธิการฯ ก็ไม่ได้เข้าก้าวล่วงอำนาจกระบวนการสอบสวนคดีอาญาแต่อย่างใด แต่เป็นสิทธิของผู้ต้องหาในการร้องขอความเป็นธรรมและหน้าที่ของกรรมาธิการฯในการสอบสวนตามคำร้องขอ

ทางสำนักงานอัยการสูงสุด ยืนยันว่า คดีดังกล่าวมีความพยายามติดตามตัว วรยุทธ มาส่งฟ้องตลอด ประเด็นผู้ต้องหามีชื่อเสียง มีฐานะทางสังคมสูงนั้น เชื่อว่าจะทำให้คดีเป็นที่สนใจติดตามและถูกตรวจสอบจากสังคมมากขึ้น ขณะที่อายุความของข้อหาที่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีในความผิดฐานหลบหนีไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควรและแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที คดีจะหมดอายุความวันที่ 3 ก.ย.ปีนี้ ส่วนข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย นั้นจะหมดอายุความวันที่ 3 ก.ย. 2570 หรืออีก 10 ปี ข้างหน้า



ที่มา : สำนักข่าวไทย และเฟซบุ๊กแฟนเพจ Banrasdr Photo

คนเกาหลีใต้เริ่มชอบจีนน้อยกว่าชอบญี่ปุ่น-หลังจีนตอบโต้เพราะให้สหรัฐฯ ติดตั้ง THAAD

Posted: 30 Mar 2017 01:01 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

สถาบันวิจัยคาบสมุทรเกาหลีสำรวจความคิดเห็นชาวเกาหลีใต้ พบความชื่นชอบต่อจีนแผ่นดินใหญ่ลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น หลังจากที่จีนใช้ไม้แข็งคว่ำบาตรวัฒนธรรมเกาหลีและโจมตีบริษัทล็อตเต เพื่อตอบโต้เกาหลีใต้อนุญาตให้สหรัฐฯ ติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธ THAAD หลายเป็นประเด็นความสัมพันธ์ที่น่าจับตามองของชาติมหาอำนาจกับอิทธิพลในคาบสมุทรเกาหลี


กองทัพสหรัฐเมริกาที่ฐานทัพยองซาน กรุงโซล ระหว่างลำเลียงอุปกรณ์เพื่อติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธระบบ THAAD สำหรับเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2017 หลังจากที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธพิสัยกลางและพิสัยไกลหลายหน (ที่มา: Flickr/U.S. Pacific Command)

30 มี.ค. 2560 สถาบันอาซานเพื่อการวิจัยนโยบาย (Asan Institute for Policy Studies) ซึ่งเป็นสถาบันอิสระไม่สังกัดฝ่ายที่ทำการศึกษาเรื่องนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพและเสถียรภาพของคาบสมุทรเกาหลี เปิดเผยรายงานระบุว่าหลังจากที่เกาหลีใต้ยอมให้สหรัฐฯ ติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธข้ามทวีปในชั้นบรรยากาศปลายทาง (Terminal High Altitude Area Defense หรือ THAAD) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับจีนและสหรัฐฯ อย่างกระทันหัน

ระบบป้องกันขีปนาวุธดังกล่าวจะมีการติดตั้งภายในช่วงใดช่วงหนึ่งของปี 2560 แต่ในช่วงเดือนมีนาคมก็มีชิ้นส่วนจำนวนหนึ่งของ THAAD ส่งถึงเกาหลีใต้แล้ว เรื่องนี้ทำให้ทางการจีนโต้ตอบด้วยความไม่พอใจ โดยมีการสั่งห้ามนำเข้าสินค้าทางวัฒนธรรมของเกาหลีและมีการปราบปรามการท่องเที่ยวเกาหลีด้วย บริษัทใหญ่ของเกาหลีคือลอตเต้กรุ๊ปที่ให้ความร่วมมือเรื่องการอนุญาตติดตั้ง THAAD บนเกาะซองจูก็ถูกตอบโต้จากรัฐบาลจีนเช่นกันและผู้บริโภคในจีนเองก็บอยคอตต์ไม่ใช้สินค้าจากลอตเต้

เหตุการณ์นี้ยังเป็นการเดินหมากของทั้งฝ่ายทางการสหรัฐฯ และฝ่ายทางการจีนในช่วงสูญญากาศทางอำนาจหลังถอดถอนประธานาธิบดี พัก กึนเฮ ของเกาหลีใต้ สหรัฐฯ ประเมินว่าหลังจากนี้เกาหลีใต้มีโอกาสสูงที่จะได้รัฐบาลสายก้าวหน้าพวกเขาจึงรีบเร่งติดตั้ง THAAD ให้เร็วที่สุด ส่วนจีนเน้นให้ผู้คนเอาความไม่พอใจไปทุ่มใส่บริษัทลอตเต้แต่ก็ไม่ได้ขยายความกล่าวโทษบริษัทสัญชาติเกาหลีอื่นๆ โดยทางสถาบันอาซานยังวิเคราะห์ว่าจีนน่าจะกำลังรอดูรัฐบาลใหม่ของเกาหลีใต้เพื่อขอความร่วมมือกับพวกเขา

สถาบันอาซานระบุว่ามันเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจมาก พวกเขาต้องเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองในประเทศตัวเอง ได้เห็นโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเห็นคาบสมุทรเกาหลีกลายเป็น "ลานสู้รบ" ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในเรื่อง THAAD แล้วชาวเกาหลีใต้เองคิดอย่างไรกับเรื่องนี้?

จากคำถามนี้ สถาบันอาซานทำการสำรวจชาวเกาหลีใต้ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่าชาวเกาหลีใต้มีความชื่นชอบประเทศจีนน้อยลงจนอยู่ในระดับต่ำกว่าความชื่นชอบประเทศญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งความชอบที่น้อยลงนี้มาจากการที่จีนตอบโต้เรื่อง THAAD ในขณะเดียวกันชาวเกาหลีใต้ก็มีความชื่นชอบในสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อยด้วย

ผลสำรวจของอาซานระบุอีกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 แล้วในตอนนี้มีชาวเกาหลีใต้สนับสนุนการติดตั้ง THAAD มากขึ้นและมีผู้ต่อต้านการติดตั้งน้อยลง ซึ่งคนกลุ่มที่สนับสนุนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนอายุ 60 ปี ที่มีแนวโน้วสนับสนุนปาร์กกึนฮเยและติดจุดยืนต่อต้านจีนตามผู้นำ โดยรวมๆ แล้วชาวเกาหลีใต้ต่างก็แสดงทัศนคติทางลบกับส่งทีพวกเขามองว่าเป็นการแทรกแซงอย่างเกินเลยจากประเทศมหาอำนาจในประเด็นคาบสมุทรเกาหลี


ชาวเกาหลีใต้กับความชื่นชอบประเทศต่างๆ

ผลสำรวจของอาซานระบุว่าจากคะแนนความชื่นชอบจาก 0-10 (ชอบน้อยที่สุดไปจนถึงชอบมากที่สุด) คะแนนความชอบจีนของพวกเขาลดลงจาก 4.31 ในเดือนมกราคมเหลือ 3.21 ในเดือนมีนาคมแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับช่วงปี 2558 หลังจาก พัก กึนเฮ เข้าร่วมพิธีสวนสนามกองทัพที่จัตุรัสเทียนอันเหมินแะแสดงท่าทีเป็นมิตรกับผู้นำจีน และยิ่งกว่านั้นคือความชื่นชอบจีนของเกาหลีในตอนนี้ลดลงต่ำกว่าญี่ปุ่น (3.33 คะแนน) เสียอีก จากทีญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ได้คะแนนความชอบต่ำเสมอมาในสายตาของชาวเกาหลี ยิ่งหลังจากมีกรณีขัดแย้งเรื่องรูปปั้น "หญิงบำเรอ" ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคม 2559 แล้วก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ถดถอยลง แต่จากการสำรวจแล้วคะแนนความชอบญี่ปุ่นลดลงเล็กน้อย ขณะที่จีนคะแนนความชืนชอบลดลงมากกว่า ซึ่งน่าจะเป็นเพราะพวกเขาไม่ชอบการตอบโต้ทางเศรษฐกิจของจีนในกรณี THAAD

ในด้านของสหรัฐฯ นั้นชาวเกาหลีใต้ยังให้คะแนนสูงพอสมควรแต่ก็ลดลงเล็กน้อยจาก 5.77 ในเดือนมกราคมเหลือ 5.71 ในเดือนมีนาคมแต่ก็เป็นจำนวนที่ไม่มีนัยสำคัญมากเท่ากับกรณีจีน อย่างไรก็ตามในประวัติศาสตร์แล้วชาวเกาหลีมักจะแสดงการต่อต้านอย่างแข็งขันเมื่อเหล่ามหาอำนาจแย่งชิงคาบสมุทรเกาหลีหรือแทรกแซงประเด็นภายในของเกาหลีใต้

อาซานมองว่าความชื่นชอบจีนของกลุ่มคนสูงวัยในเกาหลีใต้ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบในรัฐบาลปาร์กกึนฮเยด้วย อย่างเมื่อช่วงรับบาลปาร์กกึนฮเยสนับสนุนจีนคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ก็มีท่าทีสนับสนุนจีนตาม หมายความว่าคนสูงวัยในเกาหลีใต้แค่มีทัศนคติในเรื่องต่างๆ เอนเอียงตามผู้นำในยุคนั้นเท่านั้นเอง ไม่นับว่าคนสูงอายุในเหาหลีใต้ยังมักจะเป็นพวกอนุรักษ์นิยมจัดในประเด็นเรื่องความมั่นคง แต่เมื่อพิจารณาจากกราฟแล้วความชื่นชอบจีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญในหมูประชากรชาวเกาหลีอายุ 20-29 ปีและ 30-39 ปีด้วยเช่นกัน

เมื่อเทียบกับกรณีความชื่นชอบสหรัฐฯ แล้ว การสำรวจโดยอาซานในช่วงเดือนมกราคมกับเดือน มีนาคมพบว่ามีคะแนนขึ้นลงแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุมากกว่า ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับกลางๆ (5 คะแนน) แต่คนสูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป ดูจะช่นชอบสหรัฐฯ มากขึ้น ส่วนกลุ่มช่วงอายุที่ชื่นชอบสหรัฐฯ ลดลงมากจะเป็นกลุ่มอายุ 40-49 ปี อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจคือกลุ่มช่วงอายุ 20-29 ปี ที่ก่อนหน้านี้มีความชื่นชอบสหรัฐฯ มากเช่นเดียวกับกลุ่มประชากรสูงวัยแต่ในปัจจุบันมีความชื่นชอบลดลง อาซานประเมินว่าแนวคิดสนับสนุนสหรัฐฯ ในเกาหลีน่าจะมาจากแนวคิดอนุรักษ์นิยมในประเด็นความมั่นคงและความชื่นชอบอำนาจอ่อน (soft power) แบบของสหรัฐฯ


ความชื่นชอบผู้นำ

ในแง่การสำรวจความชื่นชอบผู้นำประเทศต่างๆ ได้แก่ โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ สีจิ้นผิงของจีน และชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น นั้น อาซานมองว่าความชื่นชอบในตัวทรัมป์จากเดิมอยู่ที่ราว 1 คะแนน หลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้งชาวเกาหลีก็ดูจะแสดงการชื่นชอบทรัมป์เพิ่มากขึ้นเป็น 3 คะแนน แต่ก็ลดลงพอสมควรในช่วงเดือนมีนาคมทำให้อาซานประเมินว่าความชอบหรือไม่ชอบในตัวทรัมป์ไม่ได้ส่งผลต่อความชื่นชอบในประเทศสหรัฐฯ น่าจะเพราะว่าเกาหลีใต้มองสหรัฐฯ เป็นประเทศพันธมิตรทางการทหารและมองประเทศสหรัฐฯ ในเชิงบวก

ขณะที่ความชื่นชอบในผู้นำสีจิ้นผิงของจีนนั้นจากเดิมที่อยู่ในระดับ 4 คะแนนมาโดยตลอดในเดือน มีนาคมชาวเกาหลีใต้ชื่นชอบสีจิ้นผิงลดลงเหลือ 2.93 คะแนน นั่นเป็นไปได้ว่ากรณีการโต้ตอบเรื่อง THAAD ของจีนไม่เพียงส่งผลต่อความชื่นชอบประเทศจีนลดลงแต่ยังส่งผลต่อความชื่นชอบผู้นำจีนลดลงด้วย


ข้อสรุป

สถาบันอาซานสรุปว่าในขณะที่เกาหลีใต้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลังปาร์กกึนฮเยออกจากตำแหน่งและกำลังจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ พวกเขาก็ต้องเผชิญแรงกดดันจากจีนกับสหรัฐฯไป พร้อมๆ กัน โดยที่การตอบโต้ของจีนต่อกรณี THAAD สร้างความเสียหายต่อการส่งออกวัฒนธรรมของเกาหลีใต้และต่อบริษัทเกาหลีใต้ในจีน ขณะเดียวกันอิทธิพลการเมืองภายในก็ส่งผลต่อทัศนคติของชาวเกาหลีใต้ต่อประเด็นการติดตั้ง THAAD โดยสหรัฐฯ อย่างเรื่องการสนับสนุนหรือการต่อต้านรัฐบาล เช่นกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ต่อต้านปาร์กกึนฮเยมอง THAAD ในแง่ลบไปด้วยแม้ว่าพวกเขาจะมีแนวคิดเรื่องความมั่นคงของชาติในเชิงมอนุรักษ์นิยม

อย่างไรก็ตามสิ่งทีเห็นได้ชัดคือความชื่นชอบจีนแผ่นดินใหญ่ในสายตาชาวเกาหลีใต้ลดลงอย่างมากจากวิธีการตอบโต้เชิงเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของจีน ขณะที่สหรัฐฯ นั้นแม้คนสูงอายุชาวเกาหลีใต้จะสนับสนุนมากขึ้นแต่ต้องคอยดูท่าทีกลุ่มอายุ 20-29 ปี และ 40-49 ปี ที่มองสหรัฐฯ แย่ลง อีกทั้งภาพลักษณ์ของทรัมป์ที่คนไม่ค่อยชอบก็อาจจะกลายเป็นอุปสรรคของสหรัฐฯ ในอนาคตได้ด้วย

ทั้งนี้สิ่งที่น่าประเมินกันต่อไปในอนาคตคือความไม่แน่นอนของเกาหลีใต้ว่าจะเลือกผู้นำคนใหม่จะเป็นอย่างไรต่อไป ที่แน่ๆ ไม่ว่าจะมีการติดตั้งระบบป้องกัน THAAD หรือไม่ เกาหลีใต้ก้มีแนวโน้มสนับสนุนสหรัฐฯ มากกว่าจีนในระยะยาว กลุ่มมหาอำนาจจึงต้องคำนึงว่าการเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของประชาชนเช่นนีมีความสำคัญเพื่อประเมินความเปลี่ยนแปลงและปรับความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ต่อไป



เรียบเรียงจาก

Changing Tides: THAAD and Shifting Korean Public Opinion toward the United States and China, Asan Institute for Policy Studies, 20-03-2017

สุรพงษ์ ไม่ท้อ หลัง สนช.มีมติถอดถอน ตัดสิทธิการเมือง 5 ปี

Posted: 30 Mar 2017 01:37 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

สุรพงษ์ อัด สนช. ไม่ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริง แต่เป็นการใช้อารมณ์ที่ไม่พอใจกรณีที่ตนขอนับองค์ประชุม เผยรอประธานสนช.วินิจฉัย หลังยื่นเช็คความถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เหตุอดีตศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเรื่องลักษณะนี้มาแล้ว


แฟ้มภาพ

30 มี.ค. 2560 การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอน สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จากกรณีออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร โดยมิชอบ โดยเป็นการลงมติถอดถอนหรือไม่ ด้วยวิธีการลงคะแนนลับด้วยการขานชื่อ

ผลการลงคะแนนปรากฏว่า ที่ประชุม สนช. มีมติ ถอดถอน 231 เสียง ไม่ถอดถอน 4 เสียง ไม่ออกเสียง 3 เสียง ซึ่งเสียงถอดถอนได้คะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 หรือตั้งแต่ 150 คะแนน ของจำนวนสมาชิก สนช. ที่มีอยู่ 250 คน จากมตินี้ส่งผลให้ สุรพงษ์ ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง และถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันลงมติ ทั้งนี้ สนช. จะแจ้ง ไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา และสุรพงษ์ ผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้รับทราบต่อไป

สุรพงษ์ เปิดเผยว่า ต้องยอมรับที่วันนี้(30 มี.ค.) ต้องถูกถอดถอนแล้ว ยืนยันว่าไม่ท้อ เชื่อว่าในครั้งนี้สังคมไทยจะได้รับทราบอะไรมากขึ้น เพราะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า สนช. ไม่ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริง แต่เป็นการใช้อารมณ์ที่ไม่พอใจกรณีที่ตนสอบถามกฎระเบียบตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 13 และข้อบังคับที่ 20 เรื่องให้ประธานวินิจฉัย หลังจากแสดงความสงสัยว่าระหว่างพิจารณาถอดถอนในชั้นแถลงปิดคดี องค์ประชุมครบหรือไม่ ถูกต้องตามข้อบังคับหรือไม่

สุรพงษ์ กล่าวว่า ต้องรอการวินิจฉัยของประธานสนช. หลังจากที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายของพรรคเพื่อไทยได้ยื่นเรื่องสอบถามไปว่า การถอดถอนครั้งนี้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะในอดีตศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเรื่องลักษณะนี้มาแล้วและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือว่าผูกพันทุกองค์กร ผมนจะปรึกษากับทีมกฎหมายว่าประเด็นใดที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมได้ จะดำเนินการภายใต้กฎหมายต่อไป

“อย่างน้อยวันนี้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชนว่าการตัดสินลงคะแนนในวันนี้ของสนช.เป็นไปอย่างที่สื่อคาดการณ์เอาไว้วานนี้ (29 มี.ค.) อยู่แล้วว่าจะพิจารณาตามความโกรธ ไม่ใช่ตามข้อเท็จจริง ทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นความจริงหรือไม่ จะมีธงหรือไม่ รู้กันอยู่แก่ใจ และ หากเป็นเช่นนี้ เท่ากับผมถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี หลังจากนี้คงแก่เกินกว่าที่จะกลับมา คงให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำงานการเมือง ซึ่งตลอดชีวิตการเมือง ไม่เคยยึดติดกับตำแหน่ง ไม่เคยมักใหญ่ใฝ่สูง ไม่อิจฉาริษยาใครทั้งสิ้น แต่เป็นตัวของตัวเองมาตลอด ต้องการเห็นชาติบ้านเมืองพัฒนา เจริญรุ่งเรือง คนไทยมีความสุขก้าวหน้าทุกคน” สุรพงษ์ กล่าว



ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา และสำนักข่าวไทย


'ทักษิณ' ส่งทนายแจ้งความ 'เปลว สีเงิน-ทีนิวส์' หมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอม

Posted: 30 Mar 2017 02:09 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ทักษิณส่งทนายแจ้งความ หมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เปลว สีเงิน กรณีเขียนบทความเรื่องหุ้นชิน -ทีนิวส์-ปราชญ์ สามสี กรณีโกตี๋

30 มี.ค. 2560 เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่า ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) นายชุมสาย ศรียาภัย ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายทักษิณ ชินวัตร ได้เข้าร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี กับ เปลว สีเงิน และ สำนักข่าว TNEWS ในข้อหา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

นายชุมสายกล่าวว่า กรณีของ เปลว สีเงิน นั้น สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้เขียนบทความในคอลัมน์ คนปลายซอย กล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร ว่า มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหุ้น ชินคอร์ป และกล่าวหาว่าข้าราชการทำตามคำสั่งของ นายทักษิณ ที่ไม่ประเมินและเรียกเก็บภาษี ทั้งที่เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวได้ยุติไปแล้วว่าไม่สามารถทำได้ มิฉะนั้นก็คงไม่มีการปล่อยให้เรื่องผ่านมาหลายรัฐบาลเป็นแน่

ส่วนการดำเนินคดีกับสำนักข่าว TNEWS นั้น เป็นการกล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการของโกตี๋ และนายจารุพงศ์ โดยให้ขอให้ดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลงโฆษณาและเผยแพร่ข้อความ รวมถึงเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อ “ปราชญ์ สามสี” ซึ่งเป็นผู้เริ่มต้นในการเขียนข้อความอันเป็นการใส่ร้ายดังกล่าวด้วย ส่วนข้อหาที่ขอให้ดำเนินคดี คือความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (5) และมาตรา 15

นายชุมสาย กล่าวเตือนไปยังผู้ที่คิดจะเขียนหรือส่งต่อข้อความในลักษณะใส่ร้ายต่อนายทักษิณว่าขอให้ยุติเพราะหากกระทำการอันเข้าข่ายเป็นความผิดก็จะมีการดำเนินคดีทุกคน ทั้งผู้สร้างหรือผู้ส่งต่อข้อความ

อนึ่ง เมื่อปลายปีที่่ผ่านมา มีการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยมาตรา 14(1) เรื่องการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มีการแก้ไขใจความสำคัญโดยเพิ่มองค์ประกอบว่า เป็นการนำเข้า "โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง" และเพิ่มข้อความ "อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา" และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ของ สนช. ย้ำหลายครั้งในต่างกรรมต่างวาระว่า มาตรา 14(1) ไม่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท

ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของ สนช.แล้ว และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 ม.ค. โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ค.นี้ (120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา)

ผอ.บีบีซีเวิลด์ ตอบกรณี ‘ไผ่ ดาวดิน’ การแชร์เป็นสิทธิในการเผยแพร่ข่าวสาร

Posted: 30 Mar 2017 02:26 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ผู้อำนวยการบีบีซีภาคบริการโลกเผย รัฐบาลทั่วโลกกำลังหาช่องทางควบคุมสื่อเพื่อจัดการข้อมูลก่อนส่งถึงประชาชน ส่วนสื่อต้องมุ่งมั่นที่จะรายงานข้อเท็จจริงอย่างยุติธรรมและซื่อสัตย์ ตั้งใจรักษาเสรีภาพเพื่อนำเสนอข้อมูลที่เป็นกลางให้โลกได้รับรู้ พร้อมตอบกรณีไผ่ ดาวดิน การกดแชร์เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนรับรู้ข่าวสาร เป็นสิทธิที่ทุกคนควรมี

ฟรานเชสกา อันส์เวิร์ธ (ขวา)

29 มี.ค. 2560 ฟรานเชสกา อันส์เวิร์ธ ผู้อำนวยการบีบีซีภาคบริการโลก และรองผู้อำนวยการฝ่ายข่าว บรรยายเรื่อง เสรีภาพสื่อในยามที่โลกอำนาจนิยมเบ่งบาน ที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ชั้น 2 ห้อง 205 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยชี้ว่า ความสัมพันธ์ของบีบีซีกับนักการเมือง ไม่ต่างกับการชักเย่อ ที่แต่ละฝ่ายควรจะต้องดึง ซึ่งความเป็นจริงก็เป็นกระบวนการตามหลักการประชาธิปไตย เพราะเป็นการทดสอบผู้ที่อยู่ในอำนาจ สื่อสามารถถูกตรวจสอบได้ หากสื่อมีอำนาจมากเกินไปจะส่งผลกระทบ สร้างความเสียหายต่อระบบการเมือง หากอ่อนแอเกินไปจะเสี่ยงต่อการถูกดึงไปทางใดทางหนึ่ง เสี่ยงต่อการสูญเสียเสรีภาพของสื่อ

ฟรานเชสกา เล่าจากประสบการณ์ในช่วงการรณรงค์ทำประชามติ กรณีสหราชอาณาจักรต้องการออกจากสหภาพยุโรป (EU) ว่า บีบีซีต้องสู้กับการปล่อยข่าวจากทั้งสองฝั่ง ที่พยายามอยากแก้ไขข่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายตนเอง ทั้งนี้เอง บีบีซีได้รับการยอมรับจากนักการเมืองว่าเป็นอิสระ และเราต้องคงความอิสระนั้นไว้ การทำประชามติครั้งนั้นเตือนให้เรารู้ว่าเส้นแบ่งระหว่างการตรวจสอบอย่างเหมาะสมและการแทรกแซงสื่อเป็นสิ่งที่เราต้องหวงแหน

ฟรานเชสกา เล่าต่อว่า ในการรักษาสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สื่อต้องมีความรับผิดชอบ รู้ถึงจุดกึ่งกลางระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสุดโต่งพร้อมผลกระทบที่จะตามมา ในกรณีประเทศไทยมีกฎหมายมาตรา 112 เพื่อปกป้องราชวงศ์ ตอนนั้นบีบีซีเกือบตกที่นั่งลำบากจากการนำเสนอบทความประวัติของในหลวงรัชกาลใหม่ลงสื่อออนไลน์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาที่ออฟฟิศบีบีซีกรุงเทพ ทำให้เนื้อหาที่นำเสนอถูกบล็อค แต่ความเป็นจริงแล้วบทความดังกล่าวเขียนขึ้นและตีพิมพ์ที่สำนักงานใหญ่บีบีซีที่ลอนดอน ซึ่งพนักงานในประเทศไทยต่างไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบทความนั้น

ทั้งนี้ภายในห้องบรรยาย ได้มีผู้ตั้งคำถามถึงกรณีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาหรือไผ่ ดาวดินที่ถูกดำเนินคดี 112 หลังแชร์พระราชประวัติในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่บีบีซีนำเสนอ ฟรานเชสกา ตอบว่าบีบีซีเชื่อในหลักการสิทธิที่จะเผยแพร่ (The Right to Share) การกดแชร์เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนรับรู้ข่าวสาร เป็นสิทธิที่ทุกคนควรมี บีบีซีไม่มีเจตนาจะทำให้เกิดความไม่พอใจ และไม่ได้มาที่นี่เพื่อละเมิดกฎหมาย แต่เป็นการทำงานตามกรอบมาตรฐานของกองบรรณาธิการ

“ดิฉันไม่อยากจะพูดถึงประเด็นเก่าๆ ระหว่างเรา เราอยากมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย เราไม่อยากทำให้ประเทศไทยไม่พอใจ รวมถึงราชวงศ์ แต่บีบีซียืนยันในบทความดังกล่าวและเชื่อมั่นว่ามันตรงกับหลักการบรรณาธิการของบีบีซี และมันเลี่ยงไม่ได้ จะเป็นการดีด้วยซ้ำที่ในประเทศใดก็ตาม นักการเมืองและสื่อมวลชนจะเห็นไม่ตรงกันตลอด” ฟรานเชสกา กล่าว

ฟรานเชสกา เล่าต่อว่า ตอนนี้คำถามสำหรับสื่อและนักการเมืองคือ ใครเป็นผู้จำกัดเสรีภาพและเราควรถูกตัดสินอย่างไร ใครคือผู้กำกับดูแล และกฎกติกาในการกำกับดูแลคืออะไร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณว่าอยู่ส่วนไหนของโลก วัฒนธรรมของประเทศนั้นเป็นอย่างไร มุมมองด้านประชาธิปไตยและบทบาทของสื่อในระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยและเสรีภาพสื่อไม่สามารถเกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน บางทีอาจไม่เกิดขึ้นเลย และจำเป็นต้องใช้เวลา

ฟรานเชสกา ระบุด้วยว่า ค่อนข้างเป็นกังวลสำหรับการคุกคามสื่อจากรัฐบาลบางประเทศ ตามรายงานขององค์กรสื่อไร้พรมแดน นักข่าวหลายร้อยคนถูกจำคุกในประเทศตุรกี หลังล้มเหลวในการทำรัฐประหารเมื่อเดือนกรกฎาคม และนักข่าวอีกหลายร้อยคนถูกขังในประเทศจีน, 27 คนในประเทศอียิปต์, 24 คนในประเทศอิหร่าน รัฐบาลฮังการีจัดตั้งองค์กรสื่อจากฝ่ายการเมืองมีอำนาจในการเซ็นเซอร์การรายงานข่าว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กีดกันไม่ให้สื่อหลายสำนักเข้าฟังการแถลงข่าวของทำเนียบขาวและเลือกเฉพาะสื่อบางสำนักในการเข้าทำเนียบขาวเท่านั้น

“ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ รัฐบาลทั่วโลก กำลังหาทางควบคุมสื่อ หรือใช้อำนาจควบคุมข่าวสารที่จะส่งต่อถึงประชาชน ในบางครั้งยิ่งเราพูดถึงเสรีภาพสื่อมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งฟังดูว่างเปล่ามากเท่านั้น” ฟรานเชสกา กล่าว



เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนจาก SEAPA

เข้าฤดูเกณฑ์ทหาร เครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ แนะสื่อเลิกเสนอข่าวเชิงลบ-ตลก

Posted: 30 Mar 2017 03:37 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ฤดูเกณฑ์ทหารมาอีกแล้ว เครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ ขอสื่อเลิกนำเสนอข่าวเป็นตัวตลก นักวิชาการแนะเริ่มที่ระดับปัจเจกก่อนขยายทัศนคติให้ทั่วถึง ด้าน ผอ.กองการสัสดีแจงจัดห้องตรวจมิดชิด-เร่งทำความเข้าใจเรื่องสิทธิของสาวประเภทสอง


29 มี.ค. 2560 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยสำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ และ American Jewish World Service (AJWS) จัดงาน “จิบกาแฟ นั่งคุย “กะเทยเกณฑ์ทหารผ่านสื่อ” ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ โดยมีเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี เป็นพิธีกรดำเนินงาน

เจษฎา แต้สมบัติ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน พูดในหัวข้อ “เส้นทาง “กะเทยไทยในการเกณฑ์ทหาร” โดยเริ่มด้วยการขอให้สื่อมวลชนหรือแม้กระทั่งคนทั่วไปเรียกกลุ่ม LGBT โดยใช้คำที่ถนอมน้ำใจหรือถามพวกเขาก่อนว่าพวกเขาจะให้เรียกว่าอะไร ทั้งนี้ สามารถเลี่ยงโดยการเรียกชื่อของพวกเขาหรือใช้คำว่าคุณแทน

สำหรับความเป็นมาของการขับเคลื่อน สด.43 เธอกล่าวว่า เริ่มมาจากการที่สาวประเภทสองมาเกณฑ์ทหารแต่ละครั้ง ถึงพวกเขาจะได้ไม่ต้องไปรับใช้ชาติแต่พวกเขาจะถูกระบุว่าเป็นโรคจิต วิกลจริต นั่นจะเป็นผลทำให้เวลาไปสมัครงาน นายจ้างจะไม่รับ หรือแม้กระทั่งจะไปศึกษาต่อต่างประเทศก็เกิดปัญหาเช่นกัน โดยการต่อสู้เพื่อการขับเคลื่อนเริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ.2548 โดยคุณสามารถ มีเจริญ หรือน้ำหวาน คัดเลือกถ้อยคำที่ไม่เกิดการตีตราและความหมายไม่ผิดเพี้ยนจึงเกิดถ้อยคำมากมาย เช่น “หน้าอกผิดรูป” “การรับรู้เพศแตกต่างจากเพศกำเนิด” “ความผิดปกติในการรับรู้เพศ” เพราะในทางภาษาไทยมีความหลากหลาย การใช้คำต่างๆ จึงมีนัยยะ เลยต้องระมัดระวังในการใช้คำใน สด.43 จึงได้ถ้อยคำที่ว่า “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” และหลังจากนั้นเธอได้ลงพื้นที่กับคณะเพื่อตรวจดูตามสถานที่เกณฑ์ทหารว่ามีการปฏิบัติต่อสาวประเภทสองเป็นไปในทางที่ไม่ดูถูก เหยียดหยามความเป็นเพศ อีกทั้งพยายามที่จะผลิตสื่อให้กับสาวประเภทสองเพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร ทั้ง โปสเตอร์ คลิปวิดีโอ แต่ก็ยังมีสาวประเภทสองบางคนที่แม้จะผ่านการตรวจจากแพทย์ทหารแล้วยังต้องไปจับใบดำใบแดง เนื่องจากไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ เธอจึงอยากให้ทั้งกลุ่มทางการแพทย์ที่ทำงานตรวจร่างกายทำงานให้มีมาตรฐานไปในทางเดียวกันทุกโรงพยาบาลว่าควรแปลงเพศก่อนหรือเปล่า หรือให้กรมการแพทย์สุขภาพจิตมาตรวจสอบสภาพจิตใจว่าเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด โดยทุกสถานทางการแพทย์ที่ตรวจต้องมีมาตรฐานเดียวกัน

ช่วงต่อมาเป็นช่วง จับเข่าคุย กะเทยเกณฑ์ทหารผ่านสื่อ ซึ่งดำเนินรายการโดย นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร ในช่วงนี้มีผู้พูดด้วยกัน 5 คน ดังนี้

เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กสทช. กล่าวว่า แต่ละฝ่ายควรทำหน้าที่ของตัวเองแต่ก็ไม่ควรไปละเมิดกลุ่มคนบางกลุ่มและเข้าหากันเพื่อปรับให้เข้าใจกัน โดยแนะนำให้ทำวาระรายการบังคับดูแบบรายการของ คสช.ตอนหกโมงเย็น โดยเนื้อหารายการควรกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเกณฑ์ทหารแทนการนำเสนอความตลกของสาวประเภทสองที่มาเกณฑ์ทหาร เพราะสื่อสมัยนี้ชอบเบี่ยงเบนประเด็นให้เป็นเรื่องสนุก เฮฮา เอาความตลกของสาวประเภทสองมาเสนอ

“สื่อ ถ้าหากถูกติ เขาก็จะรู้ว่าควรที่จะปรับปรุง เราควรที่จะเสริมแรงทางบวกกัน” เอื้อจิต กล่าวและว่า ที่น่าเป็นห่วงคือสื่อท้องถิ่น ที่ทาง กสทช.ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะควบคุมได้เพียงสื่อส่วนกลาง อีกทั้งสมัยนี้มีการถ่ายรายการลงช่องยูทูบ ซึ่งส่วนนี้เราก็ไม่สามารถควบคุมได้เช่นกัน และโทรทัศน์ควรมีวาระแห่งชาตินำเสนอให้เห็นการเปลี่ยนแปลง เป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องไม่ใช่การสร้างภาพลักษณ์หรือการประชาสัมพันธ์ เพื่อปรับทัศนคติทางสังคมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้เข้ากัน

สุดท้าย เอื้อจิต กล่าวว่า อยากให้สาวประเภทสองลองเปลี่ยนการนำเสนอตัวเองขณะไปเกณฑ์ทหารว่าตัวเองไม่ใช่ผู้ชายแทนที่จะแต่งตัวไม่สุภาพ มาเป็นการแต่งตัวที่สุภาพ มิดชิดขึ้น แต่บนเสื้อผ้าอาจจะมีสัญลักษณ์อะไรเพื่อสื่อว่าตัวเองเป็นสาวประเภทสองให้เป็นที่สนใจ เขายังเสนอให้ไทยยึดแบบอย่างจากข้อบังคับของอังกฤษและอเมริกาที่ทำขึ้นต่อกลุ่ม LGBT ในการเข้ารับเกณฑ์ทหารโดยเนื้อหาในข้อบังคับเป็นคำแนะนำ อย่างละเอียดให้กับกองทัพในการดูแลกลุ่ม LGBT ที่เข้าไปเป็นทหาร เช่น เรื่องการแต่งกาย การใช้ชีวิตอยู่ในกองทัพ รวมไปถึงสิทธิเสรีภาพที่พวกเขาควรได้รับ

พันเอกสมพล ปะละไทย ผู้อำนวยการกองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน กระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการเกณฑ์ทหารได้นัดประชุมเพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการเคารพสิทธิของสาวประเภทสองที่มาเกณฑ์ทหาร ไม่ว่าจะเป็นการจัดที่นั่งให้เหมาะสม การใช้กิริยาวาจาของทหารหรือแม้กระทั่งเพื่อนที่มาร่วมเกณฑ์ต่อสาวประเภทสองที่มาเกณฑ์ทหารให้ใช้คำพูดที่สุภาพ ไม่พูดหยอกล้อ ปฏิบัติกับเขาให้เหมือนกับเป็นน้องสาวของเรา ส่วนเรื่องการตรวจร่างกาย จะมีการจัดห้องที่มิดชิดให้และผู้ที่สามารถเข้ามาตรวจได้นั้นมีเพียง 3 คน คือ กรรมการแพทย์ กรรมการสัสดีจังหวัด และประธานกรรมการโครงการตรวจเลือก ส่วนในเรื่องของสื่อ สื่อต้องได้รับการอนุมัติเพื่อที่จะเข้ามาทำข่าว

พันเอกสมพลกล่าวต่ออีกว่า ผู้ที่สามารถเข้าไปตรวจร่างกายได้ต้องมีใบอนุญาต ทางเรามีการตรวจเลือก ไม่ใช่ว่าทหารคนไหนก็ได้สามารถเข้าไป สื่อมวลชนที่จะเข้าไปก็ต้องได้รับการคัดเลือกเหมือนกันและถ้าไม่จำเป็นประธานโครงการตรวจเลือกก็จะไม่เข้าไปในห้อง ส่วนเรื่องความไม่เสมอภาคของการตรวจเลือกทหาร เขาได้พูดคุยกับกองทัพภาคทุกที่และทางการแพทย์ที่สามารถตรวจเพื่อขอใบรับรองแพทย์ ทั้งนี้มีคู่มือให้สำหรับศึกษาเพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานเดียวกัน ย้ำว่าจะทำอะไรก็ต้อง เอาใจเขามาใส่ใจเรา

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการและพิธีกรช่อง Voice TV กล่าวว่า เราอยู่ในสถานการณ์ที่ความเข้าใจเกี่ยวกับกะเทยกำลังเปลี่ยน แต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนนั้นเป็นไปได้ง่ายบ้างยากบ้างแล้วแต่กรณี ซึ่งการกระจายตัวของการเปลี่ยนยังไปได้ไม่ทุกจุด การนำเสนอสิ่งต่างๆ ออกไปเพื่อให้ผู้คนรับรู้และยอมรับสิ่งนั้นจึงต้องระมัดระวัง เพราะไม่ใช่แค่สื่ออย่างเดียว มีตัวเราด้วยที่เป็นสื่อ คนส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องคนอื่นในสิ่งที่อยากเล่า เช่น กะเทยสวย กะเทยตลก เป็นสิ่งที่เราใส่กรอบให้เขา เราควรที่จะ “เล่าเรื่องเขาอย่างที่เขาเป็น” เรื่องนี้ควรเริ่มที่สื่อมวลชนก่อนที่ต้องยกเลิกการนำเสนอข่าวสาวประเภทสองที่ไปเกณฑ์ทหารแล้วเอามาทำเป็นเรื่องตลก แต่ทั้งหมดนี้ก็ควบคุมยากเมื่ออยู่ในสถานที่เกณฑ์ทหารที่เต็มไปด้วยผู้ชาย เหล่าสาวประเภทสองก็ย่อมถูกหยอกล้อเป็นธรรมดาเพราะผู้ชายไทยมีนิสัยด้านมืดในการเหยียดเพศอื่นๆ ไม่ว่าจะเหยียดเพศหญิง กะเทย เกย์ หรือเพศชายด้วยกันเอง

เขากล่าวว่า เห็นได้ว่าสังคมไทยในช่วงหลังมานี้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายเกี่ยวกับการนิยามเกี่ยวกับสาวประเภทสอง สิ่งนี้ก็ส่งผลต่อมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายเพื่อรองรับสาวประเภทสอง และขั้นตอนสุดท้ายคือทำให้สังคมเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยยังมีบรรทัดฐานแบบเก่าๆ ตกค้างอยู่ เช่น ยังมีคนบางกลุ่มล้อกะเทยว่าเป็นตัวตลก แต่คนส่วนใหญ่ก็ยอมรับกลุ่มคนที่เป็นสาวประเภทสองเป็นเหมือนคนธรรมดามากขึ้น จึงอยากจะวอนสื่อในการนำเสนอเรื่องราวของสาวประเภทสองในมุมมองที่ไม่ใช่กลุ่มคนที่แปลกหรือตลก เฮฮา

รณภูมิ สามัคคีคารมย์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ในช่วงมกราคมถึงมีนาคม ทางมูลนิธิได้รับโทรศัพท์หรือข้อความทางแฟนเพจเพื่อสอบถาม 200-300 ข้อความต่อเดือนเกี่ยวกับการเตรียมตัวเกณฑ์ทหาร บางรายเครียดมากจนถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย ทางมูลนิธิจึงต้องให้คำปรึกษา และจากการที่เราได้เก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2557-2559 มีข่าวที่กล่าวเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารทั้งหมด 72 ข่าว มี 69 ข่าวที่มุ่งเน้นไปที่สาวประเภทสอง โดยใช้คำพูด “ชายสวย” “สองกะเทยสวยเข้าเกณฑ์ทหาร” “สาวนะยะ” หรือใช้ให้โชว์บัตรประชาชนบ้าง หรือในเชิงเปรียบเทียบกับผู้หญิง เช่น “ผู้หญิงต้องอาย” “ผู้หญิงต้องยอมมอบมดลูกให้” มากกว่าเนื้อหาข่าวที่กล่าวถึงกระบวนการเกณฑ์ทหาร ซึ่งสิ่งหลักๆ ในเนื้อข่าวมีอยู่ 3 อย่างคือ 1.กะเทยคือสีสัน กระตุ้นความสนุก กระตุ้นบรรยากาศในการเกณฑ์ทหาร สร้างความชื่นใจให้กับพี่ทหาร 2.กะเทยมาเกณฑ์ทหารคือเรื่องฮือฮา เรื่องแปลก 3.สิ่งสำคัญของกะเทยที่มาเกณฑ์ทหารอยู่ที่รูปลักษณ์และร่างกาย สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้อัตลักษณ์ของสาวประเภทสองเป็นตัวตลกของทหารและเพื่อนที่มาร่วมเกณฑ์ทหาร

สุดท้าย รณภูมิ บอกว่าเมื่อเราไม่พอใจหรือโดนอะไรที่ละเมิดเราก็ควรต้องแสดงออกมา ส่วนในเรื่องคู่มือแนวการปฏิบัติของสาวประเภทสองในการเกณฑ์ทหารตอนนี้ก็ได้ปรับปรุงแล้วและวอนให้ กสทช.ช่วยเป็นสื่อในการเผยแพร่ให้ทั่วถึง

รมิดา จรินทิพย์พิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการแข่งขันและการกำกับดูแลกันเอง กล่าวว่า ตนเองมีหน้าที่ดูแลผู้รับใบอนุญาตและกำกับในด้านเนื้อหาของสื่อที่จะเผยแพร่ออกไปโดยใช้ มาตรา 37 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และในด้านจรรยาบรรณสื่อ สำนักฯ มีหน้าที่ส่งเสริมทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกันในสังคมเพื่อให้กลุ่มองค์กรสื่อแต่ละแห่งนำไปปรับใช้ในองค์กร สำหรับเรื่องการเกณฑ์ทหารนี้มีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดูแล สื่อเป็นผู้สื่อสาร และกลุ่มคนเฉพาะที่เรียกร้องสิทธิคือ สาวประเภทสอง อย่างไรก็ตาม เธอมองว่าไม่ใช่เพียงกลุ่มสาวประเภทสองเท่านั้น แต่ผู้ชายเองก็เหมือนกัน ตัวอย่างจากที่มาริโอ้ เมาเร่อ นักแสดงซึ่งเข้าเกณฑ์ทหาร ก็มีสื่อนำเสนอข่าวขณะถอดเสื้อตรวจร่างกายว่า ผิวขาว หัวนมชมพู สิ่งนี้ก็ควรคำนึงเหมือนกันเพราะเรื่องนี้เป็นสิทธิส่วนบุคคล ซึ่ง กสทช.ในฐานะคนกลาง จะเชิญสื่อต่างๆ เข้ามารับฟังและเรียนรู้ร่วมกัน

อนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 1-12 เมษายน 2560 เครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและคณะจะทำการลงพื้นที่ตามเขตต่างๆ ที่มีการเกณฑ์ทหารและตรวจสอบการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนอย่างใกล้ชิดให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง

พรรษาสิริ กุหลาบ: ความคิดเห็นไม่ควรถูกปิดกั้น-ไม่ว่าทัศนคติทางการเมืองเป็นแบบใด

Posted: 30 Mar 2017 06:00 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)


ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุการณ์ กสทช. มีมติระงับการออกอากาศช่องวอยซ์ทีวีด้วยอำนาจของกฎหมายและคำสั่ง คสช. ฉบับต่างๆ (อ่านรายละเอียดได้ที่ ดาบ โซ่ แส้ กุญแจมือ: เปิดเครื่องมือเชือด Voice TV) น่าตั้งคำถามว่าในยุคนี้ หากสื่อไร้เสรีภาพ ประชาชนจะยังมีเสรีภาพอยู่อีกหรือ?

ประชาไทพูดคุยกับ พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อวิเคราะห์ถึงภาพรวมของสถานการณ์ ร่วมกันตั้งคำถามถึงบทบาทขององค์กรสื่อและภาคประชาชน ต่อเสรีภาพและการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น
ไม่เฉพาะกับสื่อแต่ยังกระทบต่อการแสดงความเห็นในพื้นที่สาธารณะ

พรรษาสิริ อ้างถึง สุภิญญา กลางณรงค์ โพสต์ลงเฟซบุ๊คถึงกรณีนี้ว่า การระงับใบอนุญาตออกอากาศของวอยซ์ทีวีครั้งนี้ทำให้เกิด chilling effect (“ผลอันน่ากลัว” - หมายเหตุ: แปลโดยประชาไท) ต่อวงการสื่อ ที่ทำให้สื่อไม่สามารถตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐได้ (อ่านโพสต์ของสุภิญญาได้ที่นี่)

เธอให้ความเห็นว่า ส่วนตัวมองว่านี่ไม่ใช่เป็นเพียง chilling effect ต่อนักวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน แต่ยังเป็น chilling effect ในพื้นที่สาธารณะด้วย เพราะเท่าที่ประเมินคร่าวๆ ผู้ที่แสดงความเห็นคัดค้าน คำสั่งของ กสทช. เท่าที่สังเกตการณ์จากการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ ถ้าไม่เป็นองค์กรวิชาชีพสื่อ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และองค์กรสิทธิผู้บริโภค ก็จะเป็นประชาชนที่น่าจะติดตามรายการเหล่านี้และมีแนวคิดสอดคล้องกับจุดยืนของผู้ดำเนินรายการ จึงมองว่านี่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางความเห็นและเสรีภาพสื่อ

แต่ในภาพรวม สังคมหรือสื่อบางสำนักก็ไม่ได้ตั้งคำถามว่านี่เป็นการละเมิดเสรีภาพทางความเห็นหรือเสรีภาพสื่อหรือไม่ เพียงแต่รายงานว่าเป็นการผิดกฎเกณฑ์ที่ กสทช. และคสช. ตั้งไว้ แต่ไม่ได้มองว่ากฎเกณฑ์เหล่านั้นหรือกระบวนการพิจารณาและกำกับดูแลมีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด
เสรีภาพสื่อไม่ควรเกี่ยวข้องกับเรื่องทัศนคติทางการเมือง

พรรษาสิริมองว่า อาจเป็นไปได้ที่มีสื่อและประชาชนเห็นว่า การระงับใบอนุญาตวอยซ์ทีวีชั่วคราวเป็นการละเมิดเสรีภาพ แต่ก็ไม่สามารถแสดงความเห็นคัดค้านอย่างเต็มที่ เหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะวอยซ์ทีวีมีกลุ่มทุนตระกูลชินวัตรเป็นเจ้าของ และรายการที่เป็นต้นเหตุก็มีผู้ดำเนินรายการที่มักแสดงจุดยืนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารและคสช.มาตลอด การที่แสดงจุดยืนสนับสนุนวอยซ์ทีวีและคัดค้าน กสทช. ในครั้งนี้ ก็อาจทำให้ถูกมองว่าเป็น “เสื้อแดง” หรือผู้ที่ขัดขวางเส้นทางการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ได้ ทั้งๆ ที่กรณีนี้เป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่เรื่องการเมืองโดยตรง ถ้าเป็นสื่ออื่นๆ ปฏิกิริยาการคัดค้านเรียกร้องอาจแตกต่างไป

ปฏิกิริยาของสังคมแบบนี้ นำมาสู่คำถามที่ว่า เสรีภาพสื่อ = เสรีภาพประชาชน อย่างที่องค์กรวิชาชีพสื่อมักหยิบยกมาใช้จริงหรือ? ประชาชนทั่วไปใส่ใจหรือไม่กับการจอดำของสถานีหนึ่ง คนกลุ่มไหนที่รู้สึกเดือดร้อน คนกลุ่มไหนที่ไม่แยแสหรือสะใจ ถ้าคนทั่วไปไม่แคร์ ก็ไม่มีความจำเป็นที่ กสทช. และคสช. ต้องใส่ใจว่าทำเรื่องนี้ไปแล้วสังคมจะเดือดร้อน
วิเคราะห์ Voice TV กับการนำเสนอวิพากษ์วิจารณ์รัฐ

พรรษาสิริเสนอด้วยว่า เมื่อย้อนดูประวัติการ “จัดการ” กับ วอยซ์ทีวีในแต่ละครั้ง พบว่าเป็นข้อหาเดิมๆ เป็นรายการหรือผู้ดำเนินรายการคนเดิมๆ และเป็นรายการเชิงวิเคราะห์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ดำเนินรายการหรือผู้วิเคราะห์ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะเน้นข้อเท็จจริงชุดใดชุดหนึ่งเป็นพิเศษ หากเห็นว่าข้อเท็จจริงชุดนี้ไม่ได้รับการนำเสนออย่างกว้างขวางหรือให้น้ำหนักเท่าที่ควรในสื่ออื่นๆ และนำเสนอจุดยืนของตนเอง

สิ่งที่น่าสังเกตคือ หากใช้มาตรฐานในการกำกับดูแลเนื้อหาที่ระบุว่า รายการหรือผู้ดำเนินรายการเหล่านี้นำเสนอข้อมูลชุดเดียว ไม่ให้พื้นที่กับข้อมูลอื่นๆ หรือมีการแสดงความเห็นแทรกในข้อมูลที่นำเสนอซึ่งไม่แปลกสำหรับการเป็นรายการเชิงวิเคราะห์ แต่ทำไมมาตรฐานเดียวกันนี้ไม่ไปใช้กับรายการข่าวหรือเล่าข่าว ซึ่งโดยลักษณะรายการต้องนำเสนอข้อเท็จจริงโดยไม่ใส่ความเห็น แต่ก็ยังพบรายการเล่าข่าวจำนวนมากที่ผู้ดำเนินรายการใส่ความเห็นส่วนตัวลงไปหรือนำเสนอหรือย้ำข้อมูลฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากกว่า เช่นช่วงนี้ในกรณีการยิงเยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่ แต่รายการเหล่านี้กลับไม่ถูกพิจารณา นั่นเป็นเพราะรายการเหล่านี้นำเสนอความเห็นที่ไม่ตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์รัฐหรือไม่
องค์กรสื่อและสังคมควรเป็นผู้คานอำนาจกับรัฐและกสทช.

พรรษาสิริชี้ว่า กรณีนี้สะท้อนปัญหาความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการกำกับดูแลสื่อ เพราะสิ่งที่เกิดกับวอยซ์ทีวีครั้งนี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรก และทุกๆ ครั้งก็มีการเรียกร้องและวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งของ กสทช. ในทิศทางเดียวกัน แต่ก็ยังเกิดขึ้น เช่น รายงานระบุว่า คณะอนุกรรมการกำกับเนื้อหาและผังรายการเสนอให้ระงับ 3 วัน แต่ กสท. เพิ่มเป็น 7 วัน ทำอย่างนี้ ใครจะเป็นคนคานอำนาจตรวจสอบ หรืออุทธรณ์กสทช.ได้ หรือคณะอนุฯ พิสูจน์อย่างไรที่บอกว่า ข้อมูลไม่รอบด้าน ส่วนตัวจึงตั้งคำถามกับบทบาทขององค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อ และสังคม ที่หากยึดในหลักการเสรีภาพในการแสดงความเห็นและเสรีภาพสื่อ ก็ควรจะร่วมกันปกป้องวอยซ์ทีวี และเรียกร้องให้ กสทช. หรือคสช. ทบทวน เพราะสิ่งที่เกิดกับวอยซ์ทีวี อาจเกิดกับตัวเองก็ได้ถ้าเขาใช้อำนาจอย่างนี้ แต่ในทางปฏิบัติก็เข้าใจได้ว่าเหตุที่องค์กรเหล่านี้ก็ทำไม่ได้ อาจมาจากเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจ จะไปขัดใจฐานผู้ชมหรือผู้อ่านของตัวเองที่อยู่การเมืองคนละขั้วไม่ได้ ก็ต้อง self-censor ตัวเองต่อไป
สื่อควรกล้านำเสนอประเด็นสิทธิและเสรีภาพต่อไป

สิ่งที่ควรทำถ้าไม่แสดงจุดยืนเรื่องเสรีภาพสื่อและการแสดงความเห็น ก็ควรตามประเด็นที่วอยซ์ทีวี รายงาน เพราะบางเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีไหน ก็ควรจะต้องให้ความสนใจ เช่น เรื่องของชัยภูมิ ป่าแส หรือวีระ สมความคิด เพราะเกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยตรง ถ้ามองเผินๆ ก็จะไม่เกี่ยวกับการเมืองเสื้อสีอย่างชัดเจน ยกเว้นจะมีแหล่งข่าวที่ลากเข้ามาให้เกี่ยวข้อง

สื่อต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมองจากมุมเดียวกันหรือสนับสนุนสิ่งที่วอยซ์ทีวีรายงาน จะลองมองต่างหรือตรวจสอบก็ได้ เพื่อให้ประเด็นยังคงอยู่ ไม่ถูกเบี่ยงประเด็น ถ้าจะให้หายข้องใจ ควรตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และควรใช้ข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ อย่าให้ chilling effect มีผลต่อการรายงานข้อเท็จจริงในเหตุการณ์เหล่านี้
ผู้บริโภคอย่างเราก็คือผู้เสียหายเพราะขาดช่องทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

พรรษาสิริกล่าวว่า สังคมควรใส่ใจกับเรื่องการกำกับดูแลสื่อให้มากขึ้น เพราะนี่คือกลไกอันชอบธรรมที่รัฐใช้อยู่ และถ้ามองย้อนกลับไป รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็มีกลไกทางกฎหมายในการจัดการกับสื่อไม่ต่างกัน ดังนั้นถ้าเราเห็นว่า ทั้งรัฐบาล สถาบันนิติบัญญัติ องค์กรอิสระของรัฐที่ไม่ควรอยู่ใต้อำนาจรัฐ สถาบันสื่อและสถาบันอื่นๆ ในสังคมไม่สามารถสร้างกลไกการตรวจสอบและกำกับดูสื่อที่มีประสิทธิภาพ ถ่วงดุลตรวจสอบได้ และอยู่บนหลักการประชาธิปไตย ภาคประชาชนก็ต้องสร้างเอง

บทบาทขององค์กรผู้บริโภคน่าสนใจมาก เพราะไม่ได้มองจากมุมมอง 'สิทธิและเสรีภาพ' ซึ่งมักถูกนำไปโยงกับการเมือง (politicised) แต่มองในฐานะว่าผู้บริโภคเสียอะไรหากขาดช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และควร 'สู้' พร้อมทั้งเรียกร้องด้วยวิธีใหม่ๆ เพราะที่ผ่านมาก็เถียงอยู่บนประเด็นเดิมๆ ที่รัฐไม่เคยฟังและใช้ argument เดิมๆ ในการลงดาบ ความท้าทายของพลเมืองและผู้ใช้สื่อในยุคนี้ คือต้องระบุให้เป็นรูปธรรม หรือสะท้อนว่าการลงดาบอย่างนี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของรัฐอย่างไร เพราะบางเรื่องที่มีเสียงคัดค้านเยอะ รัฐมีท่าทีถอย (หรือแอบทำเงียบๆ) ถ้าไม่คอยค้าน ก็จะเจอเหตุการณ์อย่างนี้อีก

ทั้งนี้เธอได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกประเด็นย้อนกลับไปยังสภาพการณ์ทางการเมืองและสังคมในปัจจุบันว่า ความแตกต่างทางอุดมการณ์และความเชื่อทางการเมือง มีอิทธิพลต่อทุกเรื่อง ทำให้ประชาชนทั่วไป นักวิชาการ นักวิชาชีพ ไม่สามารถมองเหตุการณ์นี้ได้ด้วยหลักการ (freedom of expression/ freedom of press; transparency, participatory process) เพราะถ้าวิเคราะห์ตามหลักการเหล่านี้ได้ ก็จะมีวิธีอื่นในการจัดการและกำกับดูแลวอยซ์ทีวีที่ไม่ต้องมาถึงขั้นการระงับใบอนุญาต

TDRI หนุนสอบแข่งบรรจุครู 2 ทางคู่กัน จบศึกษาศาสตร์ทางหลัก บุคคลทั่วไปทางเสริม

Posted: 30 Mar 2017 06:15 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ศุภณัฏฐ์ นักวิจัยอาวุโส TDRI แนะเปิดรับสมัครผู้จบสาขาศึกษาศาสตร์เป็นวิธีการหลัก ส่วนบุคคลทั่วไปเป็นวิธีเสริมสำหรับพื้นที่ที่มีความขาดแคลน ช่วยเพิ่มโอกาสในการคัดเลือกคนเก่ง ชี้ผู้จบหลักสูตรศึกษาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นครูสอนดีทุกคน


30 มี.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เขียนบทความ 'ข้อคิดเห็นบางประการต่อนโยบายการคัดเลือกครูสอนดี' โดยระบุว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศการสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการครูปี 2560 โดยเปิดรับสมัครผู้จบการศึกษาจากสาขาอื่นที่ไม่ใช่ศึกษาศาสตร์ ได้เกิดข้อถกเถียงว่านโยบายนี้เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเปิดรับสมัครเฉพาะผู้จบสาขาศึกษาศาสตร์หรือไม่

ศุภณัฏฐ์ ระบุว่า ระบบการศึกษาควรมีการเปิดรับทั้งสองวิธีการควบคู่กัน โดยการเปิดรับสมัครผู้จบสาขาศึกษาศาสตร์เป็นวิธีการหลัก ส่วนการเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปเป็นวิธีเสริมสำหรับพื้นที่ที่มีความขาดแคลนครูในสาขาขาดแคลนและการสรรหาครูอาชีวศึกษาซึ่งต้องการการบริหารที่แตกต่างจากครูสายสามัญ หากไม่มีความขาดแคลนครู การเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปจะเป็นการสิ้นเปลือง เพราะต้องเพิ่มงบประมาณในการคัดเลือกและการฝึกอบรมเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การวัดความขาดแคลนครูควรพิจารณาจากจำนวนผู้สอบผ่านรายสาขาเปรียบเทียบกับความต้องการในแต่ละเขตพื้นที่ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการควรเปิดเผยต่อสาธารณะ

ศุภณัฏฐ์ เห็นว่า การเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปอาจช่วยเพิ่มโอกาสในการคัดเลือกคนเก่งและลดความขาดแคลนครูบางสาขา แต่ไม่สามารถรับประกันว่าจะได้ครูสอนดี ซึ่งหมายถึงครูที่มีความรู้ความสามารถด้านการสอนทั่วไปและการสอนในวิชาเฉพาะ เช่น ครูคณิตศาสตร์ควรสามารถวิเคราะห์สาเหตุได้ว่า ทำไมนักเรียนเข้าใจผิดว่า “0.2 x 6 มากกว่า 6/0.2” หรือหาตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่ช่วยให้นักเรียนใจความหมายของ “1¼ หารด้วย ½” ได้

การสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการในปัจจุบันยังเป็นการคัดเลือกคนเก่งเนื้อหาวิชามากกว่าครูสอนดี เพราะข้อสอบวัดเฉพาะเนื้อหาความรู้วิชาเอก ความรู้รอบตัวและความรู้เรื่องกฎหมายการศึกษา ไม่มีการทดสอบความสามารถด้านการสอนในวิชาเอก นอกจากนี้ ผู้สอบผ่านบางคนจะได้สอนนักเรียน ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการสอน โดยปัจจุบัน คุรุสภาอนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเข้าสอนได้ชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี และกำหนดเพียงว่าผู้นั้นต้องพัฒนาตนเองจนได้รับใบอนุญาตฯ ภายในระยะเวลาดังกล่าว

กรณีกระทรวงศึกษาธิการต้องการที่จะเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไป ศุภณัฏฐ์ เสนอว่าก็ควรเร่งปรับปรุงการคัดเลือก โดยเพิ่มการทดสอบความสามารถด้านการสอนด้วย และควรต้องจัดหลักสูตรเตรียมความพร้อมด้านการสอนอย่างเข้มข้น ดังกรณีตัวอย่างโครงการ Boston Teacher Residency ที่เขตพื้นที่บอสตันเปิดโครงการรับสมัครบุคคลทั่วไปเพื่อลดความขาดแคลนครูสาขาคณิตศาสตร์ โดยให้ทุนการศึกษาซึ่งช่วยดึงดูดคนเก่ง และมีการคัดเลือกผู้สมัครผ่านการทดลองสอนและการทำกิจกรรม ผู้สอบผ่านต้องเข้ารับการเตรียมความพร้อมด้านทฤษฎีก่อนเปิดภาคเรียนและต้องฝึกฝนกับครูพี่เลี้ยงในช่วงเปิดเทอม โดยการสังเกตการสอนของครูพี่เลี้ยง ผลปรากฏว่านักเรียนที่เรียนกับครูในโครงการนี้มีพัฒนาการของผลการเรียนดีกว่านักเรียนกลุ่มอื่น นอกจากนี้ ร้อยละ 86 ของครูในโครงการนี้คงทำงานสอนต่อเนื่องไปนานกว่า 3 ปี ในขณะที่ครูทั่วไปเพียงร้อยละ 53 เท่านั้นที่สอนนานกว่า 3 ปี

ศุภณัฏฐ์ เห็นว่า ผู้จบหลักสูตรศึกษาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นครูสอนดีทุกคน จากข้อมูลของโครงการทดสอบความรู้นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ปีสุดท้าย วิชาเอกคณิตศาสตร์ ในปี 2551 (The Teacher Education and Development Study in. Mathematics: TEDS-M 2008) ซึ่งมีประเทศเข้าร่วมทั้ง 17 ประเทศ นักศึกษาของคณะศึกษาศาสตร์ไทยกลุ่มเก่งที่สุด 20% แรก (TOP 20) มีผลการสอบวิชาการสอนคณิตศาสตร์เทียบเท่ากับคะแนนเฉลี่ยของนักศึกษาสิงคโปร์ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 2 ของการทดสอบ ขณะที่กลุ่มอ่อนที่สุดมีผลการสอบใกล้เคียงกับคะแนนเฉลี่ยของนักศึกษาชิลีซึ่งอยู่ในอันดับสุดท้าย

นอกจากนี้ โครงการทดสอบนานาชาติ TIMSS 2011 (Trends in International Mathematics and Science Study) ยังพบด้วยว่า ในปี 2554 ร้อยละ 55 ของนักเรียน ม.2 ของไทย ซึ่งเรียนกับครูรุ่นใหม่ (ประสบการณ์การสอนน้อยกว่า 5 ปี) ถูกสอนให้จําสูตรและวิธีการทําโจทย์เป็นหลักทุกคาบเรียนมากกว่าได้รับการสอนให้เข้าใจเนื้อหาจริงๆ

คณะศึกษาศาสตร์ในประเทศไทยควรปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานของตนด้วยเช่นกัน ตั้งแต่การรับนักศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ที่บางแห่งรับนักศึกษามากเกินความสามารถในการดูแล หลักสูตรที่คุรุสภากำหนดยังไม่มีกลุ่มวิชาการสอนในวิชาเฉพาะ ทั้งที่ประเทศที่มีระบบการศึกษาคุณภาพสูงให้ความสำคัญมาก เช่น มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิในประเทศฟินแลนด์มีกลุ่มวิชานี้ประมาณร้อยละ 21 ของหน่วยกิตทั้งหมด และการฝึกประสบการณ์วิชาชีพยังขาดการบริหารจัดการที่ดี โดยโครงการ TEDS-M 2008 ได้สำรวจพบว่ามากกว่าครึ่งของนักศึกษาไม่ได้รับการดูแลจากครูพี่เลี้ยง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงเรียนและครูพี่เลี้ยงไม่มีความพร้อมและมีภาระงานหนักอยู่แล้ว ปัญหาเหล่านี้น่าจะแก้ไขได้โดยการปรับปรุงหลักสูตรและการตั้งโรงเรียนเพื่อทำหน้าที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพโดยเฉพาะ

ศุภณัฏฐ์ ระบุอีกว่า คุรุสภาควรเพิ่มความเข้มแข็งในการกำกับดูแลคุณภาพผู้จบการศึกษาและคณะศึกษาศาสตร์ โดยการสอบเพื่อออกใบอนุญาตฯ ที่จะเริ่มในปี 2561 ควรมีการทดสอบความสามารถด้านการสอนในวิชาเฉพาะด้วย นอกจากความรู้ด้านเนื้อหาวิชาและการสอนทั่วไป และการประเมินหลักสูตรของคณะศึกษาศาสตร์ควรพิจารณาผลการสอบเพื่อออกใบอนุญาตและผลการสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการครูร่วมกับตัวชี้วัดอื่นด้วย ซึ่งในกรณีผลประเมินต่ำ ควรให้คณะศึกษาศาสตร์นั้นลดจำนวนการรับนักศึกษาในปีต่อๆ ไป

ความร่วมมือระหว่างฝ่ายกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นผู้กำกับโรงเรียน และคณะศึกษาศาสตร์และกลุ่มครู เป็นปัจจัยสำคัญต่อการปฏิรูประบบการบริหารบุคลากรทั้งกระบวนการ การปฏิรูปการฝึกหัดและการคัดเลือกครูเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน แต่ควรพิจารณาข้อมูลต่างๆ ประกอบอย่างรอบด้าน เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยยึดผลประโยชน์ของนักเรียนเป็นสำคัญ

ไผ่ ดาวดินเผยช่วงนี้อ่าน 'ข้างหลังภาพ' เล่มต่อไปเล็ง 'ปีกหัก' ของคาลิล ยิบราล

Posted: 30 Mar 2017 07:18 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ไผ่ ดาวดิน ซึ่งถูกคุมขังระหว่างรอพิจารณาคดี ม.112 แชร์ข่าวบีบีซี เผยว่าระหว่างนี้เขากำลังอ่าน "ข้างหลังภาพ" ซึ่งถึงตอนที่กำลังดราม่า หลังจากนั้นจะอ่าน "ปีกหัก" ของคาลิล ยิบราน และเล็งๆ หลายเล่มของ 'รงค์ วงศ์สวรรค์

พร้อมให้กำลังใจนักกิจกรรม ใครชัดเจน-พร้อมเรื่องไหนก็ทำได้เลยไม่ต้องรอปรึกษากัน-เชื่อมั่นประชาชนเปลี่ยนแปลงได้ ตัวเขาก็เคยเห็นด้วยกับ รปห. 49 และใช้เวลาหลายปีกว่าจะรับรู้ผลร้ายของรัฐประหาร

30 มี.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากบุคคลใกล้ชิดที่ได้เข้าเยี่ยม จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ที่เรือนจำจังหวัดขอนแก่น ซึ่งจตุภัทร์เปิดเผยสภาพความเป็นอยู่ในระหว่างถูกคุมขังรอการพิจารณาคดีที่จะเริ่มในเดือนสิงหาคมนี้ว่า เขากำลังอ่านวรรณกรรม "ข้างหลังภาพ" ผลงานของศรีบูรพาอยู่ "ถึงตอนที่ นพพร กลับมาเมืองไทยแล้ว กำลังดราม่า"

โดยเขากล่าวด้วยว่า หนังสือเล่มต่อไปที่ตั้งใจอ่านคือ "ปีกหัก" ผลงานของคาลิล ยิบราน และเล่มต่อๆ ไปจะอ่านหนังสือหลายเล่มที่เป็นผลงานของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์

ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยสภาพการเข้าเยี่ยมจตุภัทร์ในปัจจุบันว่า เป็นการเข้าเยี่ยมในห้องเยี่ยมปกติเหมือนนักโทษทั่วไปแล้ว และมีเวลาเยี่ยมจำกัดเพียง 15 นาที ต่างจากแต่ก่อนที่เรือนจำให้เยี่ยมได้นานกว่านี้

อนึ่ง จตุภัทร์ยังระบุถึงผู้ที่จะทำกิจกรรมให้กับเขาว่า อยากให้เป็นการเคลื่อนไหวอิสระ ถ้าชัดเจนในหลักการเล้ว ใครมีความพร้อม มีความถนัดด้านไหนก็ทำได้เลย โดยไม่ต้องรอปรึกษากันเพราะว่าใช้เวลาเยอะ และบางทีอาจไม่มีข้อสรุป

"เราคาดหวังกับกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ เราจึงมาคาดหวังต่อขบวนการเคลื่อนไหวที่จะทำให้สิทธิมนุษยชนดีขึ้น แต่ในเมื่อขบวนการเคลื่อนไหวก็ซบเซาเป็นแบบนี้ อยากเสนอให้พวกเราใจเย็น ให้ประชาชนได้เก็บรับบทเรียน"

เขากล่าวด้วยว่า ผู้คนอยู่ในยุคสมัยที่ทหารเข้ามาทำหน้าที่จับคนบนเฟซบุ๊ก ศาลก็ไร้เหตุผลในด้านสิทธิผู้ต้องขังในการพิจารณาคดีของเขา

"คิดดูว่าในปี 49 ผมก็ยังเห็นด้วยกับการรัฐประหาร ใช้เวลาหลายปีกว่าที่ผมจะได้เห็นถึงผลร้ายของมัน ผมคิดว่าประชาชนคนอื่นๆ ก็น่าจะเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ามีเวลาได้รับรู้ถึงความเลวร้ายของการรัฐประหารเหมือนอย่างผม"

สำหรับการไต่สวนคดี 'ไผ่ ดาวดิน' จะเริ่มต้นนัดแรกในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ โดยกำหนดสืบพยานโจทก์วันที่ 3, 4, 15,16, 17 สิงหาคม 2560 และสืบพยานจำเลยวันที่ 30, 31 สิงหาคม และ 5, 6, 7 กันยายน 2560 ฝ่ายอัยการยื่นบัญชีพยาน 17 ปาก รวมทั้ง พล.ท.พิทักษ์พล ชูศรี ผู้แจ้งความดำเนินคดี ซึ่งจะเบิกคำให้ปากแรกในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ นอกจากนี้ยังมีเจ้าพนักงานผู้ทำการจับกุม ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต และผู้ชำนาญการด้านภาษา

ในส่วนของจำเลย ทนายระบุจะมีพยานจำนวน 15 ปาก แบ่งเป็นเพื่อนผู้รู้จักคุ้นเคยและเคยทำกิจกรรมร่วมกับไผ่ ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา โดยทนายความให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากการสืบพยานเป็นไปตามนัดหมาย ไม่มีการเลื่อนใดๆ น่าจะมีการอ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นภายในไม่เกิน 2 เดือน หรือไม่เกินเดือนพฤศจิกายน

อนึ่งเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานเพื่อนัดหมายการสืบพยาน ทั้งนี้ทนายความจำเลยยังได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักทรัพย์ 700,000 บาท แต่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่าคดีนี้เป็นคดีความมั่นคง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เคยมีคำสั่งมาแล้วและยังไม่เหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม



อดีตรองเลขา สปสช. อัด 'พาณิชย์' เมินควบคุมราคายาปล่อยประชาชนถูกเอาเปรีย

Posted: 30 Mar 2017 08:46 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

อดีตรองเลขาธิการ สปสช.อัดกระทรวงพาณิชย์เมินควบคุมราคายา ปล่อยให้ประชาชนถูกเอาเปรียบ ชี้หลังทำซีแอลประหยัดงบจัดซื้อยาได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท ยืนยัน สปสช.แทรกแซงกระบวนการจัดซื้อยาเฉพาะยาที่คนไทยถูกเอาเปรียบ เช่น ยาราคาแพง ยาโรคเอดส์ ไตวายเรื้อรัง คิดสัดส่วนแล้วเพียง 4.9 %


เนตรนภิส สุชนวนิช อดีตรองเลขาธิการ สปสช.

30 มี.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า เนตรนภิส สุชนวนิช อดีตรองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยในงานเสวนา “บทเรียน 10 ปีซีแอลและการเข้าถึงยาจำเป็น” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า หลักการจัดซื้อยาของ สปสช.มีอยู่ 3 เรื่องไม่ว่าจะถูกจำกัดงบประมาณรายหัวอย่างไรก็ตาม คือ 1.ต้องทำให้คนเข้าถึงยาตามความจำเป็น 2.ยาที่เข้าถึงต้องเป็นยาที่มีคุณภาพ และ 3.มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งการตัดสินใจซื้อยาต้องมีการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ก่อน โดยอ้างอิงจากบัญชียาหลักแห่งชาติ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อรองราคา แล้วถึงเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อ ขณะเดียวกัน ในกระบวนการจัดซื้อก็จะเน้นเรื่องคุณภาพ โดยกำหนดในทีโออาร์ว่าจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพจาก Third Party หรือหากยาบางตัวไม่มีห้องแล็ปในเมืองไทยก็ต้องส่งไปตรวจสอบที่ต่างประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของผลที่เกิดจากการประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (ซีแอล) เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาคือทำให้ต้นทุนราคายาที่ สปสช.จัดซื้อลดลงอย่างมโหฬาร เช่น ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ยารักษาโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจอุดตัน จากราคา 70 บาท แต่ทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถจัดซื้อได้เพียง 90 สตางค์เท่านั้น เฉพาะยาตัวนี้ช่วยประหยัดงบประมาณไปได้ 500-600 ล้านบาท และหากนับรวมยาทุกตัวในช่วงปี 2551-2553 สปสช.ประหยัดงบประมาณการจัดซื้อยาไปได้ 2,000-3,000 ล้านบาท และในช่วงปี 2553-2557 ประหยัดได้อีกกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งเงินที่ประหยัดได้นี้บางส่วน สปสช.เอามาพัฒนาระบบการจัดการเรื่องยาต้านพิษ และเซรุ่มพิษงู เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยา และ รพ.ได้ใช้ยาเพื่อรักษาผู้ป่วยในทันที เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคำพูดที่กล่าวว่า สปสช.แทรกแซงกระบวนการจัดซื้อยาของประเทศ ซึ่งต้องบอกว่า สปสช.แทรกแซงเฉพาะยาที่คนไทยถูกเอาเปรียบ เช่น ยาราคาแพง ยาโรคเอดส์ ไตวายเรื้อรัง คิดสัดส่วนแล้วเพียง 4.9 % ของเงิน 1.45 แสนล้านบาทที่ไทยจัดซื้อยาเข้ามาในประเทศ

“ซีแอลเป็นอะไรที่คนมีความรู้สึกว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐ แต่การใช้อำนาจรัฐก็มีความจำเป็นหากไม่ได้รับความร่วมมือในการเข้าถึงยาสำหรับคนที่จำเป็นต้องใช้” เนตรนภิส กล่าว

เนตรนภิส กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ก็ไม่ได้อาศัยแค่ซีแอลอย่างเดียว พัฒนาการในเรื่องนี้เริ่มตั้งแต่ระบบการจัดซื้อรวมในปี 2547 จากนั้นมีการทำซีแอลในปี 2550 มีการจัดทำบัญชียา จ2 ในปี 2551 รวมทั้งกระบวนการเจรจาต่อรองราคาในปี 2554 อย่างไรก็ดี การควบคุมราคายาผ่านกลไกเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอ ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ไม่ได้ควบคุมใดๆ เกี่ยวกับยาที่เข้ามาในประเทศไทยเลย ปล่อยให้กลไกราคายาเอาเปรียบประชาชนผู้บริโภค ยาบางตัวขายในร้านยา 70 บาท แต่ขายในโรงพยาบาลเอกชน 500 บาท โดยไม่มีการต่อสู้ใดๆ จากกระทรวงพาณิชย์ทั้งสิ้น

“พอถามก็บอกว่าขายตามราคาหน้ากล่อง ซึ่งหน้ากล่องจะเขียนเท่าไหร่ก็ได้ แล้วกระทรวงพาณิชย์รู้ได้อย่างไรว่าราคาหน้ากล่องเป็นราคาที่เหมาะสม ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ยังทำไม่ได้ก็คงต้องขอฝาก ซึ่งจริงๆก็ฝากมานานแล้ว ว่าท่านต้องเข้ามาควบคุมดูแลเรื่องนี้” เนตรนภิส กล่าว

อัจฉรา เอกแสงศรี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ราคายาหลังจากทำซีแอล ทาง อภ.สามารถจัดหายาในราคาที่ลดลงจากยาต้นแบบประมาณ 60% เช่น ยาโดซีแท็กเซล (Docetaxel) รักษาโรคมะเร็ง, ยาเลทโทรโซล (Letrozole) รักษาโรคมะเร็งเต้านม ราคาลดลงมากว่า 60% โดยเฉพาะยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) รักษาโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจอุดตัน ลดลงถึง 90% ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถนำเงินที่ประหยัดได้ไปซื้อยาได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน การประกาศใช้มาตรการซีแอลยังทำให้บริษัทยาชื่อสามัญที่สามารถผลิตยาเหล่านี้ได้ นำเข้าและจดทะเบียนยาเพื่อจำหน่ายมากขึ้นอีกด้วย

แอมเนสตี้ฯ โวยเสรีภาพในฮ่องกงสั่นคลอน หลังตำรวจเตรียมตั้งข้อหาผู้นำ 'ปฏิวัติร่ม'

Posted: 30 Mar 2017 09:31 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ตำรวจฮ่องกงเตรียมแจ้งข้อหานักกิจกรรม 'ปฏิวัติร่ม' เมื่อปี 2557 หลายคน แอมเนสตี้ห่วงเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบถูกสั่นคลอน


เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แจ้งว่า ทาง แอมเนสตี้ฯ พบว่าเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบในฮ่องกงกำลังถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง หลังตำรวจได้แจ้งไปยังผู้นำหลายคนของ “การปฏิวัติร่ม” เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2557 ให้เข้าไปรายงานตัวเพื่อแจ้งข้อหา

รายงานดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจาก แคร์รี แลม ถูกแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกงโดยคณะกรรมการ 1,200 คนที่เลือกโดยรัฐบาลจีน นักกิจกรรมที่ได้รับการแจ้งว่าจะถูกตั้งข้อหารวมไปถึงนักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย และสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงที่เข้าร่วมการเรียกร้องประชาธิปไตยด้วย

“การมุ่งคุกคามนักกิจกรรมคนสำคัญในการปฏิวัติร่มแสดงถึงความถดถอยของเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบในฮ่องกง การกระทำดังกล่าวเป็นภัยต่อเสรีภาพที่เข้มแข็งในฮ่องกงและมีแต่จะเพิ่มความตึงเครียดทางการเมือง” มาเบล โอ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮ่องกง กล่าว

อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮ่องกง ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการตั้งข้อหาต่อนักกิจกรรมในครั้งนี้อาจมีแรงจูงใจทางการเมือง เพราะการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน แต่กลับเพิ่งมาแจ้งข้อหาในช่วงที่แคร์รี แลมได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการคนใหม่


2 ศพรือเสาะ 'กอ.รมน.' แจงเกิดยิงปะทะ จนวิสามัญฯ น้องผู้ตายยันทั้งคู่ไม่มีอาวุธ

Posted: 30 Mar 2017 09:36 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

กอ.รมน. แจงเกิดยิงปะทะ จนวิสามัญฯ 2 ราย โยงยิงรถรับส่งนักเรียนต้นเดือน พร้อมแสดงความเสียใจกับครอบผู้เสียชีวิต ด้านน้องผู้ตายที่รอดจากเหตุการณ์ ยันกับวารตานีว่าทั้งคู่คนไม่มีอาวุธ ระหว่างลงจากรถก็เห็นชัดเจนว่าทุกคนมือเปล่า

30 มี.ค.2560 ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา เวลา 13.30 น. เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการข่าวทหาร และเจ้าหน้าที่ทหารพราน สังกัดกรมทหารพรานที่ 46 ได้เรียกตรวจรถยนต์ของบุคคลต้องสงสัย และเกิดยิงปะทะกัน ซึ่งจุดเกิดเหตุอยู่ในเขตรอยต่อระหว่างบ้านไอร์จือนะห์ หมู่ 5 กับบ้านธรรมเจริญ หมู่ 6 ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ส่งผลให้ผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต 2 ราย ตรวจสอบเบื้องต้นทราบชื่อคือ อิสมาแอ หามะ อายุ 28 ปี กับ อาเซ็ง อูเซ็ง อายุ 30 ปี ทั้งคู่มีภูมิลำเนาอยู่ใน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส นอกจากนี้บริเวณที่เกิดเหตุพบอาวุธสงคราม และอาวุธปืนพกขนาด 9 มม. ตกอยู่อย่างละ 1 กระบอก

พ.ต.อ.เรืองศักดิ์ บัวแดง ผู้กำกับการ สภ.รือเสาะ กล่าวว่า จากการตรวจสอบประวัติของ อาเซ็ง พบว่ามีหมายจับคดีความมั่นคง 3 คดี และทั้งสองคนเกี่ยวข้องกับคดีกราดยิงรถของ สมชาย ทองจันทร์ จนมีผู้เสียชีวิต 4 ศพ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา
น้องผู้ตายที่ติดรถมาด้วย ยันทั้ง 2 ไม่มีอาวุธ

ขณะที่ สำนักสื่อวารตานี (Wartani) ที่ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ครอบครัวและน้องสาวผู้เสียชีวิตที่อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งรถกระบะคัยเกิดเหตุ มีผู้ร่วมเดินทางทั้งหมด 3 คน ประกอบด้วยผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย และ น.ส.เอ (นามสมมุติ) อายุ 15 ปี ซึ่งกำลังศึกษาอยู ม.3 และเป็นน้องสาวของอิสมาแอ โดยเธอเล่าว่า พี่ชายซึ่งเพิ่งจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีได้เพียงปีเศษและได้กลับมาอยู่บ้านนั้น ต้องการจะไปพบปะกับเพื่อนๆ และได้มาชวนตนไปและตนก็รับปากไปด้วย โดยออกจากหมู่บ้านในเวลาประมาณ 13.00 น. โดยระหว่างอกไปได้มี อาเซ็ง อูเซ็ง อายุ 30 ปี จะขออาศัยไปด้วย บอกว่าจะลงระหว่างทาง และพี่ชายได้ตอบรับเพื่อจะไปส่ง

น้องสาวของอิสมาแอ เล่าต่อว่า มาถึงบริเวณที่เกิดเหตุสังเกตว่ามีรถยนต์คันหนึ่งตามติดและเบียดรถตน พี่ชายซึ่งเห็นความผิดปกติแล้วได้ประคองรถ แต่รถคันดังกล่าวก็ปาดหน้า จนทำให้พี่ชายเบรกเพื่อหยุดรถ จากนั้นมีชายถือปืน โดยตนไม่ได้สังเกตว่ามีกี่คนลงมาจากรถคันดังกล่าว พร้อมตะโกนให้ยกมือ และลงจากรถ พร้อมกับอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ พวกตนจึงลงจากรถ แต่แล้วก็มีชายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ดึงตัวตนออกไปหลังรถกระบะ ประมาณระยะนึงแล้วให้หันหลัง ระหว่านั้นตนได้เห็นเจ้าหน้าที่อีกส่วนหนึ่งอยู่กับพี่ชายและอาเซ็ง จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้น ทำให้ตนตกใจมาก จึงหันกลับไปเห็นว่าอาเซ็งถูกยิงล้มลง แต่พี่ชายยังไม่เป็นไร แล้วจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็บอกให้ตนหันหลังกลับไปอีกครั้ง สักพักจึงได้ยินเสียงปืนอีกครั้งหนึ่่ง ด้วยความตกใจจึงหันไปดู แต่เจ้าหน้าที่ก็ดึงตัวตนขึ้นรถพาตัวไป ฉก.รือเสาะ ก่อนที่จะพาไปโรงพัก แล้วจึงพากลับบ้านกลับถึงบ้านเวลา 23:00 โดยประมาณ

น้องสาวของอิสมาแอ ได้ยืนยันกับสำนักสื่อวาร์ตานี ว่า อาเซ็งและนาย อิสมาแอ ไม่มีอาวุธ และระหว่างลงจากรถก็เห็นชัดเจนว่าทุกคนมือเปล่า
กอ.รมน. แจงเกิดยิงปะทะ จนวิสามัญฯ 2 ราย โยงยิงรถรับส่งนักเรียนต้นเดือน


พ.อ.ยุทธนาม เพชรม่วง รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า

ไทยพีบีเอส รายงานด้วยว่า พ.อ.ยุทธนาม เพชรม่วง รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ชุดปฏิบัติการข่าว กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สนธิกำลังทหารพรานที่ 46 ตั้งด่านตรวจจุดสกัด บนถนนภายในหมู่บ้าน บ้านตะบิงรูโต๊ะ ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส จนเกิดการยิงปะทะกับกลุ่มคนร้าย จนวิสามัญฆาตกรรม 2 คน คือ อิสมาแอ และอาเซ้ง พร้อมยึดอาวุธได้จำนวนหนึ่ง เมื่อวานนี้( 29 มี.ค.)

ทั้งนี้จากการตรวจสอบประวัติของผู้เสียชีวิต มีคดี ป.วิอาญา และคดีความมั่นคง ของศาลจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดยะลา นอกจากนี้ อาวุธที่ยึดมาได้ ตรวจสอบเป็นปืนที่ยึดมาได้การลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ในตำบลวังพญา และลอบยิงตำรวจสถานีตำรวจภูธรโกตาบารู เมื่อปี 2556

รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า นอกจากนี้ ยังพบว่า เป็นคนลอบยิง สมชาย ทองจันทร์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านธรรมเจริญ ต.โตกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ขณะขับรถยนต์ส่งลูกไปโรงเรียน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา พร้อมขอแสดงความเสียใจกับครอบผู้เสียชีวิตทั้งสองคนด้วย ซึ่งการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ ในการติดตามจับคนร้ายมาดำเนินคดี แต่ผู้เสียชีวิตทั้งสองคน ไม่ยอมให้มีการจับและยังยิงต่อสู้ เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องใช้อาวุธประจำตัวยิงตอบโต้เพื่อป้องกันตัว


องค์การแรงงานระหว่างประเทศจวกไทยใช้แรงงานทาสทำประมง

Posted: 30 Mar 2017 11:51 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ของสหประชาชาติ ออกรายงานวิจารณ์ไทยอย่างหนักกรณียังมีเรือประมงใช้แรงงานทาส มีเหตุสังหารคนงาน ทำร้ายร่างกาย ใช้แรงงานวันละ 20 ชั่วโมง และไม่มีค่าจ้าง ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นไทยถูกนานาชาติวิจารณ์มานานและเสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรการส่งออกอาหารทะเล



ที่มาของภาพประกอบ: รายงานหน้าแรกของ ILO เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560

องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานของสหประชาชาติออกรายงานเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ซึ่งระบุว่าประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการสังหาร การค้ามนุษย์ และบังคับใช้แรงงานทาสที่เป็นแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมการประมงในไทยได้ แม้ว่าจะมีการออกกฎหมายใหม่จากรัฐบาลก็ตาม (อ่านรายงานที่นี่)

เดอะการ์เดียนระบุว่าน้อยครั้งที่จะมีการตัดสินในเชิงวิพากษ์วิจารณ์จากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานของยูเอ็น โดย ILO เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาการกดขี่แรงงานประมงในน่านน้ำไทยมาก่อนแล้วหลังจากที่สหภาพแรงงานนานาชาติเคยร้องเรียนในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการเมืองปีที่แล้ว ซึ่งมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าคนงานข้ามชาติถูกใช้แรงงาน 20 ชั่วโมงต่อวัน ถูกทำร้ายร่างกายและไม่มีค่าจ้างที่จ่ายเป็นเงิน

หลักฐานดังกล่าวมาจากสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) และสมาพันธ์สหภาพแรงงานนานาชาติ (ITUC) ส่งให้ ILO โดยที่ ITF ทำการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ลูกจ้างทั้งชาวไทยและผู้อพยพตั้งแต่ในปี 2558

นักกิจกรรมแสดงการตอบรับเป็นอย่างดีที่ ILO ออกมาเรียกร้องในเรื่องนี้ เนื่องจากมีหลักฐานเพิ่มเติมว่าทางการไทยมความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหานี้น้อยมากแม้ว่าจะมีการกดดันจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา

จากหลักฐานเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ระบุว่ามีคนงานถูกจับขังและให้ทำงานจับสัตว์น้ำอย่างผิดกฎหมายในน่านน้ำอินโดนีเซียแม้ว่าจะต้องเงินค่านายหน้าเพื่อเข้าทำงานจำนวนมาก มีลูกจ้างรายหนึ่งถูกไต้ก๋งเรือทุบตีและถูกล่ามคอไว้กับเรือหลังจากที่เขาพยายามหลบหนี มีคนงานจำนวนหนึ่งบอกว่าเขาเห็นเพื่อนคนงานถูกไต้ก๋งฆ่าตาย มีคนงานชาวกัมพูชารายหนึ่งถูกยิงเสียชีวิต มีชาวประมงไทย 4 ราย ถูกสังหารด้วยการโยนลงทะเล นอกจากนี้คนงานยังบอกว่าพวกเขาถูกผูกมัดด้วยการเป็นแรงงานขัดหนี้ ทำให้พวกเขาต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ต้องทนเห็นไต้ก๋งเรือทารุณทางกายกับลูกเรือคนอื่น แล้วยังต้องทำงาน 20 ชั่วโมงต่อวันโดยที่ได้รับอาหารจำกัด

เรื่องราวคล้ายกันนี้ยังเคยถูกนำเสนอในเดอะการ์เดียนมาแล้วตั้งแต่ปี 2557 นอกจากนี้รายงานของรัฐบาลไทยเองยังมีการพูดถึงการกดขี่แรงงานบนเรือไทยที่ซายา เดอ มัลฮา ที่มีคนงานประมงจำนวนมากถูกใช้แรงงานในแบบที่ผิดกฎหมายแรงงานและกฎหมายผู้อพยพ กรีนพีซเคยรายงานถึงเรื่องนี้ว่าคนเหล่านี้ถูกซื้อตัวจากการค้ามนุษย์และถูกบังคับให้ใช้แรงงานโดยได้พักแค่ 4 ชั่วโมงต่อวัน มีลูกเรือบางคนบอกว่าพวกเขาต้องอยู่กับท้องทะเลมาตลอด 5 ปี ติดต่อกัน

แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ที่ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่มีมูลค่ากว่า 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นอันดับ 4 ของโลกแต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การละเมิดสิทธิแรงงาน และการประมงอย่างผิดกฎหมาย ไทยถูกลดระดับจากสหรัฐฯ ในเรื่องการค้ามนุษย์และถูกสหภาพยุโรปให้ใบเหลืองในปี 2558 เพื่อเตือนให้ไทยแก้ไขปัญหานี้มิเช่นนั้นอียูจะงดนำเข้าจากไทย

แม้ว่ารัฐบาลไทยจะพยายามปฏิรูปและออกกฎหมายใหม่เพื่อแก้ไขเรื่องนี้แต่ ILO ก็เน้นย้ำว่าพวกเขายังแก้ปัญหาได้ไม่ดีพอ มีช่องโหว่เรื่องกรอบกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ในแง่ของการกำกับดูแลนายหน้าจัดหาแรงงาน การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทุจริต และการตรวจสอบเรืออย่างมีประสิทธิภาพ

สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนแถลงว่าทางการไทยให้ความร่วมมือกับการสืบสวนสอบสวนของ ILO เป็นอย่างดีและ ILO ก็เล็งเห็นความพยายามของไทยในการแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมง ทางการไทยบอกว่าการทำงานของพวกเขามีความก้าวหน้าขึ้นแล้วในเรื่องที่ ILO หลังจากมีการร้องเรียน

อย่างไรก็ตาม จอห์นนี ฮานเซน ประธานฝ่ายประมงของ ITF เปิดเผยว่าถึงแม้ทางการไทยจะมีความคืบหน้าแต่ก็ยังอีกไกลถึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงได้ ทางด้านตีฟ เทรนต์ จากมูลนิธิเพื่อความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมกล่าวว่ารัฐบาลไทยดำเนินเรื่องการบังคับใช้แรงงานอย่างไม่ปะติดปะต่อ มีแค่การบังคับใช้กฎหมายลงโทษจำคุกคนค้ามนุษย์ที่ท่าเรือที่ อ.กันตัง จ.ตรัง แต่ก็ยังคงมีการทำธุรกิจเถื่อนใช้แรงงานทาสอยู่เนื่องจากการทุจริต

อานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิมนุษยชนที่ออกจากประเทศไทยหลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีก่อนหน้านี้กล่าวว่าในไทยไม่เพียงแค่มีกรณี การใช้แรงงานทาสในเรือประมงเท่านั้น แต่ในฟาร์มไก่ สวนยาง โรงงานส่งออกเนื้อไก่กับอาหารทะเลขนาดใหญ่ โรงงานส่งออกเครื่องมือการแพทย์อย่างถุงมือยาง หรือในโรงงานส่งออกพืชผลไม้ ก็ยังมีกรณีเช่นนี้



เรียบเรียงจาก

Thailand accused of failing to stamp out murder and slavery in fishing industry, The Guardian, 30-03-2017


นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เปิดเผยหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.มีมติถอดถอน นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่า ไม่ตกใจกับผลการลงมติ ถอดถอนนายสุรพงษ์ รวมถึงประเด็น ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติบางคน ออกมากล่าวหาว่าถูก นายเรืองไกร ข่มขู่

นายเรืองไกร ย้ำว่า ล่าสุดอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อฟ้องประธาน สนช. และ สมาชิก สนช.ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 123/1 และมาตรา 157 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพราะกระบวนการถอดถอน นายสุรพงษ์เมื่อวานที่ผ่านมา ปรากฏชัดว่า มีสมาชิก สนช. อยู่ในห้องประชุม ไม่ถึง 50 คน หรือไม่ถึงกึ่งหนึ่งขององค์ประชุม ซึ่งถือว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 13 ฉบับชั่วคราวปี 2557

นายเรืองไกร กล่าวว่า สมาชิก สนช.จะอ้างเหตุว่าไปประชุมกับคณะกรรมาธิการ หรืออยู่ภายนอกห้องประชุมไม่ได้เพราะ มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 2, 3, 4/2559 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งชัดเจนว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ สมาชิก สนช.หรือสมาชิกรัฐสภา ต้องอยู่ภายในห้องประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง จะอ้างเหตุว่า มาประชุมลงชื่อ เพื่อขอเปิดประชุมตามข้อบังคับ การประชุม แล้ว ออกนอกห้องประชุม เกินกึ่งหนึ่งไม่ได้

โดยนายเรืองไกร จะดำเนินการ ฟ้องร้องทางอาญาทั้ง ในส่วนที่สมาชิก สนช. ดำเนินการประชุมขัดรัฐธรรมนูญ และประเด็น ที่สนช.หมิ่นประมาท โดยอ้าง ว่านายเรืองไกรมีท่าที ข่มขู่ คุกคาม ซึ่งอาจทำให้ นายเรืองไกรได้รับความเสียหาย

source :- https://goo.gl/1odXKN


"นกแอร์" ออกแถลงการณ์แจงเหตุเชิญผู้โดยสารลงจากเครื่องบิน ยืนยันไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดง ลั่นพร้อมคืนเงินทุกบาท!!

สายการบินนกแอร์ ได้ออกแถลงการณ์ว่า ด้วยเที่ยวบินของสายการบินนกแอร์ เที่ยวบินที่ DD9202 กำหนดเวลาออกจากท่าอากาศยานดอนเมือง เวลา 10.00 น. และมีกำหนดถึงท่าอากาศยานอุดรธานี เวลา 11.15 น. มีผู้โดยสารทั้งหมด 149 คน มีความจำเป็นต้องยกเลิกการเดินทางของคุณยศวดี ปานเหง้า หนึ่งในผู้โดยสารของเที่ยวบินนี้ เนื่องจากผู้โดยสารได้แจ้งลูกเรือในขณะที่เครื่องยังไม่ออกเดินทางว่า ตนมีอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน โดยลูกเรือได้ปฏิบัติตามหลักมาตรฐานความปลอดภัยในการขออนุญาตตรวจสอบเอกสารใบรับรองจากแพทย์ เพื่อยืนยันว่าผู้โดยสารสามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้อย่างปลอดภัย แต่ผู้โดยสารไม่มีเอกสารดังกล่าวมายืนยัน พร้อมทั้งไม่ยินยอมที่จะลงนามรับรองการเดินทางของตนเอง ทางกัปตันผู้ควบคุมอากาศยาน จึงตัดสินใจยกเลิกการเดินทางของคุณยศวดี โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร ในระหว่างการเดินทางเป็นสำคัญ

แหล่งข่าวจากสายการบินนกแอร์ เปิดเผยว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบสากลของสายการบินทั่วโลก ถ้าหากผู้โดยสารมีอาการป่วย จะต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ระบุชัดเจนว่าสามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้มาแสดงด้วย แต่หากผู้โดยสารมีอาการป่วยแต่ไม่ยอมแจ้ง ก็จะเป็นอันตรายกับผู้โดยสารเองได้ ส่วนกรณีการคืนเงินค่าตั๋วโดยสารนั้น ทางสายการบินนกแอร์ไม่ได้มีปัญหา หรือขัดข้องอะไร ยินดีคืนเงินทุกบาทให้อยู่แล้ว แต่ขณะนี้ผู้โดยสารยังไม่ได้ติดต่อขอคืนเงินมาแต่อย่างใด



เว็บไซต์มิร์เรอร์ของอังกฤษรายงานความคืบหน้าของ อเล็กซานดรา เคเฟรน สาววัย 18 ปี จากประเทศโรมาเนีย ที่ประกาศประมูลพรหมจรรย์ ทางรายการโทรทัศน์ของอังกฤษ เมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ว่า หนุ่มเศรษฐีชาวฮ่องกง ที่ไม่เปิดเผยชื่อเสียงเรียงนาม ทุ่มเงินมากถึง 2.3 ล้านยูโร หรือมากกว่า 85 ล้านบาท โดยฝ่ายหญิงพอใจกับมูลค่าและยินยอมขายพรหมจรรย์ให้แล้ว


น.ส.อเล็กซานดรา ประกาศขายพรหมจรรย์ ทาง ซินเดอเรลลา เอสคอร์ตส์ ซึ่งเป็นธุรกิจผู้เชี่ยวชาญในการขายพรหมจรรย์ของสตรี ก่อนหน้านี้ เปิดเผยกับรายการโทรทัศน์ว่า ได้รับแรงบันดาลใจเมื่ออายุ 15 ปี จากภาพยนตร์ “ข้อเสนอที่รักนี้มิอาจกั้น” (Indecent Proposal) จนแฟนรายการถึงกับช็อก


“บางทีดิฉันทำแบบนี้ได้ด้วยพรหมจรรย์ของตัวเอง มองหาในอินเตอร์เน็ต และเจอเด็กหญิงบางคนที่ขายพรหมจรรย์ได้ 130 ล้านบาท หรือมากกว่านั้น เพราะอาศัยอยู่ในประเทศยากจนข้นแค้นอย่างมาก จึงต้องการดูแลพ่อแม่และซื้อบ้านหลังใหม่ให้” น.ส.อเล็กซานดรากล่าว




ฝืนกินต่อไป อายุสั้นแน่นอน !! อาหาร 10 อย่าง เสี่ยงโรคร้าย ไตทำงานหนัก เป็นมะเร็งและโรคหัวใจ!!

1. ไข่เยี่ยวม้า : ไข่เยี่ยวม้ามี ตะกั่วค่อนข้างสูง ตะกั่วทำให้การดูดซึมแคลเซียมน้อยลง กินบ่อยๆ จะเสี่ยงโรคกระดูกโปร่งบาง และอาจได้รับพิษตะกั่ว เช่น สมองเสื่อม เป็นหมัน ฯลฯ

2. ปาท่องโก๋ : กระบวนการทำปาท่องโก๋มีการใช้สารที่ทำให้กรอบ ฟู ซึ่งมีตะกั่วปนเปื้อน ตะกั่วทำให้ไตทำงานหนักในการขับสารนี้ออกไป นอกจากนั้นยังทำให้คอแห้ง เจ็บคอง่าย โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคร้อนในได้ง่าย

3. เนื้อย่าง : กระบวนการรมไฟ ย่างไฟทำให้เกิดสาร เบนโซไพรีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง

4. ผักดอง : ผักดอง และของหมักเกลือทำให้ร่างกายได้รับเกลือโซเดียมสูง ถ้ากินบ่อยเกิน หรือมากเกินจะทำให้หัวใจทำงานหนัก เกิดความดันเลือดสูง และโรคหัวใจได้ง่าย นอกจากนั้นกระบวนการหมักดองยังทำให้เกิดสารแอมโมเนียมไนไตรด์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง

5. ตับหมู : ตับหมูมีโคเลสเตอรอลสูง การกินตับหมูบ่อยเกิน หรือมากเกินทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจ เส้นเลือดสมอง(อัมพฤกษ์-อัมพาต) และโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น

6. ผักขม ปวยเล้ง : ผักขมและปวยเล้งมีสารอาหารสูง ทว่า… มีกรดออกซาเลตมาก ทำให้เกิดการขับสังกะสี และแคลเซียมออกจากร่างกายมาก การกินบ่อยเกิน หรือมากเกินอาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลเซียม หรือสังกะสีได้

7. บะหมี่สำเร็จรูป : บะหมี่สำเร็จรูปมีสารกัดบูด สารแต่งรสค่อนข้างสูง และมีคุณค่าทางอาหารต่ำ การกินบะหมี่สำเร็จรูปมากเกิน หรือบ่อยเกินอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคขาดอาหาร และการสะสมสารพิษได้

8. เมล็ดทานตะวัน : เมล็ดทานตะวันมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ทว่า… การกินมากเกิน หรือบ่อยเกินอาจทำให้กระบวนการเคมี (metabolism) ในร่างกายผิดปกติ ทำให้เกิดการสะสมไขมันในตับ ภาวะไขมันในตับสูงอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคตับ เช่น ตับแข็ง ฯลฯ เพิ่มขึ้น

9. เต้าหู้หมัก เต้าหู้ยี้ : กระบวนการหมักเต้าหู้อาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรคได้ง่าย… ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อคนสูงอายุ หรือเด็กเล็กได้ นอกจากนี้กระบวนการผลิตยังทำให้เกิดไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย

10. ผงชูรส : คนเราไม่ควรกินผงชูรสเกินวันละ 6 กรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา… การกินผงชูรสมากเกิน หรือบ่อยเกินทำให้เกิดภาวะกรดกลูตามิกในเลือดสูง อาจทำให้ปวดหัว ใจสั่น คลื่นไส้


source :- http://do.upyim.co/101496/




นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายรูปใหม่ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยระบุว่า

"และแล้ว...หางก็โผล่"

สัปดาห์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ดีเอสไอที่ คสช. แต่งตั้งให้มาเป็น ผอ. สำนักพุทธฯ ได้ทำหนังสือถึงเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เสนอความเห็นให้แต่งตั้งพระภิกษุจากวัดอื่นมาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเพื่อบริหารและสอบอธิกรณ์พระผู้ใหญ่ของวัดซึ่งขัดต่อกฎหมาย เพราะการแต่งตั้งเจ้าอาวาสตามกฏ มส. ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2541) ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสงฆ์ตั้งแต่เจ้าคณะอำเภอจนถึงรองเจ้าคณะตำบลร่วมกันพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติ จากนั้นให้เจ้าคณะอำเภอรายงานเสนอเจ้าคณะจังหวัดเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ ผอ. ซึ่งเป็นคฤหัสถ์เสนอความเห็นอันเป็นการแทรกแซง ส่วนการสอบอธิกรณ์คือการล่วงละเมิดพระธรรมวินัยซึ่งยังไม่มีการกล่าวหาจึงไม่มีอธิกรณ์ให้สอบ ดังนั้น ข้ออ้างในหนังสือจึงเป็นเท็จ

การที่หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจเผด็จการสั่งปิดล้อมวัดพระธรรมกาย ดำเนินคดีกับรักษาการเจ้าอาวาสรวมทั้งออกคำสั่งจับกุมพระสงฆ์หลายรูป คือการทำให้พระผู้ใหญ่ของวัดต้องคดีเพื่อเปิดทางให้มีการแต่งตั้งพระภิกษุจากวัดอื่นมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเสมือนเป็นการยึดวัดพระธรรมกาย ส่วนการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาเถรสมาคมที่เป็นองค์กรปกครองสงฆ์คือการควบคุมศาสนจักร ซึ่งเท่ากับ คสช. ที่เป็นฝ่ายอาณาจักรควบคุมทั้งอำนาจรัฐและศาสนจักรอย่างเบ็ดเสร็จ แต่เนื่องจากข้อเสนอการแต่งตั้งเจ้าอาวาสไม่ชอบด้วยกฎหมายเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีจึงไม่เล่นด้วย รัฐมนตรีจึงเลี่ยงมาตั้งเป็นคณะกรรมการประกอบด้วย เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ ตัวแทนจากดีเอสไอและสำนักพุทธฯ เพื่อบริหารจัดการวัดพระธรรมกาย แต่ก็ผิดกฎหมายอีกเช่นกันเพราะวัดพระธรรมกายมีรักษาการเจ้าอาวาสทำหน้าที่แล้ว อีกทั้งการปกครองสงฆ์เป็นอำนาจหน้าที่ของ มส. ไม่ใช่อำนาจของรัฐมนตรีที่กำกับสำนักพุทธฯ จะไปแต่งตั้งพระและคฤหัสถ์มาบริหารจัดการวัด สุมหัวกันวางแผนยึดวัดปกครองพระจนคลิปหลุดหางโผล่ อย่าลืมประสานงานกับนรกให้สร้างขุมพิเศษไว้รอด้วยจะได้ไปอยู่รวมกัน

source :- https://goo.gl/fx16dP


Civil protection rescue team work on the debris of a destroyed house to recover the bodies of people killed on the western side of Mosul, Iraq, March 24, 2017.

นายทหารระดับสูงชาวอเมริกันยอมรับว่า กองทัพสหรัฐฯ อาจมีส่วนในการโจมตีที่ทำให้ชาวอิรัก 100 คนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่เมืองโมซูล

พลโท Stephen Townsend ผู้บัญชาการในปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอิรักและซีเรีย กล่าวว่า บริเวณที่มีผู้เสียชีวิตเป็นบริเวณที่มีการโจมตีทางอากาศโดยฝ่ายสหรัฐฯ และพันธมิตร

เขาบอกกับนักข่าวในการให้สัมภาษณ์จากกรุงแบกแดดว่า

"กองทัพอิรักเชื่ออย่างหนักแน่นว่า กลุ่มรัฐอิสลามอาจต้อนประชาชนโดยใช้กำลัง เพื่อให้ผู้บริสุทธิ์รับเคราะห์และกลายเป็นโล่มนุษย์ในครั้งนี้"

In many parts of former IS-controlled Mosul, streets and buildings are in ruins after airstrikes and mortars rained down during recent battles. Burned-out cars were set ablaze by IS militants as they sought to hide themselves from coalition airstrikes.


ขณะเดียวกันหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เรียกร้องให้กองกำลังที่นำโดยสหรัฐฯ และกองทัพอิรัก ทบทวนยุทธวิธีในการปราบปรามไอเอส เพื่อไม่ให้ตกหลุมพรางกลุ่มก่อการร้ายที่ลวงให้ประชาชนเป็นเหยื่อการโจมตี

สหประชาชาติยังได้ประณามกลุ่มไอเอสว่า "ขี้ขลาด" ที่ใช้ผู้บริสุทธิ์เป็นผู้รับเคราะห์แทน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ถึง 22 มีนาคม มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 307 คนและบาดเจ็บกว่า 273 คน ในด้านตะวันตกของเมืองโมซูล

source :- https://goo.gl/E4navl


A police officer shows seized counterfeit dollars to the press in Cali, Colombia, Oct. 9, 2012.

หน่วยงาน Global Financial Integrity หรือ GFI ที่ติดตามธุรกรรมผิดกฎหมาย ประเมินว่าเงินหมุนเวียนในขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติในปัจจุบัน มีมูลค่าอยู่ระหว่าง 1.6 ล้านล้าน ถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี

GFI กล่าวว่า "ธุรกิจขายของปลอม" ทั่วโลก อาจอยู่ในระดับที่สูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ถือว่าเป็นส่วนใหญ่ของธุรกิจผิดกฎหมาย

Government workers from the Bureau of Customs destroy counterfeit footwear products in Manila February 24, 2015. A government statement said over 150,000 pairs of fake shoes and slippers of various brands including Nike, Adidas, Converse, Sketchers, North

ตามมาด้วย "ขบวนการยาเสพติด" ที่น่าจะมีเงินหมุนเวียนระหว่าง 426,000 ล้านถึง 652,000 ล้านดอลลาร์

ขณะเดียวกัน "การค้ามนุษย์" นำรายได้สู่อาชญากรข้ามชาติประมาณ 150,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ถือเป็นธุรกิจผิดกฎหมายที่มีเงินหมุนเวียนมากเป็นอันดับ 4

A law-enforcement guide to human trafficking sits on a table at The Genesis Project, a center for victims of sex trafficking in SeaTac, Wash, Feb. 27, 2017.


source :- https://goo.gl/C8l1Gl


FILE - Fishing boats are docked in Tho Quang port, Danang, Vietnam, March 26, 2016. Fishermen from around the South China Sea tell stories of contending with bandits and coast guards.

กระทรวงการเกษตรของจีนกล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า จะบังคับใช้คำสั่งห้ามการประมงที่เข้มงวดกว่าเดิมในทะเลจีนใต้ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ เพื่อปกป้องทรัพยากรปลาในทะเล

รัฐบาลจีนในกรุงปักกิ่งเคยประกาศใช้คำสั่งห้ามทำการประมงในทะเลจีนใต้มาก่อนหน้านี้ โดยครั้งเเรกประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1995 และมีการจับเรือประมงที่ละเมิดคำสั่ง

และหากจีนใช้คำสั่งนี้อีก นักวิเคราะห์ชี้ว่าจีนเสี่ยงที่จะทำลายความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมากับเวียดนามและฟิลิปปินส์

FILE - Chinese Coast Guard members approach Filipino fishermen as they confront each other off Scarborough Shoal in the South China Sea, also called the West Philippine Sea, Sept. 23, 2015.

Fabrizio Bozzato นักวิจัยผู้ช่วยที่เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศที่มหาวิทยาลัย Tamkang ในไต้หวัน กล่าวว่า จีนได้ประกาศที่จะบังคับใช้คำสั่งห้ามการประมงนี้โดยไม่ปรึกษากับชาติอื่นๆ ที่อ้างสิทธิ์เหนือน่านน้ำทะเลเเห่งนี้

เขากล่าวว่า หากจีนปรึกษากับเวียดนามและฟิลิปปินส์เสียก่อน สถานการณ์คงไม่เป็นเช่นนี้ เขาคิดว่าจีนต้องการแสดงให้ทุกคนเห็นว่าจีนเป็นเจ้าของทะเลจีนใต้ทั้งหมด เเละมีสิทธิ์เพียงผู้เดียวในการใช้ทรัพยากรทางทะเลในทะเลจีนใต้

คุณเติมศักดิ์ เฉลิมพลานุภาพ นักวิจัยทุนที่สถาบันศึกษาเอเซียอาคเนย์ (ISEAS) ในสิงคโปร์ กล่าวว่า เป็นไปได้ที่เวียดนามกับฟิลิปปินส์จะไม่ใส่ใจต่อคำสั่งนี้ของจีน เเละปล่อยให้เจ้าของเรือประมงเเต่ละเจ้าตัดสินใจกันเองว่าจะละเมิดคำสั่งนี้หรือไม่

เขากล่าวว่า ขึ้นอยู่กับชาวประมงท้องถิ่นที่จะเสี่ยงต่อการถูกจับกุมโดยเรือลาดตระเวณของจีนหรือไม่ ซึ่งชาวประมงเหล่านี้ถูกจับกุมมานับครั้งไม่ถ้วนเเล้ว

Environmental activists picket the Chinese Consulate to protest alleged military buildup by China on the disputed group of islands at the South China Sea, in Manila, Philippines, Jan. 24, 2017. The protesters condemned China's alleged installation of mis

ด้าน Herman Kraft นักรัฐศาสตร์เเห่ง University of Philippines Diliman กล่าวว่าทางการฟิลิปปินส์จะหลีกเลี่ยงการออกคำเเนะนำให้เรือประมงของตนเพิกเฉยต่อคำสั่งห้ามของจีน เพราะการออกคำเตือนใดๆ อาจจะดูเหมือนเป็นการอ่อนข้อต่อจีน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าคำสั่งห้ามการประมงชั่วคราวในทะเลจีนใต้โดยทางการจีน ยังละเมิดต่อคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮก

คำตัดสินของศาลในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ชี้ว่า คำสั่งห้ามการประมงที่คล้ายกันนี้เมื่อปี 2012 ไม่เคารพต่อสิทธิ์ของฟิลิปปินส์ในการจัดการแหล่งทรัพยากรทางทะเลในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ ที่กินพื้นที่ 200 ไมล์ทะเลจากเเนวชายฝั่งของประเทศ

เติมศักด์ เฉลิมพลานุภาพ กล่าวว่า เป็นไปได้ว่าเวียดนามกับฟิลิปปินส์อาจจะออกมาท้าทายคำสั่งห้ามการประมงชั่วคราวของจีนนี้อย่างเเข็งขัน เนื่องจากคำพิพากษาของคณะอนุญาโตตุลากรที่ชี้ว่า จีนไม่มีความชอบธรรมตามกฏหมายในการอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ขัดเเย้งหลายจุดในทะเลจีนใต้

เเต่เขากล่าวว่าจีนต้องการใช้คำสั่งห้ามการประมงชั่วคราวนี้ในการเเสดงสิทธิ์์ตามกฏหมายในการควบคุมพื้นที่ขัดเเย้งในทะเลจีนใต้ เพราะเท่าที่ผ่านมาทางการจีนปฏิเสธคำตัดสินของศาลโลกอย่างเเข็งขันมาตลอด

FILE - In this photo provided by Renato Etac, Chinese Coast Guard members, wearing black caps and orange life vests, approach Filipino fishermen as they confront them off Scarborough Shoal at South China Sea in northwestern Philippines, Sept. 23, 2015.

National Geographic รายงานเมื่อราวกลางปีที่แล้วว่า ทะเลจีนใต้ให้ผลผลิตปลาปีละ 16 ล้าน 6 เเสนตัน และอุตสาหกรรมการประมงจ้างงานถึง 3 ล้าน 7 เเสนคน แต่แหล่งปลาในทะเลจีนใต้กำลังลดลงหลังจากทำการประมงกันมานานหลายสิบปี

ด้านหนังสือพิมพ์ People’s Daily ของจีนรายงานว่า คำสั่งห้ามการประมงในเขตทะเลจีนใต้นี้ จะยาวนานกว่าครั้งก่อนราวหนึ่งเดือน และเข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับลักษณะของการทำประมง

แต่ทางสถาบัน Lawfare ในสหรัฐฯ กล่าวในข้อเขียนเเสดงความคิดเห็นว่า คำสั่งห้ามครั้งใหม่นี้ไม่ได้ระบุถึงสัญชาติของชาวประมง


source :- https://goo.gl/WA5EbW

ขับเคลื่อนโดย Blogger.