Posted: 29 Jul 2018 07:11 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-07-29 21:11


เอกรินทร์ ต่วนศิริ

คำถามสำคัญที่เราจำเป็นต้องพิจารณาต่อกรณีเรื่องของคุณแชมป์ ผู้สื่อข่าวรายการกีฬาช่อง 3 ที่มีความเห็นต่อประธานาธิบดีตุรกี เรยิบ ทายยิบ แอรโดอัน คือคุณแชมป์มีสิทธิจะให้ความเห็นและแสดงทัศนะเรื่องการเมืองกับฟุตบอลหรือไม่ ? ต่อประเด็นเราสามารถพิจารณาได้หลายมุมมอง ไม่ว่ามองจากมุมไหนก็ย่อมไม่พ้นประเด็นพื้นฐานสุดคือ สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

สำหรับผมแล้วนับว่าเป็นเรื่องธรรมดาอย่างมากต่อการวิพากษ์วิจารณ์ ที่มีต่อ “นักการเมือง” และ “บุคคลสาธารณะ” ในทางด้านวิชาการ “นักการเมือง” สามารถวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงทัศนะ ความเห็นต่าง ๆ ได้นับว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิและเสรีภาพของการทำงานของคนทำงานทางด้านสื่อ และประชาชนคนธรรมดาอย่างเรา ๆ

การจะมีใครพูดว่าประธานาธิบดีตุรกี เรยิบ ทายยิบ แอรโดอัน เป็นเผด็จการ ก็ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องที่แปลกและต้องอ่อนไหวรับไม่ได้ เพราะอย่างน้อย ๆ ผลการเลือกตั้งตุรกีที่ผ่านมาปี 2018 คนตุรกีที่ไปเลือกตั้งจำนวน 48 % ก็ไม่ได้ลงคะแนนเสียงให้เรยิบ ทายยิบ แอรโดอัน และคนที่เห็นต่างในประเทศตุรกี ก็เรียกว่าเขาว่าเผด็จการ หรือสุลต่านคนใหม่ ไม่นับการล้อเลียนภาพผู้นำ ทำเป็นรูปการ์ตูนต่าง ๆ จากสื่อต่าง ๆ และคนตุรกีที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องปกติของการแข่งขันทางการเมืองเพื่อต้องการเสียงโหวต

ข้อตกลงร่วมกันของประชาชนในประเทศตุรกีคือ การไม่ยอมรับให้ทหารเข้ามายึดอำนาจปกครองประเทศ และประชาชนจะเลือกผู้นำเอง โดยผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการแข่งขันตามกฎกติกาภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ผลคือพรรคอัคได้รับคะแนนเสียงเกินครึ่งคือ 52 % พรรคผ่านค้านก็ยอมรับการเลือกตั้ง เดินหน้าตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้นต่อไป ทั้งวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งในและต่างประเทศ และแน่นอนเรยิบ ทายยิบ แอรโดอัน คือเผด็จการในสายตาของคนตุรกีเกือบครึ่งประเทศ

ผมอยากจะเรียนว่า เราไม่ต้องไปหาสื่อที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ มีแต่เราเท่านั้นที่จะใช้สติปัญญาในการรับฟังสื่อ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะผู้ทำงานด้านสื่อไม่สามารถบังคับให้เราเชื่อได้

เราพบเห็นความผิดพลาดทางด้านการสื่อสาร การให้ข้อมูลทางด้านสาธารณะจำนวนมาก ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากการเลือกขอมูลหรือว่าเกิดจากทัศนะคติส่วนตัวที่แสดงผ่านพื้นที่ Onlineและ Offline ทั้งแบบทางการและไม่ทางการ

ต่อกรณีของคุณแชมป์ในฐานะนักข่าวคนหนึ่ง เขามีสิทธิที่จะแสดงความเห็นและทำหน้าที่สื่อ จะดีหรือไม่ดีนั้นอีกเรื่องนะครับ เพราะผู้รับชมจะเป็นคนตัดสินใจ

โปรดพิจารณาว่า ประธานาธิบดีตุรกีคือประชาชนอย่างเรา ๆ โดยทั่วไป หากทว่าก็มีบทบาทที่แตกต่างกัน และการให้ข้อมูลจากคุณแชมป์ ตั้งแต่การจับนักข่าว ปิดกั้นสื่อ การจับกุมนักวิชาการ และสร้างระบบการเมืองแบบใหม่ ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในประเทศตุรกี ซึ่งจะเห็นด้วยหรือไม่นั้นก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่เรารับฟังและพิจารณาด้วยใจเป็นธรรม ส่วนเรื่องท่าทีในการเสนอข่าวนั้นของคุณแชมป์นั้นก็เป็นอีกประเด็น เราควรปกป้องและรับฟังด้วยสติปัญญาและหากว่าเราไม่เห็นด้วยก็ควรใช้ปัญญาในการตอบ เพื่อให้คนเข้าใจ ในสิ่งที่เราเห็นว่าถูกต้อง

ผมอยากจะกล่าวถึงพี่น้องมุสลิมไทยที่ต้องการล้มแชมป์ว่า เราล้มแชมป์ได้ แต่เราก็ไม่สามารถพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพได้ กล่าวให้ถึงที่สุด เราเองก็วิพากษ์วิจารณ์ ผู้นำของโลกตะวันตกและผู้นำต่าง ๆ ของโลกที่เราไม่เห็นด้วยจำนวนมากและกระทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่รับรวมที่หลายต่อหลายครั้งมุสลิมไทยจำนวนหนึ่งก็วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำศาสนาของเราเอง นับตั้งแต่ระดับอีหม่ามจนถึงจุฬาราชมนตรี ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องปกติในสังคม เราสามารถกระทำได้เพราะเรามีสิทธิและเสรีภาพ ภายใต้คุณค่าสังคมแบบนี้ เราควรหันกลับมาพิจารณาในเชิงหลักการของหลักสิทธิและเสรีภาพอันเป็นสิ่งที่เราสำคัญ

ต่อประเด็นการวิจารณ์ประธานาธิบดีตุรกี ที่เราจะเข้าใจว่าเป็นผู้นำของโลกมุสลิม ถึงจะมีคนบางกลุ่มสมาทานความคิดนี้ก็ไม่อาจจะเหมารวมได้ทั้งหมดว่ามุสลิมทั้งหมดจะเห็นด้วย สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือเรื่องของการเข้าใจหลักการสิทธิและเสรีภาพ ของสื่อที่มีต่อบุคคลสาธารณะ ที่นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ

คุณแชมป์และประธานาธิบดีตุรกี สังคมมุสลิมไทยไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความรุ่มรวยในความแตกต่างทางด้านความคิด ประชาชาติมุสลิมไทยมีหนทางที่จะเข้าสู่วงถกเถียงด้วยหลักการสากลของการอยู่ร่วมกัน และควรจะทำ เราต้องเสาะหากลุ่มคนที่พร้อมจะขึ้นสู่เวทีการเผชิญหน้าในโลกคุณค่าสมัยใหม่สากลทางความคิดและอุดมคติที่ทั้งสำคัญ ทั้งจุดประกายปัญญา

ประชาชาติมุสลิมมีภาระหน้าที่จะต้องอธิบายให้ชัดว่า ชุดคุณค่าแห่งอิสลามนั้นได้เคารพความหลากหลายและความเป็นปัจเจกทางความคิดในลักษณะต่าง ๆ หาใช่วิธีการฟ้องร้องและบดขยี้คุณแชมป์อย่างเอาเป็นเอาตาย เราไม่มีบุคลิกภาพแห่งศาสนาที่เป็นมรดกของศาสนาอันสำคัญคือ การรับฟังด้วยความอดกลั้นและการอ่อนน้อมถ่อมตน ทบทวนพิจารณาให้รอบด้าน

และท้ายสุด หากว่าเราคิดว่าข้อมูลเราถูกต้อง คนอื่นก็น่าจะมีข้อมูลส่วนถูกต้องด้วย และหากคิดว่าคนอื่นผิดพลาด เราเองก็อาจจะผิดพลาดหรือตกหล่นอะไรไปบ้าง ในสิ่งที่เรายังไม่มีข้อมูล สิ่งที่แน่ ๆ คือประธานาธิบดีตุรกีคือคนปกติ ไม่ใช่สิ่งบุคคลศักสิทธิ์ ไม่ควรมีใครถูกลงโทษด้วยการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำของประเทศ ไม่ว่าประเทศใดก็ตาม

ในนามของมุสลิมคนหนึ่ง ขอยืนยันว่าหลักการของการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะสามารถกระทำได้อย่างมีสิทธิและเสรีภาพ และสิ่งที่ควรจะเป็นคือ ใครก็ตามที่เข้ามาใช้อำนาจสาธารณะ ไม่ว่าในตำแหน่งใด ๆ ก็ย่อมต้องยอมรับการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสังคม รวมถึงกลุ่มคนผู้สนับสนุนด้วยบุคคลสาธารณะด้วย นี้ต่างหากคือสปิริตของสังคมประชาธิปไตยและหลักการของการอยู่ร่วมกันในสังคมสมัยใหม่

เผยแพร่ครั้งแรกใน: www.pataniforum.com


Posted: 29 Jul 2018 09:08 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-07-29 23:08


สุชัจจ์ โสสุทธิ์

อำนาจ เป็นคำสั้นๆ ที่เต็มไปด้วยความหมายในตัวเองอันยิ่งใหญ่ ความหมายที่ไม่ว่าใครก็ตามต่างถวิลหาที่จะได้มันมาไว้ในครอบครอง เพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการอวดอ้างกรรมสิทธิ์ต่างๆ เหนือคนที่อยู่ภายใต้อำนาจตนเอง ซึ่งบางครั้งการที่จะได้มันมาก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่ต้องจ่าย บ้างก็จ่ายเป็นเงิน บ้างก็จ่ายเป็นมิตรภาพ หรือบางครั้งก็ต้องจ่ายด้วยอุดมการณ์ของตนเอง แล้วทีนี้มันหอมหวานยังไงล่ะ ในฐานะนักศึกษารัฐศาสตร์คนหนึ่ง เราจะลองมาวิเคราะห์สิ่งเหล่านี้ผ่านองค์ความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ในเนื้อหาส่วนที่ได้ร่ำเรียนไปเมื่อภาคเรียนที่ 1 ที่ผ่านมา (ขณะนี้ผู้เขียนกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ตามทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเบื้องตนที่ว่าด้วยเรื่องของอำนาจนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ Authority และ Power ซึ่งที่มาของอำนาจทั้ง 2 ชนิดนี้ล้วนต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดย Authority นั้นจะเป็นอำนาจที่มีความชอบธรรมทั้งในเรื่องที่มาของอำนาจและขอบเขตการใช้อำนาจ ซึ่งแตกต่างจาก Power อย่างสิ้นเชิงที่อำนาจจะมาด้วยวิธีการอย่างไรก็ได้โดยไม่สนใจบริบทรอบด้านที่ไม่เอื้อ แต่ก็ยังดื้อดึงที่จะถวิลหาอำนาจ

แต่ไม่ว่าที่มาของอำนาจจะเป็นอย่างไร ธรรมชาติของมนุษย์ก็ถูกกำหนดให้มีความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุดภายใต้บริบทต่างๆ ที่จำกัดตามหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ผู้คนต่างๆ จึงแสวงหาลู่ทางที่จะนำพาอำนาจเข้าสู่ตนเองให้เป็นที่ “เฉิดฉาย” ในกลุ่มสังคมที่ตนเองนั้นสังกัดอยู่ ทั้งในแบบ Authority หรือในแบบ Power เริ่มเห็นความหอมหวานของมันแล้วใช่มั้ยล่ะ

ความหอมหวานที่เห็นได้ชัดที่สุดและดูเป็นรูปธรรมที่สุดที่ผู้เขียนขอยกตัวอย่างก็คือ การได้อำนาจด้วยวิธี Power โดยเราสามารถเห็นอำนาจประเภทนี้ได้ทั่วๆ ไปในสังคมไทยทุกระดับ ทุกชนชั้น ทุกกลุ่มสังคม บ้างก็มาในรูปแบบ Hard Power หรือไม่ก็ Soft Power ซึ่งไม่ว่ารูปแบบใดก็เป็นหนทางสู่อำนาจอันหอมหวานอยู่ดี

Hard Power เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดและสมกับความเป็นนักศึกษารัฐศาสตร์ที่สุดก็คงไม่พ้นอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้ Hard Power ทั้งในด้านกำลังทหารที่โค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง หรือในด้านการปิดกั้นสื่อต่างๆ รวมทั้งการกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมือง ถ้ามองให้แคบลงมาใกล้ตัวในชีวิตประจำวันหน่อยก็คงเป็นกระบวนการในการเข้าห้องเชียร์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ซึ่งส่วนใหญ่มีกระบวนการลิดรอนความเป็นมนุษย์ (Dehumanization) อยู่แทบจะทุกครั้งที่ได้ไปสัมผัสผ่านระบบโซตัส (SOTUS) ซึ่งถือได้ว่าเป็น Hard Power ในรั้วมหาวิทยาลัยชนิดหนึ่ง เพราะไม่ได้ผ่านสัญญาประชาคม (Social Contract) จากนักศึกษาชั้นปีที่ 1 แต่ระบบนี้ก็ได้กระทำเสมือนได้ผ่านสัญญาประชาคมนั้นจากนักศึกษาชั้นปีที่ 1 แล้ว ทั้งๆ ที่บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องเจอกับอะไร จากทฤษฏีของนักปรัชญาการเมืองสำนักสัญญาประชาคมทั้งหลาย ซึ่งในกรณีนี้ดูเหมือนว่า หลักการของ Thomas Hobbes ดูจะเข้าข่ายกับระบบโซตัสมากที่สุด ในด้านการทำสัญญาประชาคมมอบอำนาจให้ระบบ แม้ในช่วงแรกจะไม่ได้มอบอำนาจให้ระบบ แต่เมื่ออยู่ในระบบนานวันเข้าไปก็จะกลายเป็นเรามอบอำนาจให้กับระบบโดยไม่รู้ตัว และกลายเป็นว่าเราทำสัญญาประชาคมให้กับระบบไปโดยสมบูรณ์ผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง (Political Socialization) ภายในรั้วมหาวิทยาลัย

ส่วน Soft Power นั้น ถ้าเป็นการเมืองในระดับประเทศเราก็จะเห็นในรูปแบบโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจจะชวนเชื่อทั้งอุดมการณ์ นโยบาย วัฒนธรรม วาทกรรม สิ่งยึดเหนี่ยวต่างๆ ที่รัฐเสนอให้ผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง ซึ่งจะช่วยค่อยๆ นวดความคิด ความเชื่อ วิถีชีวิตต่างๆ ของประชาชนให้คล้อยตามรัฐ และให้กลืนเป็นเนื้อเดียวกับสิ่งที่รัฐอยากให้เป็นในที่สุด ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ถ้ามองให้แคบลงมาก็จะเห็นได้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ได้เข้าร่วม หรือเลือกที่จะเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นในระดับคณะหรือระดับมหาวิทยาลัย ในช่วงแรกอาจจะไม่เชื่อ ไม่ชอบ ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เจอ หรืออาจจะต่อต้านในช่วงแรก แต่พออยู่ในสังคมคณะหรือมหาวิทยาลัยนานๆ เข้าไปผ่านกระบวนการต่างๆ วาทกรรมต่างๆ ที่ระบบป้อนให้เรา “สมยอม” และ “กลายเป็นเนื้อเดียวกับระบบ” โดยไม่รู้ตัว และโดนกลืนเป็นเนื้อเดียวกันในที่สุด

จะเห็นได้ว่าเราสามารถพบเห็น พบเจอ สัมผัสอำนาจอันหอมหวานผ่านสิ่งแวดล้อมหรือบริบทต่างๆ รอบๆ ตัว ในฐานะที่เราเป็นนักศึกษารัฐศาสตร์ เราจึงต้องมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะวิพากษ์สิ่งต่างๆ รอบตัวโดยใช้องค์ความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียนไป และเลือกที่จะพัฒนาอย่างถูกวิธีด้วยพื้นฐานของหลักประชาธิปไตยและกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) โดยเฉพาะวิพากษ์ต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรมที่เป็นอำนาจอันหอมหวานของผู้มีอำนาจในสังคมในทุกระดับของสังคมไทย เพราะถ้าเราไม่วิพากษ์ เราก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่มาเรียนเพื่อเอาใบปริญญาและ “คอนเนคชัน” ในการทำงานไปวันๆ ตลอดช่วงชีวิตมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะมองไปถึงระดับประเทศ ลองสังเกตดูรอบตัวสิ อำนาจอันหอมหวานรอบตัวผู้อ่านนั้นมีอะไรบ้างล่ะ? ก่อนจะจากกันไปผู้เขียนขอฝากวิวาทะหนึ่งซึ่งผู้เขียนคิดว่ามันได้สะท้อนถึงแนวคิดของการใช้อำนาจชนิด Power แบบ Hard Power ในสังคมไทยปัจจุบันในทุกระดับได้ดีที่สุด


“พูดปากเปล่า ไร้กองทัพ ไม่มีใครฟัง อำนาจรัฐ ต้องมาจากปลายกระบอกปืน.”
- Mao Zedong


Posted: 29 Jul 2018 09:29 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-07-29 23:29


PSYLENT Rapper

“ฉันเป็นเสรีนิยมนะ”
“ฉันเป็นอนุรักษ์นิยมใหม่”
“ฉันเป็นมาร์กซิสต์”


ในปัจจุบันเราจะเห็นคนนิยาม(อุดมการณ์)ตัวเองว่าเป็นประเภทนั้น ประเภทนี้ กันอยู่เต็มไปหมด ซึ่งดูเป็นเรื่องน่าสนุกในตอนแรกเพราะเราสามารถจะนิยามตัวเองว่าเป็นอะไรก็ได้ อารมณ์เหมือนได้เดินช็อปปิ้งเลือกเสื้อผ้า บางคนก็บอกว่าตัวเองสมาทานอุดมการณ์แปลกๆ(ที่ตัวเองก็ไม่เคยศึกษา)เพราะว่ามันดู “ยูนีค” ดี หรือบางคนมาเหนือกว่าคือประกาศว่า “ฉันเป็นคนปราศจากอุดมการณ์ ฉันไม่นิยามตัวเองว่าเป็นพวกไหนทั้งนั้น ฉันก็คือฉัน”

จากตัวอย่างเหล่านี้ คือ วิธีคิดของผู้คนก่อนที่จะ “รู้สึกถึงโครงสร้าง”

เพราะเมื่อเรา “ตื่น” และ “รู้สึกถึงโครงสร้าง" เมื่อไร เราจะรู้ว่า

“เราไม่ได้เป็นคนเลือกอุดมการณ์ อุดมการณ์ต่างหากที่เลือกเรา”

เห้ย จ้อจี้ป่ะเนี่ย !? อุดมการณ์มันจะมาเลือกเราได้ไงวะ ?


ในบทความนี้ผมจะช่วยเปิดไฟฉายส่องไปยังผนังถ้ำ "อุดมการณ์" ที่ครอบงำเราอยู่

ถ้าพร้อมผจญภัยไปกับผมก็อ่านต่อเลยครับ!


ตอนเราพึ่งตื่นลืมตาดูโลกได้ไม่นาน นั่นคือสภาวะที่เรายังไม่ถูกชุดอุดมการณ์ใดๆเข้ามาควบคุม
เราเหมือนกับผ้าขาวที่รอการแต่งแต้มเติมสีสัน..

ต่อมาเราโตขึ้นแล้วเริ่มเรียนรู้ภาษา เมื่อนั้นเมล็ดพันธุ์ “อุดมการณ์” ได้ถูกหว่านลงในผืนจิตใต้สำนึกของเรา

“ภาษา” นั้นเป็นหนึ่งในผลผลิตทางสังคมซึ่งยึดโยงกับค่านิยม,วัฒนธรรม,วิธีคิดอย่างเหนียวแน่น ตัวอย่างง่ายๆ เช่น

ในสังคมที่เชื่อใน “ความอาวุโส” จะมี “คำ” ที่ใช้เรียกลำดับชั้นอายุ อย่างประเทศไทยเราก็จะมี “พี่-น้อง-น้า-ลุง-ทวด ฯลฯ”

หรือในภาษาเกาหลี (ที่มีวัฒนธรรมแบบอาวุโสนิยมเช่นกัน) ก็จะมีคำเรียกลำดับชั้นอายุ ซึ่งละเอียดกว่าไทยเข้าไปอีก

ซึ่งค่านิยมแบบอาวุโสนิยมของเกาหลีนั้นก็มีที่มาจาก “ลัทธิขงจื๊อ” ( Confucianism ) ซึ่งก็ถือเป็นหนึ่งใน “อุดมการณ์รัฐ”

(State ideology)ของเกาหลี (และประเทศข้างเคียงที่ได้รับอิทธิพลจากจีน) ซึ่งต่อมาค่านิยมนี้ก็ได้สร้างปัญหาถึงขั้นทำให้เครื่องบินตกได้กันเลยทีเดียว

(บันทึกไม่ลับของคนขับเครื่องบิน: Assertive Pilot)

ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าปัญหาแบบนี้จะเกิดกับทุกที่ ที่มีการใช้คำเรียก “พี่-น้อง” นะครับ อุดมการณ์นั้นเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่รอการเติบโต ดิน,น้ำ,สภาพอากาศ (ปัจจัยภายนอก) เป็นสิ่งที่ช่วยบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ให้เติบโต ดังนั้น “อุดมการณ์”เดียวกันจะงอกเงยและเข้มข้นแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมอีกด้วย

ซึ่งในขณะเดียวกันประเทศที่ไม่ได้มีการใช้คำแบ่งลำดับอายุว่า “พี่-น้อง” ก็จะไม่มีค่านิยมวัฒนธรรมแบบอาวุโสนิยม (โดยส่วนใหญ่) เช่น คนฝรั่งที่ใช้สรรพนามว่า “I-You” ก็เรียกคนอายุเด็กกว่าหรือแก่กว่าด้วยสรรพนามเดียวกัน ก็จะไม่ค่อยถือเรื่องความอาวุโส แต่ถ้าในภาษานั้นมีการ “แบ่งเพศ” ในการเรียก เช่น ในภาษาแถบยุโรปหลายๆภาษา สิ่งของต่างๆจะมีเพศของมัน (บางภาษามีเพศกลางด้วย) คนในวัฒนธรรมนั้นๆก็จะซีเรียสกับลำดับชั้นทางเพศมากกว่าลำดับชั้นทางอายุแบบเราๆ หรือ ถ้าจะมีการนับถือผู้สูงวัยก็จะนับถือในแง่ความเชี่ยวชาญและสกิลมากกว่านับถือที่ตัวเลขอายุเพียวๆ

พูดง่ายๆคือ “คำ” หรือ “ภาษา” นั้นเป็น “ฐาน” ในการจัดวางชิ้นส่วนวัฒนธรรมและค่านิยมลงไป ถ้าปราศจากฐานแล้ว ก็ไม่สามารถนำค่านิยมอะไรไปวางบนนั้นได้

ภาษาจึงเป็นตัวบรรจุ “อุดมการณ์” ซึ่งจะเกี่ยวโยงและตอบสนองต่อเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคม (และอุดมการณ์รัฐตลอดเวลา)

นอกจากตัวภาษาเองแล้ว อีกขั้นหนึ่ง คือ การเรียนรู้ภาษานั้น ๆ แล้วได้ใช้ในการอ่าน/เสพสื่อ ของประเทศเจ้าของภาษานั้น ๆ เราก็จะได้รับ “อุดมการณ์” ที่แอบแฝงมาในสื่อนั้นๆด้วย

เช่น ถ้าเราชอบดูหนังฟังเพลงของสหรัฐอเมริกา เราก็จะได้สมาทานอุดมการณ์แบบอเมริกันมาด้วย
นั่นคือ อุดมการณ์ที่เรียกว่า “American dream”



ความหมายโดยทั่วๆ ไปแต่เดิมของ “ความฝันอเมริกัน” อาจนิยามได้ว่าเป็น “ความเท่าเทียมทางโอกาสและเสรีภาพที่เอื้อให้พลเมืองบรรลุถึงเป้าหมายในชีวิตด้วยการทำงานหนักและด้วยความมุ่งมั่น ปัจจุบัน ความหมายโดยทั่วไปได้ปรับเปลี่ยนเป็นว่า ความมั่งคั่งของบุคคลขึ้นอยู่กับขีดความสามารถและการทำงานหนัก ไม่ขึ้นอยู่กับโครงสร้างระดับชั้นที่ตายตัวของสังคมซึ่งความหมายนี้ไปเปลี่ยนไปตามเวลาของประวัติศาสตร์ - Wikipedia

เพลงที่มีเนื้อหาให้ความหวังว่า “ชีวิตต้องเดินตามความฝัน” “ถ้าพยายามเต็มที่แล้วจะประสบความสำเร็จแน่นอน” โดยไม่ได้กล่าวถึงปัจจัยภายนอกตัวบุคคลที่มีผลต่อความสำเร็จ ความเชื่อในพลังของปัจเจกบุคคลนั่นแหละ คือ “ความฝันแบบอเมริกัน”

ซึ่งจะต่างกับค่านิยมแบบไทยๆดั้งเดิมที่ยังเชื่อเรื่องผีสางนางไม้โชคชะตากำหนด ลิขิตสวรรค์ ตั่งต่าง ว่าเป็นสิ่งที่ส่งผลสำคัญต่อความสำเร็จ/ไม่สำเร็จของมนุษย์

ที่น่าสนใจคือตอนที่เราสมาทานอุดมการณ์แบบอเมริกันมานั้นเราแทบไม่รู้ตัวเลยว่านั่นนับเป็น “อุดมการณ์”

เราคิดว่ามันเป็น “เรื่องปกติ” ที่ใครๆก็คิดกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดที่มาจากประเทศมหาอำนาจ ย่อมเป็นไอเดียที่เชื่อถือได้มากกว่าไอเดียแบบ อนุรักษ์นิยมบ้านๆ ของประเทศเรา ประเทศพี่ใหญ่บอกว่าเรื่องนี้ปกติ มันก็ต้องปกติสิ เอ้อ

ในเวลาต่อมาเมื่อเราเสพสื่อที่มีอุดมการณ์แบบเสรีนิยมหว่านเอาไว้อยู่ เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นก็ค่อยๆเติบโตภายในความคิดเราโดยที่เราไม่รู้ตัว

และเราจะคิดว่ามันคือเรื่อง “ปกติ”



ไม่ต่างอะไรกับการที่ฝนตกจากฟ้า ปลาว่ายในน้ำ


คุณเองที่กำลังอ่านบทความนี้ก็คงมีความเข้าใจเดียวกับผมว่าเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” เป็นเรื่องปกติและสากลของโลก ถ้ามีการละเมิดสิทธิกันแสดงว่าเกิดเรื่อง “ไม่ปกติ” ขึ้นและเราต้องต่อต้านการละเมิดสิทธิด้วยวิธีการอะไรสักอย่าง ขั้นต่ำสุดคือการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งจะก้าวไปได้ถึงขั้นไหนขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของเราอีกด้วย ว่าจะช่วย “บ่มเพาะ”อุดมการณ์เราขนาดไหน

Louis Althusser อดีตอาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสได้กล่าวไว้ว่า


“Ideology has very little to do with 'consciousness' - it is profoundly unconscious.”
อุดมการณ์ทำงานน้อยนิดในระดับจิตสำนึก แต่ทำงานอย่างลึกซึ้งในระดับจิตไร้สำนึก

จิตของเราเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่มีส่วนยอดโผล่พ้นน้ำออกมานิดๆ (จิตสำนึก) แต่ส่วนใหญ่นั้นอยู่ใต้น้ำ (จิตใต้สำนึก)

จิตใต้สำนึกเราถูกบ่มเพาะมาด้วยการเลี้ยงดู การศึกษา วัฒนธรรม ภาษา ค่านิยม สื่อที่เสพ ซ้อนทับกันเป็นชั้นๆเหมือนหัวหอมใหญ่ที่ถ้าหากแกะ “เปลือก”ออกทีละชั้นๆจะพบในที่สุดว่าไม่มีอะไรอยู่ข้างใน

หากแต่เป็นเปลือกจำนวนหลายชั้นมาประกอบกัน หัวหอมใหญ่จึงเป็นหัวหอมใหญ่

ดังนั้นเวลาเรา “เลือก” ว่าฉันจะเป็นเสรีนิยม ฉันจะเป็นสังคมนิยม ฉันเป็น ฯลฯ .. เป็นเพียงแค่การตัดสินใจจาก “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” เท่านั้น หากแต่สิ่งที่กำหนดอุดมการณ์ของเราจริง ๆ นั้นอยู่ “ใต้พื้นผิวน้ำ”ลงไป ลึกแค่ไหน มิอาจหยั่งถึง



เมื่อชาวไทยเดินผ่านผู้ใหญ่ต้องค้อมหัว นั่นคือภาคปฏิบัติทางอุดมการณ์
เมื่อชาวมุสลิมทำละหมาดเมื่อได้ยินเสียงอะซาน นั่นคือภาคปฏิบัติทางอุดมการณ์
เมื่อคนในประเทศที่เจริญแล้ว หยุดรถให้คนเดินข้ามถนนไปก่อน

นั่นคือภาคปฏิบัติทางอุดมการณ์
“สามัญสำนึก” คือ รูปแบบหนึ่งของอุดมการณ์


ด้วยเหตุนี้ “มนุษย์” โดยปกติแบบเราๆท่านๆ จึงไม่สามารถ “เป็นอิสระ” จากอุดมการณ์ได้

ต่อให้วันนึงคุณเดินเข้าป่า (จะเจอเสือตัวใหญ่มั้ยผมก็ไม่แน่ใจ) แล้วตัดสินใจว่าต่อไปจะใช้ชีวิตเยี่ยงฤาษี ไม่ออกมาพบผู้คน อาศัยเก็บผักผลไม้กิน คุณก็ไม่สามารถหนีจาก “การเมือง” (อุดมการณ์) ที่อยู่ภายใน “ส่วนล่างของภูเขาน้ำแข็ง”ได้

เช่นเดียวกัน การที่คุณสามารถ “หลุด” จากอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมไทยๆ ที่ต้องถืออาวุโส ต้องเชื่อฟังคนมีอำนาจและทำตามกฏระเบียบ ไปได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นอิสระจากอุดมการณ์โดยสิ้นเชิง หากแต่คุณแค่ “ย้ายกรงขัง” ไปอยู่ในกรงใหม่ที่คุณอาจจะสบายใจกว่ากรงเก่า เท่านั้นเอง

ซึ่งถ้าถามว่าแล้วมีมนุษย์ที่สามารถเป็น “อิสระ” จากอุดมการณ์ทุกอย่างได้อย่างแท้จริงมั้ย
ก็อาจจะมี

ผมเคยได้ยินมาว่าพวกเขาชอบไปรวมตัวกันที่ “โรงพยาบาลศรีธัญญา”

เผื่อใครสนใจอยากสัมภาษณ์ว่า ทำยังไงถึงชะล้างอุดมการณ์ออกไปได้ ควรลองปรึกษาบุคคลเหล่านี้ดู

โดยสรุปแล้วการ “นิยามตัวเอง” ว่าเป็นคนสมาทานอุดมการณ์แบบไหน นั้นไม่ได้สลักสำคัญในแง่ที่ว่า “นิยามแล้วจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ” หากแต่สำคัญในแง่ของการ “รู้ตัวว่าตัวเองกำลังสมาทานอุดมการณ์ชุดใดอยู่”

ซึ่งการนิยามตัวเองว่า “เป็นกลาง” หรือ “ปราศจากอุดมการณ์” มีความหมายว่า “ส่วนล่างของภูเขาน้ำแข็ง” คุณมีความสลับซับซ้อนเกินกว่าคุณเองจะเข้าใจ ไม่ได้หมายความว่าคุณ “ปราศจาก” อุดมการณ์

ในจุดนี้ก็ขอแสดงความยินดีด้วยที่คุณยังไม่ได้ “ปราศจากอุดมการณ์” ถึงขั้นที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังคาแดง

ขอบคุณที่อ่านจบครับ (ฝากแชร์ด้วยเด้ออ)

[full-post]


Posted: 29 Jul 2018 09:35 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-07-29 23:35



ใบตองแห้ง


ต่อตระกูล ยมนาค ผู้เคยเรียกร้องให้ประชาชนส่งข้อความถึง ป.ป.ช. แสดงความไม่พอใจที่ถ่วงเวลาสอบ “นาฬิกาเพื่อน” น่าจะเปลี่ยนใจซาบซึ้งน้ำตาไหล เมื่อได้ฟังประธาน ป.ป.ช.เปิดใจ ว่าสายสัมพันธ์ “พี่ป้อม” ไม่ใช่จุดอ่อน แต่เป็นจุดแข็งต่างหาก ทำให้ต้องเข้มงวดตัวเอง ระมัดระวังยิ่งกว่าคนอื่น เพราะถูกมองมากกว่า ถูกโยงอยู่ตลอดเวลา

จริงๆ นะ ปู่มีชัยเขียนรัฐธรรมนูญผิด ที่ห้ามเป็น ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมือง 10 ปี ก่อนมาเป็นองค์กรอิสระ ทำให้ได้แต่สมาชิกพรรคข้าราชการ หรือพวกเสแสร้งอาโนเนะไม่เลือกข้าง มันต้องชัดๆ ไปเลย อย่างประธานวัชรพลนี่สิ ไม่ปิดไม่บังว่าเป็นน้องรักพี่ป้อม ตัดสินอะไร สังคมก็จับจ้องได้ ไม่สามารถอ้างตัวเป็นเทวดา ลอยจากฟ้ามาเป็นกลาง

ความเป็นกลางมีที่ไหน เห็นจะมีแต่เมืองไทยเมืองพุทธจุดธูปบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เชื่อว่ายังมีคนดีลุโสดาบัน เที่ยงธรรม เป็นกลาง ไม่มีอคติ ไม่มีคอนเน็กชั่น จนยกอำนาจให้ชี้เป็น ชี้ตายทุกอย่าง

ปัญหาจึงไม่ใช่แค่วัชรพลมีสายสัมพันธ์กับพี่ป้อม แต่พี่ป้อมมีอำนาจจากรัฐประหาร วัชรพลเป็น ป.ป.ช.โดยมติ สนช.แต่งตั้ง แถม สนช.ยังเขียนกฎหมายให้อยู่ต่อ อยู่ยาวถึงรัฐบาลหน้า ที่คาดกันว่าจะสืบทอดอำนาจ

มองให้กว้างจึงไม่ใช่แค่วัชรพล แต่ ป.ป.ช.เกือบทั้งคณะ องค์กรอิสระทุกองค์กร ไม่ได้มาจากกระบวนการชอบธรรม มาจากรัฐประหารตั้ง แต่แสร้งทำให้มีกระบวนการ ดูเหมือนมีอิสระ มีหน้ามีตา ถามว่าอิสระอะไรกัน ม.44 ยังปลด กกต.สมชัยได้

เอาเข้าจริงก็เป็นปาหี่ หรือลิเกโรงใหญ่ ทำให้ดูว่ามีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่จะปราบทุจริตประพฤติมิชอบ ดูแลเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะไม่ได้มาจากการเมือง ไม่ยึดโยงอำนาจจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่มาจากอำนาจรัฐประหารคนดี (ที่กำลังดูด ส.ส.สืบทอดอำนาจ)

เพียงโชคดีที่การรีเซ็ต เซ็ตซีโร่ อยู่ต่อ ต่ออายุ ทำกันโจ๋งครึ่ม การสรรหา แต่งตั้ง ก็ปั่นป่วน ทำให้สังคมรู้ทัน เสียเครดิตตั้งแต่ต้น

องค์กรปราบโกงที่ไม่ยึดโยงประชาชน ยังได้อำนาจเพิ่มจนเป็นองค์กรอันตราย หลักๆ คือวางโครงสร้างไว้แทรกแซงการเมือง เช่น กกต.มีอำนาจระงับสิทธิผู้สมัคร ซึ่งจะส่งผลต่อคะแนนพรรค ป.ป.ช.มีอำนาจยับยั้งนโยบายรัฐบาล ส่งศาลเอาผิดถ้าขัดยุทธศาสตร์ชาติ

แต่บางเรื่องก็เพิ่มอำนาจเพื่อเอาใจกระแสบ้าจี้ คลั่งยาแรง ซึ่งเป็นอาการป่วยอย่างหนึ่งของคนดีในสังคมไทย เช่น ให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินกิ๊ก ทั้งที่ไม่มีสถานะตามกฎหมาย ให้ข้าราชการทุกคนต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินกับต้นสังกัด ไว้ ป.ป.ช.อยากดูเมื่อไหร่จะเรียก ซึ่งมองผิวเผินเหมือนดี แต่ข้าราชการระดับล่างส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษ ไปสร้างภาระให้เขาทำไม

ว่าตามความเป็นจริง การยื่นบัญชีทรัพย์สินตั้งแต่มีมาในประเทศไทย มีไว้เพื่อ “จับผิด” ไม่ใช่ “จับโกง” จับผิดคนไม่ยื่น ยื่นไม่ตรง ปกปิด ฯลฯ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ทุจริต ตั้งแต่ทักษิณถึงชูวิทย์

ขณะที่คนโกง ก็รู้กัน มันไม่เอามาใส่บัญชีทรัพย์สินหรอก แต่องค์กรปราบโกงถนัดจับผิดเอกสาร หรือติดคุกเพราะการตีความ ทุจริตจริงจับมือใครดมไม่ได้ เว้นแต่ฝรั่งญี่ปุ่นจับส่งให้

บัญชีทรัพย์สินจึงจะกลายเป็นภาระของข้าราชการ ซึ่งในชีวิตจริง อาจมีรายได้อื่นของครอบครัว ของลูกเมีย ที่ไม่อยู่ในระบบภาษี ต่อจากนี้ต้องรู้จักแต่งบัญชี เตรียมที่มาที่ไป ไม่งั้นอีก 20 ปีโดน ป.ป.ช.สอบตอบไม่ได้ ปปง.ยึดทรัพย์ ฉิบหายเลย

อันตรายของโรคบ้าจี้ ถ้าเทียบให้เห็นชัดๆ คือรัฐประหาร 2549 มุ่งเอาผิดเฉพาะทักษิณ ไทยรักไทย แต่ 4 ปียุคนี้ มีการเข้มงวดจัดระเบียบประชาชน ไม่เฉพาะทางการเมืองแต่ไปถึงการใช้ชีวิต การทำมาหากิน ซึ่งเท่ากับเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร ปกครอง เทศกิจ ป่าไม้ เจ้าท่า ศุลกากร ฯลฯ ที่มีอำนาจจับกุมและออกใบอนุญาตต่างๆ

ขณะเดียวกัน ก็ออกระเบียบกฎหมายมาควบคุมความประพฤติ การทำงาน ของข้าราชการ เช่น กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งส่งผลชะงัด ถ้าไม่บังคับก็ไม่มีใครอยากเป็นกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง เอาคอเข้าไปเสี่ยง เพราะ สตง. ป.ป.ช. ป.ป.ท. ปปง. ไล่ตอมเต็มไปหมด

แต่ถามว่าทุจริตหมดไปไหม คนโกงก็ยังหาช่องได้ หรือการเอื้อประโยชน์เชิงนโยบาย การประมูลโครงการใหญ่ๆ โดยคนที่มีอำนาจจริง คนที่อยู่ในขั้วอำนาจ ใครกล้าแตะ
ลิเกปราบโกงโรงนี้ ทั้งพันธนาการและประจานตัวเอง อยากรู้จัง จะแสดงได้นานเท่าไหร่



ที่มา: https://www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1381831

นายคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่มาภาพ: raosukunfung.com

Posted: 28 Jul 2018 01:19 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-07-28 15:19


MGR Online อ้างรายงานเว็บไซต์ข่าวภาษาลาว 'เล่าสู่กันฟัง' รายงานโดยอ้างคำแถลงของ นายคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2561 ว่าสาเหตุที่ทำให้คันกั้นน้ำเขื่อน D ซึ่งเป็นเขื่อนย่อยของเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย แตกนั้น ในเบื้องต้นเป็นเพราะการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ส่วนสาเหตุในรายละเอียดกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และตามพันธสัญญานั้น ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด

นายคำมะนี กล่าวอีกว่า ภารกิจหลักของรัฐบาลในฐานะผู้พัฒนาโครงการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมุ่งไปที่การฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแตก ซึ่งภารกิจนี้จะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการมุ่งช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุน้ำท่วม ระยะที่ 2 เป็นระยะยาวจะมีการฟื้นฟูหมู่บ้าน ก่อสร้างบ้านเรือน จัดหาที่อยู่อาศัยให้ประชาชน

ขณะที่ นายไซปะเสิด พมสุพา อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงรายละเอียดการจ่ายชดเชยค่าเสียหายในขณะนี้ จะต้องไปดูถึงสาเหตุและความเสียหายที่เกิดจากเขื่อนภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงการสัมปทาน ซึ่งมีรายละเอียดหลายอย่าง ฉะนั้น จะต้องไปย้อนดูจึงจะทราบอย่างละเอียดว่าบริษัทจะต้องรับผิดชอบมากน้อยเพียงใด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ลงทุนในโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยคือ บริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (PNPC) เป็นการร่วมทุนของบริษัทข้ามชาติ 4 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท SK Engineering and Construction จำกัด ถือหุ้น 26% บริษัท Korea Western Power จำกัด ถือหุ้น 25% บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 25% และ Lao Holding State Enterprise ถือหุ้น 24% (อ่านรายละเอียด)

สำหรับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ถือหุ้นอยู่ 45%
4 สถาบันการเงินไทยให้กู้สร้างเขื่อน 22,000 ล้านบาท

อนึ่งเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2557 ยอง จู ชอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย (PNPC) เปิดเผยว่าประสบความสำเร็จในการจัดหาเงินกู้ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 22,000 ล้านบาท เพื่อใช้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าว โดยมีกำลังติดตั้ง 410 เมกะวัตต์ จะผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่าย 1,860 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี (อ่านรายละเอียด) โดยในเว็บไซต์ของบริษัท PNPC ระบุว่าจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในปี 2562

สำหรับสถาบันการเงิน 4 แห่งที่ให้เงินกู้ก่อสร้างโครงการในรูปแบบสินเชื่อร่วม (Syndication loan) ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารธนชาต

โดยตามสัญญากระแสไฟฟ้า 370 เมกะวัตต์ จะจำหน่ายให้กับ กฟผ. โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 27 ปี ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือจะผลิตไฟฟ้าจำหน่ายรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศลาว[full-post]


Posted: 28 Jul 2018 01:41 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-07-28 15:41


ดินสไลด์ทับบ้าน 4 หลัง จ.น่าน เสียชีวิต 8 คน ส่วนที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ฝนกระหน่ำหนัก 24 ชม. น้ำป่าทะลักท่วมเทศบาล-โรงเรียน

เหตุดินสไลด์ทับบ้าน ต.บ่อเกลือเหนือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เบื้องต้นพบผู้เสียชีวิต 7 ราย ยังสูญหายอีก 2 ราย ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

28 ก.ค. 2561 สถานการณ์ฝนตกสะสมมาหลายวันใน จ.น่าน และมีหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อท่วม ล่าสุด (28 ก.ค.) อ.บ่อเกลือ จ.น่าน บนเขาดินชุ่มน้ำมากได้ไหลลงมาในพื้นที่บ้านห้วยขาบ หมู่ 7 ต.บ่อเกลือเหนือ ซึ่งเป็นหมู่บ้านอยู่ในหุบเขา มีบ้านเรือนถูกดินโคลนทับ 4 หลัง เบื้องต้นพบผู้เสียชีวิต 7 ราย ยังสูญหายอีก 2 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอบ่อเกลือเร่งประสานหลายหน่วยงานเข้าช่วยเหลือ

ด้าน พ.อ.รัตนะ พัฒนโสภณ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพราน 32 สั่งการให้ชุดบรรเทาสาธารณภัยของ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 32 กองกำลังผาเมือง จัดชุดเฉพาะกิจ 4 ชุด ช่วยค้นหาผู้สูญหาย แต่เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากยังมีฝนตกและดินโคลนเลื่อนไหลลงมาเป็นระยะ นอกจากนี้กระแสไฟฟ้าในพื้นที่ได้ถูกตัดขาดจากดินถล่มเป็นอุปสรรคต่อทำงานการใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือและการติดต่อสื่อสาร

ล่าสุด เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายไพศาล วิมลรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เปิดเผยว่าสำหรับเหตุดินสไลด์ทับบ้านเรือนประชาชน ที่บ้านห้วยขาบ หมู่ ที่ 7 ต.บ่อเกลือเหนือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ขณะนี้พบผู้เสียชีวิตทั้งหมด 8 ราย ได้แก่ 1.นายตุ่ย อักขระ อายุ 47 บ้านเลขที่ 21, 2. นางกาบแก้ว อักขระ อายุ 57 บ้านเลขที่30 , 3.นายธนกร อักขระ อายุ 33 บ้านเลขที่ 67, 4.น.ส.กมลรัตน์ อักขระ อายุ 34 บ้านเลขที่ 67 , 5.ด.ญ.ชรินรัตน์ อักขระ อายุ 10 บ้านเลขที่ 67, 6. น.ส.ณัฐทิชา อักขระ อายุ 21 บ้านเลขที่ 29, 7. ด.ญ.ชรินรัตน์ อักขระ อายุ 3 บ้านเลขที่ 29 และ 8. นางกา อักขระ อายุ 64 บ้านเลขที่ 29 ทั้งหมดได้นำส่งโรงพยาบาลบ่อเกลือ เพื่อทำการตรวจพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลอีกครั้งหนึ่ง

ขณะนี้ได้สั่งการให้กันจุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยสูง ห้ามบุคคลเข้าไปในพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดดินสไลด์ลงมาเพิ่ม เพราะในพื้นที่ยังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ดินเกิดการชุ่มน้ำจนอิ่มตัว ทำให้เกิดสไลด์ลงมา ส่วนชาวบ้านในพื้นที่จำนวน 61 ครัวเรือน ให้อพยพมาพักเป็นการชั่วคราวที่โรงเรียนสว้า ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียง ขณะนี้ทางอำเภอได้จัดที่พักและอาหารไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว โดยจะให้พักอยู่ในบริเวณดังกล่าวจนกว่าเจ้าหน้าที่จะพิจารณาว่าพื้นที่ดังกล่าวปลอดภัย ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเคลียร์พื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร ฝ่ายปกครอง เข้าไปดูแลความปลอดภัย ส่วนการเยียวยาผู้ประสบภัยจะเป็นไปตามกฎระเบียบของทางราชการต่อไป


แม่สอดฝนกระหน่ำหนัก 24 ชม.


ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2561 ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องนานกว่า 24 ชั่วโมง ส่งผลถนนสายแม่สอด-ตาก หน้าสำนักงานเทศบาลนครแม่สอด จ.ตาก มีน้ำท่วมขังสูงกว่า 40 เซนติเมตร ขณะที่หลายจุดในเขตเทศบาลนครแม่สอดระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ชุมชนที่อยู่ติดลำห้วยถูกน้ำท่วมสูง เทศบาลนครแม่สอดต้องระดมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออก

ส่วนที่โรงเรียนบ้านแม่ตาว ริมเมย ใกล้แนวชายแดนไทย-เมียนมา ก็โกลาหลไม่แพ้กัน เมื่อน้ำป่าทะลักเข้าท่วมโรงเรียน ครูที่มีบ้านพักในโรงเรียนต้องช่วยย้ายสิ่งของและสื่อการเรียนการสอนขึ้นที่สูง ล่าสุดฝ่ายปกครองแม่สอด ทหาร และตำรวจเร่งเข้าไปช่วยเหลือ

ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2]

[full-post]


Posted: 28 Jul 2018 01:54 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-07-28 15:54


นิตยสาร Foreign Policy นำเสนอรายงานตั้งข้อสังเกตเรื่องที่เหล่าผู้นำโลกอิสลามต่างก็เพิกเฉยต่อกรณีค่ายกักกันชาวมุสลิมอุยกูร์ในจีน ทั้งๆ ที่มันเป็นการพยายามกวาดล้างศาสนาที่มาจากพื้นฐานความคิดเกลียดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผล ต่างจากกรณีอื่นๆ เช่นชาวปาเลสไตน์ถูกปราบจากรัฐบาลอิสราเอล เรื่องนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นเพราะประเทศที่มีผู้นำเป็นชาวมุสลิมกำลังมีผลประโยชน์ทางการค้าร่วมกับจีน

รายงานของผู้สื่อข่าวอิสระที่ติดตามประเด็นในเอเชีย นิธิน โคคา เปิดเผยว่าในจีนมีชาวอุยกูร์ถูกจับขังในค่ายกักกันนับล้านคน ซึ่งมีทั้งชาวบ้านที่ถูกกวาดต้นจนหลายเป็นย่านร้าง นักเรียน นักดนตรี นักกีฬา และนักวิชาการสันติภาพ ทางการจีนต่างก็ขังพวกเขาเหล่านี้ไว้ในค่ายที่มีเทคโนโลยีการสอดแนมไฮเทคที่คอยติดตามพวกเขาอยู่ทุกฝีก้าว

โคคาระบุว่านี่เป็นเรื่องของการที่ทางการจีนรุกปราบปรามชาวอูยกูร์ในซินเจียง ซึ่งเน้นการลบล้างศาสนาอิสลามในพื้นที่ด้วยจากการที่มัสยิดในเมืองใหญ่ๆ เริ่มว่างเปล่า นักโทษที่ถูกคุมขังถูกสั่งให้เลิกนับถือพระเจ้าและหันไปศรัทธาในพรรคคอมมิวนิสต์ มีการห้ามการละหมาด การศึกษาทางศาสนา หรือกระทั่งการถือศีลอด มีการถอดตัวอักษรอาหรับจากอาคารสาธารณะ อีกทั้งยังมีการส่งเสริมความเกลียดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลจากเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์เองด้วย

แต่ในขณะที่ชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์และการกวาดล้างชาวโรฮิงญาทำให้เกิดแรงต่อต้านและความโกรธเคืองจากผู้นำโลกอิสลาม แต่แทบจะไม่เห็นผู้นำโลกอาหรับออกมาประณามจีนกรณีอุยกูร์เลย "นักการเมืองและผู้นำศาสนาจำนวนมากที่อ้างว่าเป็นผู้ออกปากแทนทางศรัทธาความเชื่อกลับเงียบเฉยต่ออำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีน"

ปีเตอร์ เออร์วิน ผู้จัดการโครงการเวิร์ลอุยกูร์คองเกรสกล่าวว่าสิ่งที่กลายเป็นกำแพงกั้นพวกเขาคือการที่กลุ่มประเทศผู้นำมุสลิมไม่ให้ความสนใจเรื่องนี้ โอเมอร์ คานัต ผู้อำนวยการโครงการสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์กล่าวว่าสาเหตุที่เป็นแบบนี้ไม่ใช่เพราะว่ากลุ่มผู้นำมุสลิมไม่รู้เรื่องที่เกิดขึ้นเพราะกรณีของอุยกูร์มัการเก็บข้อมูลเป็นอย่างดีและมีการเผยแพร่ออกไป

ในทางตรงกันข้ามประเทศที่มีผู้นำเป็นชาวมุสลิมจำนวนมากเริ่มจะสานสัมพันธ์กับจีนหรือบ้างก็ถึงขั้นหันไปสนับสนุนจีน เช่น ในปีที่แล้วอียิปต์ส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปให้กับจีนที่เป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจจะถูกจำคุกหรือเลวร้ายกว่านั้นคือถูกสังหาร ส่วนประเทศอย่างมาเลเซียและปากีสถานก็เคยทำแบบเดียวกันในปี 2554 โคคาระบุว่าสิ่งเหล่านี้ดูแล้วเป็นภาพที่ขัดแย้งกับการที่ผู้นำเหล่านี้ประณามชาติตะวันตกเช่นอิสราเอลในกรณีข่มเหงรังแกชาวปาเลสไตน์จนเชื่อแน่ว่าถ้าชาติเหล่านี้มีการส่งตัวชาวปาเลสไตน์ให้กับอิสราเอลคงมีการโต้ตอบด้วยความไม่พอใจอย่างหนัก

รายงานของโคคาวิเคราะห์ว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเพราะผลประโยชน์ทางการเงินจากจีน จีนกลายเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศที่มีผู้นำสายมุสลิมทุกประเทศ และโดยมากก็เป็นสมาชิกของธนาคารการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีจีนเป็นเจ้าของหรือไม่ก็เข้าร่วมโครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" ของจีน สำหรับประเทศเอเชียใต้เช่นปากีสถานเรื่องนี้หมายถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนเป็นตลาดสำคัญสำหรับสินค้าอย่างน้ำมันปาล์มและถ่านหิน ขณะที่ในตะวันออกกลางก็ได้ประโยชน์จากการที่จีนเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดและเริ่มมีการใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

ในสถานการณ์เช่นนี้เองทำให้รายงานของ Foreign Policy เรียกว่าเป็น "ภราดรภาพเหล็ก" ที่กลุ่มผู้นำประเทศมุสลิมต่างก็ชั่งตวงวัดอยู่บนเรื่องผลประโยชน์กับจีนมากกว่าจะมองเรื่องสิทธิมนุษยชน

แต่รายงานของโคคาก็ชี้ประเด็นเพิ่มเติมว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อุยกูร์ถูกละเลยน่าจะเพราะเรื่องความสำคัญของตำแหน่งแห่งที่ในโลกมุสลิมเองด้วย ขณะที่ปาเลสไตน์ดูมึความสำคัญเนื่องจากเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับดินแดนศักดิสิทธิ์ที่อิสราเอลเรียกว่าเยรูซาเลม แต่กรณีของจีนการแผ่อิทธิพลของจีนในตะวันออกกลางดูภายนอกเหมือนจะไม่ได้ครอบงำมากเท่าอิสราเอลหรือสหรัฐฯ นอกจากนี้จีนยังทำการตัดซินเจียงออกจากโลกภายนอกได้สำเร็จจากการเซนเซอร์รูปแบบต่างๆ ทำให้มีการพูดถึงกรณีค่ายกักกันปรบทัศนคติในซินเจียงไม่มากเท่ากรณีความเจ็บปวดของชาวปาเลสไตน์ที่มีภาพออกมายูทูปทุกวัน

นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของการที่ประเด็นปาเลสไตน์มีการปักหลักปัญหามานานแล้วเมื่อเทียบกับกรณีซินเจียง สำหรับเหล่าผู้นำที่เป็นห่วงภาพลักษณ์มากกว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน การพูดด่าพวกยิวไซออนนิสต์หรือการแสดงออกว่าอยู่ข้างชาวปาเลสไตน์คงได้คะแนนนิยมมากกว่าเมื่อเทียบกับการพูดถึงโรฮิงญาหรืออุยกูร์

ถ้าหากจะมีที่ๆ มีความหวังที่จะพูดเรื่องนี้น่าจะเป็นประเทศมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง อินโดนีเซีย กับมาเลเซีย ในหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยที่ 2 ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยทางการเมืองซึ่งหาได้ยากในกลุ่มประเทศผู้นำอิสลาม มีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์กับจีนแต่ก็มีความรู้สึกต่อต้านจีนอยู่ในทั้งสองประเทศโดยเฉพาะอินโดนีเซีย ส่วนมาเลเซียก็เพิ่งจะผ่านการเลือกตั้งครั้งสำคัญไปทำให้รมต.การคลังคนใหม่บอกว่าจะพิจารณาข้อตกลงทางการค้ากับจีนใหม่อีกครั้งและอาจจะมีการระงับโครงการปัจจุบันหลายโครงการ

อาห์หมัด ฟารูค มุซา ผู้อำนวยการเอ็นจีโออิสลามมิคเรเนสซองฟรอนต์ในมาเลเซียกล่าวว่าทางการจีนมีอิทธิพลมากในการให้เงินกู้กับนาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ที่ตอนนี้ถูกดำเนินคดีฉ้อโกงโครงการรัฐ เขาหวังว่ารัฐบาลใหม่จะเปลี่ยนนโยบายตัวเองให้เอื้อต่อสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

อีกประเทศหนึ่งที่น่าจับตามองว่าจะมีท่าทีต่อจีนอย่างไรคือตุรกีซึ่งมีความเกี่ยวข้องเชิงวัฒนธรรมกับชาวอุยกูร์ที่พูดภาษาตุรกี ในตุรกีเองก็มีชุมชนชาวอุยกูร์พลัดถิ่นขนาดใหญ่ที่สุด ในช่วงที่มีจลาจลปี 2552 เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกีก็เป็นผู้นำคนเดียวที่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ และในตุรกีก็เป็นประเทศเดียวที่มีการประท้วงใหญ่จีนในเรื่องการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์เช่นการประท้วงในปี 2558

อย่างไรก็ตามมีความกังวลว่าตุรกีที่เริ่มมีรัฐบาลแบบอำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะเริ่มมองว่าจีนเป็นพันธมิตรของพวกเขาในการต่อกรกับตะวันตก นับตั้งแต่ที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของตุรกี เมฟลุต คาวูโซกลู ไปเยือนจีนเมื่อปีที่แล้วก็มีการเปิดเผยว่าจะมีการขจัดการนำเสนอข่าวต่อต้านจีนทำให้มีความสนใจต่อกรณีของอุยกูร์น้อยลง แต่ชาวอุยกูร์ก็ยังฝากความหวังว่าตุรกีจะเป็นที่พึ่งพาได้ ถึงสภาพความเป็นจริงที่จีนใช้เงินแผ่อิทธฺพลไปยังประเทศมุสลิมต่างๆ จะทำให้ความหวังที่ชาติเหล่านี้จะพูดถึงพวกเขาดูริบหรี่ลงก็ตาม

เรียบเรียงจาก

Islamic Leaders Have Nothing to Say About China’s Internment Camps for Muslims, Nithin Coca, Foreign Policy, 24-07-2018
https://foreignpolicy.com/2018/07/24/islamic-leaders-have-nothing-to-say-about-chinas-internment-camps-for-muslims/#

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
รบ. จีนจับนักเตะดาวรุ่งอุยกูร์รุ่นยู-19 เข้าค่ายปรับทัศนคติ เหตุเดินทางไปต่างประเทศ


Posted: 28 Jul 2018 02:02 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-07-29 04:02


กลุ่มรักษ์แม่น้ำโขง (Save the Mekong) ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการพังทลายของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย เรียกร้องให้ผู้พัฒนาโครงการและธนาคารผู้ให้ทุนต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อความเสียหายและอันตรายที่เกิดขึ้นทั้งหมด

เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2561 กลุ่มรักษ์แม่น้ำโขง ซึ่งเป็นพันธมิตรองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชุมชน และพลเมืองผู้ใส่ใจในลุ่มน้ำโขง ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการพังทลายของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ระบุว่าขอแสดงความตกใจ และความกังวลเกี่ยวกับการพังทลายของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยในประเทศลาว เมื่อเร็วๆ นี้ และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ ทั้งในลาวใต้และชุมชนด้านท้ายน้ำในประเทศกัมพูชา

การพังทลายของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นภัยพิบัติ แต่ไม่ใช่ภัยพิบัติตามธรรมชาติ หากเป็นภัยพิบัติที่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ในส่วนของผู้พัฒนาโครงการเขื่อน พื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศลาวและลุ่มน้ำโขง เสี่ยงต่อภัยพิบัติและภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อม อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากแผนการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ 11 แห่งในตอนล่างของแม่น้ำโขงสายประธาน และอีก 120 แห่งในลำน้ำสาขาภายในปี 2583 แผนการสร้างเขื่อนส่วนใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูงมากในประเทศลาว เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของประเทศที่ประกาศว่าจะทำให้ลาวเป็น “แบตเตอรี่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้สังคมตระหนักมากขึ้นถึงเสียงเรียกร้องในประเทศลาว ให้มีการทบทวนการลงทุนมหาศาลในโครงการพลังงานไฟฟ้าของประเทศ และให้มีการบังคับใช้กฎหมายในประเทศอย่างเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อประกันให้เกิดความรับผิดชอบจากนักลงทุนจากต่างชาติ

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยเป็นโครงการที่มีความอื้อฉาวมาตั้งแต่ต้น เมื่อปี 2556 หน่วยงานภาคประชาสังคมได้ชี้ให้เห็นว่า ยังไม่มีการปรึกษาหารือกับสาธารณะมากเพียงพอ มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อ่อนแอ ขาดการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน และไม่มีหลักประกันด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ นับตั้งแต่ช่วงเริ่มวางแผน ชุมชนในท้องถิ่นแทบไม่ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดจากโครงการ และแผนบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ ในพื้นที่รองรับผู้อพยพจากโครงการเขื่อน ผู้วิจัยพบว่าประชาชนต้องต่อสู้กับปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงอาหาร น้ำ และที่ดินอย่างเพียงพอ

แม่น้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยไหลลงสู่แม่น้ำเซกอง ซึ่งเป็นหนึ่งในลำน้ำสาขาที่สำคัญสุดของแม่น้ำโขง แม่น้ำเซกงมีต้นกำเนิดจากที่ราบสูงในภาคกลางของเวียดนาม ไหลผ่านประเทศลาว จากนั้นไปบรรจบกับแม่น้ำโขงในกัมพูชา พื้นที่ลุ่มน้ำของแม่น้ำเซกงในลาวและพื้นที่ริมฝั่งลำน้ำสาขาอีกจำนวนมาก เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนหลายหมื่นคนจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างน้อย 20 กลุ่ม ทั้งหมดต้องพึ่งพาอาศัยการจับปลาจากแม่น้ำและทรัพยากรจากป่าไม้ และอาศัยผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อเก็บของป่าและเพาะปลูก นอกจากนั้น ยังมีประชาชนกว่า 30,000 คนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเซกงในจังหวัดสตึงเตร็งในกัมพูชา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนพื้นเมือง ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากผืนดินและป่าต้นน้ำเพื่อการยังชีพ สภาพแวดล้อมของชุมชนริมฝั่งน้ำเซกงและระบบนิเวศในพื้นที่ลุ่มน้ำ กำลังถูกคุกคามจากโครงการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่ก้าวร้าว โดยมีการวางแผนสร้างเขื่อนอย่างน้อย 17 แห่งในลุ่มน้ำแห่งนี้ เพื่อผลิตไฟฟ้าส่งออกไปยังเวียดนามและไทย

แม้ก่อนเขื่อนแตก โครงการผันน้ำจากแม่น้ำเซเปียน ลงไปสู่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ก็ได้สร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อพื้นที่ท้ายน้ำแล้ว การเปลี่ยนแปลงด้านอุทกวิทยาและคุณภาพน้ำส่งผลให้จำนวนสัตว์น้ำในพื้นที่ลดลงอย่างมาก ในขณะที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งน้ำเซเปียนไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ จากความสูญเสียด้านอาชีพเหล่านี้ พื้นที่ป่าอนุรักษ์เซเปียนซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำเซเปียน ก็ได้รับผลกระทบด้านลบจากโครงการนี้เช่นกัน

ผู้พัฒนาโครงการ ผู้ให้ทุนสนับสนุน และนักลงทุน ต้องถูกกดดันให้รับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย สอดคล้องกับกฎหมายของลาวและมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ดีสุด

โครงการแห่งนี้พัฒนาขึ้นโดยบริษัทไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (PNPC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 โดยบริษัท SK Engineering and Construction (เกาหลีใต้) บริษัท Korea Western Power บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และ Lao Holding State Enterprise ตามกำหนดเดิม เขื่อนแห่งนี้จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าในปี 2562 โดย 90% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งออกไปประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ซื้อรายเดียว ส่วนธนาคารขนาดใหญ่จากไทยหลายแห่งเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนโครงการประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาติ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญ ในการดำเนินงานให้บริษัทและธนาคารเหล่านี้ต้องรับผิดชอบ เพราะระบบยุติธรรมในลาวยังต้องมีการปฏิรูปอีกมาก ทั้งยังมีอุปสรรคสำคัญในการกดดันให้นักลงทุนต้องรับผิดชอบ นอกจากนั้น เนื่องจากมีความอ่อนไหวทางการเมืองเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศ มีความกลัวที่จะถูกตอบโต้ ส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงกลไกเพื่อขอรับการเยียวยาจากบรรษัทได้

แผนการสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลายแห่งทั่วลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เป็นภัยคุกคามสำคัญต่อระบบนิเวศในแม่น้ำโขงและความมั่นคงด้านอาหาร อาชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อยสะท้อนรูปแบบทั่วไปของการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในลาวและที่อื่น ๆ ในภูมิภาค กล่าวคือเป็นการตักตวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสร้างรายได้ โดยไม่มีการปรึกษาหารืออย่างเพียงพอกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และไม่คำนึงถึงข้อกังวลเกี่ยวกับต้นทุนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ผลประโยชน์และผลกำไรส่วนใหญ่ของโครงการนี้จะตกอยู่ในมือของผู้พัฒนาโครงการและนักลงทุน ปล่อยให้ชุมชนในท้องถิ่นต้องแบกรับผลกระทบและความเสี่ยง ในขณะที่ยังมีทางเลือกเพื่อการผลิตพลังงานและการพัฒนาอย่างอื่นที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ จึงต้องมีการประเมินทางเลือกเหล่านี้อย่างรอบด้าน และต้องเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลประกอบการตัดสินใจและการวางแผนพัฒนา

หลังเกิดเหตุภัยพิบัติครั้งนี้ พันธมิตรกลุ่มรักษ์แม่น้ำโขงมีข้อเรียกร้องดังนี้

• ผู้พัฒนาโครงการและธนาคารผู้ให้ทุนต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อความเสียหายและอันตรายที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมทั้งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำในกัมพูชา
• เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดในความตกลงสัมปทานของโครงการ ในส่วนที่เป็นข้อกำหนดความรับผิดชอบของบริษัท
• ต้องมีการจัดทำระบบที่เป็นอิสระและรอบด้าน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้รอดชีวิตสามารถแสดงความคาดหวังที่ตนมีต่อการเยียวยาครั้งนี้
• ผู้พัฒนาโครงการต้องให้ข้อมูลว่า จะดำเนินการเพื่อตอบสนองความคาดหวังของชาวบ้านอย่างรอบด้านได้อย่างไร และจะมีการดำเนินงานตามแผนบรรเทาทุกข์และฟื้นฟูในระยะยาวอย่างไร การฟื้นฟูต้องเริ่มต้นในทันทีโดยไม่ชักช้า
• รัฐบาลของประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างต้องชะลอแผนก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างออกไป จนกว่าจะมีการทบทวนอย่างรอบด้าน เป็นอิสระ และโปร่งใส เพื่อพิจารณาแผนที่มีอยู่และทางเลือกอื่น ๆ ในการวางแผนด้านพลังงานและการหารายได้จากการพัฒนา

[full-post]


Posted: 28 Jul 2018 02:43 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-07-29 04:43


กรมจัดหางานเล็งซื้อเครื่องสแกนม่านตาล็อตใหญ่ 100 เครื่อง

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดี กรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตา ที่ใช้ในการพิสูจน์อัตลักษณ์แรงงานประมง ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน (กกจ.) ดำเนินการจัดซื้อจัดหา เครื่องสแกนม่านตา เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลในกลุ่มแรงงานต่างด้าวกิจการประมง พร้อมกับมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาการเก็บข้อมูลพิสูจน์ตัวบุคคลของแรงงานต่างด้าวที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน อธิบดีกรมการกงสุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) เป็นกรรมการ อธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมเจ้าท่า และอธิบดีกรมประมง เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ตั้งแต่เดือน พ.ย.2560 แต่การดำเนินการเป็นได้ด้วยความล่าช้าจน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตำหนิกระทรวงแรงงานที่ไม่ดำเนินการจัดซื้อ ทั้งที่ได้สั่งการไปแล้ว ซึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว. แรงงาน ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการ

นายอนุรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้จัดสรรงบประมาณ 10 ล้านบาท ให้ กกจ. ดำเนินการจัดซื้อจัดหาเครื่องสแกนม่านตา 100 เครื่องซึ่งเป็นราคาเดียวกับที่กรมเจ้าท่าเคยจัดซื้อมาก่อน อย่างไรก็ตามตนได้มีการทำหนังสือสอบถามไปยังกรมบัญชีกลางแล้วว่า ถ้าหากจะต้องซื้อเครื่องสแกนม่านตาสเปกเดิม เพื่อเข้าถึงฐานข้อมูลเดิม จะสามารถซื้อโดยวิธีใด ถ้าซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจงคือการล็อคสเปกตามที่กรมเจ้าท่าเคยซื้อ กกจ.จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เพราะถ้ายังดำเนินการ จะเป็นการผิดระเบียบ เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับจะต้องจัดซื้อตามระเบียบพัสดุ ก็คือต้องมีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-บิดดิ้ง

“เนื่องจากระบบเดิมมีการเก็บข้อมูล เมื่อมีการสแกนม่านตา ข้อมูลจะเข้ามาในระบบ แต่ข้อมูลที่ได้จะถูกเข้ารหัสเก็บไว้ ซึ่งจะต้องใช้ซอฟแวร์ของเขา หากเราจะไปใช้รหัส จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ดังนั้นจะต้องดูรายละเอียดให้รอบคอบ ทั้งการจัดซื้อ และระบบต่างๆ หาก กกจ. ซื้อแล้วใช้ไม่ได้ ก็ต้องให้กรมเจ้าท่าเป็นคนจัดซื้อ ซึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ได้สั่งว่า เป็นคำสั่งรัฐบาล ที่จะต้องปฎิบัติตาม แต่ต้องถูกตามตามระเบียบของกฎหมาย” นายอนุรักษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า การจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตา มีปัญหาคาราคาซังมาตั้งแต่สมัยของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เป็น รมว.แรงงาน โดย คสช. มีคำสั่งมาตรา 44 เด้งด่วนนายวรานนท์ ปีติวรรณ อดีตอธิบดีกรมการจัดหางาน ในขณะนั้น ไปเป็นรองปลัดกระทรวง โดยมีปมเหตุจากไม่ยอมทำเรื่องของบกลางจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตา จนเป็นเหตุให้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล อดีต รมว.แรงงานพร้อมทีมงานลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเห็นด้วยกับนายวรานนท์ เรื่องการพิสูจน์สัญชาติ ที่ประเทศต้นทางรับรอง และการออกบัตรประจำตัวชั่วคราวที่ทำอยู่ เพียงพอแล้ว รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูลม่านตา น่าจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่น และกรมเจ้าท่ามีใช้อยู่แล้ว 30 เครื่อง ขณะนั้นมีกระแสข่าวว่าการใช้เครื่องสแกนม่านตาจำนวนมาก ในราคาชุดละ 1 แสนบาท จะต้องมีระบบเก็บรักษาข้อในมูลระยะยาว เพราะระบบจะมีฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ในการเก็บข้อมูลซึ่งยังต้องใช้เงินจำนวนมากและเป็นงบผูกพันที่ต้องดูแลระยะยาว

ที่มา: โลกวันนี้, 28/7/2561

ภาคประมงประชุมเตรียมยื่น 8 ประเด็นให้รัฐบาลแก้ปัญหา 1 ส.ค. นี้ ลั่น หากไม่ได้รับคำตอบภายใน 7 วัน จะหยุดเรือออกหาปลาพร้อมกันทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล

27 ก.ค. 2561 ที่ห้องประชุมสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด ต.บางจะเกร็ง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม ประชุมสมาชิก 4 องค์กร คือ สมาคมการประมงสมุทรสงคราม , สมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม , สหกรณ์ประมงแม่กลอง และสหกรณ์ประมงบางจะเกร็งบางแก้วเพื่อหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนภาคประมงในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากภาครัฐ และอียู โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคประมงทั่วประเทศ กว่า 40,000 คน ที่ยื่นหนังสือไปหลายหน่วยงานให้แก้ปัญหาแต่ก็ยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังนิ่งเฉย นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหา อีก 7 ประเด็น คือ ปัญหาเรื่องการรับซื้อเรือคืน , ปัญหากฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน , ปัญหากฎหมายของกรมเจ้าท่า , ปัญหากฎหมายของกรมประมง , ปัญหาการแจ้งเรือเข้า-ออก หรือ PIPO , ปัญหา VMS และ ปัญหากระทรวงแรงงานจะดันไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C188 เป็นต้น

ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายกันถึงความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสมานานกว่า 3 ปี จากการที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายการประมง ระเบียบวิธีปฏิบัติของชาวประมง เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ IUU ภายหลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้ ใบเหลืองไทย เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 แม้ภาคประมงจะหารือถึงแนวทางแก้ไขความเดือดร้อนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ได้รับการแก้ไขปัญหาน้อยมาก ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้นายกสมาคมประมงทุกสมาคมในจังหวัดสมุทรสงครามเดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องความเดือดร้อนต่อรัฐบาลรวม 8 ประเด็น ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพุธที่ 1 สิงหาคม นี้ เวลา 10.00 น. ส่วนในวันเดียวกัน ชาวประมงในพื้นที่จะยื่นหนังสือเรียกร้องปัญหาความเดือดร้อนที่ศาลากลางจังหวัด พร้อมกับ 22 จังหวัดชายทะเล อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้รับคำตอบภายใน 7 วัน ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง ชาวประมงทั่วประเทศจะพร้อมใจกันหยุดเรือออกหาปลาอย่างน้อย 7 วัน และหากยังไม่แก้ปัญหาอีกชาวประมงจะเดินทางไปยื่นถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป

นายมงคล กล่าวว่าการแก้ปัญหาไอยูยูของรัฐบาล 3 ปี ที่ผ่านมา ชาวประมงเดือดร้อนหนักมากขึ้นทุกวัน ชาวประมงจำนวนมากต้องเลิกอาชีพการทำประมง โดยในอดีตมีเรือประมงพาณิชย์ขนาด 10 ตันกรอสส์ขึ้นไป กว่า 20,000 ลำ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 10,600 ลำ และก็ยังไม่สามารถออกเรือทำประมงอีกกว่า 2,000 ลำ เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้ยังมีปัญหา อีก 7 ประเด็น คือ ปัญหาเรื่องการรับซื้อเรือคืน , ปัญหากฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน , กรมเจ้าท่าและกรมประมงที่ไม่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพ ปัญหาการแจ้งเข้าแจ้งออก เนื่องจากแต่ละหน่วยงานและเจ้าหน้าที่แต่ละศูนย์ปฏิบัติไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่กำลังจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อชาวประมงภายใน 1 - 5 ปี ข้างหน้า คือ การที่กระทรวงแรงงานจะนำไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C188 เรือประมงต้องรื้อเก๋งเรือเพื่อทำห้องน้ำ ห้องนอน ห้องครัว ความสูงเพดานเก๋งเรือใหม่ต้องใช้เงินอีกนับล้านบาทต่อลำ ซึ่งเรื่องนี้กลุ่มประเทศอียูมีผู้รับรองภาคีนี้เพียง 3 ประเทศเท่านั้น ทั้งที่มีการรณรงค์มานานถึง 8 ปี แต่ในเอเชียก็ยังไม่มีประเทศใดได้รับการรับรอง หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา แคนาดา สเปน จีน ญี่ปุ่น ก็ยังไม่รับรอง ชาวประมงจึงขอคัดค้านการที่รัฐบาลจะไปลงนามในสัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง พ.ศ. 2560 อีกด้วย

ที่มา: คมชัดลึก, 27 ก.ค. 2561

รมว.แรงงาน ชี้แจงกรณีการผลักดันไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ฉบับที่ 188

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอว่า สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นำโดยนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคม พร้อมนายกสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเล เตรียมยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องเรียนเนื่องจากประสบความเดือดร้อน จากการที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายการประมง เพื่อแก้ปัญหาไอยูยู ซึ่งการที่กระทรวงแรงงานจะผลักดันประเทศไทยให้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C 188 นั้น จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อชาวประมงภายใน 1-5 ปีข้างหน้า ในเรื่องนี้ขอชี้แจงว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง ค.ศ. 2007 (2550) กระทรวงแรงงานมีเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นที่จะสร้างหลักประกันการทำงานบนเรือประมงให้เกิดสภาพการทำงานที่มีคุณค่า (Decent Work) ซึ่งเป็นสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการปกป้องดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงานอย่างเหมาะสมตามหลักปฏิบัติสากล

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า สาระสำคัญของอนุสัญญาฯ (ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง ค.ศ. 2007 จะทำให้คนงานประมง มีสภาพการทำงานที่มีคุณค่าตามข้อกำหนดขั้นต่ำในการทำงานบนเรือประมง อาทิ มีข้อกำหนดขั้นต่ำในการทำงานที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องอายุขั้นต่ำ มีใบรับรองแพทย์ก่อนลงเรือ มีเวลาพักขั้นต่ำ 10 ชั่วโมงจาก 24 ชั่วโมง และ 77 ชั่วโมงใน 1 สัปดาห์มีทะเบียนลูกจ้าง สัญญาจ้าง การจ่ายค่าตอบแทนผ่านระบบบัญชีธนาคาร มีที่พัก อาหาร น้ำดื่มที่เพียงพอเหมาะสม มียารักษาโรคเบื้องต้นกรณีเจ็บป่วย มีช่องทางการติดต่อสื่อสารกับบนฝั่ง มีอุปกรณ์ป้องกันเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน ได้รับสิทธิความคุ้มครองด้านการประกันสังคม และเข้าถึงการดูแลรักษาทางการแพทย์ เป็นต้น

รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนสำคัญที่จะต้องแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบนเรือประมง ซึ่งเป็นข้อห่วงกังวลของทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในประเด็นการใช้แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ควบคู่กันไปกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) การค้ามนุษย์ในเรือประมงและข้อกล่าวหาต่าง ๆ ในมิติด้านสิทธิมนุษยชนและการกีดกันทางการค้า ซึ่งปัจจุบันรัฐบาล โดยกระทรวงแรงงานอยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อนำมาหาจุดสมดุลที่ถูกต้องเหมาะสมควบคู่กัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมเสมอภาคกับทุกฝ่าย ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกคน

“ขอให้ผู้ประกอบการและแรงงานประมงมั่นใจได้ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงมุ่งมั่นดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงไปอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนากลไกการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากลเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวในท้ายสุด

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 26/7/2561

กยศ. ชี้แจงกรณีครูผู้ค้ำประกันถูกยึดทรัพย์

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ชี้แจงพร้อมให้ความช่วยเหลือกรณีครูค้ำประกันนักเรียนที่กู้ยืมเงินแล้วค้างชำระหนี้จนถูกยึดทรัพย์ เตือนผู้กู้ยืมให้มีจิตสำนึกในการชำระเงินคืนเพื่อไม่ให้เดือดร้อนผู้ค้ำประกันและแบ่งปันโอกาสทางการศึกษาสู่รุ่นน้อง

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า "จากกรณีที่ครูวิภา บานเย็น ได้เป็นผู้ค้ำประกันให้แก่นักเรียนที่เป็นผู้กู้ยืมตั้งแต่ปี 2541-2542 จำนวน 60 ราย แต่มีลูกศิษย์ที่ค้างชำระหนี้ กยศ. จนถึงขั้นบังคับคดีกับครูที่เป็นผู้ค้ำประกันนั้น กองทุนได้ตรวจสอบสถานะคดีของผู้กู้ยืมที่ครูวิภาได้เป็นผู้ค้ำประกันแล้ว พบว่า มีจำนวน 60 ราย จากจำนวนดังกล่าวมีผู้กู้ที่ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว 29 ราย ชำระหนี้ตามปกติ 10 ราย ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 21 ราย ในจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้องมีการยึดทรัพย์แล้ว 4 ราย ซึ่งทั้ง 4 รายนี้ ครูวิภาได้มาชำระหนี้ในส่วนที่ค้ำประกันเรียบร้อยแล้วซึ่งกองทุนจะดำเนินการถอนการยึดทรัพย์ต่อไป ในส่วนคดีอีก 17 คดีที่เหลือนั้นอยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี ซึ่งทั้ง 17 รายนี้คิดเป็นเงินต้นที่ค้ำประกันประมาณ 190,000 บาท สำหรับการช่วยเหลือครูวิภาในส่วนของคดีที่รอการบังคับคดีนั้น กองทุนจะดำเนินการไกล่เกลี่ยก่อนการยึดทรัพย์ ซึ่งภาระหนี้ดังกล่าวจะไม่ถึงขั้นล้มละลายตามที่เป็นข่าว กองทุนขอชื่นชมคุณครูที่ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบและเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม กองทุนขอชี้แจงว่า ที่ผ่านมาในการติดตามหนี้กองทุนไม่ได้ละเลยที่จะติดตามผู้กู้ยืม และได้ดำเนินการตามขั้นตอนติดตามหนี้จากผู้กู้ยืมมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีแรกที่ผู้กู้ยืมครบกำหนดชำระหนี้ กองทุนจะส่งจดหมายแจ้งภาระหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืม จากนั้นกองทุนจะมีจดหมายติดตามหนี้ค้างชำระ แจ้งเตือนให้แก่ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์แจ้งเตือนภาระหนี้ และส่งข้อความ SMS รวมถึงประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ ให้รับทราบเพื่อดำเนินการชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่หากผู้กู้ยืมไม่ได้รับจดหมายจากกองทุนก็สามารถตรวจสอบยอดหนี้และสถานะของตนเองได้ทางเว็บไซต์ กยศ. (www.studentloan.or.th) และหากผู้กู้ยืมค้างชำระหนี้ จะต้องเสียเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 12 หรือ 18 ต่อปี ของเงินต้นงวดที่ค้างชำระแล้วแต่กรณี จนถึงขั้นถูกบอกเลิกสัญญาและดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อถูกดำเนินคดีแล้วสามารถไปขอไกล่เกลี่ยทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลได้ และชำระหนี้เป็นรายเดือนได้อีก 9 ปี หรือแม้ว่าไม่ได้ไปศาลและศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ทั้งหมด กองทุนยังได้ให้เวลาผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาอีกระยะหนึ่ง แต่หากผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายในระยะเวลา ที่กฎหมายกำหนด กองทุนมีความจำเป็นต้องสืบทรัพย์บังคับคดีตามกฎหมาย มิฉะนั้นกองทุนจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเงินกู้ยืมเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน

ทั้งนี้ กองทุนจึงขอฝากเรื่องการค้ำประกันการกู้ยืมใดๆ ผู้ค้ำประกันจะต้องตระหนักว่าจะเป็นภาระผูกพันทางกฎหมาย และขอฝากถึงผู้กู้ยืมให้ชำระหนี้เป็นปกติ เพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้องจนเดือดร้อนถึงผู้ค้ำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบิดา มารดา ญาติ หรือครู อาจารย์ เพราะหากค้างชำระเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดเบี้ยปรับจำนวนมากอีกด้วย

ปัจจุบัน กองทุนได้ปล่อยเงินกู้ยืมให้แก่นักเรียน นักศึกษาไปแล้วจำนวนกว่า 5.4 ล้านราย คิดเป็นเงินกว่า 5.7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้วจำนวน 8 แสนราย อยู่ระหว่างปลอดหนี้ 1 ล้านราย อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.5 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ชำระหนี้ปกติ 1.4 ล้านราย ผิดนัดชำระ 2.1 ล้านราย โดยมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วมากกว่า 1 ล้านราย กองทุนขอให้ผู้กู้ยืมรุ่นพี่ทุกท่านมีจิตสำนึกความรับผิดชอบ ในการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป"

ที่มา: กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง, 25/7/2561

สำนักงานประกันสังคมย้ำให้สิทธิผู้ประกันตนผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาไม่ต้องสำรองจ่าย

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สปส.ให้สิทธิการรักษาผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยเกี่ยวกับกระจกตา และต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะกระจกตา โดยผู้ประกันตนที่มีความประสงค์จะใช้สิทธิการเปลี่ยนอวัยวะกระจกตา จะต้องมีข้อบ่งชี้คือ โรคแผลเป็นที่กระจกตา โรคกระจกตาเป็นแผล โรคกระจกตาขุ่นเป็นฝ้าขาว บวม เช่น อุบัติเหตุจากสารเคมี หรือกระจกตาบวมหลังการผ่าตัด กระจกตาเสื่อมตามอายุ กระจกตาผิดปกติแต่กำเนิดหรือผิดปกติทางพันธุกรรม การติดเชื้อแต่กำเนิด กระจกตาขุ่นจากโรคทางภูมิร่างกายผิดปกติ เช่น การแพ้ยาบางชนิด โรคกระจกตามีความโค้งผิดรูป กระจกตาบาง กรณีจำเป็นเร่งด่วน เช่น โรคติดเชื้อที่กระจกตารุนแรง กระจกตาทะลุ หรือกรณีอื่นๆ ตามที่จักษุแพทย์ผู้รักษาระบุ หากผู้ประกันตนเจ็บป่วยโรคเกี่ยวกับกระจกตา และต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา สามารถรับบริการตรวจรักษาได้ ที่สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาลที่เลือกไว้ทันที โดยไม่ต้องสำรองจ่าย

ทั้งนี้ สปส.ได้มีการอนุมัติสิทธิให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิกรณีการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาแล้วจำนวน 628 ราย โดย สปส. ได้จัดสถานพยาบาลในบันทึกข้อตกลงที่มีศักยภาพเพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาที่ดีที่สุดในกรณีสถานพยาบาลตามสิทธิฯ ส่งต่อการรักษา 29 แห่ง โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา/ ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: PPTV, 25/7/2561

ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้งบกลางเพิ่ม 439 ล้านบาท ต้นปีใช้ไปแล้ว 364 ล้านบาท

24 ก.ค. 2561 แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าสำนักงบประมาณเตรียมโอนจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีอุกเฉินหรือจำเป็น ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ให้กับศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) วงเงินรวม 439,747,855 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ ศปมผ. ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2561 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2561

ทั้งนี้ เป็นงบประมาณให้กับ ศปมผ. 316,339,200 บาท กรมประมง 58,741,200 บาท กรมเจ้าท่า 10,620,300 บาท กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 14,604,000 บาท สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) 2,452,000 บาท กรมการจัดหางาน 10,000,000 บาท กรมสวัสติการและคุ้มครองแรงงาน 8,223,900 บาท สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ 812,400 บาท และ สำนักงานอัยการสูงสุด 7,382,200 บาท

งบประมาณดังกล่าว เพื่อเป็นการดำเนินงานบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในดำเนินการตรวจเรือประมง และโรงงานแปรรูปสัตว์นํ้า ตามเป้าหมายที่กำหนด การทำแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย พ.ศ.2558-2562 แผนปฏิบัติการระดับชาติในการป้องกันยับยั้งและขจัดการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม พ.ศ.2558-2562

แผนการควบคุมและตรวจตราการประมงระดับชาติ ระบบการตรวจสอบยัอนกลับ แผนงานเร่งด่วนตามข้อเสนอแนะของผู้แทนสหภาพยุโรปไปสู่การปฏิบัติ และการเตรียมความพร้อมในการส่งผ่านการดำเนินงานให้กับหน่วยงานหลัก โดยคำนึงถึงการบูรณาการขีดความสามารถ ฐานข้อมูล และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพื่อลดความซํ้าซ้อน ลดความต้องการงบประมาณในการบำรุงรักษาระบบ ให้การแก้ไขป้ญหาการทำการประมงผิดกฎหมายมีประสิทธิภาพสูงสุด

มีรายงานว่า เมื่อช่วงต้นปี 2561 ศปมผ. ได้รับงบประมาณมาแล้ว 364.25 ล้านบาท เพื่อนำไปแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ประกอบด้วย ศปมผ. 282 ล้านบาท กรมประมง 24 ล้านบาท กรมเจ้าท่า 10 ล้านบาท กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 19.99 ล้านบาท กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 5.5 ล้านบาท สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) 20 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ 1.58 ล้านบาท เป็นภารกิจระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2560-31 มี.ค.2561

ซึ่งจะเป็นการถ่ายทอดภารกิจในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของส่วนงานต่างๆ ใน ศปมผ. โดยเน้นกาการพัฒนาระบบงานให้มีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว โดยเฉพาะการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย การจัดการกองเรือประมง การติดตามควบคุมและเฝ้าระวังการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ การบังคับใช้กฎหมาย การพัฒนาบุคลากร ระบบงาน ระบบสนับสนุน ตลอดจนพิจารณาการเปลี่ยนผ่านการดำเนินการของ ศปมผ.ให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง กรมเจ้าท่า เป็นต้น ภายหลังจากที่ ศปมผ.เสร็จสิ้นภารกิจ

ที่มา: MGR Online, 24/7/2561

หนุนไอเดีย ให้แรงงานต่างด้าว ซื้อประกันภัยคุ้มครองเจ็บป่วย

วันที่ 24 ก.ค. 2561 นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยว่าในการประชุมร่วมกับอธิบดีกรมแรงงานเมียนมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางอธิบดีฯ เมียนมาได้แสดงความห่วงใยแรงงานเมียนมาที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม ซึ่งยังไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ระหว่างการเดินทาง จึงมีการหารือกันว่าน่าจะมีการซื้อประกันภัยระยะสั้นๆ ซึ่งตนก็เห็นด้วย และเสนอให้ดำเนินการทำมาตั้งแต่ประเทศต้นทาง โดยให้เป็นแบบสมัครใจ อย่างไรก็ตามเป็นเพียงการหารือกันเท่านั้น และยังไม่ทราบว่าทางการเมียนมาจะดำเนินการอย่างไรต่อ

นายอนุรักษ์ กล่าวต่อว่าเรื่องนี้ตนได้นำเรียน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ทราบแล้ว ซึ่งในเรื่องของการทำประกันภัยแรงงานต่างด้าวนั้น ท่านรมว.ก็เห็นด้วยเพราะมองว่าที่ผ่านมาไม่มีอะไรคุ้มครองเลย เช่น ไฟไหม้รถแรงงานต่างด้าวที่ อ.แม่สอด แล้วไม่ได้รับการชดเชย ดังนั้นคิดว่าควรมี และคิดว่าเป็นประกันภัยระยะสั้นระหว่างรอเข้าระบบประกันสังคมของประเทศไทย ดังนั้นราคาค่าประกันน่าจะไม่แพงมาก ไม่กี่ร้อยบาท เหมือนที่เราไปต่างประเทศ ก็จะมีระบบประกันภัยการเดินทางซึ่งเป็นแบบสมัครใจเหมือนกัน คนไหนทำก็ได้รับการคุ้มครอง ใครไม่ทำก็ดูแลตัวเอง อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยไม่ใช่ทั้งหมดที่จะเข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะมียกเว้นแรงงานอยู่ 2 กลุ่มที่ไม่ได้เข้าประกันสังคม คือ คนรับใช้ตามบ้าน และประมงทะเล แต่ทั้ง 2 กลุ่มนี้ก็จะมีการซื้อประกันสุขภาพกับ รพ.อยู่แล้ว

เมื่อถามว่าเนื่องจากตอนนี้เมืองไทยนำเข้าแรงงานผ่านเอ็มโอยู ซึ่งรู้แน่ชัดว่าใครเป็นนายจ้าง พอมีกระแสข่าวนี้ออกมาทำให้นายจ้างกังวลว่าจะต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าทำประกันภัยด้วยหรือไม่ นายอนุรักษ์ กล่าวว่า ไม่มีใครบังคับ เรื่องการประกันภัย เป็นสิทธิของผู้เอาประกัน หากสมัครใจทำก็ทำ และได้รับการคุ้มครอง ถ้าไม่ทำก็ไม่มีสิทธิอะไร หากเกิดเรื่องอะไรขึ้นมาก็รับผิดชอบตัวเอง เพราะฉะนั้นแรงงานต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าประกันภัยเอง ทั้งนี้เป็นการหยิบยกของทางเมียนมา ส่วนประเทศอื่นๆ ยังไม่ได้คุย แต่คิดว่าน่าจะมีแนวคิดคล้ายๆ กัน อย่างไรก็ตามคงไม่ได้จะหยิบยกมาเป็นเรื่องที่ต้องหารือร่วม 3 สัญชาติ

ที่มา: คมชัดลึก, 24/7/2561

ครูสาวร้องกองปราบ หลังถูก ผอ.โรงเรียนลวนลาม-เลิกจ้างไม่เป็นธรรม

นางสาวภัทรพร กลิ่นภิรมย์ อดีตครูอนุบาล โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านมีนบุรี เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนกองปราบปราม กรณีถูกผู้อำนวยการโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งย่านมีนบุรี ที่ตนเองเคยเป็นครูสอนอยู่ ลวนลาม คุกคามทางเพศ และเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ด้านนางสาวภัทรพร เปิดเผยว่า ตนได้เข้ามาเป็นครูประจำชั้นนักเรียนอนุบาล 2 และอนุบาล 3 อยู่ที่โรงเรียนดังกล่าวตั้งแต่ปี 2556 และถูกคุกคามในช่วงระหว่างปี 2558 ถึง 2560 ซึ่งผู้อำนวยการคนดังกล่าว ส่งคลิปลามาอนาจารมาในไลน์ส่วนตัว และชอบชักชวนครูสาว ๆ ออกไปรับประทานอาหารหลังจากเลิกงาน โดยอ้างว่าไปพูดคุยเพื่อมอบหมายงานสำคัญ หรือ พูดคุยเพื่อปรับทัศนคติ ซึ่งได้กระทำการลวนลามตนเอง จากนั้นก็ได้แสดงพฤติกรรมไปในเขิงชู้สาวมาโดยตลอด แต่ตนเองก็พยายามหลีกเลี่ยง เพราะไม่อยากมีปัญหากับผู้บังคับบัญชา

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการคนดังกล่าว ได้ออกหนังสือเลิกจ้าง ไล่ตนเองออกจากงาน โดยไม่มีเหตุอันควร และเลิกจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้าก่อน 60 วัน อีกทั้งยังไม่ได้จ่ายเงินชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น ตามกฎหมายแรงงาน วันนี้ตนเองจึงมาแจ้งความเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นครู และความเป็นลูกผู้หญิงของตนเอง ที่ไม่เคยมีเรื่องเสื้อมเสียตลอดการมีอาชีพเป็นครูมี 17 ปี อีกทั้งผู้อำนวยการคนดังกล่าวยังกระทำกับครูสาวรายอื่นอีกหลายคน ที่ต้องทนทุกข์กับพฤติกรรมดังกล่าว ไม่กล้าเอาเรื่อง เพราะกลัวตกงาน โดยวันนี้ได้นำหลักฐานเป็นสำเนาข้อความ รูปภาพ และคลิปที่ผู้อำนวยการคนดังกล่าวเคยส่งให้ตนเอง รวมถึงหนังสือเลิกจ้างงานที่ให้เหตุผลอย่างไม่เป็นธรรมมาด้วย

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 23/7/2561


Posted: 27 Jul 2018 02:09 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-07-27 16:09


'แชมป์ พีรพล' พิธีกรรายการกีฬารายงานถึงประธานาธิบดีตุรกี ที่มีข้อวิจารณ์จากทั่วโลกว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชน และอีกหลายๆ ประเด็น สร้างความไม่พอใจต่อชาวมุสลิม ทำให้ ผู้บริหารช่อง 3 ถึงใช้ยาแรงพักงานไม่มีกำหนด พร้อมนำตัวแชมป์ไปขอโทษกับทูตตุรกี แต่ตุรกีก็จับข้อหาหมิ่นประธานาธิบดีกว่า 2 พันคน รวมทั้งนักสิทธิมนุษยชน

จากกรณี แชมป์ พีรพล เอื้ออารียกูล พิธีกรรายการกีฬา “คน เฝ้า ข่าว” ทางช่อง 3 หรือ ช่อง 28 เสนอรายงานประเด็น เมซุต โอซิล นักฟุตบอลทีมชาติเยอรมนีซึ่งมีเชื้อสายตุรกีประกาศอำลาทีมชาติ โดยในตอนหนึ่งของรายงาน พีรพล ได้พูดวิพากษ์วิจารณ์ เรเจป ไตยิป เอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี จนเกิดกระแสความไม่พอใจของชาวมุสลิมบางส่วนในไทยนั้น


วานนี้ (26 ก.ค.61) ช่วงบ่าย เพจ 'Save Islam : สมาคมปกป้องอัลอิสลาม' โพสต์ว่า วันอังคารที่ 31 ก.ค.2561 เวลา 13.30 น. สายัณห์ สุขจันทร์ ฝ่ายกฏหมายมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ (มมส.) จะไปยื่นหนังสือถึงผู้บริหารช่อง 3 เพื่อให้ดำเนินการจัดการกับ แชมป์ พีรพล ที่ได้เหยียดหยามใส่ร้ายประธานาธิบดีตุรกีในรายการของตน และยืนยันว่า ช่อง 3 ต้องปลด พีรพล เพื่อเป็นการรับผิดชอบในฐานะสื่อที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมเชิญชวนให้แฟนเพจ เจอกันที่หน้าตึกอาคารมาลีนนท์ในเวลาดังกล่าวด้วย

เพจ Save Islam : สมาคมปกป้องอัลอิสลาม ยังโพสต์คลิปรายการที่เป็นประเด็น พร้อมวิจารณ์ แชมป์ พีรพล ด้วยว่า ชาวตุรกีแท้ๆ ที่ได้ดูคลิปนี้ยังมีอารมณ์โกรธเคือง และบอกว่านายพีรพลพูดจามั่ว ไม่มีมูลความจริง และขอให้เกียรติผู้นำประเทศพวกเขาด้วย พร้อมทั้งบอกด้วยว่า ชื่อประธานาธิบดีตุรกี อ่านว่า ตอยยิบ, ฏอยยิบ ไม่ใช่ "ตายยิบ" อย่างที่นายพีรพลอ่าน

ต่อมา ผู้บริหารฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 28 ดิจิทัล นำโดย อัชฌา สุวรรณปากแพรก และ พีรพล เดินทางเข้าพบ เอฟเรน ดาเดเลน อักกุล เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกี ประจำประเทศไทย เพื่อแสดงความเสียใจ และขออภัยเป็นอย่างยิ่งต่อกรณีการดำเนินรายการพาดพิงถึงประธานาธิบดีสาธารณรัฐตุรกีโดยใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม ทางผู้บริหารขอน้อมรับในความผิดพลาดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด พร้อมทั้งขอแสดงความเสียใจ และขออภัยอย่างยิ่งต่อท่านประธานาธิบดี รวมถึงประชาชนชาวตุรกี โดยทางสถานีได้ลงโทษด้วยการระงับรายการทุกรายการของ พีรพล ทันที โดยห้ามปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับรายการของทางสถานีฯ อย่างไม่มีกำหนด
แชมป์ พูดอะไรในรายการ

แชมป์ พีรพล ในตอนแรกเขา รายงานถึงการเลิกเล่นทีมชาติเยอรมันของ โอซิล หลังถูกแฟนบอลและสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมันวิจารณ์อย่างหนัก หลังพาทีมชาติตกรอบแรกฟุตบอลโลก 2018 โดยสิ่งที่เมซุต โอซิล ถูกโจมตีมากที่สุดคือการไปถ่ายรูปคู่กับ เอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี ซึ่งกำลังมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนและอีกหลายๆ เรื่อง ก่อนฟุตบอลโลกเริ่มขึัน ทำให้โอซิลถูกมองให้เป็นแพะรับบาปในความล้มเหลวของทีมชาติเยอรมันกับการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้

ต่อมา แชมป์ พีรพล ได้อธิบายปัญหาของ ประธานาธิบดีตุรกี โดยได้ระบุว่า “เป็นผู้นำที่คนตุรกี และคนรอบโลกยี้ เพราะเผด็จการสุดๆ ทำกฎหมายให้ตัวเองสามารถครองบัลลังก์ได้ 14 ปี เยอะกว่าปกติ เยอะแยะมากมาย คนตุรกีไม่สามารถเข้าอินเตอร์เน็ต คนตุรกีไม่สามารถเข้าเว็บไซต์วิกิพีเดีย ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่คนธรรมดาสามารถเข้าไปพิมพ์อะไรก็ได้เพราะไตยิปบอกว่า มีข้อมูลที่ไม่ดีเกี่ยวกับเขา โชคดีเราอยู่ประเทศไทยเราเข้าวิกิพีเดียได้”

“5 คำที่คุณจะเห็นเยอะสุดเมื่อพูดถึง นายเรเจ็ป ไตยิป เอร์โดอัน คือ เผด็จการ / โกงเลือกตั้ง / ไม่ฟังประชาชน / กำจัดฝ่ายตรงข้ามด้วยทุกวิถีทาง / ผู้นำที่จับนักข่าวเข้าคุกมากที่สุด ซึ่งสิ่งที่คนที่ติดตามข่าวการเมืองเสียความรู้สึกกับเขามากที่สุดคือ พังสวนสัตว์, ทำลายป่า, สร้างวังขาว หลังชนะการเลือกตั้งได้สร้างวังขาวบนพื้นที่ 130 ไร่ 700,000 ตารางเมตร หรือเทียบเท่า 90 สนามบอล และมีห้องถึง 1,000 ห้อง แต่ปัญหาคือ ดันไปสร้างในป่าคุ้มครองที่มีสวนสัตว์อยู่ คนสวนใหญ่ก็งงว่าแทนที่ผู้นำจะรักษากฎหมาย ปกป้องธรรมชาติ แต่กลับทำตรงข้ามหมด ใช้งบประเทศกว่า 11,000 ล้านบาท เอางบนั้นมาช่วยประชาชนที่มีรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 20,000 บาทดีกว่าไหม คนตุรกีต่อต้านถึงขนาดว่า ตอนแรกจะมีการฉลองวันชาติที่วังขาว แต่กระแสสังคมต่อต้านเยอะมาก และก็เปลี่ยนชื่อเป็น วังแห่งความโกง วังผิดกฎหมาย บัตรเชิญที่ส่งไปคนส่วนใหญ่รับไม่ได้จนงานเปิดตัวออฟฟิตหมื่นล้านเวอร์วังต้องยกเลิกไป นี่แค่เรื่องเดียวนะครับเพราะถ้าจะเอาเรื่องอื่นด้วย 3 ชั่วโมงอาจจะไม่พอ ฝ่ายที่โจมตีโอซิลก็บอกว่า โอซิลอาจไม่ผิดถ้าเขาเป็นคนธรรมดา แต่การที่เป็นซุปตาร์กีฬาที่มีแฟนคลับรอบโลกแล้วดันไปถ่ายรูปกับผู้นำที่ภาพไม่ขาวสะอาด และดันเขียนว่า ประธานาธิบดีของฉัน ก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน มันไม่เกี่ยวแล้วหล่ะ ไอ้เรื่องเชื้อชาติอะไร แต่คุณดีใจที่คุณได้ถ่ายรูปกับผู้นำที่หลายคนทั่วโลกเขาเหนื่อยใจต่างหาก” แชมป์ พีรพล กล่าวในรายการ



บางส่วนในรายการที่แชมป์กล่าวถึงโอซิล
ตุรกีจับข้อหาหมิ่นประธานาธิบดีกว่า 2 พันคน รวมทั้งนักสิทธิมนุษยชน

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปล คอลัมนิสต์อิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กด้วยว่า กรณีนี้ว่า



กรณี “ช่อง 3 ขอโทษ ‘ปธน.ตุรกี + ถอด ‘แชมป์ พีรพล’ ทุกรายการ” เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก “freedom of expression” และเสรีภาพของสื่อ “press freedom“ หรือไม่การตัดสินว่าสื่อทำหน้าที่ดีหรือไม่ ไม่ควรตัดสินจากการที่เขาพูดแล้วทำให้มีคนโกรธ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าเออโดวานนั้นเป็นพวกขี้โกรธและช่างฟ้อง เฉพาะในปี 2016 ปีเดียว กระทรวงยุติธรรมตุรกีแถลงว่า ได้ออกหมายจับบุคคลในข้อหาหมิ่นประมาทประธานาธิบดีมากถึงเกือบ 2,000 ราย (https://bit.ly/2v4oAoQ) เรียกว่าขยันฟ้องคนที่ด่าตัวเองมาก นี่ยังไม่นับกฎหมายอีกมากมายที่ปิดกั้นสื่อ การใช้อำนาจฝ่ายบริหารสั่งปิดสื่อเป็นร้อย ๆ แห่ง ฯลฯ

การเป็น “public figure” (บุคคลสาธารณะ) แต่ไม่อดทนกับคำด่า + คำวิจารณ์นี่เอง ทำให้คนมองว่าเออโดวานเป็น “เผด็จการ” แบบที่แชมป์ว่า

ในเยอรมนี มีกรณีที่คล้ายคลึงกันคือ Jan Böhmermann คอมเมเดียนที่ได้อ่านบทกวีล้อเลียนเสียดสีเออโดวานออกอากาศทางทีวีเยอรมนีเมื่อมี.ค. 2016 รัฐบาลตุรกีกดดันให้ทางการเยอรมันสอบสวนเรื่องนี้ และแจ้งข้อหาอาญาต่อนายเบอเมอร์มัน ฐานหมิ่นประมาทประมุขต่างชาติ ใช้อำนาจตามกฎหมายโบราณตั้งแต่ปี 1871 ต่อมารัฐบาลเยอรมนียอมให้อัยการสอบเรื่องนี้ (การฟ้องคดีอาญาต้องได้รับความเห็นชอบจากครม.เยอรมัน) ทำให้แมร์เกิลถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า ไม่ปกป้อง “press freedom”

อย่างไรก็ดี สุดท้ายอัยการเยอรมันมีความเห็นไม่สั่งฟ้องอาญาต่อนายเบอเมอร์มัน โดยเห็นว่าเป็นการแสดงความเห็นเสียดสี แต่ไม่ถึงขั้นมีเจตนาในการดูหมิ่น แต่เออโดวานได้ฟ้องเขาทางแพ่งด้วย ซึ่งศาลไม่ได้ลงโทษนายเบอเมอร์ เพียงแต่สั่งไม่ให้อ่านบทวีชิ้นนี้อีก (เฉพาะ 18 จาก 24 บรรทัด อ่านไม่ได้) ท่านที่สนใจเสิร์ชหากวีบทนี้ในเน็ตได้

ประเด็นการวิจารณ์เออโดวาน ผมเห็นว่าสามารถทำได้ เพราะเขาเป็นบุคคลสาธารณะ ผิดถูกอย่างไร ตัดสินกันตรงนั้น ไม่ใช่ตัดสินจากแค่ว่ามันทำให้คนที่ถูกวิจารณ์โกรธ ก็ถ้าจะไม่ให้คนโกรธ แล้วจะวิจารณ์ทำไม

เป็นที่น่าเสียดายว่า ในบรรดาพี่น้องมุสลิมเท่าที่ผมเจอ แม้จะก้าวหน้าแค่ไหนก็เดารพเออโดวานราวกับ “เทวรูป” มันเป็น “idolatry” ซึ่งความจริงก็ขัดกับหลักศาสนาของตัวเองแท้ ๆ เห็นว่า “แชมป์” โดนพวกมุสลิมทุกระดับวิจารณ์ยับ นับว่าน่าเสียดายว่า ความคิดของอิสลามกับโลกประชาธิปไตยสมัยใหม่ มีช่องว่างมากมายจริง ๆ

นอกจากมีรายงานการจับบุคคลในข้อหาหมิ่นประมาทประธานาธิบดีตุรกีมากถึงเกือบ 2,000 ราย แล้ว เมื่อ ก.ค.ปีที่แล้ว ตุรกี ยังคุมขังอิดิล เอสซา (Idil Eser) ผู้อำนวยการองค์กรแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลประจำตุรกีผู้ถูกคุมขังโดยไม่สามารถติดต่อได้พร้อมกับผู้แทนขององค์กรเฮลซิงกิซิติเซนแอสเซมบลี (Helsinki Citizens’ Assembly) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสันติภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนจากยุโรป ขณะที่พวกเขากำลังฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านความปลอดภัยทางดิจิทัลบนเกาะบูยูกาดาในเมืองอิสตันบูล โดยก่อนหน้านั้นทางการตุรกีก็เพิ่งจับกุม ทาเนอร์ คิลิจ ประธานแอมเนสตีประจำตุรกีรวมถึงทนายความ 22 คน โดยอ้างว่ามีส่วนเกียวข้องกับกลุ่มของเฟตุลเลาะห์ กูเลน อดีตครูสอนศาสนาที่เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและลี้ภัยอยู่นอกประเทศด้วย

[full-post]

ภาพบัตรลงคะแนนเลือกตั้งที่กัมพูชา (ที่มา: Flickr/ Daniel Littlewood)

Posted: 27 Jul 2018 08:43 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-07-27 22:43



ตัวแทนแรงงานกัมพูชาในไทยออกคำร้องถึงเลขาธิการยูเอ็น เรียกร้องให้ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งกัมพูชาที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์นี้ พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้นำพรรคฝ่ายค้าน CNRP ที่ถูกจองจำ รวมถึงให้สิทธิ์สมาชิกพรรค CNRP ที่ถูกยุบพรรคกลับมาเล่นการเมืองได้ใหม่

27 ก.ค. 2561 ผู้แทนแรงงานกัมพูชาในไทยได้ออกคำร้องถึงอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กรณีกัมพูชาจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 29 ก.ค. ที่จะถึงนี้ โดยมีใจความและข้อเรียกร้องเจ็ดข้อดังนี้


คำร้องจากแรงงานกัมพูชาในไทยถึงเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ

ประชาธิปไตยในกัมพูชากำลังตายลง รัฐบาลกัมพูชาได้ยุบพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา (CNRP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวที่เห็นได้ในกัมพูชา และได้จองจำ เนรเทศหัวหน้าของพรรคในฐานะหนึ่งความพยายามที่จะปิดปากพรรคฝ่ายค้านอย่างแท้จริง ในวันที่ 16 พ.ย. 2560 ศาลฏีกาอันเป็นเครื่องมือของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ได้ยุบพรรค CNRP และตัดสิทธิ์พรรคดังกล่าวซึ่งได้รับเลือกตั้งจากเสียงถึงร้อยละ 44 ออกจากการลงเลือกตั้งในการเลือกตั้งปีนี้ ซึ่งเป็นการทำลายความหวังในการมีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม

โรนา สมิธ ผู้แทนพิเศษขององค์การสหประชาชาติในกัมพูชากล่าวว่า “ไม่มีการเลือกตั้งใดจะเป็นการเลือกตั้งที่แท้จริงหากขาดซึ่งการแข่งขันของพรรคฝ่ายค้าน” ไม่ควรมีใครถูกบังคับให้ไปเข้าร่วมการเลือกตั้งที่หลอกลวง และในทางกลับกัน ผู้คนควรที่จะต้องคว่ำบาตรมัน (การเลือกตั้ง)

กรรมการการเลือกตั้งกัมพูชาที่ได้รับอำนาจจากกฎหมายการเลือกตั้งให้จัดการเลือกตั้ง ตรวจสอบและจับตาดูการเลือกตั้งในทุกแง่มุมตั้งแต่การลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง การลงทะเบียนพรรคและผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อพิสูจน์ความแม่นยำในการนับคะแนนเลือกตั้งนั้น ได้สูญเสียความเป็นกลางและความเป็นอิสระเนื่องจากสมาชิกทั้งเก้าคนนั้นถูกควบคุมโดยพรรครัฐบาลหลังตัวแทนอีกสามคนที่ได้รับเลือกจากสภาแห่งชาติอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญที่มาจากพรรค CNRP ได้ลาออกไป

กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาหลังจากผ่านปีแห่งความขัดแย้งและนองเลือด กัมพูชาเกือบเป็นประเทศที่ได้รับความสำคัญที่สุดในโลก ในเวลาต่อมามี 18 ประเทศได้ร่วมเป็นผู้แทนในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีสในปี 2534 เพื่อร่างข้อตกลงในการฟื้นฟูและคงไว้ซึ่งสันติภาพ รณรงค์ให้เกิดความปรองดองและเกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเสรีประชาธิปไตยที่มีการพิทักษ์ซึ่งสิทธิมนุษยชน ข้อตกลงที่ได้รับจากสหประชาชาติได้เป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูสันติภาพในกัมพูชา รวมถึงการเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชนและการมีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม แต่แทนที่พรรครัฐบาลปัจจุบันจะยึดถือหลังนิติรัฐแบบประชาธิปไตย เคารพซึ่งสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นบาน พวกเขากลับมีทีท่าในลักษณะเผด็จการ เข้าควบคุมเสรีภาพขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชนโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องเสถียรภาพทางการเมืองและพัฒนาการทางเศรษฐกิจ

พวกเราจึงร้องขอให้สหประชาชาติในฐานะที่เป็นผู้รักษาสันติภาพของโลก และผู้มีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูสันติภาพของกัมพูชาดังนี้
ไม่ให้ความชอบธรรมกับการเลือกตั้งในวันที่ 29 ก.ค. 2561 และผลการเลือกตั้งที่หลอกลวง
ไม่ยอมรับรัฐบาลที่ขัดต่อกฎหมายและไม่ให้ที่นั่งผู้แทนกัมพูชาในสหประชาชาติ
ให้ฟื้นฟูประชาธิปไตยในกัมพูชาด้วยการผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ที่เสรีและยุติธรรม ด้วยการมีส่วนร่วมของพรรค CNRP ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง (อย่างน้อยภายในหกเดือน)
ประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศใดๆ ที่ยอมรับการเลือกตั้งที่หลอกลวงและเพิกเฉยต่อเจตนารมณ์ของผู้ลงคะแนนเสียงสามล้านคนถือเป็นผู้ร่วมกระทำผิดในการทำลายประชาธิปไตยและเหยียบย่ำสิทธิมนุษยชน
เรียกร้องให้ปล่อยตัวกึม สุขขา หัวหน้าพรรค CNRP และนักโทษการเมืองทั้งหมดอย่างทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข
ให้สิทธิ์อย่างครบถ้วนกับเหล่าผู้นำพรรค CNRP ทั้ง 118 คนเพื่อให้พวกเขาใช้สิทธิทางการเมือง
เรียกร้องให้ฟื้นฟูความเป็นอิสระของสื่อมวลชนและปกป้องนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน

พวกเราหวังและเชื่อว่าเลขาธิการสหประชาชาติจะมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือกัมพูชาจากระบอบเผด็จการและคอมมิวนิสต์

ลี รัตนรักเสมย ผู้แทนแรงงานกัมพูชาในไทย

คำร้องของพวกเขาอ้างว่ามีผู้ร่วมลงนามกับคำร้องนี้จำนวน 117,379 คน

ในการเลือกตั้งกัมพูชา 29 กรกฎาคมนี้ ผู้สังเกตการณ์นานาชาติแสดงความกังวลว่าจะเป็นเพียงการสืบทอดอำนาจของผู้นำตลอดกาลอย่างฮุนเซ็นและพรรคประชาชนกัมพูชา ซึ่งก่อนเลือกตั้งมีการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ได้แก่ ยุบพรรคสงเคราะห์ชาติ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านคู่แข่ง จับกุมและฟ้อง กึม สุขขา แกนนำพรรคฝ่ายค้านโดยตั้งข้อหาทรยศชาติ มีการกวาดล้างเครือข่ายพรรคสงเคราะห์ชาติทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น จนทำให้อดีต ส.สพรรคสงเคราะห์ชาติจำนวนมากลี้ภัยไปต่างประเทศ รวมทั้งสม รังสี

และในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกลายเป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลกัมพูชา

นอกจากนี้ยังมีการปิดสื่อ โดยในเดือน ส.ค. 2560 รัฐบาลกัมพูชาปิดสถานีวิทยุหลายแห่งที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ได้แก่ วิทยุเอเชียเสรี (RFA) วิทยุวอยซ์ออฟอเมริกา (VOA) เรียกเก็บภาษีย้อนหลัง 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐจากหนังสือพิมพ์เดอะ แคมโบเดีย เดลี หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษที่มีบทบาทวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ส่งผลให้หนังสือพิมพ์ต้องยุติการตีพิมพ์ในเดือนกันยายน 2560 นอกจากนี้ศิวะกุมาร คณปติ นักลงทุนมาเลเซียซึ่งใกล้ชิดกับรัฐบาลกัมพูชายังเข้าซื้อกิจการ "พนมเปญโพสต์" หนังสือพิมพ์อิสระภาษาอังกฤษฉบับสุดท้าย ตามด้วยการไล่บรรณาธิการ และทีมงานอีก 4 ราย

โดยในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 29 ก.ค. นี้ พรรคประชาชนกัมพูชานำโดยฮุนเซ็นซึ่งครองอำนาจมาแล้ว 33 ปี จะต้องแข่งกับพรรคฝ่ายค้านเล็กๆ ที่เหลืออยู่อย่าง พรรคประชาธิปไตยมูลฐาน (GDP) พรรคสัมพันธ์เพื่อประชาธิปไตย (LDP) ส่วนพรรคใหญ่อีกพรรคอย่างฟุนซินเปก แกนนำของพรรคคือสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์บาดเจ็บสาหัส ส่วนพระชายาเสียชีวิต ต้องเสด็จมาประทับรักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร ด้านอดีตสมาชิกพรรคสงเคราะห์ชาติ รณรงค์คว่ำบาตรการเลือกตั้งที่พวกเขาเห็นว่าไม่เป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม ขณะที่รัฐบาลและ กกต. ขู่จะเอาผิดคนรณรงค์คว่ำบาตรเลือกตั้ง


Posted: 26 Jul 2018 12:14 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-07-26 14:14


กก.นักนิติศาสตร์สากลส่ง 8 ข้อเสนอให้ กก.ปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ปมแก้ ป.วิ.อาญา และ ก.ม.กระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่การบันทึกภาพและเสียงในการจับและการค้น ในการถามคำให้การและการสอบปากคำ ข้อห้ามการกระทำอันเป็นการขัดต่อข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และ การพิจารณาคดีลับหลังจำเลย เป็นต้น

เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ได้ส่งหนังสือข้อคิดเห็นถึงคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมในประเด็นเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและ ร่าง พ.ร.บ.ระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันที่ 24 ก.ค. 2561

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ชื่นชมความพยายามของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมในการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรมมากยิ่งขึ้น และได้ขอแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ 8 ประเด็นโดยมุ่งหวังเพื่อช่วยเหลือให้คณะกรรมการฯ สามารถปรับปรุงร่างมาตราดังกล่าวให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ประกอบด้วย ก. มาตรา 13/1 การบันทึกภาพและเสียงในการจับและ/หรือการค้น ข. มาตรา 13/2 ข้อห้ามการกระทำอันเป็นการขัดต่อข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ค. มาตรา 121/2 มาตรา 123 และมาตรา 124/2 การร้องทุกข์ในคดีอาญาต่อพนักงานอัยการ การร้องทุกข์ในเขตท้องที่ใดก็ได้ และการร้องทุกข์ผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นใด

ง. มาตรา 136 การบันทึกภาพและเสียงในการถามคำให้การและการสอบปากคำ จ. มาตรา 161/1 การให้ดุลยพินิจแก่ศาลในการยกฟ้องคดีที่มีการยื่นฟ้องโดยไม่สุจริตหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย ฉ. มาตรา 165/1 ให้สิทธิจำเลยในการแถลงข้อโต้แย้งและนำเสนอพยานหลักฐานสนับสนุนข้อโต้แย้งระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง ช. มาตรา 179/1 การพิจารณาคดีลับหลังจำเลย และ ซ. ร่าง พ.ร.บ. ระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม

สำหรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล มีรายละเอียดดังนี้




วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เรียน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม
ข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและร่างพระราชบัญญัติระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม


พวกเราส่งหนังสือฉบับนี้ถึงท่านในประเด็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (“ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ”) และร่างพระราชบัญญัติระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม (“ร่าง พ.ร.บ.กระบวนการยุติธรรม”) ซึ่งมีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

พวกเราชื่นชมความพยายามของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมในการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรมมากยิ่งขึ้น ด้วยการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อีกทั้งให้มีกฎหมายว่าด้วยระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม
ร่างแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อาญา

พวกเรายินดีและชื่นชมคณะกรรมการ ฯ ที่บัญญัติมาตราดังต่อไปนี้ในร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. กระนั้นก็ตาม พวกเราขอแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังที่ระบุด้านล่างนี้โดยมุ่งหวังเพื่อช่วยเหลือให้คณะกรรมการ ฯ สามารถปรับปรุงร่างมาตราดังกล่าวให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ได้แก่
1. มาตรา 13/1 การบันทึกภาพและเสียงในการจับและ/หรือการค้น

ในมาตรานี้ การกำหนดให้มีการบันทึกการดำเนินการจับและ/หรือการค้นนั้นเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันมิให้เกิดการกะทำที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาและ/หรือผู้ถูกจับ โดยเฉพาะการละเมิดที่เกิดขึ้นจากการทรมานหรือการประทุษร้ายอื่นๆ การข่มขู่ หรือการกระทำหรือการใช้กำลังอันมิชอบด้วยกฎหมายหรืออันไม่เหมาะสมโดยเจ้าพนักงานผู้จับหรือผู้ค้น อีกทั้งยังเป็นมาตรการคุ้มครองแก่เจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายจากการถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ข้อเสนอแนะ: พวกเราขอเสนอให้ขยายความในมาตรานี้ให้ครอบคลุมไปถึงการบันทึกภาพและเสียงในสถานที่ใดก็ตามที่มีการจำกัดเสรีภาพ ซึ่งรวมถึงระหว่างการเคลื่อนย้ายตัวผู้ต้องหาและ/หรือผู้ถูกจับ เช่น บนยานพาหนะของตำรวจ การขยายความนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากการกระทำที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการทรมาน การประทุษร้ายอื่นๆ การข่มขู่ และการกระทำหรือการใช้กำลังอันมิชอบด้วยกฎหมายหรืออันไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายโดยส่วนมากแล้วมักจะถูกกล่าวอ้างว่าเกิดขึ้นระหว่างการเคลื่อนย้ายตัวผู้ถูกกักขังจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งรวมถึงการเคลื่อนย้ายตัวไปยังหรือออกจากสถานที่กักขัง[1]

ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราดังกล่าวมิได้หมายถึงเป็นการละเลยความจำเป็นในการใช้มาตรการเชิงป้องกันอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการจัดให้มีการฝึกอบรมที่เพียงพอให้กับเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายในเรื่องการใช้กำลังที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดการทรมานและการประทุษร้ายอื่นๆ โดยควรกำหนดประเด็นดังกล่าวให้ชัดเจนในกฎหมายฉบับนี้[2]

ข้อเสนอต่อเนื้อความในมาตราดังกล่าว: “ในการจับหรือค้น และในสถานที่ใดก็ตามที่มีการจำกัดเสรีภาพ ซึ่งรวมถึงระหว่างการเคลื่อนย้ายตัวผู้ต้องหาและ/หรือผู้ถูกจับขณะอยู่บนยานพาหนะของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ให้เจ้าพนักงานผู้จับ เคลื่อนย้ายตัวหรือค้นจัดให้มีการบันทึกภาพหรือเสียงซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้ เว้นแต่ เป็นกรณียกเว้นเมื่อมีความขัดข้องทางเทคนิคโดยเร่งด่วน เพื่อให้การบันทึกดังกล่าวและการจับกุมเป็นเพื่อความจำเป็นในการป้องกันอาชญากรรมร้ายแรงโดยเคร่งครัด

ทั้งนี้ ความในมาตรานี้ไม่เป็นการห้ามมิให้ใช้มาตรการเชิงป้องกันอื่นใดอันจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทรมาน การประทุษร้ายอื่นๆ การข่มขู่ หรือการกระทำหรือการใช้กำลังอันมิชอบด้วยกฎหมายหรืออันไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดแค่มาตรการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”
2. มาตรา 13/2 ข้อห้ามการกระทำอันเป็นการขัดต่อข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

ในมาตรานี้ การห้ามมิให้เผยแพร่บันทึกภาพหรือเสียงของผู้ต้องหาและ/หรือผู้ถูกจับ และการห้ามนำผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาออกแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเป็นการปกป้องสิทธิของผู้ต้องหาและ/หรือผู้ถูกจับที่ต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิดในชั้นศาล

สิทธิได้รับการสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์นั้นได้รับการคุ้มครองตามข้อ 14(2) แห่งกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ยืนยันในความเห็นทั่วไป (General Comment) เรื่องพันธกรณีของรัฐตามข้อ14 และสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมว่าเจ้าพนักงานของรัฐทุกคนมีหน้าที่`ที่จะต้องมิทำการที่เป็นการด่วนสรุปผลการพิจารณาคดี ผ่านการงดเว้นการแถลงต่อสาธารณะเกี่ยวกับความผิดของผู้ต้องหา และสื่อมวลชนก็ควรงดเว้นการแถลงข่าวที่เข้าข่ายลิดรอนสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเช่นกัน[3]

ข้อเสนอแนะ: เพื่อการคุ้มครองสิทธิในการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้ ICCPR พวกเราขอเสนอให้ขยายความในมาตรานี้ โดยให้กำหนดหน้าที่รวมไปถึงเจ้าพนักงานของรัฐทุกคน และกำหนดให้ผู้ต้องสงสัยและ/หรือผู้ถูกจับได้รับการคุ้มครองจนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิดในชั้นศาล ทั้งนี้โดยไม่จำกัดหน้าที่เฉพาะสำหรับ “เจ้าพนักงานผู้จับหรือรับตัวผู้ถูกจับหรือพนักงานสอบสวน” และ “ในชั้นจับกุมหรือระหว่างสอบสวน” พวกเรายังขอเน้นย้ำว่าการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 13/2 เพื่อป้องกันมิให้มี “การกระทำการอื่นใดอันมีลักษณะเป็นการประจานผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา” ควรบัญญัติอย่างชัดเจนให้รวมถึงหน้าที่ในการละเว้นการแถลงต่อสาธารณะที่เป็นการด่วนสรุปความผิดของผู้ต้องหา (prejuding the guilt of a suspect) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

ข้อเสนอต่อเนื้อความในมาตราดังกล่าว: “ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐทุกคนนำผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาออกแถลงข่าวหรือจัดให้บุคคลดังกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่าผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีความผิดโดยศาล

เจ้าพนักงานของรัฐทุกคนตามวรรคหนึ่งต้องไม่เผยแพร่ภาพหรือเสียงของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาต่อสาธารณชนหรือยินยอมให้บุคคลซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่บันทึกภาพหรือเสียงของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาหรือกระทำการอื่นใดอันมีลักษณะเป็นการประจานผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา ซึ่งรวมถึงการละเว้นไม่แถลงต่อสาธารณะในลักษณะเป็นการด่วนสรุปว่าผู้ต้องหามีความผิด แต่ทั้งนี้ มิให้รวมถึงการกระทำตามความจำเป็นและสมควรเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนหรือติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด”
3. มาตรา 121/2 มาตรา 123 และมาตรา 124/2 การร้องทุกข์ในคดีอาญาต่อพนักงานอัยการ การร้องทุกข์ในเขตท้องที่ใดก็ได้ และการร้องทุกข์ผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นใด

มาตรา 121/2 ให้สิทธิในการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษในคดีอาญาต่อพนักงานอัยการ หากพนักงานสอบสวนไม่รับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ มาตรา 123 ให้สิทธิในการร้องทุกข์ในเขตท้องที่ใดก็ได้ และมาตรา 124/2 ให้สิทธิในการร้องทุกข์ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นใด ทั้งนี้ พวกเรายินดีกับการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตราดังกล่าว เนื่องจากมาตราดังกล่าวช่วยในการประกันว่าจะไม่มีบุคคลใดถูกริดรอนสิทธิในการเรียกร้องความยุติธรรมในเชิงวิธีปฏิบัติ

นอกจากนี้ การให้สิทธิในการร้องทุกข์ในคดีอาญาผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นใดยังมีส่วนช่วยให้ผู้เสียหายในคดีที่เกี่ยวข้องกับภัยต่อร่างกายหรือการทำร้ายร่างกาย ซึ่งรวมถึงการทรมาน การประทุษร้ายอื่นๆ ความรุนแรงทางเพศ การข่มขืน และการทำร้ายทางเพศหรือการทำร้ายอื่นใด สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น เนื่องจากในคดีดังกล่าวผู้เสียหายมักไม่ประสงค์ที่จะยื่นคำร้องทุกข์ด้วยตนเอง[4]

ข้อเสนอต่อเนื้อความในมาตราดังกล่าว: ไม่มี
4. มาตรา 136 การบันทึกภาพและเสียงในการถามคำให้การและการสอบปากคำ

ในมาตรานี้ การกำหนดให้พนักงานสอบสวน “จัดให้มี” การบันทึกภาพและเสียงระหว่างการถามคำให้การหรือการสอบปากคำผู้ต้องหา เป็นมาตรการที่น่าชื่นชม เนื่องจากเป็นมาตรการเชิงป้องกันที่สำคัญ จากการกระทำที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องสงสัยและ/หรือผู้ถูกจับ ดังกล่าวข้างต้น

ข้อเสนอแนะ: อย่างไรก็ดี ควรกำหนดให้มีการดำเนินการบันทึกภาพและเสียงในทุกการสอบปากคำ[5] โดยไม่คำนึงถึงอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับข้อหาความผิด เนื่องด้วยอัตราโทษนั้นไม่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่จะเกิดการละเมิด เพื่อเป็นการประกันว่าการสอบสวนจะดำเนินไปอย่างโปร่งใสและชอบด้วยกฎหมาย พวกเราขอเสนอให้มีการดำเนินการบันทึกภาพและเสียง ไม่เพียงเฉพาะระหว่างการสอบสวนทุกครั้ง แต่ยังรวมไปถึงระหว่างการสัมภาษณ์ใดที่ดำเนินโดยเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายกับบุคคลนอกเหนือจากผู้ต้องสงสัยและ/หรือผู้ถูกจับ ซึ่งได้แก่กับพยานและผู้ร้องทุกข์

การห้ามไม่ให้นำข้อมูลอันได้มาจากการสอบสวนหรือการสัมภาษณ์ที่ไม่มีการบันทึก [ภาพและเสียง] มาใช้ในชั้นศาลนั้นก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้พยานหลักฐานอันได้มาจากการทรมานหรือการประทุษร้ายถูกนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาล [6] ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องห้ามภายใต้กฎหมายไทยรวมถึงภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทย ได้แก่ ข้อ 15 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ที่ประเทศไทยเป็นภาคี

เช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ข้างต้น การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราดังกล่าวไม่เป็นการห้ามมิให้ใช้มาตรการเชิงป้องกันอื่นใดอันจำเป็น ซึ่งรวมถึงการจัดให้มีการฝึกอบรมที่เพียงพอให้กับเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายในเรื่องการใช้กำลังที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดการทรมานและการประทุษร้ายอื่นๆ โดยควรกำหนดประเด็นดังกล่าวให้ชัดเจนในกฎหมายฉบับนี้

นอกจากนี้ ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น การบันทึก [ภาพและเสียง] ระหว่างการสอบสวนและการสัมภาษณ์ยังมีส่วนช่วยเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายในการโต้แย้งหากถูกกล่าวหาว่ามีการละเมิดหรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งยังมีส่วนช่วยหากผู้ต้องหา ผู้ถูกจับ พยาน หรือผู้ร้องทุกข์กลับคำที่ให้ไว้ระหว่างการสอบสวนหรือการสัมภาษณ์[7]

ข้อเสนอต่อเนื้อความในมาตราดังกล่าว:“การถามคำให้การ การร้องทุกข์ หรือการสอบปากคำผู้ต้องหา ผู้ถูกจับกุม พยาน หรือผู้ร้องทุกข์ใด ในคดีที่มีข้อหาความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้ เว้นแต่ เป็นกรณียกเว้นเมื่อมีความขัดข้องทางเทคนิคโดยเร่งด่วน เพื่อให้การบันทึกดังกล่าวและการจับกุมเป็นเพื่อความจำเป็นในการป้องกันอาชญากรรมร้ายแรงโดยเคร่งครัด

ห้ามมิให้นำข้อมูลใดก็ตามที่ได้มาจากการสอบสวน การถามคำให้การ หรือการสอบปากคำที่ไม่มีการบันทึกภาพหรือเสียงมาใช้เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาคดีของศาล

ทั้งนี้ ความในมาตรานี้ไม่เป็นการห้ามมิให้ใช้มาตรการเชิงป้องกันอื่นใดอันจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทรมาน การประทุษร้ายอื่นๆ การข่มขู่ หรือการกระทำหรือการใช้กำลังอันมิชอบด้วยกฎหมายหรืออันไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดแค่มาตรการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”
5. มาตรา 161/1 การให้ดุลยพินิจแก่ศาลในการยกฟ้องคดีที่มีการยื่นฟ้องโดยไม่สุจริตหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย

พวกเราชื่นชมบทบัญญัติมาตรานี้ที่มีไว้เพื่อป้องกันการดำเนินคดีที่ไม่จำเป็นและสร้างความเดือนร้อนให้กับจำเลย อันจะช่วยป้องกันมิให้มีการใช้ระบบกฎหมายในทางมิชอบเพื่อกลั่นแกล้งจำเลย

ข้อเสนอแนะ: พวกเราเข้าใจว่าเจตนารมณ์ของมาตรานี้นั้นมีไว้เพื่อป้องกันการดำเนินการในทางมิชอบโดยการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (strategic litigation against public participation หรือ SLAAP)[8]ซึ่งรวมถึงการใช้มาตรการหมิ่นประมาททางอาญาตลอดจนกฎหมายอื่น ๆ อาทิ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ และฐานความผิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยุยงปลุกปั่น เพื่อคุกคามผู้ใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

พวกเราชื่นชมเจตนารมณ์และความพยายามของคณะกรรมการ ฯ ในการป้องกันไม่ให้มีการใช้ SLAPP อย่างไรก็ดีพวกเรายังคงห่วงกังวลเนื่องจากในร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีการกำหนดคำนิยามที่ชัดเจนของคำว่า “ไม่สุจริต” หรือ “บิดเบือนข้อเท็จจริง” ถ้าหากมาตรานี้บัญญัติขึ้นโดยมีเจตนารมณ์ไว้เพื่อปกป้องบุคคลจากการกลั่นแกล้งทางกฎหมาย บทบัญญัติดังกล่าวควรต้องบัญญัติให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเป็นองค์ประกอบหลักสำหรับการพิจารณาใช้ดุลยพินิจยกคำฟ้องที่มีลักษณะเป็น SLAPP มิใช่เพียงองค์ประกอบที่ว่าการฟ้องคดีเป็นไปโดย “ไม่สุจริต” หรือ “บิดเบือนข้อเท็จจริง”

นอกจากนี้ พวกเรายังห่วงกังวลว่าแม้ว่ามาตรานี้มีไว้เพื่อต่อต้านการใช้กฎหมายในทางที่มิชอบเพื่อกลั่นแกล้งและข่มขู่บุคคล แต่กลับถูกบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้ มาตราดังกล่าวไม่สามารถและไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นมาตรการคุ้มครองจากการดำเนินคดี SLAPP เนื่องจากมาตราดังกล่าวเป็นบทบัญญัติทางอาญา พวกเราไม่เห็นด้วยที่จะปล่อยให้มีการดำเนินคดีอาญาเพื่อข่มขู่และกลั่นแกล้งบุคคลผู้ที่ใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตั้งแต่แรก จึงทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีบทบัญญัติในเชิง “ป้องกัน” ดังกล่าว ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาสำหรับคุ้มครองจากการดำเนินคดีเช่นว่า

ทั้งนี้ พวกเราจึงขอเสนอให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติกฎหมายภายใน รวมถึงบทบัญญัติดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เพื่อประกันว่าการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานจะไม่เป็นความผิดอาญาภายใต้กฎหมายไทย อีกทั้งให้มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันนี้ในทางแพ่งเพื่อป้องกันการดำเนินคดีที่ไม่จำเป็นและสร้างความเดือดร้อนให้กับจำเลย และปกป้องการดำเนินคดีทางแพ่งจาก SLAPP

ข้อเสนอต่อเนื้อความในมาตราดังกล่าว: ไม่มี อย่างไรก็ตามโปรดพิจารณาข้อสังเกตข้างต้นว่าพวกเราไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรานี้เป็นมาตรการป้องกันการดำเนินคดีด้วย SLAPP ในขณะที่ยังไม่มีการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิมที่ถูกใช้ในทางมิชอบเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
6. มาตรา 165/1 ให้สิทธิจำเลยในการแถลงข้อโต้แย้งและนำเสนอพยานหลักฐานสนับสนุนข้อโต้แย้งระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง

ในมาตรานี้ จำเลยมีสิทธิในการแถลงข้อต่อสู้ นำเสนอและเรียกพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ของตน อันเป็นพัฒนาการที่สำคัญและจำเป็นต่อการประกันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมในการสู้คดี ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามข้อ 14(3) แห่ง ICCPR

พวกเราขอเรียนว่า แม้ว่าในภาพรวมระบบกฎหมายของประเทศไทยจะดำเนินตามอย่างระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (civil law) ระบบกล่าวหาที่ปรากฏในระบบกฎหมายจารีตประเพณี (common law) กลับมีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการระบบกฎหมายของประเทศไทยโดยเฉพาะในการพิพากษาคดี รวมถึงกฎหมายวิธีสบัญญัติและกฎหมายพยานหลักฐาน การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรานื้ถือเป็นการผนวกแนวปฏิบัติที่ดีของระบบกล่าวหาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายของประเทศไทย

ข้อเสนอต่อเนื้อความในมาตราดังกล่าว: ไม่มี
7. มาตรา 179/1 การพิจารณาคดีลับหลังจำเลย

ในมาตรานี้ ศาลสามารถดำเนินการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ในกรณีที่จำเลยไม่สามารถปรากฏตัวต่อศาลเนื่องจากความเจ็บป่วย ในกรณีที่จำเลยหรือผู้แทนจำเลยยังไม่ถูกจับตัว ในกรณีที่จำเลยหลบหนีจากสถานที่กักขัง และในกรณีที่จำเลยออกจากห้องพิจารณาเพราะศาลสั่งหรือโดยไม่ได้รับอนุญาต

ข้อ 1 4(3) แห่ง ICCPR รับรองสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีต่อหน้าบุคคลนั้น โดยสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ดี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ยอมรับว่าการจำกัดสิทธิประการนี้ด้วยการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยจะสามารถกระทำได้ก็แต่เฉพาะในสถานการณ์ที่พิเศษยิ่งเท่านั้น โดยกระบวนพิจารณาดังกล่าวจะเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อเป็นการดำเนินการเพื่อการบริหารงานยุติธรรมที่เหมาะสม เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้รับแจ้งนัดพิจารณาล่วงหน้าอย่างเหมาะสมแล้ว แต่กลับปฏิเสธที่จะใช้สิทธิในการปรากฏตัวต่อหน้าศาล[9]

ข้อเสนอแนะ: พวกเราเสนอให้เพิ่มความในมาตรานี้ โดยกำหนดให้ศาลต้องพิสูจน์ว่าได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหาภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และแจ้งวันเวลาและสถานที่สำหรับการพิจารณาคดีให้ทราบล่วงหน้าและเรียกให้ [ผู้ถูกกล่าวหา] มาร่วมฟังการพิจารณาคดี และข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ถูกกล่าวหาปฏิเสธที่จะมาฟังการพิจารณาหรือไม่ โดยมาตรการที่จำเป็นทั้งปวงจะต้องดำเนินให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย[10]

นอกจากนี้ยังควรระบุไว้ในมาตรานี้ด้วยว่า บุคคลผู้ถูกพิพากษาว่ามีความผิดโดยการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย มีสิทธิได้รับการเยียวยา ซึ่งรวมถึงสิทธิในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ต่อหน้าบุคคลนั้น ในโอกาสแรกที่บุคคลนั้นทราบถึงการดำเนินคดีเช่นว่า พร้อมกับแสดงความประสงค์ที่จะเข้าร่วมและสามารถเข้าร่วมการพิจารณาคดีเช่นว่าได้[11]

อีกทั้งหากผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดโดยการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยประสงค์ที่จะ โต้แย้งว่าการพิจารณาคดีดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้นลับหลังตนเอง ภาระในการพิสูจน์ว่าตนมิได้จงใจหลบเลี่ยงกระบวนการยุติธรรมหรือในการพิสูจน์ว่าเหตุที่ตนไม่ปรากฏตัวเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยจะต้องไม่ตกอยู่แก่บุคคลผู้นั้น[12]

ข้อเสนอต่อเนื้อความในมาตราดังกล่าว: [เสนอแนะให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 179/2]

“ในการใช้ดุลยพินิจพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ศาลจะต้องพิจารณาว่ากรณีครบองค์ประกอบดังต่อไปนี้:

(1) ได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นสำหรับการออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหาภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และแจ้งวันเวลาและสถานที่สำหรับการพิจารณาคดีของผู้ถูกกล่าวหาให้ทราบล่วงหน้าแล้ว และเรียกให้ [ผู้ถูกกล่าวหา] มาเข้าร่วม [การพิจารณาคดี] และ

(2) ผู้ถูกกล่าวหาปฏิเสธที่จะมาฟังการพิจารณา

หากมีการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยและมีผู้ต้องคำพิพากษาว่ามีความผิดในการพิจารณาคดีดังกล่าว แล้วในภายหลังบุคคลดังกล่าวจึงทราบถึงการพิจารณาคดีนั้น บุคคลผู้นั้นมีสิทธิได้รับการเยียวยา ซึ่งรวมถึงสิทธิในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ต่อหน้าผู้นั้น นับแต่โอกาสแรกที่ผู้นั้นทราบเกี่ยวกับการพิจารณาคดีดังกล่าว พร้อมกับแสดงความประสงค์และสามารถเข้าร่วมการพิจารณาคดีเช่นว่าได้

ทั้งนี้ หากผู้ที่ต้องคำพิพากษาว่ามีความผิดโดยการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยประสงค์ที่จะโต้แย้งว่าการพิจารณาคดีดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้นลับหลังตนเอง ผู้นั้นไม่มีภาระในการพิสูจน์ว่าตนมิได้จงใจหลบเลี่ยงกระบวนการยุติธรรมหรือในการพิสูจน์ว่าเหตุที่ตนไม่ปรากฏตัวเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย”
ร่าง พ.ร.บ. กระบวนการยุติธรรม

พวกเรายินดีและชื่นชมคณะกรรมการ ฯ ที่เสนอบทบัญญัติต่าง ๆ ในร่าง พ.ร.บ. กระบวนการยุติธรรม เพื่อประกันการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็ว อันได้รับการคุ้มครองตามข้อ 14(3) แห่ง ICCPR พวกเรายังชื่นชมมาตรา 8 ของร่าง พ.ร.บ. กระบวนการยุติธรรม ที่เสนอโดยคณะกรรมการ ฯ เนื่องจากเป็นการบัญญัติกฎหมายให้มีการระบุผู้รับผิดชอบเป็นการเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่แจ้งให้ผู้เสียหาย ญาติผู้เสียหาย มิตรหรือทนายความทราบถึงพัฒนาการและความคืบหน้าของการดำเนินงาน

ในประการนี้ พวกเราขอเน้นย้ำว่าการรายงานพัฒนาการและความคืบหน้าในการดำเนินงานนั้นต้องกระทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และต้องกระทำโดยผู้ประสานงานที่ได้รับมอบหมายในเชิงรุก โดยมิต้องให้ฝ่ายผู้เสียหาย ญาติผู้เสียหาย มิตรหรือทนายความเป็นผู้ต้องดำเนินการร้องขอข้อมูลดังกล่าว[13]

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล(International Commission of Jurists หรือ ICJ) มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลไทยและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทย เพื่อให้สอดรับกับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนในประเทศไทย และเพื่อประกันว่าประเทศไทยจะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

หากมีข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือคำแนะนำประการใด โปรดติดต่อมายังข้อมูลติดต่อข้างต้น

ขอแสดงความนับถือ

(ลงลายมือชื่อ)

คิงส์ลี่ย์ แอ๊บบ็อต

ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล





[1] โปรดดู สมาคมป้องกันการทรมาน (Association for the Prevention of Torture), ‘Factsheet (เอกสารข้อเท็จจริง): การบันทึกภาพระหว่างการควบคุมตัวของตำรวจ – การขจัดปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องกันการทรมานและการประทุษร้าย’, พิมพ์ครั้งที่ 2 , ค.ศ.2015 , https://www.apt.ch/content/files_res/factsheet-2_using-cctv-en.pdf, โปรดดู คณะอนุกรรมการว่าด้วยการป้องกันการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Subcommittee on Prevention of Torture and Other Cruel,Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ SPT), รายงานการเยือนประเทศเม็กซิโกของของ SPT, CAT/OP/ MEX/1 31 พฤษภาคม ค.ศ.2010 , ย่อหน้า 141, https://tbinternet.ohchr.org/_layouts/treatybodyexternal/Download.aspx?symbolno=CAT%2FOP%2FMEX%2F1&Lang=en.


[2] อ้างแล้ว


[3] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, 'ความเห็นทั่วไปที่ 32ข้อ 14 สิทธิได้รับการพิจารณาอย่างเท่าเทียมต่อหน้าศาลและคณะตุลาการ และได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม’, 23 สิงหาคม 2007 , CCPR/C/GC/32, ย่อหน้า 30, (‘HRC GC 32’), http://www.refworld.org/docid/478b2b2f2.html


[4] HRC GC No. 32 ย่อหน้า 9


[5] คณะกรรมการต่อต้านการทรมาน ‘ความเห็นทั่วไปที่ 2 อนุสัญญาว่าด้วยว่าด้วยการป้องกันการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี,24 มกราคม ค.ศ.2008, CAT/C/GC/2, ย่อหน้า 14 http://docstore.ohchr.org/SelfServices/FilesHandler.ashx?enc=6QkG1d%2FPPRiCAqhKb7yhskvE%2BTuw1mw%2FKU18dCyrYrZhDDP8yaSRi%2Fv43pYTgmQ5n7dAGFdDalfzYTJnWNYOXxeLRAIVgbwcSm2ZXH%2BcD%2B%2F6IT0pc7BkgqlATQUZPVhi ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการป้องกันการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ‘รายงานระหว่างรอบปีของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการป้องกันการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี’ 10 สิงหาคม ค.ศ. 2010. UN Doc. A/65/273 ย่อหน้า75, http://www2.ohchr.org/english/issues/torture/rapporteur/docs/A.65.273.pdf ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการป้องกันการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ‘รายงานของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยข้อคำถามเกี่ยวกับการทรมานภายใต้มติของคณะกรรมาธิการที่ 2002/38, 17 ธันวาคม 2002, , E/CN.4/2003/68 ย่อหน้า26(g)https://undocs.org/E/CN.4/2003/68


[6] ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการป้องกันการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ‘รายงานของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยข้อคำถามเกี่ยวกับการทรมานภายใต้มติของคณะกรรมาธิการที่ 2002/38, 17 ธันวาคม 2002, , E/CN.4/2003/68 ย่อหน้า 26(g) https://undocs.org/E/CN.4/2003/68


[7] คณะกรรมการเพื่อป้องกันการทรมานของยุโรป (European Committee for the Prevention of Torture หรือ CPT), ‘มาตรฐาน CPT’, 2011, CPT/Inf/E (2002) 1 – Rev. 2011, หน้า 9, ย่อหน้า 36, http://www.psychargos.gov.gr/Documents2/ΝΕΑ/eng-standards.pdf


[8] ตัวอย่าง ประเทศไทย, ‘สิทธิในการตอบข้อซักถาม’, วาระที่ 4 การอภิปรายทั่วไป (ต่อ) การประชุมครั้งที่ 35 สมัยการประชุมสามัญครั้งที่ 37 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน, คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน, 14 มีนาคม ค.ศ.2018 , (เวลา 2:51:00) http://webtv.un.org/meetings-events/treaty-bodies/watch/item4-general-debate-contd-35th-meeting-37th-regular-session-human-rights-council/5751616281001/?term=&lan=original, โปรดดู ศาลยุติธรรม, ‘ หลักการและเหตุผลเบื้องหลังการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ....’, 2561 ,, http://www.jla.coj.go.th/doc/data/jla/jla_1521605382.pdf ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีบทบัญญัติคล้ายกับมาตรา 161/1


[9] HRC GC No. 32 ย่อหน้า 36


[10] อ้างแล้ว; คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, ‘Maleki v Italy’, ข้อมูลติดต่อเลขที่ 699/1996, UN Doc. CCPR/C/66/D/699/1996, 27 กรกฎาคม 1999, ย่อหน้า 9.4, http://hrlibrary.umn.edu/undocs/session66/view699.htm ; องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, ‘คู่มือการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม’ , 2014, หน้า 158, https://www.amnesty.org/download/Documents/8000/pol300022014en.pdf


[11] HRC GC No. 32 ย่อหน้า54; ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป, , ‘Colozza v Italy (9024/80)’, 12 กุมภาพันธ์ 1985, ย่อหน้า 29, https://www.juridice.ro/wp-content/uploads/2018/04/CASE_OF_COLOZZA_v._ITALY_08.pdf; คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, ‘Maleki v Italy’, ข้อมูลติดต่อเลขที่ 699/1996, UN Doc. CCPR/C/66/D/699/1996, 27 กรกฎาคม 1999, ย่อหน้า 9.5, http://hrlibrary.umn.edu/undocs/session66/view699.htm


[12]ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป, ‘Colozza v Italy (9024/80)’, 12 กุมภาพันธ์ 1985, ย่อหน้า 30, https://www.juridice.ro/wp-content/uploads/2018/04/CASE_OF_COLOZZA_v._ITALY_08.pdf; ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป, ‘’Sejdovic v Italy (56581/00) , 1 มีนาคม 2006, ย่อหน้า 87-88, https://hudoc.echr.coe.int/eng#{%22dmdocnumber%22:[%22792978%22],%22itemid%22:[%22001-72629%22]}


[13] โปรดดู ตัวอย่างสำหรับการสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย พิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย ค.ศ. 2016 ย่อหน้า 35https://www.icj.org/wp-content/uploads/2017/05/Universal-Minnesota-Proto[full-post]
ขับเคลื่อนโดย Blogger.