อีจัน

Live #ตามหาทีมหมูป่า สื่อมวลชนติดตามคณะทำงาน พล.ต.อ. วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. ค้นหาถ้ำที่คาดว่าเป็นจุดพัทยาบีช





ไขลานความคิด

รื้อฟื้นคดี “ทักษิณ” ยังไงก็ ล้างผลงานเขาไม่ได้
#ไขลานความคิด

ขอขอบคุณ VoiceTV21
รับชมรายการเต็มได้ที่
https://shows.voicetv.co.th/the-daily-dose/532525.html



Posted: 25 Jun 2018 11:03 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ใบตองแห้ง

ทักษิณ ชินวัตร คุยโวว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้ง โม้ไปมั้ง การเลือกตั้งใต้ ม.44 และกติกาที่จัดเตรียมไว้ทุกอย่าง ทั้ง ส.ว.แต่งตั้ง กกต. องค์กรอิสระ ก็มาจาก สนช.ชุดนี้ทั้งนั้น แทบมองไม่เห็นทางที่พรรคเพื่อไทยชนะได้เลย

ก็อย่างที่อดีต ส.ส.เพื่อไทยเผย พวกย้ายพรรค นอกจากถูกซื้อตัว ยังถูกล่อใจว่าจะช่วยเรื่องคดีความ ถ้ายังอยู่เพื่อไทยทำอะไรก็ผิด ถ้าย้ายพรรคไปหนุนผู้มีอำนาจ ปิดหมู่บ้านหมาหอนทั้งคืนก็ยังได้

กระนั้น การที่ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ หัวร่อครึกครื้น ไล่อดีต ส.ส.ไปเก็บสตางค์จากพวกหน้าโง่ยอมจ่ายแพง ก็เป็นสัญลักษณ์ของการถีบความไม่ชอบธรรมให้ไปอยู่กับขั้วตรงข้าม กับใครก็ตามที่หวังดูด ส.ส.ตั้งพรรคสืบทอดอำนาจ

ซึ่งไม่ใช่แค่ทักษิณ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์และพรรคการเมืองอื่นๆ ก็เย้ยหยัน ทักษิณถูกประณามว่าเลวชั่วโกง ผู้มีอำนาจอ้างตนเป็นคนดีมีธรรมาภิบาล หากใช้วิธีสืบทอดอำนาจอย่างสามานย์ แม้ทำสำเร็จ จะเรียกว่าชนะคะแนนนิยมทักษิณได้อย่างไร

ไม่เพียงเท่านั้น การที่ทักษิณบินไปฉลองวันเกิดยิ่งลักษณ์ (ซึ่งกลับมาโพสต์เฟซบุ๊กอีกครั้ง) ถึงอังกฤษ ทั้งที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพิ่งออกหมายจับอีก 2 คดีซ้อน และเพิ่งตัดสินจำคุกสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ฐานออกพาสปอร์ตให้ทักษิณ ในช่วงเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “เยส แทงกิ้ว” เลิกคิ้ว ยกนิ้ว นั่งเข่าชิด เข้าพบ เทเรซา เมย์ ถามว่าใครชนะกันแน่

แหงละ แฟนคลับลุงตู่คงเดือดแค้น ว่ายิ่งลักษณ์ทักษิณจงใจก่อกวน ดันมาเกิดในช่วงลุงตู่ไปเยือนพอดี ทีวันเกิด อ.น้อง วันครบรอบแต่งงาน ลุงตู่ยังเลี่ยงเลย

แต่มันก็แสดงให้เห็นชัด ว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส อียู ยอมรับรัฐบาลไทยจากการหิ้วกระเป๋าไปช็อปปิ้ง พร้อมผลประโยชน์ล่อใจในการลงทุน ทั้งที่ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่ยอมรับรัฐประหาร (การไปเยือนครั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษก็ไม่ได้เชิญแบบเป็นทางการ)

เพียงแต่แค่นั้น รัฐบาลไทยก็ปลื้มเหลือหลาย แบบเดียวกับที่โฆษกไก่อูเป็นปลื้ม ว่าลุงตู่ได้ขึ้นปกนิตยสาร Time แม้พาดหัว Democrat Dictator พร้อมเรียกว่า “สฤษดิ์น้อย” ก็ตาม

เลยขำกลิ้งกันทั้งประเทศ ทั้งที่อีกกระแสหนึ่งมีรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศยัวะ หาว่า Time แตะมือทักษิณ จงใจดิสเครดิต ตามสูตรเดิมๆ ในโลกนี้ใครไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เท่ากับถูกทักษิณซื้อไปแล้ว

ย้อนมองภาพรวม ทำไมทักษิณออกมาตีปี๊บ “เพื่อไทยชนะ” ถี่ยิบ ทักษิณต้องการส่งสัญญาณอะไร ไม่น่าจะใช่คุยโม้โอ้อวดเท่านั้น

อ่านให้ลึกลงไป ทักษิณน่าจะกำลังบอกผู้มีอำนาจทุกฝ่าย ว่าตัวเองถือไพ่เหนือกว่า ในแง่ของ “ความสงบ” คือถ้ามีเลือกตั้ง ฐานเสียงเพื่อไทยยังเข้มแข็ง รัฐบาลอยู่มาสี่ปีมีแต่คนเบื่อ พรรคลุงดูด พรรคลุงกำนัน พรรคประชาธิปัตย์ ต้องแย่งคะแนนกันเอง คะแนนเสียงที่เบื่อรัฐบาลถ้าไม่เลือกเพื่อไทยก็เลือกอนาคตใหม่หรือเสรีพิศุทธ์ ซึ่งร้อนแรงกว่าด้วยซ้ำ

ถ้าอยากชนะทักษิณ ก็ต้องดูด ส.ส.น้ำครำ ต้องใช้อำนาจทำให้เลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งถ้าทำอย่างนั้น ก็อยู่ไม่ยืด ระบอบรัฐธรรมนูญ 2560 รอวันพลิกคว่ำ และ “ความสงบ” ที่ต้องการกัน นอกจากไม่เป็นจริง อาจยิ่งวิบัติ

ทักษิณต่อรองอะไร ก็คอยดูต่อไป ที่แน่ๆ คงไม่ใช่แค่อยากเกี้ยะเซียะ แอบไปคุยกับประยุทธ์ อย่างที่วิเคราะห์กันแบบโง่ๆ



ที่มา: www.kaohoon.com/content/237845


Posted: 25 Jun 2018 11:57 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ยาสมิน ซัตตาร์

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2018 นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการเมืองตุรกี สำหรับคนที่ติดตามการเมืองตุรกีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีความพยายามในการนำเสนอเรื่องการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองประเทศสู่ระบอบประธานาธิบดีมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว สังคมตุรกีมีการถกเถียงถึงประเด็นนี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหมาะสม รูปแบบ หรือความพร้อมของประชาชนต่อรูปแบบการปกครองในครั้งนี้ กระทั่งเกิดการทำประชามติขึ้นในปี 2017 เพื่อปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญที่รวมไปถึงการเปลี่ยนการปกครองสู่รูปแบบประธานาธิบดี ซึ่งมีชาวตุรกี 51.41 เปอร์เซ็นต์ ตอบรับการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ แน่นอนว่ายังเป็นเรื่องราวที่ถูกถกเถียงนับต่อจากนั้นเรื่อยมา เนื่องจากผลคะแนนที่ชนะในครั้งนั้นมีความใกล้เคียงกันมาก แสดงให้เห็นว่ายังมีชาวตุรกีไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย

การปรับเปลี่ยนแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นระบุว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2019 แต่ด้วยกับเหตุผลด้านความมั่นคง โดยเฉพาะภัยคุกคามจากประเด็นซีเรีย ตลอดจนประเด็นความขัดแย้งและปฏิบัติการต่อกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดในซีเรียและในอิรัก ทำให้เกิดข้อเสนอในการเลือกตั้งให้เร็วขึ้นมา เพื่อให้ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งการเพียงพอในการรับมือต่อประเด็นนี้ โดยข้อเสนอนี้ถูกนำเสนอโดยหัวหน้าพรรค MHP พรรคสายชาตินิยมที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับพรรครัฐบาลปัจจุบัน จากนั้นประธานาธิบดีเรเจบ ตอยยิบ แอรโดก์อาน ก็ขานรับข้อเสนอนี้และเสนอสภาให้มีการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเร็วกว่าที่กำหนดไว้ถึง 1 ปี 4 เดือน อย่างไรก็ดีมีหลายบทวิเคราะห์มองว่าการเสนอให้เลือกตั้งเร็วขึ้นเป็นเพราะว่าสภาพเศรษฐกิจกำลังอยู่ในขาลง หากปล่อยไว้นานไปอาจทำให้ประชาชนไม่พอใจมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยหลักที่ทำให้พรรคอัครักษาอำนาจได้ยาวนานปัจจัยหนึ่งคือ เรื่องเศรษฐกิจ รวมไปถึงประเด็นความมั่นคงจากประเทศในภูมิภาคที่นับได้ว่าตุรกีเองก็มีภาวะคุกคามไม่น้อย นอกจากนั้น บางการวิเคราะห์ก็มองว่าแอรโดก์อานต้องการให้อย่างน้อยตนเองอยู่ในตำแหน่งในปี 2023 ซึ่งนับเป็นปีที่จะครบรอบ 100 ปีของสาธารณรัฐตุรกี และช่วงเวลาที่ระบบคิลาฟะห์ในออตโตมานเดิมสูญสลาย แน่นอนว่าการครบวาระในปีดังกล่าวก็อาจทำให้มีปัจจัยเอื้อต่อการหาเสียงได้ต่อไปอีก

สำหรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองในครั้งนี้ สาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลง คือ การให้ประธานาธิบดีที่เดิมมีอำนาจในลักษณะที่เป็นพียงสัญลักษณ์ของประเทศ เปลี่ยนสู่การให้อำนาจทั้งในฝ่ายบริหารและตุลาการ ประธานาธิบดีจะมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีซึ่งรวมถึงรองประธานาธิบดี ออกกฎหมายที่ไม่ขัดกับกฎหมายเดิมหรือรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดีมีสิทธิออกเสียงคัดค้านมติสภาขณะเดียวกันสภามีสิทธิยับยั้งการตัดสินใจของประธานาธิบดีด้วยเสียงเอกฉันท์ ขณะเดียวกันผู้พิพากษาในศาลรัฐธรรมนูญก็จะได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี 12 คน และอีก 3 คนจากสภา ประธานาธิบดียังมีอำนาจในการประกาศภาวะฉุกเฉินซึ่งต้องไม่เกิน 6 เดือน งบประมาณแผ่นดินจะถูกร่างผ่านประธานาธิบดีเข้าสู่สภา กรรมการบริหารระดับสูงขององค์กรรัฐ รวมถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัย จะถูกแต่งตั้งจากประธานาธิบดี เป็นต้น โดยการเพิ่มอำนาจให้กับประธานาธิบดีลักษณะนี้ถูกนำเสนอมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี Demirel และ Özal หากแต่เริ่มชัดขึ้นในปี 2005 ที่เริ่มมีการถกเถียงในสังคมตุรกีมากขึ้น และเพิ่งมาชัดเจนหลังการเกิดความพยายามรัฐประหารในปี 2016 การเปลี่ยนรูปแบบนี้ถูกอธิบายว่าเป็นแนวทางในการรับมือกับประเด็นความมั่นคงภายในทั้งจากกองทัพ กลุ่มเฟโต้และกลุ่มติดอาวุธ PKK รวมถึงความมั่นคงภายนอกจากภัยคุกคามต่างๆ รอบๆ บ้าน ซึ่งระบบนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มฝ่ายค้านและตะวันตกว่าเป็นความพยายามในการทำให้ตุรกีกลายเป็นประเทศเผด็จการหรืออเสรีนิยมประชาธิปไตย เพราะระบบเช่นนี้สามารถปูทางให้แอรโดก์อานมีอำนาจไปอีกหลายปี และยังให้อำนาจเต็มรูปแบบแก่แอรโดก์อาน ในการบริหารปกครองประเทศ

ในส่วนของรูปแบบการเลือกตั้งทั้งประธานาธิบดีและผู้แทนในสภาจำนวน 600 ที่นั่ง จะถูกเลือกในวันเดียวกัน ทุกๆ 5 ปี โดยผู้สมัครสมาชิกผู้แทนสามารถมีอายุอย่างน้อย 18 ปี และไม่จำเป็นต้องผ่านการเกณฑ์ทหารมาก่อน โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะใช้ระบบสองรอบ คือ หากไม่มีผู้ชนะเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดสองคนมาแข่งขันกัน

การเลือกตั้งในครั้งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจคือ มีการร่วมมือกันระหว่างพรรคการเมืองเพื่อเข้าสู่สนามแข่งขันที่มีอำนาจของประเทศเป็นเดิมพัน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือระหว่างพรรคอัค ซึ่งเป็นพรรคของแอรโดก์อาน พรรค MHP ซึ่งเป็นพรรคสายชาตินิยมเติร์ก รวมถึงพรรค BBP ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็มีการรวมเป็นพันธมิตรของ พรรค CHP ซึ่งมีแนวคิดฝ่ายซ้ายและเคมาลิสต์ พรรค IYI ซึ่งเป็นพรรคเกิดใหม่ที่แยกออกมาจากพรรค CHP เดิม รวมไปถึงพรรค SAADET ที่เป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยแอรบาคาน ซึ่งเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่าเป็นพรรคสายนิยมอิสลาม ซึ่งส่งผลให้เกิดข้อกังขาไม่น้อยกับท่าทีของพรรค SAADET โดยที่นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าเป็นผลมาจากตัวผู้นำพรรคที่เปลี่ยนไป และได้รับเสียงไม่มากเท่าที่เคยเป็นในยุคแอรบาคานเพราะสายนิยมอิสลามในประเทศหันไปลงคะแนนเสียงให้พรรคอัค ทำให้พรรค SAADET ต้องหาที่ทางและทางเลือกใหม่ให้มีตัวตนขึ้นมา ขณะเดียวกันพรรค HDP ของชาวเคิร์ด ก็ยืนยันไม่ร่วมกับกลุ่มใดและลงสมัครเอง

ผลการเลือกตั้งปี 2018: ชัยชนะอีกครั้งของพรรคอัค

ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ แอรโดก์อานยังคงได้รับชัยชนะเช่นเคยด้วยคะแนนเสียง 52.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นคะแนนที่เฉียดฉิวสำหรับการต้องเลือกตั้งใหม่ไม่น้อย แต่ก็ยังคงผ่านเกณฑ์ที่ 50เปอร์เซ็นต์ ทำให้แอรโดก์อานได้รับชัยชนะในครั้งนี้โดยทันที นายอินเจ่ตัวแทนของพรรค CHP ได้รับเสียงไป 30.7 เปอร์เซ็นต์ และนายเดมิรทาช หัวหน้าพรรค HDP ของชาวเคิร์ดซึ่งอยู่ในคุก ได้รับเสียงไป 8.4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนนางอัคซีแนร หัวหน้าพรรค IYI ซึ่งเป็นผู้สมัครผู้หญิงคนเดียวและเริ่มลงเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นครั้งแรกก็ได้รับเสียงไป 7.3% ขณะที่ผู้สมัครอีกสองคนได้รับเสียงไปเพียง0.9 และ 0.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

สำหรับผลการเลือกประธานาธิบดีในครั้งนี้จะเห็นว่าฐานเสียงเดิมในแต่ละเมืองก็ยังคงเป็นไปในทิศทางเดิม แต่ที่น่าสนใจสำหรับเมืองใหญ่อย่างอิสตันบูลและอังการ่า พรรคอัคก็ได้รับเสียงอีกครั้ง สำหรับพื้นที่ของชาวเคิร์ดนั้นยังคงเลือกพรรคของตน แม้ว่าจะมีบางพื้นที่ที่พรรคอัคยังคงได้รับชัยชนะ ส่วนอีกเขตที่เหนือความคาดหมายคือเขต Yalova ที่เป็นบ้านเกิดของนายอินเจ่ ซึ่งพรรคอัคสามาระเอาชนะในเขตนี้ได้ จนนำไปสู่ข้อสงสัยในการโกงการเลือกตั้ง และการไม่ยอมรับผลของฝ่ายค้าน ขณะที่ผลที่ออกมาก็ตรงกับโพลที่มีก่อนหน้าการเลือกตั้งมาแล้ว จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจสำหรับหลายฝ่ายในตุรกีเอง

ที่มา: www.trtworld.com/elections/


สำหรับการเลือกตั้งผู้แทนจำนวน 600 ที่นั่ง ที่เกิดพร้อมกัน พรรคร่วม People’s Alliance ระหว่างพรรค AK MHP และ BBP ได้รับเสียงรวมกัน 53.6 เปอร์เซ็นต์ สามารถเอาชนะและผ่านเกณฑ์ 50 เปอร์เซ็นต์มาได้เช่นกัน คณะที่ Nation’s Alliance ได้รับคะแนนไป 34 เปอร์เซ็นต์ และอีก 12.3 เปอร์เซ็นต์จากพรรคอื่นและผู้ลงสมัครอิสระ


สิ่งที่น่าสังเกตจากการเลือกตั้งในครั้งนี้
การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่น่าสนใจ เพราะนับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของการปกครองที่สำคัญของตุรกีเอง ในช่วงก่อน ระหว่างและหลังการเลือกตั้ง สามารถเห็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ

1. การร่วมมือระหว่างพรรคการเมืองในรูปแบบพันธมิตร

การเลือกตั้งในครั้งนี้นับได้ว่าเป็นเดิมพันที่สำคัญสำหรับหลายๆ พรรค แม้แต่พรรคอัคเอง แต่ละพรรค แม้กระทั่งพรรคใหญ่ไม่มั่นใจว่าตนจะได้รับสียงเพียงพอที่จะได้รับชัยชนะ จึงเกิดความร่วมมือระหว่างพรรคขึ้น การร่วมมือนี้ บ่งชี้ให้เห็นถึงขั้วทางการเมืองในประเทศตุรกีที่มีอยู่อย่างน่าสนใจ สำหรับ People’s Alliance ซึ่งเป็นการรวมตัวของพรรคอัค พรรคMHP สายชาตินิยมเติร์กที่มาเข้าร่วมจากท่าทีของพรรคอัคที่แข็งข้อต่อชาวเคิร์ด ตลอดจนความต้องการในการเป็นพรรครัฐบาล และข้อตกลงที่มีระหว่างหัวหน้าพรรคเอง นับได้ว่าเป็นการรวมตัวที่เข้มแข็งทีเดียว บวกกับพรรคเล็กอย่าง BBP ที่เข้ามาด้วย ทำให้ฐานเสียงแข็งแรงไม่น้อย ฝ่ายค้านจึงต้องรวมตัวกันภายใต้ Nation’s Alliance ที่รวมเอาพรรคที่มีความเห็นทั้งฝ่ายซ้าย เสรีนิยม และอิสลามิค เข้าด้วยกัน เพื่อให้เห็นความหลากหลาย แต่พรรคที่ถูกเชิญให้เข้าร่วมพันธมิตรอย่าง HDP ซึ่งเป็นพรรคชาวเคิร์ดที่มีฐานเสียงสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงได้ ก็ไม่เข้าร่วมในพันธมิตรใด แม้ว่านักวิเคราะห์หลายคนมองว่ากลุ่มพันธมิตรทั้งสองก็ไม่ได้มีท่าทีจริงจังนักสำหรับการดึงพรรคนี้มาร่วมเพราะจะทำให้ฐานเสียงส่วนใหญ่จากชาวเติร์กหายไปได้

2. ท่าทีของสื่อและการหาเสียงเลือกตั้งในประเทศ

การหาเสียงเลือกตั้งเป็นไปอย่างคึกคักและน่าสนใจ แต่ประเด็นที่เป็นข้อกังขา คือการปิดกั้นเสรีภาพทางสื่อของพรรครัฐบาลที่เป็นประเด็นวิพากษ์มานานแล้ว ทำให้ในพื้นที่สื่อจะเห็นการปรากฏตัวของแอรโดก์อานมากกว่าผู้สมัครคนอื่น ขณะที่หัวหน้าพรรคชาวเคิร์ด ก็ต้องหาเสียงผ่านวิดีโอที่ให้ทนายอัด ขณะที่อยู่ในคุก แม้ว่าสำหรับผู้สมัครท่านอื่นจะไม่มีปัญหาใดๆ ในการปราศรัย ก็ตามที

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือการเริ่มต้นปราศรัย ของแอรโดก์อานซึ่งเริ่มที่เมืองอิซมีรที่เป็นฐานเสียงหลักของพรรคฝ่ายค้าน แต่ก็ยังคงไม่สามารถเอาชนะได้ในพื้นที่นี้ และการปราศรัยใหญ่ของพรรคฝ่ายค้านที่เมืองอิซมีรก็มีคนเข้าร่วมจำนวนมากซึ่งสร้างความหวังให้กับฝ่ายค้านมากทีเดียว ขณะเดียวกัน พรรคฝ่ายค้านเองก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับฐานเสียงสายนิยมอิสลามที่เป็นผู้ชี้วัดสำคัญ และดึงเอาพรรค SAADET มาร่วม แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จในการดึงเสียงของคนกลุ่มนี้มา

อย่างไรก็ตาม ผลที่ออกมาก็ไม่ค่อยต่างจากโพลจากหลากหลายสถาบันซึ่งเห็นว่าแอรโดก์อานจะได้รับชัยชนะในครั้งนี้

3. ท่าทีของสื่อต่างประเทศ

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะท่าทีของสื่อต่างประเทศในประเทศต่างๆ ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด จะเห็นได้ว่าสื่อตะวันตกและยุโรปจะออกมาสนับสนุนฝ่ายค้านและกล่าวถึงความเป็นเผด็จการของแอรโดก์อาน เสรีภาพที่ถูกปิดกั้นและความอึดอัดของสังคมตุรกีในกลุ่มเสรีนิยมที่ไม่อิงศาสนา ออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีโพลที่ชี้ให้เห็นว่าแอรโดก์อานไม่น่าจะเอาชนะได้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ และเน้นย้ำถึงการกลายเป็นเผด็จการของสังคมตุรกี

ขณะที่สื่อในกลุ่มประเทศมุสลิมโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือจากตุรกีที่ผ่านมา ก็ให้การสนับสนุนอย่างเห็นได้ชัด ชี้ให้เห็นถึงโพลที่มีโอกาสชนะสูง ขณะเดียวกันยังมีข่าวคราวการจัดกิจกรรมขอพรให้แอรโดก์อานได้รับชัยชนะ โดยกลุ่มนี้ก็มีความกังวลว่าหากแอรโดก์อานไม่ได้รับชัยชนะแล้ว จะไม่มีผู้ที่เป็นปากเสียงให้ประเทศมุสลิมและมุสลิมกลุ่มน้อยที่ถูดกดขี่อีกต่อไป

การปะทะกันของข้อมูลเช่นนี้ จึงเป็นที่น่าสนใจไม่น้อย เมื่อความกังวล มุมมองและทัศนคติ รวมถึงค่านิยมในการเมืองมีความต่างกัน จึงส่งผลให้เกิดผลสะท้อนของข้อมูลที่ต่างกันไป

4. การเมืองของชาวเคิร์ด

ในทุกๆ ครั้งของการเลือกตั้ง เสียงของชาวเคิร์ดเป็นเสียงที่สำคัญไม่น้อยสำหรับผลการเลือกตั้ง ครั้งนี้เองก็เป็นที่น่าสนใจ แม้ว่าหัวหน้าพรรคจะถูกคุมขังในคุกและมีข้อจำกัดในการกาเสียง แต่กลับยังได้รับเสียงเลือกตั้งในหลายเมือง และผู้แทน 67 คนที่ได้รับเลือกตั้ง ในครั้งนี้เองยังเห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของกลุ่มพื้นที่ชาวเคิร์ดส่วนใหญ่ ที่แม้พรรคอัคจะเรียกคะแนนกลับมาได้ในบางพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงยึดมั่นกับพรรคของชาติพันธุ์ตนเอง

ถึงที่สุดแล้วสิ่งที่น่าสนใจของตุรกีเอง แม้ว่าระบบของประเทศจะไปในทิศทางใด แม้ว่าจะมีการปิดกั้น แต่ยังคงใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินอนาคตและสร้างความชอบธรรมกับอำนาจที่มี และควรเลือกตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดแม้ว่าจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดก็ตามที

ข้อท้าทายสำคัญสำหรับตุรกีภายใต้การนำของแอรโดก์อาน
แน่นอนว่าชัยชนะครั้งนี้มาพร้อมกับข้อท้าทายอันหนักอึ้งสำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบัน นับตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ ที่เป็นความคาดหวังหลักของประชาชนซึ่งต้องการเห็นปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อและค่าเงินที่ตกลง ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น รัฐบาลจึงต้องพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นอีกครั้งเช่นช่วงที่พรรคอัคได้รับเลือกตั้งเข้ามาในช่วงแรกว่าจะพัฒนาตุรกีให้ก้าวต่อไปได้ถึงจุดไหน หรือจะทำให้ยิ่งถอยลงมา

ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าจับตามอง คือ การบริหารจัดการองค์กรต่างๆ ภายในประเทศ ทั้งองค์กรที่เดิมอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีอย่าง TIKA ซึ่งเป็นองค์กรในการดูแลเรื่องการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศ และ YTB ผู้ดูแลเรื่องการให้ทุนการศึกษา เป็นต้น องค์กรเหล่านี้จะอยู่ภายใต้กำกับดูแลของหน่วยงานใด นอกจากนั้น อธิการบดีในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะถูกแต่งตั้งจากประธานาธิบดีจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร ประเด็นนี้เป็นอีกข้อท้าทายสำคัญว่าแอรโดก์อานจะจัดวางองค์กรต่างๆ รวมถึงสถาบันการศึกษาให้ไปในทิศทางใด

นอกเหนือจากนั้นความมั่นคงภายในประเทศยังเป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับภาวการณ์ของตุรกีเวลานี้ อีกทั้งเหตุผลหลักในการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองก็เพราะเรื่องนี้ จึงน่าสนใจว่าแอรโดก์อานจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร สิ่งที่น่ากังวลสำหรับหลายๆฝ่าย คือ การเพิ่มบทบาททางทหารอาจทำให้ภาพลักษณ์เดิมของตุรกีสูญเสียไป ในขณะที่หลายฝ่ายก็เห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะไม่ว่าจะดำเนินการในทางไหน ตุรกีก็มักถูกวิพากษ์ในเชิงลบจากตะวันตกเสมอ ตุรกีจึงควรตัดสินใจทิศทางอนาคตของตัวเอง ในแบบที่เหมาะสมกับตุรกีเอง

การเปลี่ยนจาก Soft Power ไปสู่การใช้ Hard Power มากขึ้น หรือ ที่ถูกให้คำจำกัดความว่าการใช้รูปแบบของ Moral Realism ในการเมืองระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่กำลังถูกพูดถึงมากว่าจะกระทบต่อผลสะท้อนต่อทัศนคติของประเทศที่เคยสนับสนุนตุรกีอย่างไร

และสิ่งที่ท้าทายที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องของท่าทีในการใช้อำนาจของแอรโดก์อานเอง ในเวลานี้ฝ่ายที่วิพากษ์ก็เห็นว่าแอรโดก์อานจะใช้อำนาจที่ได้มาแบบเบ็ดเสร็จ และส่งผลต่อเสรีภาพที่จะยิ่งถูกปิดกั้นมากขึ้น ในขณะที่อีกฝ่ายก็มองว่าอำนาจที่ได้มาจะเป็นความหวังที่เห็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น การคาดการณ์ในแต่ละแบบจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญที่แอรโดก์อานจำเป็นต้องรับมือ และระบบเช่นนี้จะทำให้ตุรกีเข้มแข็งหรืออ่อนแอลง ก็ยังคงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองต่อไป

ทิศทางของตุรกีต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับทิศทางของความสัมพันธ์ระหว่างสองภูมิภาค คือ ระหว่างมาเลเซีย ซึ่งนายมะหาเดร์ และนายอันวาร์ อิบรอฮีม เพิ่งได้รับการชัยชนะจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีอุดมการณ์ทางการเมืองและการเคลื่อนไหวที่ใกล้เคียงกับแอรโดก์อาน ขณะเดียวกันก่อนหน้าการเลือกตั้งไม่กี่วัน นายอันวาร์ ยังถูกเชิญไปเยือนตุรกีและได้ให้สัมภาษณ์รวมถึงกล่าวปาฐกถาในเชิงสนับสนุนแอรโดก์อานด้วยเช่นกัน ฉะนั้นแล้วแน่นอนว่าทิศทางระหว่างตุรกีและมาเลเซียเป็นอะไรที่น่าจับตามองไม่น้อย และมีแนวโน้มจะเป็นไปในเชิงบวก เพราะตุรกีเองก็จำเป็นต้องหาพันธมิตรนอกภูมิภาคมากขึ้น เนื่องจากสภาวะที่มีความสัมพันธ์ไม่สู้ดีกับประเทศอาหรับบางประเทศ โดยเฉพาะหลังการแสดงจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนกาต้าร์ที่ผ่านมา
นอกจากนั้นแล้วอินโดนีเซียยังเป็นอีกประเทศที่น่าสนใจ เพราะนับได้ว่าอาเจะห์เป็นพื้นที่แรกที่ความช่วยเหลือของตุรกีเข้ามาถึงในภูมิภาค และความช่วยเหลือยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นเป็นไปได้ที่จะเห็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นไม่ต่างจากมาเลเซีย อีกประเทศที่น่าจับตาคือ ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับพม่า ที่เป็นไปในลักษณะของทั้งเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นประเทศที่วิพากษ์ถึงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาอย่างต่อเนื่องและชัดเจน จึงน่าสนใจว่าทิศทางต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร สำหรับประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยเองก็ยังไม่เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากนัก เนื่องด้วยการรับรู้ของในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมต่อตุรกีไม่ได้เห็นถึงท่าทีที่ชัดเจนเท่าไหร่นัก แม้ว่าความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่ก็อาจจะดำเนินต่อไป แบบที่เป็นไป

อย่างไรก็ดี แน่นอนว่าจะเห็นการให้ความช่วยเหลือต่อพื้นที่ขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง แต่หากตุรกีติดกับดักการทำสงครามกับเพื่อนบ้านที่มากเกินไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อท่าทีการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตามความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมนี้จำเป็นต้องมีต่อไป เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างความชอบธรรมในการสร้างวาทกรรมการเป็น ประเทศผู้ให้ หรือสุลต่านแห่งโลกมุสลิม ให้ยังคงอยู่ต่อไปได้



เผยแพร่ครั้งแรกใน: https://turkeyanalysis.blogspot.com/2018/06/2018.html?m=1

ที่มา: www.pataniforum.com/single.php?id=753


Posted: 26 Jun 2018 02:58 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ชำนาญ จันทร์เรือง

คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งนับได้ว่าเป็นองค์ประกอบหรือองคาพยพหนึ่งที่สำคัญที่พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องมี แน่นอนว่าเมื่อเป็นตำแหน่งที่สำคัญหากเกิดการผิดพลาดหรือมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น กรรมการบริหารพรรคฯ ก็ย่อมจะต้องมีความรับผิดที่สำคัญด้วยเช่นกัน ซึ่งผมจะนำความผิดที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการบริหารพรรคฯ ที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ได้กำหนดข้อห้ามและบทลงโทษไว้ มาเสนอในส่วนที่สำคัญ ๆ ดังนี้


1. ถูก กกต.ห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง 20 ปี หากเพิกเฉยเมื่อรู้ว่าสมาชิกพรรคฯ กระทำผิดในการเลือกตั้งส.ส.หรือการเลือกส.ว.

เมื่อความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าคณะกรรมบริหารไม่มีมติหรือสั่งการให้สมาชิกฯ ยุติการกระทำอันอาจมีลักษณะที่อาจทําให้การเลือกตั้ง (ส.ส.) หรือการเลือก (ส.ว.) มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรืออาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใดซึ่งสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณามีคำสั่งให้คณะกรรมการพรรคการเมืองนั้นพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ คำสั่งดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และห้ามมิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุดังกล่าวดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองจนกว่าจะพ้นเวลา 20 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง (มาตรา 22 วรรคสี่)

และหากกรรมการบริหารฯ ที่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวกระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองนั้น เว้นแต่จะเป็นการดำเนินการตามสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ และหากไปมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือตำแหน่งอื่นหรือการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองจะต้องถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7 ปี ถึง 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 140,000 บาท ถึง 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 22วรรคหกและมาตรา 105)

2.สรรหาผู้สมัคร ส.ส.,ส.ว.ไม่เป็นไปตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ


หากหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารฯ ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 50 (ว่าด้วยวิธีการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง) และมาตรา 51 (ว่าด้วยวิธีการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ) จะต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6เดือนและปรับไม่เกิน 10,000 บาทและถูกศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี (มาตรา 52 และมาตรา 117)

3.ยักยอกเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาค

หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือสมาชิกผู้ใดได้รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยผู้บริจาคประสงค์จะบริจาคให้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ต้องแจ้งให้พรรคการเมืองทราบภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับ และให้พรรคการเมืองออกใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เป็นหนังสือให้แก่ผู้บริจาคเป็นหลักฐาน ทั้งนี้ ตามแบบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด กิจกรรมที่ว่านี้หมายความรวมถึงการดำเนินงานทางการเมืองของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด สมาชิก หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามที่กล่าวมานี้ (พูดง่าย ๆ ว่าอุ๊บอิ๊บเอาไปเป็นของตนเองว่างั้นเถอะ) ต้องถูกระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และปรับอีกวันละ 1,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง (มาตรา 67 และมาตรา 122)

4.ให้เงินหรือทรัพย์สินแก่ ส.ส.ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯ ที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกำหนด

ในกรณีที่พรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมืองหรือบุคคลใดให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่สมาชิกซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ว่าจะให้เป็นประจำหรือเป็นครั้งคราว ถ้าการให้หรือรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดนั้น ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 (ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่) หรือมาตรา 149 (ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่) ให้พรรคการเมืองหรือบุคคลนั้นแล้วแต่กรณี แจ้งให้นายทะเบียนทราบถึงการให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดนั้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกำหนด และให้ประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย ผู้ฝ่าฝืนจะต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและ ถูกศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น (เข้าใจง่าย ๆ ว่าห้ามแอบให้เงิน (เป็นเดือน/เป็นก้อน) หรือทรัพย์สินแก่ ส.ส.นั่นเอง) (มาตรา 88 วรรคหนึ่งและมาตรา 134)

5.นำเงินหรือทรัพย์สินของพรรคฯ ไปใช้นอกจากที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย

ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารฯ ที่จะต้องตรวจสอบและควบคุมมิให้มีการนำเงินหรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองไปใช้จ่ายเพื่อการอื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 84 (เงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนพัฒนาการเมือง) มาตรา 87 (ค่าใช้จ่ายเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและสมาชิกและค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคการเมือง) พรรคการเมืองต้องเปิดเผยค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์การดําเนินกิจกรรม) และมาตรา 88 (ตามข้อ 4) ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 89 และ มาตรา 136)

6.ถูกยุบพรรคแล้วยังไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคฯ ใหม่หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคฯ ขึ้นใหม่อีก

ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญ ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ทั้งนี้ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ ผู้ที่ฝ่าฝืนจะต้องถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7 ปี ถึง 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 140,000 บาท ถึง 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 94 วรรคสองและมาตรา 105)

เอาเฉพาะที่สำคัญ ๆ เท่านี้ก่อนนะครับ แค่นี้กรรมการบริหารพรรคฯ และว่าที่กรรมการบริหารพรรคฯ คงหนาว ๆ ร้อน ๆ ไปตาม ๆ กันนะครับ นี่ยังไม่รวมที่จะต้องอยู่ชำระชำระบัญชีหรือผู้ที่รู้ว่าตนไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการบริหารและตำแหน่งแต่ยังยินยอมรับการแต่งตั้งฯ อีกด้วยน่ะครับ

ตำแหน่งก็ต้องมาพร้อมกับความรับผิดครับ



Posted: 26 Jun 2018 03:21 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

อิทธิพล โคตะมี


มีเรื่องที่มักถูกเล่าต่อๆ กันมา สำหรับใครที่เดินทางไปประเทศพม่าด้วยสายการบินหนึ่ง เมื่อราว 20 ปีที่แล้วว่า ก่อนเครื่องจะร่อนลงแตะรันเวย์สนามบินนานาชาติย่างกุ้ง พนักงานต้อนรับบนเครื่องจะกล่าวกับลูกเรือว่า


ยินดีต้อนรับสู่ประเทศไทยเมื่อ 30 ปีก่อน

ประโยคนี้สะท้อนมุมมองต่อบ้านเมืองและอารมณ์ขันแฝงการดูแคลนประเทศเพื่อนบ้านอย่างขื่นๆ ไปพร้อมกัน แต่สถานการณ์ประชาธิปไตยในปัจจุบันของทั้งสองประเทศดูเหมือนว่านอกจากจะไม่มีใครตามใครแล้ว ยังมีทีท่าจะจับมือเดินไปด้วยกันเสียด้วย

ต้นปีที่ผ่านมา ในที่ประชุม ‘Thailand Update 2018’ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา หนึ่งในข้อถกเถียงที่ได้รับความสนใจจากเหล่านักวิชาการด้านเอเชียศึกษาคือ ปัญหาการเปลี่ยนผ่านของประชาธิปไตยในไทย รวมถึงคำถามที่ยืดเยื้อมาหลายปีที่ว่า เหตุใดประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงขาดเสถียรภาพทางการเมือง และส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเดินไปสู่ ‘ระบอบลูกผสม’ (The Mixed Regime) หรือไม่ก็กลายสภาพเป็นระบอบอำนาจนิยมบางชนิด (Authoritarian Regime)

อาทิ การปกครองโดยพรรคเดียว ที่เกิดขึ้นอยู่ในกัมพูชาหรือสิงคโปร์ แต่เราคงต้องยกเว้นให้กรณี ‘สึนามิการเมือง’ ในมาเลเซียเอาไว้ก่อนซึ่งมีประเด็นน่าสนใจแยกออกไปอีกเรื่อง

หรือไม่ประเทศส่วนใหญ่ของเอเชียอาคเนย์นี้ก็กลายเป็นเผด็จการหรือเป็นระบอบทหารที่มีอำนาจนำเหนือพลเรือน เช่น ไทยและพม่า ปัจจัยชี้วัดที่สำคัญอย่างหนึ่งในกรณีของสองประเทศหลังนี้คือ ภายหลังการทำรัฐประหาร ได้มีการถ่ายโอนอำนาจกองทัพเข้ามาไว้ในโครงสร้างทางการเมืองอย่างเป็นระบบ สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดมาจากตัวบทในรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายทหารร่างขึ้นเอง

ภาพประกอบ: antizeptic

ปัญหาเฉพาะภายในประเทศ

ไทยและพม่าซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีเขตแดนติดกันยาวกว่า 2,401 กิโลเมตร นอกจากจะมีความใกล้ชิดในแง่ภูมิศาสตร์แล้ว ปัจจุบันยังเป็นที่ยอมรับกันว่าโครงสร้างทางการเมืองของรัฐไทยและรัฐพม่ามีทั้งความเป็นมาและสภาพการณ์ที่คล้ายคลึงกัน เพราะเต็มไปด้วยความไร้เสถียรภาพของสถาบันทางการเมืองประชาธิปไตย และการขึ้นมามีบทบาทนำในทางการเมืองของกองทัพ

ในแง่เงื่อนไขทางการเมือง นับตั้งแต่พม่าปลดแอกได้รับเอกราชจากอังกฤษ ในปี 1948 กองทัพได้เข้าทำการรัฐประหารครั้งสำคัญสองครั้ง คือในปี 1962 นำโดย นายพลเนวิน ซึ่งครองอำนาจยาวนานกว่า 26 ปี และการรัฐประหารหลังการนองเลือดของประชาชนชาวพม่าในปี 1988 จากนั้น นายพลซอว์ หม่อง หัวหน้าคณะรัฐประหารประกาศตั้ง ‘สภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ’ หรือ ‘สลอร์ค’ (The State Law and Order Restoration Council: SLORC) และประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในพม่าเมื่อปี 1990

ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ของ นางออง ซาน ซูจี ได้รับการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายถึง 392 ที่นั่งจาก 455 ที่นั่ง โดยที่พรรคเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Party: NUP) ของรัฐบาลทหารได้เพียง 10 ที่นั่ง ช่วงเวลาดังกล่าวนักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยของพม่า


ในความเป็นจริง นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการครองอำนาจอันยาวนานโดยกองทัพ


การครองอำนาจของกองทัพพม่าที่ยืดยาวหลังจากนั้นได้เปลี่ยนรูปแบบไป เมื่อมีการถ่ายโอนอำนาจของกองทัพไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2008 ผ่านการทำประชามติ ส่งผลให้กองทัพขึ้นไปอยู่บนยอดอำนาจรัฐ กองทัพพม่ามีอำนาจในการควบคุมรัฐบาลพลเรือนทั้งในทางพฤตินัยและนิตินัย

เมื่อหันมามองประเทศไทย ความไม่ลงรอยระหว่างกองทัพกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นสาเหตุหลัก ในการรัฐประหารอย่างน้อยสามครั้งหลังสุด คือ พ.ศ. 2534, 2549 และล่าสุดคือ 2557 แม้ว่าก่อนหน้านี้ประเทศไทยจะได้รับการยกย่องจากนานาชาติให้เป็นประเทศแบบอย่างประชาธิปไตยที่ปักหลักมั่นคงตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา และกลายเป็นประเทศผู้นำประชาธิปไตยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถผลักดันกระบวนการสันติภาพและยกระดับมาตรฐานทางสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม กล่าวเฉพาะเกือบหนึ่งทศวรรษก่อนการยึดอำนาจประเทศใน พ.ศ. 2557 การเมืองไทยอยู่ในภาวะความแตกแยกร้าวลึกในทางการเมือง หรือเรียกกันว่าเป็น ‘ยุคการเมืองสีเสื้อ’ (เหลือง-แดง) ที่ปรากฏขึ้นชัดเจนหลังการรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 ความขัดแย้งนี้มิได้เกิดขึ้นในแวดวงชนชั้นนำเท่านั้น แต่ขยายไปในทุกปริมณฑลของสังคม ผู้คนมองสังคมการเมืองด้วยแว่นตาที่ต่างกัน และถึงที่สุดพวกเขาปรารถนาถึงสังคมการเมืองที่แตกต่างกัน

กระทั่งกองทัพเข้ามีบทบาทสำคัญตั้งแต่การแทรกแซงทางการเมืองและสลายการชุมนุมในปี 2009-2010 มาจนถึงช่วงปี 2013-2014 ระหว่างการชุมนุมอันยืดเยื้อของ ‘คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ (กปปส.) กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กองทัพใช้เข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนอีกครั้ง ก่อนจะร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร ขึ้นบังคับใช้ได้ใน พ.ศ. 2560

กระบวนการถ่ายโอนอำนาจของกองทัพ


ที่พม่า สภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ (SLORC) ซึ่งแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารได้ประกาศแผนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังปฏิเสธผลการเลือกตั้งในปี 1990 กองทัพได้ตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการสรรหาชุดนี้มี 42 คน คณะกรรมการสรรหา จนสามารถประกาศรายชื่อผู้ที่จะทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 702 คน

ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งในปี 1990 เพียง 99 คน ผู้ได้รับเลือกส่วนมากจะเป็นตัวแทนจากแต่ละเมืองซึ่ง SLORC เลือกมา กระบวนการการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กลายเป็นสนามของการต่อรอง/ต่อสู้ ระหว่างตัวแทนส่วนน้อยที่ได้รับการเลือกตั้งในปี 1990 กับตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกจากฝ่ายกองทัพ

จนถึงปี 1995 เรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อคณะยกร่างฯ ในสัดส่วนที่มาจากผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งในปี 1990 จำนวน 86 คน ถูกขับออกออกคณะกรรมการฯ แน่นอน ผู้ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เหลือทั้งหมดคือ ‘ตัวแทนจากกองทัพ’

ในที่สุดการร่างรัฐธรรมนูญก็เข้าสู่กระบวนการทำประชามติและผลที่ออกมาคือมีผู้ลงคะแนนยอมรับรัฐธรรมนูญสูงถึง 93.82 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้บรรยากาศที่ไม่เสรี แต่ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขใดก็ตามรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยกองทัพนี้ก็ถูกประกาศใช้จนได้ในปี 2008 หลังจากใช้เวลาร่างฯ กว่า 16 ปี

ในกรณีของไทย ชนชั้นนำเคยอนุญาตให้กลไกประชาธิปไตยทำงานบางส่วนในช่วงทศวรรษที่ 1970 จนถึงการปกครองโดยระบบรัฐสภาที่มีบทบาทนำในทศวรรษที่ 1990 ทำให้สามารถประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่เรียกว่าฉบับประชาชนได้ใน พ.ศ. 2540 ต่อจากนั้น การเมืองไทยก็มีแนวโน้มเข้าสู่การแข่งขันทางนโยบายโดยพรรคการเมืองใหญ่สองคือ พรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์

ครึ่งหลังของทศวรรษที่ 2000 การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เพื่อขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จนรัฐบาลประกาศยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้ง การบอยคอตการเลือกตั้งของเหล่าพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ตามด้วยคำสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะจากศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้การเมืองไทยเข้าสู่สถานการณ์ใหม่ และถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 กองทัพไทยในนามคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก็เข้ายึดอำนาจอีกครั้งหลังร้างลาไปกว่า 15 ปี ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เข้าปกครองประเทศอยู่เป็นเวลาหนึ่งปี

รัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งร่างขึ้นโดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ได้แบ่งอำนาจให้ฝ่ายตุลาการเข้ามามีอำนาจในทางการเมืองมากขึ้น และเปลี่ยนให้มีความเกี่ยวพันกับอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมากขึ้น หลายกรณีสร้างความไม่พอใจให้ประชาชน บางส่วนจนเกิดเป็นการชุมนุมใหญ่ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ชุมนุมโจมตีว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีลักษณะที่เป็น ‘สองมาตรฐาน’

ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลที่พวกเขาหนุนหลังหลายครั้งกลายเป็นเงื่อนไข ให้อีกฝ่ายตอบโต้ ตั้งแต่การชุมนุมไปจนถึงยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และฟางเส้นสุดท้ายก็มาถึงเมื่อรัฐบาลพลเรือนได้พยายามผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมในปี พ.ศ. 2556 ฝ่ายอนุรักษนิยมในการเมืองไทยก็เริ่มชุมนุมยืดเยื้อ

ในที่สุดกองทัพก็เข้ามามีบทบาทอีกครั้งด้วยการเข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 และแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกก่อนจะถูกยกเลิกไปใน พ.ศ. 2558 ก่อนจะแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญอีกหนึ่งชุดตามมา จนนำรัฐธรรมนูญทำประชามติได้ใน พ.ศ. 2559 ก่อนที่รัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ ท่ามกลางการดำเนินคดีผู้รณรงค์หลายคนทั่วประเทศ และรัฐธรรมนูญก็ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2560

อำนาจกองทัพในโครงสร้างรัฐธรรมนูญ

ไม่มีอะไรที่สะท้อนเจตนารมณ์ของคณะรัฐประหารทั้งสองประเทศได้ดีกว่า ดูจากรัฐธรรมนูญที่พวกเขาร่าง ในกรณีของพม่ารัฐธรรมนูญ 2008 ได้วางอำนาจของกองทัพไว้ในกลไกต่างๆ และในกรณีของไทย รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 สะท้อนให้เห็นสังคมการเมืองที่คณะรัฐประหารฝันถึง

1.อำนาจครอบงำรัฐบาล

ในกรณีของไทย กำหนดให้รัฐจัดกำลังทหารไว้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ อีกทั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้งมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องยึดแนวทางบริหารประเทศ ตามแนวทางของรัฐบาล คสช.ที่ได้จัดทำกฎหมายสำคัญหลายฉบับ รวมไปถึง ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ที่จะมีผลผูกพันกับรัฐบาลชุดต่อๆ ไปเป็นระยะเวลา 20 ปี

กรณีของพม่า ได้มีการตราหมวดเฉพาะสำหรับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่เขียนไว้อย่างละเอียดถึง 23 มาตรา กำหนดให้มีสภาความมั่นคงแห่งชาติขึ้นมา โดยมีสมาชิกครึ่งหนึ่งมาจากกองทัพ และสภาความมั่นคงฯ สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันทีหากเห็นว่าสมควร โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด จะใช้อำนาจดังกล่าวด้วยตัวเองหรือมอบให้หน่วยงานของกองทัพไปใช้ก็ได้ และอำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภาจะหมดไปนับแต่วันที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้สามารถจำกัดหรือยกเว้นสิทธิพื้นฐานของประชาชน ในพื้นที่ที่กองทัพเห็นว่ามีความจำเป็น

2.การตั้งรัฐบาล

กรณีของพม่า กำหนดข้อห้ามคนที่มีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติมีสิทธิถูกเสนอชื่อ (อันเป็นที่ทราบว่าวิธีการนี้มีไปเพื่อขัดขวาง นางออง ซาน ซูจี เข้าสู่อำนาจทางการเมืองทางตรง) ขณะที่ตัวแทนในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกำหนดให้มีจำนวนสามคน ประกอบไปด้วยผู้แทนจากสภาชาติพันธุ์ ในส่วนที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกองทัพ จะได้รับสิทธิเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมหนึ่งคน ผู้แทนจากสภาผู้แทนราษฎรในส่วนที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพจะเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมหนึ่งคน และผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพจากทั้งสองสภาร่วมกันเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมอีกหนึ่งคนเพี่อให้รัฐสภาลงคะแนน

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังระบุให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้แต่งตั้ง หากประธานาธิบดีต้องการจะแต่งตั้งทหารในกองทัพให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องได้รับการเห็นพ้องจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดในสามกระทรวง คือกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกิจการชายแดน

กรณีของไทย ครม. ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าจะมี ครม. ที่ตั้งใหม่ปฏิบัติหน้าที่ และได้กำหนดให้รัฐสภาสามารถเลือกบุคคลที่อยู่นอกบัญชีเป็นนายกรัฐมนตรีได้ โดยไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

3.อำนาจในรัฐสภา

กรณีของพม่า พบว่าผู้แทนทั้งสภาบนสภาล่างมาจากการเลือกตั้ง 75 เปอร์เซ็นต์ อีก 25 เปอร์เซ็นต์ มาจากการแต่งตั้งของกองทัพ คิดเป็น 1 ใน 4 ของสภาทั้งหมด สำหรับที่มาจากการแต่งตั้งโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยพบว่าหลังการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ มีความพยายามผลักดันในการแก้ไข รธน. จากสมาชิกสภาจากพรรค NLD ถือว่ามีความสำเร็จเล็กน้อยมาก

กรณีของไทย การสรรหา สว. ชุดแรกจำนวน 250 คน ตามการแต่งตั้งของ คสช. และให้มีวาระห้าปีพร้อมกับกำหนดให้ สว. ชุดแรกมีหน้าที่ติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และกำหนดให้ ครม. แจ้งความคืบหน้าทุกสามเดือน ซึ่ง สว. หกคนจะมาจากผู้นำในแต่ละเหล่าทัพโดยตำแหน่ง และ สว. ชุดดังกล่าว ยังมีส่วนในการเลือกนายกฯ ร่วมกับ สส. ได้ ในช่วงห้าปีแรก

4.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญพม่าได้ตราไว้หมวดที่ 12 มาตรา 436 (ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ) ว่าการแก้ไขจะต้องมีเสียงรับรองจากรัฐสภาเกิน 75 เปอร์เซ็นต์ และผ่านการทำประชามติโดยได้รับเสียงไม่ต่ำกว่าครึ่งของผู้ที่มีสิทธิลงประชามติ ส่วนการแก้ไขมาตราอื่นจากนี้ ใช้เสียงสนับสนุนในรัฐสภาเกิน 75 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องผ่านการทำประชามติ ซึ่งเป็นไปได้ยากมากที่จะผ่านเสียงสนับสนุนไปได้ เหตุผลคือสมาชิก 25 เปอร์เซ็นต์ ยังมาจากการแต่งตั้งโดยกองทัพ และหากเมื่อรวมกับเสียงสมาชิกพรรคการเมืองที่สนับสนุนกองทัพอยู่แล้วจึงยากแก่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

กรณีของไทย การปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการองค์กรอิสระที่มีอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญยังคงให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นั่นหมายถึงองค์กรอิสระที่มาจากคณะรัฐประหารจะยังอยู่ทำหน้าที่ต่อไป แม้ว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม

อีกทั้งในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญไทยยังบัญญัติให้เว้นการใช้บทบัญญัติว่าด้วยการห้ามบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาบังคับใช้กับรัฐมนตรี ข้าราชการการเมือง ที่ตั้งเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม. หรือเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของ คสช. หรือ สนช. ด้วย, รวมถึงกรณีของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีการปรับให้ปฏิบัติหน้าที่ 120 วัน นอกจากนี้ คสช. ก็ยังคงสามารถอ้าง ‘อำนาจพิเศษ’ ตามมาตรา 44 ได้ เพื่อออกกฎหมายหรือจับกุมคุมขังบุคคลใดที่ตนเห็นว่ากระทำผิดกฎหมายได้

และในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญของไทย การเข้าชื่อสนับสนุนเพื่อแก้ไขต้องประกอบไปด้วย สว. เห็นชอบ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ทั้งในวาระแรกและวาระที่สาม และมี สส. จากพรรคฝ่ายค้าน ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของพรรคฝ่ายค้านทุกพรรคการเมือง ขณะที่เดียวกันมีบางหมวดที่ถูกกำหนดให้มีการทำประชามติหากมีการแก้ไข

ด้วยการถ่ายโอนอำนาจของกองทัพไว้ในโครงสร้างรัฐธรรมนูญ ตามที่ได้แสดงให้เห็น ทำให้เราเชื่อได้แน่ว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองและสวัสดิภาพชีวิตพลเมืองทั้งสองประเทศ อำนาจกองทัพจะอยู่กับพลเรือนไปอีกนาน เพราะนี่แค่ตัวอย่างอำนาจใน ‘ตัวบท’ ของรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากแต่เป็นเสี้ยวหนึ่งในโครงสร้างการเมืองที่กว้างใหญ่มากกว่านั้น ในช่วงเวลาต่อจากนี้ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าจนถึงเมื่อไรสังคมการเมืองทั้งไทยและพม่าจะกลับมาเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยที่แท้จริงได้อีกครั้ง




หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน waymagazine.org/military_thai_myanmar_constitution/


ที่มา: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน www.tlhr2014.com/th/?p=7965


[full-post]


Posted: 26 Jun 2018 03:35 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

คนดังในวงการสิทธิฯ แห่สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคึกคัก ปิดรับสมัครรวม 38 ราย ลุ้นใครจะผ่านด่านสเปคเทพบวก 25 คุณสมบัติต้องห้าม ขณะที่ 11 ผู้สมัครผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านด่านแค่ 3

26 มิ.ย. 61 คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 11-25 มิถุนายนที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 38 คน ประกอบด้วย

1.นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
2.นายสมศักดิ์ ศิริสุนทร ที่ปรึกษากฎหมายอิสระ
3.นายกมล กมลตระกูล อดีตผู้อำนวยการสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย
4.นายไพศาล สุวรรณรักษา อดีตผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง กรมราชทัณฑ์
5.นายประดิษฐ์ ดีวัฒนกุล อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สถาบันรัชต์ภาคย์
6.นายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม อดีตเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และอดีตรองประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
7.น.ส.พิณลัพธพร นาคสมบูรณ์ ผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจ.นนทบุรี และผู้ไกล่เกลี่ยศาลอุทธรณ์ภาค 7
8.นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
9.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธานี วรภัทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทางนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
10.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
11.นางชลิตา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน
12.นายพงศ์ธร จันทร์เลื่อน กรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ
13.นายสามารถ ภู่ไพบูลย์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
14.น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
15.นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สื่อมวลชนอิสระ
16.นางวณี ปิ่นประทีป อดีตผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูป สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
17.นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติผู้ไร้สัญชาติแรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น
18.ศาสตราจารย์ เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ รักษาการแทนคณบดีสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
19.นางสมศรี หาญอนันทสุข กรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และกรรมการมูลนิธิเพื่อนหญิง
20.นายขรรค์ชัย คงเสน่ห์ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
21.พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
22.รองศาสตราจารย์ เรณู พุกบุญมี ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
23.นายปรีดา เวทยาวงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
24.นายบุญแทน ต้นสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และอดีตอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
25.นางเมธินี รัตรสาร รองผู้อำนวยการกองเทคโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ
26.นายศิริพงษ์ เกี้ยวสกุล นายกสมาคมสมาพันธ์สภาองค์กรชุมชน
27.พล.ต.อ.วิทยา ประยงค์พันธุ์ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
28.นายธนารัชต์ สมคเณ ประธานมูลนิธิครูของแผ่นดิน
29.นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
30.นายเสกสรรณ ประเสริฐ ประธานมูลนิธิเบาะแส
31.น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ และอดีตอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ
32.นางภิรมย์ ศรีประเสริฐ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
33.น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
34.นายพศวีร์ จิตวรพันธ์ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจ.นครปฐม
35.นายประหยัด เสนวิรัช นายกสมาคมสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภค
36.นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
37.นายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ อดีตผู้ตรวจราชการ กระทรวงมหาดไทย และ
38.นายศาสนพงษ์ เกษะวงศ์ อาจารย์สอนเสริม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นกระบวนการรับสมัคร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะส่งรายชื่อผู้สมัครไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติและตรวจสอบลักษณะต้องห้าม จากนั้นคณะกรรมการสรรหาจะเชิญผู้สมัครที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามมาสัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นเพื่อสรรหาต่อไป

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 กำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประกอบด้วยกรรมการจํานวน 7 คนจากผู้เป็นกลางทางการเมือง และมีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี มาสรรหามาจากด้านต่างๆ จำนวน 5 ด้าน อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน แต่จะเกินด้านละสองคนมิได้ ได้แก่

1) มีประสบการณ์ในการทํางานด้านสิทธิมนุษยชน
2) เชี่ยวชาญในการสอนหรือทํางานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในระดับอุดมศึกษา
3) เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
4) ด้านการบริหารงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
5) ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของไทยเป็นที่ประจักษ์

โดยผู้เข้ารับการสรรหาจะต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม 25 ข้อ โดยให้มีคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย

1) ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน 2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 3) ประธานศาลปกครองสูงสุด 4) ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรละหนึ่งคน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 3 คน 5) ผู้แทนสภาทนายความหนึ่งคน ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข เลือกกันเองให้เหลือ 1 คน และผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน 6) อาจารย์ประจําหรือผู้เคยเป็นอาจารย์ประจําในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งสอนหรือทํางานวิจัยหรือทํางานด้านสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี

ผู้ที่จะได้รับการสรรหา คณะกรรมการสรรหาจะต้องมีมติเลือกด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 โดยวิธีลงคะแนนโดยเปิดเผยและกรรมการสรรหาแต่ละคนจะต้องบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย

จากนั้น ผู้ได้รับการสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งกรรมการ ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะมีวาระการดํารงตําแหน่ง 7 ปีและดํารงตําแหน่งได้เพียงวาระเดียว


11 ผู้สมัคร ผู้ตรวจฯ ผ่านด่านแค่ 3 คน
วันเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน เพื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครผู้ตรวจการแผ่นดินของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาจำนวน 11 คน ผลปรากฏว่า มีผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม 3 คน ประกอบด้วย

1. นายสมศักดิ์ สุวรรณจิต อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด
2. น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)
3. น.ส.จิตรา พรหมชุติมา อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดปราจีนบุรี

ขั้นตอนต่อจากนี้ คณะกรรมการสรรหาฯ จะเชิญผู้สมัครทั้ง 3 คนมาเข้ารับการสัมภาษณ์และแสดงความคิดเห็นในเรื่องเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในวันพุธที่ 27 มิถุนายน ที่อาคารรัฐสภา



[full-post]



Posted: 26 Jun 2018 04:07 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชี้ประชาธิปไตยยังไม่เคยได้รับโอกาสให้เติบโต ประชาชนไม่เคยได้รับโอกาสให้ได้ลิ้มลองประชาธิปไตย ย้ำถ้าไม่มีใครลุกขึ้นมาสานต่อภารกิจประวัติศาสตร์ ที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนจากไพร่เป็นพลเมือง แล้วทำให้รัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย โดยเขาและพรรคอนาคตใหม่จะขอรับภารกิจประวัติศาสตร์นี้ไปทำต่อเอง

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่รวมงานเสวนาพิเศษ "WAKE UP THAILAND SPECIAL ตอน “86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน" โดย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการ ชวนตัวแทน 10 พรรคการเมืองร่วมอภิปรายให้คะแนนกับระบอบประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมาจากคะแนน 0 ถึงเต็ม 10

โดยธนาธรกล่าวว่าให้ 1.97 คะแนน โดยไม่ได้ให้ตามอารมณ์ความรู้สึก แต่ตนเป็นวิศวกรจึงคำนวณตัวเลขตามหลักวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ อุปสรรคของระบอบประชาธิปไตยคือการทำรัฐประหาร เขาฝันว่าการทำรัฐประหารต้องจบในรุ่นของตน ไม่ส่งต่อไปถึงลูกหลานอีก ถือเป็นภารกิจของตน การเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน เปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ จากไพร่ที่ไม่มีปากเสียงมาสู่พลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน

เขากล่าวด้วยว่าอุปสรรคของระบอบประชาธิปไตย เพราะการรวบอำนาจไปอยู่ที่กลุ่มคนๆ เดียวหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วเครื่องมือที่คนกลุ่มนี้มีก็คือการใช้กองทัพมาทำรัฐประหาร ดังนั้น ก็ต้องเรียนว่า ไม่ว่าวาทกรรมที่เราจะพูดกันว่า "คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม" ก็ตาม ไม่ว่าเราจะพูดกันว่า "ปัญหาของการพัฒนาประชาธิปไตยไทยคือนักการเมือง" ก็ตาม

ประเด็นที่สำคัญที่สุดจริงๆ ก็คือ เรื่องที่ไม่มีใครกล้าพูด คือเรื่องการทำรัฐประหารครั้งแล้วครั้ง เล่า เวลาเราบอกว่าชิงสุกก่อนห่าม หรือว่านักการเมืองที่เลวร้าย ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาก็ดี

ในทางกลับกัน สิ่งที่เป็นอุปสรรคคือ ประชาธิปไตยไม่เคยได้รับโอกาสให้เติบโตต่างหาก ประชาชนไม่เคยได้รับโอกาส ให้ได้ลิ้มลองประชาธิปไตย ได้ใช้อำนาจของตัวเองต่างหาก ตรงนี้ต่างหากที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนาประชาธิปไตยในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้นสรุปความในรอบแรก ถ้าไม่มีใครลุกขึ้นมาสานต่อภารกิจประวัติศาสตร์ ที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนจากไพร่เป็นพลเมือง แล้วทำให้รัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ผมและผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่และสมาชิกพรรคที่จะร่วมกันสร้างพรรคอนาคตใหม่ขอรับภารกิจประวัติศาสตร์นี้ไปทำต่อเอง

ข้อที่ 2 ฟังสิ่งที่ทุกท่านบนเวทีนี้พูดให้ดี ฟังไว้ให้ดี แล้วดูสิ่งที่พวกเขากระทำหลังการเลือกตั้งว่า ใครบอกว่าตัวเองมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับรัฐประหาร ตัวเองมีความคิดเห็นอย่างไร เกี่ยวกับทหาร แล้วดูสิ่งที่เขาทำหลังการเลือกตั้ง


โดยคลิปเป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนาพิเศษ "WAKE UP THAILAND SPECIAL ตอน “86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน" ที่ Voice Space สถานีโทรทัศน์ Voice TV 21 ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อ 24 มิถุนายน 2561


[full-post]


Posted: 26 Jun 2018 07:43 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ตั้งแต่ท่า “อินทรีย์สองหัว” ของ 2 แข้งสวิส ถึงหน้ากาก Black Panther ของแข้งเมืองทองฯ ริบบิ้นเหลืองของกุนซือแมนซิตี้ กำปั้นของ 2 นักวิ่งสหรัฐฯ และ ท่าคุกเข่า ขณะบรรเลงเพลงชาติสหรัฐฯ ของควอเตอร์แบ็กซานฟราน

การแข่งขันฟุตบอลโลกระหว่างเซอร์เบีย และสวิตเซอร์แลนด์เมื่อ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมาเรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย ไม่เพียงผลชนะ 2-1 ที่ส่งให้สวิตเซอร์แลนด์ขึ้นเป็นที่สองกลุ่ม E รองจากเต็งหนึ่งตลอดการอย่างบราซิล แต่รวมถึงพฤติกรรมของสองนักเตะทีมสวิตฯ กรานิต ชาก้า และ แชร์ดัน ชาคีรี่ ที่ทำมือเป็นสัญลักษณ์ “อินทรีย์สองหัว” หลังทั้งสองยิงประตูใส่ทีมชาติเซอร์เบีย ซึ่งอาจทำให้ทั้งคู่โดนโทษแบนถึง 2 นัดและปรับเป็นเงินอีกกว่าหนึ่งแสนบาท

สัญลักษณ์อินทรีย์สองหัว ใช้เป็นสัญลักษณ์ของชาวอัลเบเนีย ซึ่งนักเตะทั้งคู่ต่างก็มีเชื้อสายดังกล่าว เหตุที่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นก็เนื่องมาจากชาวแอลเบเนีย ในโคโซโวระหว่างปี 1989 - 1999 เซอร์เบียซึ่งในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐยูโกสลาเวียได้ส่งกองกำลังเข้าปราบปรามกองทัพปลดแอกชาวอัลเบเนียในโคโซโว ซึ่งตัวชาคีรี่เองก็เกิดในโคโซโวก่อนที่ครอบครัวจะลี้ภัยสงครามไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนพ่อแม่ของชาก้าก็มีเชื้อสายแอลเบเนีย และพ่อของเขาเคยถูกควบคุมตัวนานถึง 6 เดือนในข้อหาต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์

อีกทั้งน้องชายของเขายังเล่นให้กับทีมชาติอัลเบเนียอีกด้วย แม้ต่อมาโซโคโวจะประกาศเอกราชในปี 2008 โดยได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติแต่เซอร์เบียก็ยังไม่ยอบรับการประกาศเอกราชดังกล่าว และความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็ยังคงตึงเครียดมาจนถึงทุกวันนี้


กรานิต ชาก้า (ซ้าย) และ แชร์ดัน ชาคิรี่ (ขวา) ทำมือเป็นรูปอินทรีย์สองหัวหลังยิงประตูทีมชาติเซอร์เบีย (ภาพจาก HD Photos)

หลังจบเกม โจวาน ซูร์บาโตวิช ประธานสหพันธ์ฟุตบอลเซอร์เบีย ได้ทำหนังสือเรียกร้องให้สมาคมฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่าลงโทษสองนักเตะดังกล่าว และทางฟีฟ่าก็ได้ออกมาประกาศว่าคณะกรรมการสอบวินัยได้เริ่มพิจารณาพฤติกรรมของทั้งสองคนแล้ว โดยมาตรา 54 ในประมวลวินัยของฟีฟ่าระบุว่า “ผู้ใดที่ยั่วยุ (provoke) สาธารณชนระหว่างการแข่งขันจะถูกห้ามลงแข่งเป็นจำนวน 2 นัด และปรับอย่างต่ำ 5,000 สวิสฟรังค์” (คิดเป็นเงินประมาน 166,0000 บาท) อย่างไรก็ตามชาคีรี่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่าตัวเขาไม่ได้มีเจตนาจะทำสัญลักษณ์ทางการเมืองแต่อย่างใดโดยกล่าวว่า “ผมไม่อยากจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไหร่ เวลาคุณยิงประตูเข้า อารมณ์มันจะเข้าควบคุมคุณ เพราะฉะนั้นท่าทางที่ผมทำมันจึงไม่ได้มีอะไรพิเศษ”

ล่าสุด วันนี้ (26 มิ.ย.61) กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า ฟีฟ่า ได้ออกมาแถลงว่าจะไม่มีการลงโทษแบนแข้งทั้ง 2 รายในกรณีนี้ แต่จัดการปรับเงินทั้งคู่เป็นจำนวน 7,600 ปอนด์ (ราว 325,000 บาท) แทน รวมไปถึงปรับ สเตฟาน ลิคท์สไตเนอร์ เพื่อนร่วมทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ ที่เข้าไปร่วมดีใจเป็นจำนวน 3,700 ปอนด์ (ราว 159,000 บาท) อีกด้วย

หมายเหตุประเพทไทย #121 โอลิมปิกและการแข่งขันทางการเมือง
หน้ากาก Black Panther ของแข้งเมืองทองฯ

การแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองระหว่างการแข่งกีฬาระดับโลกไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะมันคือโอกาสที่นักกีฬาจะส่งสาสน์ทางการเมืองของตนให้กับคนดูทั่วโลก อย่างน้อยหากผู้ชมซักคนเกิดสงสัยในที่มาของสัญลักษณ์ดังกล่าวและค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตพวกเขาก็จะได้รับรู้ถึงเรื่องราว หรือประวัติศาสตร์ที่นักกีฬาเหล่านั้นต้องการจะสื่อถึงโลกภายนอก ในประเทศไทยเองก็เคยมีเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เฮแบร์ตี้ แฟร์นานเดส กองหน้าสัญชาติบราซิลของสโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ได้เอาหน้ากาก Black Panther ขึ้นมาสวมเพื่อแสดงความดีใจหลังยิงประตูได้ ซึ่งในตอนแรกก็มีการตีความไปว่าเจ้าตัวอาจจะต้องการจะสื่อถือกรณียิงเสือดำที่ทุ่งใหญ่เนรศวร แต่เจ้าตัวก็ออกมาบอกว่า ตนชอบภาพยนต์เรื่องดังกล่าวเป็นการส่วนตัว อีกทั้งยัง ต้องการจะสื่อถึงขบวนการ Black Panther Movement ซึ่งเป็นขบวนการเรียกร้องสิทธิคนผิวสีในสหรัฐฯ


เฮแบร์ตี้สวมหน้ากาก Black Panther หลังยิงประตู (ภาพจาก MTUTD.TV OFFICIAL)

แม้จะไม่ถูกลงโทษ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยก็ได้ทำหนังสือตักเตือนส่งถึงทางสโมสร โดยพาทิศ ศุภะพงษ์ โฆษกและรองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ชี้แจงว่าพฤติกรรมของเฮแบร์ตี้ผิดกติกา มาตรฐานสากลของฟุตบอลซึ่งไม่อนุญาตให้มีการใช้อุปกรณ์มาแสดงความดีใจในสนาม ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ใช่เกิดการใช้กีฬาเป็นเครื่องส่งสาส์นทางการเมือง

"จริงอยู่ที่ เฮแบร์ตี้ อาจจะแค่นำมาดีใจเฉยๆ แต่ในอนาคต เราก็ไม่รู้หรอกว่า จะมีผู้เล่นคนไหนทำอีกหรือเปล่า ซึ่งมันอาจจะ ลุกลามไปถึง การแสดงออกในเชิงการเมือง ศาสนา หรือ โฆษณาแฝงต่างๆ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ ฟีฟ่า ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ผ่านทางฟุตบอล ดังนั้น เราก็ต้องปรามเอาไว้ ที่สำคัญผิดกติกาที่ระบุไว้อยู่แล้ว เช่นเดียวกับ แฟนบอล ที่ห้ามเหมือนกัน ในแง่โฆษณาแฝง" พาทิศ กล่าว
ริบบิ้นเหลืองของกุนซือแมนซิตี้

แต่ถึงจะมีกฎห้ามอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร การแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองเป็นก็สิ่งที่อยู่คู่กับวงการกีฬาฟุตบอลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากตัวนักเตะแล้ว โค้ชเองก็มีส่วนในการรว่มแสดงสัญลักษณ์เช่นนี้ด้วยเช่นกันโดยในช่วงปลายปี 2017 เป๊ป กวาร์ดิโอล่า กุนซือของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้ถูกปรับเป็นเงิน 20,000 ปอนด์ เหตุติดริบบิ้นสีเหลืองที่หน้าอก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สนับสนุนเหล่านักการเมืองและนักกิจกรรมชาวคาตาลันที่เรียกร้องเอกราชให้กับแคว้นคาตาลุนญ่าจนถูกจองจำโดยรัฐบาลสเปน โดยทางสมาคมได้ตักเตือนเป๊บแล้วถึงสองครั้ง แต่เขากลับเผิกเฉยจนนำมาสู่การลงโทษดังกล่าว


กุนซือทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ติดริบบิ้นสีเหลืองเพื่อสนับสนุนผู้เรียกร้องเอกราชของคาตาลุนญ่าที่ถูกจับกุมโดยรัฐบาลสเปน (ภาพจาก @tjparfitt )
กำปั้นของ 2 นักวิ่งสหรัฐฯ

ในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติอย่างโอลิมปิก การสัญลักษณ์ทางการเมืองก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยการในแข่งปี 1968 ที่แม็กซิโกซิตี้ ทอมมี่ สมิธ และ จอห์น คาร์ลอส สองนักวิ่งผิวสีจากประเทศสหรัฐฯ ได้คว้าเหรียญทอง และเหรียญทองแดง ในการแข่งขันวิ่ง 200 เมตร ทั้งคู่ขึ้นรับเหรียญโดยไม่ใส่รองเท้า แต่สวมเพียงถุงเท้า และถุงมือสีดำ และระหว่างที่เพลงชาติสหรัฐฯ กำลังบรรเลง ทั้งสองได้ชูกำปั้นขึ้นเป็นสัญลักษณ์ Black Power Salute ซึ่งสื่อถือการเรียกร้องสิทธิคนผิวสีในสหรัฐฯ และการถอดรองเท้าออกเหลือเพียงถุงเท้าสีดำก็เป็นการสื่อสารว่าชีวิตของคนดำในสหรัฐฯ นั้นมีความยากลำบากมากจนไม่สามารถหาซื้อรองเท้าได้ หลังจากนั้นทางคณะกรรมการโอลิมปิก็ได้แบนสมิธกับคาร์ลอสออกจากการแข่งขัน และยังสั่งให้พวกเขาออกจากหมู่บ้านนักกีฬาในทันทีอีกด้วย


ทอมมี่ สมิธ กับ จอห์น คาร์ลอส แสดงสัญลักษณ์ Black Power Salute (ภาพจาก wikimedia.org)
ท่าคุกเข่า ขณะบรรเลงเพลงชาติสหรัฐฯ ของควอเตอร์แบ็กซานฟราน


ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้นับได้ว่าเป็นช่วงปีทองของการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ในปี 2016 โคลิน เคเปอร์นิก นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลของ ซาน ฟรานซิสโกฯ ได้นั่งคุกเข่าขณะที่เพลงชาติสหรัฐฯ กำลังบรรเลงเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านแนวคิดเหยียดสีผิวในสหรัฐฯ และประท้วงการฆ่าคนอเมริกันผิวสีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐฯ แม้เขาจะถูกไล่ออกทันทีหลังเหตุการณ์ดังกล่าว แต่การแสดงออกของเขาก็ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก ทางเนชันแนลฟุตบอลลีก (NLF) ถึงขั้นออกกฎห้ามไม่ให้นักกีฬาคุกเข่าขณะที่เพลงชาติกำลังบรรเพลง

แต่ห้ามไปก็ดูเหมือนจะไม่มีใครฟัง เพราะแม้จะมีกฎใหม่ออกมา แต่การเลือกปฏิบัตต่อคนดำในสหรัฐฯ ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดูจะรุนแรงขึ้นหลังการขึ้นสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในเดือนกรกฎคม 2017 ในการแข่งขันระหว่าง Baltimore Ravanes กับ Jacksonville Jaguars ผู้เล่นทั้งสองทีมซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวสีต่างพร้อมใจกันคุกเข่าเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เช่นเดียวกับเคเปอร์นิก ส่วนบางทีมที่ไม่อยากจะมีปัญหาเรื่องทำผิดกฎก็ใช้วิธีการไม่ออกมายืนที่สนามตอนเพลงชาติกำลังบรรเลงเสียเลย ต่อมาในเดือนเมษายน 2018 แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลได้มอบรางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก (Ambassador of Conscience award) ให้กับเคเปอร์นิก เพื่อเป็นการเชิดชูการกระทำที่กล้าหาญของเขา

“การคุกเข่าเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ทางกายภาพ ผมต้องการท้าทายว่ายังมีการกีดกันและละทิ้งคนออกจากแนวคิดที่สนับสนุนเสรีภาพ อิสรภาพ และความยุติธรรมที่มีสำหรับทุกคน การประท้วงเช่นนี้มีรากเหง้ามาจากการหลอมรวมระหว่างความเชื่อทางศีลธรรมและความรักในเพื่อนมนุษย์ของผม” โคลิน กล่าวหลังได้รับรางวัล


โคลิน เคเปอร์นิกรับรางวัลจากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล

แอมเนสตี้ฯ มอบ 'รางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก' ให้ 'เคเปอร์นิก' นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล



[full-post]


Posted: 26 Jun 2018 11:20 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

คลิปจากเสวนา “86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน" สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ให้ 2 คะแนนแถมห่วงไม่มีประชาธิปไตยแล้วยังเหลื่อมล้ำ ส่วนชวน ชูจันทร์ พรรคพลังประชารัฐ บอกว่าภาวะประชาธิปไตยเป็นแบบนี้ทุกคนมีส่วนทำให้เกิดขึ้น ดังนั้นต้องช่วยกันขับเคลื่อนแก้ไข ขณะที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้ 1.97 คะแนน ลั่นขอสานต่อภารกิจประวัติศาสตร์ 2475 เปลี่ยนไพร่เป็นพลเมือง บ.ก.ลายจุด ให้ 7 คะแนนเพราะประชาชนหวงแหนอธิปไตยของปวงชน เชื่อมั่นอนาคตจะเกิดประชาธิปไตยสมบูรณ์

ในงานเสวนาพิเศษ WAKE UP THAILAND SPECIAL ตอน “86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน" ที่ Voice Space สถานีโทรทัศน์ Voice TV 21 ถนนวิภาวดีรังสิต ดำเนินรายการโดย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ชวนตัวแทน 10 พรรคการเมืองร่วมอภิปรายนั้น ช่วงแรกให้ผู้ร่วมอภิปรายให้คะแนนกับระบอบประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมาจากคะแนน 0 ถึงเต็ม 10 โดยที่ผ่านมาเป็นการนำเสนอในส่วนของพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) พรรคเสรีรวมไทยนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) และพรรคประชาชนปฏิรูป (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ลำดับต่อมา สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ว่าที่หัวหน้าพรรคพลังพลเมือง ระบุว่าให้ 2 คะแนน หวังว่าในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าจะไปถึง 3-4-5 เพราะฉะนั้นปัจจุบันให้ 2 คะแนนก็ยังไม่ค่อยถึงด้วยซ้ำ เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริง อธิปไตยทั้งหมดต้องเป็นของปวงชน มีสิทธิออกเสียง มีสิทธิเลือกผู้ปกครอง และมีสิทธิปกครองตนเอง ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นอกจากนี้เขายังห่วงเรื่องความเหลื่อมล้ำหลายด้านที่ยังเกิดขึ้นในประเทศไทย ถ้าจะมีประชาธิปไตย อธิปไตยต้องเป็นของปวงชน มีเสรีภาพทั้งการแสดงความคิดเห็นและการทำมาหากิน และต้องมีความเสมอภาค และทุกวันนี้ยังไม่มีความเสมอภาค

ทางด้าน ชวน ชูจันทร์ ผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ที่มีกระแสข่าวทาบทามสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ฯลฯ มาเข้าร่วมพรรคนั้น ในตอนหนึ่งเขากล่าวว่า "แน่นอนแล้วว่าเราต้องอยู่ในระบอบประชาธิปไตยไม่มีทางเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น โจทย์ใหญ่คือจะขับเคลื่อนให้ยั่งยืนได้อย่างไร ถ้าจะโทษกันอาจจะโทษกันได้ทุกส่วนเลย เป็นจำเลยทั้งหมด ถ้าถูกก็ถูกทั้งหมด ทุกคนมีส่วนร่วมทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมาทั้งนั้น" เขากล่าวด้วยว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งใหม่ เมื่อมีสิ่งใหม่เข้ามาเราอาจไม่คุ้นชิน ไม่เข้าใจ มีอุปสรรคเราต้องช่วยกันเข้ามาแก้ไข จะขับเคลื่อนไปได้ต้องช่วยกันทุกฝ่าย ถ้าพูดถึงคะแนนถ้าดูจากความเข้าใจของประชาชนให้ว่าดีขึ้นเยอะเกิน 5 คะแนนเพราะประชาชนเริ่มเข้าใจประชาธิปไตยแล้ว

ขณะที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กล่าวว่าให้ 1.97 คะแนน โดยไม่ได้ให้ตามอารมณ์ความรู้สึก แต่ตนเป็นวิศวกรจึงคำนวณตัวเลขตามหลักวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ อุปสรรคของระบอบประชาธิปไตยคือการทำรัฐประหาร เขาฝันว่าการทำรัฐประหารต้องจบในรุ่นของตน ไม่ส่งต่อไปถึงลูกหลานอีก ถือเป็นภารกิจของตน การเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน เปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ จากไพร่ที่ไม่มีปากเสียงมาสู่พลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน เขากล่าวด้วยว่าอุปสรรคของระบอบประชาธิปไตย เพราะการรวบอำนาจไปอยู่ที่กลุ่มคนๆ เดียวหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วเครื่องมือที่คนกลุ่มนี้มีก็คือการใช้กองทัพมาทำรัฐประหาร ดังนั้น ก็ต้องเรียนว่า ไม่ว่าวาทกรรมที่เราจะพูดกันว่า "คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม" ก็ตาม ไม่ว่าเราจะพูดกันว่า "ปัญหาของการพัฒนาประชาธิปไตยไทยคือนักการเมือง" ก็ตาม

ประเด็นที่สำคัญที่สุดจริงๆ ก็คือ เรื่องที่ไม่มีใครกล้าพูด คือเรื่องการทำรัฐประหารครั้งแล้วครั้ง เล่า เวลาเราบอกว่าชิงสุกก่อนห่าม หรือว่านักการเมืองที่เลวร้าย ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาก็ดี ในทางกลับกัน สิ่งที่เป็นอุปสรรคคือ ประชาธิปไตยไม่เคยได้รับโอกาสให้เติบโตต่างหาก ประชาชนไม่เคยได้รับโอกาส ให้ได้ลิ้มลองประชาธิปไตย ได้ใช้อำนาจของตัวเองต่างหาก ตรงนี้ต่างหากที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนาประชาธิปไตยในช่วงที่ผ่านมา เขากล่าวด้วยว่าเขาและพรรคอนาคตใหม่ขอสานต่อภารกิจประวัติศาสตร์ ที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนจากไพร่เป็นพลเมือง แล้วทำให้รัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย

ส่วนสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด กล่าวว่า ประชาธิปไตยถือเป็นด้านหนึ่งของเหรียญ อีกด้านก็คือเผด็จการ ดังนั้นเวลาให้คะแนนประชาธิปไตยต้องให้คะแนนเผด็จการด้วย โดยเขาให้คะแนนประชาธิปไตย 7 คะแนน เพราะประชาชนยังรู้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไม่ว่ารูปแบบการเมืองจะเป็นอย่างไร วันนี้เราปกครองประเทศโดยทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีมาตรา 44 ที่สูงกว่ากฎหมาย แต่ก็ยังมีประชาชนหลายกลุ่มที่ยังออกมาเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล คสช.อยู่ ดังนั้นเชื่อว่าในอนาคตประเทศจะต้องสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ ขนาดผู้นำที่คัดค้านการเลือกตั้งยังต้องตั้งพรรคเพื่อลงสู่สนามเลย ส่วน 3 คะแนนที่ตนตัดไป เพราะยังมีประชาชนที่ลังเล พรรคที่ลังเล ไม่แน่ใจว่าระบอบประชาธิปไตยช่วยพัฒนาคนให้ดีขึ้นได้ ดังนั้นสังคมจำเป็นต้องช่วยพิสูจน์ ประชาธิปไตยต้องการเวลาเพื่อให้มีคุณภาพ นอกจากนี้เขายังห่วงที่สังคมยังคงมีความเหลื่อมล้ำด้วย

คลิปอภิปรายเป็นส่วนหนึ่งจากงานเสวนาพิเศษ "WAKE UP THAILAND SPECIAL ตอน “86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน" ที่ Voice Space สถานีโทรทัศน์ Voice TV 21 ถนนวิภาวดีรังสิต ดำเนินรายการโดย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล
[full-post]

ณัฏฐา มหัทธนา

Posted: 25 Jun 2018 01:00 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา แถลงโต้หลังมีหลายเพจตัดต่อใบหน้ากับข้อความที่ไม่ได้พูดเอง กรณีแชร์กิจกรรมเรื่องโทษประหาร ปั่นกระแสคุกคามถึงขั้นขู่ข่มขืนฆ่าออนไลน์ เบื้องต้นจะส่งข้อมูลเพจให้เจ้าหน้าที่พิจารณาดำเนินคดี ถ้าวันพุธเพจยังเฉยจะแจ้งความต่อ ชวนสังคมปลูกฝังแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างมีวุฒิภาวะ เป็นประชาธิปไตย

25 มิ.ย. 2561 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ณัฏฐา มหัทธนา (โบว์) นักกิจกรรมการเมือง อาจารย์ และอดีตพิธีกรช่องวอยซ์ทีวี ได้แถลงข่าวกรณีข่าวปลอมและการคุกคาม “จากการแสดงความคิดเห็น ถึงอาชญากรรมออนไลน์ กับวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ต้องสร้าง”

ณัฏฐากล่าวว่า ตนไม่ได้ตามข่าวเรื่องมีการประหารชีวิตขึ้นครั้งแรกในรอบ 9 ปี แต่กรรมการขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งมีนักกิจกรรมที่ตนรู้จักเป็นการส่วนตัวได้แชร์โพสท์กิจกรรมวางดอกไม้เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้โทษประหารเมื่อ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตนก็ถือเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์อย่างสันติจึงได้แชร์โพสต่อ ทั้งนี้ขอชี้แจงแทนแอมเนสตี้ฯ ว่ากิจกรรมของแอมเนสตี้ฯ ไม่ได้เป็นไปเพื่อไว้อาลัยให้กับผู้ถูกประหาร แต่แสดงความไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร ไม่ได้ต้องการให้อาชญากรไม่ถูกลงโทษ แต่ไม่เห็นด้วยกับการลงโทษด้วยวิธีประหารชีวิต กิจกรรมที่จัดนั้นสอดคล้องตามหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติข้อ 3 กับ 5 เรื่องสิทธิในการมีชีวิต เวลามีการรณรงค์สิทธิการมีชีวิตอยู่นั้นก็รณรงค์ให้กับทุกคนทั้งอาชญากรและเหยื่อด้วย

ต่อมามีการเผยแพร่ข่าวปลอมจากเพจเฟซบุ๊คที่อ้างว่าเป็นสื่อ มีการลอกเลียนและแชร์ต่อโดยหลายเพจและผู้ใช้งานเฟซบุ๊คนับแสนคน จนมีการคุกคามและถกเถียงในโพสท์ที่แชร์ โดยณัฏฐายกตัวอย่างโพสท์ที่เป็นภาพกราฟฟิกจากเพจทีนิวส์ เพจมั่นใจคนไทยทั้งแผ่นดินเชียร์ลุงตู่และเพจเดรัจฉานนิวส์ ขึ้นมา เป็นภาพกราฟฟิกตัดภาพตนเข้ากับถ้อยคำที่ไม่เคยพูด ซึ่งเป็นหนึ่งในโพสท์ที่ได้รับการเข้าถึงและเผยแพร่จำนวนมาก
ลักษณะคอมเมนท์ที่เป็น ‘ข้อเท็จ’ บนโลกโซเชียลตามคำชี้แจงของโบว์-ณัฏฐา


ผิดฝาผิดตัว (คิดว่าเป็นผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ คิดว่าณัฏฐาได้เงินเดือนจากแอมเนสตี้ฯ)


ข่มขู่คุกคามจะใช้ความรุนแรงกับณัฏฐาและคนในครอบครัว


ส่งต่อถ้อยคำ (โควท) ที่ณัฏฐาไม่เคยพูด เช่น ถ้าโดนข่มขืนฆ่าก็จะไม่เอาเรื่อง


ภาพประกอบจากสไลด์ของโบว์ ณัฏฐา

นักกิจกรรมจากกลุ่มคนอยากเลือกตั้งพบว่าเพจที่โจมตีเธอมาอาจมีแรงจูงใจทางการเมือง เพราะว่าเพจทั้งหลายที่โพสท์และแชร์ข่าวปลอมมีจุดยืนทางการเมืองอยู่คนละข้างกับตน เมื่อโพสท์ข่าวปลอมมีการแพร่หลายออกไปตามแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ และมีการคัดลอกไปโพสท์เองด้วย คาดว่าคนเข้าถึงโพสท์เหล่านี้ไปหนึ่งแสนกว่าคนแล้ว ตอนไปโรงพักคดีคนอยากเลือกตั้งก็มีตำรวจมาถามเรื่องนี้

ณัฏฐากล่าวว่า ข่าวปลอมและคอมเมนท์ต่อเนื่องต่างๆ เกิดจากความไม่รับผิดชอบของคนที่เรียกตัวเองว่าสื่อมวลชน ที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จเพื่อเร่งเร้าอารมณ์โกรธเกรี้ยวให้เกิดขึ้นสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นมีคำเรียกเฉพาะว่าการคุกคามทางออนไลน์ (Cyber Bullying) กรณีคำถามว่าจะดำเนินคดีต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข่าวปลอมหรือไม่นั้น ส่วนตัวเห็นว่าเป็นความผิดพลาดของตัวเองที่เอาการถกเถียงละเอียดอ่อนและซับซ้อนมาถกเถียงบนโซเชียลมีเดีย ที่เป็นแพลตฟอร์มที่ยากต่อการแลกเปลี่ยนกันอย่างครบถ้วนและรอบด้านกับทุกคน

ณัฏฐากล่าวว่า จะยังไม่ดำเนินคดีกับคนทั่วๆ ไปที่แชร์ ยังไม่ดำเนินคดีต่อคอมเมนท์และการข่มขู่ทำร้ายทุกคอมเมนท์ เพราะเชื่อว่าคอมเมนท์เหล่านั้นเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ ตนเข้าใจดีถึงข้อจำกัดทางวุฒิภาวะทางอารมณ์ และทักษะในการวิเคราะห์แยกแยะของผู้บริโภคข่าวจึงขออโหสิกรรมให้ แต่จะยื่นข้อมูลของเพจที่ผลิตข้อมูลเท็จทั้งหลายให้กับเจ้าหน้าที่ความมั่นคง และจะดูว่าเจ้าหน้าที่มีความขยันขันแข็งในการดำเนินการเรื่องนี้เหมือนกับที่ขยันปิดเพจที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือไม่ จึงฝากให้สังคมช่วยกันจับตาการทำงานของเจ้าหน้าที่ต่อไป โดยคาดว่าจะส่งข้อมูลของเพจทีนิวส์ เดรัจฉานนิวส์ มั่นใจคนไทยทั้งแผ่นดินเชียร์ลุงตู่ Youlike คลิปไทย และเพจที่เผยแพร่เฮทสปีชทั้งหลายที่รุนแรงและผิดกฎหมายจริงๆ

ทั้งนี้ หากวันพุธตนพบว่ายังมีการดำเนินการต่อไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ต่อ ไม่ลบโพสท์หรือคอมเมนท์ที่ผิดกฎหมายก็จะสุ่มดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เพราะถือว่าได้มีการชี้แจงแล้ว และระยะเวลาที่ผ่านมาก็น่าจะนานพอจะทำให้สังคมเริ่มกลับมาสู่สติและเข้าใจข้อเท็จจริงตามที่ให้ไว้ในงานแถลงข่าววันนี้ ส่วนตัวกฎหมายที่ใช้คาดว่าจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์และหมิ่นประมาท แต่ก็ขอให้เป็นการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ขอระบุว่าเป็นกฎหมายใดเป็นการเฉพาะ

ส่วนกรณีที่เสกสรรค์ ศุขพิมาย หรือเสก โลโซ ได้แชร์โพสท์ของเพจเฟซบุ๊คเดรัจฉานนิวส์ออกไป และในโพสท์ก็ได้มีการเรียกขอคอมเมนท์ และเพิ่มเติมว่าถ้าข่าวไม่จริงก็ขอให้ทุกคนช่วยกันประณามเพจ ณัฏฐากล่าวว่า จะไม่ดำเนินคดีกับเสก เพราะได้มีการลบโพสท์ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีการแสดงท่าทีการขอโทษออกมา ตนก็อยากสื่อสารว่าบุคคลสาธารณะที่หลายคนมีผู้ติดตามเยอะยิ่งกว่าเพจข่าวบางที่เสียอีก จึงชวนให้บุคคลสาธารณะต้องมีวิจารณญาณที่มากกว่าคนปกติ 2-3 เท่า การแชร์ข้อมูลเรียกความเห็นโดยไม่ระมัดระวัง แม้จะบอกกับแฟนเพจว่าไม่แน่ใจว่าเป็นของปลอมหรือไม่ก็ไม่ได้ทำให้พ้นจากความรับผิดชอบ “ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว มีคนเข้าใจผิดเข้ามาด่าทอและนำไปเผยแพร่ต่อจำนวนมหาศาล โบว์ไปที่ไหนก็มีคนถามว่าเราทำจริงหรือ ซึ่งคุณเสกเองก็เคยโดนกลั่นแกล้งในลักษณะเดียวกัน ยิ่งควรระวังมากที่จะไม่เป็นผู้ทำร้ายคนอื่นเสียเอง ขอให้เป็นความผิดพลาดครั้งสุดท้าย ไม่ติดใจเอาความค่ะ” ณัฏฐาระบุไว้ในเอกสารแถลงข่าว

ในเอกสารแถลงข่าวยังระบุข้อความของณัฏฐาว่า “ความเสียหายส่วนบุคคลที่เกิดกับตัวเราถือเป็นเรื่องเล็ก เมื่อเทียบกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อไปในสังคมที่ยังไม่มีวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยเหตุผลและเคารพในความต่างอย่างเป็นประชาธิปไตย จึงอยากชวนให้ทั้งสังคม สื่อมวลชน ครูอาจารย์ พ่อแม่ผู้ปกครอง ได้ร่วมกันทำงานให้หนักขึ้นเพื่อสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย ซึ่งคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียกร้องให้ประเทศเรามีการปกครองแบบประชาธิปไตยจริงๆ เสียก่อน แล้วก็พยายามปลูกฝังค่านิยมกันอย่างต่อเนื่อง เพราะในอนาคตเรายังเรื่องอื่นๆ อีกมากที่ต้องถกเถียงหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งหากทำได้อย่างมีวุฒิภาวะและเคารพกติกา เราก็จะมีสังคมที่ก้าวหน้ารออยู่ปลายทาง””

[full-post]


Posted: 25 Jun 2018 05:27 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากลเผยผลสำรวจ ‘ITUC Global Rights Index 2018' ระบุ 10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานได้แก่ แอลจีเรีย, บังกลาเทศ, กัมพูชา, โคลัมเบีย, อียิปต์, กัวเตมาลา, คาซัคสถาน, ฟิลิปปินส์, ซาอุดิอาระเบีย และตุรกี ส่วน ‘ไทย’ ยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบ เหมือน 3 ปีก่อน

25 มิ.ย. 2561 ในรายงาน 2018 ITUC Global Rights Index ของสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation หรือ ITUC) ที่เผยแพร่เมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ระบุว่าจากการประเมินประเทศทั้งหมด 142 ประเทศ พบว่ามีการลดพื้นที่ทางประชาธิปไตยซึ่งทำให้เกิดการจำกัดการเคลื่อนไหวของแรงงานโดยตรง รวมทั้งการเอาเปรียบแรงงานของภาคกรธุรกิจที่มักจะไม่ได้รับการตรวจสอบมีเพิ่มมากขึ้นในปี 2561 โดยในรายงานฉบับนี้ได้ประเมิน 10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานไว้ คือ แอลจีเรีย, บังกลาเทศ, กัมพูชา, โคลัมเบีย, อียิปต์, กัวเตมาลา, คาซัคสถาน, ฟิลิปปินส์, ซาอุดิอาระเบีย และตุรกี

จากประเทศทั้งหมด 142 ประเทศที่ ITUC ได้ทำการประเมินนั้น มีประเทศที่มีการจับกุมและคุมขังแรงงานโดยพลการเพิ่มขึ้นเป็น 59 ประเทศ (จาก 44 ประเทศ ในปี 2560) ส่วนการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นนั้นมีถึง 54 ประเทศ นอกจากนี้มี 65% ที่ตัดเรื่องการรวมตัวกันของคนทำงานออกจากกฎหมายแรงงาน อีก 87% มีการละเมิดสิทธิในการหยุดงานประท้วงของคนทำงาน และมีถึง 81% ที่ปฏิเสธการเจรจาต่อรอง (บางส่วนหรือทั้งหมด) กับคนทำงาน

ส่วนจำนวนประเทศที่มีความรุนแรงทางร่างกายและภัยคุกคามต่อคนทำงานเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งรวมถึงประเทศบาห์เรน, ฮอนดูรัส, อิตาลี และปากีสถาน ส่วนประเทศที่มีการฆาตกรรมสมาชิกสหภาพแรงงานมี 9 ประเทศ คือ บราซิล, จีน, โคลัมเบีย, กัวเตมาลา, กินี, เม็กซิโก, ไนเจอร์, ไนจีเรีย และแทนซาเนีย

เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่าภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเป็นภูมิภาคที่เลวร้ายที่สุดสำหรับคนคนงาน ระบบค้ำประกันโดยผู้อุปถัมภ์ (Kafala) ทำให้คนทำงานในภูมิภาคนี้เปรียบเสมือนทาสยุคใหม่นับล้านคน การปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทำงานยังคงอยู่ในซาอุดีอาระเบีย ส่วนความขัดแย้งในลิเบีย, ปาเลสไตน์, ซีเรีย และเยเมน ได้นำไปสู่การล่มสลายของหลักนิติธรรม การเลือกทำงานที่มีคุณค่าเป็นเรื่องที่ยากลำบาก การประท้วงอย่างสันติได้รับการโต้ตอบอย่างรุนแรงโดยรัฐ และความพยายามในการจัดตั้งขบวนการแรงงานที่เป็นอิสระก็ถูกบั่นทอนอย่างเป็นระบบโดยรัฐในประเทศแอลจีเรียและอียิปต์

ส่วนในเอเชียแปซิฟิก ความรุนแรงต่อคนทำงานก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิทธิในการนัดหยุดงานถูกบั่นทอน มีการจับกุมคุมขังนักกิจกรรมแรงงานและผู้นำสหภาพแรงงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ทั้ง 22 ประเทศในภูมิภาคนี้ได้ละเมิดการเจรจาต่อรองและสิทธิในการประท้วงของคนทำงาน การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมยังคงมีให้เห็น เช่นในอินโดนีเซียมีการปลดพนักงานถึง 4,200 คน ที่บริษัทเหมืองแร่ PT Freeport ส่วนที่กัมพูชาโดยมีพนักงาน 558 คน ถูกไล่ออกหลังจากการประท้วงที่โรงงานเพียงแห่งเดียว เป็นต้น

ในแอฟริกาแรงงานมีความรุนแรงทางกายภาพถึง 65% ของประเทศในภูมิภาค การประท้วงในประเทศไนจีเรียถูกกองทัพปราบปรามอย่างรุนแรงและคนงานคนหนึ่งถูกสังหารโดยมือปืนปริศนาระหว่างการประท้วง

ทวีปอเมริกายังคงคุกรุ่นไปด้วยความรุนแรงในการปราบปรามคนทำงานและสมาชิกสหภาพแรงงาน ในโคลอมเบียเพียงประเทศเดียว มีนักสหภาพแรงงาน 19 คน ถูกฆาตกรรมเมื่อปีที่ผ่านมา

ส่วนประเทศในยุโรป 58% มีการละเมิดสิทธิการเจรจาต่อรอง และ 3 ใน 4 ของประเทศทั้งหมดมีการละเมิดสิทธิในการประท้วงของคนทำงาน

อนึ่งดัชนีนี้ ITUC ได้จัดอันดับความรุนแรงของการละเมิดสิทธิแรงงานจากมากไปหาน้อ

[right-side]

Posted: 25 Jun 2018 05:40 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ให้ 0 คะแนนประชาธิปไตยไทย เหตุรัฐประหารจนเป็นอันดับ 4 ของโลก "จะพูดก็ไม่ได้ จะคิดก็ไม่ได้ จะทำอะไรก็ไม่ได้ มีอะไรมาครอบปากเราเสียหมด แล้วยังเป็นประชาธิปไตยหรือ" พอ คสช. ยึดอำนาจ ก็เลื่อนเลือกตั้ง เลื่อนแล้วเลือกอีก ไม่ยึดโรดแมป เขียนรัฐธรรมนูญ ทำประชามติก็โกง แถมคิดสืบทอดอำนาจ บอกขอเวลาอีกไม่นาน จะคืนความสุขให้ "แม่งหลอกพวกเราอยู่นั่นแหละ"

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ให้คะแนนประชาธิปไตยไทย 0 คะแนนเหตุรัฐประหารจนเป็นอันดับ 4 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยึดอำนาจมากที่สุด "แล้วเป็นอย่างไรครับปัจจุบัน เราจะพูดก็ไม่ได้ จะคิดก็ไม่ได้ จะทำอะไรก็ไม่ได้ มีอะไรมาครอบปากเราเสียหมด แล้วยังเป็นประชาธิปไตยหรือ"

แถม คสช. เลื่อนเลือกตั้ง เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ไม่ยึดโรดแมป นอกจากนี้โกงแล้วยังไม่พอ ยังคิดสืบทอดอำนาจ บอก "ขอเวลาอีกไม่นาน" จะคืนความสุขให้ แม่งหลอกพวกเราอยู่นั่นแหละ

พร้อมแซวพรรคใหม่ "พลังประชารัฐ" ชื่อเหมือน "โครงการประชารัฐ" ของรัฐบาล คสช. พร้อมแซวชื่อผู้จัดตั้งพรรค "ชวน ชูจันทร์" "ชื่อชวนขอโทษนะพี่ ชื่อชวน ชื่อพี่โบราณเหลือเกิน" เหมือนชื่อพ่อของเขาที่ชื่อ "ชื้น" "ชื่อปัจจุบันต้องเสรีพิศุทธ์อย่างนี้ ถึงจะเท่หน่อย"

พร้อมแซวคุณชวนมีวิธีไปดึงเอาสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข, สุชาติ ตันเจริญ ฯลฯ มาเข้าพรรคได้ยังไง

คลิปอภิปรายเป็นส่วนหนึ่งจากงานเสวนาพิเศษ "WAKE UP THAILAND SPECIAL ตอน “86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน" ที่ Voice Space สถานีโทรทัศน์ Voice TV 21 ถนนวิภาวดีรังสิต ดำเนินรายการโดย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ที่ชวนตัวแทน 10 พรรคการเมืองร่วมให้คะแนนกับระบอบประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมาจากคะแนน 0 ถึงเต็ม 10



Posted: 25 Jun 2018 06:18 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

24 มิ.ย. 2561 มูลนิธิไชยวนา ร่วมกับ กลุ่มโดมรวมใจ และเพื่อนจัดรำลึกครบรอบ 86 ปี การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม 24 มิถุนายน 2475 ณ สวนครูองุ่น มาลิก ทองหล่อ ซอย 3 สุขุมวิท 55 ในงานดังกล่าว การแสดงปาฐกถา “2475 อดีต ปัจจุบัน อนาคต” โดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย (อ่านรายละเอียดคำปาฐกถาได้ที่นี่ https://prachatai.com/journal/2018/06/77554)

นอกจากนี้ยังมี การเล่าความทรงจำการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม ผ่าน พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชายพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai




ซาราห์ ฮัคคาบี แซนเดอร์ส โฆษกของทำเนียบขาว (แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)


Posted: 25 Jun 2018 08:57 AM PDT

ซาราห์ ฮัคคาบี แซนเดอร์ส โฆษกของทำเนียบขาวและที่ปรึกษาด้านการเมืองของโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกเชิญออกจากร้านอาหารแห่งหนึ่งเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่พอใจที่เธอทำงานให้กับรัฐบาลที่ "ไร้มนุษยธรรม" และเจ้าของร้านก็บอกว่าคนแบบนี้ต้อง "รับผิดชอบกับความผิดของตัวเองบ้าง" โดยที่ตัวฮัคคาบีเองก็เคยกล่าวสนับสนุนการเหยียดและกีดกันคนรักเพศเดียวกันจากการใช้บริการทางธุรกิจมาก่อน

25 มิ.ย. 2561 วอชิงตันโพสต์สัมภาษณ์เจ้าของร้านอาหารในรัฐเวอร์จิเนียที่กลายเป็นข่าวในสหรัฐฯ ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากร้านอาหารเล็กๆ ที่ชื่อ "เรดเฮน" ร้านนี้ปฏิเสธไม่ให้บริการกับซาราห์ ฮัคคาบี แซนเดอร์ส โฆษกของทำเนียบขาวและที่ปรึกษาด้านการเมืองของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยให้เหตุผลว่าฮัคคาบีทำงานให้กับรัฐบาลที่โหดร้าย "ไร้มนุษยธรรมและไร้จรรยาบรรณ"

สเตฟานี วิลคินสัน เจ้าของร้านอาหารแห่งนี้กล่าวว่าถ้าหากเป็นไปได้เธอก็จะทำแบบเดียวกันอีก "พวกเราแค่รู้สึกว่า มันมีช่วงเวลาหนึ่งที่คนเราควรจะต้องรับผิดชอบกับความผิดของตัวเองเสียบ้าง และนี่ก็คือช่วงเวลาที่ว่า"

หลังเกิดเหตุการณ์นี้ ฮัคคาบีก็โพสต์ในทวิตเตอร์ลงวันที่ 23 มิ.ย. ระบุว่าเธอถูกเชิญให้ออกจากร้านอาหารเรดเฮนในเมืองเล็กซิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย เนื่องจากเธอทำงานให้กับรัฐบาลทรัมป์

ตัวของฮัคคาบีเองก็เคยเป็นผู้ที่เคยสนับสนุนการกีดกันคนรักเพศเดียวกันมาก่อน ด้วยการบอกว่าเธอยอมรับได้ถ้าหากคนทำเค้กต้องการแขวนป้ายระบุว่า "พวกเราไม่รับทำเค้กให้กับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน" จากกรณีก่อนหน้านี้ที่เจ้าของร้านมาสเตอร์พีซเค้กชอปปฏิเสธไม่ทำเค้กให้กับคู่แต่งงานคนรักเพศเดียวกัน สื่อ Vox ระบุว่านั่นทำให้เรื่องที่ฮัคคาบีขุดร้านนี้มาแฉต่อสาธารณะเป็นเรื่องที่ "มือถือสากปากถือศีล" ย้อนแย้งกันในตัวเองกับสิ่งที่เธอปฏิบัติต่อชาวเกย์

วิลคินสันบอกอีกว่าหนึ่งในสาเหตุที่เธอปฏิเสธไม่บริการให้กับฮัคคาบีเพราะสาเหตุเรื่องจุดยืนของฮัคคาบีต่อสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน คนทำงานในร้านของเธอเองก็มีหลายคนที่เป็นคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งนอกจากพวกเขาจะรู้สึกแย่กับจุดยืนเรื่องคนรักเพศเดียวกันแล้วพวกเขายังไม่พอใจที่ฮัคคาบีปกป้องนโยบายพรากลูกจากผู้อพยพของรัฐบาลทรัมป์ด้วย

สื่อ Vox ระบุอีกว่ารัฐบาลทรัมป์มักจะใช้วิธีการแบบหยาบคาย ไม่ว่าจะเป็นการทวีตหรือพูดจาแย่ๆ ต่อกลุ่มบุคคลต่างๆ แม้กระทั่งกล่าวหาว่าเรื่องการพรากลูกจากผู้อพยพที่ชายแดนเป็น "เรื่องกุขึ้น" ถึงแม้จะมีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลทรัมป์ให้ยาทางการแพทย์กับเด็กโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากครอบครัวหรือตัวเด็กเอง

วิลคินสันเปิดเผยอีกว่าในตอนที่ฮัคคาบีมาที่ร้านนั้นตัวเธอเองไม่ได้อยู่ที่ร้าน แต่มีพนักงานนร้านอาหารติดต่อเธอว่าฮัคคาบีเข้ามาที่ร้านและทำให้เหล่าพนักงานรู้สึกเป็นกังวล ทำให้วิลคินสันเดินทางไปที่ร้านและบอกกับพนักงานว่าเธอจะเป็นคนขอเชิญให้ฮัคคาบีออกจากร้านเอง ซึ่งพนักงานก็เห็นด้วย

วิลคินสันบอกว่าตัวเธอเองไม่ใช่คนที่ขอบการเผชิญหน้าสักเท่าใด เธอก็มีธุรกิจที่อยากจะให้มันเติบโต แต่การทำเช่นนี้มันก็ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับชีวิตในระบอบประชาธิปไตยที่คนเราอาจจะต้องทำในสิ่งที่ไม่สะดวกใจบ้างเพื่อดำรงจุดยินของตัวเอง

กีดกันเกย์ กับกีดกันตัวบุคคลเหมือนกันหรือไม่

ในประเด็นเรื่อง การเหมารวมกีดกัน-เลือกปฏิบัติ หรือที่เรียกว่า "discrimination" นั้น ความหมายระดับนานาชาติของคำๆ นี้หมายถึงการกีดกันด้วยฐานคติจากอัตลักษณ์ติดตัวบุคคลต่างๆ เช่น เพศสภาพ, เพศวิถี, เชื้อชาติ, ความพิการ เป็นต้น การกีดกันปัจเจกบุคคลคนๆ หนึ่งด้วยความไม่พอใจพฤติกรรมหรือนโยบายทางการเมืองที่พวกเขามีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่ถูกเหมารวมไปด้วย ไม่ถือเป็นการ discrimination เพราะพฤติกรรมและนโยบายทางการเมืองไม่ใช่อัตลักษณ์ที่ติดตัวบุคคล

เรียบเรียงจาก

The owner of the Red Hen explains why she asked Sarah Huckabee Sanders to leave, Washington Post, 23-06-2018

'I Would Have Done the Same Thing Again.' Restaurant Owner on Why She Asked Sarah Huckabee Sanders to Leave, Time, 24-06-2018

Sarah Sanders is upset because a restaurant wouldn’t serve her. She’s okay with it happening to gays., Vox, 23-06-2018

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Equality and Non-discrimination, UN
Discrimination, Wikipedia

[full-post]
ขับเคลื่อนโดย Blogger.