Posted: 28 Oct 2018 11:00 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-10-29 13:00


หากงานตำแหน่งและลักษณะเดียวกันจะต้องได้รับค่าตอบแทนเท่ากันนั้น พบว่าช่องว่างรายได้ระหว่างเพศของผู้หญิงอเมริกันโดยรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 80% ของผู้ชาย ช่องว่างแคบสุดช่วงอายุ 20-24 ปี ที่ 90% ของผู้ชาย ห่างสุดอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่ 77% อาชีพ ‘ซีอีโอ’ ช่องว่างสูงสุด ส่วนแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลช่องว่างต่ำสุด จบ ‘สแตนฟอร์ด’ ช่องว่างรายได้กับผู้ชายที่จบสาขาเดียวกันห่างมากที่สุดในบรรดามหาวิทยาลัยชั้นนำ

ที่มาภาพประกอบ: ScoopWhoop

28 ต.ค. 2561 ข้อมูลจากรายงานการศึกษาของของสมาคมสตรีมหาวิทยาลัยอเมริกัน (American Association of University Women: AAUW) หากงานตำแหน่งและลักษณะเดียวกันจะต้องได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน พบว่าช่องว่างระหว่างเพศทำให้ผู้หญิงอเมริกันสูญเสียรายได้รวมกันถึง 513 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 16.9 ล้านล้านบาท)

โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงอเมริกันที่เป็นพนักงานประจำจากข้อมูลเมื่อปี 2560 พบว่าหากทำงานตำแหน่งและลักษณะเดียวกันกับผู้ชาย พวกเธอจะได้รายได้แค่ร้อยละ 80 ของผู้ชาย เมื่อพิจารณาตามช่วงอายุพบว่าผู้หญิงอายุ 20-24 ปี จะได้รับรายได้ร้อยละ 90 ของผู้ชาย (เป็นช่วงอายุที่ช่องว่างรายได้แคบสุด) แต่พออายุถึง 65 ปี ขึ้นไปแล้ว ช่องว่างจะยิ่งสูงขึ้น โดยได้รับรายได้เพียงร้อยละ 77 ของผู้ชาย


แผนภูมิแสดงค่ามัธยฐาน (median) ของช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ (gender pay gap) ตามช่วงอายุของพนักงานประจำในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2560 ที่มา: USA TODAY

CEO หนึ่งในอาชีพที่ช่องว่างสูงสุด

ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐอเมริกา (U.S. Census Bureau) พบว่าช่องว่างรายได้ระหว่างชายหญิง ยังมีอยู่ในเกือบทุกอาชีพ โดยในปี 2559 เฉลี่ยแล้วผู้หญิงมีรายได้ต่อปีที่ 40,675 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.34 ล้านบาท) ส่วนผู้ชายอยู่ที่ 50,741 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.68 ล้านบาท)

รายงานระบุว่าผู้บริหารในตำแหน่ง ‘ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร’ หรือ ‘ซีอีโอ’ คืออาชีพที่มีช่องว่างรายได้ระหว่างหญิงกับชายมากที่สุด โดยซีอีโอผู้หญิงมีรายได้เฉลี่ยร้อยละ 73 ของซีอีโอผู้ชาย และอีกอาชีพหนึ่งคือธุรกิจด้านการขายและการเงิน ที่ผู้หญิงได้เงินเดือนราวร้อยละ 70 ของผู้ชาย ส่วนสาขาที่ผู้หญิงกับผู้ชายมีความแตกต่างน้อยเรื่องรายได้ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล ซึ่งผู้หญิงในสาขานี้มีรายได้ราวร้อยละ 97 ของผู้ชาย

และเมื่อพิจารณาในด้านวุฒิการศึกษาและมหาวิทยาลัย พบว่ามีความแตกต่างทางรายได้ในระดับสูงระหว่างบัณฑิตหญิงกับชาย ที่จบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯ โดยผู้หญิงที่จบจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) จะมีรายได้ต่อปีน้อยกว่าผู้ชายที่จบจากสาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ 36,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.19 ล้านบาท) ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงห่างที่มากที่สุดในบรรดามหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ รองมาคือ ปรินซ์ตัน (Princeton), ฮาร์เวิร์ด (Harvard), สถาบันเทคโนโลยีรัฐแมสซาชูเสตส์ (MIT) และดุ้ก (Duke)



ที่มาเรียบเรียงจาก
Women lose $513 billion a year in wages due to gender pay gap and math is worse for some (usatoday.com, 23/10/2018)
Here Are the US Jobs with the Biggest Gender Pay Gaps (Dora Mekouar, VOA, 19/9/2018)

[full-post]


Posted: 28 Oct 2018 11:05 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-10-29 13:05

วริตตา ศรีรัตนา[1]

ปฏิกิริยาตอบรับอย่างอบอุ่นและขับไสไล่ส่งอย่างรังเกียจ อีกทั้งความพยายามของทางการที่จะเซ็นเซอร์เพลง “ประเทศกูมี” ซึ่งเป็นเพลง Rap วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมืองและต่อต้านเผด็จการนั้น ได้สะท้อนความจริงประการสำคัญที่เราไม่อาจมองข้าม นั่นคือ ข้อที่ว่าในสังคมโลกที่เผด็จการพยายามควบคุมการแสดงออกทางความคิดทุกรูปแบบและทุกระดับ งานศิลปะที่เปี่ยมด้วยความตระหนักรู้ – อันเป็นงานที่เปิดพื้นที่ให้กับการคิดตีความอันหลากหลายสุดจะคาดเดาและเหนือวิสัยการออกแบบวางโปรแกรมให้เห็นเหมือนและตามกันทุกกระเบียด – ยังมิวายเป็นช่องทางการแสดงออกที่ทรงพลังอย่างหาที่เปรียบมิได้ ด้วยงานศิลปะเป็นที่พึ่งและความหวังสำหรับประชาชน และในขณะเดียวกันก็เป็นที่เกลียดกลัวสำหรับผู้ทรงอำนาจ แต่กระนั้น แม้เราจะตระหนักดีว่างานศิลปะทรงพลังในฐานะอาวุธต่อสู้กับอำนาจนำที่คอยเฝ้าระวังปลดอาวุธทางปัญญาของเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ความพยายามบังคับ ระงับ และปราบปรามความคิดความอ่าน อีกทั้งจำกัดสิทธิในการตีความเชิงวิพากษ์ของประชาชนนั้นส่งผลเสียมากกว่าผลดีแน่นอน โดยเฉพาะผลเสียในระยะยาว ด้วยมนุษย์มีคุณสมบัติหนึ่งที่พวกเราย่อมรู้ดี นั่นคือ สามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ได้ดีมีสิทธิภาพถึงขึ้นที่ว่าสมมติมีตะปูในรองเท้าคู่และเราจำต้องใส่และใช้ชีวิตอยู่กับรองเท้าคู่นั้น เราจะสามารถปรับตัวและหาทางเขย่งตะแคงเท้าเดินต่อไปให้ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ช่างง่ายเหลือเกินที่ประชาชนจะสามารถปรับตัวให้คุ้นชินและทำใจให้ชินชาไม่รู้สึกรู้สมต่อข้อจำกัดที่ทางการบีบบังคับให้ยอมรับ นานวันเข้าก็จะมองไม่เห็นว่าตนกำลังถูกปล้น สิ่งที่ถูกปล้นไปอย่างโหดเหี้ยมคือช่วงชีวิตอันมีความหมาย ช่วงชีวิตแห่งการเติบโตทางความคิดอย่างเสรีในแสงแดดอันเจิดจ้าแห่งศิลปะที่เสริมสร้างความตระหนักรู้ทางสังคม สิ่งที่เผด็จการพรากไปนั้นจะกลายเป็นเพียงภาพความทรงจำ ด้วยช่วงชีวิตที่ถูกปล้นไปนั้นถูกแทนที่ด้วยช่วงชีวิตจอมปลอมที่มีแต่เปลือก กล่าวคือถูกแทนที่ด้วย “เวลามือสอง” ที่ผ่านการย่อยขย้อนจนไม่เหลือความหมายหรือคุณประโยชน์อันใดที่จะจรรโลงให้เราสามารถใช้ชีวิตที่ทรงคุณค่าและมีเอกลักษณ์สมเป็นปัจเจก

น่าสนใจที่ “เวลามือสอง” นี้เป็นชื่องานเขียนชิ้นสำคัญและมีชื่อเสียงของนักเขียน “ม้ามืด” คนหนึ่งที่ผู้เขียนบทความคิดว่า #ประเทศกู(น่าจะ)มีและอ่านกัน

ขอเริ่มด้วยประเด็นงานศิลปะและความเกลียดกลัวของเผด็จการ


เมื่อ สเวียตลานา อเล็กซิเยวิช (Svetlana Alexievich) นักหนังสือพิมพ์ชาวเบลารุสเชื้อสายยูเครน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปีพ.ศ. 2558 และข่าวนั้นได้แว่วมาถึงหูของประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโกแล้ว ประธานาธิบดีผู้อยู่ในตำแหน่งอย่างคงกระพันตั้งแต่พ.ศ. 2537 คนนี้ก็ประกาศกร้าวด้วยความเกลียดเข้ากระดูกดำทันทีว่านักเขียนรางวัลโนเบลคนนี้ได้โยน “ปฏิกูลเต็มๆ หนึ่งถัง” ไปยังประชาชนชาวเบลารุส คำพูดดังกล่าวมิเพียงรุนแรงและไม่สมเหตุสมผล หากยังชี้ให้เห็นว่าผู้นำของประเทศที่ สเวียตลานา อเล็กซิเยวิช ทำชื่อเสียงให้อย่างใหญ่หลวงนั้น ไม่แม้แต่จะเห็นคุณค่างานเขียนของเธอ ซึ่งเธอเองนั้นก็โต้ตอบคำกล่าวหาว่างานของเธอมุ่งวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเผด็จการ ไม่ได้มุ่งโจมตีผู้คนที่ตกอยู่ใต้ระบอบแต่อย่างใด[2] ปฏิกิริยาของนักเขียนผู้ถูกโจมตีไม่ได้ส่อถึงความรู้สึกแปลกใจเลยแม้แต่น้อย เพราะในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา งานเขียนของเธอถูกระงับพิมพ์และห้ามเผยแพร่ในเบลารุส เมื่อพ.ศ. 2543 เธอทนไม่ได้ จึงตัดสินใจย้ายไปอยู่ประเทศต่างๆ ในยุโรปไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส เยอรมนี และสวีเดน เธอเพิ่งจะเดินทางกลับมาประเทศบ้านเกิดเมื่อพ.ศ. 2554 เท่านั้น เมื่อกลับมาแล้วถูกเพ่งเล็ง จึงตัดสินใจอยู่และทำงานเงียบๆ สำหรับนักอ่านนอกยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกแล้ว เธอคือม้ามืด สำหรับนักอ่านในภูมิภาคดังกล่าว สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชได้รางวัลนี้ช้าไปเสียด้วยซ้ำ

ถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการรางวัลโนเบลบ่งชี้ว่าสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชสมควรได้รับรางวัลเนื่องจากเธอได้ผลิต “งานเขียนแห่งเสียงประสาน” บอกเล่าเรื่องราวหลากเสียง และงานเขียนที่เป็น “อนุสรณ์สถานแห่งความระทมทุกข์และความกล้าหาญแห่งยุคสมัยของเรา” (“for her polyphonic writings, a monument to suffering and courage in our time”)[3]การประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปีนั้นได้พลิกความคาดหมายของผู้อ่านในบรรณพิภพงานเขียนภาษาอังกฤษหรืองานเขียนที่แปลเป็นภาษาอังกฤษแห่งศตวรรษที่ 21 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อ่านชาวไทยด้วยเหตุผลหลักสองประการ

ประการแรก เมื่อเทียบกับนักเขียน “ตัวเต็ง” คนอื่นๆ ซึ่งผู้อ่านงานวรรณกรรมโลกคุ้นเคยและคอยลุ้นให้ได้รับรางวัล เช่น ฮะรุกิ มุระกะมิ (Haruki Murakami) นักเขียนชาวญี่ปุ่นเจ้าของผลงานชื่อดัง เช่น เรื่อง Kafka on the Shore (ตีพิมพ์เมื่อพ.ศ. 2545) หรือชื่อฉบับแปลภาษาไทยของสำนักพิมพ์กำมะหยี่คือ คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ และเรื่อง 1Q84 (ตีพิมพ์ระหว่างพ.ศ. 2552-2553) หรือชื่อฉบับแปลภาษาไทยของสำนักพิมพ์กำมะหยี่คือ หนึ่งคิวแปดสี่ หรือ กูกี วาธิอองโก (Ngũgĩ wa Thiong'o) นักเขียนชาวเคนยาที่ผู้ศึกษาแนวคิดโพสโคโลเนียล (Postcolonialsm) คุ้นเคย ด้วยเป็นตัวอย่างของนักเขียนที่ตัดสินใจเลือกเขียนภาษาท้องถิ่นแทนภาษาอังกฤษเพื่อแสดงจุดยืนทางความคิดต้านลัทธิอาณานิคม กูกี วาธิอองโกเป็นเจ้าของผลงานนวนิยายหลายเล่ม เช่น A Grain of Wheat หรือ เมล็ดพันธุ์แห่งข้าวสาลี[4] (ตีพิมพ์เมื่อพ.ศ. 2510) และงานเขียนเชิงวิพากษ์ เช่น Decolonising the Mind: The Politics of Language in African Literature หรือ การปลดแอกอาณานิคมแห่งปัญญา: หลักการแห่งการใช้ภาษาในวรรณคดีแอฟริกัน[5] (ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ1986) แล้วกล่าวได้ว่าสเวียตลานา อเล็กซิเยวิช และผลงานของนักเขียนผู้นี้ไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทั้งหมดนี้เป็นภาพสะท้อนช่องโหว่ในการเรียนการสอนและการสร้างองค์ความรู้ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สงคราม อีกทั้งประวัติศาสตร์แห่งภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์เบลารุสและยูเครน

ประการที่สอง สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชนับเป็นนักเขียนงานสารคดีอิงเรื่องจริง (non-fiction) ในรอบกว่าครึ่งศตวรรษที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ นักเขียนส่วนมากที่ได้รับรางวัลอันมีชื่อเสียงระดับโลก เช่น รัดยาร์ด คิปลิง (Rudyard Kipling) กวีชาวอังกฤษเกิดที่อินเดีย วิลเลียม บัตเลอร์ เยตส์ (William Butler Yeats) กวีชาวไอร์แลนด์ และ ที.เอส. เอเลียต (T.S. Eliot) กวีชาวอังกฤษเกิดที่สหรัฐอเมริกา ล้วนเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงด้านบทกวีหรือบันเทิงคดี (fiction) ทั้งสิ้น ส่วนนักเขียนสารคดีผู้มีชื่อเสียงที่ได้รับรางวัลโนเบลก่อนหน้าสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชนั้นได้แก่ เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ (Bertrand Russell) และ วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill)[6] สเวียตลานา อเล็กซิเยวิช นอกจากจะเป็นชาวเบลารุสคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลแล้ว ยังนับเป็นนักหนังสือพิมพ์คนแรกและสตรีลำดับที่ 14 ที่ได้รับรางวัลนี้อีกด้วย[7] ศาสตราจารย์ซารา ดานิอุส (Sara Danius) เลขาธิการแห่งสถาบันวิชาการสวีเดน (The Swedish Academy) กล่าวว่าสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชได้ “คิดค้นรูปแบบวรรณกรรมประเภทใหม่”[8] อันทำให้เป็นที่ประจักษ์ว่า “ความสำเร็จทางวรรณกรรมของเธอนั้นสะท้อนทั้งในระดับของเนื้อหาและรูปแบบ”[9] งานเขียนของสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชเป็นงานเขียนเชิงสารคดีที่เป็นผลจากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์นับครั้งไม่ถ้วน เป็นผลของการบรรจงเรียงร้อยเรื่องเล่าจากผู้คนที่เผชิญกับสงครามและสถานการณ์ภัยพิบัติที่พลิกผันชีวิต ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เธอเป็นนักเขียนที่มีสถานะเป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์และเรื่องราวจากโลกแห่งการสูญเสีย แต่ทั้งนี้ การเขียนประเภทดังกล่าวเป็นส่วนผสมของการเปิดเผยข้อเท็จจริงและการเลือกเฟ้น เรียงลำดับและเรียบเรียงทางวรรณศิลป์อย่างเลี่ยงไม่ได้ จากบทสัมภาษณ์หนึ่ง ผู้อ่านได้ทราบว่ารูปแบบวิธีการเขียน “งานวรรณกรรมเชิงสารคดี” ซึ่งเป็นการเขียน “งานเขียนสารคดีเชิงวรรณกรรม/วรรณศิลป์” ในเวลาเดียวกันนั้น สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณคดีภาษารัสเซียซึ่งมีรากยึดโยงเหนี่ยวแน่นในขนบวรรณคดีมุขปาฐะ: “ขนบการเล่าแบบนี้ กล่าวคือบันทึกเรื่องราวมุขปาฐะ และบันทึกน้ำเสียง/สุรเสียงอันมีชีวิตนั้น ได้ถูกวางรากฐานในวรรณคดีรัสเซียที่เขียนขึ้นก่อนฉัน”[10] นอกจากนี้ นั้น เธอยังล่าวเสริมว่า


ฉันตระหนักว่าชีวิตได้มอบแบบฉบับเรื่องราวและการตีความมากมายหลายแบบเมื่อพินิจเหตุการณ์เดียวกันจนบันเทิงคดีหรือสารคดีเพียงมิติรูปแบบเดียวนั้นมิอาจรองรับความหลากหลายนั้นๆ ได้ ฉันรู้สึกว่าฉันจำต้องหากลวิธีเล่าเรื่องในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม ฉันตัดสินใจรวบรวมเสียงต่างๆ จากท้องถนน เนื้อหาที่เรียงรายรอบตัวฉัน ผู้คนแต่ละคนนั้นมอบตัวบทในแบบฉบับของตน ฉันตระหนักว่าฉันสามารถผลิตหนังสือจากตัวบทต่างๆ เหล่านี้[11]

ผู้อ่านอาจเข้าใจไปว่า สเวียตลานา อเล็กซิเยวิช เป็นเพียง “เครื่องบันทึกเทป” ที่มีหน้าที่เก็บและรวบรวมเรื่องเล่าต่างๆ เท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นคุณสมบัติของผู้ที่คู่ควรกับรางวัลโนเบล อันเป็นรางวัลที่พิจารณาจากผลงานทั้งหมดที่ผลิตมาทั้งชีวิต กรอบวิธีวิเคราะห์เรื่องเล่า (narrative) แนวโพสต์โมเดิร์นนิสม์ (postmodernism) กลับเผยให้เห็นเบื้องหลังแห่งคัดสรรเรื่องราวและจัดเรียงองค์ประกอบต่างๆ ที่รวมกันกลายเป็นเรื่องราวที่ดูจะเป็นเรื่องราวแบบฉบับสัมบูรณ์หนึ่งเดียว ที่เรียกว่า “อภิมหาพรรณนา” (metanarrative/grand narrative) ประเด็นนี้ ฌ็อง-ฟรองซัวส์ เลียวตาร์ (Jean Francoise Lyotard) กล่าวสรุปว่า “นี้อาจเป็นการย่นย่อให้ง่ายจนสุดโต่ง แต่ข้าพเจ้านิยามโพสต์โมเดิร์นว่าความกังขาในอภิมหาพรรณนาต่างๆ”[12]เรื่องเล่าต่างๆ นั้นแม้จะอิงข้อเท็จจริงเพียงใด แต่ในขั้นตอนการถ่ายทอดให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านนั้น วรรณศิลป์หรือศิลปะแห่งการบรรยายและพรรณนาให้เห็นภาพนั้นแทบจะแยกออกมาจากเนื้อหามิได้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชแสดงความตระหนักรู้ถึงการไม่มีอยู่จริงของเรื่องราวอิงข้อเท็จจริงอันบริสุทธิ์สัมบูรณ์ในงานเขียน นี้เองเป็นปัจจัยที่ทำให้งานเขียนของเธอมีเอกลักษณ์และสะท้อนศาสตร์และศิลป์แห่งการคิดค้นรูปแบบวรรณกรรมใหม่ที่ผสมผสานสารคดีและบันเทิงคดีอย่างลงตัว ในประเด็นนี้ เธอได้กล่าวไว้ว่า


บทบาทหน้าที่ของฉันไม่ใช่เป็นแค่หูที่คอยแอบฟังผู้คนพูดคุยกันตามท้องถนน แต่เป็นผู้สังเกตการณ์และนักคิด เมื่อมองจากภายนอกกรรมวิธีดังกล่าวอาจดูจะทำได้ง่ายดาย กล่าวคือผู้คนเล่าเรื่องราวของพวกเขาให้ฉันฟังเฉยๆ เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายเช่นนั้น คำถาม วิธีการถามของผู้ถาม สิ่งที่ผู้ถามได้ยินและองค์ประกอบที่ฉันคัดเลือกจากบทสัมภาษณ์ล้วนสำคัญ ฉันคิดว่าคุณคงไม่สามารถสื่อสะท้อนขอบเขตอันกว้างเหนือกำหนดแห่งชีวิตได้หากปราศจากข้อเท็จจริง หากปราศจากหลักฐานแห่งมนุษย์รองรับ ภาพนั้นคงจะไม่สมบูรณ์[13]

การก่อร่างสร้าง “อนุสรณ์สถานแห่งความระทมทุกข์และความกล้าหาญ” ด้วยปลายปากกาของสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชไม่ใช่การจดบันทึกเรื่องราวที่ได้ยินมาอย่างหุ่นยนต์หรือเครื่องยนตร์กลไกไร้ความคิดความรู้สึก หากกว่าจะได้อิฐแต่ละก้อนอันจะนำมาโบกเรียงกันเป็นอนุสรณ์นั้น ผู้เขียนจะต้องเปิดใจรับฟังเรื่องราวที่ไม่ง่ายที่จะรับฟัง เรื่องราวที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดสูญเสีย ครั้นเมื่อรับวัตถุดิบแห่งเรื่องเล่าแล้ว นักเขียนจะต้องนำไปก่อร่างหล่ออิฐที่มีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามตัวบทชีวิตที่แตกต่างกันไป นำก้อนอิฐแห่งตัวบทที่ซับซ้อนในตัวทั้งหมดมาคิดวิเคราะห์ วางแผนและจัดเรียงอย่างเป็นศิลปะ โดยไม่ละทิ้งความพยายามที่จะหาสมดุลระหว่างเสียงของตนและเสียงอันเปี่ยมด้วยอารมณ์ความรู้สึกของของมวลชนที่ยากยิ่งที่ระบบสัญญะอันมีแสนยานุภาพและขอบเขตที่จำกัดจะรองรับจับความได้ครบถ้วน สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชเป็นมากกว่านักสารคดี หรือนักบันเทิงคดี นอกจากนั้น ยังเป็นมากกว่านักประวัติศาสตร์อีกด้วย เพราะข้อเท็จจริงต่างๆ ของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นั้นสำคัญไม่เท่าความเป็นมนุษย์อันละเอียดอ่อนที่สะท้อนในความอดทนอดกลั้นอย่างหาที่สุดไม่ได้ของคนธรรมดาไร้อำนาจ และสะท้อนในความพยายามที่จะมีชีวิตอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากสงคราม ภัยพิบัติ การกดขี่ การทรยศหักหลังและการโกหกหลอกลวงโดยผู้มีอำนาจ หนังสือของสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชประสบความสำเร็จในการเปิดโปงความโหดร้ายและไร้หัวจิตหัวใจแห่งระบอบเผด็จการที่งอกงามบนโลงสังกะสีที่จรรโลงลัทธิชาตินิยมอันหลอกลวง หนังสือของเธอประสบความสำเร็จในการพลิกอ่านร่องรอยแห่งความสูญเสียและชีวิตที่ถูกขโมยไปอย่างไม่เป็นธรรมที่จารึกบนบานประตูที่ใช้เป็นฐานวางร่างอันไร้วิญญาณ อันเป็นมรดกตกทอดแห่งครอบครัวหลายยุคสมัยตั้งแต่สงครามโลกจนถึงสงครามทีลวงโลกในวิถีที่น่าอัปยศมากกว่าที่ผ่านมา หนังสือของสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชประสบความสำเร็จในการเผยให้เห็นมือที่มองไม่เห็นที่มีส่วนผลักให้ชายและหญิงหลายคนบินเหมือนนกแม้จะได้ลิ้มชิมอิสรภาพเหมือนนกเพียงไม่กี่วินาที ทั้งหลายทั้งมวลนี้ทำให้เธอเป็นนักเขียนที่เป็นภัยต่อระบอบที่มุ่งปิดหูปิดตาประชาชน ในระดับเทียบเท่ากับที่เพลง “ประเทศกูมี” และฉากหลังในมิวสิกวิดีโอของเพลงเป็นภัยในสายตาของกลุ่มอำนาจนำผู้พยายามควบคุมเซ็นเซอร์ความคิดเชิงวิพากษ์ในสังคมไทย

ผลงานอันโดดเด่นของสเวียตลานา อเล็กซิเยวิช ได้แก่
У войны не женское лицо [อู วอยนี เน เชนสกเย ลิตโซ] หรือ “สงครามไซร้ไร้ใบหน้าแห่งสตรี”[14]

แหล่งภาพ: https://books.google.co.th/books/about/The_Unwomanly_Face_of_War.html?id=P5dnDQAAQBAJ&source=kp_cover&redir_esc=y


ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2530 เป็นเรื่องราวชีวิตและประสบการณ์ของผู้หญิงในกองทัพโซเวียตสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้รอดชีวิตและต้องจัดการชีวิตและปรับตัวเข้ากับโลกหลังสงคราม สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชย้ำว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวของผู้หญิงสามัญชนคนธรรมดาทั้งหลายผู้ผ่านทั้งสมรภูมิรบและสมรภูมิชีวิต ผู้หญิงที่นอกจากจะมีชีวิตอยู่เพื่อตนเองและความสูญเสียในอดีตแล้วยังมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่นโดยเฉพาะเพื่อครอบครัวที่ตนเองได้สร้างขึ้นหลังผ่านสงครามอันโหดร้ายอีกด้วย:

ส่วนข้อมูลเนื้อหาของหนังสือและหลักการที่เกี่ยวข้องนั้น ฉันจงใจเลี่ยงทหารพลซุ่มยิงที่มีชื่อเสียงหรือนักบินหรือทหารในกองกำลังต่างๆ ที่เป็นที่รู้จัก เพราะมีเขียนเกี่ยวกับพวกเขาแล้วมากมาย “พวกเราเป็นผู้หญิงธรรมดาที่ทำงานในกองทัพ เหมือนหลายๆ คน” ฉันได้ยินประโยคนี้มามากกว่าหนึ่งครั้ง และฉันกำลังเสาะหาผู้คนธรรมดาแบบนี้เพราะความทรงจำของพวกเขานั้นช่วยก่อร่างสร้างคลังแห่งสิ่งที่เราเรียกกันว่าความทรงจำของผู้คน “ถ้าคุณมองสงครามผ่านสายตาของเรา สายตาของผู้หญิง สงครามดูจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่สามารถจินตนาการได้” สิบเอกหญิง อเล็กซานดรา อิโอสิฟอฟนา มิชูตินา สังกัดกรมแพทย์ทหาร นี่คือคำพูดของผู้หญิงคนธรรมดาคนหนึ่งที่ต่อสู้ฟันฝ่าสมรภูมิสงครามมาตลอด หลังสงครามก็แต่งงาน มีลูกสามคนและตอนนี้กำลังช่วยเลี้ยงหลาน คำพูดเหล่านี้สื่อแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังหนังสือเล่มนี้[15]

2. Цинковые мальчики [ซินโกเว มัลชิกี] หรือ “เด็กหนุ่มหุ้มสังกะสี”[16]

แหล่งภาพ: https://books.google.co.th/books/about/Boys_in_Zinc.html?id=4fEpDQAAQBAJ&source=kp_cover&redir_esc=y

ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2534 เป็นเรื่องราวชีวิตและประสบการณ์ของทหารและผู้ที่เคยอาศัยและทำงานที่อัฟกานิสถานช่วงสงครามโซเวียตในอัฟกานิสถาน ระหว่างปีพ.ศ. 2522-2532 ซึ่งมีผู้บาดเจ็บและล้มตายถึง 50,000 คน ระบอบโซเวียตได้สั่งการให้สื่อต่างๆ สร้างภาพสงครามว่าดำเนินการไปเพื่อประโยชน์สุขของชาวอัฟกานิสถานโดยทหารนั้นไปช่วยก่อร่างสร้างรัฐสังคมนิยมอันเจริญรุ่งเรือง อีกทั้งได้ล้างสมองและสั่งการให้ทหารและผู้เกี่ยวข้องในสงครามเก็บความลับเกี่ยวกับความเป็นจริงที่ไปประสบที่อัฟกานิสถาน สั่งห้ามเปิดเผยและเปิดโปงความไร้เหตุผลป่าเถื่อนของสงครามนี้ ที่น่าเศร้าที่สุดคือเมื่อเหล่าทหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มอายุราว 18-20 ปีนั้นเสียชีวิต ทางการจะนำร่างบรรจุไปในโลงสังกะสีและ “ปิดตาย” อันหมายความว่าครอบครัวของผู้เสียชีวิตไม่มีแม้แต่สิทธิที่จะขอเปิดโลงศพเพื่ออำลาบุคคลอันเป็นที่รัก นี้เองเป็นที่มาของชื่อหนังสืออันสื่อนัยความหลอกลวงของโฆษณาชวนเชื่อที่มีส่วนรับผิดชอบการตายและความสูญเสียอันยิ่งใหญ่: “ไม่มีใครอธิบายสาเหตุและรายละเอียดการเสียชีวิต งานศพนั้นจัดตอนกลางคืนเพื่อลดจำนวนฝูงชน และศิลาหลุมฝังศพนั้นจารึกถ้อยคำดังนี้ “เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ด้านวิรัชกิจ” ซึ่งกลายเป็นการเกลื่อนคำของความหมายที่แท้จริง นั่นคือ เสียชีวิตระหว่างการรบ[17] ความไม่เป็นธรรมและการกดขี่ข่มเหงประชาชนได้เปลี่ยนชีวิตผู้คนธรรมดาอย่างแม่ของทหารนายหนึ่งโดยสิ้นเชิง ดังนี้:


ครู่แรกที่ฉันรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นคือตอนที่ร้อยเอกคนหนึ่งจากศูนย์บัญชาการเดินทางมาถึง


‘พยายามทำใจดีๆ ไว้ครับ คุณแม่…’ นั่นเป็นคำที่เขาใช้เรียกฉัน

‘ลูกชายของฉันอยู่ที่ไหน’

‘อยู่ที่นี่ ที่มินสก์ พวกเขากำลังพาลูกชายแม่มาตอนนี้’


ฉันทรุดลงไปกับพื้น ‘แสงสว่างน้อยๆ ของฉัน แสงสว่างน้อยๆ ของฉัน’ ฉันลุกยืนและกระโจนไปที่ร้อยเอกคนนั้น ‘ทำไมแกรอด แต่ลูกชายของฉันตาย แกตัวใหญ่แข็งแรง ลูกชายของฉันตัวเล็กนิดเดียว แกเป็นผู้ชายเต็มตัวแต่ลูกชายฉันเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง ทำไมแกถึงรอดกลับมา’

มีคนนำหีบศพเข้ามา ฉันโถมตัวลงไปที่โลง ฉันอยากจะนำร่างลูกออกมาจัดนอนแผ่(ให้เห็นกับตา)แต่พวกเขาไม่ยอมให้เราเปิดโลงเพื่อที่จะมองหน้าลูก จับตัวลูก… พวกนั้นได้จัดหาเครื่องแบบที่ขนาดพอดีกับตัวลูกหรือเปล่า[18]



3. Чернобыльская молитва [เชร์โนบิลสกายา มาลิตวา] หรือ “บทภาวนาแห่งเชอร์โนบิล”[19]

แหล่งภาพ: https://books.google.co.th/books/about/Voices_from_Chernobyl.html?id=7D1Mp57Tn8YC&source=kp_cover&redir_esc=y

ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2540 เป็นเรื่องราวชีวิตและประสบการณ์ของผู้ที่ประสบความสูญเสียในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ บุคคลอันเป็นที่รัก ที่อยู่อาศัยและแม้กระทั่งความทรงจำ อันเป็นผลจากภัยพิบัติเชอร์โนบิลซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2529 เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ เช่นเดียวกับเรื่องเด็กหนุ่มหุ้มสังกะสี บ่งชี้ว่าทางการนั้นได้บิดเบือนความจริงในวิถีอันป่าเถื่อนและเลวร้าย เหยื่อของการทรยศหักหลังคือผู้คนธรรมดาไร้อำนาจที่ต้องสูญเสียแทบจะทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต: “ในช่วงเวลาสิบวันแรกที่สำคัญยิ่ง เมื่อแกนเครื่องปฏิกรณ์นั้นกำลังลุกไหม้และส่งสารกัมมันตภาพรังสีร้ายแรงมายังบริเวณใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง ทางการได้อ้างซ้ำๆ ว่าเข้าควบคุมสถานการณ์ได้เรียบร้อยแล้ว[20] นี้เป็นการโกหกหลอกลวงประชาชนโดยระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยมที่มิเพียงเข้าขั้นก่ออาชญากรรม แต่สะท้อนให้เห็นถึงความไร้มนุษยธรรมและไม่ใส่ใจประชาชนของตน สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชใช้เวลากว่าสามปีในการสัมภาษณ์รวบรวมเรื่องราวชีวิตของผู้ที่เป็น “คนธรรมดาสามัญผู้ตอบคำถามที่สำคัญที่สุด[21] คำถามเกี่ยวกับความสูญเสีย ความรัก ความตาย ความสุข ความทุกข์ทั้งหมดนี้เป็นแก่นและหัวใจแห่งมนุษยชาติ เช่นเดียวกับที่เชอร์โนบิลกลายเป็นแก่นแกนหลักแห่งชีวิตของพวกเขาแม้ทางการจะบังคับให้พวกเขาลืมทุกสิ่งทุกอย่างก็ตาม สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชเองนั้นก็ประสบกับความสูญเสียและโศกนาฏกรรมอันเป็นผลจากอุบัติภัยเชอร์โนบิลเช่นกัน มารดาของเธอตาบอดและน้องสาวเสียชีวิตเพราะเหตุการณ์ดังกล่าว[22]

ในเรื่องเล่าที่ชื่อว่า “บทพูดเดี่ยวเกี่ยวกับชีวิตทั้งชีวิตที่ลิขิตบนบานประตู”[23] อันเป็นเรื่องราวของพ่อคนหนึ่งที่มิเพียงต้องสูญเสียบ้าน ต้องสูญเสียลูกสาวเพราะพิษกัมมันตรังสี แต่ยังต้องสูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นคนโดยหลังจากที่ถูกสั่งให้อพยพแล้ว ผู้คนในเมืองใหม่ที่ตนอาศัยอยู่นั้นมองคนที่มาจากเชอร์โนบิลอย่างตนและครอบครัวอย่างเคลือบแคลงสงสัย นอกจากนี้ เมื่ออพยพออกจากบ้านโดยไม่ได้นำทรัพย์สินอะไรติดตัวไปเลย เขาตั้งใจกลับไป “ขโมย” ทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดจากบ้านของตนเอง นั่นคือ บานประตูอันเป็นมรดกตกทอดในครอบครัว:


ประตูของเรา—มันเป็นเครื่องรางของพวกเรา เป็นสมบัติตกทอดของครอบครัว ร่างพ่อของฉันนอนแผ่บนประตู ฉันไม่รู้ว่าธรรมเนียมนี้เป็นของใคร มันไม่เป็นอย่างนี้ไปหมดทุกที่ แต่แม่ของฉันบอกว่าจะต้องวางร่างคนตายไปบนประตูบ้านตัวเอง[24]

ความย้อนแย้งของสถานการณ์สะท้อนในตอนที่เขาถูกตำรวจไล่ล่าราวเป็นหัวขโมยคนหนึ่ง ราวกับว่าบ้านที่เขาไปเยือนนั้นไม่ใช่บ้านของเขาจริงๆ เมื่อได้ประตูบานนั้นมา เขาก็ต้องนำมาใช้ลูกสาวของตัวเองตามขนบของครอบครัว การเล่าเรื่องราวนี้แม้จะเจ็บปวด แม้จะไม่อาจทำให้ลูกสาวฟื้นคืนชีพ แม้จะไม่อาจกู้ชีวิตที่สูญหายไปกับเมืองที่ปิดตาย แม้จะไม่อาจโต้ตอบความโกหกหลอกลวงของทางการ แต่เขาก็ตั้งใจว่าจะขอเป็นส่วนร่วมในการบันทึกเรื่องราวแห่งการสูญเสียเพื่อเป็นสักขีพยานแห่งความรักที่มีต่อลูกสาว อีกทั้งต่อชีวิตที่หายไปและความตายที่ไม่หายไปไหน คอยติดตามเขาและครอบครัวเป็นเงาตามตัว:


ลูกสาวของฉันอายุหกขวบ ฉันกำลังเตรียมให้เธอเข้านอนบนเตียง และเธอกระซิบในหูฉันว่า “พ่อจ๋า หนูอยากมีชีวิตอยู่ หนูยังเล็กนัก” และฉันก็หลงคิดมาตลอดว่าลูกไม่เข้าใจอะไร



เราวางร่างลูกไว้บนบานประตู… ประตูที่พ่อของฉันเคยนอน จนพวกเขาเอาโลงศพเล็กๆ ออกมา โลงศพนั้นเล็กเหมือนกล่องที่ไว้ใส่ตุ๊กตายักษ์



ฉันอยากจะให้เรื่องนี้เป็นสักขีพยาน ลูกสาวของฉันตายเพราะเชอร์โนบิล และพวกนั้นอยากให้เราลืมทุกสิ่ง[25]

เรื่องราวที่ฟังดูเหนือจริงแต่แท้จริงนั้นเป็นความจริงอันเจ็บปวดได้รับดัดแปลงเป็นภาพยนตร์สั้น (short film) กำกับโดยฮัวนิตา วิลสัน (Juanita Wilson) ผู้กำกับชาวไอร์แลนด์ ซึ่งได้รับเสนอชื่อเข้ารับรางวัลออสการ์ (Academy Award) ประจำปีพ.ศ. 2553

4. Время секонд хэнд [วรีมยา เซกอนด์ เคนด์] หรือ “เวลามือสอง”[26]

แหล่งภาพ: https://www.penguinrandomhouse.com/books/541184/secondhand-time-by-svetlana-alexievich/9780399588822/

ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2556 หนังสือเล่มนี้บันทึกเรื่องเล่าของผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบโซเวียต อีกทั้งนำเสนอบทวิเคราะห์ชีวิตและห้วงคำนึงของผู้คนภายหลังระบอบโซเวียตล่มสลาย:


ฉันสำรวจระบอบสังคมนิยมใน “บ้าน” เพราะแม้ระบอบสังคมนิยมแบบทางการนั้นได้หายไปพร้อมกับพิธีต่างๆ และเสื้อผ้า แต่มันยังอยู่ในเบื้องลึกของมนุษย์ เมื่อยี่สิบถึงยี่สิบห้าปีที่แล้วเราคิดอย่างอาจหาญและไร้เดียงเสียเหลือเกินว่าเราจะอำลาประสบการณ์อันเลวร้ายและแทบจะไร้มนุษยธรรมอย่างง่ายดาย

การณ์กลับเป็นว่า มันไม่ง่ายเลย “มนุษย์สีแดง” ยังมีชีวิตอยู่ในตัวของเรา[27]

ในประเทศที่ยังหนีไม่พ้นเงาเผด็จการและเบ็ดเสร็จนิยมแห่งอดีตอย่างเบลารุส ความเป็น “มนุษย์สีแดง” ผู้จำทนและจำนนต่อความไม่เป็นธรรมและอำนาจกดขี่ยังคงตามหลอกหลอนมิเพียงในรูปแบบระบอบการปกครองของผู้นำเผด็จการในปัจจุบัน แต่ในรูปแบบของความคิดและอารมณ์แห่งห้วงคำนึงเบื้องลึกอีกด้วย สเวียตลานา อเล็กซิเยวิช บันทึกเรื่องราวและวิเคราะห์สภาวะแห่งการเป็น “มนุษย์สีแดง” หรือเรียกอีกนามหนึ่งว่า советский человек “โซเวียตสกี เชโลเว็ก”[28] ซึ่งแปลตรงตัวว่า “มนุษย์โซเวียต” อันได้คนที่นิยามอัตลักษณ์ของตนหรือของกลุ่มโดยอิงกับคุณค่า ลักษณะ มุมมอง วาทกรรมและโฆษณาชวนเชื่อแห่งระบอบคอมมิวนิสต์ อิงแนวโน้มการคิดเชิงวัตถุนิยม (materialism) และลัทธิส่วนรวมนิยมที่เน้นการถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมกัน (collectivism) นอกจากนี้ สำหรับประเทศที่เคยเป็นรัฐบริวารของโซเวียตอย่างเป็นทางการ อัตลักษณ์แห่งมนุษย์โซเวียตยังสะท้อนในความรู้สึกโหยหาอดีต (nostalgia) สะท้อนในทัศนคตินั้นเต็มตื้นไปด้วยบรรยากาศช่วงเวลาก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะล่มสลายหรือก่อนที่ระบอบโซเวียตจะล่มสลายอย่างเป็นทางการ บรรดามนุษย์โซเวียตนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นด้วยหรือสนับสนุนระบอบคอมมิวนิสต์ที่ล่มสลายไปเหมือนกันทุกคน แต่เนื่องจากเวลาในห้วงคำนึงซึ่งยึดโยงกับระบอบในอดีตนั้นไม่ตรงกับเวลาในโลกความเป็นจริงแห่งการเปิดประเทศ เปิดพรมแดนเพื่อการค้าเสรี มนุษย์โซเวียตนั้นจะต้องรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและต้องพยายามกำหนดนิยามคำต่างๆ เช่น เสรีภาพ ปัจเจกชน ซึ่งล้วนเป็นคำที่ใช้เคยใช้เป็นส่วนหนึ่งของโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง เป็นคำที่ตนไม่เคยมีสิทธิและอำนาจ (agency) ที่จะกำหนดนิยามโดยอิสระเสรีมาก่อนในอดีต

5. Зачарованные смертью [ซาชาโรวานนเย สเมร์ชยู] หรือ “มนตราแห่งมรณา”[29]

ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2536 เป็นเรื่องราวของกลุ่มคนที่รู้จักและเกี่ยวพันกับผู้ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชไม่ได้มุ่งสนใจเหตุการณ์การฆ่าตัวตายหรือเน้นสาเหตุและรายละเอียดการตายมากเท่ากับที่สนใจสำรวจเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังปัจเจกชนผู้เลือกทางแห่งความตาย ทางแห่งการลาและลืมโลกที่ตนเกิดมา อีกทั้งปัจเจกชนที่ต้องรับมือกับความสูญเสีย ดังสะท้อนใน“เรื่องราวของผู้ชายที่บินได้เหมือนนก: อิวาน มาโชเว็ตซ์—นักศึกษาปริญญาบัณฑิตจากภาควิชาปรัชญา” [30] หนังสือเล่มนี้มิเพียงรวบรวมคำบอกเล่าจากพยานและเพื่อนของผู้ที่ฆ่าตัวตาย แต่ยังชี้ให้เห็นว่าในกลวิธีการเล่าเรื่องนั้น ผู้ที่มีชีวิตอยู่จะต้องรับมือกับประสบการณ์ที่มีร่วมกับผู้ตายและสายสัมพันธภาพกับผู้ตายที่ตามหลอกหลอนอย่างไร มีทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นความตาย สังคมและค่านิยมในโลกปัจจุบันอย่างไร:

จากคำบอกเล่าของเพื่อนคนหนึ่งชื่อวลาดิมีร์ สตานิยูเควิช นักศึกษาปริญญาบัณฑิตจากภาควิชาปรัชญา:


… เขาอยากจะจากไปโดยที่ไม่มีใครทันสังเกตอยู่แล้ว ตอนนั้นเป็นช่วงหัวค่ำ ช่วงสนธยา แต่นักเรียนหลายๆ คนในหอพักที่อยู่ใกล้เคียงเห็นตอนที่เขากระโดด เขาเปิดอ้าหน้าต่างไว้กว้าง ยืนบนขอบหน้าต่างและมองลงมาข้างล่างอย่างนานสองนาน และแล้วก็หันหลังกลับและถีบตัวลงไปอย่างแรง และเขาก็เริ่มบิน… เขาบินลิ่วลงมาจากชั้นสิบสอง…

ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังเดินผ่านพร้อมกับลูกชายตัวน้อย เด็กคนนั้นมองขึ้นมา:


“แม่ ดูสิ ผู้ชายคนนั้นกำลังบินเหมือนนก…”

เขาบินอยู่ประมาณห้าวินาที[31]

เสียงของเพื่อนผุ้ตายนั้นผสานกับเสียงของผู้ตายราวกับว่าผู้ตายกำลังพูดผ่านกระบอกเสียงของผู้ที่มีชีวิตอยู่ ผู้ตายนั้นกลับฟื้นคืนชีพผ่านการเล่าเรื่องและการถ่ายทอดความทรงจำ ในตัวบทที่คัดตอนมาเบื้องล่าง เราจะได้ยินเสียงและเงาตัวตนของอิวาน มาโชเว็ตซ์ แฝงไปในน้ำเสียงของเพื่อน เงาแห่งอดีตนั้นทาบทาประสานเป็นเนื้อเดียวกับเลือดเนื้อแห่งปัจจุบัน:


“ฉันเสนอหัวข้อสารนิพนธ์ใหม่กับอาจารย์ของเรา นั่นคือหัวข้อ ‘สังคมนิยมในฐานะความผิดพลาดทางภูมิปัญญา’ อาจารย์ตอบว่า ‘ไร้สาระ’ ประหนึ่งว่าฉันประสบความสำเร็จในการถอดรหัสพระคัมภีร์หรือปริศนาโลกแตก แต่นะ ไร้สาระทั้งในแง่รูปแบบและความคิดสร้างสรรค์โดยเท่าเทียมกัน… ตาอาจารย์ลุงแก่พิศวงงงงวย นายรู้จักอาจารย์เขาดีนี่—อาจารย์ไม่เหมือนพวกคนหัวโบราณคร่ำครึ แต่สำหรับเขาแล้วทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเป็นโศกนาฏกรรมส่วนตัว ฉันจะต้องแก้สารนิพนธ์ แต่เขาจะแก้ชีวิตเขาได้อย่างไร”

คำบอกเล่านี้ไม่ใช่บทอธิบาย คำให้การ หรือข้อพิสูจน์ถึงแรงจูงใจในการฆ่าตัวตายเสมอไป (การที่อิวานตั้งคำถามระบอบอันนำไปสู่ความพยายามเปลี่ยนหัวข้อสารนิพนธ์ที่ไม่เป็นผล) หากเป็นห้วงแห่งมนตร์สะกด หรือการเพ่งสมาธิไปที่ความทรงจำเกี่ยวกับผู้ตาย อันเป็นห้วงที่ความจริงในใจของผู้เล่าและค่านิยมกระแสหลักของสังคมเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมา (ผู้ตายอาจไม่มองว่าตนเป็นเหยื่อ แต่กลับมองว่าอาจารย์ซึ่งถูกระบอบล้างสมองนั้นเป็นเหยื่อที่แท้จริง) เมื่อมนุษย์เกี่ยวพันและโยงกันอย่างแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้นี่คือหนทางที่เราจะสามารถฟังเสียงและเข้าใจเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของชีวิตผู้ตาย

สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชกล่าวทิ้งท้ายว่า "ฉันค้นชีวิตเพื่อหาความเห็นต่างๆ เสาะหานัยและรายละเอียดต่างๆ เนื่องจากฉันสนใจชีวิต ไม่ได้สนใจเหตุการณ์ในตัวของมันเอง ไม่สนใจสงครามในตัวของมันเอง ไม่สนใจเชอร์โนบิลในตัวของมันเอง ไม่สนใจการฆ่าตัวตายในตัวของมันเอง ที่ฉันสนใจคือสิ่งที่เกิดกับมนุษย์ สิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ในยุคสมัยของเรา[32] และความเข้าใจมนุษย์นี้อาจนำพาไปสู่ความเข้าใจสภาพการณ์และทัศนคติที่ทุกวันนี้ยังคงเป็นโซ่ตรวนที่ทำให้ผู้คนยังคงติดกับและตกเป็นทาสของระบอบเผด็จการ ในบทสัมภาษณ์หนึ่ง เธอตั้งคำถามและยกประเด็นสำคัญที่ดังสะท้อนในงานเขียนของเธอทุกงาน ดังนี้


เรื่องเดียวที่ฉันรู้สึกเจ็บปวดคือเหตุใดเราถึงไม่เรียนรู้จากความทุกข์ทรมานที่ผ่านมา เหตุใดเราไม่ลุกขึ้นมาพูดว่าฉันไม่อยากเป็นทาส(ระบอบ)อีกต่อไป เหตุใดเราต้องทนทุกข์ทรมานครั้งแล้วครั้งเล่า เหตุใดมันถึงกลายเป็นภาระและชะตากรรมของเรา… ฉันไม่มีคำตอบ แต่ฉันอยากให้หนังสือที่ฉันเขียนคอยกระตุ้นและผลักดันให้ผู้อ่านตั้งคำถามเหล่านี้กับตัวเอง (และหาคำตอบด้วยตัวเอง)[33]

เรื่องเล่าจากโลกแห่งการสูญเสียนี้อาจจะช่วยกู้ช่วงเวลาชีวิตที่ถูกปล้นไปและช่วยกู้ศักดิ์ศรีที่เรากำลังจะสูญเสีย อนุสรณ์สถานแห่งบาดแผลและความรุนแรงที่ก่อร่างสร้างด้วยตัวอักษร เสียงและชีวิตของปัจเจกชนหลายๆ คนนั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์และผู้คนในอดีตมากเท่าเพื่อเยียวยาและพิทักษ์รักษาความหวังที่ยังพอมีหลงเหลืออยู่ในจิตวิญญาณมนุษย์ที่ผ่านความทุกข์ยากอย่างทรงพลังและน่าอัศจรรย์

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่นักเขียนรางวัลโนเบล สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชจากเบลารุส มอบแด่มวลมนุษยชาติ พ่วงด้วยคำถามที่ว่า

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะลืมตาตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตอย่างแท้จริงอยู่ใน “เวลามือหนึ่ง” แห่งปัจจุบันกาลและลุกขึ้นมาลงมือเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นไปอย่างที่เราใฝ่ฝันหา?

***

พิเศษ สำหรับผู้ที่สนใจจะทำความรู้จักสเวียตลานา อเล็กซิเยวิช อย่างลึกซึ้งและร่วมอ่านวิเคราะห์งานเขียนของสเวียตลานา อเล็กซิเยวิช กับคนรุ่นใหม่

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถานทูตยูเครนประจำประเทศไทย และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมงาน "Ukraine in Focus: History, Tourism, Arts and Culture" ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ณ ห้อง Auditorium ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร



ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการ สามารถสแกน QR code บนโปสเตอร์เพื่อลงทะเบียนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดคลิกที่นี่ https://goo.gl/forms/SPMAu5B6D11Cl4572



[1] บทความนี้เป็นฉบับย่อ ดัดแปลง และปรับปรุงแก้ไขใหม่ของ วริตตา ศรีรัตนา.“สเวียตลานา อเล็กซิเยวิช และเรื่องเล่าจากโลกแห่งการสูญเสีย”. วารสารยุโรปศึกษา. ปีที่ 22 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม), 2557: 159-187. (พิมพ์เมื่อพ.ศ.2559)


[2] Marples, David. “Belarusian Writers and the Soviet Past”. Belarus Digest. 2 November 2015.

http://belarusdigest.com/story/belarusian-writers-and-soviet-past-23621


[3] “The Nobel Prize in Literature 2015 Press Release”. Nobelprize.org. 8 October 2015. http://www.nobelprize.org/nobel_prizes/literature/laureates/2015/press.html บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ


[4] สำนวนแปลเป็นของผู้เขียนบทความนี้


[5] Ibid.


[6] Alter, Alexandra. “Svetlana Alexievich, Belarussian Voice of Survivors, Wins Nobel Prize in Literature”. The New York Times. 8 October 2015. http://www.nytimes.com/2015/10/09/books/svetlana-alexievich-nobel-prize-literature.html?_r=0


[7] Segal, Corinne. “Svetlana Alexievich, investigative journalist from Belarus, wins Nobel Prize in Literature”. PBS.org. 8 October 2015. http://www.pbs.org/newshour/rundown/svetlana-alexievich-investigative-journalist-belarus-wins-nobel-prize-literature/


[8] Kellogg, Carolyn. “Svetlana Alexievich wins Nobel Prize in Literature”. Los Angeles Times. 8 October 2015. http://www.latimes.com/books/jacketcopy/la-et-jc-nobel-prize-in-literature-svetlana-alexievich-20151007-story.html บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ


[9] Ibid.


[10] Lucic, Ana. “A Conversation with Svetlana Alexievich”. Dalkey Archive Press. http://www.dalkeyarchive.com/a-conversation-with-svetlana-alexievich-by-ana-lucic/ บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ


[11] Ibid.


[12] Lyotard, Jean-François. The Postmodern Condition: A Report on Knowledge. Trans. Geoff Bennington and Brian Massumi. Foreword. Fredric Jameson. Theory and History of Literature. Vol. 10 (Manchester: Manchester University Press, 1985), p. xxiv.


[13] Lucic, Ana. “A Conversation with Svetlana Alexievich”. Dalkey Archive Press. http://www.dalkeyarchive.com/a-conversation-with-svetlana-alexievich-by-ana-lucic/


[14] สำนวนแปลเป็นของผู้เขียนบทความนี้


[15] Alexievich, Svetlana. “Introduction (from War's Unwomanly Face by Svetlana Alexievich)”. Trans. Keith Hammond and Lyudmilla Lezhneva. marxists.org. Transcribed and HTML Markup. Sally Ryan. https://www.marxists.org/subject/women/subject/war/wuf00.htm บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ


[16] สำนวนแปลเป็นของผู้เขียนบทความนี้


[17] Heinemann, Larry. “Introduction”. Zinky Boys: Soviet Voices from the Afghanistan War. Svetlana Alexievich, Trans. Julia and Robin Whitby. Intro. Larry Heinneman (New York: W.W. Norton & Company, 1992), p. x. บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ


[18] Alexievich, Svetlana. Zinky Boys: Soviet Voices from the Afghanistan War. Trans. Julia and Robin Whitby. Intro. Larry Heinneman (New York: W.W. Norton & Company, 1992), p. 52. บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ


[19] สำนวนแปลเป็นของผู้เขียนบทความนี้


[20] Gessen, Keith. “Translator’s Preface”. Voices from Chernobyl: The Oral History of a Nuclear Disaster. Svetlana Alexievich. Trans. and Preface. Keith Gessen (New York: Picador, 2006), p. xi. บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ


[21] Alexievich, Svetlana. Voices from Chernobyl: The Oral History of a Nuclear Disaster. Trans. and Preface. Keith Gessen (New York: Picador, 2006), p. 236. บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ


[22] von Nahmen, Alexandra. “Writing for Peace: How Mighty is the Pen?”. In the Interview: The Award-Winning Writer Svetlana Alexievich. Deutsche Welle. 12 October 2013. http://www.dw.com/en/writing-for-peace-how-mighty-is-the-pen/a-17154291


[23] Alexievich, Svetlana. Voices from Chernobyl: The Oral History of a Nuclear Disaster. Trans. and Preface. Keith Gessen (New York: Picador, 2006), p. 31.


[24] Ibid., p. 32.


[25] Ibid., p. 33.


[26] สำนวนแปลเป็นของผู้เขียนบทความนี้


[27] Yákovleva, Elena. “Saying a long farewell to the inner Red Man”. Russia beyond the Headlines. 14 October 2013. http://rbth.com/literature/2013/10/14/saying_a_long_farewell_to_the_inner_red_man_30791.html


[28] Titarenko, Larissa. “Post-Soviet National Identity: Belarusian Approaches and Paradoxes”. Filosofija. Sociologija. 2007. T. 18. Nr. 4 (Vilnius: Lithuanian Academy of Sciences Publishers, 2007), p. 85.


[29] สำนวนแปลเป็นของผู้เขียนบทความนี้


[30] ผู้อ่านที่สนใจสามารถอ่านบทแปลภาษาอังกฤษของ “เรื่องราวของผู้ชายที่บินได้เหมือนนก: อิวาน มาโชเว็ตซ์—นักศึกษาปริญญาบัณฑิตจากภาควิชาปรัชญา” “The Story of the Man Who Flew Like a Bird: Ivan Mashovets—Graduate Student of the Philosophy Department” ที่คัดตอนจากหนังสือเล่มนี้ได้ที่

http://www.nybooks.com/articles/archives/2015/nov/19/man-who-flew/


[31] Alexievich, Svetlana. “The Man Who Flew”. Trans. Jamey Gambrell. The New York Review of Books. 19 November 2015. http://www.nybooks.com/articles/archives/2015/nov/19/man-who-flew/


[32] Alexievich, Svetlana. “A Search for Eternal Man: In Lieu of Biography”. Voices from Big Utopia. 2006. http://alexievich.info/indexEN.html บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ


[33] von Nahmen, Alexandra. “Writing for Peace: How Mighty is the Pen?”. In the Interview: The Award-Winning Writer Svetlana Alexievich. Deutsche Welle. 12 October 2013. http://www.dw.com/en/writing-for-peace-how-mighty-is-the-pen/a-17154291



เกี่ยวกับผู้เขียน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วริตตา ศรีรัตนา เป็นประธานหลักสูตร PhD in European Studies (PEUS) และอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Verita.s@chula.ac.th

[full-post]


Posted: 29 Oct 2018 12:30 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-10-29 14:30


เครือข่ายสุขภาพ 4 ภาค ยื่นหนังสือจี้ สธ.ยุติการแก้ไข พ.ร.บ.สสส.ตามหาไอ้โม่งอยู่เบื้องหลัง ทุบทำลาย สสส. เอื้อประโยชน์ทุนสินค้าทำลายสุขภาพ ประเคนให้กระทรวงคลังมีอำนาจ เหนือกรรมการบอร์ด ย้อนยุคกลับไปอยู่ใต้ระบบราชการ เตรียมเข้ายื่น ประยุทธ์ หากยังไร้ความคืบหน้า

29 ต.ค.2561 วันนี้ เวลา 10.00 น. ที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เจกะพันธ์ พรหมมงคล ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ภาคใต้ (ขสช.) นำตัวแทนเครือข่าย จาก 4 ภาค กว่า 100 คน ยื่นหนังสือถึงนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผ่านทาง สุทธิมา หุ่นดี คณะทำงาน รมว.สธ. เพื่อแสดงจุดยืนขอให้ยุติการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ที่เครือข่ายพบว่ามีเจตนาลดทอนความเข้มแข็งของภาคประชาชน ที่ตื่นตัวลุกขึ้นมาช่วยภาครัฐในการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน ด้วยการจำกัดวงเงินเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนทำลายสุขภาพ ประเคนอำนาจจากกรรมการบอร์ด ให้ต้องนำไปผ่านความเห็นชอบของ กระทรวงการคลัง ทำให้กระบวนการทำงานต่างๆที่เคยคล่องตัว ปิดจุดอ่อนของระบบราชการในการเข้าถึงประชาชน ถอยหลังกลับไปอยู่ใต้ระบบราชการ ขัดแย้งกับกฎบัตรออตตาวา ตลอดจนขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติในหลายมิติอย่างชัดเจน ทั้งนี้เครือข่ายฯได้ร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “หยุดทำลาย หลักการสร้างนำซ่อม”

เจกะพันธ์ กล่าวว่า จากการที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีบัญชาให้แก้ไขพระราชบัญญัติการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 เพื่อความยั่งยืน โดยกระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับนี้ สวนทางกับโจทย์ความยั่งยืนตามดำริของนายก ด้วยการกำหนดให้มีการนำระบบราชการเข้ามาบริหารจัดการกองทุน สสส. ตลอดจนการจำกัดเพดานเงิน โดยเร่งรีบให้มีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติอย่างมีข้อกังขา

เจกะพันธ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ขสช. ประกอบด้วยกลุ่ม องค์กร บุคคล ในส่วนของภาคประชาชน ด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ แรงงานนอกระบบ ผู้บริโภค คนจนเมืองและชนบท กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร ฯลฯ ได้ประชุมร่วมกันทั้ง 4 ภาค ระหว่างวันที่ 8 -26 ตุลาคม 2561 มีความเห็นร่วมกันว่า การแก้ไขกฎหมาย สสส. เพื่อให้การบริหารจัดการกองทุน สสส. อยู่ภายใต้ระบบราชการ จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพของประเทศ จึงมีจุดยืนร่วมกันเป็นเอกฉันท์ว่า ไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขกฎหมาย สสส. ครั้งนี้ อีกทั้งเห็นว่า ไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจะต้องเร่งรีบดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในรัฐบาลชุดนี้ หากจะมีการปรับแก้ไขกฎหมายกองทุน สสส. เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น สมควรดำเนินการในขณะที่ประเทศไทยมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง

“ขสช.พร้อมภาคีเครือข่ายทั้ง4 ภาค มีจุดยืนและข้อเรียกร้องต่อกระทรวงการสาธารณสุข คือ ขอให้ยุติกระบวนการการแก้ไขกฎหมาย สสส. ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ทั้งหมด โดยขอให้กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเป็นหน่วยงานร่วมแก้กฎหมายฉบับนี้ ส่งข้อเรียกร้องนี้ ไปยังนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เพื่อให้ยกเลิกคำสั่งการแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และขอให้กระทรวงมีคำตอบกลับมายัง ขสช. ภายในวันที่18 พฤศจิกายนนี้ และในระหว่างนี้เครือข่ายทั่วประเทศจะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด หรือศูนย์ดำรงธรรมในพื้นที่ด้วย ซึ่งหากไม่มีความคืบหน้าในการยุติการแก้กฎหมายดังกล่าว ทางภาคีเครือข่ายทั้ง 4 ภาคจะร่วมกันยกระดับการขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้อง ต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรงที่ทำเนียบรัฐบาล ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ต่อไป” ผู้ประสานงาน ขสช.ภาคใต้ กล่าว

สมควร งูพิมาย ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน ภาคอีสาน กล่าวว่าตนในฐานะที่สูญเสียลูกชายจากคนเมาแล้วขับ และได้ลุกขึ้นมาร่วมกับงานภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ทำงานช่วยเหลือเคสที่ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมาย จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก เยาวชนและชุมชนมากมาย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าชุมชนได้รับประโยชน์จากโครงการต่างๆของ สสส. ในการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน ก่อนที่จะต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจากอาการเจ็บป่วย เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน จึงรับไม่ได้ที่ทราบว่าจะมีการแก้ไขกฎหมาย สสส.ให้กลับไปอยู่ภายใต้ระบบราชการ ซึ่งเป็นการทุบทำลายเจตนารมณ์ของการเกิดกองทุนนี้อย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้กิจกรรมต่างๆก็มีความยากลำบากอยู่พอสมควรแล้ว งานเอกสาร การตรวจสอบต่างๆก็ไม่น้อย ก็ยังอยู่ในระดับที่รับได้ แต่หากใช้ระบบราชการมาจับ คงไม่มีใครอยากลุกขึ้นมาทำงานสร้างเสริมสุขภาพอีก ในสัปดาห์หน้าตนและเครือข่ายเยาวชน เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากสุรา จะเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อยื่นหนังสือผ่านไปถึงนายกรัฐมนตรีให้ยุติการแก้ไข พ.ร.บ.สสส. ด้วย


[full-post]


Posted: 29 Oct 2018 12:44 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-10-29 14:44


ศรีวราห์ ระบุจะส่งทนายร้อง ปอท.กรณีเพลงแร็ปดังกล่าวกล่าวหาตนเองจับกุม ออกหมายเรียก ขุดเรื่องเสือมาวิจารณ์ทั้งที่อยู่ในชั้นศาล ทำสังคมเข้าใจผิดประยุทธ์ชี้อย่าสนใจโลกโซเชียล อย่าอ้างว่ามีเสรีภาพ ไร้ขีดจำกัด แล้วจะทำไรก็ได้ พ้อที่ผ่านมาลำบากขนาดนั้นเชียวหรือ เผด็จการมากเลยเหรอ

วันนี้ (29 ต.ค. 61) เว็บไซต์มติชนรายงานว่า เมื่อเวลา 11.50น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ ได้เรียกตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่เกี่ยวข้องการสืบสวนสอบสวนกรณี เพลงแร็ป ‘ประเทศกูมี’ นำโดยพ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกปอท. มาหารือ รับทราบความคืบหน้า ข้อเท็จจริง โดยรองผบ.ตร.ยืนยันให้ ปอท.ตรวจสอบ ส่วนตนเองฟังแต่ท่อนเสือ ระบุว่าไม่มีหมายเรียกใคร ไม่จำเป็นต้องเชิญใครมาในตอนนี้ อย่าให้ราคามาก

พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่า จะส่งทนายร้อง ปอท.กรณีเพลงแร็ปดังกล่าวกล่าวหาตนเองว่าจับกุม ออกหมายเรียก ทั้งที่เป็นเรื่องเท็จ ขุดเรื่องคดีเสือมาวิจารณ์ ทั้งที่อยู่ในชั้นศาล ทำให้ตนเสียหาย สังคมเข้าใจผิด

“ยอมรับว่าในชั้นนี้ยังไม่มีหลักฐานเอาผิดได้ ตอนนี้ฟังได้ ร้องได้ แชร์ได้ ไม่ผิด” พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าว

วันเดียวกัน เว็บไซต์วอยซ์ทีวีระบุว่า ก่อนการประชุม ครม.สัญจร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนำคณะพบประชาชนที่เทศบาลเมืองพะเยา โดยส่วนหนึ่งได้กล่าวถึงกระแสเพลงประเทศกูมีว่า อย่าสนใจโลกโซเชียล ที่มีการโพสต์และแชร์เพลงแร็ปที่กล่าวถึงการทำงานของรัฐบาล จะมีเพลงอะไรออกมาก็ปล่อยไป ยิ่งสนใจ ก็ไปกันใหญ่ ฟังแล้วอย่างไร ฟังแล้วมันใช่หรือไม่ใช่ ไม่ใช่มาอ้างว่ามีเสรีภาพ ไร้ขีดจำกัด แล้วจะทำไรก็ได้ วันหน้าจะเดือนร้อน หากทุกฝ่ายออกมาอ้างแบบนี้ ขออย่าเป็นเครื่องมือคนอื่น ที่ผ่านมามันลำบากขนาดนั้นเชียวหรือ ดังนั้นไม่ต้องไปสนใจ ตนเผด็จการมากเลยเหรอ หากตนเผด็จการคงไม่มาอย่างนี้

ทั้งนี้มิวสิควิดีโอเพลง ‘ประเทศกูมี’ โดยกลุ่ม ของกลุ่มแร็ปเปอร์ 'Rap Against Dictatorship' หรือ RAD ได้ถูกอัพโหลดขึ้นยูทูบเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 26 ต.ค. หลังจากที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ระบุว่ามิวสิควิดีโอนั้นเสี่ยงขัดคำสั่ง คสช. โดยจะให้ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบเนื้อหา เชิญคนที่ปรากฎในคลิปมาให้ปากคำ พร้อมเตือนคนทำเพลงอย่าทำสุ่มเสี่ยงจะไม่เป็นผลดีต่อตัวเองและครอบครัว กระแสของเพลงนี้ก็พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการถกเถียงระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในโลกโซเชียล จนทำให้เป็นเทรนด์อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ ยอดดาวน์โหลดอันดับหนึ่งใน iTunes และยอดวิวในยูทูบพุ่งสูงแตะ 10 ล้านวิวในชั่วข้ามคืน และในวันนี้ยอดวิวในยูทูบล่าสุดอยู่ที่เกือบ 19 ล้านวิว

[full-post]


Posted: 29 Oct 2018 04:44 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-10-29 18:44


เพจเฟสบุ๊กการ์ตูนล้อเลียนสังคมการเมือง 'มานีมีแชร์' กลับมาโพสต์อีกครั้งหลังหายไปกว่า 2 ปี กับภาพโดมิโนและ 6 ตุลา

29 ต.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 18.00 น. เฟสบุ๊กการ์ตูนล้อเลียนสังคมการเมืองชื่อ 'มานีมีแชร์' ซึ่งไม่มีการโพสต์ตั้งแต่ 26 ก.ค.59 กลับมาโพสต์อีกครั้งในตอนล่าสุดคือ บทที่ 140 : ประเทศ มานี มี จุด เริ่มต้น เป็นภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 และโดมิโน

เพจมานีฯ มียอดกดถูกใจ 266,097 โพสต์ล่าสุดใช้เวลาครึ่งชั่วโมง ยอดกดไลก์กว่า 4 พัน ขณะที่แชร์กว่า 1 พันแชร์
สำหรับเพจมานีฯ เป็นเพจการ์ตูนล้อเลียนสังคมการเมืองที่ใช้ตัวละครในแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษา ที่ไม่ได้ใช้แล้วเกือบ 20 ปี เริ่มเปิดเพจตั้งแต่กลางปี 56 ก่อนที่ยุติเป็นเวลากว่า 2 ปี กระทั่งล่าสุดมีการโพสต์ดังกล่าว

[full-post]

United States Capitol ที่ทำการของสภาคองเกรส
ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา (ที่มา: Wikipedia)

Posted: 29 Oct 2018 09:35 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-10-29 23:35


ราชิตา ทลาอิบ คือว่าที่ ส.ส.หญิงมุสลิมคนแรกในสหรัฐฯ จากการเป็นตัวแทนของเขต 13 รัฐมิชิแกน เธอให้สัมภาษณ์สื่อพูดถึงพลังที่เธอได้มาจากย่าและยาย พูดถึงนโยบายที่เน้นสวัสดิการสำหรับทุกคน ความเป็นธรรมสำหรับคนจน และการต่อต้านการเหยียด-เลือกปฏิบัติ ขณะเดียวกันก็บอกว่าศาสนาของเธอเป็นสิ่งที่ทำให้เธอ "มีหลักยึด" ในเรื่องพื้นฐานความคิดเรื่องความยุติธรรมมากกว่า โดยไม่ได้เน้นนำมาเป็นแนวทางนโยบายทางการเมืองแต่อย่างใด

ในเว็บไซต์เดอะเนชันแนลสัมภาษณ์ ราชิดา ทลาอิบ "ว่าที่ ส.ส." จากพรรคเดโมแครตในเขต 13 ของมิชิแกน ผู้ที่จะกลายเป็นผู้หญิงมุสลิมคนแรกในสภาผู้แทนฯ ของสหรัฐฯ

ทลาอิบได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเดโมแครตและชนะลอยในการเลือกตั้งกลางเทอมที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 พ.ย. ที่จะถึงนี้เนื่องจากไม่มีใครได้รับการเสนอชื่อมาเป็นคู่แข่งเธอ นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่ผู้หญิงชาวมุสลิมอีกคนคือ อัลฮาน โอมาร์ อาจจะชนะการเลือกตั้งกลางเทอมในมินนิโซตา ทำให้การเลือกตั้งกลางเทอมในครั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้แทนจากชนกลุ่มน้อยจำนวนมาก ซึ่งจะกลายเป็นการโต้ตอบรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ที่กลุ่มชุมชนผู้อพยพจับตามองอย่างระแวดระวัง

ทลาอิบบอกว่าผลกระทบจากทรัมป์เป็นการส่งสัญญาณให้กลายคนออกมาปฏิบัติการซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มชุมชนที่มีคามรู้สึกร่วมกันคือการถูกกีดกัน ทลาอิบเกิดและเติบโตในเมืองดีทรอยต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเขต 13 ของมิชิแกน เธอเริ่มได้รับความสนใจในสหรัฐฯ จากตอนที่เธอถูกหิ้วตัวออกไปจากการเดินขบวนเพราะเธอพยายามก่อกวนการปราศรัยของทรัมป์ที่ดีทรอยต์

อย่างไรก็ตามก่อนหน้าเหตุการณ์ในครั้งนั้นเธอได้สร้างฐานการเมืองเอาไว้ในท้องถิ่นด้วยการเป็นสภานิติบัญญัติรัฐมิชิแกนคนแรก เธอเคยถูกขอให้พิสูจน์สัญชาติตัวเองครั้งหนึ่งจากประธานสภาในช่วงที่เธอเสนอโครงการประสานวัฒนธรรม

ชัยชนะที่สำคัญของทลาอิบมาจากตอนที่เธอต่อสู้ชนะสองพี่น้องตระกูลโคชนักอุตสาหกรรมอนุรักษ์นิยมผู้ที่ทิ้งของเสียจากถ่านหินลงในแม่น้ำของดีทรอยต์ เธอชนะด้วยการทำให้โรงงานของสองพี่น้องตระกูลนี้เลิกปล่อยของเสียออกมาได้

เมืองดีทรอยต์เป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่มากเป็นอันดับที่ 4 ของสหรัฐฯ และในตอนนี้กำลังอยู่ภายใต้การฟื้นฟูตัวเองหลังจากการดิ้นรนกับวิกฤตด้านอุตสาหกรรมมาเป็นเวลาหลายปี รวมถึงถูกประกาศให้เป็นเมืองล้มละลายในปี 2556

ทลาอิบมองว่าภายใต้ความมืดมนของรัฐบาลนี้และท่ามกลางความหวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลแพร่กระจายไปทั่ว การที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังคงเลือกเธอถือเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง ทลาอิบหาเสียงด้วยการเน้นเรื่องสวัสดิการคนรายได้น้อยโดยสนับสนุนแนวคิดหลักประกันสุขภาพสำหรับทุกคนของเบอร์นี แซนเดอร์ส และแสดงตัวว่าเธอเป็นปีกซ้ายจัดในพรรคการเมืองเดโมแครต นอกจากนี้ยังเสนอแนวคิดความยุติธรรมสำหรับทุกคนเพื่อไม่ให้มีการเหยียด กีดกัน หรือเลือกปฏิบัติ ต่อผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนยากจน

ในการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อทลาอิบเน้นพูดถึงเรื่องแนวคิดการเมืองและเล่าถึงครอบครัวตัวเองในเชิงสีสัน เธอไม่ได้เน้นเรื่องการนับถือศาสนาของตัวเองมากนักโดยระบุว่าการนับถือศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากกว่า มันเป็นสิ่งที่ทำให้เธอ "มีหลักยึด" ในเชิงคุณค่าพื้นฐานบางอย่างมากกว่าจะนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายแต่อย่างใด เธอบอกว่าการต่อต้านความอยุติธรรมทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่ยึดแน่นอยู่ในคุณค่าของอิสลาม

ทลาอิบกล่าวต่อสื่อเกี่ยวกับคุณย่าและคุณยายของเธอในแง่ของความที่เป็นคนเข้าแข็งและตรงไปตรงมารวมถึงให้ความช่วยเหลือผู้คนโดยไม่แบ่งแยกสัญชาติว่าจะเป็นชาวอิสราเอลหรือชาวปาเลสไตน์

เรียบเรียงจาก
'My faith's not a framework but it keeps me grounded' says first Muslim woman headed to US House, The National, 27-10-2018

[full-post]

แฟ้มภาพ Tree of Life Synagogue ที่เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา สถานที่เกิดเหตุคนร้ายกราดยิงชาวยิวเมื่อ 27 ต.ค. 2561 (ที่มา: tolols.org)

Posted: 29 Oct 2018 01:20 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-10-30 03:20


กรณีคนร้ายกราดยิงที่โบสถ์ชาวยิวเมืองพิตต์เบิร์ก ประเทศสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นผลร้ายของการปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังทางเชื้อชาติ โดยผู้ต้องสงสัยก่อเหตุเป็นชายคนผิวขาวที่คลุกคลีอยู่กับกลุ่มขวาจัดที่ใส่ร้ายชาวยิวและชาวมุสลิม ก่อเหตุยิงชาวยิวเสียชีวิต 11 ราย ขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการเมืองพิตต์เบิร์กก็ระบุว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้นับเป็น "อาชญากรรมจากความเกลียดชัง"

ในวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมา คนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงผู้คนในโบสถ์ชาวยิว ในเมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 11 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 6 ราย เหตุเกิดในช่วงที่กำลังมีพิธีตั้งชื่อให้เด็กทารก สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยก่อเหตุชื่อ โรเบิร์ต บาวเออร์ส อายุ 46 ปี ชายผิวขาวฝ่ายขวาผู้มีแนวคิดต่อต้านชาวยิว

บาวเออร์สยกมือยอมมอบตัวกับเจ้าหน้าที่หน่วยสวาท โดยที่แหล่งข่าวจากตำรวจพิตต์สเบิร์กเปิดเผยว่าคนร้ายเดินเข้าไปในอาคารพร้อมกับอาวุธที่ใช้ก่อเหตุแล้วตะโกนว่า "ยิวทุกคนต้องตาย"

สื่อมาเธอร์โจนส์ระบุว่าเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นในโบสถ์ทรีออฟไลฟ์ของชาวยิวนั้นถือเป็นความรุนแรงในเชิงต่อต้านชาวยิวแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสหรัฐฯ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (Hate Crime) เนื่องจากเหยื่อถูกสังหารเพียงเพราะความเชื่อของพวกเขา

ทางการพิตต์เบิร์กเปิดเผยอีกว่าคนร้ายเดินเข้าไปในสถานที่รวมตัวกันของชาวยิวพร้อมทั้งอาวุธปืนไรเฟิลและปืนพก 3 กระบอก เขามีบัญชีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียของพวกฝ่ายขวาจัดในสหรัฐฯ ที่เรียกว่า Gab โดยที่ในเว็บไซต์ดังกล่าวมีการโพสต์ในเชิงใส่ร้ายป้ายสีและสร้างความเกลียดชังทางศาสนาต่อทั้งชาวยิวและชาวมุสลิม

หนึ่งในโพสต์ล่าสุดมีของบาวเออร์สมีการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มชาวยิวที่สนับสนุนผู้อพยพ HIAS ที่ให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย โดยโพสต์ข้อความทำนองใส่ไฟว่ากลุ่มผู้ลี้ภัยเป็นพวก "ผู้รุกรานที่จะมาฆ่าประชาชนของเรา" อีกทั้งยังมีข้อความในเชิงที่ว่าเขาต้องปฏิบัติการทำอะไรสักอย่างแล้ว

ทั้งนี้ยังมีผู้คนในโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง ผู้ใช้รายหนึ่งที่ชื่อ Russell Drew โพสต์ในทวิตเตอร์ว่า คาราวานผู้อพยพจากฮอนดูรัส 5,000 คน ไม่ได้เป็นภัยต่อพวกเขาเลย แต่คนที่ทำตัวเป็นภัยคือฆาตกรในหมู่พวกเขาเองที่สังหารชาวยิวไปในเหตุการณ์นี้

ผู้ใช้อีกรายหนึ่งชื่อ Michelle Mars ระบุว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงเรื่องที่ การเหยียดเชื้อชาติยังคงมีอยู่ในสหรัฐฯ และมันถูกกระตุ้นให้เกิดการก่อเหตุจากการใช้วาจายุยงความเกลียดชังทางเชื้อชาติและมาจากความคิดอ่านแบบชาตินิยมจัด และเธอก็แสดงความเสียใจต่อเหยื่อในเหตุการณ์ที่พิตต์เบิร์ก

เรียบเรียงจาก
Pittsburgh Tragedy Called the “Deadliest Attack on the Jewish Community in the History of the United States”, Mother Jones, 27-10-2018
https://www.motherjones.com/politics/2018/10/pittsburgh-tree-of-life-deadliest-attack-jews/

Yet Again: 11 Dead in Mass Shooting At Pittsburgh Synagogue, Common Dreams, 27-10-2018
https://www.commondreams.org/news/2018/10/27/yet-again-11-dead-mass-shooting-pittsburgh-synagogue

[full-post]


Posted: 28 Oct 2018 01:19 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-10-28 15:19


ทีม “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมรณรงค์การยุติความรุนแรงต่อสตรี พร้อมส่งสารแสดงเจตนารมณ์ว่า "การยุติความรุนแรงต่อสตรีต้องแก้ทั้งในระดับโครงสร้าง ระดับวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมประชาธิปไตย"

27 ตุลาคม 2561 ทีม “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” นำโดย นางวรรณะ ระเด่นอาหมัด ว่าที่กรรมการบริหารพรรคประชาชาติ พร้อมด้วยนางรอซีดะห์ ปูซู เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรง และนางแยนะ สะแลแม ญาติผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ รวมคณะ 20 คน ได้เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี ณ สวนลุมพินี กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นงานที่จัดโดยมูลนิธิเพื่อนหญิง สหภาพยุโรป และอีกหลายองค์กรเครือข่าย

นางวรรณะ ระเด่นอาหมัด กล่าวว่า เนื่องจากทางมูลนิธิเพื่อนหญิงมีกิจกรรมเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี ทาง “ประชาชาติ” เห็นว่า สตรีเป็นพลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนสังคม จึงได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ และเนื่องในโอกาสสำคัญนี้ ทางทีม “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” ได้มีสารแสดงเจตนารมณ์ต่อการยุติความรุนแรงต่อสตรีด้วย ดังนี้


สารจาก “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” ต่อการยุติความรุนแรงต่อสตรี

เนื่องในโอกาสที่เดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ประเทศไทย โดยมติคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดให้เป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี" สอดรับกับที่องค์การสหประชาชาติได้รับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น "วันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล" ประกอบกับการที่ในวันนี้ “กลุ่มสตรีแห่งประชาชาติ” ได้มาร่วมกิจกรรม Men for Change to End Violence against Women ทีม “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” จึงขอแสดงเจตนารมณ์ต่อการยุติความรุนแรงต่อสตรีดังนี้

1) “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” เห็นว่า การกระทำความรุนแรงต่อสตรีไม่เพียงแต่จะมีความรุนแรงด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และความรุนแรงทางเพศ ซึ่งมักกระทำโดยผู้ชายที่เป็นคนใกล้ชิดในบริบทความสัมพันธ์ ครอบครัว และการแต่งงานเท่านั้น แต่ยังมีการกระทำความรุนแรงในเชิงโครงสร้าง ที่หมายถึง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และระบบกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ที่ทำให้ความเป็นหญิงมีสถานะ บทบาท และอำนาจด้อยกว่าความเป็นชาย เปิดช่องต่อการถูกทำร้ายหรือถูกกระทำความรุนแรง

2) “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” มองว่า การที่การกระทำความรุนแรงต่อสตรียังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในสังคมไทย ก็เนื่องมาจากการยอมรับว่าสิ่งนี้เป็นความปกติธรมดา ไม่ใช่เรื่องผิด จนกลายเป็น “วัฒนธรรมการกระทำความรุนแรงต่อสตรี” ที่ถูกผลิตซ้ำผ่านสถาบันหลักๆ ของสังคม เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน วัฒนธรรมนี้ทำให้แม้แต่ผู้หญิงก็ยอมรับสถานะที่ด้อยกว่าและยอมรับความรุนแรงที่มีต่อตนเอง

3) “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” เห็นว่า สภาพสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะเอื้อให้การยุติความรุนแรงต่อสตรีเกิดขึ้นได้จริง ทั้งนี้ ภายใต้รัฐบาล คสช. การละเมิดสิทธิและคุกคามสตรีโดยรัฐมีเพิ่มขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ คุกคาม การฟ้องร้อง และดำเนินคดีสตรีชาวบ้านในชุมชนที่ต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมเรื่องที่ดินและฐานทรัพยากร ตลอดจนการดำเนินคดีเพื่อเอาผิดกับสตรีจำนวนมากที่ออกมารณรงค์เรียกร้องการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ยังไม่รวมที่เพิ่งเกิดการรัฐประหาร ที่มีการกวาดล้างเครือข่ายฝ่ายตรงข้ามของ คสช. ที่นำมาสู่การควบคุมตัวสตรีหลายคนไปสอบปากคำในค่ายทหารโดยปราศจากทนาย อันเปิดช่องต่อการกระทำความรุนแรงต่อสตรีเหล่านี้

อนึ่ง “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” เป็นกลุ่มสตรีจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดินแดนที่ผู้หญิงต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ และสตรีจำนวนไม่น้อยถูกกระทำความรุนแรงทางจิตใจจากการสูญเสียคนที่รักจากสถานการณ์ฯ นอกจากนั้นก็มีบางส่วนที่ถูกกระทำความรุนแรงจากคนใกล้ตัว อันเป็นการทำร้ายที่ขัดต่อหลักการทางศาสนาที่ให้เกียรติและกำหนดให้มีการดูแลสตรีเป็นดีอย่างยิ่ง ทั้งนี้ การยุติความรุนแรงต่อสตรีทั้งในภาพรวมของประเทศและพื้นที่ชายแดนใต้ ต้องกระทำทั้งในระดับโครงสร้างและระดับวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” จะร่วมผลักดันนโยบายผ่านกลไกของพรรคประชาชาติ และร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อยุติความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ เพื่อสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่ทุกคนมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

ด้วยความเชื่อมั่นในความเสมอภาคและเท่าเทียมของมนุษย์
พลังสตรีแห่งประชาชาติ
27 ตุลาคม 2561

[full-post]


Posted: 28 Oct 2018 01:22 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-10-28 15:22



ประชุมใหญ่วิสามัญสมาชิกพรรคเพื่อไทย มีมติเลือก 'พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์' เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม เช่นเดียวกับ 'ภูมิธรรม เวชยชัย' ยังเป็นเลขาธิการพรรค 'สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์' เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค 'น.ต.ศิธา ทิวารี' เป็นผู้อำนวยการพรรค 'ชัชชาติ' ร่วมประชุมแต่ยืนยันไม่รับทุกตำแหน่ง เหตุยังเป็นผู้บริหารเอกชนอยู่


28 ต.ค. 2561 ในการประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทย (พท.) สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 1 ในวันนี้ มีวาระการเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค โดยที่ประชุมใช้วิธีการลงคะแนนโหวตลับ ซึ่งผลปรากฏว่า ที่ประชุมเลือก พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค ให้เป็นหัวหน้าพรรคเหมือนเดิม ส่วนรองหัวหน้าพรรค 4 คน ประกอบด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง, นายปลอดประสพ สุรัสวดี, นายเกรียง กัลป์ตินันท์ และ พล.ต.ท.สมศักดิ์ จันทะพิงค์

ขณะที่ตำแหน่งเลขาธิการพรรคยังคงเป็นนายภูมิธรรม เวชชยชัย เช่นเดิม และรองเลขาธิการพรรค 3 คน ประกอบด้วย นายดนุพร ปุณณกันต์, นางสาวอนุตมา อมรสิวัฒน์ และ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล ส่วนตำแหน่งโฆษกพรรคเป็นของนางลดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค และ น.ต.ศิธา ทิวารี เป็นผู้อำนวยการพรรค
'ชัชชาติ' ร่วมประชุมพรรคเพื่อไทยเลือก หน.-กรรมการบริหารพรรค ยืนยันไม่รับทุกตำแหน่ง เหตุยังเป็นผู้บริหารเอกชน

วันเดียวกันนี้ (28 ต.ค.) สำนักข่าวไทย รายงานว่านายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยชุดใหม่ ว่ามาในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่ต้องเข้าร่วมประชุมเพื่อใช้สิทธิออกคะแนนเสียง

ส่วนที่ว่าหากที่ประชุมเสนอชื่อให้เข้ารับตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในคณะกรรมการบริหารพรรคจะรับหรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่าไม่รับตำแหน่งเพราะขณะนี้ยังเป็นผู้บริหารบริษัทเอกชนทำให้ไม่มีเวลาอย่างไรก็ตามพร้อมช่วยงานต่างๆ ของพรรคเต็มที่รวมถึงให้คำแนะนำในข้อกฎหมาย นายชัชชาติกล่าวถึงกระแสข่าวเป็นหนึ่งในแคนดิเดตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและรายชื่อนายกรัฐมนตรีในส่วนของพรรคเพื่อไทยว่าไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ให้ข่าวแต่ยืนยันไม่ได้มาจากตนอย่างแน่นอน และเป็นเรื่องของอนาคต

[full-post]


Posted: 28 Oct 2018 01:30 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-10-28 15:30


นิคม บุญญานุสิทธิ์

ความนำ

นับเนื่องกว่า 43 ปีการผังเมืองไทยไม่ค่อยมีบทบาทสำคัญในสังคมไทย ผังเมืองไม่เคยชี้นำการพัฒนาอะไรแก่เมืองได้ ภาพปรากฏตามสื่อส่วนใหญ่จะมีแต่เรื่องติดอุปสรรคผังเมือง การขอยกเลิกผังเมือง ยกเว้นข้อบังคับผังเมือง ผังเมืองจึงดูเหมือนกลายเป็นเงื่อนไข เป็นข้อจำกัดที่มนุษย์ไปสร้างขึ้นมา ถามรัฐบาลก็อยากแก้ผังเมือง หันไปถามภาคเอกชนก็ว่าสมควรเร่งแก้ผังเมือง ถามใครต่อใครก็ไม่เห็นว่าจะมีใครชอบ ไม่เห็นมีใครอยากได้ผังเมือง แล้วสังคมไทยยังจำเป็นต้องทนกล้ำกลืนกับผังเมืองกันอีกทำไมกัน

หลายคนบอกว่า อับดุลรู้ อับดุลเห็น รัฐบาลแห่งการปฏิรูปกำลังทำอยู่นี้ไง ปั๊ดโธ่! เริ่มจาก สปช. สปท. ที่องค์คณะส่วนใหญ่ไม่เคยลงมือทำผังเมืองแบบไทยๆ กันเลยสักครั้งในชีวิต แต่ตั้งใจดีจะทำโน่นนี่นั่น ไม่ว่ากัน ทำนองคนเล่นไม่รู้คนดูกลับแจ้ง ทำเสร็จส่งเข้า สนช. ก็เพียงพยักหน้ารับทราบแล้วเงียบเป็นเป่าสาก คิดมาตั้งเยอะ ค่าใช้จ่ายก็โข กลับโยนให้หน่วยงานราชการไปทำกันเองอย่างไรก็ได้ต่อ สุดท้ายก็ไม่พ้นวังวนการมุ่งแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองเสียใหม่ และสูตรสำเร็จเดิมคือการเพิ่มอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เพิ่มโทษอีกพะเรอเกวียน

จากการทำงานด้านการผังเมืองมากว่า 30 ปี ทั้งจัดการเรียนการสอน การเป็นที่ปรึกษาให้กับการวางและจัดทำผังเมืองของท้องถิ่น และร่วมงานกับส่วนภูมิภาคในฐานะเครือข่ายผังเมือง พบว่ามีประเด็นที่ให้ฉุกคิดว่าทำไมการผังเมืองไทยไปไม่ถึงไหน ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่เฉียบคมสำหรับความฝัน ความหวังของเมืองอย่างที่ควรจะเป็น หรืออย่างที่นานาอารยะประเทศอื่นใช้กันเป็นสากล ซึ่งพอสังเขปความดังนี้

ปัญหาของการนิยาม

อาจเป็นเพราะการแปลการวางแผนเมือง Urban Planning เป็นการวางผังเมือง ซึ่งเริ่มต้นจากแผนกเล็กๆ ในกรมโยธาเทศบาล จนแยกเป็นสำนักผังเมือง กรมการผังเมือง ตลอดจนการเรียนการสอนมักอยู่ในภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ก็เป็นได้ เลยทำให้เข้าใจว่าการวางผังเมืองเป็นเรื่องทางกายภาพอย่างเดียว และนั่นคือจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้การผังเมืองไทยปรากฏโฉมเพียงแค่กำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินและการวางโครงข่ายถนนเพียงไม่กี่สาย หากวันนี้เมืองหนึ่งเมืองใดประกาศตัวจะเป็น Smart City คำถามก็คือว่า การผังเมืองไทยที่มีเพียงกติกาการใช้ประโยชน์ที่ดินตามข้อกำหนดที่เป็นแบบมาตรฐานนั้นจะทำให้เมืองนี้บรรลุไปถึง Smart City ได้มากน้อยเพียงใด

ตอบฟันธงเลยว่า ผังเมืองลักษณะนี้ไม่ช่วยอะไรกับวิสัยทัศน์เมืองได้เลย หากไม่ทำความเข้าใจเรื่องผังเมืองเสียใหม่ว่า แท้จริงนั้นงานผังเมืองเป็นการวางแผนเมืองที่ต้องครอบคลุมบูรณาการในมิติทุกด้าน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กายภาพ การบริหารจัดการ เป็นการวางแผนที่ต้องตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ของเมือง ส่งเมืองให้ถึงฝั่งความคาดหวังของชาวเมือง ไม่ใช่เพียงละเลงสีบนกระดาษให้คนเมืองปฏิบัติตามโดยไม่รู้ว่าทำไปทำไม

นิยามคำว่าเมืองก็เช่นกัน อาจดูไม่น่าถาม ฟังแล้วไร้สาระ แต่กลับเป็นเรื่องยากที่จะตอบชัดเพราะการผังเมืองไทยที่ทำเรื่องเมืองมาโดยตลอดนั้น ไม่เคยนิยามคำว่าเมือง แล้วทำการถอดองค์ประกอบสิ่งที่เรียกว่าเมืองออกมาให้เห็นอย่างเป็นระบบ นิยามเมืองของไทยอิงมิติการบริหารการปกครองมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อไม่รู้จักเมือง ธาตุแท้ของความเป็นเมือง การวางแผนเกี่ยวกับเมืองย่อมไม่ตรงจุด ตั้งแต่การกำหนดขอบเขตพื้นที่ความเป็นเมือง พื้นที่วางผังเมือง การจัดการกับองค์ประกอบหลัก องค์ประกอบรอง และสิ่งที่แวดล้อมเกี่ยวเนื่อง

ปัญหาองค์ความรู้

ไม่รู้จักเมืองแน่แล้ว ก็ยังไม่รู้จักกระบวนทัศน์เมืองอีกต่างหาก ทำให้การศึกษาเพื่อจัดวางผังเมืองของไทยเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ รวบรวมข้อมูลแบบปะติดปะต่อ (copy and paste) ประชากร เศรษฐกิจ สังคม เก็บมาให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ไม่รู้เลยว่านำมาเพื่ออะไร เอามาใช้มองเมือง เข้าใจเมืองหรือไม่ เข้าทำนอง 3 ย. ยาก เยอะ และไร้ประโยชน์

เมืองที่ดี เมืองผู้คนเป็นสุขในมุมมองของผังเมืองเป็นอย่างไร ยังไม่เห็นการสร้างองค์ความรู้เช่นนี้กันอย่างจริงจัง แม้แต่องค์กรที่ประกาศตัวเป็นเป็นหน่วยงานแกนนำด้านการผังเมืองของประเทศ การขาดซึ่งความหวัง ความฝันของเมือง ย่อมทำให้การวางผังหรือการวางแผนเป็นไปอย่างเคว้งคว้างไร้ซึ่งจุดหมายและปลายทาง

อาจเป็นได้ที่จะอนุวัตรเมืองในอุดมคติมาจากสำนักอื่นที่โด่งดังและแพร่หลายบนโลกใบนี้ แต่โดยกระบวนการที่นำมาใช้ในงานผังเมืองปัจจุบัน ขาดสาระสำคัญในศาสตร์ของการวางแผนโดยสิ้นเชิง ไม่มีตัวชี้วัด ไม่มีค่าเป้าหมายใดใดที่จะบ่งบอกถึงความสำเร็จหรือแสดงค่าเชิงปริมาณส่วนต่างระหว่างสภาพปัจจุบันและเป้าหมายออกมา การประเมินผลผังเมืองจึงใช้การวัดแบบข้างๆคูๆ ขี่ม้าเลียบค่าย ไม่เคยชี้ชัดอะไรออกมาได้

ปัญหาการบริหารจัดการ

ระบบการพิจารณาผังเมืองยิ่งไม่แน่ชัด การพิจารณาผังเมืองรวมมีหลายลำดับชั้นและขาดการจัดการที่ดี กรรมการยิ่งสูงกลับให้ตัดสินใจในรายละเอียด คณะกรรมการผังเมืองต้องทำตนเหมือนรู้ทุกอย่างทุกเมืองในประเทศไทย ข้อจำกัดในข้อเท็จจริงเช่นนี้กลับไม่ตระหนักในงานผังเมือง โดยให้คณะกรรมการในเชิงนโยบายขลุกกับลักษณะงานการปฏิบัติ ยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีการกำหนดมาตรฐานใดเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณา ปล่อยให้กรรมการแต่ละคนให้ความเห็นในมุมมองและความรู้สึกนึกคิดส่วนตน กลายเป็นวังวนทำให้เจ้าหน้าที่ต้องกลับไปเสียเวลาทบทวนผังตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งระบบการคัดกรองผังระดับกรมควรทำโดยละเอียด มีมาตรฐานดีแล้ว จนผ่านเข้าสู่คณะกรรมการผังเมืองเพื่อประทับตราความเหมาะสมเท่านั้น

ที่น่าแปลกใจยิ่งกว่าคือกับการยกร่างกฎกระทรวงผังเมืองรวมของเมืองหนึ่งๆ นั้น เป็นกระบวนการที่แสนจะยาวนาน บางเมืองอาจต้องรอถึง 7 ปี 10 ปี การรอคอยอย่างเลื่อนลอยไม่ใช่เป็นเพราะการใช้เวลาเพื่อการออกแบบผังเมืองรวมหรือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่กลับกลายเป็นขั้นตอนการทำให้เป็นกฎกระทรวง เพราะมีทั้งตัวบทที่กำกับไว้ และการดำเนินการเชิงจารีตประเพณี ผังเมืองรวมส่วนมากจึงอยู่วนเวียนอยู่กับกองนิติการ กรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้ออกมาใช้ทันกับสภาพการณ์ของเมืองเกือบทุกผัง

ปัญหาการรวมอำนาจ

การผังเมืองของประเทศไทย จึงจำเป็นที่ต้องรื้อร้างสร้างระบบใหม่ทั้งหมด เพราะเมื่อพิจารณาดูให้ถ้วนถี่แล้ว เป็นปัญหาตั้งแต่องค์ความรู้การผังเมืองเอง หน่วยงานที่รับผิดชอบ การจะแก้ไขเพียงตัวบทกฎหมาย เพิ่มองค์ประกอบเพิ่มรายละเอียดของผังไปเท่าไหร่ ก็เชื่อได้ว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมาได้ เพราะ wrong track มาแต่ต้นแล้ว

หัวใจสำคัญคือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น งานผังเมืองเป็นภารกิจของท้องถิ่นโดยแท้ หากยังอยู่ในส่วนกลางจะเป็นลักษณะของ Function ซึ่งไม่ใช่ธรรมชาติของผังเมืองที่ต้องบูรณาการไปทุกส่วนทุกมิติ ลักษณะแบบพื้นที่หรือ Area จึงเป็นคำตอบที่ใช่กว่ามาก การกระจายอำนาจที่ทำในปี 2542 ไม่ถือเป็นการกระจายอำนาจที่แท้จริงเพราะให้ไปเพียงหน้าที่ แต่งบประมาณ และอำนาจในการตัดสินใจยังอยู่ในส่วนกลางทั้งสิ้น

องค์กรส่วนกลางและนักวิชาการสิ่งแวดล้อมมองการกระจายอำนาจผังเมืองสู่ท้องถิ่นเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง อาจจะด้วยประสบการณ์ที่ท้องถิ่นมักมองผังเมืองเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาจึงมีแนวโน้มที่จะเลือกการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าประเด็นความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและสังคม แต่นั่นก็เพราะงานผังเมืองปัจจุบันมีแต่ผังสีการใช้ที่ดินเป็นเอกเทศไปจากมิติด้านอื่นๆ อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และหนำซ้ำกระบวนการออกหรือแก้ไขกฎหมายค่อนข้างล่าช้า ทำให้ท้องถิ่นไม่อยากสร้างเงื่อนไขในพื้นที่มากนัก

เมื่อมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กระบวนการออกกฎหมายจึงควรทำให้กระชับและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การพิจารณาใช้ข้อบัญญัติท้องถิ่นเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ การอนุมัติผังควรเบ็ดเสร็จที่จังหวัดไม่ใช่ในส่วนกลาง เว้นแต่มีความขัดแย้งหรือมีความเห็นต่างกันอย่างมากระหว่างส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น หรือแม้แต่การวางผังเมืองของส่วนกลางเองอาจต้องพิจารณานำประกาศกระทรวงเข้ามาใช้ มากกว่าการเป็นกฎกระทรวงที่ใช้เวลามากเกินไป

ปัญหาองค์กรบูรณาการ

สำหรับองค์กรด้านการผังเมือง นอกจากคืนอำนาจการวางผังสู่ท้องถิ่นให้เป็นองค์กรขับเคลื่อนหลักด้านผังเมืองโดยแท้แล้ว ควรตั้งสำนักงานการผังเมืองแห่งชาติขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เป็นการพัฒนาโมเดลแบบเดียวกับสํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยใช้อาคารเดิมกรมการผังเมืองถนนพระรามที่ 9 พร้อมคัดเลือกบุคลากรหัวกะทิเข้ามาจำนวนหนึ่ง เพื่อบูรณาการงานผังเมืองข้ามกระทรวง ทบวง กรม ดูแลผังเชิงนโยบายและสร้างมาตรฐานแกนกลางด้านผังเมืองโดยเฉพาะ

บุคลากรนอกจากนั้นให้อยู่ในกรมโยธาธิการและผังเมืองทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคตามปกติเพื่อปฏิบัติตามนโยบายของสำนักงานการผังเมืองแห่งชาติ และทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้กับท้องถิ่นในช่วงเปลี่ยนผ่าน ตลอดจนทำหน้าฝ่ายเลขานุการของจังหวัดในการนำเสนอผังเมืองของท้องถิ่น ซึ่งหากทำเช่นนี้แล้วจะเป็นการบริหารจัดการไม่ให้มีการเพิ่มบุคลากร การก่อสร้างอาคารสถานที่ของภาครัฐโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

เริ่มต้นสังคายนากัน

นายกรัฐมนตรีเคยพูดให้ความสำคัญกับการปฏิรูปผังเมืองอย่างมาก เพราะเมืองเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผังเมืองหรือธรรมนูญเมืองจะทำหน้าที่บูรณาการให้ทุกหน่วยงานมีทิศทางร่วมกัน ทั้งไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน ขนส่งมวลชน ตรงไหนจะพัฒนา ตรงไหนอนุรักษ์ หรือตรงไหนจะสงวนเก็บรักษาไว้ โดยหากไม่มีการวางผังเมืองอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพแล้ว ปัญหาต่างๆ ย่อมตามมา เช่น น้ำท่วมเพราะปล่อยให้ตั้งถิ่นฐานขวางทางน้ำ มลพิษจากโรงงานในพื้นที่อยู่อาศัย ความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับอุตสาหกรรม การจราจรติดขัด ตลอดจนปัญหาด้านการให้บริการสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่างๆ ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ

แต่การผังเมืองไทยโดยตัวเองแล้ว ยังมีเรื่องให้รื้อร้างเปลี่ยนแปลงจำนวนมาก และไม่อาจแก้ไขได้เพียงการปรับปรุงกฎหมายการผังเมืองเท่านั้น งานภายในคือองค์ความรู้ วิธีคิด วิธีวางผังจำเป็นต้องพัฒนาใหม่ทั้งหมด การบริหารจัดการที่ไม่เป็นมืออาชีพ การวางบทบาทหน้าที่ของกรรมการแต่ละชุดแต่ละชั้นไม่ชัดเจน กระบวนการการออกกฎหมายที่ล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์ และที่สำคัญที่สุดยังหวงแหนอำนาจไว้ที่ส่วนกลางอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ซึ่งย่อมนำไปสู่ความล้มเหลวไร้น้ำยาของการผังเมืองไทยไปอีกแสนนาน ด้วยเหตุนี้เพื่อให้การผังเมืองเป็นเสาหลักที่พึ่งด้านคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างที่อารยะชนประเทศที่พัฒนาแล้วใช้กัน จึงควรต้องพิจารณาตั้งมั่นร่วมกันสังคายนานับแต่วันนี้



เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ไหนล่ะปฏิรูปผังเมือง? https://prachatai.com/journal/2017/07/72577

ทวงสัญญานายกฯจะปฏิรูปผังเมือง ติดแท็ก 'ออเจ้าได้โปรดทบทวน' http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/795162

สปท.เผยส่งข้อเสนอปฏิรูปให้รัฐแล้ว 63 ฉบับ พร้อมชงออก ก.ม. 40 ฉบับ https://www.thairath.co.th/content/640336

สปท.เห็นชอบรายงานปฏิรูปผังเมือง154:2เสียง https://www.sanook.com/news/2015338/

เกี่ยวกับผู้เขียน: ผศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ เป็นรองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน นครราชสีมา


Posted: 28 Oct 2018 01:57 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-10-28 15:57


เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ

ระบบจัดสรรปันส่วนผสมของไทยที่จะใช้เลือกตั้งปี 2562 นี้ ที่จริง คือ ระบบผสมของเยอรมนีตามกฎหมายเลือกตั้งปี 1949 คือ ใช้คะแนน ส.ส.เขตคำนวณจำนวนเก้าอี้ ส.ส.รวมและ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แต่ไม่ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์โดยตรง และให้มีบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขตเพียงใบเดียว ส่วนที่ต่างกันมีเพียงไทยไม่ได้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ 5% แก่พรรคการเมืองที่จะได้เก้าอี้ ส.ส. แต่ทั้งนี้ควรระลึกไว้ด้วยว่ากฎหมายเลือกตั้งปี 1949 นี้เป็นกฎหมายเลือกตั้งชั่วคราวเท่านั้น (หลังจากนั้นเมื่อปี 1953 และ 1956 เยอรมนีก็เปลี่ยนกฎหมายเลือกตั้งเป็นฉบับถาวรและใช้มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน)

ระบบจัดสรรปันส่วนผสมของไทยมีจุดอ่อนที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้

ประการที่หนึ่ง จุดอ่อนจากการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว และให้ผู้เลือกตั้งเลือกได้เฉพาะ ส.ส.เขต แต่ไม่ให้เลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ใช้วิธีคำนวณแทน ปัญหาที่จะเกิดจากกรณีนี้ ได้แก่

(1) ส.ส.เขตมีความสำคัญมาก เพราะเป็นตัวชี้ขาดการเลือกตั้ง ทั้งจำนวน ส.ส.เขตที่พรรคการเมืองจะได้ และจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ซึ่งเกิดจากการนำคะแนน ส.ส.เขตไปคิดคำนวณ ดังปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ คือ ผู้สมัครต่างต้องการลงสมัคร ส.ส.เขต ทำให้พรรคมีปัญหาในการคัดผู้สมัคร เพราะมีผู้สมัคร ส.ส.เขตมากจนล้น

(2) การแข่งขัน ส.ส.เขตจะรุนแรงมาก สืบเนื่องจาก ส.ส.เขตมีความสำคัญมาก ดังนั้น พรรคการเมืองจะทุ่มทุนและทรัพยากรทุกอย่างเข้าสู่สนามการแข่งขัน ส.ส.เขต เช่น ต้องส่งสมัครให้ครบ 350 เขต ต้องคัดคนที่มีความนิยมในพื้นที่ หรือใช้วิธีลัดดึงเอาคนที่ได้รับความนิยมอยู่แล้วเข้าพรรค รวมทั้งวิธีการอื่นๆ ทั้งใต้ดินและบนดิน

(3) วิธีการแข่งขันจะเปลี่ยนไป เนื่องจากการแข่งขัน ส.ส.เขตจะขึ้นอยู่กับความเป็นพรรคพวก (partisanship) สายสัมพันธ์ส่วนตัว และผลงานของผู้สมัคร ส.ส.เขตในพื้นที่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลงานและนโยบายของพรรคน้อย เพราะไม่ได้เลือกพรรคโดยตรงแบบการเลือกด้วยบัตรสองใบ ผลงานกับนโยบายของพรรคจึงมีผลทางอ้อมหรือเท่ากับลดความสำคัญลง เพื่อแก้ปัญหานี้พรรคการเมืองจะเปลี่ยนไปใช้วิธีการสื่อสารมวลชน เพื่อสร้างการรับรู้แนวกว้างแทน โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ข่าวผ่านทางสื่อ และการสร้าง “จุดต่าง” หรือ “จุดแตกหัก” กับพรรคอื่นหรือฝ่ายตรงกันข้าม

(4) ผู้เลือกตั้งไม่สามารถใช้วิธีการเลือกตั้งเชิงกลยุทธ์ (strategic vote) ได้ วิธีการเลือกตั้งเชิงกลยุทธ์มีหลายแบบ สำหรับกรณีบัตรเลือกตั้งสองใบ ผู้เลือกตั้งสามารถเลือกผู้สมัครพรรคหนึ่ง และเลือกเบอร์พรรคอีกพรรคหนึ่งได้ แต่เมื่อมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว ผู้เลือกตั้งจะถูกบังคับให้เลือก ส.ส.เขตอย่างเดียว หรือที่ทางวิชาการเรียกว่า “sincere vote”

(5) ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลดความสำคัญลง เนื่องจากผู้เลือกตั้งไม่ได้ไปออกเสียงลงคะแนนเลือกพรรค โดยเอาประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง และคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ว่าพรรคใดจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์กี่ที่นั่งเหมือนเมื่อก่อน นอกจากนั้น ยังมีเหตุผลมาจากวิธีการคำนวณแบบใหม่ซึ่งยอกย้อน และคาดคะเนได้ยากว่าแต่ละพรรคจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์กี่คน

(6) พรรคควบคุม ส.ส.ได้น้อยลง เนื่องจาก ส.ส.เขตจะเน้นตัวบุคคล เมื่อตัวบุคคลในแต่ละเขตมีความสำคัญ พรรคหรือผู้นำพรรคก็ย่อมมีความสำคัญลดลง และกระบวนการสรรหาผู้สมัคร ซึ่งพรรคเคยใช้ควบคุมปาร์ตี้ลิสต์อย่างได้ผลนั้น จะใช้ได้น้อยลง เพราะผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ในระบบใหม่เป็น “พวกเสี่ยง” ไม่ใช่ “พวกชัวร์” ที่จะได้เก้าอี้เหมือนเมื่อก่อน

ประการที่สอง จุดอ่อนที่เกิดจากวิธีการคำนวณหาเก้าอี้ ส.ส. ระบบจัดสรรปันส่วนใช้วิธีการคำนวณหาเก้าอี้ ส.ส.ใหม่ โดยมีสูตร 3 สูตร และจะเกิดผลที่ตามมา คือ

สูตรที่ 1
เก้าอี้ ส.ส.รวมของพรรค ก. – เก้าอี้ ส.ส.เขตของพรรค ก. = เก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค


สูตรที่ 2


คะแนนเสียงต่อหนึ่งเก้าอี้ ส.ส. = คะแนนเสียงทั้งหมด / 500


สูตรที่ 3
จำนวนเก้าอี้ ส.ส.รวมของพรรค ก. = คะแนนเสียงของพรรค ก./คะแนนเสียงต่อหนึ่งเก้าอี้ ส.ส.



(1) ความเป็นสัดส่วน (proportionality) หายไป ความเป็นสัดส่วนเป็นเกณฑ์อันหนึ่งของระบบการเลือกตั้งที่มีคุณภาพ เพราะเป็นตัวสะท้อนถึงการกระจายคะแนนไปทั่วทุกกลุ่มมากกว่ากระจุกตัว โดยเฉพาะการเพิ่มโอกาสคนกลุ่มน้อย

นักรัฐศาสตร์สาขาการเลือกตั้งนิยมใช้ดัชนีวัดความไม่เป็นสัดส่วน เพื่อสะท้อนถึง “ความไม่ยุติธรรม” (unfair) ในการเลือกตั้ง เช่น Gallagher Index เป็นต้น ปัญหาที่จะเกิด คือ ระบบจัดสรรปันส่วนของไทยจะสร้างความไม่ยุติธรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถคงความเป็นสัดส่วนได้เฉพาะตอนเป็นจำนวน ส.ส.รวมของพรรค แต่เมื่อเอา ส.ส.เขตไปหักออก และที่เหลือเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แล้ว ความเป็นสัดส่วนของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในระบบเดิมจะหายไป เนื่องจาก ส.ส.เขตมาจากระบบเสียงข้างมาก ไม่ใช่ระบบสัดส่วน ดังนั้น พรรคที่ได้คะแนนเสียงมาก อาจได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อยก็เป็นไปได้

(2)เก้าอี้ ส.ส.เขตมีแนวโน้มที่จะผกผันกับเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพราะเก้าอี้ ส.ส.เขตเป็นตัวหักออกจากเก้าอี้ ส.ส.รวมของพรรค (ดูสูตรที่หนึ่ง) ยิ่งพรรคได้ ส.ส.เขตมาก ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะเหลือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแปรปรวนภายในระหว่างพรรคต่างๆ คือ คะแนนเสียงของพรรคเรากับพรรคอื่นด้วย ถ้าคะแนนเสียงของพรรคเราทิ้งขาดจากพรรคอื่นมากๆ เราก็อาจได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากด้วย แต่ถ้าพรรคเรากับพรรคอื่นๆ คะแนนไม่ทิ้งกันมาก พรรคอื่นจะเข้ามาเฉลี่ยเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มาก วิธีการแก้ปัญหานี้จึงมีทางเดียว คือ การสร้างความนิยมถล่มทลายให้เกิดกับพรรคเราให้ได้

(3)จูงใจให้พรรคเกิดใหม่เข้าสู่การเลือกตั้งมาก เมื่อเก้าอี้ ส.ส.คำนวณยาก เพราะจะยังคำนวณไม่ได้จนกว่าจะรู้ตัวแปรอย่างน้อย 3 ตัว คือ (1) คะแนนของพรรคเรา (2) คะแนนของพรรคอื่นๆ ที่เหลือ และ

(3) จำนวนประชาชนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง การเอาคะแนนเก่ามาคำนวณ เช่น ปี 2554 คำนวณได้ 7 หมื่นคะแนนต่อหนึ่งเก้าอี้ ส.ส. จึงสร้างความ “ฝันหวาน” ให้กับพรรคการเมืองใหม่ๆ เพราะถ้าได้แค่เขตละ 200 คะแนน คูณด้วย 350 เขต ก็ได้ 7 หมื่นคะแนนแล้ว

(4)สร้างความสับสนให้กับผู้เลือกตั้ง เมื่อมีพรรคใหม่เข้าสู่เลือกตั้งมาก เป้าหมายการแบ่งคะแนนและเก้าอี้จะมีมาก การหาเสียงจะซ้ำซ้อนและปนเปกัน จนผู้เลือกตั้งอาจมึนงงไปหมด เช่น คนอาจรู้จักพรรคหรือหัวหน้าพรรคไม่ครบทุกพรรค เว้นแต่พรรคที่เด่นจริงๆ หรือพรรคที่มีผู้เลือกตั้งเป็นกลุ่มแฟนพันธุ์แท้จริงๆ

ประการที่สาม จุดอ่อนจากการหาพันธมิตร (alliance) และการเกิดรัฐบาลผสม (coalition government) ถ้าไม่มีพรรคหนึ่งพรรคใดได้คะแนนเสียงถล่มทลาย ระบบจัดสันปันส่วนนี้จะเป็นเหตุให้ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมาก ทำให้เกิดการหาพันธมิตรและการต่อรองกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และในที่สุดจะได้ “รัฐบาลผสม”

ปัญหาตามมา คือ คนไทย (หรือใครบางคน) จะทนกับการต่อรองและการเป็นรัฐบาลผสมได้นานแค่ไหน!!!!


Posted: 28 Oct 2018 02:40 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-10-28 16:40


คาดสงครามการค้า 'สหรัฐอเมริกา-จีน' ลุกลามสู่การแข่งขันลดค่าเงินมากขึ้น กระทบเศรษฐกิจการค้าโลกและภาคส่งออกไทยปี 2562 ความรุนแรงของสงครามทางการค้าถูกยกระดับขึ้น

28 ต.ค. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าวถึงผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐอเมริกากับจีนได้ลุกลามสู่การแข่งขันการลดค่าเงินว่ากระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาเปิดเผยรายงานนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ (International Economic and Exchange Rate Policy) ล่าสุดระบุว่า จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่ถูกจับตามองนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนยังขาดความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน การที่เงินหยวนอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมากว่า 7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2561 สร้างความกังวลให้กับสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการอ่อนค่าของสกุลเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆ ที่ถูกจับตาจะส่งผลให้สงครามการค้าถูกยกระดับให้รุนแรงขึ้น เกิดความไม่สมดุลต่อระบบเศรษฐกิจและการค้าโลก อาจจะเกิดการแข่งขันการลดค่าเงินมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการส่งออกภายในประเทศ หลังจากผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของหลายประเทศชัดเจนขึ้น

ประเทศต่างๆ หันไปใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศโดยการรักษาค่าเงินอ่อนค่า จีนมีแนวโน้มหันมาใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นหลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า หากประเทศต่างๆ แข่งขันกันลดค่าเงินโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อกระตุ้นส่งออกและส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศย่อมนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดสงครามค่าเงินและยกระดับปัญหาสงครามการค้าให้ซับซ้อนขึ้น จากการศึกษาของ Levy-Yeyati, Sturzenegger and Gluzmann พบว่าปริมาณการถือทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากแสดงให้เห็นถึงความพยายามของประเทศต่างๆที่ต้องการรักษาค่าเงินของตนให้อยู่ในระดับต่ำ ตลาดการเงินระหว่างประเทศโดยเฉพาะตลาดสินทรัพย์เสี่ยงจะมีมูลค่าลดลง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากกีดกันทางการค้าแต่จะกดดันด้วยการชะลอตัวลงจากอุปสงค์ของตลาดโลก

"หากจีนเลือกตอบโต้สหรัฐฯโดยเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะส่งผลต่อความผันผวนปั่นป่วนในตลาดการเงินโลกไม่น้อยโดยเฉพาะตลาดปริวรรตเงินตราจะมีความผันผัวนสูง ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นมูลค่า 1.17 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยที่ผ่านมาตัวเลขการถือครองมีการเคลื่อนไหวขึ้นๆ ลงๆ แต่นับจนถึงเดือน ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา สัดส่วนการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ โดยรัฐบาลจีนล่าสุดยังคงลดลงต่อเนื่องจีนสามารถเลือกที่จะเทขายสินทรัพย์ในรูปของสกุลเงินดอลลาร์ รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีขึ้นไป หรือควบคุมค่าเงินหยวนให้อ่อนค่ากว่าความเป็นจริงเพื่อสร้างความได้เปรียบในการส่งออก" ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ในฐานะอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงข้อเสนอเพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงสงครามค่าเงิน ว่าเมื่อเกิดสงครามค่าเงินแล้วไทยไม่ควรเข้าร่วมสงครามค่าเงินด้วยกระโจมเข้าสู่การแข่งขันการลดค่าเงินเพราะไม่ได้ช่วยให้แก้ปัญหาผลกระทบได้ หากจะบริหารจัดการค่าเงินให้อ่อนค่าเพื่อกระตุ้นส่งออกและการเติบโตต้องทำก่อนที่ประเทศอื่นจะดำเนินการและก่อนเกิดสงครามค่าเงิน คาดว่า สงครามค่าเงินเกิดขึ้นแน่และน่าจะทำให้ภาคส่งออกไทยขยายตัวได้ไม่เกิน 3-5% ในปีหน้า (2562) โดยที่ยอดส่งออกและนำเข้าผ่านการสั่งซื้อออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยและมักจะมีการสำแดงราคาต่ำเพื่อเลี่ยงภาษีกระทบต่อรายได้ของภาครัฐ นอกจากนี้สงครามค่าเงินจะส่งผลทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและระบบการค้าโลกชะลอตัวลงไม่เป็นไปตามการคาดการณ์ล่าสุด

ระบบ Global Supply Chain เครือข่ายการผลิตและการบริหารห่วงโซ่อุปทานแบบโลกาภิวัตน์ไร้พรมแดนจะถูกสั่นคลอนโดยแบ่งแยกออกเป็นสองเครือข่ายใหญ่แทนที่จะเป็นโลกาภิวัตน์หนึ่งเดียว จะแบ่งออกเป็นสองค่าย คือ ค่ายจีนและเครือข่าย กับค่ายสหรัฐฯ และเครือข่าย ไทยต้องวางตำแหน่งทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างประเทศให้ดีระหว่างสองเครือข่ายนี้ และควรรักษาดุลยภาพความสัมพันธ์ให้ดีระหว่างสองเครือข่ายด้วย เพราะการตอบโต้ทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยต้องลดผลกระทบด้วยการทำให้เศรษฐกิจภายในมีความเข้มแข็งด้วยการเร่งรัดการลงทุนภาครัฐและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะในส่วนที่จะไปเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและยกระดับผลิตภาพให้สูงขึ้น เพิ่มรายได้ประชาชนกระตุ้นภาคการบริโภคภายในประเทศ ไม่มีความจำเป็นในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้ และควรเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน รวมทั้งต้องทำให้เกิดความมั่นใจต่อกระบวนการเลือกตั้งในประเทศไทยว่าสามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างแท้จริงและเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ทิ้งท้ายว่าสงครามการค้าจะก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจการค้าโลกโดยรวม ในระดับประเทศยังไม่มีผลวิจัยที่สรุปได้ชัดเจนว่าการบริหารจัดการให้ค่าเงินอ่อนค่ามากๆจะส่งผลบวกต่อการเติบโตภายในประเทศในระยะยาว การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนและการควบคุมการไหลเข้าไหลออกของเงินทุนจะเป็นมาตรการที่มักใช้ในสงครามค่าเงิน และ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนนักว่าวิธีการดังกล่าวจะทำให้เกิดผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่งานวิจัยจำนวนหนึ่งพบว่า การลดลงของรายจ่ายภาครัฐ การเพิ่มขึ้นของระดับการออมและการลดลงของอัตราเงินเฟ้อช่วยทำให้ค่าเงินอ่อนค่าลงและเป็นผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ผลดีที่เกิดขึ้นนี้มีขนาดเล็กกว่าผลดีของนโยบายการใช้จ่ายภาครัฐและการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ


Posted: 28 Oct 2018 03:15 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-10-28 17:15


ปอท.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เพลงประเทศกูมีว่าเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือไม่คาดได้ข้อสรุปสัปดาห์หน้า ย้ำยังไม่ได้เรียกตัวหรือจับกุมตัวนักร้องและผู้เกี่ยวข้องมาสอบสวน วันนี้ (28 ต.ค. เวลา 17.00 น.) ยอดคนชม MV ในยูทูปทะลุ 14 ล้านแล้ว 'RAD' เผยได้รับคำแนะนำจากทีมกฎหมายว่าอาจต้องปิดคอมเมนต์ในยูทูป

จากการเข้าถึงเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2561 เวลาประมาณ 17.00 น. พบว่ายอดคนชม MV เพลงประเทศกูมีในยูทูปมากกว่า 14 ล้านครั้งแล้ว

28 ต.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่าพันตำรวจเอกศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เปิดเผยกรณีเพลงประเทศกูมี ว่ากรณีนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน รักษาราชการแทนผู้บังคับการ ปอท. มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบรายละเอียดของเพลง เพื่อพิจารณาว่าเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือไม่ คาดสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุปหากเป็นความผิด ปอท.จะออกหมายเรียกนักร้องและผู้เกี่ยวข้องกับเพลงทั้งหมดมาสอบสวน แต่ถ้าไม่เข้าข่ายความผิดก็ไม่ต้องดำเนินการใดๆ พร้อมกับย้ำว่าขณะนี้ ปอท.ยังไม่ได้เรียกตัวหรือไปจับกุมตัวนักร้องและผู้เกี่ยวข้องมาสอบสวน


RAD ยืนยันยังปลอดภัย ไม่มีการเข้าจับกุมจาก จนท.รัฐ ตามข่าวลือ
iLaw: 7 เรื่องจริง ที่ประเทศกูมี
ใบตองแห้ง: ประเทศ Ku มี
ทนายวิญญัติ ชี้ ตร.จ่อใช้ พ.ร.บ.คอมฯ ม.14 เล่นงานแร็ป 'ประเทศกูมี' ผิดเจตนารมณ์ของ กม.
‘ประเทศกูมี’ ขึ้นอันดับหนึ่งเทรนด์ทวิตเตอร์ ด้าน ปอท. ชี้อาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. คอมฯ
‘ประเทศกูมี’ แร็ปต้านเผด็จการ สัมภาษณ์กลุ่มแร็ปเปอร์และผู้กำกับมิวสิควิดีโอ
มาแล้ว! MV 'ประเทศกูมี' แร็ปสะท้อนสังคมการเมือง กับฉากหลัง 6 ตุลา 19
'ประเทศกูมี' อะไรบ้าง ฟังแร็ปสะท้อนสังคมการเมือง กลุ่ม RAD
ถูกอัพโหลดลงเว็บเก็บไฟล์แบบ decentralized แล้ว

ด้านข่าว สดออนไลน์ รายงานว่าล่าสุดมิวสิควีดีโอเพลงแร็พชื่อดังของ Rap Against Dictatorship อย่างเพลง ‘ประเทศกูมี’ นั้นได้ถูกอัพโหลดลงเว็บเก็บไฟล์แบบ decentralized นาม ipfs.io และนำเอาลิงค์นั้นไปแปะไว้ใน blockchain ของ Zcoin แล้วเรียบร้อย

อ้างอิงจากคุณหนึ่ง ผู้ก่อตั้ง Zcoin และ Satang ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับทางสยามบล็อกเชนว่ามีคนที่ไม่ทราบชื่อได้ทำการอัพโหลดไฟล์วีดีโอดังกล่าวลงไปในเว็บ ipfs.io หรือเว็บเก็บไฟล์แบบ decentralized ที่จะมีการเก็บไฟล์แบบแยกไว้ทั่วโลก ทำให้ไฟล์ที่ถูกอัพบนเว็บดังกล่าวนั้นไม่สามารถถูกลบได้

อีกทั้งจะยังไม่สามารถถูกบล็อกเพื่อไม่ให้เข้าถึงได้อีกด้วย ที่สำคัญ ลิงค์ของไฟล์ดังกล่าวนั้นยังได้ถูกเก็บไว้บน blockchain ของเหรียญคริปโตด้าน privacy ฝีมือคนไทย ที่จะปกปิดข้อมูลส่วนตัวของผู้ทำธุรกรรมและเส้นทางการทำธุรกรรมอีกด้วย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้ถูกเก็บไว้บน Block Height ที่ 111089 ของเหรียญ Zcoin โดยคุณหนึ่งกล่าวว่า

“จะไม่รู้ใครเป็นคนโพส ข้อมูลจะไม่หาย และจะไม่โดนบล็อกเพื่อไม่ให้เข้าถึงครับ เพราะด้วย mint spend ของ zcoin จะไม่รู้ว่า link id บน ipfs นี้มาจากไหนครับ แล้วเป็น public blockchain ทำให้ลบ link ไม่ได้ ส่วน ipfs ก็ทำให้ลบวีดีโอไม่ได้ ซึ่งทั้งคู่เป็น distributed เลย block ไม่ได้”

เมื่อถามว่าใครเป็นผู้โพสวีดีโอดังกล่าวลงบนเว็บ เขาได้กล่าวว่า “มีคนทำครับ เราแค่เสนอข่าว ไม่รู้ว่าใคร” และเมื่อถามว่ารู้ได้อย่างไรว่ามีไฟล์ดังกล่าวที่ถูกอัพลง คุณหนึ่งเผยว่าลักษณะคล้ายกับข่าวที่มีคนเอาวีดีโอเปิดเผยรัฐบาลจีนไปโพสลงในเว็บดังกล่าว ซึ่งทำให้เขาสงสัย และเปิดไฟล์ดังกล่าวขึ้นมาดู

เว็บ ipfs.io เป็นเว็บแบบ peer-to-peer hypermedia protocol ที่เมื่อผู้ใช้งานอัพโหลดไฟล์ขึ้นไปแล้ว ไฟล์ดังกล่าวจะถูกนำไป distributed หรือเผยแพร่อยู่บนเครือข่าย blockchain ที่อยู่ทั่วโลก (ประมาณ 4,000 node ทั่วโลก อ้างอิงจากคุณหนึ่ง) ส่งผลทำให้ไม่สามารถถูกลบหรือแก้ไขได้ จนกว่าเครือข่ายทั่วโลกนั้นจะล่มพร้อมกันทั้งหมด 100% และยังไม่สามารถถูก block ให้เข้าถึงไม่ได้อีกด้วย
RAD เผยอาจต้องปิดคอมเมนต์ในยูทูป

28 ต.ค. 2561 แร็ปเปอร์กลุ่ม 'Rap Against Dictatorship' หรือ 'RAD' เจ้าของเพลง 'ประเทศกูมี' โพสต์ผ่าน เฟสบุ๊คแฟนเพจของกลุ่ม เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ระบุว่ารับคำแนะนำจากทีมกฎหมายอาจต้องปิดคอมเมนต์ของเพลงประเทศกูมีในยูทูป

(English Below)

หลังจากเมื่อวานเราได้คุยกับทีมกฎหมายจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เราได้ทราบถึงข้อควรกังวลบางอย่าง ซึ่งก็คือประเด็น Comments ใน YouTube ที่ตอนนี้สูงถึง เจ็ดหมื่นกว่า Comments ไปแล้ว
.
ในจำนวนนั้น มีหลายๆความเห็นได้ละเมิดและขัดกับหลักกฎหมายตั้งแต่เล็กน้อย ไปจนถึงร้ายแรง ซึ่งเราเองตามดูแลได้ไม่หมด
.
เราจึงได้รับคำแนะนำจากทีมกฎหมายว่า ให้ปิดส่วนของช่องแสดงความเห็นออกไปก่อน เพราะไม่เช่นนั้น มันจะเป็นจุดที่เราสามารถถูกใช้โจมตีได้ และไม่เป็นผลดีกับเป้าหมายของกลุ่ม
.
หวังว่าทุกท่านจะทราบเหตุผลและเข้าใจพวกเรานะครับ

ขอบพระคุณทุกท่านอย่างสูงอีกครั้งครับ

______________________________

After consulted with the legal team from ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน we have some concern about comments in youtube which is now more than 70k comments.
.
In that number, several comments are against and violated not only to petty laws but also to crimial law.
.
So the legal team suggested us to turn off commenting, otherwise, these risky comments might affect us in the future.
.
We hope you will informed and understand our reason and concern.

Best regards.

#RapAgainstDictatorship
#ประเทศกูมี

[full-post]
ขับเคลื่อนโดย Blogger.