'เราซี่ย์' หมดสภาพพ่ายTKO  ด้วยเวลาแค่ 48 วินาที 
การแข่งขันศิลปะการต่อสู้ MMA  รายการ "อัลติเมต ไฟติ้ง แชมเปี้ยนชิป" หรือ UFC 207 ที่ ลาส เวกัส สหรัฐอเมริกา เป็นไฟต์ชิงแชมป์โลกหญิง รุ่นแบนตัมเวตหญิง อแมนดา นูเนส เจ้าของตำแหน่งกับ รอนดา เราซี่ย์ อดีตดาวดังที่คืนสังเวียนครั้งแรกรอบ 13 เดือน โดย เริ่มยกแรก ทั้งคู่ปักหลักแลกหมัดกันกลางเวที และ นูเนส ที่ออกอาวุธได้จะแจ้งกว่าจน เราซี่ย์ ต้านไม่อยู่ถูกกรรมการจับแพ้ TKO ด้วยเวลาแค่ 48 วินาที ทำให้ นูเนส ป้องกันตำแหน่งได้แบบแทบไม่เจ็บตัวอะไรเลย






Samsung เตรียมเปิดตัว Tablet ใหม่ 2 รุ่น มาพร้อม Windows 10 ภายในงาน CES 2017

Samsung เตรียมเปิดตัวแท็บเล็ตรุ่นใหม่ของบริษัทที่จะมาพร้อมระบบปฏิบัติการ Windows 10 ด้วยกันทั้งหมดสองรุ่นภายในงาน Consumer Electronics Show (CES) 2017 โดยคาดว่าตั้งใจเอามาลุยตลาดผู้ใช้งานในระดับองค์กร และจะมาพร้อมรหัสตัวเครื่อง SM-W720 และ SM-W620

ตามรายงานเผยว่า จนถึงตอนนี้ยังคงไม่มีข้อมูลใดๆ หลุดออกมาจาก Samsung เพิ่มเติมเกี่ยวกับว่าที่แท็บเล็ตรุ่นใหม่ของบริษัทสองรุ่น ที่จะเลือกรันบน Windows 10 แทน Android OS แต่จากการคาดเดาจากข้อมูลรหัสตัวเครื่องที่หลุดออกมา เชื่อว่าแท็บเล็ตรุ่นใหม่จะเป็นทายาทของ GalaxyTab Pro S ที่มีกระแสข่าวลือออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งรุ่น SM-W720 น่าจะเป็นรุ่นท็อปสุด ส่วน SM-W620 จะเป็นรุ่นเล็กสุด คงต้องติดตามกันอีกครั้งในงาน CES 2017

ที่มา : GSMArena


นายแน่มาก.. HTC Ocean Note ตัดช่องหูฟังออกไป คาดวางขายตรุษจีนเดือนหน้า

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมามีข่าวสมาร์ทโฟนคอนเซปท์จาก HTC ชื่อว่า Ocean หลุดออกมา ซึ่งตอนแรกก็คาดกันว่ามันอาจเป็น HTC 11 สมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นถัดไปของค่ายเนื่องจากดูมีจุดขายใหม่ๆ (ใหม่สำหรับค่ายนี้) เพิ่มเข้ามาเช่นขอบจอโค้งด้านข้างและมีการตัดช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรออกเหมือนกับใน HTC 10 evo ที่ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเป็นจุดขายดีมั้ย โดยใช้ชื่อว่า HTC Ocean Note


มีข้อมูลหลุดออกมาว่า Ocean อาจใช้ชิพของฝั่ง Mediatek ซึ่งทำให้แน่ใจได้ว่ามันไม่ใช่ HTC 11 แน่ๆ เพราะ HTC 11 จะใช้ชิพ Snapdragon 835 ที่ใช้สถาปัตยกรรม Kryo และมี clock speed ที่ CPU คอมบางรุ่นยังต้องอาย


ยังไม่มีข้อมูลสเปคเกี่ยวกับ HTC Ocean หลุดออกมามากนัก จากตัวเครื่องที่เห็นในภาพจะมีหน้าจอขอบโค้งขนาดประมาณ 5.5 - 5.7 นิ้ว ไม่มีปุ่ม physical อยู่ด้านหน้าเลยและไม่มีช่องเสียบแจ็ค 3.5 มิลลิเมตรสำหรับหูฟัง มีทั้งหมด 3 สี ซึ่งอาจเปิดตัวในวันที่ 12 มกราคมนี้โดยในบัตรเชิญมีคำใบ้ว่า for U และเริ่มวางขายช่วงตรุษจีนตอนสิ้นเดือน
ที่มา: GSMArena


Huawei ได้วางจำหน่าย Mate 9 ไปเป็นที่เรียบร้อย และเห็นว่าขายดิบขายดี ของหมดไปหลายที่อยู่เหมือนกัน ล่าสุดก็เตรียมนำอีกรุ่นในตระกูลอย่าง Mate 9 Pro ที่เคยประกาศว่าจะวางขายในช่วงกลางเดือนมกราคมนี้ มาเริ่มเปิดให้จองกันก่อนได้ ในวันที่ 1 มกราคมนี้ รับปีใหม่กันไป


สำหรับ Huawei Mate 9 Pro นั้นก็มีข้อแตกต่างหลักๆ กับรุ่น Mate 9 อยู่ประมาณ 3-4 จุดด้วยกัน จุดแรกคือขนาดหน้าจอ 5.5 นิ้ว และกระจกโค้ง, RAM เพิ่มขึ้นเป็น 6GB ส่วน ROM ก็ขยายเป็น 128GB และมีปุ่ม Home ด้านหน้าตัวเครื่อง


Huawei Mate 9 Pro
หน้าจอแสดงผล AMOLED ขนาด 5.5" ความละเอียด QuadHD (~534 ppi)
CPU Octa-core Hisilicon Krin 960 ความเร็ว 2.4GHz
GPU Mali-G71
RAM 6GB
ROM 128GB
MicroSD Card 256 GB
กล้องถ่ายรูปคู่ (F2.2)
RGB 12 MP
monochrome 20 MP
กล้องหน้า 8 MP (F1.9)
Android OS 7.0 Nougat with EMUI 5.0
รองรับการใช้งาน 3G/ 4G LTE Cat12
FingerPrint
Dual SIM
แบตเตอรี่ขนาด 4000 mAh
ราคาเปิดตัว 27,900 บาท
ราคาเปิดตัวของ Huawei Mate 9 Pro อยู่ที่ 27,900 บาท ต้องมารอลุ้นกันว่าในวันเปิดจองแต่ละค่ายจะมีโปรอะไรเด็ดๆ และส่วนลดต่างกันกี่มากน้อย



สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ว่า สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี (China Central Television : CCTV) เปิดตัวเครื่อข่ายสื่อระหว่างประเทศใหม่ ภายใต้ชื่อ ไชน่า โกลบอล เทเลวิชั่น เน็ตเวิร์ค หรือ ซีจีทีเอ็น (China Global Television Network) และผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ที่ไม่ใช่ภาษาจีนของซีซีทีวี จะได้รับการแนะนำให้ย้ายไปที่เว็บไซต์ http;//www.cgtn.com

เครือข่ายสื่อหลายภาษาภายใต้ชื่อใหม่ จะมีสถานีโทรทัศน์ภาษาต่างประเทศ 6 ช่อง สื่อวิดีโอ และสำนักข่าวใหม่ ผู้บริหารซีซีทีวี กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวเป็นไปเพื่อ "บูรณาการทรัพยากร และปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มการหลอมรวมของสื่อดิจิทัล"

ซีซีทีวีได้เผยแพร่จดหมายแสดงความยินดี จากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เมื่อวันเสาร์ ซึ่งสีได้เรียกร้องต่อ ซีจีทีเอ็น ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ ให้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับจีน แก่ชาวโลกในทางที่ดีขึ้น และมีบทบาทมากขึ้นในวงการสื่อระหว่างประเทศ

ผู้นำรัฐบาลจีนบ่นมานาน เกี่ยวกับการครอบงำของสื่อตะวันตก ต่อการรายงานข่าวระหว่างประเทศ และได้ทุ่มเงินงบประมาณจำนวนมาก ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มบทบาทของสื่อจีน ในการกำหนดรูปแบบความคิดเห็นนานาชาติ โดยมีซีซีทีวีเป็นหัวหอก ก่อนหน้านี้ซีซีทีวีมีช่องภาษาอังกฤษ อาระบิก ฝรั่งเศส สเปน และรัสเซีย และมีศูนย์ผลิตสื่อในกรุงวอชิงตัน สหรัฐ และกรุงไนโรบี เคนยา
ทางด้านนายเฉิน หลี่ตง เจ้าหน้าที่ซีซีทีวี กล่าวว่า การเปลี่ยนชื่อใหม่จะไม่ส่งผลกระทบต่อปฏิบัติการภายในประเทศแต่อย่างใด.


ดิอิโคโนมิสต์ตอบคำถามสำคัญก่อนเปิดศักราชใหม่ "ประชานิยม" คืออะไรกันแน่

Posted: 30 Dec 2016 03:12 AM PST

ในปี 2016 ประเด็นหนึ่งที่พูดกันมากในระดับโลก แต่อาจจะพูดถึงกันมาหลายปีแล้วในประเทศเรา คือเรื่องของ "ประชานิยม" ซึ่งเป็นคำที่ยังมีความลื่นไหลและนำมาใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อจนชวนให้ตั้งคำถามว่าคำๆ นี้มีความหมายที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ นิตยสารดิอิโคโนมิสต์มีการอธิบายประวัติศาสตร์และความเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาของถ้อยคำนี้

ในนิตยสารดิอิโคโนมิสต์ฉบับเมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาจึงมีพยายามอธิบายความหมายของศัพท์คำนี้ ซึ่งผู้ใช้ "ประชานิยม" อาจจะเป็นได้ทั้งสายทหารนิยมหรือสายอิสรนิยม (Libertarians - แนวคิดต่อต้านการแทรกแซงจากรัฐซึ่งอาจจะเป็นฝ่ายเอียงขวาที่สนับสนุนทุนหรืออาจจะเป็นฝ่ายเอียงซ้ายที่เน้นเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจก็ได้ เป็นคนละความหมายกับเสรีนิยมหรือ Liberalism)

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้คำๆ นี้ถูกนำมาพิจารณาอีกครั้งคือการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดในสหรัฐฯ ถูกเรียกว่าเป็น "นักประชานิยม" เขามีนโยบายส่งตัวผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารรับรองออกนอกประเทศ ขณะเดียวกันก็มีพรรคฝ่ายซ้ายของสเปนที่ชื่อโปเดมอสถูกมองว่าเป็น "นักประชานิยม" เช่นกันแต่พวกเขากลับมีแนวคิดต้องการให้ผู้อพยพมีสิทธิในการเลือกตั้ง ในเนเธอร์แลนด์ก็มีเคียร์ต วิลเดอร์ส นักการเมืองฝ่ายขวา "นักประชานิยม" ผู้ต้องการยกเลิกกฎหมายเฮชสปีช ในโปแลนด์ก็มียาโรสลอว์ คักชินสกี นักการเมืองฝ่ายขวาที่พยายามหลักดันกฎหมายห้ามใช้คำว่า "ค่ายกักกันแห่งความตายโปแลนด์"

ในละตินอเมริกา เอโว โมราเลส ประธานาธิบดีโบลิเวียก็ถูกเรียกว่าเป็น "นักประชานิยม" เขาต้องการส่งเสริมสิทธิชนพื้นเมืองในการปลูกพืชโคคา โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ผู้มีนโยบยปราบปรามยาเสพตดอย่างรุนแรงก็ถูกเรียกว่าเป็น "นักประชานิยม" จนราวกับว่าในยุคนี้ใครๆ ก็ถูกเรียกเป็นนักประชานิยมได้หมด ไม่ว่าจะเป็นพวกสายทหาร คนที่มีอุดมการณ์เดียวกับเช เกวารา หรือนักทุนนิยมผู้ปฏิเสธรัฐ เป็นได้ทั้งนักสิ่งแวดล้อมผู้ต่อต้านท่อส่งน้ำมันหรือจอมถลุงผู้ปฏิเสธเรื่องโลกร้อน ดิอิโคโนมิสต์ตั้งคำถามว่าอะไรทำให้พวกนี้กลายเป็น "นักประชานิยม" กันได้หมด และคำๆ นี้มีความหมายจริงหรือไม่

ดิอิโคโนมิสต์บอกว่ามีการใช้คำๆ นี้กันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ช่วงราวปี ค.ศ. 1900-1910 แล้ว โดยในตอนนั้นขบวนการประชานิยมในสหรัฐฯ นำกลุ่มคนในชนบทร่วมมือกับพรรคโดโมแครตในยุคนั้นต่อต้านพรรครีพับลิกันในยุคนั้นที่เข้าหาคนในเมืองมากกว่า พอถึงช่วงปี ค.ศ. 1940-1950 พวกนักวิชาการและนักข่าวเอาคำนี้มาขยายความหมายให้กว้างกว่าเดิมจนกลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นพวกฟาสซิสต์ พวกคอมมิวนิสต์ พวกหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์แบบสุดโต่งในสหรัฐฯ แนวคิดการเมืองในแบบของฮวน เปรอง ที่ เอาทั้งชาตินิยม สังคมนิยม และประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม เข้ามารวมกัน

การนำมาใช้เฝือมากเช่นนี้ทำให้นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เบนยามิน มอฟฟิตต์ เขียนไว้ในหนังสือเขาว่าถึงแม้คำๆ นี้จะมีประโยชน์แต่มันถูกเอามาใช้กันอย่างเละเทะจนไม่สามารถอธิบายได้ในแบบเดียว บางคนโยงเรื่องประชานิยมกับการที่คนไม่พอใจเรื่องสถานะหรือสวัสดิการตกต่ำลง บ้างก็โยงกับการโหยหาชาตินิยมในอดีต แต่บ้างก็มองว่าเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่ผู้นำที่ดึกดูดผู้คนใช้ชักจูงมวลชนในการเอาชนะอำนาจเดิม (แม้ว่าขบวนการประชานิยมไม่จำเป็นต้องมีผู้นำแบบที่ว่า) แม้คำๆ นี้จะใช้กันเรื่อยเปื่อยมาก แต่ก็ถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ

กาส มุดเด นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งจอร์เจียกล่าวไว้เมื่อปี ค.ศ. 2004 ว่า คำว่าประชานิยมเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับเขาแล้วคำๆ นี้เป็น "อุดมการณ์หลวมๆ" ที่มีกรอบความคิดว่าเป็นเรื่องของ "ประชาชนที่แสนบริสุทธิ์" ปะทะกับ "ชนชั้นนำที่เสื่อมทราม" ซึ่งตรงกันข้ามกับพหุนิยมที่ยอมรับว่าในโลกนี้มีความชอบธรรมของกลุ่มคนหลายๆ กลุ่มที่แตกต่างกัน ความที่มันเป็นอุดมการณ์หลวมๆ ทำให้มันไแปะติดอยู่กับ "อุดมการณ์หนาๆ" แบบไหนก็ได้ไม่ว่าจะเป้นสังคมนิยมหรือชาตินิยม ฝ่ายต้านจักรวรรดิ์นิยมหรือฝ่ายเหยียดเชื้อชาติสีผิว

ดิอิโคโนมิสต์อธิบายต่อไปว่าหนึ่งในตัวอย่างของการเอา "อุดมการณ์หลวมๆ" ดังกล่าวมาใช้คือการที่ชาวอังกฤษลงประชามติออกจากการเป็นสมาชิกภาพสหภาพยุโรป (Brexit) พวกเขาอ้างตัวเองว่าเป็น "กลุ่มประชาชน" ผู้ไม่สนใจผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายและประกาศว่าจะ "ขยี้ชนชั้นนำ" โดยที่ Brexit เองก้ไม่มี "อุดมการณ์หนาๆ" ที่รวมกลุ่มได้ชัดเจน ทั้งนี้หลายคนก็มองว่าคำว่า "ประชานิยม" นั้นทำให้ไม่มีการมองอะไรในมิติอื่นๆ นักรัฐบาลศาสตร์อย่าง ญาณ แวร์เนอร์ มุลเลอร์ กล่าวว่าคำว่า "ประชานิยม" ยังมีคนนำมาอ้างเพื่อให้ตัวเองดูเหมือนเป็นตัวแทนของประชาชนเพียงหนึ่งเดียวและอะไรอย่างอื่นถือว่าไม่มีความชอบธรรมอีกด้วย

ดิอิโคโนมิสต์ยังชี้ว่ามีการแยกย่อยประชานิยมใหญ่ๆ ออกเป็นสองสายคือสายที่ "กีดกันคนอื่นออกไป" (exclusive) อย่างกลุ่มที่ต่อต้านผู้ลี้ภัยและสายที่ "รวมคนเข้าหา" (inclusive) อย่างกลุ่มที่เปิดกว้างให้คนที่ถูกเหมารวมตีตราอย่างคนจนและคนกลุ่มน้อยให้มีส่วนร่วมทางการเมืองงด้วยซึ่งประชานิยมสายนี้มักจะปรากฎในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา มุดเดกล่าวว่าประชานิยมอาจจะมีข้อดีทำให้กลุ่มชนชั้นนำต้องหันมาหารือกันถึงประเด็นที่พวกเขาเคยละเลยมาก่อน แต่ประชานิยมที่อ้างว่า "ประชาชนถูกเสมอ" นั้นเป็นข่าวร้ายทั้งสำหรับเสรีนิยมประชาธิปไตยและสิทธิของชนกลุ่มน้อยรวมถึงหลักนิติธรรม



เรียบเรียงจาก

What is populism?, The Economist, 19-12-2016 http://www.economist.com/blogs/economist-explains/2016/12/economist-explains-18

สมาคมนักข่าวฯ ชี้ปี 59 รัฐคุมแทรกแซงสื่อทุกแขนง วอนช่วยกันเร่งกู้วิกฤติศรัทธา
Posted: 30 Dec 2016 04:51 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
30 ธ.ค. 2559 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้รายงานภาพรวมสถานการณ์สื่อมวลชนในประเทศไทยประจำปี 2559 โดยระบุว่า อำนาจรัฐใช้กฎหมายคุม แทรกแซง สื่อทุกแขนงตกอยู่ในภาวะรัฐซึมลึก สื่อซึมเศร้า พร้อมประกาศจุดยืนคัดค้านทุกรูปแบบ และเรียกร้ององค์กรสื่อมวลชนรีบเร่งปรับตัว เพื่อฟื้นฟูศรัทธาให้เกิดต่อสาธารณะและให้สังคมเกิดความหวั
โดยมีรายละเอียดดังนี้

“รัฐซึมลึก สื่อซึมเศร้า”

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สรุปภาพรวมสถานการณ์สื่อมวลชนประจำปี 2559 พบว่า ยังคงตกอยู่ในภาวะ “อึมครึม หวาดระแวง” อย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการทำงานยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของประกาศ คำสั่งอำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 ตลอดจนท่าทีและทัศนคติของนายกรัฐมนตรีที่มีต่อการทำงานของสื่อมวลชน
 
ขณะเดียวกันรัฐก็มีความมุ่งหมายที่จะออกกฎหมายควบคุมและแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนทุกแขนง ถึงขั้นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว เข้าไปแทรกแซงอำนาจของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ออกคำสั่งให้ขยายเวลาชำระค่าประมูลสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลออกไปและขยายอายุการคืนคลื่นวิทยุของกองทัพ-หน่วยงานของรัฐออกไปอีก 5 ปี
 
ในท่ามกลางสถานการณ์ที่วงการสื่อมวลชนกำลังเผชิญหน้ากับการปรับตัว รีดไขมันองค์กรของตัวเอง อันมีสาเหตุมาจากวิกฤติเศรษฐกิจ และในปี 2559 นี้เอง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต ถือเป็นความสูญเสียและความวิปโยคอย่างใหญ่หลวงที่สุดของปวงชนชาวไทยรวมถึงวงการสื่อสารมวลชน
 
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยขอยกสถานการณ์สื่อมวลชนประจำปี 2559 ให้เป็นปีแห่ง “รัฐซึมลึก สื่อซึมเศร้า” โดยขอประมวลภาพรวมสถานการณ์สื่อมวลชนในรอบปีในด้านต่างๆ ดังนี้

ความวิปโยคและความสูญเสีย

นับได้ว่าปี 2559 เป็นปีแห่งความ “ซึมเศร้า”ของคนในวงการสื่อสารมวลชน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต ในวันที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้รวมพลคนในวงการจัดงานอาลัยและระลึกถึงในชื่องาน “รวมใจคนสื่อน้อมเกล้าฯ แสดงความอาลัยพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9” รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อวงการสื่อมวลชนไทยมาอย่างยาวนาน
 
ในวาระดังกล่าว กสทช.โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) มีมติกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ถึงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเสด็จสวรรคต ให้ถือปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อปฏิบัติของสำนักพระราชวังโดยเคร่งครัด โดยการถ่ายทอดเสียงหรือภาพเกี่ยวกับการเสด็จสวรรคต ให้เชื่อมโยงสัญญาณโดยตรงจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยและสถานี วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย มิให้นำเอาภาพและเสียงไปออกอากาศซ้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตและการเผยแพร่รายการต่างๆของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ให้งดรายการที่แสดงถึงความรื่นเริงเป็นเวลา 30 วัน โดยขอให้คำนึงถึงความเหมาะสมด้วย

ข้อกังขาการปฏิรูปสื่อภายใต้ สนช.และ สปท.

ด้วยรัฐพยายามเข้ามาแทรกแซง ควบคุมสื่อในทุกรูปแบบ โดยการอ้างถึงการปฏิรูปสื่อ ล่าสุด คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ได้ยกร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยพบว่าได้มีแนวทางที่จะเปิดประตูให้นักการเมือง ข้าราชการ สามารถใช้อำนาจแทรกแซง ควบคุมการทำหน้าที่ของนักข่าวมืออาชีพ ผ่านสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยให้มีปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติโดยตำแหน่งและยังเปิดช่องให้กรรมการอื่นอีก 4 คนที่จะเป็นใครก็ได้ถูกอำนาจรัฐเลือกเข้ามา
 
เท่ากับคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติทั้งหมด 13 คน จะเป็นผู้แทนสมาชิกสภาวิชาชีพแค่ 5 คน กรรมการที่เหลืออีก 8 คน เท่ากับยืนอยู่ฝ่ายรัฐ มีอำนาจชี้ขาดให้ออกหรือเพิกถอนใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกแขนงในประเทศไทย เป็นการคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จ ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ที่กำหนดเอาไว้ชัดเจนว่าให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
 
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้ประกาศจุดยืนขอคัดค้านทุกรูปแบบให้ถึงที่สุดต่อแนวคิดดังกล่าวของสปท.โดยไม่เอาตัวแทนของรัฐเข้ามาเป็นกรรมการในองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่และไม่ยอมรับให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติมีอำนาจในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่สมควรมีกติกาที่บังคับกลไกให้องค์กรสื่อกำกับดูแลกันเอง ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ “6 องค์กรสื่อวิชาชีพสื่อมวลชน” เสนอร่างประกบ กับร่างของ กมธ.เพื่อให้สมกับที่เสรีภาพของสื่อมวลชนคือเสรีภาพของประชาชน เป็นนักข่าวมืออาชีพนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน มีเสรีภาพบนความรับผิดชอบต่อสังคม ตามกรอบจริยธรรมสื่อมวลชน คอยเป็นหูเป็นตาตรวจสอบประเด็นสาธารณะ  ให้ผลประโยชน์สูงสุดตกแก่ประชาชน
 
ร่างกฎหมายอันมีลักษณะควบคุม บังคับสื่อ ยังมีการดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการสื่อสารมวลชน สภานิติบัญญัติ (สนช.) คู่ขนานกันไปอีกฉบับหนึ่งด้วย ทั้งนี้ยังไม่นับรวมร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ที่ออกแบบตีกรอบสภาพบังคับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน จะต้องจดทะเบียนเป็นสมาชิกองค์กรสภาวิชาชีพก่อนขอใบอนุญาตเปิดหัวหนังสือ และหัวหน้า คสช.ยังใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าไปแทรกแซงอำนาจ กสทช.ออกคำสั่งให้ขยายเวลาการคืนคลื่นวิทยุของกองทัพ-หน่วยงานของรัฐออกไปอีก 5 ปี เป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า การปฏิรูปสื่อล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะดึงคลื่นกลับไปเป็นของรัฐเหมือนเดิม ไม่ได้เป็นคลื่นของสาธารณะอีก  จึงขอยกให้ปี 2559 เป็นปีแห่ง “รัฐซึมลึก” เพื่อควบคุมสื่อ
 
จากสถานการณ์การปฏิรูปสื่อ ที่รัฐพยายามออกแบบกฎหมายหลายฉบับ เพื่อใช้กลไกอำนาจควบคุม แทรกแซง คุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนและยังมีการใช้อำนาจกำกับสื่อมวลชน ขณะที่สื่อมวลชนเองก็ยังนำเสนอข่าวที่ละเมิดจริยธรรมสื่อในหลายกรณี เปิดช่องให้รัฐใช้เป็นข้ออ้างในความพยายามเข้าควบคุม
 
ถึงเวลาแล้วที่องค์กรสื่อมวลชนและคนในวงการสื่อมวลชนทุกแขนงจะต้องรีบเร่งปรับตัว เพื่อฟื้นฟูศรัทธาให้เกิดต่อสาธารณะและให้สังคมเกิดความหวัง  แม้ว่าในยุคอุตสาหกรรมสื่อปัจจุบันนี้ จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี จนสถานประกอบการสื่อหลายแห่งจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้องค์กรอยู่รอด ทำให้คนในวงการเกิดสภาพ “สื่อซึมเศร้า”
 
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอส่งกำลังใจในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ให้คนในวงการข่าวรวบรวมพลังฝ่าวิกฤติในช่วงนี้ไปให้ได้พร้อมๆ กัน


สหภาพฯรถไฟค้านตั้ง 'กรมการขนส่งทางราง' ย้ำกรมฯควรเป็นผู้กำกับไม่ใช่เป็นผู้เข้ามาบริหาร

Posted: 30 Dec 2016 05:32 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

30 ธ.ค. 2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ อนุมัติและรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง 2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... และ ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป 3. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรองและกรอบระยะเวลา และแผนการขนส่งทางราง ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง และ 4. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการจัดตั้งบริษัทใหม่รวม 3 บริษัท โดยเร็ว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.59 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการจัดตั้งกรมขนส่งทางรางและการจัดตั้งบริษัทเดินรถบริษัทซ่อมบำรุงรางและล้อเลื่อนและบริษัทบริหารทรัพย์สิน และหลังจาก ครม.มีมติดังกล่าว วันนี้(30 ธ.ค.59) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เรื่อง ความเคลื่อนไหว กรณีการจัดตั้ง "กรมการขนส่งทางราง"

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า อำพน ทองรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวถึง การจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางที่ ครม. มีมติดังกล่าวว่า สหภาพฯรถไฟคัดค้านการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอยากจะฝากข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า บทบาทหน้าที่ของกรมขนส่งทางรางควรเป็นแค่ผู้กำกับดูแลนโยบาย ไม่ใช่เป็นผู้เข้ามาบริหารงานอย่างที่ระบุไว้ในเนื้อหาที่ครม.อนุมัติ นอกจากนี้มองว่าการเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งบันบนระบบรางอย่างเสรี การตั้งบริษัทลูกคือ บริษัทเดินรถและบริษัทซ่อมบำรุง เป็นการสอดไส้ในเนื้อหาที่ทางสหภาพฯ ไม่เห็นด้วย

“เนื้อหาที่สอดแทรกทั้งการให้อำนาจกรมการขนส่งทางรางเข้ามาบริหาร การตั้งบริษัทลูกคือ บริษัทเดินรถและบริษัทซ่อมบำรุง ทางสหภาพฯการรถไฟไม่เห็นด้วย และจะดำเนินการคัดค้านให้ถึงที่สุด เนื่องจากมองว่าจำเป็นต้องตั้งกรมการขนส่งทางราง ปัจจุบันสามารถดำเนินการบริหารจัดการภายในองค์กรได้อยู่แล้ว หากให้อำนาจในการบริหาร โดยเฉพาะการเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันบนระบบรางอย่างเสรีอาจจะเกิดปัญหากับการรถไฟฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในอนาคต อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากหยุดเทศกาลปีใหม่ทางสหภาพฯ จะนัดประชุมสมาชิกเพื่อหารือและกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน” อำพนกล่าว

อำพน กล่าวว่า สำหรับการตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สิน ทางสหภาพฯ เห็นด้วย เนื่องจากการบริหารพื้นที่รถไฟกว่าแสนไร่ ที่ผ่านมายังไม่มีผู้ชำนาญการที่จะมาดูแลในเรื่องนี้ จึงมองว่าหากมีการตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สินนี้ขึ้นจะทำให้มีการจัดการที่ดินทางรถไฟให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะที่ดินในเชิงพาณิชย์




กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนอากาศหนาวช่วงส่งท้ายปี-ภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนักถึง 3 มกราคม
Posted: 30 Dec 2016 09:44 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนหลังลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมประเทศไทย ภาคใต้และอ่าวไทย ขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำ จะทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ขณะที่พื้นที่ตอนบน หย่อมความกดอากาศสูงจะปกคลุมจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ทำให้พื้นที่ตอนบนมีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไป อุณหภูมิจะลดลงอีก 2-3 องศาเซลเซียส บริเวณเทือกเขาสูงอุณหภูมิต่ำสุด 3-8 องศาเซลเซียส

31 ธ.ค. 2559 กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 8 "อากาศหนาวเย็นบริเวณประเทศไทยตอนบน ฝนตกหนักถึงหนักมากภาคใต้ตอนล่าง และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย" เมื่อเวลา 23.00 น. ของคืนวันที่ 30 ธ.ค. มีรายละเอียดดังนี้

แผนที่อากาศผิวพื้นวันที่ 30 ธันวาคม 2559 เวลา 19.00 น. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงยังคงแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ โดยมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเกาะบอร์เนียว ส่วนแนวปะทะอากาศบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย

ภาพจากดาวเทียม Himawari ของหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น แสดงลักษณะเมฆเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 เวลา 17.25 น. ตามเวลา UTC หรือ 00.25 น. เข้าสู่วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ตามเวลาประเทศไทย

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "อากาศหนาวเย็นบริเวณประเทศไทยตอนบน ฝนตกหนักถึงหนักมากภาคใต้ตอนล่าง และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย" ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2559
มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมประเทศไทย ภาคใต้และอ่าวไทย ประกอบกับในช่วงวันที่ 30 ธันวาคม 2559 - 3 มกราคม 2560 จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง คาดว่าจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคใต้ตอนล่างและประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งส่วนมากบริเวณจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ปริมาณฝนที่ตกสะสม น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากที่จะเกิดขึ้นได้ สำหรับภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักในบางพื้นที่ระหว่างวันที่ 1-3 มกราคม 2560 ส่วนมากบริเวณจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล และติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 4 มกราคม 2560 ไว้ด้วย
อนึ่ง ในช่วงวันที่ 1-3 มกราคม 2560 จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน และลำปาง
สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย และจะปกคลุมจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไป อุณหภูมิจะลดลงอีก 2-3 องศาเซลเซียส ในภาคเหนือ โดยบริเวณเทือกเขาในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 3-8 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงในระยะนี้
ประกาศ ณ วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เวลา 23.00 น.
กรมอตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เวลา 05.00 น.
(ลงชื่อ) วันชัย ศักดิ์อุดมไชย
(นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย)
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

Atukkit Sawangsuk

เมื่อสื่อทำเนียบไม่ยอมตั้งฉายารัฐบาล ก็ขอตั้งให้ซะเลย เริ่มต้นจากปี 2559 คือปีแห่งความจริงอัสดง

ฉายารัฐบาล "ลุงตู่แต่ผู้เดียว" (ทำงานคนเดียวก็พอ เพราะมี ม.44)

นักกีฬาแห่งปี "ลุงตู่" นี่แหละพาออกกำลังกายจนอนามัยโลกชม


บุคคลแห่งปี เพื่อให้เป็นสากล ยกให้ 3 คน "ลุงตู่ ดูเตอร์เต ทรัมป์" แต่เราแน่กว่าเพราะได้ลุงตู่โดยไม่ต้องเลือกตั้ง

วาทะแห่งปี “ใครๆ ก็ทำกัน”

คำต้องห้ามแห่งปี “จ้า”

เหตุการณ์แห่งปี "ข้าวนั้นคืนสนอง" เรียกค่าเสียหายยิ่งลักษณ์ปั๊บ ราคาข้าวตกปุ๊บ

การพัฒนาแห่งปี "ฝายแม่ผ่องพรรณพัฒนา"

ความสุขแห่งปี "อโลฮ่าฮาวาย"

หนุ่มเนื้อหอมแห่งปี "ผมโสด...จะยุ่งกับใครก็ได้"

แผ่นเสียงตกร่องแห่งปี "ต่างชาติเข้าใจ" ดอน ปรมัตถ์วินัย

พระเอกแห่งปี "วิษณุ เครืองาม" แก้ต่างให้ทุกเรื่อง

นางเอกแห่งปี "กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร" ทัวร์ศูนย์เหรียญทำหายไป 1.2 ล้านคน

ผู้ชนะแห่งปี "มีชัย ฤชุพันธ์" คู่กับ ผู้แพ้แห่งปี "ประชาธิปไตย เหตุผล สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม"

ผู้ร้ายแห่งปี "ไผ่ ดาวดิน" ข้ามปีด้วยซ้ำ

ความผิดแห่งปี "ขันแดงก็ผิด ยืนเฉยๆ ก็ผิด"

เครื่องดื่มแห่งปี "กาแฟกาโน"

กฎหมายแห่งปี "ศีลธรรมอันดีงาม"

ความยุติธรรมแห่งปี "ลูกขุนออนไลน์"

ดัชนีเศรษฐกิจแห่งปี "เงินประกันตัว" พุ่งสวนทุกดัชนี

บุคคลล้มละลายแห่งปี "สื่อมวลชน"

ตำแหน่งแห่งปี "(ค่า)ที่ปรึกษา"

คนอกหักแห่งปี "ทักษิณ & แดงมโน" (ไม่มีคำอธิบาย)

วีรบุรุษแห่งปี "ทักษิณแปลว่าภาคใต้"


Atukkit Sawangsuk

สมาคมนักข่าวฯ ชี้ สถานการณ์ปี 59 อึมครึม หวาดระแวง-“รัฐซึมลึก สื่อซึมเศร้า”
http://www.matichon.co.th/news/411734

สื่อกระแสหลักเองไม่ใช่หรือที่ทำให้เกิดการเมืองระบอบนี้ แล้วคิดว่าการเมืองระบอบนี้มันจะปล่อยให้สื่อมีเสรีภาพได้ไง

สื่อกระแสหลักเองไม่ใช่หรือ ที่ให้ท้ายม็อบปิดเมือง ขัดขวางเลือกตั้ง กระทั่งเชียร์รัฐประหาร

สื่อกระแสหลักเองไม่ใช่หรือ ที่เชียร์ร่างรัฐธรรมนูญ ตีปี๊บตาม กรธ.ว่ามีร่างรัฐธรรมนูญปลอม บิดเบือน

คนจากวงการสื่อไม่ใช่หรือที่แห่เข้าไปรับใช้รัฐประหาร สมชาย แสวงการ, คำนูณ สิทธิสมาน, ภัทระ คำพิทักษ์ โดยเฉพาะประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ เข้าไปเป็น สปช.ด้วยตำแหน่งนายกสมาคมนักข่าว

ในภาพรวม 2 ปีกว่า สื่อไม่เคยตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของคนเห็นต่าง แต่พอตัวเองจะโดนลิดรอนเสรีภาพบ้างกลับโวย

ที่พูดนี่เข้าใจนะ สมาคมนักข่าวชุดปัจจุบัน ถอยห่างออกมาจากกลุ่มเดิมๆ ระดับหนึ่ง ปี 58-59 จึงออกคำแถลงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งต้องชื่นชม แต่ถ้าจะให้หลุดพ้นจริงๆ ต้องชัดเจนกว่านี้

องค์กรสื่อโวยวาย ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ว่าจะตั้งปลัดกระทรวง 4 คน คนของรัฐอีก 4 คนมาเป็นกรรมการ เป็นฝ่ายรัฐ 8 ใน 13 คนมาคุมสื่อ

แต่ร่างขององค์กรสื่อเอง ก็ห่วยแตกเหมือนกันละครับ คือจะเอาอำนาจคุมสื่อไปไว้กับพวกตัวเอง แม้เขียนให้สวยว่ากรรมการมาจากสื่อหมด แต่ไปเอาประธานที่ประชุมอธิการบดี ประธานสภาพัฒนาการเมือง ประธาน กป.อพช.(บรรจง นะแส) นายกสภาทนายความ มาเป็นกรรมการสรรหา

แหงน่อ นึกภาพออกเลย ก็พวกเทพชัย หย่อง, ภัทระ คำพิทักษ์, ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์, ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ฯลฯ นั่นแหละ อยากมานั่งกรรมการคุมสื่อเอง ตัวเองอยากมีอำนาจคุมคนอื่น แต่พอรัฐเผด็จการมาแย่งอำนาจไปเลยโวย


ชาวสโลเวเนียกำลังตื่นเต้นและภูมิใจที่จะได้เห็น ‘เมลาเนีย ทรัมป์’ สตรีเชื้อสายสโลเวเนียก้าวขึ้นรับตำแหน่งสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ ในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ โดยเฉพาะชาวเมืองเซฟนิชาบ้านเกิดของเธอ ที่ใช้โอกาสนี้เฉลิมฉลองด้วยการสร้างสรรค์เมนูพิเศษ คือ ขนมเค้กเมลาเนีย และ ชีสเบอร์เกอร์-โดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อเป็นเกียรติแด่ทั้งสอง
เมืองเล็กๆ อายุเก่าแก่ที่ชื่อ เซฟนิชา (Sevnica) ทางตอนกลางของประเทศสโลเวเนีย อาจไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก นอกจากจะมีบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ว่าเคยเป็นสมรภูมิรบที่หนักหน่วงแห่งหนึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะกลายมาเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่สำคัญของสโลเวเนีย ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น
แต่ต่อจากนี้ไป เมืองเล็กๆ ที่ปัจจุบันมีประชากรเพียง 5 พันคนแห่งนี้ กำลังจะเป็นที่รู้จักคุ้นหูมากขึ้น เพราะที่นี่คือบ้านเกิดของ ว่าที่สุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ คนต่อไป
เมลาเนีย ทรัมป์ หรือ อดีตคือ เมลาเนีย คานาส (Melania Knaus) ใช้ชีวิตในวัยเด็กและเติบโตในอพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่งที่ เซฟนิชา ก่อนจะย้ายไปใช้ชีวิตในกรุง Ljubljana เมืองหลวงของสโลเวเนีย และก้าวเข้าสู่วงการเดินแบบ ซึ่งนำพาเธอเดินทางไกลไปยังนครแห่งแฟชั่นทั้ง มิลาน ปารีส และนิวยอร์ก เมื่อหลายทศวรรษก่อน
ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เธอกำลังจะเข้าร่วมพิธีสาบานตนในพิธีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ สามีของเธอ
Nusa Vidmar เจ้าของร้านเค้กในเมืองเซฟนิชา บอกว่า ทุกคนต่างภูมิใจในความสำเร็จของเมลาเนีย ในฐานะที่เธอเคยเป็นส่วนหนึ่งของชาวเมืองเซฟนิชา ขณะเดียวกันเธอยังได้ทำเค้กแบบพิเศษเพื่อเป็นเกียรติแด่เมลาเนีย โดยเฉพาะ
เจ้าของร้านเค้ก บอกว่า ความพิเศษชนิดก็คือการใช้ส่วนผสมที่ดีที่สุด เพราะสิ่งที่ดีที่สุดเท่านั้นที่จะเหมาะสมสำหรับเมลาเนีย โดยเฉพาะการเลือกใช้ช็อคโกแลตขาวเป็นวัตถุดิบหลัก ก็เพื่อจะให้หน้าตาของเค้กเป็นสีขาวเหมือนชุดที่เธอชอบสวมใส่
FILE - Photos of 17-year-old Melanija Knavs, taken by photographer Stane Jerko in Ljubljana, Slovenia, in 1987, launched the modeling career of the woman who later would become Melania (Knauss) Trump.
กระแสความตื่นเต้นของของชาวเซฟนิชายังไม่หมดเพียงเท่านี้ Denis Suhopoljac พ่อครัวในร้านอาหารท้องถิ่น ได้คิดค้นเมนูพิเศษเพื่อเป็นเกียรติให้กับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ นั่นก็คือแฮมเบอร์เกอร์ประธานาธิบดี หรือ Presidential Burger
เขาบอกว่าจุดเด่นของเมนูนี้ก็คือการใช้ 'ชีสสโลเวียเนียสีเหลือง' ทอดให้กรอบเพื่อใช้คลุมด้านบนของขนมปังเบอร์เกอร์ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากทรงผมของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ที่โดดเด่น
และที่ขาดไม่ได้คือ 'ซ้อสบาร์บีคิวซัลซาของเม็กซิโก' ที่ตั้งใจนำมาเป็นส่วนผสม เพราะนอกจากจะช่วยให้รสชาติกลมกล่อมแล้ว ยังแฝงความหมายทางการเมืองเล็กน้อย พ่อครัวคนนี้ต้องการบอกถึงเหตุผลที่ต้องใส่ซ้อสเม็กซิกันลงไปว่า "โอกาสคือสิ่งที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่ามาจากไหน"
นอกจากอาหารแล้ว เจ้าของโรงผลิตไวน์ที่เซฟนิชา ยังเตรียมไวน์ชั้นดีที่ชื่อ 'สุภาพสตรีหมายเลข 1 หรือ First Lady' ด้วยความหวังว่า อดีตสาวน้อยแห่งเซฟนิชาผู้เติบใหญ่ จะกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดของเธออีกครั้ง หลังจากตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เธอไม่เคยกลับมาเลย
Zdravko Mastnak ผู้ผลิตไวน์และเพื่อนที่รู้จักครอบครัวของคุณเมลาเนีย บอกว่า ในฐานะชาวสโลเวเนียแล้ว วันที่รอคอยมากที่สุดก็คือการได้มีโอกาสกอดต้อนรับการกลับบ้านเกิดของเมลาเนีย ลูกหลานแห่งเซฟนิชา ในฐานะสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง

source :- http://www.voathai.com/a/melania-mania-pt/3655174.html?ltflags=mailer

FILE - President Barack Obama talks about hacking during the U.S. presidential election as he holds his final news conference of the year at the White House in Washington, Dec. 16, 2016.
ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ประกาศใช้มาตรการลงโทษชุดใหม่ต่อรัสเซียในวันนี้ สืบเนื่องจากข้อกล่าวหาว่า แฮกเกอร์รัสเซียแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบาม่า กล่าวในวันนี้ว่า “การใช้มาตรการลงโทษชุดใหม่ต่อรัสเซียเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นการตอบสนองที่เหมาะสมต่อการที่รัสเซียคุกคามผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และละเมิดบรรทัดฐานระหว่างประเทศ”
รัฐบาลประธานาธิบดีโอบาม่าต้องการให้มาตรการลงโทษชุดใหม่นี้ มีผลบังคับใช้ก่อนที่ประธานาธิบดีโอบาม่าจะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม
มาตรการลงโทษดังกล่าว รวมถึงคำสั่งประธานาธิบดีที่ให้เจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรองของรัสเซีย 35 คน เดินทางออกจากสหรัฐฯ ภายใน 72 ชม. และยังกำหนดบทลงโทษต่อสำนักงานด้านข่าวกรองชั้นนำอีก 2 แห่งของรัสเซีย
ทางกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ออกมาประณามมาตรการลงโทษชุดใหม่ของสหรัฐฯ โดยมีแถลงการณ์ว่า “รัสเซียเหนื่อยหน่ายต่อคำหลอกลวงเกี่ยวกับแฮกเกอร์รัสเซีย ที่ออกมาจากปากของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ”
และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย มาเรีย ซาคาโรว่า ยังระบุด้วยว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มการกล่าวหารัสเซียในเรื่องนี้ตั้งแต่ครึ่งปีก่อน เพื่อสร้างคะแนนเสียงให้กับตัวแทนของพรรคเดโมแครตในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ก็มิได้ประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ มาถึงขณะนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังแก้ต่างให้กับความล้มเหลวของตัวเอง ซึ่งนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย”
ขณะเดียวกัน นายฌอน สเปนเซอร์ โฆษกประจำตัวของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ขอให้มีการแสดงหลักฐานว่าแฮกเกอร์รัสเซียได้แทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จริง
นายสเปนเซอร์กล่าวว่า “น่าเสียดายพรรคเดโมแครตและฝ่ายเสรีนิยมยังคงพยายามบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือและความถูกต้องในชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมป์ และหากรัฐบาลมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่ามีการแทรกแซงการเลือกตั้งจริง ก็ต้องนำออกมาแสดงทันที”
ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า หากมาตรการลงโทษต่อรัสเซียชุดใหม่มีผลบังคับใช้ภายใต้รัฐบาลโอบาม่า รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดต่อไปของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะยังคงใช้มาตรการเดียวกันนี้หรือไม่
ก่อนหน้านี้ วุฒิสมาชิก ลินซี่ย์ แกรมม์ จากพรรครีพับลิกัน ยืนยันว่ารัสเซียได้แทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จริง และว่าวุฒิสภาสหรัฐฯ ชุดใหม่จะนำเรื่องรี้ขึ้นพิจารณาอีกครั้ง และเชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภาอเมริกันจะมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลงโทษอย่างหนักรัสเซีย โดยเฉพาะการใช้มาตรการลงโทษที่ตัวประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน โดยตรง
วุฒิสมาชิก ลินซี่ย์ แกรมม์ ยังกล่าวด้วยว่า “รัสเซียควรต้องรู้ว่าความอดทนของสหรัฐฯ ได้หมดลงแล้ว”
pictures of US president-elect Donald Trump and Russian President Vladimir Putin in Danilovgrad,
เมื่อวานนี้ หนังสือพิมพ์ Washington Post รายงานว่า ทำเนียบขาวได้หารือกันเกี่ยวกับการใช้คำสั่งประธานาธิบดีที่ลงนามโดยประธานาธิบดีโอบาม่าเมื่อปีที่แล้ว ในการลงโทษรัสเซีย
คำสั่งดังกล่าวอนุญาตให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อแฮกเกอร์ที่อยู่ในต่างประเทศที่ซึ่งกฎหมายของสหรัฐฯ ไม่สามารถเอื้อมไปถึง ซึ่งเป็นผู้คุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ โครงสร้างสาธาณูปโภค หรือเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยรวม
โดยมาตรการลงโทษนั้นรวมถึงการอายัดทรัพย์สินที่บุคคลหรือองค์กรนั้นๆ มีอยู่ธนาคารหรือสถาบันการเงินของสหรัฐฯ รวมทั้งการสั่งห้ามคนอเมริกันทุกคนทำธุรกรรมกับบุคคลหรือองค์กรนั้นๆ ด้วย
นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังสั่งห้ามออกวีซ่าเข้าสหรัฐฯ ให้กับบุคคลหรือองค์กรที่ถูกใช้มาตรการลงโทษนั้นด้วย
(ผู้สื่อข่าว Smita Nordwell รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)
source : - http://www.voathai.com/a/us-russia-sanction/3656172.html?ltflags=mailer

พ่อไผ่ ดาวดิน-ทนายโวยศาลขอนแก่น สั่งฝากขังผัด 3 มิชอบด้วยกฎหมาย เล็งร้องคณะกรรมการตุลาการ

Posted: 28 Dec 2016 06:43 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ทนายร้องเพิกถอนกระบวนการพิจารณาคำร้องฝากขัง ไผ่ จตุภัทร์ เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เหตุจากศาลไม่ได้อ่านคำร้องให้ผู้ต้องขังฟังและผู้ต้องขังไม่ได้ลงรายมือชื่อในเอกสาร แต่ศาลกลับระบุว่าผู้ต้องขังไม่ค้านการฝากขัง บิดาเตรียมร้องคณะกรรมการตุลาการชี้เป็นปัญหาที่มีผลต่อสาธารณะ


28 ธ.ค.2559 ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น นายอธิพงษ์ ภูผิว ทนายความของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ ความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีการแชร์รายงานจากเพจบีบีซีไทย พร้อมกับนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา และนางพริ้ม บุญภัทรรักษา บิดาและมารดาของไผ่ได้เดินทางมายื่นคำร้อง คำแถลง คำขอเพื่อขอเพิกถอนกระบวนการพิจารณาคำร้องขอฝากขังที่ผิดระเบียบและขอให้ศาลเบิกตัวผู้ต้องหามาสอบถาม

ก่อนหน้านี้ทีมทนายความและครอบครัวเตรียมยื่นขอประกันตัวอีกครั้งแต่ยังไม่แน่ใจในกระบวนการ จึงมีการดำเนินการยื่นคำร้องดังกล่าวเพื่อคัดค้านการดำเนินการของศาลจังหวัดขอนแก่น

เวลา 18.00 น. อธิพงษ์ ภูผิว ทนายความแถลงว่า จากเดิมครอบครัวและทีมทนายความได้เตรียมการที่จะยื่นคัดค้านการฝากขัง ขอประกันตัวและยื่นฎีกาคำสั่งถอนประกันตัวผู้ต้องหาที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ตนจึงได้มาตรวจสอบเอกสารคำสั่งศาล แต่กลับพบว่าได้มีการสั่งคุมขังผู้ต้องหาเพิ่มเติมหรือการให้ฝากขังเป็นผัดที่ 3 อีก 12 วันเป็นที่เรียบร้อย โดยในเอกสารระบุว่าผู้ต้องหาไม่ค้านการฝากขัง คำร้องฝากขังดังกล่าวลงชื่อเจ้าพนักงานสอบสวนได้ยื่นต่อศาลในวันที่ 26 ธ.ค. 2559 และศาลมีคำสั่งให้มีผลตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ต่อมาวันที่ 28 ธ.ค.บิดาของไผ่ได้เดินทางเข้าเยี่ยมบุตรชายที่เรือนจำและสอบถามเรื่องดังกล่าวกับบุตรชาย ไผ่ยืนยันกับบิดาว่า ในวันที่ 27 ธ.ค.เป็นการอ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ยืนตามศาลชั้นต้นให้ฝากขังผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยศาลไม่ได้อ่านคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังตนในผัดที่ 3 รวมทั้งไม่ได้สอบถามว่ามีความต้องการจะค้านการฝากขังด้วยหรือไม่ และขอยืนยันว่าตนไม่ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารคำสั่งศาลที่ให้ฝากขังผัด 3


ทนายกล่าวต่อว่า หลังจากปรึกษากันภายในทีมทนายความและครอบครัว เวลาประมาณ 15.30 น.ตนจึงยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว เนื่องจากศาลไม่ได้มีการอ่านคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผัดที่ 3 ให้ผู้ต้องหาได้รับทราบถึงการฝากขัง ผู้ต้องขังไม่ได้ลงรายมือชื่อรับทราบและไม่ได้ใช้สิทธิในการคัดค้านการฝากขัง ตามที่ระบุอยู่ในเอกสารคำสั่งอนุญาตในเอกสารคำร้องขอฝากขังแต่อย่างใด

ต่อมาเวลาประมาณ 17.40 น. ศาลได้ให้เจ้าหน้าที่นำเอกสารกระบวนพิจารณาคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบมาให้ทนายความได้อ่านโดยในเอกสารได้ระบุว่า
"พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 3 ของพนักงานสอบสวน เป็นการยื่นคำร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นการยื่นคำร้องขอฝากขังที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพียงแต่ศาลไม่ได้สอบถามผู้ต้องหาเสียก่อนว่าจะคัดค้านคำร้องฝากขังนั้นหรือไม่เท่านั้น หาทำให้การสั่งอนุญาตให้ฝากขังดังกล่าวเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดกฎหมายไม่ ให้ยกคำร้อง ดังนั้น จึงให้เบิกตัวผู้ต้องหามาสอบถามในลักษณะการประชุมผ่านจอภาพในวันนี้ เวลา 16.30 น."

จากนั้นจ้าหน้าที่จึงได้ให้ทนายความอ่านและคัดลอกรายงานกระบวนพิจารณาคำร้องขอฝากขังผัดที่ 3 ลงวันที่ 28 ธ.ค. 2559 เวลา 16.30 น. ในเอกสารดังกล่าวระบุว่า ได้เบิกตัวผู้ต้องหามาสอบถามด้วยระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์และผู้ต้องหาได้แถลงคัดค้านการขอฝากขัง โดยศาลได้พิจารณามีคำสั่งให้คุมขังผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนต่อไป
ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีนี้เวลา 16.30 น. เบิกตัวผู้ต้องหามาสอบถามในลักษณะการประชุมทางจอภาพ โดยมีผู้ต้องหาและนายธนกฤต สีลาดหา สักขีพยานอยู่พร้อมกันตามที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอหมายขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน ลงวันที่ 26 ธ.ค.59 สำเนาให้ผู้ต้องหารับไปแล้ว
สอบผู้ต้องหาแถลงคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจขอฝากขังระหว่างสอบสวน เพราะไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องคุมขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวน เพราะพยานบุคคลที่ผู้ร้องอ้างว่าต้องสอบเพิ่มเติมนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา และที่ผู้ร้องอ้างว่าต้องรอผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษจากกองทะเบียนประวัติอาชญากรนั้น ผู้ร้องสามารถตรวจสอบได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องคุมขังผู้ต้องหาไว้ ประกอบกับผู้ต้องหาต้องการที่จะไปสอบวิชาคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในวันที่ 17 และ 18 มกราคม 2559 ผู้ต้องหาต้องการออกไปอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบวิชาดังกล่าว ขอให้ศาลยกคำร้องขอฝากขังของผู้ร้อง
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำคัดค้านของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น เมื่อผู้ร้องมีเหตุจำเป็นที่ต้องสอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีก 4 ปาก และรอผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร ประกอบกับคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงและมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลที่มีการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีจึงมีเหตุจำเป็นที่จะควบคุมผู้ต้องหาต่อไป ในชั้นนี้จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาเป็นเวลา 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.59 - 8 ม.ค.60

ทนายความจำเลยให้ความเห็นในกรณีนี้ว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการพิจารณาลับหลังจำเลย ลับหลังผู้ต้องหา ผิด ป.วิอาญาชัดเจน ทางทีมทนายประชุมกันแล้วว่ารับไม่ได้กับกระบวนการนี้ จึงได้ทำเรื่องขอให้เพิกถอนกระบวนการฯ เพื่อให้มาไต่สวนในห้องพิจารณาที่มีสักขีพยาน แต่ท่านกลับคอนเฟอเรนซ์ไปที่เรือนจำที่มีเพียงเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ลงชื่อเป็นสักขีพยาน"

พ่อของจตุภัทร์กล่าวว่า ผมเป็นคนถามกับไผ่เองเขาบอกว่าในวันนั้นเป็นการอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์เพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีการอ่านเรื่องการฝากขัง ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าไผ่ไม่ค้านการฝากขัง ศาลไม่ได้กระทำการตามกฎหมายที่จะต้องอ่านให้เขาและถามว่าเขาจะค้านไหม แต่นี่ไม่ใช่ แล้วข้อเท็จจริงมันไม่ใช่่ แล้วคราวนี้กระบวนการพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบศาลรู้แล้วแทนที่จะรีบจัดการแก้ไขให้ถูกระเบียบ ไม่ใช่การย้อนกลับไปคอนเฟอเรนซ์ให้ไผ่แถลงโดยที่ทนายความก็ไม่ได้รับรู้กระบวนการนั้นๆ ด้วย กลายเป็นการย้อนกระบวนการไปทำให้มันชอบ แต่อย่างไรมันก็ไม่ชอบแล้ว

บิดาของไผ่ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้พิพากษาที่ดำเนินการตามคำร้องขอเพิกถอนกระบวนการในวันนี้ก็ไม่ใช่ผู้พิพากษาที่เป็นเวรในวันนี้ แต่เป็นผู้พิพากษาคนเดิม (ที่เป็นคนลงรายมือชื่อในเอกสารคำร้องว่าจตุภัทร์ไม่ได้คัดค้านการขอฝากขัง) ดำเนินการต่อให้กระบวนการดูเหมือนชอบ

"เราต้องการกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้" วิบูลย์ บิดาของไผ่กล่าว

"ผมไม่รู้ว่าคนที่อยู่ข้างในเรือนจำจะรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เราอ้างกันว่าการเคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจากสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ คิดว่านักวิชาการนักกฎหมายจะต้องมาทบทวนและหาทางอย่าให้มันเกิดขึ้นอีก เพราะว่ามันไม่เป็นผลดีกับสังคม ถ้าสถานการณ์นี้ไม่ได้คลี่คลายด้วยดี อาจมีความจำเป็นต้องร้องเรียนต่อคณะกรรมการตุลาการ ผมไม่ได้ต้องการเอาชนะแต่คุณต้องตอบสังคมให้ได้ พยานหลักฐานก็มี ดังนั้นถ้าเราปล่อยเอาไว้ มันก็อาจเกิดขึ้นได้กับประชาชนคนไหน แล้วชาวบ้านเองก็ไม่ได้รู้สิทธิอันนั้นเลย อาจมีการบีบบังคับว่าไม่ต้องค้านนะ ลองคิดลึกๆ ว่านี่ขนาดลูกเรา เขาเป็นนักกฎหมายและคดีของเขาก็มีคนมองอยู่ เขายังทำอย่างนี้ได้" วิบูลย์กล่าว

วิบูลย์กล่าวสรุปว่า นอกจากจะมีการเตรียมการที่จะร้องต่อคณะกรรมการตุลาการเรื่องกระบวนพิจารณาอันมิชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทางครอบครัวก็จะร้องขอให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว(ประกันตัว) ฎีกาคำสั่งถอนประกันตัวผู้ต้องหาและอุทธรณ์คำสั่งคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการอันไม่ชอบกรณีการฝากขังคดีของ ไผ่ จตุภัทร์ ในวันรุ่งขึ้น (29 ธันวาคม 2559)

ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตว่า ตามมาตรา 87 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญากำหนดให้ศาลพิจารณาฝากขังทุก 12 วันเพื่อให้ศาลได้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเพื่อไม่ให้ควบคุมบุคคลไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกควบคุมตัวคัดค้านเหตุของพนักงานสอบสวนได้ การดำเนินกระบวนการฝากขังโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาคัดค้านจึงเป็นกระบวนการที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มีการสอบถามผู้ต้องหาแต่คำสั่งอนุญาตคำร้องฝากขังลงวันที่ 27 ธ.ค.59 กลับระบุว่ามีการสอบถามผู้ต้องหาแล้วและผู้ต้องหาไม่คัดค้าน คำสั่งอนุญาตดังกล่าวจึงพิจารณาบนฐานข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงและก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ต้องหา แม้จะมีการไต่สวนเพื่อสอบถามผู้ต้องหาอีกครั้งในวันที่ 28 ธ.ค.59 ก็ไม่ทำให้สิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วชอบกฎหมายขึ้นมาในภายหลังได้

สนช.ผ่าน 3 วาระรวด ถวายคืนพระราชอำนาจกษัตริย์สถาปนาสังฆราช - ตัดมหาเถรสมาคมชงชื่อ
Posted: 28 Dec 2016 11:38 PM PST
สนช. พิจารณา 3 วาระ ก่อนมีมติเอกฉันท์เห็นชอบการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ถวายคืนพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ  ตัดมหาเถรสมาคมชงชื่อ


29 ธ.ค. 2559 จากกรณี เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ที่ผ่านมา เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการวิสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิปสนช.) แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาวาระการเข้าชื่อของสมาชิกสนช. จำนวน 84 คน เพี่อเสนอแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับปี พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ในมาตรา 7 เรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งคณะกรรมาธิการศาสนา และศิลปวัฒนธรรม นำโดย พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นผู้รับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและได้พิจารณาเสร็จแล้ว คือ “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” โดยให้กลับไปใช้ตามข้อความตามลักษณะเดิมตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ปี พ.ศ.2505 โดยยกเลิกข้อความในมาตรา 7 ของพ.ร.บ.สงฆ์ ปี พ.ศ.2505 แก้ไข เพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ที่ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถานปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในกรณีที่สมเด็จพระราชคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปกิบัติหน้าที่ได้ ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช” นั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ล่าสุดวันนี้ (29 ธ.ค. 59) เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า  สนช.พิจารณา 3 วาระ ก่อนมีมติเอกฉันท์เห็นชอบการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ถวายคืนพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ       
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)  ที่มี พรเพชร ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาแบบสามวาระรวด ก่อนมีมติในวาระ 3 เห็นชอบ 182 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง  จากผู้เข้าร่วมประชุม 188 คน ให้มีการประกาศใช้ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขจากกฎหมายฉบับเดิมคือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ในมาตรา 7 ที่กำหนดให้การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช จะต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมก่อน โดยให้ที่ประชุมมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์และนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่ร่างที่ สนช.เสนอแก้ไขนี้ เสนอมาตรา 3 ให้เป็นการแก้ไขมาตรา 7 ดังกล่าว บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
 
สำหรับการแก้ไขร่างกฎหมายคณะสงฆ์นี้เกิดขึ้นจากกรณีที่ พล.ต.อ.พิชิต ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว กับคณะสมาชิก สนช. รวม 81 คน เป็นผู้เข้าชื่อเสนอขอแก้ไข โดยระบุเหตุผลว่า ตามโบราณราชประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานั้นเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และได้มีการบัญญัติใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พระพุทธศักราช 2484 เป็นต้นมา จึงควรคงไว้ซึ่งการสืบทอดและรักษาโบราญราชประเพณีดังกล่าวไว้
 
ขณะที่ ออมสิน ชีวพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ตัวแทนรัฐบาล กล่าวต่อที่ประชุมสภาฯ ว่ารัฐบาลไม่ขัดข้องในการที่สภาจะดำเนินการพิจารณาต่อไป  ทำให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาต่อในวาระรับหลักการและต่างแสดงความเห็นด้วยให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ อาทิ สมพร เทพสิทธา ที่ระบุ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พระพุทธศักราช 2484 และ พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 บัญญัติไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสังฆราช และมีการใช้ติดต่อมาถึง 51 ปี ถือเป็นราชประเพณี แต่ต่อมามีการแก้ไขในปี พ.ศ. 2535 เพิ่มเงื่อนไขให้การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ดังนั้น เมื่อกฎหมายมีปัญหาจึงต้องแก้ไขที่กฎหมาย เช่นเดียวกับ สมชาย แสวงการ ที่เห็นว่าการยึดความอาวุโสเพียงอย่างเดียวในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช อาจทำให้เกิดปัญหา ซึ่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ถูกแก้ไขเมื่อปี พ.ศ. 2535 ขณะที่ สมเด็จพระสังฆราชองค์ล่าสุด ได้รับการสถาปนาเมื่อปี พ.ศ. 2532 กฎหมายฉบับดังกล่าว จึงไม่เคยถูกใช้มาก่อน จึงไม่เคยเกิดปัญหา รวมถึง ตวง อัณฑะไชย เจริญศักดิ์ สาระกิจ มณเฑียร บุญตัน และ เจตน์ ศิรธรานนท์ ที่เห็นควรให้มีการแก้ไขเพราะมองว่าจะทำให้กฎหมายกลับไปสู่ฉบับเดิมที่ไม่เคยมีปัญหา เป็นการการถวายคืนพระราชอำนาจในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และการแก้ไขครั้งนี้ไม่ได้ยุ่งยาก และไม่กระทบหรือเกี่ยวพันกับมาตราอื่น ที่ประชุมจึงเห็นควรรับหลักการให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ด้วยเสียง 184 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย ก่อนเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 ด้วยกรรมาธิการเต็มสภาแบบเรียงลำดับรายมาตราจนครบทั้งร่าง และพิจารณาทั้งร่าง ท้ายที่สุดมีจึงมติเห็นชอบในวาระ 3 นำไปสู่การประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

รายงานเสวนา: 19 ปี ปฏิรูปสื่อไป(ไม่)ถึงไหน

Posted: 29 Dec 2016 12:03 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)


27 ธ.ค. 2559 ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และโครงการสื่อสันติภาพ และสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาสาธารณะเรื่อง "19 ปีปฏิ-Loop สื่อวิทยุ-โทรทัศน์ไทย...ไปต่ออย่างไร"

สุภาพร โพธิ์แก้ว หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นการปฏิรูปสื่อถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ปีนี้เข้าปีที่ 19 แล้ว เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่า เราจะก้าวไปอย่างไรต่อ ทั้งนี้ นับแต่ปี 2540 มีเหตุการณ์ฝุ่นตลบทางการเมืองและวิบากกรรมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง เส้นทางปฏิรปสื่อเป็นหนึ่งในความหวังและการมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย อย่างไรก็ตาม เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 76/2559 ข้อ 1-6 พูดเรื่องการเยียวยากิจการทีวีดิจิตอล ส่วนข้อ 7-9 เป็นเรื่องการขยายการไม่เรียกคืนคลื่นวิทยุต่อไปอีก 5 ปี เวทีวันนี้จะหาคำถามว่า เมื่อมีแผนเช่นนี้ การปฏิรูปสื่อจะเป็นอย่างไรต่อไป

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย
- เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ เลขาธิการมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา และอดีตอนุกรรมการด้านพิจารณาความจำเป็นในการใช้คลื่นในกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์
- จักร์กฤษ เพิ่มพูล อนุกรรมาธิการด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ในกรรมาธิการด้านสื่อสารมวลชน สปท.
- วิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ
- สุเทพ วิไลเลิศ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
- พิรงรอง รามสูตร รองอธิการบดีจุฬาฯ และอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

000000

พิรงรอง รามสูตร


การปฏิรูปสื่อมีมามากกว่า 19 ปี จุดเริ่มต้นจริงๆ คือ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เท่ากับนับเป็น 25 ปีหรือหนึ่งไตรมาสของหนึ่งศตวรรษแล้ว

การปฏิรูปหรือ reform คือการทำให้เกิดรูปแบบใหม่ แสดงว่า การปฏิรูปต้องเกิดรูปแบบใหม่ ถ้าไม่เกิดรูปแบบเท่ากับไม่มีการปฏิรูป มูลเหตุของการปฏิรูปเกิดเมื่อ 25 ปีก่อนคือ มีการปิดกั้นสื่อ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เพราะโครงสร้างสื่ออยู่ในมือของรัฐ ส่วนหนังสือพิมพ์ ที่พยายามใช้เสรีภาพในการนำเสนอ ก็มี 3 ฉบับถูกปิด คือเนชั่น ผู้จัดการ และแนวหน้า

ดังนั้น "รูป" ที่ต้องการเปลี่ยน คือ โครงสร้างความเป็นเจ้าของ โครงสร้างในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ทรัพยากรการสื่อสาร

ที่มาที่ไปของการปฏิรูปสื่อ
ที่มาที่ไปของการปฏิรูปสื่อสอดคล้องไปกับการปฏิรูปการเมือง รัฐธรรมนูญ 40 ที่คนมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปสื่อนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการเมืองด้วย

ผลจากรัฐธรรมนูญ 2540 ก่อให้เกิดองค์การอิสระมากมาย ไม่ว่า สตง. ป.ป.ง. ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่นอกเหนือโครงสร้างอำนาจรัฐ มีขึ้นเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนองค์กรอิสระด้านการสื่อสาร ก็มี กสทช. ตามที่ระบุในมาตรา 40 ซึ่งมีขึ้นเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ โดยให้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม

ดังนั้น ถ้าประชาชนเข้าไม่ถึงทรัพยากรคลื่นความถี่หรือการสื่อสารที่เท่าเทียม ก็ไม่อาจใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับปรากฏการณ์ความเหลื่อมล้ำ ดูได้จากการที่คลื่นความถี่วิทยุ คลื่นหลัก 500 กว่าคลื่นเป็นของรัฐทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่กับ อสมท. และ กองทัพ ส่วนทีวี ก็เป็นของรัฐทั้งหมด โดยเป็นของ อสมท. กองทัพบก สำนักนายกฯ ประชาชนเข้าไม่ถึงสื่อเหล่านี้ คนที่จะเข้าถึงคลื่นคือรัฐ และสัมปทานอภิสิทธิ์ ซึ่งไม่มีความโปร่งใสในการเข้าถึง เห็นได้จากสัมปทานระยะยาวของไทยทีวีสีช่อง 3 ที่ได้ตั้งแต่ 2506-2563 เท่ากับช่วงชีวิตนี้เราจะเห็นแต่บริษัทนี้ครอบครองคลื่นนี้

กฎหมายและแนวทางควบคุม
ในช่วงวิกฤตไม่ว่าสื่อของรัฐหรือสื่อที่ได้สัมปทานจากรัฐ ก็ล้วนถูกรัฐเข้ามาควบคุม

เงื่อนไขการปฏิรูปสื่อ ประกอบด้วย
- การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ทรัพยากรที่เคยขาดแคลน มีมากขึ้นและนำมาจัดสรรกันได้มากขึ้น
- การขาดความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมของสื่อ สื่อถูกเหมารวมว่าเป็นแบบนี้ ทั้งที่สื่อมีความหลากหลายสูงมาก
- วิกฤตการณ์ สิ่งที่เคยวางแผนไว้ พอเจอมาตรา 44 ก็จบ

สำหรับกระแสปฏิรูปสื่อในต่างประเทศนั้น ครอบคลุมตั้งแต่การปฏิรูปนโยบายหรือโครงสร้าง ปฏิรูปเนื้อหา การสร้างวิถีปฏิบัติที่ดี การทำให้เกิดสื่อที่เป็นอิสระ เช่น วิทยุชุมชน และการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ดู ผู้ชม ผู้ฟัง เพื่อภูมิทัศน์การบริโภคสื่อที่ดี

ถามว่าปฏิรูปสื่อกันไปทำไม โจทย์คือ ทำอย่างไรให้สื่อทุกประเภททำเพื่อสาธารณะ Damian Tambini อาจารย์ด้านสื่อมวลชนศึกษา วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) เคยกล่าวไว้ว่า สื่อไม่ว่าอยู่ในระบอบใดก็ต้องรับใช้ประชาชน เพราะการมีสื่อในมือเป็นอำนาจสำคัญ

ระลอกคลื่นแห่งการปฏิรูปสื่อไทย

1. หลัง พ.ค.2535 เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 มีมาตรา 40 วางพื้นฐานการปฏิรูปสื่อ ทั้งเชิงโครงสร้างและสารัตถะ

2. จากเหตุการณ์ปี 2553 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ขณะนั้นประกาศแผนปรองดองแห่งชาติ โดยบรรจุแผนปฏิรูปสื่อไว้ด้วย มีการดำเนินการศึกษาในบางแง่มุม แต่ไม่มีการดำเนินการ ไม่มีผลที่จับต้องได้

3. หลังรัฐประหาร 2557 การปฏิรูปสื่อถูกรวมไว้ใน 11 วาระของปฏิรูปของ คสช. ซึ่งย้อนแย้ง เพราะการใช้อำนาจของรัฐไม่เอื้อต่อการปฏิรูป แม้มีการตั้งกลไกและโครงสร้างต่างๆ เพื่อการปฏิรูปสื่อ

พิเคราะห์ปฏิรูปสื่อ
ดูรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ พบว่าจากรัฐธรรมนูญ 2540, 2550 มาจนถึงร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ทิศทางโดยรวมเปลี่ยนจากเดิมที่เน้นการกระจายอำนาจสู่ประชาธิปไตยทางการสื่อสาร ไปเป็นการหวนคืนสู่การควบคุมโดยรัฐ

เช่น จากเดิมที่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 การันตีเสรีภาพสื่อของรัฐให้พึงได้เท่าเอกชน ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นสื่อมีเสรีภาพในการแสดงออก แต่ต้องสอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงานที่สังกัด

หรือด้านเสรีภาพในการสื่อสาร ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ระบุว่า การดักฟังทำไม่ได้ จะทำได้ต้องมีกฎหมายเฉพาะ แต่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ระบุว่า ทำไม่ได้ เว้นแต่มีคำสั่ง หมายศาล หรือเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการปูทางให้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือไม่

นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ยังกำหนดให้บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพ ตราบเท่าที่ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ตรงนี้มีการวิจารณ์ว่าอาจเกิดการตีความที่กระทบการใช้สิทธิเสรีภาพทั้งหมดได้

มีการย้ายคลื่นความถี่จากหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ไปอยู่หมวดหน้าที่ของรัฐ แปลว่า เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะจัดให้

เรื่องสิทธิในคลื่นความถี่ จากเดิม รัฐธรรมนูญ 2540 บอกให้มีองค์กรอิสระในการจัดสรรคลื่น ซึ่งมีศักดิ์เท่า สตง. ป.ป.ง. แต่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 บอกว่า ให้มี "องค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่" ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่เคยมีมาก่อน

สุเทพ วิไลเลิศ


เวลาเราพูดถึงการปฏิรูปสื่อ มันไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ เรากำลังพูดถึงการเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งผูกพันกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

จากพฤษภาทมิฬ 2535 ไปถึงรัฐประหาร 2 ครั้งในปี 2549 และ 2557 มีการเปลี่ยนผ่านในเชิงโครงสร้างหลายอย่าง

ในปี 2540 เรามี พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2540 มีการตั้ง กสช. (คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ) ขึ้น แต่ก็ถูกฟ้องร้อง ต่อมา เกิดรัฐประหาร 2549 มีการแก้รัฐธรรมนูญและแก้กฎหมาย จนปี 2553 จึงมี พ.ร.บ.กสทช. และมี กสทช.ขึ้น โดยมีสัดส่วนทหารตำรวจ 6 นายต่อพลเรือน 5 คน

5 ปีที่ผ่านมาของ กสทช. เราเห็นการเปลี่ยนผ่าน ของทีวี วิทยุ และโทรคมนาคม โดยปรากฏการณ์สำคัญคือ การมีทีวีดิจิตอล แต่ยังไม่เกิดทีวีชุมชน เพราะต้องรอการคืนคลื่น นี่เป็นสิ่งที่ทอดเวลาออกไป

ส่วนวิทยุ ซึ่งโดยหลักการ หน่วยงานรัฐทั้งหมดซึ่งเป็นผู้ถือครองคลื่นความถี่จะต้องคืน กสทช. เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ และแบ่งให้ประชาชนใช้ 20% สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อ กสทช. มีมติให้คืนคลื่นของหน่วยงานรัฐทั้งหมด ในปี 2560 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ไม่ถึงสัปดาห์ มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 มาอุ้มทีวีดิจิตอล ขยายเวลาชำระเงินประมูล และให้ขยายการคืนคลื่นไปอีก 5 ปี จากปี 2560 ไป 2565 เท่ากับวิทยุทดลองประกอบกิจการที่เกิดขึ้น 5,000 กว่าสถานี ต้องต่ออายุปีต่อปี ต้องทดลองออกอากาศต่อไปโดยไม่มีอนาคต ขณะที่หน่วยงานรัฐยังคงสิทธิประกอบกิจการตามกฎหมาย

ทั้งนี้ แม้เราจะมีสื่ออินเทอร์เน็ตแล้ว ก็ไม่ใช่ว่า ไม่มีความจำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ เราเสียค่าบริการอินเทอร์เน็ตอาจจะมากกว่าค่าน้ำค่าไฟเสียอีก ย้ำว่า เราควรได้ใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะ

ตั้งคำถามว่า ถ้าจะมองการปฏิรูปใหม่ จะมองใหม่อย่างไรให้เป็นได้จริง, ในความต้องการจัดสรรคลื่นความถี่ที่แตกต่างกัน เมื่อมีการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งแบบนี้ สื่อกระแสหลักที่รัฐถือครอง ออกข่าวเรื่องเหล่านี้ขนาดไหน วิทยุที่รัฐถือครองพูดเรื่องนี้หรือไม่ และภาคส่วนต่างๆ ที่เคยพูดเรื่องการปฏิรูปสื่อ ทุกวันนี้ยังยืนหยัดและมีเจตนารมณ์แบบนั้นอยู่หรือไม่

วิชาญ อุ่นอก

รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นหัวใจของการปฏิรูปสื่อสำหรับภาคประชาชน เพราะบอกว่าสื่อไม่ใช่ของรัฐอย่างเดียวอีกต่อไป แต่จากคำสั่ง คสช. ที่ออกมา เราไม่รู้อนาคตเลยว่าการจัดสรรคลื่นจะเป็นอย่างไร

ถอยหลังดูสื่อชุมชน ที่ผ่านมา ภาคประชาชนตั้งแต่ปี 2535 หลายภาคส่วนร่วมกันผลักดันเรื่องการปฏิรูปสื่อ โดยคาดหวังว่าถ้ามีองค์กรอิสระ น่าจะทำให้การสื่อสารในบ้านเรามีความเป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพมากขึ้น จนมีการกำหนดเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญ 2540 และมี กสทช.

พอเกิดองค์กรอิสระอย่าง กสทช.ขึ้น เราฝากความหวังไว้เยอะ คิดว่าการมี กสทช. จะเป็นหน่วยงานจัดการปัญหาหมักหมมได้อย่างดี แต่เท่าที่ฟังวิทยากรสองท่านมา จะเห็นข้อจำกัดภายใน คือ แม้มีตัวแทนของภาคประชาชน แต่ก็เป็นเสียงข้างน้อย ดันวาระสำคัญๆ ออกมาไม่ค่อยได้

นี่น่าจะเป็นบทเรียนว่าเรามัวแต่ฝากความหวังไว้กับองค์กรอิสระ โดยตัดหัวใจสำคัญอย่างบทบาทของภาควิชาการ วิชาชีพและชุมชนไป

วิทยุชุมชนนั้นเกิดขึ้นในปี 2545 หลัง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ 2543 อย่างไรก็ตาม มองว่าที่ผ่านมา วิทยุชุมชนโดนแช่แข็งมาสิบกว่าปีไม่ให้โต

โดยในปี 2547 กรมประชาสัมพันธ์ออกมาบอกว่า วิทยุชุมชนโฆษณาได้ ทั้งที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ห้ามมีโฆษณา ทำให้เกิดวิทยุ 2,000-3,000 คลื่นตามมา ช่วงวิกฤตการเมือง มีกลุ่มสี ทหาร พระ อาชีวะ ตั้งวิทยุของตัวเองขึ้นมา รวมๆ เรียกเป็นวิทยุชุมชน กลายเป็น "โศกนาฏกรรมทางย่านคลื่น" วิทยุชุมชนถูกวิจารณ์ว่า เกิดแล้วสัญญาณรบกวนคลื่นกันเอง ขายยาผิดกฎหมาย ส่งเสริมคนตีกัน ตอนนั้นรัฐก็ไม่แยกประเภทให้ชัด ทำให้ภาพสื่อชุมชนที่ดูสวยงาม ลดลงไป

ต่อมา หลังการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 วิทยุชุมชนถูกปิดหมด การจะกลับมาเปิดรอบสอง เงื่อนไขยากมาก ต้องเอาเครื่องไปตรวจ ทำ MoU กับทหาร แค่งบก็ต้องใช้ไม่ต่ำว่า 50,000 บาท เป็นค่าตรวจ ค่าซ่อมบำรุง ฯลฯ

ขณะนี้วิทยุประเภททดลองออกอากาศที่ได้ยินหลังรัฐประหาร จากก่อนรัฐประหาร มี 7,000-8,000 คลื่น ตอนนี้เหลือ 4,000 กว่าคลื่น เป็นวิทยุธุรกิจเกือบ 3,000 คลื่น ประเภทสาธารณะ เช่น อาชีวะ วัด อบต. 1,000 คลื่น ที่เป็นชุมชน จากที่ 500 คลื่น ติดเงื่อนไขเรื่องค่าใช้จ่ายและ MoU ทำให้ออกอากาศได้ 200 คลื่น

แล้ววิทยุที่ออกอากาศตอนนี้ ทำอะไรก็ไม่ได้เพราะเป็นคลื่นทดลอง ถูกกำหนดรัศมีออกอากาศห้ามเกิน 20 กม. กำลังส่งห้ามเกิน 500 วัตต์ โตไม่ได้ พัฒนาไม่ได้ แม้แต่คลื่นธุรกิจก็ไม่กล้าลงทุน เพราะไม่รู้จะได้คลื่นเดิมไหม

สิบกว่าปีที่ผ่านมา เฉพาะการปฏิรูปสื่อชุมชน จะเห็นว่า ไม่ได้ก้าวหน้าเลย ซ้ำภาพลักษณ์ยังตกต่ำ

ที่ผ่านมา ชุมชนตั้งใจมากในการลุกมาจัดการการสื่อสารของชุมชนเอง แต่สิบกว่าปีที่ผ่านมาไม่มีการส่งเสริมและยังโดนขัง วิทยุชุมชนอีก 200 คลื่นจะเริ่มตาย เพราะทำอะไรไม่ได้เลย แล้วในช่วงห้าปีต่อไปจะเหลือสักเท่าใด


จักร์กฤษ เพิ่มพูล

สิ่งที่จะพูดวันนี้มี 3 เรื่อง
1. การปฏิรูปสื่อที่พูดถึงกันทุกวันนี้คือการพยายามบริหารจัดการสื่อด้วยอำนาจบางอย่าง ทั้งนี้ เนื้อหาที่จะพูดวันนี้ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขว่าเป็นรัฐบาลไหน หรือผู้มีอำนาจคนไหน

2. สิ่งที่เราสมมติว่าเป็นการปฏิรูปสื่อวันนี้ เริ่มมาอย่างไร และขณะนี้ทำอะไรกันอยู่

3. คำสั่งตามมาตรา 44 มีลักษณะสำคัญคือ มีผลประโยชน์ต่างตอบแทน และผลประโยชน์ทับซ้อน

////

1. สิ่งที่เราพูดกันทุกวันนี้ ไม่ใช่การปฏิรูปสื่อ การปฏิรูปสื่อในสังคมไทยเคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวคือ การปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และคลื่นโทรคมนาคม ปี 2540 ซึ่งเป็นผลพวงจากพฤษภา 2535 ต้องให้เครดิต อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล ที่ริเริ่มให้แนวคิดนี้ และเขียนในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 40

แต่เมื่อมี กสทช.แล้ว ผิดหวัง เพราะไม่เคยพบเลยว่า เสียงส่วนใหญ่ของ กสทช. มีแนวคิดเรื่องการปฏิรูปสื่อในความหมายที่ควรจะเป็น

2. ยุค 'ปฏิรูปสื่อสมมติ' เริ่มหลังรัฐประหาร 2557 มีการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งกำหนดการปฏิรูปเร่งด่วน 11 ด้าน ด้านหนึ่งคือการปฏิรูปสื่อเพราะเชื่อว่าสื่อทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม

คณะรัฐประหารมีความรู้เรื่องสื่อสารมวลชนเป็นศูนย์ ตอนนั้นมีการตั้งคณะทำงานเตรียมการเพื่อการปฏิรูปขึ้นคณะหนึ่งขึ้น และมีการเชิญตัวแทนองค์กรสื่อไปให้ข้อมูล ซึ่งตนเองได้เข้าไปให้ข้อมูล เริ่มต้นจากศูนย์เลยว่า สื่อสารมวลชนคืออะไร การส่งสารคืออะไร ท้ายที่สุด มีการเอาข้อมูลให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาต่อ แต่ไม่พบว่า สปช. เอาข้อมูลเหล่านั้นไปทำอะไร มีการดำเนินการใหม่ทุกอย่าง โดยนอกจากเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อ มีการกำหนดวาระเรื่องการกำกับดูแลสื่อที่มีประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมา การกำกับดูแลสื่อไปไม่ถึงไหน เมื่อสื่อละเมิด ก็ไม่มีกลไกบังคับให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้จริง ดังนั้น เพื่อให้เกิดสภาพบังคับขึ้น กมธ.ปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สปช.ซึ่งมี อ.จุมพล รอดคำดี เป็นประธาน มีตนเองและ อ.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ไปนั่งร่างกฎหมาย

ร่างกฎหมายนี้ มีหลักการบังคับให้กระบวนการกำกับดูแลกันเองทำงาน หมายความว่า อำนาจหน้าที่สภาวิชาชีพเดิมยังมีอยู่ครบถ้วน ยังตรวจสอบ สอบสวนได้ แต่กฎหมายนี้ จะทำหน้าที่เป็นศาลสูง ถ้าไม่จบ จะเดินต่อได้ด้วยกระบวนการนี้

มาถึงตอนนี้ ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เรายังเอาร่างกฎหมายนี้ไปทำต่อ ปรับปรุง จัดโครงสร้างเล็กน้อย และเสร็จไปเมื่อไม่นานนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีการสอดไส้ในสาระสำคัญสองเรื่อง คือ เรื่องการให้มีใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพและให้อำนาจเพิกถอน และการมีตัวแทนรัฐเข้าไปนั่งในองค์กรสภาวิชาชีพซึ่งมีอำนาจวินิจฉัย อันขัดกับหลักการพื้นฐานเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญ 2540

3. ทีวีดิจิตอลที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ 22 ช่อง ถ้าไม่มีการเอื้อมมือไปช่วย ตายแน่นอน คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 76/2559 ที่ออกมานั้นมีเนื้อหาเกื้อกันอยู่ในที โดยบอกว่า กสทช.อาจผ่อนปรนให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลผ่อนชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ได้

ที่บอกว่าต่างตอบแทนเพราะไม่เห็นว่าสื่อทีวีดิจิตอล ซึ่งได้ประโยชน์จากการยื้อเวลา จะนำเสนอข่าวหรือบทวิเคราะห์เรื่องนี้เลย นี่คือการไม่ปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานของสื่อมวลชน ไม่เสนอข้อเท็จจริงที่รอบด้าน ถามว่ามันมีอะไรที่ปิดปากไว้

นอกจากนี้คำสั่ง คสช. ยังบอกว่า เมื่อครบวาระคืนคลื่นวิทยุใน เม.ย. 60 ให้ต่ออีก 5 ปี สำหรับหน่วยงานราชการ กองทัพ ตั้งคำถามว่า คนออกคำสั่งนี้ได้รับประโยชน์ด้วยหรือไม่


เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์

ก่อนหน้านี้ ได้ขอลาออกจากอนุกรรมการพิจารณาสัญญาสัมปทานและพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ของ กสทช. เมื่อ 14 พ.ย. แต่เนื่องจากยังไม่มีคนใหม่มาแทน เลยยังถือว่าดำรงตำแหน่งอยู่

อนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 เพื่อทำหน้าที่ให้หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ ที่ถือครองคลื่น แจ้งความจำเป็นไปในการใช้ ทำงานกันอย่างระมัดระวังมาก หากมองในแง่ดี ตั้งแต่ตนเองเป็นนักวิชาชีพ ไม่มีครั้งไหนที่มีข้อมูลกิจการกระจายเสียงมากเท่านี้มาก่อน โดยนอกจากพิจารณาจากเอกสารแล้ว ยังมีการขอข้อมูลเพิ่มเติมจากบางหน่วยงาน รวมถึงสุ่มถอดผังรายการที่ออกอากาศอยู่มาตรวจสอบด้วย

ผลการศึกษาของคณะอนุฯ มีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.ให้กำหนดระยะเวลาแน่นอนในการคืนคลื่น 2.เพื่อการใช้คลื่นให้มีประสิทธิภาพ ให้มีหน่วยงานกำกับดูแล 3.ให้ กสทช. เร่งหารือกับหน่วยงานภาครัฐ ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ 1) ถือครองคลื่นในปริมาณที่มาก 2) ถือครองคลื่นที่ให้บริการในพื้นที่ที่ซ้ำซ้อน 3) ใช้คลื่นไม่สอดคล้องกับภารกิจ ให้เรียกมาเจรจาเพื่อให้เกิดการคืนคลื่น ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นก่อนแผนแม่บทสิ้นสุด

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของอนุกรรมการฯ นี้เป็นความลับ ตนเองเคยเสนอให้จัดแถลงข่าวผลการศึกษาให้สาธารณะทราบ เพราะการทำงานล่าช้าไปมากแล้ว แต่ประธานอนุกรรมการสั่งห้ามเผยแพร่

ทั้งนี้ รู้สึกแปลกใจกับมติของ กสท. เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่เสียงส่วนใหญ่ 2 ใน 4 (อีกคนงดออกเสียง) กลับมีมติว่า 1.กำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นให้สิ้นสุดตามแผนแม่บท คือ เม.ย. 2560 2.การคืนคลื่นก่อน เม.ย.2560 ให้เป็นภาคสมัครใจ ซึ่งต่อมา กสทช. ก็เห็นชอบมตินี้เมื่อ 14 ธ.ค. ประกอบกับการมีคำสั่ง คสช. ยิ่งเป็นการตอกหมุดการปฏิรูปสื่อ หากเอาคลื่นอนาล็อกคืนมาไม่ได้ การปฏิรูปสื่อล้มเหลวสิ้นเชิง

จากการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. เป็นห่วง คสช. ว่าเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ โดยจากการศึกษาของอนุกรรมการฯ พบว่า หน่วยงานความมั่นคงของรัฐ 6 หน่วยงาน ปัจจุบันถือครองคลื่น 47.58% หรือ 256 คลื่น อีกกลุ่มซึ่งยอดสูงไม่แพ้กัน เพราะกรมประชาสัมพันธ์ไปอยู่ที่นั่นคือกลุ่มหน่วยงานระดับกระทรวง ทบวง กรม 32.34% หรือ 174 คลื่น รัฐวิสาหกิจ มี อสมท. เจ้าเดียว

ผลการศึกษาของอนุกรรมการฯ พบว่า หน่วยงานภาครัฐ 28 หน่วยงาน ใช้คลื่นสอดคล้อง 21% ไม่สอดคล้อง 79% แต่มีอนุกรรมการฯ ปรับถ้อยคำเป็น "ไม่สอดคล้องกันบางส่วน" โดยกรณีกองทัพบก 138 คลื่น เป็นหน่วยงานที่อยู่ในทั้งกลุ่มที่สอดคล้องและไม่สอดคล้อง เพราะจาก 138 คลื่น กองทัพบกใช้คลื่นสอดคล้องกับภารกิจ 11 คลื่น โดยเป็นคลื่นเฉพาะกิจ เช่น คลื่นเคลื่อนที่ตามแนวชายแดน

นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้ กสทช. เปิดเผยผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ สู่สาธารณะ รวมถึงใน 5 ปีต่อไปนี้ ขอให้หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่จะได้ประโยชน์จากการขยายเวลาการคืนคลื่น แจ้งต่อสาธารณะทุกปีว่าได้ประโยชน์จากการประกอบการเท่าไหร่


สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผอ.วิทยุจุฬา

การปฏิรูปสื่อจะดูบริบทแค่คำสั่งหัวหน้า คสช. นี้ไม่ได้ ต้องดูหลายอย่างประกอบกัน
-กำลังจะมีการแก้ พ.ร.บ.กสทช. ซึ่งจะมุ่งสู่การชดใช้ราคาค่าคลื่นความถี่ เมื่อเกิดความจำเป็นต้องเรียกคืน และแก้ไขคุณสมบัติของกรรมการ กสทช.
-วิชาชีพสื่อจะถูกปฏิรูปด้วย เพราะกำลังจะมีการบิดเบือนแนวคิดสภาวิชาชีพสื่อ โดยให้ปลัดกระทรวง 4 กระทรวง เข้ามาดำรงตำแหน่งในสภาวิชาชีพสื่อ ซึ่งไม่เคยมีกฎหมายสภาวิชาชีพที่ไหนกำหนดแบบนี้มาก่อน
-การผ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไข ซึ่งจะเข้ามากำกับดูแลเนื้อหาสื่อออนไลน์

เราทิ้งบริบทที่เชื่อมโยงมาสู่การรัดรึง ครอบงำ เกาะกุม ควบคุมทั้งหมดนี้ไม่ได้


ปีหน้า ‘สวัสดิการสุขภาพ’ มุ่งสู่ ‘สังคมสงเคราะห์’ (?) เมื่อรัฐลดบทบาท เพิ่มภาระประชาชน

Posted: 29 Dec 2016 01:07 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ทิศทางสวัสดิการสุขภาพปีหน้า ภาคประชาชนหวั่นจากสวัสดิการมุ่งสู่สังคมสงเคราะห์ในอนาคต คาดมีความพยายามแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพลดการมีส่วนร่วมภาคประชาชน นักวิชาการทีดีอาร์ไอมองว่ายังไม่มีการความเปลี่ยนแปลงสำคัญ แต่เนื้อหารัฐธรรมนูญชัดเจนว่ารัฐต้องการลดบทบาท ให้ประชาชนรับภาระมากขึ้น


ภาพจาก เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

30 บาทรักษาทุกโรค บัตรทอง หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าหลักประกันสุขภาพ เป็นนโยบายที่ผลักดันโดย นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และถูกทำให้เป็นจริงโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นนโยบายที่สร้างความนิยมล้นหลาม ทว่า นับตั้งแต่มี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 สวัสดิการสุขภาพนี้ก็ถูกท้าทายมาตลอด

ปี 2559 เป็นอีกปีหนึ่งที่หลักการว่าด้วยสวัสดิการสุขภาพต้องเจอแรงเสียดทาน หนักที่สุดเห็นจะเป็นถ้อยคำที่ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม โดยในมาตรา 47 ที่ระบุในวรรค 2 ว่า บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่ารัฐกำลังลดระดับสวัสดิการสุขภาพให้เหลือเพียงการสังคมสงเคราะห์ จากนั้นมาตรการที่ตามมาของรัฐอย่างการขึ้นทะเบียนคนจนก็ถูกตั้งข้อสังเกตจากภาคประชาชนว่า เป็นขั้นแรกๆ ของการคัดกรองคนจนออกจากคนมีเพื่อจัดการ ‘สงเคราะห์’ ให้แก่ผู้ที่มาขึ้นทะเบียน

ไม่ใช่เพียงหลักประกันสุขภาพเท่านั้น สวัสดิการสุขภาพข้าราชการเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนปลายปีที่แนวคิดการให้บริษัทประกันของเอกชนเข้ามารับหน้าที่แทนกรมบัญชีกลาง ทำให้เกิดกระแสต้าน จนต้องพับเก็บไปในที่สุด

(ยังไม่นับเรื่องยิบย่อยอย่างการแช่แข็งตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. ที่ยังไม่สามารถหาคนมานั่งตำแหน่งได้ เนื่องจากเกิดการร้องเรียน ซึ่งฝ่ายหนุนระบบหลักประกันฯ มองว่า เป็นความพยายามบ่อนเซาะระบบที่มีมาตลอด)

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เคยกล่าวเกี่ยวกับประเด็นการขึ้นทะเบียนคนจนว่า รัฐควรขึ้นทะเบียนคนรวยด้วย โดยให้เหตุผลว่า รัฐให้คนจนไปลงทะเบียนเพื่อจัดสวัสดิการ ซึ่งการลงทะเบียนนั้นเพื่อที่จะรู้ว่าแต่ละคนมีรายได้เท่าไหร่ ถ้าทุกคนในประเทศไทยที่มีบัตรประชาชนไปลงทะเบียนว่าเป็นใคร ทำงานอะไร และชี้แจงเรื่องรายได้ เพื่อจ่ายภาษี ไม่ว่าจะรวยหรือจน จะทำให้รัฐรู้ได้ว่าใครมีรายได้มากหรือน้อย จะเป็นธรรมกว่า และรัฐสามารถจัดสวัสดิการให้คนมีรายได้น้อยได้จริง ไม่ใช่สงเคราะห์ ไม่ใช่มาแอบอ้างลงทะเบียนเป็นคนจน

“รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีวิธีคิดเชิงหลักการเปลี่ยนไป ทั้งที่ควรรับรองสิทธิพื้นฐานของประชาชนทุกคน เช่น ได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย ได้รับการศึกษาทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่อสูงวัยก็ได้รับบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ไม่ใช่ระบุว่า ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีรายได้ไม่เพียงพอ มีสิทธิได้รับสวัสดิการของรัฐ ทั้งที่สวัสดิการควรเป็นของทุกคน และรัฐควรต้องจัดหาให้ ซึ่งการเขียนแบบนี้สามารถตีความได้ เช่น ออกกฎหมายให้เบี้ยยังชีพเฉพาะคนแก่ที่จนเท่านั้น หรือแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพให้เป็นสำหรับผู้ยากไร้เท่านั้น คนเกือบจน คนเกือบรวย ก็อาจต้องเสียเงินค่ารักษา เป็นต้น”

ถ้าดูภาพรวมและเจตนารมณ์รวมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ค่อนข้างชัดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการลดบทบาทของรัฐลงในเรื่องเหล่านี้ และให้ประชาชนเข้ามารับภาระมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณสุข ยังมีเรื่องการศึกษา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมาแนวนี้ตลอด

ด้าน นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า

“เรื่องการสังคมสงเคราะห์มันมีวิธีคิดที่ไปทางนั้นอยู่ ที่ไม่ได้มองเรื่องรัฐสวัสดิการเป็นหัวใจหลัก คือถ้ายึดเรื่องนี้ ก็ต้องเชื่อว่าคนทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการได้อย่างเสมอภาค ทั่วถึง และเท่าเทียม แต่วิธีคิดนี้หายไป เนื่องจากมองว่าถ้ามีการจัดรัฐสวัสดิการแบบนั้นจะเป็นภาระของประเทศ ที่ง่ายที่สุดสำหรับคนที่มาบริหารประเทศก็คือทำเป็นการสงเคราะห์หรือช่วยเฉพาะกลุ่ม แล้วบอกว่าได้แก้ปัญหาแล้ว เพราะว่ามีเฉพาะคนกลุ่มนี้เท่านั้นที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ คนชั้นกลางหรือคนมีสตางค์ควรจะช่วยตัวเอง มันกลายเป็นวาทกรรมนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะถ้ามีความเชื่อว่ารัฐสวัสดิการทำไม่ได้ เป็นภาระ จึงมีความคิดเรื่องขึ้นทะเบียนคนจนเกิดขึ้น ซึ่งต้องบอกว่าน่าห่วงอันเนื่องจากมีการเขียนแบบนี้ในรัฐธรรมนูญด้วย”

แต่นิมิตร์แสดงทัศนะว่า จากความเข้าใจ ความเติบโตของระบบหลักประกันสุขภาพที่มีรากฐานมาจากกฎหมาย รัฐคงไม่สามารถทำอะไรได้ง่ายนัก เพราะการจะเปลี่ยนระบบสวัสดิการสุขภาพแบบถอนรากถอนโคนจากสวัสดิการเป็นการสงเคราะห์ไม่สามารถทำได้ เว้นเสียแต่จะยกเลิก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ เนื่องจากในกฎหมายนี้ให้สิทธิคนไทยทุกคนที่ไม่ใช่ข้าราชการและผู้ประกันตนให้เข้าถึงบริการสุขภาพ

“แต่ว่าในเชิงรายละเอียดของการดำเนินการอาจจะมีการแซะกัน เช่น พูดถึงเรื่องการร่วมจ่าย ใครที่มีระดับฐานะเท่านี้ๆ ให้ร่วมจ่าย ซึ่งเป็นวิธีคิดที่มีมาตลอดของคนในวิชาชีพสาธารณสุข คือมีแนวโน้มว่ารัฐคิดเรื่องรัฐสงเคราะห์ ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ แต่ผมยังศรัทธาและเชื่อในแนวต้านของประชาชนที่จะส่งเสียงและต้านอยู่”

เหตุนี้ นิมิตร์เห็นว่าจะยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในช่วงเวลาสองสามปีนี้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการลดการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งนิมิตร์มองเห็นสัญญาณดังกล่าว

“มีความพยายามที่จะแก้กฎหมาย ในปีหน้าหรือภายในเร็วๆ อันที่น่าห่วงในการแก้กฎหมายคือกระบวนการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนที่เป็นความก้าวหน้าในตัวกฎหมายอาจจะหายไป เช่น มีการปรับสัดส่วนของภาคประชาชนลดลง ไปเพิ่มสัดส่วนของภาควิชาชีพ ซึ่งจะยิ่งก่อให้เกิดความขัดแย้ง ผมเป็นห่วงในเรื่องนี้”




“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการลดบทบาทของรัฐและให้ประชาชนเข้ามารับภาระมากขึ้น” วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร

ในมุมมองของนักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้ วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศหรือ ทีดีอาร์ไอ เชื่อว่าจะยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็เห็นชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการลดบทบาทการจัดสวัสดิการต่างๆ ของรัฐลงและให้ประชาชนเข้ามารับภาระมากขึ้น

“เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาอย่างน้อย 15-20 ปีแล้ว และไม่เคยมีฉันทามติไปในทางหนึ่งทางใด ที่ผ่านมามักเป็นการผลักดันของฝ่ายต่างๆ ขึ้นกับว่าฝ่ายไหนมีอำนาจก็ดันวาระของฝ่ายตัวเองออกมาได้มากหน่อย แต่ก็ยังแทบไม่มีผลในทางปฏิบัติ ตัวอย่างเช่นในรัฐบาลนี้ พลเอกประยุทธ์ก็จะพูดบ่อยๆ ว่า นโยบาย 30 บาท ประเทศอื่นที่รวยกว่าเรา เขาก็ยังไม่ทำกัน ขณะเดียวกันก็มีการผลักดันของบางฝ่ายให้แก้ระเบียบการใช้เงินของ 30 บาท ห้ามใช้เงินกับกิจกรรมที่ไม่ใช่การรักษาโดยตรง เมื่อแก้เสร็จแล้วก็ปรากฏว่าโรงพยาบาลหลายแห่งมีปัญหาไม่กล้าใช้เงินในส่วนที่จำเป็นต้องใช้ ในที่สุดรัฐบาลก็ต้องออกมาตรา 44 มาแก้ปัญหาจากประกาศของรัฐบาลอีกทีหนึ่ง โดยบอกว่าโรงพยาบาลสามารถใช้เงินเพื่อวัตถุประสงค์เหล่านั้นได้ เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติ นโยบาย 30 บาท ก็คงยังไม่น่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงในปีหน้า ถึงแม้ว่าภายใต้รัฐบาลแบบนี้ วันดีคืนดีก็อาจประกาศอะไรออกมาได้ แต่ถ้ารัฐบาลยังไม่ได้ใช้วิธีปุบปับแบบนั้น ผมคิดว่าก็ยังไม่มีฉันทามติอะไรที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่โตในส่วนนี้ในปีหน้า

“ส่วนที่ 2 ประกันสังคม ตอนเริ่มนโยบาย 30 บาท คนที่พยายามดันเรื่อง 30 บาท ต้องการรวม 3 โครงการนี้เข้าด้วยกัน ในช่วงแรกคนที่มีส่วนได้เสียกับประกันสังคม รวมทั้งเอ็นจีโอต่างๆ ก็ค้านเสียงแข็ง เพราะมองว่า 30 บาทน่าจะเป็นอะไรที่แย่กว่าประกันสังคม แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ก็มีเอ็นจีโอออกมารณรงค์ไม่ให้จ่ายเงินประกันสังคมส่วนที่ใช้สำหรับสุขภาพ โดยอ้างว่ามีแต่ผู้มีสิทธิ์ประกันสังคมต้องจ่าย ขณะที่ 30 บาท กับข้าราชการไม่ต้องจ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมวิจารณ์มาโดยตลอดว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่เห็นแก่ตัว เพราะในขณะนั้นคนที่อยู่ในประกันสังคมได้รับเงินจากรัฐประมาณร้อยละ 2.75 ของเงินเดือน หรือร้อยละ 2.75 ของ 15,000 บาท ในกรณีที่เงินเดือนสูงกว่านั้น ซึ่งมากกว่าค่าหัวของ 30 บาทที่รัฐบาลจ่ายให้

“ในขณะนี้ มีความพยายามของสำนักงานประกันสังคมให้ขยายเพดานเงินเดือนจาก 15,000 เป็น 20,000 และต่อไป 25,000 บาท ในอนาคตอันใกล้ ถ้าขยายเพดานเงินเดือนไปถึง 20,000 ก็น่าจะช่วยทำให้การรักษาพยาบาลพของประกันสังคมดีขึ้น ซึ่งในระยะหลังนี้ ผมเข้าใจว่ามีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งถอยไปจากประกันสังคม โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ซึ่งส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเงินค่าหัวและอื่นๆ ที่ประกันสังคมให้โรงพยาบาลโตช้ากว่างบ 30 บาท ส่วนนี้ก็เป็นความพยายามเปลี่ยนแปลงข้อหนึ่งที่ต้องจับตาดูกันต่อไป

“ส่วนที่ 3 สวัสดิการข้าราชการ ปีที่ผ่านมาเป็นข่าวมากที่สุดจากข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ที่จะให้บริษัทประกันเอกชนเข้ามาทำหน้าที่แทน ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผมเชื่อว่าฝั่งนี้เป็นฝั่งที่มีความรู้เกี่ยวกับประกันสุขภาพน้อยที่สุด ทำให้มีข้อเสนอออกมาแบบนี้ หลายคนคิดว่าภาคเอกชนวางแผนเข้ามากินรวบ แต่ข้อเสนอจริงๆ ไปจากภาครัฐ และดูเหมือนว่าภาคเอกชนเองก็เป็นห่วงอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะที่รัฐบอกว่าจะไปกำหนดเงื่อนไขที่มัดมือเขา โดยบอกว่าตอนนี้งบอาจอยู่ที่ปีละ 6.8 หมื่นล้าน ต่อไปจะต้องไม่เกิน 7 หมื่นล้าน ซึ่งผมคิดว่าเรื่องประกันสุขภาพ ไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะทำแบบนี้ได้

“สาเหตุหลักก็เพราะปกติค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลมักจะเพิ่มขึ้นด้วย 2 ปัจจัยหลักๆ คือ ส่วนแรกโครงสร้างประชากร ถ้าเรามีผู้สูงอายุมากขึ้น ค่าใช้จ่ายก็จะมากขึ้น ส่วนที่ 2 คือเพิ่มจากการใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้น ถ้าโครงสร้างประชากรเป็นแบบนี้และต้องการให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ไม่ใช่แช่แข็งเทคโนโลยี ทำยังไงก็ไม่สามารถแช่แข็งงบเอาไว้ได้

“ผมเข้าใจว่าความเชื่อหนึ่งที่จะโยนสวัสดิการข้าราชการให้ประกันภัย เพราะเชื่อว่ามีการคอร์รัปชั่นและไร้ประสิทธิภาพอยู่เยอะ ความเห็นส่วนตัวผม การคอร์รัปชั่นไม่ใช่ประเด็นใหญ่ ความไร้ประสิทธิภาพต่างหากที่เป็นประเด็น แต่ส่วนหนึ่งมันผูกมากับสิทธิประโยชน์ของข้าราชการ ซึ่งหมายความว่าถ้าจะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณต้องไปจำกัดสิทธิของเขาในระดับหนึ่ง เช่น ข้าราชการต้องผูกกับโรงพยาบาลใดเป็นหลัก ยกเว้นกรณีฉุกเฉินที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เป็นต้น

“แต่ถ้าคุณไม่จำกัดสิทธิของข้าราชการ มันจะยากมากที่จะคุมค่าใช้จ่าย หรือถ้าคุณไปจำกัดสิทธิเขา ก็ยากที่จะคุมให้งบนี้อยู่ไปได้เป็นสิบปี อย่างทุกวันนี้ สวัสดิการข้าราชการเพิ่มไม่สูง เราอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาทมาอย่างน้อยห้าหกปีแล้ว เพิ่มมาปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อคิดออกมาก็ตกปีละร้อยละ 3 ซึ่งผมคิดว่าไม่สูงสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ผมเข้าใจว่าส่วนหนึ่งที่สามารถคุมค่าใช้จ่ายได้ระดับนี้ นั่นเป็นเพราะสวัสดิการข้าราชการมีส่วนที่เป็นร่วมจ่ายมากกว่าสิทธิอื่น

“สำหรับในเรื่องนี้ ข่าวหนึ่งที่ได้ยินมาคือข้าราชการรวมทั้งกระทรวงกลาโหมเองก็ออกมาคัดค้าน นายกฯ เองก็สั่งให้หยุดไปก่อน ดังนั้น เรื่องนี้คงไม่มีอะไรคืบหน้าในเร็ววัน เว้นแต่มีใครไปทำให้นายกฯ เชื่อว่าควรทำแบบนั้นแบบนี้ แล้วมีการตัดสินใจแบบฉับพลันทันใด นอกเหนือจากกรณีนั้นแล้ว ทั้งสามโครงการคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

“สำหรับ 30 บาท นั้น ไม่ว่าจะภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับไหนหรือรัฐบาลไหน ก็มีแนวโน้มที่จะถูกทำให้เป็นสวัสดิการชั้น 2 หรือชั้น 3 อยู่แล้ว ตั้งแต่แรก 30 บาทได้รับงบในระดับที่ไม่สามารถจัดบริการที่มีคุณภาพที่ได้มาตรฐานได้อยู่แล้ว งบถูกแช่แข็งตั้งแต่ช่วง 2 ปีแรกสมัยทักษิณ มาช่วงหลัง สมัยคุณหมอประดิษฐ์ สินธวณรงค์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ก็มีความคิดที่จะแช่แข็งงบ 30 บาทไว้ 3 ปี ซึ่ในที่สุดจะเรียกว่าทำสำเร็จก็คงได้

“คนจำนวนมากและรัฐบาลก็มีความเชื่อว่า ถ้าปล่อยให้งบ 30 บาทขึ้นไปจะทำให้เป็นภาระกับประเทศมาก และจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง ความเชื่อนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดในยุครัฐประหาร แต่เกิดมาในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วย โครงการ 30 บาทได้เพิ่มงบครั้งแรกในปีที่ 3 ในสมัยทักษิณ จากนั้นก็เพิ่มอย่างช้าๆ หลังจากนั้นมาเพิ่มอีกทีสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุฬานนท์ แนวโน้มจริงๆ เป็นการเพิ่มแบบช้าๆ แต่เนื่องจากเวลาผ่านไปแล้วเกือบ 15 ปี งบจึงขึ้นมาจาก 1,200 มาเป็น 3,000 บาท ซึ่งอัตราการเพิ่มไม่ได้สูง และเป็นการเพิ่มจากอัตราที่ต่ำมากตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

“เพราะฉะนั้นถ้ามันอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ คือต่อให้ไม่มีใครไปแตะมันเลย 30 บาทก็จะยังเป็นประเด็นเป็นปัญหา การที่จะจัดบริการ 30 บาทให้มีคุณภาพจริงๆ ด้วยเงินขนาดนี้เป็นเรื่องที่ยากมากๆ ที่ผ่านมา ฝั่งที่คัดค้าน 30 บาท ก็ต้องการให้เก็บเงินจากผู้ป่วยหรือการร่วมจ่าย และอาจารย์ด้านประกันภัยจากนิด้ารายหนึ่งก็เสนอให้ประชาชนร่วมจ่ายอีกเท่าตัวแล้วยกไปให้บริษัทประกันเอกชนทำ แบบเดียวกับโมเดลที่ได้ยินเกี่ยวกับสวัสดิการสุขภาพข้าราชการ โดยมองว่าวิธีนี้จะสามารถปรับปรุงคุณภาพ 30 บาทได้ โรงพยาบาลก็อยู่ได้ แต่การเสนอให้ประชาชนร่วมจ่ายอีกเท่าตัวเป็นเรื่องใหญ่และคงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ

“ถ้า 30 บาทได้เงินเท่าที่เป็นอยู่ เราก็จะเห็นสถานการณ์ที่โรงพยาบาลประมาณร้อยละ 10-20 มีปัญหาการเงินต่อไป ตัวเลขนี้ในภาพรวมอาจดูไม่สูงมาก แต่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติแน่ และผู้บริหารและแพทย์พยาบาลในโรงพยาบาลเหล่านั้นก็อาจจะต้องทำงานภายใต้ความกดดันที่สูงกว่าปกติ

“ที่พูดมานี้เป็นส่วนที่ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับไหนทั้งสิ้น แต่ถ้าจะถามว่ารัฐธรรมนูญนี้มีแนวโน้มทำให้สภาพปัญหาแย่ลงหรือเปล่า ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามเขียนป้องกันรัฐบาลมากขึ้น เช่น แทนที่จะเขียนตามโครงการที่เกิดขึ้นจริงที่ปัจจุบันรัฐบาลให้บริการฟรี ก็เขียนแค่ว่ารัฐบาลมีหน้าที่จัดบริการให้ทุกคนและจัดบริการฟรีให้แก่ผู้ยากไร้ แต่หลายคนที่หนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเก่าๆ ก็เขียนทำนองนี้เช่นกัน ซึ่งก็จริง คือไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่กำหนดว่าจะให้บริการฟรีแก่ประชาชนทั้งประเทศ รวมทั้งรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ออกมาก่อน 30 บาท แต่ถ้าดูภาพรวมและเจตนารมณ์รวมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ค่อนข้างชัดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการลดบทบาทของรัฐลงในเรื่องเหล่านี้ และให้ประชาชนเข้ามารับภาระมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณสุข ยังมีเรื่องการศึกษา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมาแนวนี้ตลอด

“แต่ก็อีกนั่นแหละ ในประเทศไทย ไม่ว่าจะยุคไหน รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีผลน้อยที่สุดและฉีกง่ายที่สุด รัฐธรรมนูญอาจจะสะท้อนแนวคิดที่ถกเถียงกันอยู่ แต่รวมๆ แล้ว ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นโดยตรงจากรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในระยะเวลาอันสั้นก็คงไม่มี”

ขับเคลื่อนโดย Blogger.