Voice TV

เครือข่ายนักกฎหมายและคณาจารย์นิติศาสตร์ จำนวน 70 คน ร่วมออกแถลงการณ์วิจารณ์คำวินิจฉัยศาล รธน. ชี้โอกาสในการต่อสู้คดีไม่เป็นธรรม ทำลายเสรีภาพในการแสดงออก ย้ำคำวินิจฉัยกรณีล้มล้างการปกครอง คือการขยายความขัดแย้งให้รุนแรงมากขึ้นในอนาคตอันใกล้
ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล กฤษณ์พชร โสมณวัตร และสมชาย ปรีชาศิลปกุล ร่วมกันแถลงการณ์เรื่อง “การล้มล้างสถาบันฯ หรือการล้มล้างสิทธิเสรีภาพของประชาชน” ในฐานะตัวแทนของเครือข่ายนักกฎหมายและคณาจารย์นิติศาสตร์ จำนวน 70 คน โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ต่อกรณีการเคลื่อนไหวของเยาวชนและประชาชน (ในการชุมนุม เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตยหรือ “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต) ศาลรัฐธรรมนูญได้มีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ความดังกล่าวได้เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในทางสาธารณะแล้วนั้น
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้นำมาซึ่งคำถามอันเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะกระทบต่อหลักการพื้นฐานของระบบกฎหมายและสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ทั้งจะส่งผลสืบเนื่องต่อไปถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ปมประเด็นปัญหาดังกล่าวปรากฏขึ้นอย่างน้อยใน 3 ประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้
ประการแรก สิทธิในเข้าถึงการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (right to fair trial)
สิทธิในการเข้าถึงการพิจารณาอย่างเป็นธรรมถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่ได้รับการรับรองไว้อย่างกว้างขวาง ดังปรากฏในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 10, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 และสิทธิดังกล่าวก็ถือเป็นหลักการพื้นฐานของกระบวนพิจารณาคดีในระบบกฎหมายสมัยใหม่อันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป อันมีสาระสำคัญว่าบุคคลจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม ทั้งจะต้องสามารถนำเสนอพยานหลักฐานในการโต้แย้งหักล้างกับบุคคลที่กล่าวหาได้อย่างเต็มที่
ในการวินิจฉัยคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสได้ต่อสู้ต่อข้อกล่าวหา ด้วยการปฏิเสธไม่ให้มีการนำพยานเข้าชี้แจง แม้จะได้มีการชี้แจงว่าศาลได้มีการสืบหาข้อมูลข้อเท็จจริงมาจนสามารถชี้ขาดคดีได้ อย่างไรก็ตาม การรวบรัดในกระบวนการพิจารณาโดยไม่เปิดโอกาสให้กับฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจงและนำเสนอพยานหลักฐาน ย่อมถือเสมือนเป็นการปฏิเสธสิทธิในการเข้าถึงการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมอย่างชัดเจน ซึ่งก็อาจนำไปสู่การตั้งคำถามต่อคำตัดสินว่าเป็นไปโดยปราศจากข้อมูลที่รอบด้านว่าเป็นผลมาจากมุมมองและจุดยืนของผู้วินิจฉัยเป็นที่ตั้ง
ประการที่สอง เสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression)
เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นสิทธิเสรีภาพสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ให้การรับรองไว้ในข้อ 19 และข้อ 20, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 18 และข้อ 21 ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก็ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็นไว้ในมาตรา 34, เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธในมาตรา 44 การรับรองไว้อย่างสอดคล้องกันทั้งในกฎหมายระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเสรีภาพดังกล่าวอย่างชัดเจน แม้การรับรองเสรีภาพดังกล่าวจะบัญญัติให้มีการจำกัดขอบเขตเสรีภาพลงได้แต่ก็ต้องเป็นไปด้วยเหตุผลอันชัดเจนว่าการใช้เสรีภาพดังกล่าวจะนำไปสู่ผลกระทบอันรุนแรงต่อส่วนรวม
จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้ให้ความเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มผู้ถูกร้องมิใช่เป็นการใช้เสรีภาพโดยสุจริตหากเป็นไปโดยมีเจตนาซ่อนเร้น ทั้งยังเป็นการกระทำที่เป็นการใช้ความรุนแรงข่มขู่บังคับต่อบุคคลอื่น ในความเห็นของศาลจึงเห็นว่าการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มีเจตนาที่จะต้องการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่จะสามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนถึงการกระทำของฝ่ายผู้ถูกร้อง คำวินิจฉัยมีลักษณะเป็นการให้เหตุผลอย่างคลุมเครือ อันนำมาสู่คำถามได้ว่าคำพูดหรือการกระทำในลักษณะเช่นใด ณ เวลาใด ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นำมาเป็นหลักฐานในการชี้ขาด ยิ่งหากพิจารณาถึงข้อเรียกร้องที่ปรากฏต่อสาธารณะก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการแสดงความเห็นทั้งหมดเป็นเพียงการเสนอปรับแก้กฎหมายและรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่ไม่มีการเสนอถึงการยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนสู่ระบอบการปกครองในแบบอื่นแต่อย่างใด
ทั้งการวินิจฉัยถึงเจตนาของบุคคลก็ต้องพิจารณาจากการกระทำที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน การกล่าวอ้างถึงเจตนาที่ซ่อนเร้นของบุคคลนับเป็นสิ่งที่มีอันตรายในทางกฎหมายเป็นอย่างมาก เพราะอาจเป็นเพียงการยกเอาความเห็นของผู้ตัดสินโดยปราศจากข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานสนับสนุนอย่างพอเพียง การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ไม่อาจจะปล่อยให้เกิดขึ้นได้เพียงคำกล่าวอ้างโดยปราศจากหลักฐานที่ชัดเจน มิฉะนั้น ต่อไปในภายภาคหน้าสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็พร้อมจะถูกสั่นคลอนหรือทำลายลงได้อย่างง่ายดาย
ประการที่สาม สถานะของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ให้คำอธิบายว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่เป็นเนื้อเดียวกันกับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน อีกทั้งได้รับการรับรองไว้ให้อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะซึ่งผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ อันปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้ให้คำอธิบายซึ่งจำแนกให้เห็นอย่างชัดเจนระหว่างสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด ทั้งที่ชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในระบอบการปกครอง แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยถือเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรตามรัฐธรรมนูญโดยดำรงสถานะเป็นประมุขของรัฐ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็หมายถึงพระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้าฯ แต่ไม่ปกครอง (reign but not rule) การดำรงอยู่ สถานะ และบทบาทของพระมหากษัตริย์ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยก็จึงสามารถมีการปรับเปลี่ยนได้ในมิติต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเงื่อนไขของสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงในสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสภาวะปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป หากพิจารณาถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของสังคมไทยก็จะพบว่าได้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เมื่อระบอบประชาธิปไตยได้เริ่มต้นขึ้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงเช่นนี้นับแต่จะเป็นการสร้างความยุ่งยากต่อการจัดวางสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยให้ทวีความยุ่งยากเพิ่มมากขึ้น
ศาลรัฐธรรมนูญในนานาอารยะประเทศเป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นด้วยเป้าหมายสำคัญก็เพื่อทำหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งสร้างดุลยภาพอันเหมาะสมระหว่างประโยชน์ของส่วนรวมและสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในกรณีนี้จึงเป็นคำวินิจฉัยที่สร้างความสงสัยให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง พวกเราจึงเห็นว่าคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักการพื้นฐานทางกฎหมายอย่างรุนแรง ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งจะเป็นการสร้างความขัดแย้งในสังคมไทยให้แผ่ขยายและรุนแรงมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับหลักการทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมถึงการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญก็นับเป็นสิ่งที่ยังห่างไกลจากบทบาทที่ควรจะเป็นอย่างมาก
13 พ.ย. 2564
เครือข่ายนักกฎหมาย และคณาจารย์นิติศาสตร์
อ่านบนเว็บไซต์ : https://www.voicetv.co.th/read/iviaKtzPq



23 องค์กรนิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วประเทศออกแถลงการณ์ร่วม ปฏิเสธคำวินิจฉัยศาลรธน. ยัน 10 ข้อเสนอ จะทำให้สถาบันยืนยงสถาพร เคียงคู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างสง่างาม
วันนี้(11พ.ย.64) เพจสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่แถลงการณ์ร่วม 23 องค์กรนิสิต นักศึกษา เรื่อง ปฏิเสธคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า

ตามที่ปรากฏว่าวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญ ได้อ่านคำวินิจฉัยคำร้องของ คุณณฐพร โตประยูร ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กรณีการปราศรัยการชุมนุมทางการเมืองในปลายปี พ.ศ. 2563 ของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ คุณอานนท์ นาภา, คุณภาณุพงศ์ จาดนอก และคุณปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย ระบุว่า “การชุมนุมและ การปราศรัยของผู้ถูกร้องทั้งสามมีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง เป็นการซัดกร่อนบ่อนทำลายการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการปลุกระดมก่อให้เกิดความวุ่นวายและความ รุนแรงในสังคม เป็นการกระทำใด ๆ ที่มีเจตนาเพื่อทำลาย หรือเพื่อทำให้สถาบันกษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าด้วยการพูด การเขียน หรือการกระทำต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือทำให้อ่อนแอลง ย่อม แสดงให้เห็นถึงเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
.
ผู้ถูกร้องทั้งสามใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็น โดยไม่สุจริต มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข มิใช่ปฏิรูป ศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสาม รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกการกระทาดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปใน อนาคต” นั้น
.
องค์กรนักศึกษาทั้ง 23 แห่ง ขอปฏิเสธกระบวนการไต่สวนที่ไม่เป็นธรรมและคำวินิจฉัยของศาล โดยขอยืนยันว่า 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของผู้ถูกร้องทั้งสามนั้น เป็นข้อเสนอที่จะทำให้ สถาบันพระมหากษัตริย์ของราชอาณาจักรไทยคงอยู่สถาพรในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสง่างาม สมกับพระเกียรติยศที่สมเด็จบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าทรงดำรงไว้ตั้งแต่ครั้นอดีต ผู้ถูกร้องทั้งสามและผู้ชุมนุมเพียงหวังให้สถาบัน พระมหากษัตริย์ของเรา ปราศจากมลทินและข้อครหาที่จะทำให้พระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์ เสื่อมเสีย นามาสู่เหตุผลห้าประการในการขอปฏิเสธกระบวนการไต่สวนและวินิจฉัยของศาล ดังนี้
.
ประการแรก ผู้ถูกร้องทั้งสามท่านมิได้รับโอกาสขอไต่สวนเพิ่มเติมจากศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อ สู้คดีและแสวงหา ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อศาล ด้วยการสั่งงดการไต่สวนโดยอ้างว่าพยาน หลักฐาน ข้อเท็จจริงเพียงพอต่อการวินิจฉัยแล้ว อีกทั้ง ศาลรัฐธรรมนูญยังยกคาร้องขอเบิกตัวคุณอานนท์ นำภา และคุณภาณุพงศ์ จาดนอก ซึ่งขณะนี้ทั้งสองท่าน ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ฉะนั้น จึงมิอาจเรียกได้ว่ากระบวนการไต่สวนในครั้งนี้ เป็นกระบวนการอันสถิตไว้ซึ่ง ความยุติธรรม
.
ประการที่สอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ยึดถือหลักการที่สาคัญที่สุด ประการหนึ่ง คือ The king can do no wrong พระมหากษัตริย์จะทรงกระทาผิดมิได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกการกระทำ ของพระมหากษัตริย์ถูกต้องเสมอ เพราะพระองค์จะทรงมีพระราชอำนาจในการกระทำอันใดจากัดเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เนื่องจากพระมหากษัตริย์จะต้องทรงดารงพระองค์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและดารงพระราชสถานะเป็นประมุขของประเทศ ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ จุดมุ่งหมายมิใช่เพื่อหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แห่งพระมหากษัตริย์ หากแต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและถกเถียงถึงมูลเหตุแห่งการเสื่อม พระเกียรติ และช่วยส่งเสริมให้สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยธำรงไว้อย่างมั่นคง และสมพระเกียรติยศ
.
ประการที่สาม ถ้อยวลีของคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในประเทศไทยนั้น ถูกปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 อันเป็นผลพวงมาจากการรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 ดังนั้น เหตุผลการวินิจฉัยของศาลที่อ้างว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 ได้บัญญัติ ให้ เรียกระบอบการปกครองว่า “เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จึงไม่อาจเชื่อถือได้
.
ประการที่สี่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ สะท้อนถึงเจตนารมณ์ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของ ปวงชนชาวไทยมาโดยตลอด เพียงแต่ผู้ใช้อานาจนั้นคือ พระมหากษัตริย์ ผ่านกลไกภายใต้รัฐธรรมนูญ มิได้สะท้อนว่าอานาจ อธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ ดังนั้น เหตุผลการวินิจฉัยของศาลที่อ้างถึงประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยตั้งแต่ สมัยอาณาจักรสุโขทัยจึงไม่สมเหตุสมผล
.
ประการสุดท้าย การเคลื่อนไหวทางการเมืองและการชุมนุมของผู้ถูกร้องและประชาชนชาวไทยในช่วงเวลา ที่ผ่านมา เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมอันได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ทุกประการ ปราศจากเจตนาที่จะล้มล้างการปกครองของประเทศ มิใช่เป็นการกระทำอันก่อให้เกิดการรัฐประหาร เฉกเช่นในอดีตที่ผ่านมา ฉะนั้น การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นการด้อยค่าสิทธิเสรีภาพของปวงชน ชาวไทยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และทาให้ประชาชนหมดสิ้นศรัทธาที่มีต่ออานาจตุลาการและวงการนิติศาสตร์ประเทศไทย
.
เมื่อลมวสันตฤดูแห่งการเปลี่ยนแปลงได้พัดพามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้แล้ว ท่านมิอาจสร้างกาแพงขวางกั้นลม มิเช่นนั้นกระแสลมนี้จะทวีความรุนแรงเป็นพายุที่พัดพาเศษซากศักดินาล้าหลังคร่าครึ ให้พากันพังทลายลงไปทั้งระบบ เมื่อเลือด ราษฎรที่ถวิลหาประชาธิปไตย ถูกทำให้หลั่งลงบนผืนแผ่นดินนี้ สิ่งที่ท่านได้กลับมาจะมีเพียงสิ่งเดียว คือไฟโลกันตร์แห่งการต่อสู้ของพี่น้องประชาชนจะลุกโชนขึ้นอย่างควบคุมมิได้ และสุดท้ายประชาชนจะเป็นสถาบันเดียวที่คงอยู่สถาพรในพื้น แผ่นดินนี้ชั่วกัลปาวสาน
.
11 พฤศจิกายน 2564
.
กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเยาวชน ภาคเหนือตอนล่าง
กลุ่มนิสิต พรรคชาวดิน
คณะกรรมการกลางบริหาร องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (10 ตําแหน่ง)
แนวร่วมนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามเพื่อประชาธิปไตย
พรรคก้าวใหม่
พรรคโดมปฏิวัติ
พรรคป๋วยก้าวหน้า
พรรคเสรีธรรมศาสตร์
พรรคแสงโดม
สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้
สภานักศึกษา องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี
สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
สโมสรนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้
องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร
องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
องค์การบริหาร องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
องค์การบริหาร องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน




ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว

คำเตือนของ "ปรีดี พนมยงค์"
.
(ที่มาบทสัมภาษณ์ "ปรีดี" โดย "ขรรค์ชัย บุนปาน" จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับประจำวันที่ 13 ตุลาคม 2517)
.
“การมองการณ์ไกลย่อมมีด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายสังคมนิยมที่แท้จริง และทั้งฝ่ายขวา เท่าที่ผมได้สังเกตมาในฝรั่งเศส คือทางฝ่ายซ้ายของฝรั่งเศสเคยขอแก้อายุของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจาก 21 เป็น 18 ปี เขาได้เรียกร้อง แต่ว่าฝ่ายขวายังไม่ยอม
.
“ทีนี้ในระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดี ครั้งเลือกตั้งเป็นการชิงชัยกันอย่างหวุดหวิด ฝ่ายซ้ายก็มีนโยบายอย่างเดียวคืออันนั้น ที่จะแถลงออกมา แต่ทางฝ่ายขวายังลังเล
.
“แต่ว่าหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่แล้วมา ดัสแตงค์ (วาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง) ได้รับเลือก ซึ่งท่านก็ชนะไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ทีนี้ถึงแม้ว่าพวกฝ่ายซ้ายเขาเป็นเสียงข้างน้อยในสภา เขาก็พยายามเสนอร่างฯ ให้แก้ไข ฝ่ายขวาเขาก็มองการณ์ไกล ความจริงเขาก็คัดค้านก็ได้ แต่เขามองการณ์ไกล เห็นว่ารั้งเอาไว้ไม่ได้
.
“การเรียกร้องนี้เข้มแข็งและมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ฝ่ายขวาเขาจึงได้บัญญัติเรื่องกฎหมายนี้ โดยไม่แก้แต่เพียงอายุที่มีสิทธิ์เลือกตั้งเท่านั้น แต่ว่าแก้กฎหมายว่าด้วยการบรรลุนิติภาวะจาก 22 ลงเหลือ 18 ด้วย
.
“ฝ่ายเด็กอายุ 18 มันก็มาจากหลายตระกูล เท่าที่ผมคุยด้วยเขาก็ดีใจที่ได้บรรลุนิติภาวะ ทีนี้ฝ่ายขวาเขาไม่กลัว เขาแก้หมดเลย ไม่แก้เฉพาะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเท่านั้น ทีนี้มันก็ไม่แน่ว่าการเลือกตั้งคราวหน้าว่า เด็กอายุ 18 เขาจะไปลงให้ฝ่ายซ้ายหมด ฝ่ายขวาเขาก็จะต้องได้เหมือนกัน
.
“นี่หมายความว่าการมองการณ์ไกลของเขา
.
“ก่อนการเลือกตั้ง นักศึกษาฝรั่งเศสเขาก็มีการต่อสู้กับทหารตำรวจ มีการปิดป้ายอะไรกันอยู่ตั้งหลายเดือน
.
“ถ้าหากฝ่ายขวายังดื้อดึงว่า 21 ปีดีแล้ว เพราะว่ากฎหมายนี่มันมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว ตั้งแต่สมัยโค่นนโปเลียนโน่น ไม่ได้ ฉันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นจารีตนิยม ถ้าดื้อดึงเด็กอายุ 18 ก็ไม่พอใจ และก็นำไปสู่การเดินขบวน การปะทะกัน
.
“แต่ว่าเราก็ต้องการทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ของเขามองการณ์ไกล ถ้าเราเป็นฝ่ายขวาก็ไม่ควรมีความคิดแบบจารีตนิยมจนถอนตัวไม่ขึ้น
.
“อย่างของฝรั่งเศส นายดัสแตงค์และเมียท่านก็สืบตระกูลมาจากนโปเลียนโดยสายเลือด แต่เขาก็ไม่คอนเซอร์เวตีฟเสียจนไม่ลืมหูลืมตา ส่วนใหญ่ของพรรคเขาก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เขาก็ได้ทั้งประโยชน์ด้านความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและด้านการเมือง
.
“นับตั้งแต่กฎหมายนี้ออกมา ไม่มีการแสดงกำลังของพวกเยาวชน ...
.
“ถึงแม้จะเป็นขวาอยู่ แต่ว่าเขาก็ไม่ถึงจะเป็นคอนเซอร์เวตีฟอย่างร้ายแรง วิธีที่เขาทำอย่างนี้ไม่ได้เสียประโยชน์ แต่เป็นการหวังประโยชน์ระยะยาว
.
“คุณจะมองอะไรโดยทิฐิมานะไม่ได้ มัน ‘สูญ’ นะ มันนำไปสู่ความ ‘สูญ’ ถ้าเขาไม่ทำอย่างนี้
.
“หนึ่ง จะเกิดความไม่พอใจ
.
“สอง จะรั้งเอาไว้ได้หรือ
.
“มันอาจจะป้องกันไว้ได้หลังเลือกตั้ง 3-4 ปี แต่ว่าพลังอันนี้ต้านไว้ไม่ไหว เขาทำแบบนี้ อย่างน้อยเด็กอายุ 18 แทนที่จะไปทางโน้น (ซ้าย) หมด เขาก็มีมาทางนี้ (ขวา) ด้วย ...”




ข้อเท็จจริงที่ไม่กระจ่างในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
.
10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ผลงาน "ช้ินโบว์แดง" อ่านคำวินิจฉัยในคดี "ล้มล้างการปกครอง" สั่งว่า การปราศรัยของอานนท์ นำภา, ไมค์ ภาณุพงศ์, รุ้ง ปนัสยา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เข้าข่ายการกระทำที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 สั่งให้ทั้งสามคนและองค์กรเครือข่ายเลิกการกระทำดังกล่าวต่อไปในอนาคตด้วย
.
ก่อนเริ่มอ่านคำวินิจฉัย ฝ่ายผู้ถูกร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนพยานก่อน โดยทนายความขอให้ศาลไต่สวนผู้ถูกร้องทั้งสามคน และขอนำสืบพยานที่เป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และรัฐธรรมนูญ อีก 5 คน โดยพยานบางคนเดินทางมาศาลเพื่อเตรียมเข้าไต่สวนในวันนี้ด้วย ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า "พยานหลักฐานเพียงพอ" ที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ มีคำสั่งให้ยกคำร้อง และไม่ไต่สวนพยานที่ผู้ถูกร้องเสนอมา
.
หลังจากนั้น กฤษฎางค์ นุตจรัส ผู้รับมอบฉันทะจาก อานนท์ นำภา ได้ขอชี้แจงต่อศาลว่า ได้รับมอบหมายจากอานนท์ว่า หากไม่ได้รับอนุญาตให้มีการไต่ส่วนให้ตนออกจากห้องพิจารณาคดี เนื่องจากเห็นว่าไม่มีโอกาสต่อสู้คดี เพราะตามคำร้องทนายขอให้เบิกตัวอานนท์มาเบิกความต่อศาล ด้าน รุ้ง-ปนัสยา กล่าวว่า "หนูไม่ได้เป็นนักเรียนกฎหมาย หนูไม่ได้รู้กฎหมายอะไรก็อาจจะรู้น้อยนะคะเรื่องนี้ แต่หนูเข้าใจว่า การได้มาซึ่งความยุติธรรม อย่างน้อยควรจะต้องรับฟังทุกอย่างเท่าที่จะได้รับฟังได้ ซึ่งวันนี้เอง...อาจารย์ส.ศิวรักษ์มารออยู่ก็พร้อมแล้วที่จะไต่สวนถ้าศาลอนุญาต แต่ถ้าวันนี้ศาลไม่อนุญาตให้มีการไต่สวนและจะให้หนูรับฟังคำวินิจฉัยเลย โดยที่ทางหนูเองไม่ได้มีโอกาสที่จะแสวงหาความจริงเพิ่มเติมให้ศาลรับทราบเลย หนูก็คงต้องขอออกจากห้องพิจารณาเหมือนกัน" จากนั้นรุ้ง และทนายความทั้งหมดก็เดินออกจากห้องพิจารณาคดี
.
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายว่า กรณีนี้ศาลใช้ระบบไต่สวน ซึ่งศาลแสวงหาข้อเท็จจริงได้ และศาลได้แสวงหาข้อเท็จจริงจากหลายๆ ฝ่าย จนได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนที่สามารถจะวินิจฉัยได้ ศาลจึงสั่งงดการไต่สวน เป็นการสั่งตามที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนการจะไม่ฟังเป็นสิทธิของผู้รับมอบฉันทะ
.
ส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า "ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงข้อกล่าวหา เอกสารประกอบคำร้องและพยานหลักฐานต่างๆที่อัยการสูงสุด ผู้กำกับการสภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี, เลขาธิการสภาความมั่นคง, ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ, อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ"
.
เท่ากับว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้แสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีกจากหลายแหล่ง ซึ่งล้วนเป็นข้อเท็จจริงจากหน่วยงานของรัฐ หน่วยความมั่นคง ที่ส่งให้ศาล ขณะที่ศาลไม่ได้รับฟังข้อเท็จจริงที่สำคัญจากตัวผู้ถูกร้องเอง ซึ่งต้องการให้ศาลไต่สวนแต่ศาลกลับปฏิเสธ
.
แม้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจได้ว่า ข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วเพียงพอหรือไม่ จำเป็นต้องไต่สวนพยานเพิ่มหรือไม่ แต่การวินิจฉัยคดีทุกคดีศาลรัฐธรรมนูญก็ยังผูกพันที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อศาลในการพิจารณาคดีเท่านั้น ไม่อาจเอาความเข้าใจส่วนตัวจากการติดตามข่าวสารบ้านเมืองมาใช้ได้ แต่ในคำวินิจฉัยคดีนี้มีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการชุมนุมของผู้ถูกร้องทั้งสาม ที่ศาลรัฐธรรมนูญยกมาเป็นเหตุผลในการทำคำวินิจฉัย ซึ่งเชื่อได้ว่า หากผู้ถูกร้องทั้งสามได้มีโอกาสเบิกความต่อศาล จะต้องยืนยันว่า ข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่มีอยู่หรือไม่ได้เกิดขึ้น
.
จึงน่าสงสัยว่า ข้อเท็จจริงเหล่านี้ศาลรัฐธรรมนูญหยิบยกขึ้นมาจากที่ใด มีหน่วยงานใดส่งข้อมูลมาให้ และการที่ศาลนำมาใช้เป็นเหตุในการทำคำวินิจฉัยทันทีโดยไม่รับฟังข้อเท็จจริงจากตัวผู้ร้องนั้น เป็นการทำคำวินิจฉันที่ถูกต้องแล้วหรือไม่??
อ่านต่อ https://ilaw.or.th/node/6012




iLaw

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เวลา 15.20 น. ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มอ่านคำวินิจฉัยคดีปราศรัยล้มล้างการปกครองว่า เรื่องพิจารณาที่ 19/2563 คำวินิจฉัยที่ 19/2564 วันที่ 10 เดือนพฤศจิกายน 2564 ระหว่างนายณฐพร โตประยูร ผู้ร้อง นายอานนท์ นำภา ที่หนึ่ง นายภาณุพงศ์ จาดนอก ที่สอง และนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่สาม นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่สี่ นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ที่ห้า นางสาวสิริพัชระ จึงธีรพาณิชย์ ที่หก นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่เจ็ด นางสาว อาทิตยา พรหรหม ที่แปด ผู้ถูกร้อง
เรื่องคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พยานหลักฐานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สาม เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 หรือไม่
ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจง พยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งบันทึกเสียงการปราศรัยของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สาม ฟังเป็นยุติว่า ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สามปราศรัยในที่สาธารณะหลายครั้ง หลายสถานที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2563 เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สามอภิปรายเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยข้อเรียกร้องสิบประการคือ
๐ หนึ่ง ยกเลิกมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญที่ว่า ผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้และเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร
๐ สอง ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนใช้เสรีภาพแสดงความคิดต่อสถาบันกษัตริย์ได้และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน
๐ สาม ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2562 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลังและทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน
๐ สี่ ปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
๐ ห้า ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่นและให้หน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็นเช่น คณะองคมนตรีนั้นให้ยกเลิกเสีย
๐ หก ยกเลิกการบริจาค การรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลเพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด
๐ เจ็ด ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ
๐ แปด ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้ศึกษาเชิดชูสถาบันกษัตริย์เพียงแต่ด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด
๐ เก้า สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์ หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆกับสถาบันกษัตริย์
๐ สิบ ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหาร
กรณีมีข้อโต้แย้งที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า คำร้องคลุมเครือไม่ชัดเจนและไม่ครบองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่
เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง เป็นกรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า การปราศรัยของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สาม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีเนื้อหาบิดเบือน จาบจ้วง ล้อเลียน หมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสถาบันกษัตริย์ เป็นการกระทำที่มีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยอ้างเอกสารต่างๆรวมทั้งถอดคลิปเสียงที่แสดงถึงการกระทำของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สามกับพวก ประกอบมาท้ายคำร้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำร้อง เช่นนี้คำร้องจึงมีความชัดเจนและเพียงพอที่จะให้ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สามเข้าใจสภาพของการกระทำที่เป็นข้อกล่าวหา สามารถต่อสู้คดีได้ ดังนั้นข้อโต้แย้งข้อนี้ของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยมีว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 หรือไม่
พิจารณาเห็นว่า หลักการตามรัฐธรรมนูญวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คุณค่าทางรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นแก่นของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขประกอบด้วยคุณค่าสำคัญได้แก่ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญหมวด 3 ทั้งนี้การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมีการบัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 และมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 25 วรรค 1 บัญญัติว่า สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่ไม่ได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการนั้นได้และได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดหลักประกันเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งสามารถแยกได้ออกเป็นสองส่วน ดังนี้ ส่วนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะและส่วนที่รัฐธรรมนูญหรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติให้ไว้ ปวงชนชาวไทยย่อมมีสิทธิและเสรีภาพดังกล่าว ทั้งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงให้การคุ้มครองการใช้สิทธิหรือเสรีภาพทุกกรณี ทั้งที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะและที่ไม่ได้บัญญัติ ไม่ได้มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นห้ามหรือจำกัดไว้ โดยมีเงื่อนไขว่า การใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองนั้นต้องไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
เมื่อบุคคลมีสิทธิและเสรีภาพย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามมาด้วย หน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิหรือเสรีภาพทางการเมืองปรากฏชัดในรัฐธรรมนูญ หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50 อนุมาตรา 1, 3 และ 6 ที่กำหนดให้บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใดที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม
มาตรา 49 วรรค 1 บัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ วรรค 2 บัญญัติว่า ผู้ใดทราบว่า มีการกระทำตามวรรค 1 ย่อมมีสิทธิร้องขอต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ วรรค 3 บัญญัติว่า ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอหรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องจะขอยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้และวรรค 4 บัญญัติว่า การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรค 1
รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศที่เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งกำหนดให้ผู้ที่ทราบว่า มีการกระทำอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีสิทธิที่ร้องต่ออัยการสูงสุดและในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามคำร้องขอหรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเองได้ นอกจากนี้ยังกำหนดให้การดำเนินการตามมาตราดังกล่าวไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ดังนั้นรัฐธรรมนูญมาตรา 49 มุ่งหมายให้ปวงชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้องคุ้มครองและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการทำหน้าที่ตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยหลักการตามมาตรา 49 วรรค 1 บัญญัติเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 มาตรา 35 บัญญัติไปในทำนองเดียวไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เป็นการวางหลักการเพื่อปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจากภัยคุกคามหรือเกิดจากการกระทำซึ่งเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในลักษณะมุ่งหมายให้หลักการและคุณค่าทางรัฐธรรมนูญที่รองรับการมีอยู่ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ให้ล้มเลิกหรือสูญเสียไป
หลักการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 2 ปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 63 และบัญญัติในทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 68 โดยเป็นการบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดว่า เมื่อมีผู้ทราบการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บุคคลผู้นั้นย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว ทั้งนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 บัญญัติว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ว่ากรณีดังกล่าว ถ้าอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอหรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเองได้ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการรับรองสิทธิของพลเมืองในการปกป้องรัฐธรรมนูญจากการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในประการที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ดังนั้นการใช้สิทธิปกป้องรัฐธรรมนูญถือเป็นกลไกหนึ่งของระบบยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญ โดยบุคคลผู้ใช้สิทธิในการปกป้องรัฐธรรมนูญจะต้องยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำร้องก่อนเสมอด้วย พร้อมขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งการวินิจฉัยให้เลิกการกระทำดังกล่าว ไม่ว่าอัยการสูงสุดจะมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามคำร้องขอหรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ รัฐธรรมนูญก็รับรองสิทธิของผู้ร้องในการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เอง การรับรองสิทธิของผู้ร้องในกรณีดังกล่าวเป็นการสร้างหลักประกันธำรงไว้ซึ่งหลักการอันเป็นสาระสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อใดที่ปรากฏการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำในลักษณะดังกล่าวย่อมถูกกล่าวหาเป็นคดีในศาลรัฐธรรมนูญได้
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงข้อกล่าวหา เอกสารประกอบคำร้องและพยานหลักฐานต่างๆที่อัยการสูงสุด, ผู้กำกับการสภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี, เลขาธิการสภาความมั่นคง, ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ, อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สอง ที่สามจัดเวทีปราศรัยเวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในการปราศรัยของผู้ถูกร้องที่หนึ่งกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า ที่เรามาชุมนุมกันในวันนี้ เพื่อจะยืนยันว่า นอกจากข้อเสนอสามข้อที่เราพูดกันอยู่ทุกเวที ความจริงมันมีข้อเสนอระหว่างบรรทัดที่เป็นข้อเสนอสำคัญที่สุดคือการแก้ปัญหาการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และผมขอยืนยันอีกครั้งว่า นี่ไม่ใช่ม็อบล้มเจ้า ไม่ใช่ม็อบจาบจ้วง แต่เป็นม็อบที่พูดความจริงเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมือง ประเด็นสำคัญที่ผมจะพูดวันนี้คือ ข้อเรียกร้องระหว่างบรรทัดของพวกเรา ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นหมายถึงกษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมืองและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ พระราชกรณียกิจอันใดที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวการเมือง ต่อไปนี้ต้องถูกตั้งคำถามดังๆต่อสาธารณะ เราอยากเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์ปรับตัวเข้าหาประชาชน ไม่ใช่พวกเราปรับตัวเข้าหาสถาบันพระมหากษัตริย์ การอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเป็นสาระสำคัญของการปกครองที่พวกเรามีอยู่ แต่ปัญหามันเกิดขึ้นเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์พยายามจะขยายพระราชอำนาจผ่านการรัฐประหาร ปี 2557 พระมหากษัตริย์ก็ยังเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต้องไม่เซ็นรับรองการรัฐประหาร หากการรัฐประหารเกิดขึ้นสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น
ผู้ถูกร้องที่สองกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า นับแต่คณะราษฎรนำโดยท่านปรีดี พนมยงค์และท่านพระยาพหลพลพยุหเสนาได้มีการปฏิวัติประเทศสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยและให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปัจจุบันผมคิดว่า การใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังใช้ยาวมาถึงรัชกาลปัจจุบันเพราะกษัตริย์อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยทั้งสามอำนาจ อำนาจตุลาการ อำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ ถามว่า ทำไมต้องพูดแบบนี้ ท่านเคยรู้หรือไม่ครับว่า หมวดที่ 2 ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดไม่สามารถฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้ เช่นนี้แล้วแสดงให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของ เจตนาการพูดของผมในครั้งนี้คือ ต้องการให้พระมหากษัตริย์อยู่ในที่ที่เหมาะสมและสามารถอยู่ร่วมกับประชาชนคนไทยได้ ที่บอกว่า อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยคือ การอยู่เหนืออำนาจของประชาชนโดยการที่ประชาชนไม่สามารถแตะต้องได้เพราะถ้าใครแตะต้องคนนั้นต้องโดนมาตรา 112
และผู้ถูกร้องที่สามอ่านประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมฉบับที่หนึ่งมีสาระสำคัญสรุปว่า นับแต่คณะราษฎรอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยหวังว่า ประเทศจะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่เหนือระบอบการเมืองอย่างแท้จริง แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ พระมหากษัตริย์ยังคงทรงอำนาจแทรกแซงเหนือการเมือง เมื่อเกิดการรัฐประหาร กษัตริย์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธย...รวมถึงถ่ายโอนงบประมาณแผ่นดินเข้าเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรงใช้พระราชอำนาจนอกกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติให้สามารถเสด็จประทับนอกราชอาณาจักรได้โดยไม่ต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์...เห็นได้ว่า พวกเขาเหล่านี้สมประโยชน์กัน เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ราษฎรทั้งหลายจงรู้เถิดว่า กษัตริย์ประเทศเรานี้ไม่ได้ทรงอยู่เหนือการเมือง หากแต่เป็นรากเหง้าของปัญหาการเมืองตลอดมา นอกจากจะทรงละเลยหน้าที่การเป็นประมุขที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนแล้ว ทรงเสด็จไปเสวยสุขประทับอยู่ต่างแดนโดยใช้เงินภาษีของราษฎร ทั้งที่ราษฎรประสบความยากลำบาก อีกทั้งยัง...สัมพันธ์อันแนบแน่นกับกลุ่มกบฏผู้ก่อการรัฐประหารล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจึงเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวนสิบข้อ
รัฐธรรมนูญที่มีบทลักษณะการห้ามใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 63 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 68 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 49 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 ได้วางหลักคำว่า ล้มล้างว่า เป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญที่สุดวิสัยที่จะแก้ไขให้กลับคืนได้ นอกจากนั้นเป็นการกระทำที่มีเจตนาที่จะทำลาย หรือล้างให้สูญสลายหรือสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่หรือมีอยู่อีกต่อไป
การใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและทรงอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมืองตามหลักกกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้และให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ห้ามผู้ใดล่วงละเมิด หมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชนุภาพของพระมหากษัตริย์ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะพอควร โดยมีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด
พระมหากษัตริย์กับชาติไทยดำรงอยู่คู่กัน เป็นเนื้อเดียวกันนับแต่อดีตถึงปัจจุบันและจะดำรงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคต แม้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว ปวงชนชาวไทยยังเห็นพ้องร่วมกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นสถาบันหลักของชาติไทยและถวายความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้ดังปรากฏในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 โดยมาตรา 1 บัญญัติว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของราษฎรทั้งหลาย มาตรา 2 บัญญัติว่า เมื่อมีบุคคลและคณะบุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร ดังที่จะกล่าวต่อไปในรัฐธรรมนูญคือ หนึ่ง กษัตริย์ สอง สภาผู้แทนราษฎร สาม คณะกรรมการราษฎร สี่ ศาล มาตรา 3 บัญญัติว่า กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่นๆที่จะมีกฎหมายไว้เฉพาะก็ดีจะต้องกระทำในนามกษัตริย์
ต่อมาได้มีการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับดังกล่าว บททั่วไปมาตรา 2 บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้...หมวด 3 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ มาตรา 5 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม มาตรา 6 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 7 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี มาตรา 8 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการผ่านศาลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย จากบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามดังกล่าว
เห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์การปกครองของไทยนี้ อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอดนับแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของไทยมีพระราชภารกิจที่สำคัญยิ่งเพื่อรักษาความอยู่รอดของบ้านเมืองและประชาชน โดยจะต้องดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยเพื่อนำกองทัพต่อสู้ปกป้องและขยายราชอาณาจักรตลอดเวลาในยุคก่อนที่ผ่านมา ประกอบกับพระมหากษัตริย์ทรงถือหลักการปกครองตามหลักธรรมแห่งพุทธศาสนาและยึดถือทศพิธราชธรรมเป็นหลักในการปกครองประเทศ พระมหากษัตริย์ของไทยจึงเป็นที่เคารพและศรัทธาเป็นศูนย์รวมจิตใจและความเป็นหนึ่งเดียวกันของปวงชนชาวไทยมาโดยตลอดเป็นเวลาหลายร้อยปี
ดังนั้นแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยเมื่อปี พ.ศ. 2475 คณะราษฎรเพื่อก่อการเปลี่ยนแปลงและประชาชนชาวไทยยังเห็นพ้องกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์เพื่อทรงเป็นสถาบันหลักที่ยังต้องคงอยู่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าว โดยเรียกรูปแบบการปกครองนี้ว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และราชอาณาจักรไทยได้คงไว้ซึ่งการปกครองระบอบนี้ต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำนองเดียวกันกับประเทศต่างๆที่มีความเป็นมาของชาติและเอกราชแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันประการหนึ่งคือเอกรัฐหรือสัญลักษณ์ของชาติ รวมถึงทรัพย์สมบัติของชาติจะมีกฎหมายห้ามกระทำการอันทำให้มีมลทิน ต้องเสื่อมค่า เสียหายหรือชำรุด
ข้อเรียกร้องเรืองการยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้รับรองพระราชฐานะขององค์พระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นประมุขของรัฐ ซึ่งผู้ใดจะกล่าวหาละเมิดไม่ได้นั้นจึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง
การกระทำของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สามเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิถีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคายและยังจะละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนอื่นที่เห็นต่างได้ด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้คนอื่นกระทำตาม ยิ่งกว่านั้นการกระทำของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สาม มีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย แม้การปราศรัยของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สามเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จะผ่านไปแล้ว ภายหลังจากที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ยังปรากฏว่า ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สามยังคงร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนกลุ่มต่างๆโดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม วิธีการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลผู้ปราศรัย ใช้กลยุทธ์เป็นแบบไม่มีแกนนำที่ชัดเจน แต่มีรูปแบบการกระทำอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน
การเคลื่อนไหวของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สาม และกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมีลักษณะเป็นขบวนการเดียวกันที่มีเจตนาเดียวกันตั้งแต่แรก ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สามมีพฤติการณ์กระทำซ้ำและกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่องโดยมีการกระทำกันเป็นขบวนการ ซึ่งมีลักษณะของการปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ มีลักษณะของการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม
ระบอบประชาธิปไตยมีหลักการสำคัญสามประการคือ เสรีภาพ หมายถึงทุกคนมีสิทธิที่จะคิด พูดและทำอะไรได้ตามที่ไม่มีกฎหมายห้าม เสมอภาคหมายถึงทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ภราดรภาพหมายถึงบุคคลทั้งหลายมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างพี่น้อง มีความสามัคคีกัน การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ด้วยความผูกพันของปวงชนชาวไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีมานับหลายร้อยปี พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขจึงได้รับความยินยอมจากปวงชนชาวไทย ผู้ทรงใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล สถาบันพระมหาษัตริย์ของไทยเป็นเสาหลักสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นการกระทำใดๆที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าจะโดยวิธีการพูด การเขียน หรือการกระทำต่างๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่าหรือทำให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันกษัตริย์
การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สาม ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย การกระทำของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สาม เป็นการอ้างสิทธิหรือเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักความเสมอภาคและภราดรภาพ ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สามใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างจากบุคคล รวมถึงล่วงละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่นที่เห็นต่างด้วยการด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่นด้วยข้อเท็จจริงที่บิดเบือนจากความเป็นจริง ปรากฏข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สามมีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายสำหรับการใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง ในเหตุการณ์ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สามมีส่วนจุดประกายในการอภิปราย ปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติอันเป็นการทำลายหลักความเสมอภาคและภราดรภาพ ผลของการกระทำของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สอง ที่สามนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในที่สุด
นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า การชุมนุมหลายครั้งมีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยลบแถบสีน้ำเงินซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์ออกจากธงไตรรงค์ ข้อเรียกร้องสิบข้อของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สามเช่น การยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ การยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล การยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ เป็นข้อเรียกร้องที่ทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไม่ตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติกันมาตลอดมา
ทั้งพฤติการณ์และเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทำของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สามแสดงให้เห็นถึงมูลเหตุจูงใจของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สามว่า การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สาม มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิใช่เป็นการปฏิรูป การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สอง และที่สาม เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริตเป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สาม รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่นำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
รัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 2 ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ ด้วยเหตุข้างต้นจึงวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สอง และที่สาม เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1 และสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สอง และที่สาม รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามมาตรา 49 วรรค 2
**มีการแก้ไขเวลา 21.04 น.**


ขับเคลื่อนโดย Blogger.