Posted: 12 Dec 2018 07:31 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-12-12 22:31


นิธิ เอียวศรีวงศ์

เมื่อธุรกิจการศึกษาของสิงคโปร์จะนำโรงเรียนของตนเข้าตลาดหลักทรัพย์ น่าอัศจรรย์ที่ปฏิกิริยาของกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “นักการศึกษา” เป็นไปในทางเดียวกัน คือต่อต้านคัดค้าน แต่ไม่ได้ต่อต้านคัดค้านที่คุณภาพของการศึกษา เพราะโรงเรียนสิงคโปร์ดังกล่าวได้เปิดดำเนินการในเมืองไทยอยู่แล้ว ซ้ำยังมีโรงเรียนเอกชนบางแห่งของคนไทยโฆษณาด้วยว่าใช้หลักสูตรของสิงคโปร์ในการสอน

ประเด็นที่คัดค้านนั่นแหละครับที่น่าอัศจรรย์ เพราะต่างยกเอาจุดอ่อนของการศึกษาไทยเองเป็นข้อขัดข้องที่จะให้นายทุนโรงเรียนเอากิจการเข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงดูเหมือนเป็นการหน้าไหว้หลังหลอก ที่น่าเศร้าก็คือ ไม่ได้หลอกสิงคโปร์ แต่หลอกคนไทยด้วยกันเอง

ประเด็นที่คัดค้านกันมากที่สุดก็คือ ถ้าโรงเรียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ จะทำให้การศึกษากลายเป็นธุรกิจเต็มร้อย เวลานี้ประเทศไทยมีโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศกว่า 4,000 แห่ง (ไม่นับโรงเรียนนอกระบบขององค์กรศาสนาและองค์กรสาธารณกุศลอื่นๆ) พวกเขาคิดว่าโรงเรียนเหล่านี้ประกอบการเพื่ออะไร หากไม่ใช่ผลกำไรทางธุรกิจ

อันที่จริงย้อนกลับไปดูประวัติการศึกษาของเกือบทุกประเทศทั่วโลก นับตั้งแต่ภาครัฐและภาคธุรกิจต้องการบุคลากรที่มีการศึกษามากขึ้น การศึกษาก็หลุดจากมือองค์กรศาสนามาอยู่ในมือรัฐและธุรกิจทั้งนั้น มองให้ลึกลงไปกว่ากฎหมาย นักคิดบางคนคิดว่ารัฐจัดการศึกษาเพื่อเปลี่ยนพลเมืองให้กลายเป็นแรงงานคุณภาพของการผลิตแบบใหม่ด้วยซ้ำ (เช่น เสียงระฆังเรียกเด็กเข้าห้องเรียน คือการฝึกลูกชาวนาให้เชื่อฟังเสียงหวูดโรงงาน) พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้แต่การศึกษาที่รัฐเป็นผู้จัดและควบคุม ก็มีเป้าหมายทางธุรกิจเป็นหลัก

โรงเรียน “ทางเลือก” ทั้งหลาย ทั้งที่คนรวยจัดให้ลูกหลานคนรวยด้วยกันเอง และที่ชาวบ้านจัดให้ลูกชาวบ้าน คือการดิ้นรนเพื่อจะเสริมสร้างทักษะบางอย่างที่เห็นว่ามีคุณค่ากว่าทักษะโรงงานและออฟฟิศไม่ใช่หรือ (และหากดูจากค่าเล่าเรียนของโรงเรียนประเภทนี้ ก็ธุรกิจหากำไรธรรมดาๆ นี่เอง เพียงแต่เจ้าของโรงเรียนพร่ำพูดอุดมการณ์ทางการศึกษาได้ประทับใจกว่าคนอื่นเท่านั้น)

หากรังเกียจ “ธุรกิจ” ในการศึกษา ก็น่าจะเคลื่อนไหวผลักดันให้โรงเรียนทั้งของรัฐและเอกชนมีเสรีภาพในการก่อรูปทักษะที่หลากหลายกว่าโรงงานและออฟฟิศ ซึ่งเท่ากับท้าทายสิ่งที่เป็น “มาตรฐาน” ทางการศึกษาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร, การวัดผลแบบโอเน็ต, การสอบแข่งขันด้วยข้อสอบชนิดเดียว, เครื่องแบบ ฯลฯ

ในขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิเสธว่า ทักษะโรงงานและออฟฟิศก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งนักเรียนบางคน (น่าจะมากเสียด้วย) ย่อมมีสิทธิ์จะเลือก

ธุรกิจหรือไม่ธุรกิจไม่เห็นจะเกี่ยวตรงไหน นักการศึกษาบางคนแสดงความห่วงใยว่า หากโรงเรียนมุ่งหากำไรทางธุรกิจเสียแล้ว ก็ทำให้คุณภาพทางการศึกษาสูญเสียไปด้วย

คุณภาพและกำไรเป็นของคู่กันในธุรกิจทุกอย่าง นับตั้งแต่กล้วยปิ้งเป็นต้นมา หากโรงเรียนสิงคโปร์ไม่สามารถรักษาคุณภาพทางการศึกษาให้คุ้มกับค่าเทอม พ่อ-แม่เด็กจะโง่ส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนนี้ต่อไปหรือ ตราบเท่าที่ธุรกิจไม่ถูกผูกขาด ย่อมมีโรงเรียนอื่นหรือกล้วยปิ้งเจ้าอื่นซึ่งมีคุณภาพมากกว่าแข่งขันเสมอ

แน่นอนว่าคุณภาพมักหมายถึงต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้น นักธุรกิจจึงพยายามหาวิธีลดคุณภาพโดยไม่ให้ผู้บริโภครู้สึก ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นกับธุรกิจโรงเรียนอย่างเดียว รวมถึงกล้วยปิ้งและข้าวแกงด้วย และนั่นคือเหตุผลที่ในตลาดซึ่งพัฒนาไปไกล มักมีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคหลากหลายชนิด ทั้งที่เป็นของรัฐและเอกชน (ซึ่งมักทำงานได้ดีกว่ารัฐ) คอยตรวจสอบวัดคุณภาพของสินค้าและบริการ พร้อมทั้งแจ้งให้ตลาดได้รับรู้อยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น หากห่วงเรื่องคุณภาพที่ขัดแย้งกับกำไรทางธุรกิจ ก็ควรร่วมมือกันสร้างเสริมสมรรถภาพในการตรวจสอบ ชั่งตวงวัดคุณภาพของการศึกษาที่หลากหลายชนิด (คือไม่ปล่อยไว้ในมือของรัฐเพียงฝ่ายเดียว) จะมีหรือไม่มีโรงเรียนสิงคโปร์ในตลาดหลักทรัพย์ ก็ควรมีสมรรถภาพอย่างนี้อยู่แล้วไม่ใช่หรือ ถึงอย่างไรเราก็มีโรงเรียนเอกชนอยู่แล้วเกิน 4,000 แห่ง ซึ่งดำเนินงานเพื่อผลกำไรทางธุรกิจอยู่แล้ว

เข้าตลาดหลักทรัพย์ก็คือการระดมทุนในต้นทุนที่ต่ำหน่อยเท่านั้น เช่น ต่ำกว่ากู้ธนาคาร หรือยืมเพื่อน แต่ภาระที่เกิดขึ้นคือย่อมถูกกดดันจากผู้ถือหุ้น ซึ่งไม่คิดอะไรมากไปกว่ากำไร โดยไม่ค่อยแคร์ต่อคุณภาพของสินค้าและบริการนัก เพราะหากได้กำไรน้อยกว่าที่คาดก็พร้อมจะขายหุ้นไปซื้อตัวอื่นที่ได้กำไรกว่า แต่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์มักมีผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งมีอำนาจตั้งซีอีโอเอง และนักธุรกิจระดับนั้นรู้ดีว่าจะต้องเอากำไรแค่ไหนจึงจะทำให้ธุรกิจมั่นคงยั่งยืน (แต่ก็ไม่แน่เหมือนกัน ซีอีโอดังๆ ทำบริษัทใหญ่ล้มไม่เป็นท่ามาแยะแล้ว) เช่นเดียวกับเจ้าของโรงเรียนเอกชนสักแห่ง ที่รู้ว่าจะต้องรีดกำไรจากเด็กและผู้ปกครองแค่ไหน และแลกกับบริการระดับใดจึงจะทำให้โรงเรียนอยู่รอด ดังนั้น จึงต้องควบคุมความโลภของตนเอง (ซึ่งสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างเหมือนกัน)

ผมไม่เห็นความต่างที่มีนัยยะสำคัญระหว่างเข้าหรือไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ธุรกิจทั้งสองประเภทถูกควบคุมด้วยการมองผลประโยชน์ระยะยาวก่อนระยะสั้น แต่ทั้งสองประเภทต่างดำเนินการด้วยมนุษย์ ซึ่งอาจล้มเหลวที่จะมองประโยชน์ระยะยาวให้เหนือระยะสั้นได้เท่าๆ กัน

ที่น่าขันและน่าเศร้าที่สุดไปพร้อมกันก็คือ ผู้คัดค้านต่อต้านการนำโรงเรียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็คือ พวกเขาเกรงว่าจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ที่น่าขันก็คือ พวกเขาไม่เห็นหรอกหรือว่า เฉพาะโรงเรียนทั้งของรัฐและเอกชนไทยก็สร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างน่าเกลียดถึงเพียงนี้อยู่แล้ว มหาวิทยาลัยดังสามแห่งของประเทศคือ มหิดล, จุฬาฯ และธรรมศาสตร์ได้งบประมาณมากกว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งรวมกันทั้งประเทศ ยังไม่พูดถึงมาตรฐานของโรงเรียนดังของรัฐในกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่เหนือโรงเรียนทั่วไปอย่างเทียบกันไม่ได้ เวลานี้เรามีโรงเรียนนานาชาติอยู่กว่า 130 แห่ง ซึ่งเก็บค่าเล่าเรียนในราคาที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่อาจส่งบุตร-หลานเข้าเรียนได้

ถ้าพวกเขามองไม่เห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยที่ทนโท่ขนาดนั้น ก็นับเป็นเรื่องเศร้าอย่างร้ายกาจ เพราะหลายคนในบรรดา “นักการศึกษา” เหล่านั้น ล้วนดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เป็นผู้กำหนดความเป็นไปในการศึกษาไทย ทั้งที่มีอยู่เดิม และตั้งขึ้นโดยคณะทหารปัจจุบันที่ยึดอำนาจ

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการจัดการศึกษาแผนใหม่มาแต่ต้น ความแตกต่างระหว่างโรงเรียนที่สร้างขึ้นให้แก่บุตร-หลานเจ้านายและขุนนาง กับโรงเรียน “ประชาบาล” ซึ่งมุ่งจะสอนลูกหลานชาวไร่ชาวนา เกิดขึ้นจากความตั้งใจมาแต่ต้น เพราะจะเตรียมตำแหน่งแหล่งที่ทางการเมืองและสังคมของลูกขุนนางและลูกชาวนาไว้ต่างกัน

ความเหลื่อมล้ำนั่นแหละเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของการจัดการศึกษา

ความเหลื่อมล้ำจึงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเราจน หรือเพราะบังเอิญ แต่เพราะเราต้องการรักษาสังคมที่เหลื่อมล้ำไว้อย่างไม่เสื่อมคลายต่างหาก เหตุใดราชภัฏซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของคนชั้นกลางระดับล่างจึงสามารถดำเนินงานด้วยงบประมาณที่น้อยกว่ามหิดล, จุฬาฯ, ธรรมศาสตร์อย่างเทียบกันไม่ได้ตลอดมา พูดกันตรงไปตรงมาก็เพราะนักศึกษาในราชภัฏเป็นแค่ลูกหลานคนชั้นกลางระดับล่างเท่านั้น เพิ่งเงยหน้าอ้าปากขึ้นมาได้ไม่นานนัก จะเทียบฐานะให้เท่ากับลูกหลานคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปในมหิดล, จุฬา และธรรมศาสตร์ได้อย่างไร

ความเหลื่อมล้ำนั่นแหละคือคุณสมบัติสำคัญของการศึกษาไทย เพื่อผดุงสังคมเหลื่อมล้ำของไทยให้มั่นคงถาวรสืบไป เพราะมันมีผลไปถึงลู่ทางความก้าวหน้า (prospect) ในชีวิตของบัณฑิตด้วย

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ หาก “นักการศึกษา” ด่วนสรุปว่า โรงเรียนสิงคโปร์ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ก็หมายความว่าหลักสูตรและวิธีการสอนของสิงคโปร์นั้น เป็นมาตรฐานการศึกษาที่ดีกว่าของไทย

คำถามที่เกิดขึ้นทันทีก็คือ ถ้าอย่างงั้น ทำไมเราไม่จัดการศึกษาให้เหมือนสิงคโปร์เล่า? อย่าพูดว่าเพราะเราไม่มีเงิน เพราะเงินเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นในการจัดการศึกษาที่ดี ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เราอาจมีมากกว่าสิงคโปร์ซึ่งจะช่วยให้เราจัดการศึกษาได้ไม่เลวไปกว่าเขามากนักก็ได้

แต่คำถามที่น่าสนใจกว่าแก่ผมก็คือ มาตรฐานทางการศึกษามีเพียงมาตรฐานเดียวในโลกหรือ (อย่างที่องค์กรฝรั่งนั่งวัดมาบอกเราทุกปี) ผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะที่เรียกว่าดีนั้นดีแก่ใคร, ดีในเงื่อนไขอะไร, ดีแก่วิถีชีวิตอะไร ฯลฯ กล่าวคือ มีเงื่อนไขอื่นๆ อีกมากที่จะทำให้การศึกษาทั้งในแบบและนอกแบบของสังคมหนึ่งๆ “ดี” หรือ “ไม่ดี”

เสียงประสานของ “นักการศึกษา” ในกรณีนี้ ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาไม่เคยนึกถึงมาตรฐานการศึกษาที่หลากหลายเลย มีอยู่เพียงมาตรฐานของโลกทุนนิยมตะวันตกเพียงอันเดียว ซึ่งอย่างไรเสียสิงคโปร์ก็เลียนมาได้เหมือนและอาจจะเหนือชั้นกว่าตะวันตกด้วยซ้ำ

นี่ก็น่าเศร้าอีกเหมือนกัน ที่เส้นทางเดินชีวิตของเด็กไทยซึ่งหมายถึงสังคมไทยด้วย ถูก “นักการศึกษา” กำหนดเสียแล้วว่า มีอยู่เส้นทางเดียวที่ต้องเดินไปทางนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ก็ถ้าเขา “เก็ง” ผิดล่ะ



เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 ธันวาคม 2561

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ https://www.matichonweekly.com/column/article_154626

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.