สุรพศ ทวีศักดิ์

ยันตระกับอาชีพนักบวชเอกชน

ปรากฏการณ์ยันตระแสดงให้เห็นความจริงว่า "นักบวชคืออาชีพเอกชนในตลาดศรัทธา" ไม่ว่าคุณจะเป็นนักบวชประเภทไหน แต่งเครื่องแบบอย่างไร มีความเชื่อ แนวปฏิบัติอย่างไร คุณก็คือผู้ประกอบอาชีพเอกชนในตลาดศรัทธาและดำรงชีพด้วยปัจจัยสี่, ห้า ฯลฯ และมีรายได้มากหรือน้อยในตลาดศรัทธา
แน่นอนว่า ในตลาดศรัทธามันมี "การทำการตลาด" สร้างความแตกต่าง สร้างจุดขาย นักบวชบางคนบางกลุ่มขายความบริสุทธิ์ถูกต้องตามธรรมวินัย ขายความเป็นพุทธแท้ บางคนขายมุกตลก บางคนขายการปฏิบัติวิปัสสนา ขายการฝึกสมาธิ บางคนบางกลุ่มก็มียศศักดิ์ฐานันดรเป็นจุดขาย ฯลฯ และแต่ละคนแต่ละกลุ่มก็มีกลุ่มลูกค้าของตนเอง
ถ้ายอมรับความจริงว่าเรื่องศาสนา/ศรัทธาเป็นเรื่องความเชื่อส่วนตัว เป็นเสรีภาพส่วนบุคคล มันก็ไม่มีความเชื่ออะไรสูงส่งกว่าอะไร ขึ้นอยู่กับการตัดสินตามรสนิยมของบรรดาผู้เชื่อ ทุกความเชื่อจึงมีสิทธิดำรงอยู่ตราบที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ดังนั้น รัฐต้องไม่ยกให้ความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งสูงส่งหรือมีอภิสิทธิ์เหนือความเชื่ออื่นๆ จึงต้อง #แยกศาสนาจากรัฐ ต้องไม่มีศาสนจักรของรัฐที่มีอำนาจทางกฎหมายปกป้องความเชื่อของกลุ่มตนเองและเอาผิดความเชื่อกลุ่มอื่นๆ ที่แตกต่าง
และอาชีพนักบวชต้องเป็น #อาชีพเอกชน ในตลาดศรัทธาภาคเอกชน หรือตลาดความเชื่อส่วนบุคคลของประชาชน นักบวชต้องไม่มียศ ตำแหน่ง อำนาจทางกฎหมาย และเงินเดือนหรือเงินตอบแทนใดๆ จากภาษีประชาชน
ที่มาภาพ https://www.springnews.co.th/feature/817378


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.