เสมือนอ่านประกาศอิสรภาพและสิทธิมนุษยชน
แถลงการณ์ของ อบจ. นิสิตจุฬา ด้วยมติเอกฉันท์ 29 : 0 ความหมายสำคัญคือ ไม่ใช่ว่าจะมีนิสิตใครคนใดคนหนึ่งสามารถผลักดันให้เรื่องนี้ออกเป็นแถลงการณ์นโยบายที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้ แต่มันเน้นให้เห็นว่า มันเป็นประเด็นที่ตกผลึกแห่งยุคสมัยของคนรุ่นนี้นอกจากนี้ ยังน่าจะหมายรวมได้ว่า นิสิตจุฬาส่วนใหญ่ซึ่งเลือกตัวแทนของพวกเขาไปบริหาร ก็มีทัศนคติไปในทิศทางเดียวกัน คือ สังคมไทยที่มีความศิวิไลยมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพราะนี้คือระบอบประชาธิปไตยสากล คนเท่ากัน
สามย่อหน้าแถลงการณ์ ย่อหน้าแรกสรุปสถานการณ์เรื่องขบวนแบกอัญเชิญพระเกี้ยว ย่อหน้าที่สอง อธิบายปัญหาของสภาพการณ์ที่สำคัญ ส่วนย่อหน้าสุดท้าย คือบทสรุปที่ควรเลิกกิจกรรมนี้
คำสำคัญที่ใช้ สะท้อนถึงปรัชญาแห่งสิทธิมนุษยชน เช่น ระบอบอำนาจนิยม คนไม่เท่ากัน วัฒนธรรมแบบศักดินา สัญลักษณ์ของศักดินา ความโปร่งใส อภิสิทธิ์ชน อำนาจในการบังคับ กิจกรรมที่ล้าหลัง การผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติ
ดังนั้น รัฐบาลของนิสิตจุฬา จึงมุ่งที่จะสร้าง คุณค่าสากล ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม สิทธิมนุษยชน จึงประกาศยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว
กิจกรรมแบกอัญเชิญพระเกี้ยวเข้าสู่สนามฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ก็เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นในยุคการเพิ่มพูนรื้อฟื้นวัฒนธรรมศักดินาที่เริ่มเพิ่มกระแสสูงในทศวรรษ 2500 (อ่านเพิ่ม ทักษ์ เฉลิมเตีรยณ, การเมืองไทยระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ.)
และก็เช่นกัน ฝ่ายนักศึกษาธรรมศาสตร์เองก็เลียนแบบนิสิตจุฬา โดยประดิษฐ "ธรรมจักร" หล่อให้เป็นวัตถุ ดังที่ตั้งอยู่ที่ชั้นล่าง ตึกโดม ท่าพระจันทร์ เพื่อสร้างขบวนแบกตราธรรมจักรเข้าสู่สนามฟุตบอลในต้นทศวรรษ 2510 เพื่อให้เหมือนฝ่ายนิสิตจุฬา (อ่านเพิ่ม ธรรมศาสตร์ การเมืองไทย)
ประกาศอิสรภาพและสิทธิมนุษยชนฉบับนี้ เป็นผลจากปัจจัยสภาพยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ยุคโลกาภิวัตน์ ยุคดิจิตอล ยุคประสบการณ์นิยม ยุคคุณค่าความเป็นคนที่เท่าเทียม ยุคประชาธิปไตยอำนาจเป็นของประชาชน ยุคคนรุ่นใหม่กับคำถามมากมาย เป็นพลังที่กัดกร่อนอำนาจนำที่มีมากว่าครึ่งศตวรรษลงไป ภายใต้สภาพการณ์ของรัฐประหารสองครั้งที่รักษาอำนาจผลประโยชน์ควบคุมอำนาจรัฐไว้ได้ แต่ไม่อาจรักษาความเชื่อศรัทธาทัศนคติแบบเก่าไว้ได้
นี่คือ ปรากฏการณ์ที่สำคัญยิ่งในรอบหนึ่งศตวรรษของไทยทีเดียว นอกเหนือจากเป็นข่าวที่สำคัญที่สุดของวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม 2564 เวลายามค่ำ
[full-post]
แสดงความคิดเห็น