Posted: 01 Nov 2019 10:39 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
Submitted on Sat, 2019-11-02 12:39


อาร์เจนตินาอาจจะกลายเป็นแหล่งที่ทิ้งขยะพลาสติกรายใหญ่แหล่งใหม่ หลังจากที่ทางการจีนมีมาตรการจำกัดรับซื้อขยะพลาสติกจากกลุ่มประเทศตะวันตก โดยที่เรื่องสร้างความเป็นห่วงในหมู่นักกิจกรรมทางสังคมและนักสิ่งแวดล้อมว่าอาร์เจนตินาอาจจะนำขยะพลาสติกคุณภาพต่ำหรือปนเปื้อนเข้ามาโดยที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ แต่จะนำมาเผาหรือกำจัดในเชิงที่ก่อมลภาวะ

สื่อเดอะการ์เดียนรายงานว่านักกิจกรรมทางสังคมและนักสิ่งแวดล้อมแสดงความกังวลหลังจากที่ประธานาธิบดี เมาริซิโอ มาครี ของอาร์เจนตินา ออกข้อกำหนดเปลี่ยนแปลงนิยามของวัสดุบางชนิดที่ใช้สำหรับรีไซเคิลว่าเป็น "สินค้า" แทนที่จะเป็น "ขยะ" เรื่องนี้ทำให้เกิดความกังวลว่าอาร์เจนตินาอาจจะกลายเป็นสถานที่แห่งใหม่ที่รับขยะพลาสติกหลายพันล้านกิโลกรัมจากประเทศโลกที่หนึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางการจีนที่เคยเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดสั่งยกเลิกการนำเข้าพลาสติกแล้ว

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงนิยามขยะให้กลายเป็น "สินค้า" อาจจะส่งผลให้มีการดำเนินการที่หละหลวมจนเกิดความผิดพลาดทำให้มีการปนเปื้อนในขยะพลาสติกที่มีการจัดการได้ยากและมักจะถูกนำไปทิ้งหรือไม่ก็เผา

จิม พัคเก็ตต์ ผู้อำนวยการบริหารจากองค์กรบาเซลแอกชันเน็ตเวิร์ก องค์กรที่ต่อต้านการส่งออกขยะไปยังประเทศกำลังพัฒนากล่าวว่าอาร์เจนตินากำลังจะกลายเป็นประเทศที่ต้องแบกรับขยะจากทั่วทุกมุมโลกและรัฐบาลอาร์เจนตินาก็พยายามหากำไรจากเรื่องนี้

ในปัจจุบันมีประเทศ 186 ประเทศที่ลงนามใน อนุสัญญาบาเซล (Basel Convention) ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนและการกำจัดของเสียอันตราย แต่สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นหนึ่งในนั้น

ภายใต้บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมของอนุสัญญามีข้อเสนอที่มาจากนอร์เวย์ระบุว่าประเทศโลกที่หนึ่งจะไม่สามารถส่งออกขยะพลาสติกคุณภาพต่ำให้กับประเทศกำลังพัฒนาได้โดยปราศจากคำยินยอมอย่างชัดเจนและถ้าหากมีการแลกเปลี่ยนขยะกันก็ควรจะมีการดำเนินการอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมของอนุสัญญายังระบุวางเป้าหมายให้แม้แต่ประเทศที่ไม่ได้ลงนามอย่างสหรัฐฯ หยุดส่งออกขยะพลาสติกไปยังประเทศที่ยากจนกว่า

อย่างไรก็ตาม พัคเก็ตต์บอกว่าเมื่อไม่นานนี้มีการเจรจาหารือแล้วทั้งอาร์เจนตินาและสหรัฐฯ ต่างก็ไม่ยอมรับการควบคุมการส่งออกน้ำเข้าขยะของนอร์เวย์ที่มุ่งควบคุมการเคลื่อนย้ายขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้

เรื่องเหล่านี้ทำให้นักสิ่งแวดล้อมเป็นห่วงว่าอาร์เจนตินากำลังจะมาแทนที่จีนในฐานะประเทศที่รับขยะพลาสติกจากสหรัฐฯ อังกฤษ และประเทศอื่นๆ ในยุโรป หลังจากที่จีนมีมาตรการจำกัดการรับขยะพลาสติกเมื่อเกือบสองปีที่แล้วโดยจะรับแต่ขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้ง่ายที่สุดเท่านั้น โดยที่ก่อนหน้านี้เดอะการ์เดียนก็เคยรายงานว่ามีการย้ายแหล่งส่งออกขยะเหล่านี้ไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่น ไทย, มาเลเซีย, เวียดนาม พอประเทศเหล่านี้เริ่มห้ามการนำเข้าก็มีการส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาแห่งอื่นเช่น กัมพูชา, ลาว, กานา, เอธิโอเปีย, เคนยา และเซเนกัล ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยรับขยะพลาสติจากสหรัฐฯ เลย

โฆษกของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (EPA) กล่าวว่าสหรัฐฯ สนับสนุนอนุสัญญาบาเซลแต่ต่อต้านบททบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมมีการตั้งเกณฑ์เกี่ยวกับพลาสติกที่ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป ทางโฆษกของ EPA มองว่าการจำกัดเคลื่อนย้ายขยะพลาสติกเพื่อการรีไซเคิลจะเป็นการ "ลดมูลค่า" และทำให้พลาสติกผลิตใหม่ได้รับการให้ความสำคัญมากกว่า ซึ่งจะกลายเป็นการเพิ่มปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องทิ้ง EPA บอกอีกว่าพวกเขาทราบเรื่องการเปลี่ยนนิยามพลาสติกของอาร์เจนตินาแต่ยังไม่มีโอกาสที่จะประเมินผลกระทบในเรื่องนี้

เซซิเลีย อัลเลน นักรณรงค์จากสหพันธ์เพื่อทางเลือกกำจัดขยะแบบอื่นนอกจากการเผา (Global Alliance for Incinerator Alternatives หรือ GAIA) ซึ่งเป็นองค์กรในบัวโนสไอเรส กล่าวว่าขยะพลาสติกที่อาร์เจนตินารับมาจากต่างประเทศมีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่ได้รับการรีไซเคิล แต่อาจจะถูกนำไปทำการเผาขยะซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลมลภาวะ กลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ยังมีการต่อต้านจากการตัดสินใจของรัฐบาลอาร์เจนตินาจากกลุ่มสมาพันธ์ผู้เก็บคัดแยกขยะชาวอาร์เจนตินา ทางสมาพันธ์กลัวว่าการออกมาตรการเปลี่ยนนิยามของรัฐบาลจะทำให้เกิดการลดมูลค่าพลาสติกภายในประเทศและเน้นการรับพลาสติกจากต่างประเทศ ซึ่งแคโรไลนา ปาลาซิโอ ตัวแทนสมาพันธ์ฯ บอกว่าขยะพลาสติกในประเทศของพวกเขาก็มีมากพออยู่แล้ว และรัฐบาลควรจะเอาเวลามาพัฒนาสภาพการทำงานและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่คนทำงานคัดแยกขยะ

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมามูลค่าความต้องการของพลาสติกรีไซเคิลจากการที่มันแพงมากกว่าพลาสติกผลิตใหม่ ที่ผลิตจากก๊าซอีเธนที่ได้มาจากการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซจากใต้ดิน

เรียบเรียงจาก
Argentina could become 'sacrificial country' for plastic waste, say activists, The Guardian, 01-11-2019
https://www.theguardian.com/environment/2019/nov/01/argentina-plastic-waste-dumping-ground-imports


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.