Posted: 02 Nov 2019 12:17 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
Submitted on Sat, 2019-11-02 14:17

สมาคมโรฮิงญาแห่งประเทศไทยออกจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องพม่า สมาชิกอาเซียนประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพของชาวโรฮิงญาทั้งที่จะเดินทางกลับรัฐยะไข่และที่จะอยู่นอกประเทศต่อ ขอให้ประกันสิทธิพลเมืองเสมือนชาวพม่าและให้มีกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ในขณะที่ร่างแถลงการณ์อาเซียนซัมมิทครั้งที่ 35 ไม่กล่าวถึงเรื่องชาวโรฮิงญา แหล่งข่าวระบุ ผู้แทนพม่ากดดันอย่างหนักไม่ให้บรรจุเข้าไป

2 พ.ย. 2562 สมาคมโรฮิงญาแห่งประเทศไทย มีจดหมายเปิดผนึกถึงผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (อาเซียนซัมมิท) ครั้งที่ 35 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย. 2562 ที่อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี โดยมีข้อเรียกร้องถึงทั้งรัฐบาลพม่า และรัฐบาลชาติสมาชิกอาเซียน ในเรื่องการประกันความปลอดภัยชาวโรฮิงญาที่สมัครใจจะกลับไปยังรัฐยะไข่ ประกันเรื่องการพิสูจน์สัญชาติและสิทธิพลเมือง ไปจนถึงอนุญาตให้ชาวโรฮิงญาอาศัยในประเทศชาติสมาชิกต่อหากไม่สมัครใจกลับพม่า มีใจความดังนี้


จดหมายเปิดผนึกถึงผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในการประชุมครั้งที่ 35

เนื่องในการประชุมสุดยอดผู้นำชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 2 – 4 พฤศจิกายน 2562 ที่ประเทศไทย วาระการประชุมในครั้งนี้ ผู้นำของชาติสมาชิกและประเทศคู่เจรจาที่เข้าร่วมการประชุมที่มีเป้าหมายการดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าอาเซียนเป็นกลุ่มประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางซึ่งอุทิศตนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ เรา ในฐานะสมาชิกของสมาคมชาวโรฮิงญาในประเทศไทยที่เป็นตัวแทนของพี่น้องชาย หญิงและเด็กชาวโรฮิงญาที่ถูกบังคับให้หลบหนีการสู้รบและความรุนแรงในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา รวมทั้งชาวโรฮิงญาที่อยู่ในกระบวนการการส่งกลับและย้ายถิ่นฐาน เรามีความกังวลและขอความช่วยเหลือจากผู้นำอาเซียนต่อไปนี้

เราขอเรียกร้องถึงรัฐบาลเมียนมาในฐานะสมาชิกอาเซียน
ให้กำหนดกระบวนการพิสูจน์และให้สัญชาติแก่ชาวโรฮิงญาพลัดถิ่นจากบ้านเกิด ทั้งคนที่หลบหนี และที่ยังคงอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและเป็นที่ยอมรับจากประชาคมนานาชาติ
ให้หลักประกันความปลอดภัยแก่ผู้อพยพลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่สมัครใจในการเดินทางกลับบ้านเกิดในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา การเดินทางกลับจะต้องเป็นไปอย่างสมัครใจ ไม่มีการบังคับให้ผู้ลี้ภัยต้องกลับบ้านเกิดของตนด้วยความหวาดกลัวและการปราศจากหลักประกันถึงความปลอดภัยในอนาคต
ให้หลักประกันแก่ชาวโรฮิงญาในการเข้าถึงสิทธิ การทำงาน ทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงตำรวจและทหาร เช่นเดียวกับพลเมืองของเมียนมา

เราขอเรียกร้องถึงรัฐบาลชาติสมาชิกอาเซียน
ให้ดำเนินการพิสูจน์สถานะและออกเอกสารประจำตัวแก่ผู้อพยพชาวโรฮิงญาในการอยู่อาศัยและทำงานในแต่ละประเทศอย่างถูกกฎหมายในระหว่างการพิสูจน์สถานะของรัฐบาลเมียนมา
ให้พิจารณา อนุญาตให้ชาวโรฮิงญาสามารถอยู่อาศัยในประเทศชาติสมาชิกได้ต่อหากไม่สมัครใจที่จะเดินทางกลับประเทศเมียนมา

ประเด็นชาวโรฮิงญาในเวทีอาเซียนนั้นประหนึ่งถูกทำให้เหมือนลืมเลือนไปจากหน้ากระดาษ ปลายเดือน ต.ค. สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นได้เผยแพร่ข่าวว่าไม่มีการพูดถึงประเด็นชาวโรฮิงญาเลยในร่างแถลงการณ์ของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 35 ที่จะมีตัวแทนประเทศสหรับอเมริกา รัสเซีย จีนและญี่ปุ่นเข้าร่วม โดยแหล่งข่าวระบุว่า ผู้แทนพม่าได้แสดงจุดยืนคัดค้านการบรรจุเรื่องชาวโรฮิงญาไว้ในแถลงการณ์ นอกจากนั้นพม่ายังมีท่าทีไม่พอใจกับมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อผู้นำทหารพม่าที่มีส่วนกับการจู่โจมชาวโรฮิงญาอีกด้วย

ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2560 ชาวโรฮิงญามากกว่า 740,000 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่รัฐยะไข่ตอนเหนือไปยังบังกลาเทศ หลังกองทัพพม่าใช้กำลังเข้าโจมตี เพื่อตอบโต้การลอบจู่โจมของกลุ่ม ARSA ปฏิบัติการของกองทัพพม่า ต่อมาได้รับการวิจารณ์และประณามจากนานาประเทศรวมทั้งองค์การสหประชาชาติในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายประการ หนักที่สุดคือรายงานของสหประชาชาติที่ระบุว่าการกระทำของกองทัพพม่าเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ปัจจุบัน ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศและรัฐบาลบังกลาเทศต่างสร้างแรงกดดันให้กันและกัน หลังจากความพยายามส่งผู้ลี้ภัยกลับพม่าประสบความล้มเหลวเป็นครั้งที่สองเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องการหาผู้ลี้ภัยที่สมัครใจเดินทางกลับและ คำถามเรื่องความปลอดภัยในรัฐยะไข่


บังกลาเทศ-UN ฉะพม่าล้มเหลวเตรียมความพร้อมนำผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับประเทศ

ในขณะที่ชาวโรฮิงญาที่อยู่ในพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองคอกซ์ บาซาร์เป็นเวลา 2 ปี ก็ค่อยๆ สร้างแรงกดดันให้ประชาชนในพื้นที่ด้วย ในช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลบังกลาเทศมีแผนจะย้ายผู้ลี้ภัยหลักพันคนไปยังเกาะบาซาน ชาร์ ในอ่าวเบงกอล แต่ผู้ลี้ภัย องค์กรสิทธิต่างๆ รวมถึงสหประชาชาติเองมีข้อสงสัยในเรื่องความเหมาะสมและความปลอดภัยในเกาะที่อยู่บนเส้นทางมรสุม ทำให้มีโอกาสน้ำท่วมบ่อย และต้องใช้เวลาเดินทางจากฝั่งราว 2-4 ชั่วโมง ทั้งนี้ เลขานุการกระทรวงการจัดการภัยพิบัติของบังกลาเทศออกมาชี้แจงว่าได้มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างและแนวกันพายุไว้แล้ว และทางบังกลาเทศได้มีการหารือในประเด็นการเคลื่อนย้ายผู้ลี้ภัยไปยังเกาะดังกล่าวมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว

ที่มาข่าวเพิ่มเติม

East Asia Summit draft statement skips over Rohingya crisis, Bangkok Post via Kyodo News, Oct. 27, 2019

Bangladesh to Start Relocating Some Rohingya to Island Soon, VOA News, Oct. 22, 2019

Bangladesh to move Rohingya to flood-prone island next month, The Star Online, Oct. 20, 2019

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.