มาตรฐานระหว่างประเทศสำหรับเสรีภาพในการชุมนุม

“การชุมนุม” หมายถึง “การรวมตัวโดยเจตนาเป็นการชั่วคราว ในพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่สาธารณะ เพื่อเป้าประสงค์บางประการ อาทิเช่นเพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาที่สำคัญต่อพวกเขา รวมทั้งเพื่อการแสดงความเห็นที่หลากหลายและการปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน โดยอาจเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิทางสังคม-เศรษฐกิจ หรือประเด็นอื่น ๆ จึงอาจหมายรวมถึงการเฉลิมฉลอง การร่วมรำลึก การนัดหยุดงาน และการประท้วง เป็นต้น การชุมนุมไม่ว่าจะเป็นการประท้วงทางการเมือง การเดินขบวนด้านวัฒนธรรม การรวมตัวทางอินเตอร์เน็ต หรือรูปแบบการชุมนุมอื่นใดเพื่อเป้าประสงค์ร่วมกัน ต่างเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมพหุนิยมที่เติบใหญ่ขึ้น ซึ่งเอื้อให้กลุ่มที่มีความเชื่อ การปฏิบัติ หรือนโยบายที่หลากหลาย สามารถอยู่ร่วมกันโดยสันติได้ เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎบัตรระหว่างประเทศ ภูมิภาค ในประเทศ และแม้กระทั่งกฎหมายในท้องถิ่น


หลักการพื้นฐาน : การชุมนุมเป็นสิทธิของทุกคน

ในฐานะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิ่งที่บุคคลใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ถูกควบคุม หากการกระทำใดไม่มีกฎหมายห้ามอย่างชัดเจนย่อมถือว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้ และไม่ควรกำหนดให้บุคคลที่ต้องการชุมนุมต้องขออนุญาตก่อน สมมติฐานที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพเช่นนี้ควรได้รับการกำหนดไว้อย่างชัดเจนและเปิดเผยในกฎหมาย

เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิ่งที่บุคคลทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม ในการกำกับดูแลเสรีภาพในการชุมนุม หน่วยงานของรัฐต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลหรือกลุ่มไม่ว่าด้วยเหตุผลใด


การใช้พื้นที่สาธารณะในการชุมนุม


การชุมนุมเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะโดยชอบธรรม เช่นเดียวกับการจัดกิจกรรมเชิงพาณิชย์ และการสัญจรของยานพาหนะและการเดินเท้า สิทธิที่จะชุมนุมโดยสงบครอบคลุมถึงสิทธิที่จะเลือกที่ชุมนุมและเวลาการชุมนุมได้อย่างเสรี โดยอาจเป็นถนนหลวง ถนนอื่นใดและพื้นที่สาธารณะ สิทธิที่จะชุมนุมทางอินเตอร์เน็ตต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน

หน่วยงานกำกับดูแลมีหน้าที่จัดสมดุลให้เหมาะสม ระหว่างเสรีภาพที่จะชุมนุมโดยสงบที่มีความสำคัญ กับสิทธิที่สำคัญเช่นกันของบุคคลที่จะใช้ชีวิต โดยมีทางเลือกมากมายในการอำนวยความสะดวก โดยไม่ให้เป็นการแทรกแซงต่อข้อความที่ผู้ชุมนุมต้องการสื่อสาร กรณีที่ทางการจะควบคุมจำกัดทั้งด้านเวลา สถานที่ หรือพฤติกรรมของการชุมนุม ทางการก็ควรให้ทางเลือกที่ชอบด้วยเหตุผล


เนื้อหา ภาพ และเสียง ที่จะใช้ในการชุมนุม

การชุมนุมเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความเห็นร่วมกัน จึงมีเป้าหมายเพื่อสื่อข้อความบางประการ ไปยังบุคคล กลุ่ม หรือองค์กรที่เป็นเป้าหมายเฉพาะ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีหลักการทั่วไปว่าควรอำนวยความสะดวกให้สามารถจัดการชุมนุมเพื่อให้ประชากรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสามารถได้ยินและได้เห็น ‘ภาพและเสียง’ ของการชุมนุมนั้น แม้ว่าจะมีเนื้อหาเพื่อประท้วงต่อต้านนโยบายของรัฐก็ตาม การจำกัดต่อเสรีภาพในการชุมนุมใดๆ ต้องไม่กำหนดมาตรการซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื้อหาของกิจกรรมนั้นจนถึงขั้นพื้นฐาน และควรมีการจำกัดก็ต่อเมื่อเนื้อหานั้นอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้อย่างชัดเจนเท่านั้น


ความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและสาธารณะ


รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและสาธารณะไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ไม่ควรใช้อำนาจแทรกแซง ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบ เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายควรแยกแยะระหว่างผู้เข้าร่วมที่สงบและไม่สงบ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหรือการกระทำที่รุนแรงของผู้เข้าร่วมเพียงบางคน ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะออกคำสั่งอย่างเหวี่ยงแหเพื่อจำกัดผู้เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบทั้งหมด การสลายการชุมนุมอาจส่งผลให้เกิดปัญหามากขึ้นในการบังคับใช้กฎหมาย มากกว่าการยืดหยุ่นและการอำนวยความสะดวก และการควบคุมอย่างจริงจังหรือหนักหน่วงเกินไปมีแนวโน้มจะทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมชน


การคุ้มครองสาธารณสุข

ในบางกรณีที่อาจมีการอ้างเหตุผลด้านสาธารณสุขเพื่อจำกัดการชุมนุมสาธารณะ มาตรการจำกัดในลักษณะเดียวกันต้องเคยถูกนำมาใช้ในโรงเรียน คอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา และกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งคนทั่วไปเคยรวมตัวกันมาก่อน การจำกัดอาจเกิดขึ้นได้กรณีที่สุขภาพของผู้เข้าร่วมชุมนุมอาจได้รับผลกระทบร้ายแรง แต่ในทำนองเดียวกัน ทางการไม่ควรอ้างเหตุผลเช่นนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการชุมนุมโดยสงบ


เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามมาตรฐานระหว่างประเทศ


ข้อ 20 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) กำหนดว่า
(1) "ทุกคนมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม"
(2) "บุคคลใดไม่อาจถูกบังคับให้สังกัดสมาคมหนึ่งได้"

ข้อ 21 ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
“สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น”



[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.