การเมืองไทย ในกะลา

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ตำแหน่งแห่งที่และพรมแดนความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย

คลิปบทสัมภาษณ์ : https://youtu.be/wpdU82i4ap0

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้สัมภาษณ์พิเศษในเรื่องตำแหน่งแห่งที่และพรมแดนความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย ตอนหนึ่งกล่าวถึงคำปราศรัยของอานนท์ นำภา ระบุว่าเป็นประโยชน์ทั้งต่อประชาชนและสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมแสดงความห่วงใยเพราะที่ผ่านมามีคนจำนวนน้อยที่มีอำนาจหวงแหนสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้จากประชาชน และอ้างถึงเพื่อใช้ปราบศัตรูทางการเมืองมาตั้งแต่ยุคสฤษดิ์จนถึงประยุทธ์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสถาบันในระยะยาว
ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ให้สัมภาษณ์พิเศษเมื่อ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา ในเรื่องตำแหน่งแห่งที่และพรมแดนความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย โดยตอนหนึ่งกล่าวถึงคำปราศรัยของอานนท์ นำภา ทนายความนักสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า
“คำพูดคุณอานนท์ไม่ใช่การโจมตีตัวบุคคลที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่กำลังจะบอกว่า มีกระบวนการกำลังทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย คือตัวบุคคลที่เป็นพระมหากษัตริย์ท่านจะเป็นปฏิปักษ์หรือไม่ยกไปคนละเรื่อง ตัวท่านคิดอย่างไรเราไม่รู้หรอก แต่ถ้าตัวสถาบันจะเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย จะเป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เอง”
นิธิกล่าวว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีเสถียรภาพ คือไม่ว่าจะเปลี่ยนบุคคลไปกี่บุคคลก็แล้วแต่ จะเปลี่ยนกี่รัชกาลก็ไม่สำคัญ ทุกคนไม่เคยรู้สึกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศัตรูกับตัวเอง ผมคิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคงมาก มีเสถียรภาพสูงมาก ในแง่ตัวบุคคลก็ธรรมดาอยู่เอง เป็นคนที่ประชาชนชอบมากหรือไม่ชอบมาก มนุษย์ก็เป็นเหมือนกันทุกคน บางคนมีเสน่ห์มากมีเสน่ห์น้อย นี่เป็นปกติธรรมดา
เมื่อถามว่าจะสามารถพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในแง่มุมต่างๆ ก็สามารถพูดถึงได้ นิธิตอบว่า “ผมว่าได้ คือถ้าไม่ได้ มันกลายเป็น เมื่อไหร่ที่คุณบอกว่าสิ่งไหนพูดไม่ได้เลย และไม่ใช่ว่าพูดไม่ได้เลยโดยทุกคนนะ แต่จะเหลือคนจำนวนน้อยลงๆ ที่พูดถึงได้ ก็เท่ากับว่าคุณยกสถาบันนั้นๆ หรือสิ่งนั้นๆ ให้ไปเป็นสมบัติของคนจำนวนน้อย”
“ผมจึงได้บอกว่าเมื่อไหร่ก็ตามแต่ ที่คุณตั้งอะไรก็แล้วแต่ แล้วคุณใส่คำว่า "แห่งชาติ" สำหรับกรณีประเทศไทยนะ ฉิบหายเลย แทนที่จะหมายถึงคนมาก มันกลับหมายถึงคนจำนวนน้อยลง ที่เข้าไปควบคุมกำกับสิ่งที่เป็นแห่งชาติทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ที่เป็นแห่งชาติเมื่อนั้นก็เป็นของทุกคน และเราสามารถที่จะตำหนิติเตียน วิพากษ์วิจารณ์ได้ รัฐบาลแห่งชาติคือรัฐบาลทุกคน แต่เมื่อไหร่เป็นแห่งชาติปับ เหลือคนน้อยลงที่สามารถไปวิพากษ์วิจารณ์ไปตรวจสอบได้”
“สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เหมือนกัน สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นของประชาชนทุกคน ตัวสถาบันนะไม่ใช่ตัวบุคคล ซึ่งประชาชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะให้คำแนะนำ กำกับ ควบคุม แสดงความเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย กับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะอย่างไรเราก็ปฏิเสธไม่ได้ สถาบันพระมหากษัตริย์ในโลกปัจจุบันนี้ หรือโลกสมัยไหนก็แล้วแต่คือสถาบันทางการเมือง จะเป็นสถาบันทางการเมืองโดยไม่มีใครตรวจสอบเลยเป็นไปไม่ได้”
ต่อคำถามเรื่องที่อานนท์ เสนอว่าการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์สามารถทำได้ในฐานะที่เป็นสถาบันของประชาชนนั้น นิธิกล่าวว่า “สิ่งที่อานนท์พูดและมีความสำคัญอย่างยิ่งคือ คุณอานนท์เริ่มต้นว่า ขอพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา คือไม่ใช้วิธีการกระทบกระเทียบ ประชดประชัน หรือการด่าประณามโดยไม่แสดงเหตุผล”
“อานนท์บอกขอพูดถึงตรงๆ เพราะแกคิดว่าการพูดถึงตรงๆ เป็นการแสดงความเคารพมากกว่า เป็นประโยชน์ทั้งต่อประชาชนและสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราไปปล่อยให้มีคนจำนวนน้อยไปหวงสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ แล้วไม่ใช่หวงไว้เฉยๆ หวงแล้วเอามาใช้ประโยชน์”
“เช่น เป็นต้นว่า รัฐบาลสมัยหนึ่งเที่ยวไล่จับคนที่เป็นศัตรูทางการเมืองของตัวเองโดยใช้มาตรา 112 อ้างว่าปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เห็นไหม เมื่อไหร่ที่สถาบันไม่เป็นของทุกๆ คนปับ มันจะเหลือคนจำนวนน้อยไปใช้ประโยชน์สถาบัน แล้วก็เป็นอันตรายและทำร้ายตัวสถาบันในระยะยาว”
“คนที่หวงสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ โดยอ้างด้วยความยกย่อง ห้ามไม่ให้ใครแตะต้องเลย ทั้งหมดเหล่านั้นตั้งแต่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนกระทั่งถึงประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่ว่าหวงไว้เฉยๆ นะ คนเหล่านี้ หวงไว้ให้ตัวเองใช้ประโยชน์เสมอ”
เมื่อถามย้ำว่า “สิ่งนี้เป็นอันตรายใช่ไหม?” นิธิตอบว่า “แน่นอน เพราะเท่ากับว่า คนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม กลายเป็นคนนอกวงความจงรักภักดีไปหมด มีแต่พวกคุณเท่านั้นที่จงรักภักดี สามารถนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาหาประโยชน์ส่วนตนได้”
“พูดอีกอย่างก็คือ คุณอานนท์กำลังบอกว่าเขาก็เป็นเจ้าของสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนกัน เหมือนคนไทยคนอื่นๆ เมื่อเป็นเจ้าของ เขาก็มีความห่วงใย ที่จะพูดว่าตรงนี้ควรทำ ไม่ควรทำ อะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่ตัวบุคคลนะครับ เกี่ยวกับเรื่องตัวสถาบัน ซึ่งการที่ประชาชนบอกว่าเขาเป็นเจ้าของสถาบันร่วมกันกับคนอื่นๆ ผมคิดว่ามันกระเทือนผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่ไปผูกขาดสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ใช้ประโยชน์ในทางการเมือง หรือเศรษฐกิจของตัวเองอย่างเดียว ตลอดมา”
ที่มา : ประชาไท
https://prachatai.com/journal/2020/08/88970

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.