สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
กถาวัตถุปกรณ์ มี ประเด็นที่พึงรู้ ดังนี้ (ตามนัยคัมภีร์นิสสยะ อักษรปัลลวะ อักษรสิงหล และอักษรขอมโบราณ)
๑. คัมภีร์นี้ทำไมปราชญ์ผู้รู้ทั้งหลาย มี พระอรรถกถาจารย์ พระฏีกาจารย์ และ พระนิสสยาจารย์ เป็นต้น จึงกล่าวว่า เป็นคัมภีร์ขนาดกลางที่สุขุมลุ่มลึกเข้าใจได้ยาก พึงทราบว่า เพราะองค์ประกอบของเนื้อหาแต่ละส่วนมีหลายนัย และแต่ละนัยก็มีความซับซ้อน ผู้ศึกษาจึงควรให้ความสำคัญโครงสร้างของคัมภีร์์เป็นพิเศษ
๒. คัมภีร์นี้ ในบรรดาเรื่องคำพูด (กถา) 9 ประเภท มี
1.)ติรัจฉานกถา คือ คำพูดที่ขัดขวางการบรรลุมรรค ผล นิพพาน
2.)วิกคาหิกกถา คือ คำพูดที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง
3.)สัมโมทนียกถา คือ คำพูดที่ก่อให้เกิดความสามัคคี
4.)อนุปุพพิกถา คือ คำพูดที่เป็นไปตามลำดับขั้นตอน
5.)อาลาปกถา คือ คำพูดที่เป็นการเจรจาตกลงความกัน เช่น การเจรจาการค้า เป็นต้น
6.)ปพันธกัปปนกถา คือ คำพูดที่กำหนดประเด็น เช่น การโต้วาที การอภิปราย เป็นต้น
7.)วาทกถา คือ คำพูดที่โต้เถียงกัน และคำพูดที่โต้แย้งกัน เกี่ยวกับลัทธิต่างๆ ซึ่งในคัมภีร์นี้เป็นคำพูดแสดงการโต้แย้งกันแบบบัณฑิต มิใช่เป็นคำพูดแสดงการโต้เถียงกันแบบอันธพาล
8.)ชัปปกถา คือ คำพูดที่บอกความประสงค์เป็นเชิงบัณฑิต เช่น แทนที่จะ่้ร้องขอให้ไว้ชีวิตตรงๆ กลับร้องขอแบบเป็นเชิงของบัณฑิตโดยการบอกความประสงค์เป็นเชิงแทนว่า ตนปรารถนาได้เห็นท่านมีชีวิตเป็นร้อยปี เป็นต้น
9.)วิตัณฑกถา คือ คำพูดล้อเลียน เช่น การพูดล้อเล่นชการพูดประชด การพูดเหน็บแนม เป็นต้น
๓. คัมภีร์นี้ ส่วนที่เป็นเนื้อหาจำแนกเป็นประเด็น 266 กถา(ข้อ) มีบุคคลกถา เป็นต้น จำแนกเป็นสาระทางธรรม(เรื่อง) 18 กลุ่ม มีกลุ่มเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าเป็นต้น เช่น เรื่อง(สาระ)พระโอวาทเป็นโลกุตตระหรือ? เพื่อความสะดวกในการศึกษาและยืนยันว่าคัมภีร์นี้เป็นวาทกถาจริงจึงแสดงเป็นกถา(ข้อ)ไม่แสดงเป็นสาระ(เรื่อง)
๔.ในคัมภีร์นี้ ส่วนที่เป็นวิธีการ จำแนกเป็น 8 วิธี โดยอาศัยนัยที่พึงปฏิบัติ(ปฏิบัตติกม) เรียกว่าอัฏฐมุกขนัย คือจาก 2 ฝ่าย ที่เป็นฝ่ายยอมรับแล้วกลับกลอกกลิ้งเป็นปฏิเสธ เรียกว่า ฝ่ายอนุโลมปัจจนีกะ 4 นัย และฝ่ายปฏิเสธแล้วกลับสัปปลับเป็นยอมรับ เรียกว่า ฝ่ายปัจจนีกานุโลมะ 4 นัย
แต่เมื่อจำแนกเป็นนัยที่พึงเกิดขึ้น(อุปปัตติกมะ) การติติง(นิคคหะ) พึงเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ขั้นตอนการตั้งประเด็น(ฐปนา) คือ ช่วงที่ตั้งคำถามนำ(อนุโลมฐปนา) และช่วงที่ตั้งคำถามกลับ(ปฏิโลมฐปนา) ซึ่งถ้าขั้นตอนการตั้งประเด็นเกิดขึ้นแล้ว มีการยอมรับการติติงแล้ว ก็จะยุติการวาทกถา(การโต้แย้ง) จึงเรียกนัยนี้ว่า อัฏฐกนิคคหนัย ดังนั้น เมื่อว่าตามนัยที่พึงเกิดขึ้น(อุปปัตติกมะ) ซึ่งจะทำให้คัมภีร์นี้ แสดงขั้นตอนการโต้แย้งกันได้ครบทุกช่วงตอน ฝ่ายการถามนำจึงต้องมีครบทั้ง 5 ช่วงตอน เรียกว่า ฝ่ายอนุโลมปัญจกะ และฝ่ายถามกลับก็ต้องมีครบทั้ง 5 ช่วงตอนเช่นกัน เรียกว่า ฝ่ายปัจจนีกปัญจกะ สรุปอันดับขั้นตอนการโต้แย้งกันในคัมภีร์นี้ จึงมีลำดับ ดังนี้
1. ฐปนา คือ ขั้นตอนการตั้งประเด็น มี 2 ฝ่าย คือ
1.) อนุโลมฐปนา คือ ฝ่ายตั้งประเด็นถามนำ
2.) ปฏิโลมฐปนา คือ ฝ่ายตั้งประเด็นถามกลับ
แต่ละฝ่าย มี 4 ช่วงตอน คือ
1.) อนุโลมปาปนา คือ ช่วงตอนการถามนำเลวร้าย
2.) อนุโลมโรปนา คือ ช่วงตอนการถามนำสดใส
3.) ปฏิโลมปาปนา คือ ช่วงตอนการถามกลับเลาร้าย
4.) ปฏิโลมโรปนา คือ ช่วงตอนการถามกลับสดใส
2. ปฏิกัมมจตุกกะ คือ ขั้นตอนการแก้ไข มี 4 ช่วงตอน เหมือนขั้นตอนฐปนา
3. นิคคหจตุกกะ คือ ขั้นตอนการติติง มี 4 ช่วงตอน เหมือนขั้นตอนฐปนา
4. อุปมาจตุกกะ คือ ขั้นตอนการเปรียบเทียม มี 4 ช่วงตอน เหมือนขั้นตอนปฐนา
5. นิคคมจตุกกะ คือขั้นตอนการลงความเห็น มี 4 ช่วงตอน เหมือนขั้นตอนฐปนา
5. แม้รู้โครงสร้างคัมภีร์จากข้อที่ 1.ถึงข้อที่ 4 ดีพอแล้ว ก็เป็นเหตุให้อ่านคัมภีร์เข้าใจได้เท่านั้น เปรียบเหมือนเซียนมวยที่อ่านเชิงมวยของคู่ต่อสู้ คือ ฝ่ายสกวาที กับฝ่ายปรวาทีได้ขาด แต่ก็ยังมีธรรมอีกส่วนหนึ่งที่เป็นเสมือนเหตุให้เป็นนักมวยแชมป์เสียเอง 10 ประการ คือ ธรรมที่เป็นสาเหตุให้เกิดสักกายทิฏฐิ(ความเห็นผิดว่าอัตตาตัวตนมีอยู่จริง) อันเป็นต้นเหตุให้เกิดความเห็นผิดเป็นลัทธิต่างๆขึ้นตามมาอีกทอดหนึ่ง และความฉลาดรอบรู้ความโดดเด่นของสภาวธรรมแต่ละสภาวธรรมที่สักกายทิฏฐิอาศัยเกิดขึ้น มี ขันธ์, อายตนะ เป็นต้น อันเปรียบเสมือนนักมวยแชมป์รอบรู้ความโดดเด่นแม่ไม้มวยแต่ละแม่ไม้มวยดี ซึ่งจะส่งผลให้กำหนดการใช้แม่ไม้มวยได้เหมาะสม กับทั้งยังรู้จังหวะว่าจะเร่งหรือจะผ่อนแรง ในการโตแย้งกันธรรมส่วนนี้ก็คือ อัฏฐมุุขนัย นั่นเองที่เป็นประธาน เมื่อศึกษาเนื้อหาทั้ง 5 ข้อดีแล้ว จะยกวาทกถาข้อใดขึ้นแสดงก็ตาม รูปแบบวิธีการ อันดับที่เป็นระบบขั้นตอน, อันดับที่เป็นระบบช่วงตอน ตลอดเชิงไหวพริบปฏิภาณก็จะหลังไหลพรั่งพรูให้ทราบได้
1.) ธรรมที่เป็นสาเหตุให้เกิดสักกายทิฎฐิ มี 10 ประการ ดังนี้
1.1 สัสสตวาทะ คือสักกายทิฎฐิที่เป็นส่วนให้เข้าใจผิดเกิดเป็นลัทธิว่า อัตตาและโลกเที่ยง มี 4 ลัทธิย่อย
1.2 เอกัจจสัสสตวาทะ คือสักกายทิฏฐิที่เป็นส่วนให้เข้าใจผิด เกิดเป็นลัทธิว่า อัตตา และโลกบางส่วนเที่ยง มี 4 ลัทธืย่อย
1.3 อันตานันติกวาทะ คือ สักกายทิฏฐิที่เป็นส่วนให้เข้าใจผิดเกิดเป็นลัทธิว่าโลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด มี 4 ลัทธิย่อย
1.4 อมราวิกเขปิกวาทะ คือสักกายทิฏฐิที่เป็นส่วนให้โลเลเกิดเป็นลัทธิพูดโลเลไม่อยู่กับร่องกับรอย มี 4 ลัทธิย่อย
1.5 อธิจจสมุปปันนิกวาทะ คือ สักกายทิฏฐิที่เป็นส่วนให้เข้าใจผิดเกิดเป็นลัทธิว่า อัตตา และโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย มี 2 ลัทธิย่อย
1.6 สัญญีวาทะ คือ สักกายทิฏฐิที่เป็นส่วนให้เข้าใจผิด เกิดเป็นลัทธิว่า หลังจากตายแล้ว อัตตามีสัญญา มี 16 ลัทธิย่อย
1.7 อสัญญีวาทะ คือ สักกายทิฏฐิที่เป็นส่วนให้เข้าใจผิด เกิดเป็นลัทธิว่า หลังจากตายแล้ว อัตตาไม่มีสัญญา มี 8 ลัทธิย่อย
1.8 เนวสัญญีนาสัญญี คือ สักกายทิฏฐิที่เป็นส่วนให้เข้าใจผิด เกิดเป็นลัทธิว่า หลังจากตายแล้ว อัตตามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ มี 8 ลัทธิย่อย
1.9 อุจเฉทวาทะ คือ สักกายทิฏฐิที่เป็นส่วนให้เข้าใจผิด เกิดเป็นลัทธิว่า หลังตายแล้ว อัตตาขาดสูญ มี 7 ลัทธิย่อย
1.10 ทิฏฐธัมมนิพพานวาทะ คือ สักกายทิฏฐิที่เป็นส่วนให้เข้าใจผิด เกิดเป็นลัทธิว่า มีสภาวธรรมบางอย่างที่ดับลงแล้วเป็นสภาวนิพพานที่เข้าถึงได้ในปัจจุบันขณะ มี 5 ลัทธิย่อย
สมดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในพรหมชาลสูตรว่า มิจฉาทิฏฐิทั้งหลายมีเพราะมีสักกายทิฏฐิเป็นปัจจัยนั่นแล
2. สภาวธรรมที่สักกายทิฏฐิอิงอาศัยให้เกิดลัทธิต่างๆที่โดดเด่น มี 4 อย่าง คือ
2.1 ขันธ์ 5 โดดเด่นเกี่ยวกับว่า มีกาล 3 คือ เป็นอดีต เป็นอนาคต และเป็นปัจจุบันได้ การโต้แย้งจึงสะดวก สามารถใช้ อัฏฐมุขนัยที่1และที่ 2 ติดต่อกันได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบวิธีการ, ระบบที่เป็นขั้นตอน, ระบบที่เป็นช่วงตอน ตะล่อมรอใช้อันดับอัฏฐมุขนัย ดังในสุทธสัจฉิกัฏฐะกถา เป็นอุทาหรณ์
2.2 อายตนะ 12 โดดเด่นเกี่ยวกับมีกาล เป็นกาลขณะ คือชั่วขณะอายตนะภายในกระทบกับอายตนะภายนอก เพื่อทำกิจสืบต่อสังสารวัฏฏ์ให้ยืดยาว การโต้แย้งที่เหมาะสมเริ่มจากอัฏฐมุขนัยอันดับที่ 3 จึงจำเป็นต้องมีรูปแบบวิธีการ, ระบบที่เป็นขั้นตอน, ระบบมที่เป็นช่วงตอน ตะล่อมให้จบลงที่อัฏฐมุขนัยอันดับที่ 6 ดังในโอกาสสัจฉิกัฏฐกถา เป็นอุทาหรณ์
2.3 ธาตุ 18 โดดเด่นด้วยกิจที่ทรงวัฏฏทุกข์ไว้ตลอดกาลที่ธาตุ 18 ยังเป็นไปอยู่ การโต้แย้งที่เหมาะสมเริ่มที่อัฏฐมุขนัยอันดับที่ 4 จึงจำเป็นต้องมีรูปแบบวิธีการ, ระบบที่เป็นขั้นตอน, ระบบที่เป็นช่วงตอน ตะล่อมให้จบลงที่อัฏฐมุขนัยอันดับที่ 7 ดังในกาลสัจฉิกัฏฐกถา เป็นอุทาหรณ์
2.4 อินทรีย์ 22 โดดเด่นด้วยกิจที่ทรงความเป็นใหญ่ไว้ กล่าวคือ เมื่อตนเข้มแข็งธรรมอื่นก็พลอยเข้มแข็งไปด้วย เมื่อตนอ่อนแอธรรมอื่นก็พลอยอ่อนแอไปด้วย การโต้แย้งที่เหมาะสมเริ่มที่อัฏฐมุขนัยอันดับที่ 5 จึงจำเป็นต้องมีรูปแบบวิธี, ระบบที่เป็นขั้นตอน, ระบบที่เป็นช่วงตอนตะล่อมใก้จบลงที่อัฏฐมุขนัยอันดับที่ 8 ดังใน อวัยยวสัจฉืกัฏฐกถาเป็นอุทาหรณ์
แสดงความคิดเห็น