สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
การทานมังสวิรัติเป็นศีลข้อปาณาติบาตหรือไม่? จะใช่หรือไม่ด้วยเหตุผลและหลักฐานอย่างไร? ตกลงปาณาติบาตและมังสวิรัติเป็นศีลประเภทไหนกันแน่? แม้ทานซึ่งประพฤติปฏิบัติได้ง่ายกว่ายังมีนัยที่สุขุมลุ่มลึกให้ศึกษากันเลย แล้วไฉนศีลซึ่งประพฤติปฏิบัติได้ยากกว่า จะไม่มีความสุขุมลุ่มลึกให้ศึกษาเล่า? ตัวอย่าง เช่น เมื่อกล่าวทานโดยเล็งถึงผลที่ประสงค์ ซึ่งทานหมวดนี้มักมีหมวดละ 2 อย่าง เป็นคู่กัน เช่น
1. อามิสทาน การให้วัตถุสิ่งของ ส่งผลให้มีทรัพย์สมบัติ
2. ธรรมทาน การให้ความรู้ ส่งผลให้มีปัญญา ทานคู่นี้ ธรรมทานประณีตกว่าอามิสทาน ดังมีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า "สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ " แปลว่า "การให้ความรู้ชนะการให้ทั้งปวง"
1. สาหัตถิกทาน การให้ด้วยตนเอง ส่งผลให้มีทรัพย์สมบัติ แต่ไม่มีบริวาร
2. อาณัตติกทาน การใช้ผู้อี่นให้ ส่งผลให้มีบริวาร แต่ไม่มีทรัพย์สมบัติ ทานคู่นี้ ต่างส่งผลพร่อง
ถามว่า ถ้าต้องการได้ทั้งทรัพย์สมบัติ ได้ทั้งบริวาร จะต้องทำทานเช่นไรเล่า? ตอบว่า ต้องเป็นผู้นำชักชวนให้ผู้ร่วมทำทานด้วย เช่นกฐินสามัคคีเป็นต้น
ทานหมวดสองคู่ต่อไป
1. สัมปชานทาน การให้ด้วยความรอบรู้ในเรื่องของทานและผลของทาน ส่งผลให้มีทั้งทรัพย์ทั้งความฉลาดรอบคอบ
2. อสัมปชานทาน การให้โดยไม่มีความรอบรู้ในเรื่องของทานและผลของทาน ส่งผลให้มีทรัพย์ แต่ไม่มีความฉลาดรอบคอบ เพื่อให้ท่านได้เห็นความรอบรู้ในเรื่องอกุศลกรรม มีการ ฆ่าสัตว์เป็นต้น จักส่งผลให้ความฉลาดรอบคอบ เกิดได้อย่างไร
เป็นธรรมดาของมนุษย์ชีวิตต้องดำรงอยู่ด้วยอาหาร เมื่อไม่มีเงินซื้อกิน ก็ต้องดิ้นรนหาเอง เช่น ต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ มีปลาเป็นต้น ก็ต้องแสวงหาและฆ่ากินเอง ถามว่า ระหว่าง
เนื้อสัตว์ที่ซื้อมาจากตลาด ที่เขาฆ่าและชำแหละเสร็จแล้ว กับเนื้อสัตว์ที่แสวงหาและฆ่าเอง มีองค์ของปาณาติบาต ต่างกันอย่างไร? ตอบว่า เนื้อสัตว์ที่ฆ่าเอง มีองค์ปาณาติปาต ทั้ง 5 ครบ คือ :-
1. สัตว์นั้นมีชีวิต
2. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชึวิต
3. มีจิตคิดจะฆ่า (วธกเจตนา)สัตว์นั้น
4. มีความพยายามฆ่าสัตว์นั้น
5. สัตว์นั้นตายด้วยความพยายามนั้น
ส่วนเนื้อสัตว์ที่ซื้อมาจากตลาดที่เขาฆ่าชำแหละเสร็จแล้วนั้น ไม่มีองค์ของปาณาติปาตแม้นแต่องค์เดียว ดังนั้นแล ผู้รอบรู้เรื่องอกุศลกรรม จึงฉลาดรอบคอบ ไม่ประมาทดูแคลนเรื่องของทาน อันเป็นเหตุให้ขัดสนทรัพย์ จำต้องฆ่าสัตว์เลี้ยงชีพ ฉะนี้แล นอกจากนั้นความรอบรู้ในองค์ของปาณาติปาต ยังทำให้ฉลาดในการรักษาศีลข้อปาณาติบาตให้สะอาดหมดจดได้อีกด้วย กล่าวคือวธกเจตนา(เจตนาที่คิดจะฆ่า) จะเกิดขึ้นได้ ต้องรู้ว่า สัตว์นั้นมีชีวิตอยู่ ซึ่งจะรู้ได้ทางตา ทางหู ทางใจ ดังมีพระพุทธพจน์ตรัสไว้ว่า
"ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาติให้ฉันเนื้อสัตว์ที่บริสุทธิด้วยส่วนทั้ง 3 คือ:
1. ไม่เห็นว่าเขาฆ่าเพื่อถวายจำเพาะเจาะจงตน(=รับรู้ทางตา)
2. ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่าถวายจำเพาะเจาะจงตน(=รับรู้ทางหู)
3. ไม่ได้ลังเลสงสัยว่าเขาฆ่าถวายจำเพาะเจาะจงตน(=รับรู้ทางใจ)
ถามว่า การทานมังสวิรัติ เป็น ศีลข้อปาณาติปาตหรือไม่? ตอบว่า เมื่อไม่เกี่ยวข้องกับองค์ของปาณาติปาตเลย จักเป็นศีลข้อปาณาติปาตได้อย่างกัน
ถามว่า เมื่อไม่เป็นศีลข้อปาณาติปาตแล้ว เป็นศีลอะไร?
ตอบว่า ศีลมี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ:
1. วาริตศีล (ศีลที่เป็นข้อห้าม) มีปาณาติบาตเป็นต้น
2. จาริตศีล(ศีลที่เป็นข้อปฏิบัติ) มีการประพฤติห่างไกลจากปาณาติบาตเป็นต้น เช่น การทานมังสวิรัติ ดังนั้น จึงตอบได้เลยว่า การทานมังสวิรัติไม่ใช่ศีลข้อปาณาติปาตแน่นอน
ถามว่าก็แล้วทำไม พระพุทธองค์ จึงไม่ทรงห้าม ไม่ทรงปฏิเสธเรื่องการทานมังสวิรัติ ทรงแล้วแต่ความสมัครใจ ตอบว่า เพราะความบริสุทธิ์ หมดจดของศีลปาณาติปาต มีช่องทางการรับรู้ 3 ทางดังกล่าวเป็นหลักและการทานอาหารใด ๆ ก็ตาม ไม่เว้นแม้นแต่การทานอาหารมังสวิรัติ จะบริสุทธิ์หมดจดได้ ก็ด้วยการสำรวมชิวหาทวารเป็นหลัก เพื่อให้ท่านเห็นประโยชน์ความรอบรู้องค์ของปาณาติบาตชัดเจนยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้ความฉลาดรอบคอบเกิดขึ้น จะขอยกตัวอย่าง การปิดหน้าต่างหนีบทับจิ้งจกตาย องค์ของปาณาติปาตไม่ครอบ แต่ทำใจไม่เป็น(อกุศลมโนกรรม) เพราะขาดความรอบรู้องค์ปาณาติปาต จึงสมน้ำหน้าว่า"ตายเสียได้ก็ดี ไม่ใช่ที่ไม่ใช่ทางเสียหน่อย" เจตนาก่อนทำและขณะไม่มีก็จริง แต่เพราะไม่ฉลาดรอบคอบในการทำใจ เหตุเพราะไม่มีความรอบรู้ดังกล่าว เจตนาหลังทำที่ไม่ควรเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นได้ฉะนี้แล
ทานหมวดสองคู่ต่อไป
1. วัฎฎนิสสิตทาน การให้ทานที่อิงอาศัยวัฎฎะด้วยความปรารถนาโภคสมบัติ (อยากรำรวยมั่งมี) และภวสมบัติ (อยากเกิดเป็นมนุษย์เป็นเทวดา)เป็นเพียงทานสามัญ เพราะมีความอยากได้(โลภะที่มีกำลัง= ตัณหา)เป็นปัจจัย
2. วิวัฏฏนิสสิตทาน การให้ทานที่อิงอาศัยวิวัฏฏะด้วยความประสงค์จะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ พระปัจเจกโพธิญาณ อัครสาวกโพธิญาณ มหาสาวกโพธิญาณ ปกติสาวกโพธิญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะเห็นโทษของตัณหาอันเป็นเหตุนำมาซึ่งวัฎฎะ ทานประเภทนี้ จึงมีอโลภะเป็นปัจจัย จัดเป็นทานบารมี ต่อไปถ้ามีโอกาสจะขอนำเรื่องทานและเรื่องศีลตามพุทธวิสัย ทั้งนัยอรรถกถาจารย์ และทั้งนัยนิสสยาจารย์มาเสนอเพื่อน ๆ ผู้ใคร่ธรรมโดยละเอียดต่อไป.
แสดงความคิดเห็น