สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ


การเข้าถึงนิพพาน

   ดังได้กล่าวแล้วว่า นิพพานไม่เกิด ไม่ดับ ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นสภาพเที่ยง เพราะมีอยู่ มิได้เปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไป เป็นธรรมชาติ ละเอียดอ่อน สุขุมลุ่มลึก อันบุคคลทั่วไป ไม่อาจรู้ได้ด้วยการตรึกนึกเอาเอง เพราะบรรดาสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่มีอยู่ในนิพพาน นอกจากนั้นนิพพานยังเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตาอีกด้วย 

   คําว่า อัตตา แปลว่า ตัวตน

   อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน

   อธิบายว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นสังขตธรรม อย่างจิต เจตสิก และรูป ล้วนแต่เป็นอนัตตา แม้อสังขตธรรมอย่างนิพพาน ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา ไม่มีใครมีอำนาจสามารถบังคับหรือสั่งให้ธรรมทั้งปวง ทั้งสังขตธรรม และอสังขตธรรมให้เป็นไป ตามใจชอบได้ แต่ธรรมเหล่านั้น ย่อมเป็นไปตามธรรมชาติของตนๆ เท่านั้น

   ในพระวินัยปิฎก ปริวาร ข้อ ๘๒๖ แสดงว่า “สังขารทั้งปวงที่ปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา กับ บัญญัติและนิพพาน ท่านก็วินิจฉัยว่าเป็นอนัตตา เมื่อดวงจันทร์คือพระพุทธเจ้ายังไม่เกิดขึ้น เมื่อดวงอาทิตย์คือพระพุทธเจ้า ยังไม่อุทัยขึ้น เพียงแต่ชื่อของสภาคธรรมเหล่านั้น ก็ยังไม่มีใครรู้จัก” ดังนี้ เป็นต้น

   อรรถกถาแก้คำว่า สภาคธรรม ไว้ว่า ได้แก่สังขตธรรมที่มีส่วนเสมอกันด้วย อาการไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (สามัญญลักษณะ)

   สังขตธรรม คือธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสังขารธรรมมีเกิด มีดับ เพราะ ฉะนั้นจึงมีลักษณะที่เหมือนกันอยู่ ๓ ประการคือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์คือ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และ อนัตตา คือไม่ใช่ตัวตน และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร คือใครจะบังคับให้เป็นไปตามใจชอบหาได้ไม่

   สังขตธรรมโดยนัยของพระอภิธรรม ได้แก่ ปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก และรูป นับโดยจํานวนเต็ม คือจิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ ในการเจริญมรรค หรือ เจริญวิปัสสนา ธรรมที่ควรกำหนดรู้ คือขันธ์ ๕ หรือนามรูปนั้น ได้แก่ธรรมที่เป็นอารมณ์ของอุปาทานเท่านั้น คือโลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ (เว้นโลกุตรจิต ๘ เจตสิก ๓๖ ที่แม้จะเป็นสังขตธรรม แต่ก็ไม่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน จึงไม่ใช่ธรรมที่ควร กำหนดรู้)

      ในบรรดาโลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ เมื่อจัดเข้าในอริยสัจ ๔ แล้ว ได้เพียงอริยสัจ ๒ คือ ทุกขอริยสัจ และสมุทยอริยสัจ

   ทุกขอริยสัจ ได้แก่ โลกียจิต ๘๑ เจตสิกที่ประกอบ ๕๑ (เว้นโลภะเจตสิก) และ รูป ๒๘

   สมุทยอริยสัจ ได้แก่ โลภะเจตสิก

   ส่วนโลกุตรจิต ๘ เจตสิกที่ประกอบ ๓๖ จัดได้อริยสัจเดียว คือเจตสิก ในเจตสิก ๓๖ ที่เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ เป็น มรรคอริยสัจ

   ในเจตสิก ๘ ปัญญาเจตสิกเป็น สัมมาทิฏฐิ วิตกเจตสิกเป็น สัมมาสังกัปปะ วิรตีเจตสิก ๓ เป็นองค์มรรค ๓ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ วิริยเจตสิก เป็น สัมมาวายามะ สติเจตสิก เป็น สัมมาสติ เอกัคคตาเจตสิก เป็น สัมมาสมาธิ

   ส่วนโลกุตรจิต ๘ กับเจตสิก ๒๘ ที่เหลือจากองค์มรรค ๘ ไม่จัดเข้าเป็น อริยสัจใดๆ ในอริยสัจ ๔ จึงเป็น สัจจวิมุตติ 

   สำหรับอริยสัจที่เหลือ คือนิโรธอริยสัจ นั้น ได้แก่อสังขตธรรม คือ นิพพาน นิพพานจึงเป็น นิโรธอริยสัจ

   อสังขตธรรม โดยนัยของพระอภิธรรม ได้แก่ ปรมัตถธรรมที่เหลือ คือ นิพพาน ซึ่งไม่ต้องอาศัยปัจจัยใดๆ เกิดขึ้น ไม่เกิด ไม่ดับ จึงเป็นวิสังขาร มีสภาพเที่ยง (เพราะ ไม่เกิดไม่ดับ) เป็นสุข คือเป็นสันติสุข สงบจากกิเลส ไม่ใช่สุขเวทนา เพราะเวทนาเป็น เวทนาขันธ์ ส่วนนิพพานไม่ใช่ขันธ์ เป็นขันธวิมุตติ และเป็นอนัตตา เพราะไม่ใช่ตัวตน และไม่มีตัวตนในนิพพาน

   ดังได้กล่าวแล้วว่า หากพระพุทธเจ้าไม่เสด็จอุบัติขึ้น เพียงแต่ชื่อของสังขตธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ก็ไม่ปรากฏคือไม่มีใครรู้จัก แม้เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ทรงแสดงธรรมเหล่านั้นไว้แล้วก็ยังยากที่ใครจะรู้จักอย่างถ่องแท้ได้ หากเขายังไม่รู้จัก สภาวลักษณะหรือปัจจัตตลักษณะ คือลักษณะเฉพาะตัวของสังขตธรรมแต่ละอย่างๆ นั้น ด้วยวิปัสสนาญาณ ทั้งนี้เพราะสภาวลักษณะของสังขตธรรม แต่ละอย่างนั้นแตกต่างกัน ไม่เหมือนกันเลย ต่อเมื่อรู้จักลักษณะเฉพาะตัวของสังขตธรรมเหล่านั้น (โดยเฉพาะสังขตธรรมที่เป็นโลกียธรรม) โดยไม่ปะปนกันแล้ว ญาณแรกของวิปัสสนา คือ นามรูปปริจเฉทญาณจึงเกิดขึ้นได้ และเมื่อปัญญารู้ถึงลักษณะ ของโลกียธรรมเหล่านั้นชัดเจน ขึ้นๆ ปัญญาก็จะรู้ว่า โลกียธรรมเหล่านั้นอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น มิได้เกิดขึ้นลอยๆ หรือมีใครสั่งให้เกิด

   จากนั้น ญาณที่เข้าถึงสามัญญลักษณะ คือ อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตต ลักษณะ ที่เรียกสั้นๆ ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงปรากฏ และเมื่อเจริญมรรค คือกำหนด นามรูป อันเป็นโลกียธรรมต่อไป วิปัสสนาญาณขั้นสูงก็จะเกิดขึ้นตามลำดับ จนกระทั่ง มรรคจิตหน่วงเอานิพพานเป็นอารมณ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ละสังโยชน์ ๓ คือ

   สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่านามรูปเป็นตัวตน ๑    

   วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย เป็นต้น ๑ สีลัพพตปรามาส ความยึดถือข้อปฏิบัติที่ผิด ๑

   ให้สิ้นไป คือไม่ให้เกิดขึ้นอีกเลย แต่นั้นผลจิต ก็เกิดขึ้นต่อทันทีที่มรรคจิตดับลง หน่วงเอานิพพานเป็นอารมณ์ เสวยสุขอันเกิดแต่ความที่กิเลสสงบไป และเมื่อผลจิตดับลง ปัจจเวกขณะญาณจึงเกิดขึ้น พิจารณามรรค ผล นิพพาน ที่ได้ประจักษ์แจ้งมาแล้ว บางท่านที่มีปัญญามาก ก็ยังพิจารณาว่า ละกิเลสไปได้เท่าใด ยังเหลือกิเลสที่ยังต้องละอีกเท่าใดด้วย

   เพราะเหตุที่เมื่อมรรคผลดับลงแต่ละครั้ง (ทั้งหมดมี ๔ ครั้ง) ต้องมีปัจจเวกขณะญาณเกิดขึ้นทุกครั้งดังกล่าว ผู้เจริญวิปัสสนาจึงสามารถรู้ได้ด้วยตนเอง โดยมิต้องมีผู้ใดบอกว่า ตนได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน บทธรรมคุณว่า พระธรรมอันพระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว คือ มรรค ผล นิพพาน อันเป็น โลกุตรธรรม เป็น สันทิฏฐิโก คือเป็นธรรมที่ผู้บรรลุเห็นเอง (ไม่ต้องมีใครบอก อกาลิโก ไม่มีกาลเวลา คือเมื่อมรรคจิตเกิดขึ้น แล้วดับลง ผลจิต อันเป็นผลของมรรค ก็เกิดต่อทันที โดยไม่รอเวลา คือไม่มีอะไรมาคั่นในระหว่างนั้น เอหิปัสสิโก ควรเรียก ให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามาในตน ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ เป็นธรรมอันผู้รู้พึงรู้ ได้เฉพาะตน เพราะถ้ามรรคผลนิพพานยังไม่เคยเกิด ใครจะบอกอย่างไร ก็ไม่อาจรู้ได้ เพราะธรรมเหล่านี้ละเอียดสุขุมลุ่มลึกยิ่งนัก ยากที่จะหยั่งรู้ได้โดยง่าย หากมิใช่ พระพุทธเจ้าหรือพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ต้องอาศัยได้ฟังหรือเรียนจากคำสั่งสอนของ พระพุทธเจ้า แล้วดำเนินตามจึงจะรู้ได้

   ก็ทั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ทรงนำมาบอกสอนไว้ ก็ยังยากแสนยากที่จะ ดำเนินรอยตาม จนญาณปัญญาเกิดขึ้นเป็นลำดับสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องกล่าวถึงว่า หากไม่มีพระพุทธเจ้าทรงบอกสอนแล้ว จะบรรลุ มรรคผลนิพพานเองได้

   นิพพานนั้น เป็นธรรมสูงสุดในพระพุทธศาสนา ผู้ที่เจริญมรรคมีองค์ ๘ นั้น เมื่อมรรคผลเกิดขึ้น หากปราศจากอาศัยนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว ก็ไม่สามารถละกิเลส ที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานมาช้านานให้ขาดได้ คือไม่ให้เกิดอีกได้ ก็นิพพานนั้นมีเฉพาะในพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น ไม่มีในศาสนาอื่นในโลก และแม้นิพพานจะมีอยู่ แต่ถ้าปราศจากพระพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้ทรงเห็นด้วยพระองค์เอง แล้วนำมาบอกสอน การบรรลุนิพพานก็มีไม่ได้ เพราะไม่มีท่านผู้รู้ ที่รู้จักทางอันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงนิพพานนั่นเอง

   ใน นันทิยสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ข้อ ๔๕ นันทิยปริพาชกทูลถาม พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ธรรมอะไรหนอ ที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด"

   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ธรรม ๘ ประการ (คืออริยมรรคมีองค์ ๘) ที่บุคคล เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพาน เป็นที่สุด ๘ ประการคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ"

   ด้วยเหตุที่มรรคผลนิพพาน มีเฉพาะในพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น พระพุทธเจ้า จึงตรัสแก่ สุภัททปริพาชก เมื่อใกล้จะปรินิพพานว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ใน ธรรมวินัยใด สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ คือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ก็มีในธรรมวินัยนั้น ดูก่อนสุภัททะ อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ใน ธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ จึงมีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นๆ ว่างจาก สมณะผู้รู้ ดูก่อนสุภัททะ ก็ภิกษุเหล่านี้ พึงอยู่โดยชอบ โลกจักไม่ว่างจากพระอรหันต์(จากทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ข้อ ๑๓๘)

      อรรถกถา อธิบายพระพุทธพจน์ที่ว่า ก็ภิกษุเหล่านี้ จึงอยู่โดยชอบ โลกจักไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ ไว้ว่า หากพระอริยบุคคล ๔ จำพวกนี้ เมื่อบรรลุธรรมแล้ว บอก สอนธรรมที่ท่านบรรลุนั้นแก่ผู้อื่น ให้ผู้อื่นได้บรรลุธรรมด้วย การอยู่ของพระอริยบุคคลผู้กระทำเช่นนี้ชื่อว่า อยู่โดยชอบ และการกระทำอย่างนี้ ของพระอริยบุคคลเหล่านี้ จึงเป็นเหตุให้โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์

   เป็นอันสรุปว่า บุคคลที่รู้จักนิพพานโดยแท้จริง จึงได้แก่พระอริยเจ้า ๘ บุคคล มีโสดาปัตติมรรค-โสดาปัตติผลบุคคล เป็นต้นจนถึงอรหัตมรรค-อรหัตผลบุคคลเท่านั้น นอกนั้นหาได้สัมผัสกับนิพพานโดยแท้จริงไม่ ท่านที่บอกว่ารู้ๆ นั้น ก็รู้จากการศึกษาเล่าเรียนเท่านั้น มิได้รู้โดยแจ้งประจักษ์จริงๆ อย่างพระอริยเจ้าท่านรู้ ต่อเมื่อใดท่านได้บรรลุมรรคผลด้วยตนเองแล้วนั่นแหละ เมื่อนั้นท่านจึงจะรู้จักนิพพานโดยถ่องแท้ปราศจากข้อกังขาใดๆ และไม่ต้องทุ่มเถียงกับผู้ใด ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า การทำนิพพานให้แจ้งเป็นอุดมมงคล

-----------///----------


[full-post]

ธรรมะ,อภิธรรม,วิปัสสนา,นิพพาน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.