ปาฬิสัททา

การศึกษาพระอภิธรรม

มีมาตั้งแต่ในสมัยล้านนา

      .....ในล้านนามีการศึกษาพระอภิธรรมที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อน ดังจะเห็นได้จากคัมภีร์บาฬีโยชนาอรรถกถาพระอภิธรรมหลายคัมภีร์ ซึ่งเป็นผลงานของพระญาณกิตติมหาเถระ ชาวเมืองเชียงใหม่ เกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยพระเจ้าสิริภูวนาทิจจธรรมราชา (พระเมืองแก้ว) รัชกาลที่ ๑๑ แห่งพระราชวงศ์มังราย (พ.ศ.๒๐๓๘-๒๐๖๘)[1] ดังรายชื่อคัมภีร์ดังต่อไปนี้[2]

      (๑) อฏฺฐสาลินีอตฺถโยชนา  (โยชนาอรรถกถาธรรมสังคณี)

      (๒) สมฺโมหวิโนทนีอตฺถโยชนา (โยชนาอรรถกถาวิภังค์)

      (๓) ปญฺจปกรณฏฺฐกถาอตฺถโยชนา  (โยชนาอรรถกถาปัญจปกรณ์)

      (๔) อภิธมฺมตฺถสงฺคหตฺถโยชนา[3] (โยชนาอรรถกถาอภิธัมมัตถสังคหะ)

      (๕) อภิธมฺมตฺถภาวินิยตฺถโยชนา (ปญฺจิกา) (โยชนาฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ)

      .....และนอกจากพระญาณกิตติมหาเถระจะรจนาคัมภีร์บาฬีโยชนาอรรถกถาพระอภิธรรมแล้ว ยังรจนาคัมภีร์ "สมนฺตปาสาทิกาอตฺถโยชนา" (โยชนาอรรถกถาพระวินัยปิฎก) และ "กจฺจายนรูปทีปนี" (โยชนากัจจายนไวยากรณ์) ไว้อีกด้วย

      .....ในปัจจุบันคณะสงฆ์ไทยได้ใช้คัมภีร์ "สมนฺตปาสาทิกาอตฺถโยชนา" (โยชนาอรรถกถาวินัยปิฎก) ประกอบหลักสูตร ป.ธ.๕ และ ป.ธ.๖ และคัมภีร์ "อภิธมฺมตฺถภาวินิยตฺถโยชนา (ปญฺจิกา)" (โยชนาฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ) ประกอบหลักสูตร ป.ธ.๙ ซึ่งมีการปริวรรตและตีพิมพ์ให้อยู่ในรูปอักษรบาฬีไทยของมหามกุฏราชวิทยาลัยมาก่อน 

      .....นอกจากนั้นมูลนิธิภูมิพโลภิกขุ ยังได้ปริวรรตและตีพิมพ์คัมภีร์ "อฏฺฐสาลินีอตฺถโยชนา" (โยชนาอรรถกถาธรรมสังคณี) และ "สมฺโมหวิโนทนีอตฺถโยชนา" (โยชนาอรรถกถาวิภังค์) ให้อยู่ในรูปอักษรบาฬีไทยปัจจุบัน และคาดว่ากำลังดำเนินการปริวรรตและตีพิมพ์เล่มอื่นๆ ในกาลต่อไป

      ....."คัมภีร์โยชนา" คือ คู่มือประกอบการศึกษาพระบาฬี อรรถกถา ฏีกา โดยพระโยชนาจารย์ ท่านจะประกอบปาฐเสสะ (โยคศัพท์เข้ามาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น) แปลศัพท์ยากให้เป็นศัพท์ง่าย (แปลบาฬีเป็นบาฬี) บอกหน้าที่ของบทในประโยค (สัมพันธ์/การก) วิเคราะห์ศัพท์ (สมาส, ตัทธิต, กิตก์) และบอกธาตุปัจจัย พร้อมทั้งบอกสูตรบาฬีไวยากรณ์ มีกัจจายนสูตรเป็นต้น เพื่อให้รู้ต้นตอที่มาของรูปศัพท์ เพื่อง่ายต่อความเข้าใจโครงสร้างภาษาบาฬี การตีความ และการแปลเป็นภาษาท้องถิ่นอื่นๆ   

-----------------------

      [1] คัมภีร์โยชนาอรรถกถาพระอภิธรรม ที่ระบุปีที่รจนา มีเพียงคัมภีร์เดียว คือ "อภิธมฺมตฺถภาวินิยตฺถโยชนา" (โยชนาฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ) ส่วนชื่อพระเถระผู้รจนา วัดที่พำนักและเมืองที่รจนา แสดงข้อความเหมือนกันทุกคัมภีร์ ดังข้อความท้ายคัมภีร์ว่า;

      .....อิติ อภินวปุรวฺหยนครสฺส ปจฺฉิมุตฺตรทิสาภาเค ปติฏฺฐิเต ปนสาราเม สิรีติภูวนาทิจฺจธมฺมราเชน การาปิเต เคเห วสนฺเตน สกลพฺยากรณาสงฺคญฺญาณจารินา สาฏฺฐกถติปิฏกธเรน ญาณกิตฺตีติ นามเธยฺเยน เถเรน กตา ปญฺจิกา นาม อตฺถโยชนา กตกิจฺจสฺส พุทฺธภูตสฺส ภควโต ยมกสาลานมนฺตเร ปรินิพฺพุติโต ปญฺจตาฬีสาธิเกสุ ทฺวีสุ วสฺสสหสฺเสสุ ปริปุณฺเณสุ อติกฺกนฺเตสุ จตุสฏฺฐิวสฺสาธิเก อฏฺฐสตสกราเช เวสาขมาสสฺส กาฬปกฺเข พุธทิเน นิฏฺฐํ สมฺปตฺตาติ. (อภิธมฺมตฺถวิภาวินิยา ปญฺจิกา นาม อตฺถโยชนา (ตติโย ภาโค) หน้า ๕๙๒ มมร.)  

      .....แปลความว่า; คัมภีร์อรรถโยชนา ชื่อปัญจิกา พระเถระผู้มีนามว่า "ญาณกิตติ" ผู้ทรงพระไตรปิฎกกับด้วยอรรถกถา ผู้เชี่ยวชาญในคัมภีร์ไวยากรณ์ทั้งสิ้น ผู้อยู่ในเรือนที่พระเจ้าสิริภูวนาทิจจธรรมราชาทรงสร้างถวาย ณ พระอารามชื่อว่า "วัดขนุน" ที่ตั้งอยู่ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แห่งนครที่มีชื่อว่า "เชียงใหม่" (อภินวปุร) รจนาเสร็จสมบูรณ์ในวันพุธ ข้างแรม เดือนวิสาขะ ปีจุลศักราช ๘๖๔ ก้าวล่วงสู่ปี ๒๐๔๕ บริบูรณ์ นับแต่กาลปรินิพพานในระหว่างคู่ต้นสาละของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยประการฉะนี้.

      .....จากหลักฐานท่านมีชีวิตอยู่ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าสิริภูวนาทิจจธัมมราชา (พระเมืองแก้ว) รัชกาลที่ ๑๑ ราชวงศ์มังราย (พ.ศ.๒๐๓๘-๒๐๖๘) (รายพระนามพระมหากษัตริย์ล้านนา-วิกิพีเดีย)

      [2] พรรณเพ็ญ เครือไทย, บรรณาธิการ. วรรณกรรมพุทธศาสนาในล้านนา (เชียงใหม่ ; สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์, ๒๕๔๐), หน้า ๑๔-๑๕. และ สมเด็จพระวันรัตน. สังคีติยวงศ์ ภาษาบาฬี. พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาลลักษมณ) แปล (กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน จัดพิมพ์ในการออกเมรุพระราชทานเพลิงศพพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร), ๒๕๕๘), อธิบายหนังสือสังคีติยวงศ์ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หน้า ๑๒.  

      [3] "อภิธมฺมตฺถสงฺคหตฺถโยชนา" (โยชนาอรรถกถาอภิธัมมัตถสังคหะ) ท้ายคัมภีร์ไม่ได้ระบุชื่อผู้รจนา แต่สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นพระญาณกิตติมหาเถระ ผู้รจนา "อภิธมฺมตฺถภาวินีอตฺถโยชนา" (โยชนาฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ) เพราะว่าทั้ง ๒ คัมภีร์นี้เป็นคัมภีร์ที่มาคู่กัน และต้องใช้ศึกษาร่วมกัน กล่าวคือ คัมภีร์ฏีกาเป็นคัมภีร์ที่อธิบายคัมภีร์อรรถกถานั่นเอง

อ่าน "การศึกษาพระอภิธรรม (ปรมัตถ์) ในล้านนา เมื่อราวปีพุทธศักราช ๒๔๕๒ ช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปรับปรุงประเทศ พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๗๕"

https://www.facebook.com/.../a.288701624.../990991308065515/

-----------------------


[full-post]

 


สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ


การแปลความระหว่างภาษาตระกูลที่คำศัพท์เกิดจากธาตุ (รากศัพท์) และปัจจัย เช่น ภาษาบาลีเป็นต้น กับภาษาตระกูลที่คำศัพท์เกิดจากการเรียงคำ เช่น ภาษาไทย เป็นต้น มีความสำคัญเป็นไฉน?

   ในภาษาบาลีที่ใช้รักษาพุทธพจน์นั้น ถึงอรรถของธาตุจะมีมากมาย แต่ก็ถูกระบุอรรถด้วยปัจจัยประจำคณะธาตุ มี ภูคณะธาตุเป็นต้น

   ในภาษาไทยที่ใช้แปลความพุทธพจน์ ซึ่งใช้การสรรหาคำเพื่อเรียงลำดับให้ถูกต้องตรงต่อพุทธพจน์ ตัวอย่างเช่นคำว่า เผลอ กับ คำว่า เผอเรอ

   เผลอ มีความหมายว่าหลงลืม หรือไม่ระวังตัวชั่วขณะหนึ่ง ทั้งนี้แล้วแต่บริบทหรือข้อความที่ห้อมล้อมจะกำหนด เช่นที่ใช้กันว่า “เนื่องจากเขาเผลอเป็นประจำจึงมักทำผิดบ่อย ๆ" (เผลอ=หลงลืม)

“เพราะตำรวจเผลอผู้ต้องหาจึงแย่งปืนไปได้ (เผลอ=ไม่ระวังตัวชั่วขณะหนึ่ง)

“นักเรียนเดินเผลอไปสะดุดกับขาโต๊ะ” (เผลอ=ไม่ระวังตัว)

   เผอเรอ มีความหมายว่าเลินเล่อ ไม่รอบคอบ สุรุ่ยสุร่าย เช่นที่ใช้กันว่า “การทำงานเกี่ยวกับการเงินต้องอาศัยความละเอียดลออและความระมัดระวัง มาก จะทําเผอเรอให้ผิดพลาดไม่ได้ "

(เผอเรอ=เลินเล่อ)

“เขาเผอเรอเป็นประจำทั้งในด้านการทำงานและการประพฤติตน" (เผอเรอ=เลินเล่อ ไม่รอบคอบ)

“คนทุกคนไม่ควรใช้จ่ายให้เผอเรอ ต้องประหยัดเงินไว้เพื่อสร้างฐานะของตน" (เผอเรอ=สรุ่ยสุร่าย)

   คำ “เผลอ” กับ “เผอเรอ” มีความหมายใกล้เคียงกันมาก แต่ไม่ตรงกันทีเดียวนัก ถ้าพิจารณาโดยถี่ถ้วนรอบคอบแล้วจะเห็นว่าความหมายของคำ “เผอเรอ” หนักกว่า คำว่า “เผลอ” ความหมายของ “เผลอ” มีเพียงว่า หลงลืม ไม่ระวังตัว แต่ความหมายของคำว่า “เผอเรอ” บ่งบอกถึงความหลงลืมหรือไม่ระมัดระวังตัวอย่างมาก จนถึงขั้นเลินเล่อ ไม่รอบคอบ หรือขาดความระมัดระวังตัวไปเลย 

   คำทั้งสองนี้อาจจะใช้แทนกันได้บ้างในบางโอกาส แต่ก็ใช้แทนกันไม่ได้เสมอไป อย่างในประโยคตัวอย่างที่ยกมาจะแทนกันไม่ได้เลย หากใช้แทนกันจะทำให้น้ำหนักของความหมายต่างไป และไม่ได้ความดีเท่าที่ควร ซึ่งถือว่าเป็นการใช้คำผิดความหมาย 

   โดยทั่ว ๆ ไปแล้วการใช้คำทั้งสองมีที่ผิดอยู่ ๒ ประการ ประการแรกได้แก่การใช้สับกัน คือใช้ “เผลอ” แทน “เผอเรอ” หรือใช้ “เผอเรอ” แทน “เผลอ” ส่วนความผิดประการที่สอง ได้แก่การใช้ “เผอเรอ” เป็น “เผลอเรอ” ซึ่งเป็นความผิดที่มีอยู่ทั่วไปทั้งในการพูดและการเขียน

   จะเห็นได้ว่านอกจากจำเป็นต้องเรียนไวยากรณ์ทั้งสองภาษาแล้ว ผู้ประสงค์จะแปลพุทธพจน์ให้ได้ทั้งองค์ธรรมทั้งอรรถรส พึงจำต้องเรียนอรรถศาตร์และภาษาศาตร์ เพื่อขจัดปัญหาดังกล่าวด้วย


[full-post]


สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ

      การทานมังสวิรัติ​เป็นศีลข้อปาณาติบาต​หรือไม่​? จะใช่หรือไม่ด้วยเหตุผลและหลักฐานอย่างไร?​ ตกลงปาณาติบาต​และมังสวิรัติ​เป็นศีลประเภทไหนกันแน่?  แม้ทานซึ่งประพฤติ​ปฏิบัติได้ง่ายกว่ายังมีนัย​ที่สุขุมลุ่มลึกให้ศึกษากันเลย แล้วไฉน​ศีลซึ่งประพฤติ​ปฏิบัติ​ได้ยากกว่า​ จะไม่มีความสุขุมลุ่มลึก​ให้ศึกษาเล่า?  ตัวอย่าง เช่น เมื่อกล่าวทานโดยเล็งถึงผลที่ประสงค์ ซึ่งทานหมวดนี้มักมีหมวดละ 2 อย่าง เป็นคู่กัน เช่น

   1. อามิสทาน การให้วัตถุสิ่งของ ส่งผลให้มีทรัพย์สมบัติ

   2. ธรรมทาน การให้ความรู้ ส่งผลให้มีปัญญา ทานคู่นี้ ธรรมทานประณีตกว่าอามิสทาน ดังมีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า "สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ " แปลว่า "การให้ความรู้ชนะการให้ทั้งปวง"

   1. สาหัตถิกทาน การให้ด้วยตนเอง ส่งผลให้มีทรัพย์สมบัติ แต่ไม่มีบริวาร

   2. อาณัตติกทาน การใช้ผู้อี่นให้ ส่งผลให้มีบริวาร แต่ไม่มีทรัพย์สมบัติ ทานคู่นี้ ต่างส่งผลพร่อง 


ถามว่า ถ้าต้องการได้ทั้งทรัพย์สมบัติ ได้ทั้งบริวาร จะต้องทำทานเช่นไรเล่า? ตอบว่า ต้องเป็นผู้นำชักชวนให้ผู้ร่วมทำทานด้วย เช่นกฐินสามัคคีเป็นต้น

ทานหมวดสองคู่ต่อไป

    1. สัมปชานทาน การให้ด้วยความรอบรู้ในเรื่องของทานและผลของทาน ส่งผลให้มีทั้งทรัพย์ทั้งความฉลาดรอบคอบ

    2. อสัมปชานทาน การให้โดยไม่มีความรอบรู้ในเรื่องของทานและผลของทาน ส่งผลให้มีทรัพย์ แต่ไม่มีความฉลาดรอบคอบ เพื่อให้ท่านได้เห็นความรอบรู้ในเรื่องอกุศลกรรม มีการ       ฆ่าสัตว์เป็นต้น จักส่งผลให้ความฉลาดรอบคอบ เกิดได้อย่างไร 

     เป็นธรรมดาของมนุษย์ชีวิตต้องดำรงอยู่ด้วยอาหาร เมื่อไม่มีเงินซื้อกิน ก็ต้องดิ้นรนหาเอง เช่น ต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ มีปลาเป็นต้น ก็ต้องแสวงหาและฆ่ากินเอง ถามว่า ระหว่าง

     เนื้อสัตว์ที่ซื้อมาจากตลาด ที่เขาฆ่าและชำแหละเสร็จแล้ว กับเนื้อสัตว์ที่แสวงหาและฆ่าเอง มีองค์ของปาณาติบาต ต่างกันอย่างไร? ตอบว่า เนื้อสัตว์ที่ฆ่าเอง มีองค์ปาณาติปาต ทั้ง 5 ครบ คือ :-

   1. สัตว์นั้นมีชีวิต

   2. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชึวิต

   3. มีจิตคิดจะฆ่า (วธกเจตนา)สัตว์นั้น

   4. มีความพยายามฆ่าสัตว์นั้น

   5. สัตว์นั้นตายด้วยความพยายามนั้น

      ส่วนเนื้อสัตว์ที่ซื้อมาจากตลาดที่เขาฆ่าชำแหละเสร็จแล้วนั้น ไม่มีองค์ของปาณาติปาตแม้นแต่องค์เดียว ดังนั้นแล ผู้รอบรู้เรื่องอกุศลกรรม จึงฉลาดรอบคอบ ไม่ประมาทดูแคลนเรื่องของทาน อันเป็นเหตุให้ขัดสนทรัพย์ จำต้องฆ่าสัตว์เลี้ยงชีพ ฉะนี้แล นอกจากนั้นความรอบรู้ในองค์ของปาณาติปาต ยังทำให้ฉลาดในการรักษาศีลข้อปาณาติบาตให้สะอาดหมดจดได้อีกด้วย กล่าวคือวธกเจตนา(เจตนาที่คิดจะฆ่า) จะเกิดขึ้นได้ ต้องรู้ว่า สัตว์นั้นมีชีวิตอยู่ ซึ่งจะรู้ได้ทางตา ทางหู ทางใจ ดังมีพระพุทธพจน์ตรัสไว้ว่า

"ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาติให้ฉันเนื้อสัตว์ที่บริสุทธิด้วยส่วนทั้ง 3 คือ:

    1. ไม่เห็นว่าเขาฆ่าเพื่อถวายจำเพาะเจาะจงตน(=รับรู้ทางตา)

   2. ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่าถวายจำเพาะเจาะจงตน(=รับรู้ทางหู)

   3. ไม่ได้ลังเลสงสัยว่าเขาฆ่าถวายจำเพาะเจาะจงตน(=รับรู้ทางใจ)  

ถามว่า การทานมังสวิรัติ เป็น ศีลข้อปาณาติปาตหรือไม่? ตอบว่า เมื่อไม่เกี่ยวข้องกับองค์ของปาณาติปาตเลย จักเป็นศีลข้อปาณาติปาตได้อย่างกัน

ถามว่า เมื่อไม่เป็นศีลข้อปาณาติปาตแล้ว เป็นศีลอะไร? 

ตอบว่า ศีลมี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ:

   1. วาริตศีล (ศีลที่เป็นข้อห้าม) มีปาณาติบาตเป็นต้น

   2. จาริตศีล(ศีลที่เป็นข้อปฏิบัติ) มีการประพฤติห่างไกลจากปาณาติบาตเป็นต้น เช่น การทานมังสวิรัติ ดังนั้น จึงตอบได้เลยว่า การทานมังสวิรัติไม่ใช่ศีลข้อปาณาติปาตแน่นอน

ถามว่าก็แล้วทำไม พระพุทธองค์ จึงไม่ทรงห้าม ไม่ทรงปฏิเสธเรื่องการทานมังสวิรัติ ทรงแล้วแต่ความสมัครใจ ตอบว่า เพราะความบริสุทธิ์ หมดจดของศีลปาณาติปาต มีช่องทางการรับรู้ 3 ทางดังกล่าวเป็นหลักและการทานอาหารใด ๆ ก็ตาม ไม่เว้นแม้นแต่การทานอาหารมังสวิรัติ จะบริสุทธิ์หมดจดได้ ก็ด้วยการสำรวมชิวหาทวารเป็นหลัก เพื่อให้ท่านเห็นประโยชน์ความรอบรู้องค์ของปาณาติบาตชัดเจนยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้ความฉลาดรอบคอบเกิดขึ้น จะขอยกตัวอย่าง การปิดหน้าต่างหนีบทับจิ้งจกตาย องค์ของปาณาติปาตไม่ครอบ แต่ทำใจไม่เป็น(อกุศลมโนกรรม) เพราะขาดความรอบรู้องค์ปาณาติปาต จึงสมน้ำหน้าว่า"ตายเสียได้ก็ดี ไม่ใช่ที่ไม่ใช่ทางเสียหน่อย" เจตนาก่อนทำและขณะไม่มีก็จริง แต่เพราะไม่ฉลาดรอบคอบในการทำใจ เหตุเพราะไม่มีความรอบรู้ดังกล่าว เจตนาหลังทำที่ไม่ควรเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นได้ฉะนี้แล


ทานหมวดสองคู่ต่อไป

   1. วัฎฎนิสสิตทาน การให้ทานที่อิงอาศัยวัฎฎะด้วยความปรารถนาโภคสมบัติ (อยากรำรวยมั่งมี) และภวสมบัติ (อยากเกิดเป็นมนุษย์เป็นเทวดา)เป็นเพียงทานสามัญ เพราะมีความอยากได้(โลภะที่มีกำลัง= ตัณหา)เป็นปัจจัย

   2. วิวัฏฏนิสสิตทาน การให้ทานที่อิงอาศัยวิวัฏฏะด้วยความประสงค์จะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ พระปัจเจกโพธิญาณ อัครสาวกโพธิญาณ มหาสาวกโพธิญาณ ปกติสาวกโพธิญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะเห็นโทษของตัณหาอันเป็นเหตุนำมาซึ่งวัฎฎะ ทานประเภทนี้ จึงมีอโลภะเป็นปัจจัย จัดเป็นทานบารมี​ ต่อไปถ้ามีโอกาส​จะขอนำเรื่องทานและเรื่องศีลตามพุทธ​วิสัย​ ทั้งนัยอรรถกถา​จารย์​ และทั้งนัยนิสสยาจารย์มาเสนอเพื่อน ๆ ผู้ใคร่ธรรมโดยละเอียดต่อไป.



[full-post]

 


สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ


การเข้าถึงนิพพาน

   ดังได้กล่าวแล้วว่า นิพพานไม่เกิด ไม่ดับ ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นสภาพเที่ยง เพราะมีอยู่ มิได้เปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไป เป็นธรรมชาติ ละเอียดอ่อน สุขุมลุ่มลึก อันบุคคลทั่วไป ไม่อาจรู้ได้ด้วยการตรึกนึกเอาเอง เพราะบรรดาสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่มีอยู่ในนิพพาน นอกจากนั้นนิพพานยังเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตาอีกด้วย 

   คําว่า อัตตา แปลว่า ตัวตน

   อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน

   อธิบายว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นสังขตธรรม อย่างจิต เจตสิก และรูป ล้วนแต่เป็นอนัตตา แม้อสังขตธรรมอย่างนิพพาน ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา ไม่มีใครมีอำนาจสามารถบังคับหรือสั่งให้ธรรมทั้งปวง ทั้งสังขตธรรม และอสังขตธรรมให้เป็นไป ตามใจชอบได้ แต่ธรรมเหล่านั้น ย่อมเป็นไปตามธรรมชาติของตนๆ เท่านั้น

   ในพระวินัยปิฎก ปริวาร ข้อ ๘๒๖ แสดงว่า “สังขารทั้งปวงที่ปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา กับ บัญญัติและนิพพาน ท่านก็วินิจฉัยว่าเป็นอนัตตา เมื่อดวงจันทร์คือพระพุทธเจ้ายังไม่เกิดขึ้น เมื่อดวงอาทิตย์คือพระพุทธเจ้า ยังไม่อุทัยขึ้น เพียงแต่ชื่อของสภาคธรรมเหล่านั้น ก็ยังไม่มีใครรู้จัก” ดังนี้ เป็นต้น

   อรรถกถาแก้คำว่า สภาคธรรม ไว้ว่า ได้แก่สังขตธรรมที่มีส่วนเสมอกันด้วย อาการไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (สามัญญลักษณะ)

   สังขตธรรม คือธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสังขารธรรมมีเกิด มีดับ เพราะ ฉะนั้นจึงมีลักษณะที่เหมือนกันอยู่ ๓ ประการคือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์คือ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และ อนัตตา คือไม่ใช่ตัวตน และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร คือใครจะบังคับให้เป็นไปตามใจชอบหาได้ไม่

   สังขตธรรมโดยนัยของพระอภิธรรม ได้แก่ ปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก และรูป นับโดยจํานวนเต็ม คือจิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ ในการเจริญมรรค หรือ เจริญวิปัสสนา ธรรมที่ควรกำหนดรู้ คือขันธ์ ๕ หรือนามรูปนั้น ได้แก่ธรรมที่เป็นอารมณ์ของอุปาทานเท่านั้น คือโลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ (เว้นโลกุตรจิต ๘ เจตสิก ๓๖ ที่แม้จะเป็นสังขตธรรม แต่ก็ไม่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน จึงไม่ใช่ธรรมที่ควร กำหนดรู้)

      ในบรรดาโลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ เมื่อจัดเข้าในอริยสัจ ๔ แล้ว ได้เพียงอริยสัจ ๒ คือ ทุกขอริยสัจ และสมุทยอริยสัจ

   ทุกขอริยสัจ ได้แก่ โลกียจิต ๘๑ เจตสิกที่ประกอบ ๕๑ (เว้นโลภะเจตสิก) และ รูป ๒๘

   สมุทยอริยสัจ ได้แก่ โลภะเจตสิก

   ส่วนโลกุตรจิต ๘ เจตสิกที่ประกอบ ๓๖ จัดได้อริยสัจเดียว คือเจตสิก ในเจตสิก ๓๖ ที่เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ เป็น มรรคอริยสัจ

   ในเจตสิก ๘ ปัญญาเจตสิกเป็น สัมมาทิฏฐิ วิตกเจตสิกเป็น สัมมาสังกัปปะ วิรตีเจตสิก ๓ เป็นองค์มรรค ๓ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ วิริยเจตสิก เป็น สัมมาวายามะ สติเจตสิก เป็น สัมมาสติ เอกัคคตาเจตสิก เป็น สัมมาสมาธิ

   ส่วนโลกุตรจิต ๘ กับเจตสิก ๒๘ ที่เหลือจากองค์มรรค ๘ ไม่จัดเข้าเป็น อริยสัจใดๆ ในอริยสัจ ๔ จึงเป็น สัจจวิมุตติ 

   สำหรับอริยสัจที่เหลือ คือนิโรธอริยสัจ นั้น ได้แก่อสังขตธรรม คือ นิพพาน นิพพานจึงเป็น นิโรธอริยสัจ

   อสังขตธรรม โดยนัยของพระอภิธรรม ได้แก่ ปรมัตถธรรมที่เหลือ คือ นิพพาน ซึ่งไม่ต้องอาศัยปัจจัยใดๆ เกิดขึ้น ไม่เกิด ไม่ดับ จึงเป็นวิสังขาร มีสภาพเที่ยง (เพราะ ไม่เกิดไม่ดับ) เป็นสุข คือเป็นสันติสุข สงบจากกิเลส ไม่ใช่สุขเวทนา เพราะเวทนาเป็น เวทนาขันธ์ ส่วนนิพพานไม่ใช่ขันธ์ เป็นขันธวิมุตติ และเป็นอนัตตา เพราะไม่ใช่ตัวตน และไม่มีตัวตนในนิพพาน

   ดังได้กล่าวแล้วว่า หากพระพุทธเจ้าไม่เสด็จอุบัติขึ้น เพียงแต่ชื่อของสังขตธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ก็ไม่ปรากฏคือไม่มีใครรู้จัก แม้เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ทรงแสดงธรรมเหล่านั้นไว้แล้วก็ยังยากที่ใครจะรู้จักอย่างถ่องแท้ได้ หากเขายังไม่รู้จัก สภาวลักษณะหรือปัจจัตตลักษณะ คือลักษณะเฉพาะตัวของสังขตธรรมแต่ละอย่างๆ นั้น ด้วยวิปัสสนาญาณ ทั้งนี้เพราะสภาวลักษณะของสังขตธรรม แต่ละอย่างนั้นแตกต่างกัน ไม่เหมือนกันเลย ต่อเมื่อรู้จักลักษณะเฉพาะตัวของสังขตธรรมเหล่านั้น (โดยเฉพาะสังขตธรรมที่เป็นโลกียธรรม) โดยไม่ปะปนกันแล้ว ญาณแรกของวิปัสสนา คือ นามรูปปริจเฉทญาณจึงเกิดขึ้นได้ และเมื่อปัญญารู้ถึงลักษณะ ของโลกียธรรมเหล่านั้นชัดเจน ขึ้นๆ ปัญญาก็จะรู้ว่า โลกียธรรมเหล่านั้นอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น มิได้เกิดขึ้นลอยๆ หรือมีใครสั่งให้เกิด

   จากนั้น ญาณที่เข้าถึงสามัญญลักษณะ คือ อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตต ลักษณะ ที่เรียกสั้นๆ ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงปรากฏ และเมื่อเจริญมรรค คือกำหนด นามรูป อันเป็นโลกียธรรมต่อไป วิปัสสนาญาณขั้นสูงก็จะเกิดขึ้นตามลำดับ จนกระทั่ง มรรคจิตหน่วงเอานิพพานเป็นอารมณ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ละสังโยชน์ ๓ คือ

   สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่านามรูปเป็นตัวตน ๑    

   วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย เป็นต้น ๑ สีลัพพตปรามาส ความยึดถือข้อปฏิบัติที่ผิด ๑

   ให้สิ้นไป คือไม่ให้เกิดขึ้นอีกเลย แต่นั้นผลจิต ก็เกิดขึ้นต่อทันทีที่มรรคจิตดับลง หน่วงเอานิพพานเป็นอารมณ์ เสวยสุขอันเกิดแต่ความที่กิเลสสงบไป และเมื่อผลจิตดับลง ปัจจเวกขณะญาณจึงเกิดขึ้น พิจารณามรรค ผล นิพพาน ที่ได้ประจักษ์แจ้งมาแล้ว บางท่านที่มีปัญญามาก ก็ยังพิจารณาว่า ละกิเลสไปได้เท่าใด ยังเหลือกิเลสที่ยังต้องละอีกเท่าใดด้วย

   เพราะเหตุที่เมื่อมรรคผลดับลงแต่ละครั้ง (ทั้งหมดมี ๔ ครั้ง) ต้องมีปัจจเวกขณะญาณเกิดขึ้นทุกครั้งดังกล่าว ผู้เจริญวิปัสสนาจึงสามารถรู้ได้ด้วยตนเอง โดยมิต้องมีผู้ใดบอกว่า ตนได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน บทธรรมคุณว่า พระธรรมอันพระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว คือ มรรค ผล นิพพาน อันเป็น โลกุตรธรรม เป็น สันทิฏฐิโก คือเป็นธรรมที่ผู้บรรลุเห็นเอง (ไม่ต้องมีใครบอก อกาลิโก ไม่มีกาลเวลา คือเมื่อมรรคจิตเกิดขึ้น แล้วดับลง ผลจิต อันเป็นผลของมรรค ก็เกิดต่อทันที โดยไม่รอเวลา คือไม่มีอะไรมาคั่นในระหว่างนั้น เอหิปัสสิโก ควรเรียก ให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามาในตน ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ เป็นธรรมอันผู้รู้พึงรู้ ได้เฉพาะตน เพราะถ้ามรรคผลนิพพานยังไม่เคยเกิด ใครจะบอกอย่างไร ก็ไม่อาจรู้ได้ เพราะธรรมเหล่านี้ละเอียดสุขุมลุ่มลึกยิ่งนัก ยากที่จะหยั่งรู้ได้โดยง่าย หากมิใช่ พระพุทธเจ้าหรือพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ต้องอาศัยได้ฟังหรือเรียนจากคำสั่งสอนของ พระพุทธเจ้า แล้วดำเนินตามจึงจะรู้ได้

   ก็ทั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ทรงนำมาบอกสอนไว้ ก็ยังยากแสนยากที่จะ ดำเนินรอยตาม จนญาณปัญญาเกิดขึ้นเป็นลำดับสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องกล่าวถึงว่า หากไม่มีพระพุทธเจ้าทรงบอกสอนแล้ว จะบรรลุ มรรคผลนิพพานเองได้

   นิพพานนั้น เป็นธรรมสูงสุดในพระพุทธศาสนา ผู้ที่เจริญมรรคมีองค์ ๘ นั้น เมื่อมรรคผลเกิดขึ้น หากปราศจากอาศัยนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว ก็ไม่สามารถละกิเลส ที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานมาช้านานให้ขาดได้ คือไม่ให้เกิดอีกได้ ก็นิพพานนั้นมีเฉพาะในพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น ไม่มีในศาสนาอื่นในโลก และแม้นิพพานจะมีอยู่ แต่ถ้าปราศจากพระพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้ทรงเห็นด้วยพระองค์เอง แล้วนำมาบอกสอน การบรรลุนิพพานก็มีไม่ได้ เพราะไม่มีท่านผู้รู้ ที่รู้จักทางอันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงนิพพานนั่นเอง

   ใน นันทิยสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ข้อ ๔๕ นันทิยปริพาชกทูลถาม พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ธรรมอะไรหนอ ที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด"

   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ธรรม ๘ ประการ (คืออริยมรรคมีองค์ ๘) ที่บุคคล เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพาน เป็นที่สุด ๘ ประการคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ"

   ด้วยเหตุที่มรรคผลนิพพาน มีเฉพาะในพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น พระพุทธเจ้า จึงตรัสแก่ สุภัททปริพาชก เมื่อใกล้จะปรินิพพานว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ใน ธรรมวินัยใด สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ คือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ก็มีในธรรมวินัยนั้น ดูก่อนสุภัททะ อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ใน ธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ จึงมีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นๆ ว่างจาก สมณะผู้รู้ ดูก่อนสุภัททะ ก็ภิกษุเหล่านี้ พึงอยู่โดยชอบ โลกจักไม่ว่างจากพระอรหันต์(จากทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ข้อ ๑๓๘)

      อรรถกถา อธิบายพระพุทธพจน์ที่ว่า ก็ภิกษุเหล่านี้ จึงอยู่โดยชอบ โลกจักไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ ไว้ว่า หากพระอริยบุคคล ๔ จำพวกนี้ เมื่อบรรลุธรรมแล้ว บอก สอนธรรมที่ท่านบรรลุนั้นแก่ผู้อื่น ให้ผู้อื่นได้บรรลุธรรมด้วย การอยู่ของพระอริยบุคคลผู้กระทำเช่นนี้ชื่อว่า อยู่โดยชอบ และการกระทำอย่างนี้ ของพระอริยบุคคลเหล่านี้ จึงเป็นเหตุให้โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์

   เป็นอันสรุปว่า บุคคลที่รู้จักนิพพานโดยแท้จริง จึงได้แก่พระอริยเจ้า ๘ บุคคล มีโสดาปัตติมรรค-โสดาปัตติผลบุคคล เป็นต้นจนถึงอรหัตมรรค-อรหัตผลบุคคลเท่านั้น นอกนั้นหาได้สัมผัสกับนิพพานโดยแท้จริงไม่ ท่านที่บอกว่ารู้ๆ นั้น ก็รู้จากการศึกษาเล่าเรียนเท่านั้น มิได้รู้โดยแจ้งประจักษ์จริงๆ อย่างพระอริยเจ้าท่านรู้ ต่อเมื่อใดท่านได้บรรลุมรรคผลด้วยตนเองแล้วนั่นแหละ เมื่อนั้นท่านจึงจะรู้จักนิพพานโดยถ่องแท้ปราศจากข้อกังขาใดๆ และไม่ต้องทุ่มเถียงกับผู้ใด ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า การทำนิพพานให้แจ้งเป็นอุดมมงคล

-----------///----------


[full-post]

 


สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ


กถาวัตถุปกรณ์​ มี​ ประเด็นที่พึงรู้​ ดังนี้ (ตามนัยคัมภีร์​นิสสยะ​ อักษรปัลลวะ​ อักษรสิงหล​ และอักษรขอมโบราณ)​ 

๑. คัมภีร์​นี้ทำไมปราชญ์​ผู้รู้ทั้งหลาย​ มี​ พระอรรถกถา​จารย์​ พระฏีกาจารย์​ และ​ พระนิสสยาจารย์​  เป็นต้น จึงกล่าวว่า​ เป็นคัมภีร์​ขนาดกลางที่สุขุมลุ่มลึกเข้าใจได้ยาก​ พึงทราบว่า​ เพราะองค์ประกอบของเนื้อหาแต่ละส่วนมีหลายนัย​ และแต่ละนัยก็มีความซับซ้อน​ ผู้ศึกษาจึงควรให้ความสำคัญโครงสร้างของคัมภีร์์เป็นพิเศษ​

๒. คัมภีร์​นี้​ ในบรรดาเรื่องคำพูด (กถา)​ 9​ ประเภท​ มี​

       1.)​ติรัจฉานกถา​ คือ​ คำพูดที่ขัดขวาง​การบรรลุมรรค​ ผล​ นิพพาน

       2.)​วิกคาหิกกถา​ คือ​ คำพูดที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง

       3.)​สัมโมทนียกถา​ คือ​ คำพูดที่ก่อให้เกิดความสามัคคี

       4.)​อนุปุพพิกถา​ คือ​ คำพูดที่เป็นไปตามลำดับขั้นตอน

       5.)​อาลาปกถา​ คือ​ คำพูดที่เป็นการเจรจาตกลงความกัน  เช่น​ การเจรจาการค้า​ เป็นต้น

       6.)​ปพันธกัปปนกถา​ คือ​ คำพูดที่กำหนดประเด็น​ เช่น​ การโต้วาที​ การอภิปราย​ เป็นต้น

       7.)​วาทกถา​ คือ​ คำพูดที่โต้เถียง​กัน​ และคำพูดที่โต้แย้งกัน​ เกี่ยวกับลัทธิต่างๆ​ ซึ่งในคัมภีร์​นี้เป็นคำพูดแสดงการโต้แย้งกันแบบบัณฑิต​ มิใช่เป็นคำพูดแสดงการโต้เถียงกันแบบอันธพาล​

       8.)​ชัปปกถา​ คือ​ คำพูดที่บอกความประสงค์​เป็นเชิงบัณฑิต​  เช่น​ แทนที่จะ่้ร้องขอให้ไว้ชีวิต​ตรงๆ กลับร้องขอแบบเป็นเชิงของบัณฑิต​โดยการบอกความประสงค์เป็นเชิง​แทนว่า​ ตนปรารถนา​ได้เห็นท่านมีชีวิต​เป็นร้อยปี  เป็นต้น

       9.)​วิตัณฑกถา​ คือ​ คำพูดล้อเลียน​ เช่น​ การพูดล้อเล่นชการพูดประชด​ การพูดเหน็บแนม​ เป็นต้น

๓. คัมภีร์​นี้​ ส่วนที่เป็นเนื้อหาจำแนกเป็นประเด็น​ 266 กถา(ข้อ)​ มีบุคคลกถา​ เป็นต้น​ จำแนกเป็นสาระทางธรรม(เรื่อง)​ 18​ กลุ่ม​ มีกลุ่มเกี่ยวกับพระพุทธ​เจ้าเป็นต้น​ เช่น​ เรื่อง​(สาระ)​พระโอวาทเป็นโลกุตตระหรือ? เพื่อความสะดวกในการศึกษาและยืนยันว่าคัมภีร์​นี้เป็นวาทกถาจริงจึงแสดงเป็นกถา(ข้อ)​ไม่แสดงเป็นสาระ(เรื่อง)

๔.ในคัมภีร์​นี้​ ส่วนที่เป็นวิธีการ​ จำแนกเป็น​ 8​ วิธี​ โดยอาศัยนัยที่พึงปฏิบัติ(ปฏิบัตติกม)​ เรียกว่าอัฏฐมุกขนัย​ คือ​จาก​ 2​ ฝ่าย​ ที่เป็นฝ่ายยอมรับแล้วกลับกลอกกลิ้ง​เป็นปฏิเสธ​ เรียกว่า​ ฝ่ายอนุโลมปัจจนีกะ  4​ นัย​ และฝ่ายปฏิเสธแล้วกลับสัปปลับเป็นยอมรับ​ เรียกว่า​ ฝ่ายปัจจนีกานุโลมะ​ 4​ นัย

   แต่เมื่อจำแนกเป็นนัยที่พึงเกิดขึ้น(อุปปัตติกมะ)​ การติติง(นิคคหะ)​ พึงเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ขั้นตอน​การตั้งประเด็น(ฐปนา)​ คือ​ ช่วงที่ตั้งคำถามนำ(อนุโลมฐปนา)​ และช่วงที่ตั้งคำถามกลับ(ปฏิโลมฐปนา)​ ซึ่งถ้าขั้นตอนการตั้งประเด็นเกิดขึ้นแล้ว​ มีการยอมรับการติติงแล้ว​ ก็จะยุติการวาทกถา(การโต้แย้ง)​ จึงเรียกนัยนี้ว่า​ อัฏฐกนิคคหนัย​ ดังนั้น​ เมื่อว่าตามนัยที่พึงเกิดขึ้น(อุปปัตติกมะ)​ ซึ่งจะทำให้คัมภีร์​นี้​ แสดงขั้นตอนการโต้แย้งกันได้ครบทุกช่วงตอน​ ฝ่ายการถามนำจึงต้องมีครบทั้ง​ 5​ ช่วงตอน​ เรียกว่า​ ฝ่ายอนุโลมปัญจกะ​ และฝ่ายถามกลับก็ต้องมีครบทั้ง​ 5​ ช่วงตอนเช่นกัน​ เรียกว่า​ ฝ่ายปัจจนีกปัญจกะ​ สรุปอันดับขั้นตอน​การโต้แย้งกันในคัมภีร์​นี้​ จึงมีลำดับ​ ดังนี้

   1. ฐปนา​ คือ​ ขั้นตอนการตั้งประเด็น​ มี​ 2​ ฝ่าย​ คือ

         1.) อนุโลมฐปนา​ คือ​ ฝ่ายตั้งประเด็นถามนำ

        2.) ปฏิโลมฐปนา​ คือ​ ฝ่ายตั้งประเด็น​ถามกลับ

   แต่ละฝ่าย​ มี​ 4​ ช่วงตอน​ คือ

       1.) อนุโลมปาปนา​ คือ​ ช่วงตอนการถามนำเลวร้าย

       2.) อนุโลมโรปนา​ คือ​ ช่วงตอนการถามนำสดใส

       3.) ปฏิโลมปาปนา​ คือ​ ช่วงตอนการถามกลับเลาร้าย

       4.) ปฏิโลมโรปนา​ คือ​ ช่วงตอนการถามกลับสดใส​ 

   2. ปฏิกัมมจตุกกะ​ คือ​ ขั้นตอนการแก้ไข​ มี​ 4​ ช่วงตอน​ เหมือนขั้นตอน​ฐปนา

   3. นิคคหจตุกกะ​ คือ​ ขั้นตอนการติติง​ มี​ 4​ ช่วงตอน​ เหมือนขั้นตอนฐปนา

   4. อุปมาจตุกกะ​ คือ​ ขั้นตอนการเปรียบเทียม​ มี​ 4​ ช่วงตอน​ เหมือนขั้นตอนปฐนา

   5. นิคคมจตุกกะ​ คือขั้นตอนการลงความเห็น​ มี​ 4​ ช่วงตอน​ เหมือนขั้นตอน​ฐปนา

   5. แม้รู้โครงสร้าง​คัมภีร์​จากข้อที่​ 1.ถึงข้อที่​ 4​ ดีพอแล้ว​ ก็เป็นเหตุให้อ่านคัมภีร์​เข้าใจได้เท่านั้น​ เปรียบเหมือนเซียนมวยที่อ่านเชิงมวยของคู่ต่อสู้​ คือ​ ฝ่ายสกวาที​ กับฝ่ายปรวาทีได้ขาด​ แต่ก็ยังมีธรรมอีกส่วนหนึ่งที่เป็นเสมือนเหตุให้เป็นนักมวย​แชมป์​เสียเอง​ 10​ ประการ​ คือ​ ธรรมที่เป็นสาเหตุให้เกิดสักกายทิฏฐิ(ความเห็นผิดว่าอัตตาตัวตนมีอยู่จริง)​ อันเป็นต้นเหตุให้เกิดความเห็นผิดเป็นลัทธิ​ต่างๆขึ้นตามมาอีกทอดหนึ่ง​ และความฉลาดรอบรู้ความโดดเด่นของสภาวธรรมแต่ละสภาวธรรมที่สักกายทิฏฐิอาศัยเกิดขึ้น​ มี​ ขันธ์, อายตนะ​ เป็นต้น​ อันเปรียบเสมือนนักมวยแชมป์รอบรู้​ความโดดเด่นแม่ไม้มวยแต่ละแม่ไม้มวยดี  ซึ่งจะส่งผลให้กำหนดการใช้แม่ไม้มวยได้เหมาะสม​ กับทั้งยังรู้จังหวะ​ว่าจะเร่งหรือจะผ่อนแรง​ ในการโตแย้งกันธรรมส่วนนี้ก็​คือ​ อัฏฐมุุขนัย​ นั่นเอง​ที่เป็นประธาน เมื่อศึกษาเนื้อหาทั้ง​ 5​ ข้อดีแล้ว​ จะยกวาทกถาข้อใดขึ้นแสดงก็ตาม​ รูปแบบ​วิธีการ​  อันดับที่เป็นระบบขั้นตอน, อันดับที่เป็นระบบช่วงตอน​ ตลอดเชิงไหวพริบ​ปฏิภาณ​ก็จะหลังไหลพรั่งพรู​ให้ทราบได้

   1.) ธรรมที่เป็นสาเหตุให้เกิดสักกายทิฎฐิ​ มี​ 10​ ประการ​ ดังนี้

       1.1  สัสสตวาทะ คือสักกายทิฎฐิที่เป็นส่วนให้เข้าใจผิดเกิดเป็นลัทธิว่า​ อัตตาและโลกเที่ยง​ มี​ 4 ลัทธิ​ย่อย

       1.2  เอกัจจสัสสตวาทะ คือสักกายทิฏ​ฐิ​ที่เป็น​ส่วนให้เข้าใจผิด​ เกิดเป็นลัทธิว่า​   อัตตา​ และโลกบางส่วนเที่ยง​ มี​ 4​ ลัทธืย่อย

       1.3  อันตานันติกวาทะ​ คือ​ สักกายทิฏ​ฐิ​ที่เป็นส่วนให้เข้าใจผิดเกิดเป็นลัทธิว่าโลกมีที่สุด​ โลกไม่มีที่สุด​ มี​ 4​ ลัทธิ​ย่อย

       1.4  อมราวิกเขปิกวาทะ​ คือสักกายทิฏฐิที่เป็นส่วนให้โลเลเกิดเป็นลัทธิพูดโลเลไม่อยู่​กับร่องกับรอย​ มี​ 4​ ลัทธิย่อย

       1.5  อธิจจสมุปปันนิกวาทะ​ คือ​ สักกายทิฏ​ฐิ​ที่​เป็น​ส่วนให้เข้าใจผิด​เกิดเป็นลัทธิ​ว่า​ อัตตา​ และโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย​ มี​ 2​ ลัทธิ​ย่อย

       1.6  สัญญีวาทะ​ คือ​ สักกายทิฏ​ฐิ​ที่เป็นส่วนให้เข้าใจผิด​ เกิดเป็นลัทธิว่า​ หลังจากตายแล้ว​ อัตตามีสัญญา​ มี​ 16​ ลัทธิย่อย

       1.7  อสัญญีวาทะ​ คือ​ สักกายทิฏ​ฐิ​ที่เป็นส่วนให้เข้าใจผิด​ เกิดเป็นลัทธิ​ว่า​ หลังจากตายแล้ว​ อัตตาไม่มีสัญญา​ มี​ 8​ ลัทธิ​ย่อย

       1.8  เนวสัญญีนาสัญญี​ คือ​ สักกายทิฏ​ฐิ​ที่เป็นส่วนให้เข้าใจผิด​ เกิดเป็นลัทธิว่า​ หลังจากตายแล้ว​ อัตตามีสัญญาก็ไม่ใช่​ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่​ มี​ 8​ ลัทธิย่อย

       1.9  อุจเฉทวาทะ​ คือ​ สักกายทิฏฐิที่เป็นส่วนให้เข้าใจผิด​ เกิดเป็น​ลัทธิว่า​   หลังตายแล้ว​ อัตตาขาดสูญ​ มี​ 7​ ลัทธิย่อย

       1.10  ทิฏฐธัมมนิพพาน​วาทะ​ คือ​ สักกายทิฏ​ฐิ​ที่เป็นส่วนให้เข้าใจผิด​ เกิดเป็นลัทธิว่า​ มีสภาวธรรมบางอย่างที่ดับลงแล้วเป็นสภาวนิพพานที่เข้าถึงได้ในปัจจุบัน​ขณะ​  มี​ 5​ ลัทธิย่อย

   สมดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในพรหมชาลสูตรว่า​ มิจฉาทิฏฐิทั้งหลายมีเพราะมีสักกายทิฏ​ฐิ​เป็นปัจจัยนั่นแล

    2. สภาวธรรมที่สักกายทิฏฐิอิงอาศัยให้เกิดลัทธิต่างๆที่โดดเด่น​ มี​ 4​ อย่าง​ คือ​

       2.1 ขันธ์​ 5​ โดดเด่นเกี่ยวกับว่า​ มีกาล​ 3​  คือ​ เป็นอดีต​ เป็นอนาคต​ และเป็นปัจจุบัน​ได้ การโต้แย้งจึงสะดวก​ สามารถใช้​ อัฏฐมุขนัย​ที่​1และที่​ 2​ ติดต่อกันได้เลย​ โดยไม่จำเป็นต้องมี​รูปแบบวิธีการ, ระบบที่เป็นขั้นตอน, ระบบที่เป็นช่วงตอน​ ตะล่อมรอใช้อันดับอัฏฐ​มุขนัย​ ดังในสุทธสัจฉิกัฏฐะกถา  เป็นอุทาหรณ์

       2.2  อายตนะ​ 12​ โดดเด่นเกี่ยวกับมีกาล​ เป็นกาลขณะ​ คือชั่วขณะอายตนะภายในกระทบกับอายตนะภายนอก​ เพื่อทำกิจสืบต่อสังสารวัฏ​ฏ์​ให้ยืดยาว การโต้แย้ง​ที่เหมาะสมเริ่มจากอัฏฐมุขนัยอันดับที่​ 3​ จึงจำเป็นต้องมีรูปแบบวิธีการ, ระบบที่เป็นขั้นตอน, ระบบมที่เป็นช่วงตอน​ ตะล่อมให้จบลงที่อัฏฐมุขนัยอันดับที่​  6​  ดังในโอกาสสัจฉิกัฏฐกถา​ เป็นอุทาหรณ์​

       2.3  ธาตุ​ 18​ โดดเด่นด้วยกิจที่ทรงวัฏฏทุกข์ไว้​ตลอดกาลที่ธาตุ​ 18​ ยังเป็นไปอยู่ การโต้แย้งที่เหมาะสมเริ่มที่อัฏฐมุขนัยอันดับที่​ 4​ จึงจำเป็นต้องมีรูปแบบวิธีการ, ระบบที่เป็นขั้นตอน, ระบบที่เป็นช่วงตอน​ ตะล่อมให้จบลงที่อัฏฐมุขนัยอันดับที่​ 7 ดังในกาลสัจฉิกัฏฐกถา​ เป็นอุทาหรณ์

       2.4  อินทรีย์​ 22​ โดดเด่นด้วยกิจที่ทรงความเป็นใหญ่ไว้ กล่าวคือ​ เมื่อตนเข้มแข็งธรรมอื่นก็พลอยเข้มแข็งไปด้วย​ เมื่อตนอ่อนแอธรรมอื่นก็พลอยอ่อนแอไปด้วย​ การโต้แย้งที่เหมาะสมเริ่มที่อัฏฐมุขนัยอันดับที่​ 5​ จึงจำเป็นต้องมีรูปแบบ​วิธี, ระบบที่เป็นขั้นตอน, ระบบที่เป็นช่วงตอนตะล่อมใก้จบลงที่อัฏฐมุขนัยอันดับที่​ 8​ ดังใน​ อวัยยวสัจฉืกัฏฐกถาเป็นอุทาหรณ์​


[full-post]
ขับเคลื่อนโดย Blogger.